ปลดปล่อยครูเพื่อศิษย์


ต้องมีกระบวนการ (และขบวนการ) ปลดปล่อยครูออกจากอำนาจเหนือที่เข้ามาใช้งานครูแบบไร้ประโยชน์ต่อศิษย์

ปลดปล่อยครูเพื่อศิษย์

ระหว่างนั่งประชุม สรุปบทเรียนโครงการเครือข่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี ๑๔ จังหวัด  จัดโดยมูลนิธิสดศรีฯ เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๕๖  ผมสรุปกับตนเอง (และบอกที่ประชุม) ว่า  หากจะให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยสูงขึ้น  ยุทธศาสตร์อันดับ ๑ คือ ปลดปล่อยครูเพื่อศิษย์  ออกจากแอกอำนาจส่วนกลาง 

อำนาจส่วนกลาง ที่เข้าไปใช้งานครู และพรากครูออกจากศิษย์มีมาก และหลากหลายแหล่ง หลากหลายกิจกรรม เหลือเกิน  หลายอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนของบางวงการ  ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อคุณภาพการศึกษา  ผมถือเป็นคอรัปชั่นอย่างหนึ่ง  และขอเสนอให้มีการวิจัย การใช้ครูทำงานที่ไร้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ อย่างมีข้อมูลและอย่างเป็นระบบน่าเชื่อถือ  ผมเชื่อว่า จะได้ข้อมูลที่น่าตื่นตกใจ  ว่าวงการศึกษาของเราเลวร้ายถึงขนาดนี้เชียวหรือ

เป้าหมายของการเรียนรู้ในปัจจุบันคือ 21st Century Skills  ซึ่งหมายความว่า ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการเรียนรู้โดยสิ้นเชิง  เปลี่ยนจากการสอน หรือถ่ายทอดความรู้  มาเป็นจัดกระบวนการให้นักเรียนลงมือทำกิจกรรม (PBL – Project-Based Learning) เพื่องอกงามความรู้/ทักษะ จากภายในตน  ครูเปลี่ยนบทบาทจากครูสอน ไปเป็น ครูฝึก หรือ “คุณอำนวย” การเรียนรู้ของศิษย์  เพื่อให้ศิษย์เกิดการ “รู้จริง” (mastery learning)  

ในการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ครูมีคุณค่ายิ่งต่อการฝึกทักษะของนักเรียน  โดยต้องคอยสังเกตกระบวนการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งชั้น และเป็นรายคน  เพื่อหาทางช่วย feedback ให้เกิดการเรียนรู้สู่สภาพ “รู้จริง”  หน้าที่นี้ไม่มีเครื่องมือใดมาทดแทนครูได้  โดยที่ครูต้องรวมตัวกันเรียนรู้จากการทำหน้าที่นี้อยู่ตลอดเวลา  ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community) หรือ Lesson Study  

นี่คือหน้าที่ใหม่ของครูที่ท้าทายยิ่ง  ที่ครูจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง และร่วมกันฝึกฝน  เพื่อช่วยกันกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

เพื่อให้ครูเพื่อศิษย์ทำหน้าที่นี้ได้  ต้องมีกระบวนการ (และขบวนการ) ปลดปล่อยครูออกจากอำนาจเหนือที่เข้ามาใช้งานครูแบบไร้ประโยชน์ต่อศิษย์

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ม.ค. ๕๖   


หมายเลขบันทึก: 516876เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2013 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์ที่เคารพ

ต้องสร้างเครือข่ายที่มีอุดมการณ์ร่วมมากๆๆๆ เพราะมีกฎเหล็กครอบมาเนาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญมหาวิทยาลัยเดิมเคยสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ที่มีอิสระทางความคิด ปัจจุบันสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แม้นบางมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ  ยังถูกกลืนโดยวัฒนธรรมองค์กร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท