ตามรอย 132 ปี พระนางเรือล่ม


ที่รฦกถึงความรัก 
แห่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวี อรรคมเหษี อันเสด็จทิวงคตแล้ว
ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้โดยความศุขสบายและเปนที่
เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก
และที่สนิทสนมอย่างยิ่งของเธอ
อนุสาวรีนี้สร้างขึ้น
โดย
จุฬาลงกรณ์ บรมราช 
ผู้เปนสวามีอันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์
อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิตร
ถึงกระนั้นยังมิได้หักหาย
จุลศักราช ๒๑๔๓


คำจารึกไว้อาลัย ที่ปรากฎบน อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา  เป็นหนึ่งในสถานที่  ซึ่งบรรจุอยู่ในโปรแกรมทัวร์ศิลปวัฒนธรรม "ตามรอย  ๑๓๒ ปี พระนางเรือล่ม" นำชมโดย อาจารย์ไกรฤกษ์  นานา ผู้เชี่ยวชาญทางเอกสารโบราณ และนักเขียนอิสระ ด้วยการนั่งเรือล่องลำน้ำเจ้าพระยา จากกรุงเทพมหานคร สู่กรุงเก่า  พระนครศรีอยุธยา ท่องไปยังอีกหนึ่งหน้าบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี  อัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)  พระราชสมภพ  เมื่อวันเสาร์ เดือน 12  แรม 12 ค่ำ  ปีวอก  ตรงกับที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403  ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ


ครั้นพระชนมายุ ราว 15-17 พรรษา  ทรงเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี


พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงมีพระอุปนิสัยแข็งแกร่ง เด็ดขาด แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก 


ปีแห่งความโศกสลด 

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423


ระหว่างขบวนเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน จากบางกอกไปยังพระราชวังบางปะอิน  ดังเช่นพระราชกรณียกิจปกติที่ทรงกระทำอย่างสม่ำเสมอ


 กลับเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝัน!! ที่ยังความสูญเสียอันเศร้าโศกที่สุด มาสู่สยามประเทศคราวนั้น


เรือพระประเทียบ "ปานมารุต"  ที่มีสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน  พร้อมด้วย พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์  และพระพี่เลี้ยงชื่อ แก้ว ประทับมาอยู่ด้วยนั้น ประสบอุบัติเหตุล่มที่บางพูด เมืองนนทบุรี 


เป็นที่เศร้าสลดใจยิ่ง เมื่อพบว่า  ทั้ง 3  ชีวิต  รวมทั้ง พระโอรส หรือพระธิดาไม่ทราบได้ในครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรตน์  จมอยู่ใต้ท้องเรือโดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เนื่องจากติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสีมิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร  เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ทั้งหมด


ก่อนหน้าจะเสด็จพระราชดำเนิน  พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเล่าความฝันที่ พระสุบิน (ฝัน)  ให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไปด้วยกันทั้ง 2  พระองค์  พระสุบินนี้ สร้างความหวั่นพระทัยอย่างมาก แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์ จนเกิดโศกนาฏกรรมร้ายขึ้น


เหตุการณ์นั้น  ยังความเสียพระทัย โศกเศร้า ต่อ  พระพุทธเจ้าหลวง  ในการสูญเสียเอัครมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งเป็นอย่างมาก 

อนุสรณ์อาลัยรัก


พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันสวรรคต  พร้อมพระราชทานพระโกศทองใหญ่  ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศอย่างยิ่ง 


พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ จัดขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424 พร้อมมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน


ด้วยความระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรด ฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น 3 แห่ง ที่พระราชวังบางปะอิน สวนสราญรมย์ น้ำตกพริ้ว ซึ่งในทุกสถานที่นั้น ล้วนเป็นสถานที่ที่ทั้งพระพุทธเจ้าหลวงและพระอัครมเหสี เคยเสด็จพระราชดำเนิน ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกันทั้งนั้น และยังมีสถานที่อื่นๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอนุสรณ์แห่งความอาลัย เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระชายา ตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย


 

ความรัก ความผูกพัน ระหว่างพระพุทธเจ้าหลวงและพระอัครมเหสีอันเป็นที่รักยิ่ง  ยังไม่หมดเพียงเท่านี้  เพราะทัวร์ศิลปวัฒนธรรม นำโดยอาจารย์ไกรฤกษ์ นานา  กับการล้วงลึก รู้จริง "ตำนานพระนางเรือล่ม"  จะถ่ายทอดเรื่องเล่าจากเอกสารตะวันตก ประกอบบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยถึงเบื้องหลังการสิ้นพระชนม์แบบฉากต่อฉาก โดยละเอียดรวมทั้งสัมผัสจุดเกิดเหตุ เรือพระประเทียบล่ม  ณ บริเวณวัดเกาะพญาเจ่ง  ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด  จ.นนทบุรี พร้อมกับสักการะพระเจดีย์ริมน้ำ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์แด่พระอัครมเหสี  สถานที่ที่น้อยคนนักจะรู้ว่าเป็นจุดเกิดเหตุที่แท้จริง


จากนั้นล่องเรือ ขึ้นฝั่งท่องชมพระราชวังบางปะอิน สถานที่แปรพระราชฐาน ที่ทั้งรัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีตน์ รวมทั้งเจ้านายทั้งหลาย  เสด็จฯ ประทับอย่างสม่ำเสมอ 

อาจารย์ไกรฤกษ์ จะเล่าถึงประวัติศาสตร์นอกพงศาวดาร รัชกาลที่ 5 ผ่านเอกสารตะวันตก  แวะสักการะเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ณ หอเหมมณเฑียรเทวราช  พร้อมชมพระที่นั่งองค์สำคัญในพระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์, พระที่นั่งวโรภาษพิมาน, พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ, พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร, หอวิฑูรทัศนา

ซึมซับบรรยากาศแห่งประวัติศาสตร์  และเข้าสักการะ “อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” พร้อมชมคำจารึกไว้อาลัยที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นที่ซาบซึ้งอย่างหาที่สุดมิได้

ปิดท้ายโปรแกรมด้วยการขึ้นกระเช้าข้ามฟากแม่น้ำไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร  พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล   ซึ่งขอบอกว่า ผู้ไปเยือนครั้งแรกจะตื่นตาตื่นใจ ด้วยพบว่า โบสถ์ของวัดนี้  โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม  ศิลปะแบบโกธิค หลังคายอดแหลมและช่องหน้าต่างเจาะโค้ง  ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง ภายในประดิษฐาน"พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" พระประธาน ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เหนือประตูพระอุโบสถมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องต้นประดับด้วยกระจกสี 


ตะวันคล้อยใกล้ลาลับ รับประทานอาหารเย็นริมน้ำ พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ กับอาจารย์ไกรฤกษ์อย่างใกล้ชิด และเป็นกันเอง  ก่อนจะล่องเรือกลับกรุงเทพฯ  พร้อมความรู้ ข้อมูลทางหลักฐาน และความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่อิ่มเอม อัดแน่น เต็มเอี้ยด  แบบที่ไม่เคยได้รับจากทัวร์อื่นๆ มาก่อนเลยทีเดียว



 


หมายเลขบันทึก: 516948เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท