ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๓๑. ยุให้ครูกบฎ



          วันที่ ๒๒ ธ.ค. ๕๕ ทั้งวัน ผมไปร่วมประชุมเตรียมการพัฒนาโครงการ ของ ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องของ สกว. และ สพฐ.  ที่เราเรียกชื่อโครงการย่อๆ ว่า โครงการ Teacher Coaching

          ทำให้ผมเรียนรู้ศัพท์ coach (ผู้ฝึก, ผู้ชี้แนะ)  และ mentor (ผู้ให้คำแนะนำ, พี่เลี้ยง) ที่ราชบัณฑิตกำลังเขียนให้นิยาม  และได้รับแจกหนังสือ กัลยาณมิตรนิเทศเขียนโดย ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ เมื่อปี ๒๕๔๗  ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูนะครับ  โดยเฉพาะที่คำนำ จะเห็นว่า ศ. สุมน ท่านย้ำประเด็นผลสัมฤทธิ์ ของการเรียนของเด็กไว้อย่างชัดเจน  แต่วงการบริหารการศึกษาไทย (กระทรวงศึกษาธิการ) ไม่ได้ใช้แนวคิดนี้เลย  กลับทำในทางตรงกันข้าม

          ผมทำหน้าที่ประธานการประชุม  จึงพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้ที่ประชุมมีบรรยากาศสร้างสรรค์  ไม่ใช่บรรยากาศบังคับบัญชา  ผมสังเกตว่า คนในวงการศึกษาโดยทั่วไปอยู่ในบรรยากาศบังคับบัญชา  ทำกันเป็นทอดๆ   บรรยากาศเช่นนี้ ไม่เหมาะต่อการประชุมเรื่องวิจัย  ซึ่งต้องการสมองสร้างสรรค์

          เมื่อได้โอกาสผมจึงบอกที่ประชุมว่า  ข้อเสนอโครงการวิจัยที่เสนอเข้ามานั้น หากโครงการใดเถียงความเชื่อหรือทฤษฎีที่เราคุยกันในวันนั้นบางประเด็น  โดยมีคำอธิบายที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ  จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

          เท่ากับผมยุให้ครูกบฎ หรือโต้แย้ง ต่อสาระที่ผมเองเป็นผู้นำเสนอ (อ่านและฟังได้ที่ http://www.uc.mahidol.ac.th/file/การพัฒนาครู_551222_N.pptx )

          และโชคดี ที่ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้มีอำนาจตัดสินใจแท้จริงของโครงการ กล่าวย้ำในภายหลัง สนับสนุนคำยุของผม

          โชคดียิ่งกว่านั้น ที่น้องชายของ ดร. สีลาภรณ์ คือ ดร. อมรวิชช นาครทรรพ กล่าวภายหลังว่า  เป้าหมายที่ไกลมากๆ ของโครงการคือ ให้อำนาจการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็กไปอยู่ที่ครู  ไม่ต้องมี NT  เพราะครูมีความสามารถสูง และความน่าเชื่อถือสูง  อย่างที่เป็นอยู่ในประเทศฟินแลนด์ ที่เขาไม่มีการสอบ NT

          ผมจึงถึงบางอ้อ  ในลักษณะดึงเส้นผมที่บังภูเขาออก  เห็นภาพอนาคตสว่างแจ้ง  ว่าตัวอุปสรรคบดบังความเป็นมืออาชีพของครู  ทำลายความน่าเชื่อถือของครู  คือระบบการจัดการศึกษา การบริหารจัดการครู แบบที่กระทรวงศึกษาใช้อยู่ในขณะนี้นั่นเอง

          บริหารให้เชื่อง  คนย่อมขาดความคิดสร้างสรรค์  ลดทอนมิติของความเป็นมนุษย์



วิจารณ์ พานิช

๒๓ ธ.ค. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 516681เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2013 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2013 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านเรื่องกัลยาณมิตรนิเทศ 

สมัยทำงานวิจัยกับ สกศ   เรื่อง การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน   เสียดายว่า  สพฐ ไม่นำงานวิจัยมาต่อยอด ผมเชื่อว่า  ครูจะทำการประเมินนักเรียนของตนเองได้ดีที่สุดแต่ต้องให้ความรู้ครูเรื่องการประเมินด้วยครับ

เรียน ท่านอาจารย์และเพื่อนสมาชิกทุกท่าน

ผมขอเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วยครับ การประเมินนักเรียนโดยใช้ผลการสอบ NT นี้ ความจริงแล้ว ผมไม่เห็นด้วยครับ เนื่องจากกระบวนการคิดมาจากคนเพียงกลุ่มเดียว โดยความจริงน่าจะมาจากคณะครูผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเรียนการสอน เรื่องการประเมินวัดผล และจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาในแต่ระดับโดยตรงครับ ผมเองทำหน้าที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ด้านการบริหารการศึกษา ทำหน้าที่ใน อกคศ.มัธยม และเป็นประธานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ขออนุญาตสงวนชื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่อยู่ ผมพบปัญหาเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการศึกษาหลายเรื่องครับ เช่น ข้อสอบที่นำไปประเมินนักเรียนในแต่ละระดับที่มาจากส่วนกลาง ไม่มีบุคคลที่ผมกล่าวมาข้างต้นได้มีส่วนร่วมในการทำข้อสอบนี้เลย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นักเรียน และได้ทราบข้อมูลว่าในการประเมินคุณภาพภายนอกหากนักเรียนในโรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์จากการสอบต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โรเงรียนจะไม่ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอก และอาจส่งผลต่อการทำวิทยฐานะของผู้บริหารและครู  เมื่อเรื่องการสอบวัดผลในระดับชาติมีความสำคัญเช่นนี้ ผมจึงอยากให้ใช้ข้อสอบที่จะใช้วัดผล ควรเป็นข้อสอบที่เป็นมาตรฐาน ถูกต้องและสมบูรณ์ สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริหารครูในโรงเรียนทุกแห่ง มิใช่การทำข้อสอบดังกล่าวมาจากกลุ่มคน หรือคณะใด คณะหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารและครูโดยทั่วไปไม่ยอมรับ ครับ     

ทำอย่างไรดีคะ ในระดับมหาวิทยาลัยบางแห่ง แม้จะออกนอกระบบ ยังต้องการ"การบริหารให้เชื่อง..." อยู่เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท