ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 มีหน้าตาอย่างไร ตอนที่ 1


ยุคสมัยกับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและภาพรวมของการเปลี่ยนแปลง

           ปัจจุบันเราจะได้ยินถึงเรื่องของยุคสมัยกับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะจากบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือแม้แต่บนสื่อออนไลน์ต่างๆเช่น เว็บไซต์ หรือ เว็บบล๊อกต่างๆ เมื่อเริ่มแรกที่อ่านบทความเหล่านี้ใหม่ๆ ก็อดนึกไม่ได้ว่าผู้เขียนเองก็เกิดและเรียนรู้อยู่ในช่วงของศตวรรษที่20 เราต่างถูกสอนให้ต้องแม่นในเรื่องทฤษฏีต่างๆซึ่งนำพาไปสู่การท่องจำเป็นส่วนใหญ่ การเรียนการสอนมักเน้นที่เราจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้หลายๆด้านในภาพรวม และมีทักษะในการแก้ปัญหาในแบบตายตัวที่ถูกถ่ายทอดกันต่อๆมา ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาใหม่ๆที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเรียนรู้จึงเป็นการเรียนรู้แบบครอบจักรวาลเพื่อใช้แก้เฉพาะปัญหาที่มีรูปแบบซ้ำๆกัน แต่เมื่อในสถานการณ์จริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ก็มิอาจที่จะทำให้เราคิดหรือสามารถแก้ปํญหาเหล่านั้นได้ จำเป็นที่จะต้องลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดเป็นประสบการณ์ในการทำงาน นักเรียนในยุคศตวรรษที่20 จะเรียนหนังสือในห้องเรียนเพื่อให้สอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด และการศึกษาจากโรงเรียนกวดวิชาโดยเน้นเทคนิคในการทำข้อสอบเพื่อให้สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ เมื่อผ่านเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ก็ต้องมาศึกษาวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่ได้เข้าเรียนนั้นๆอีกที ดังนั้นเราจะอดนึกไม่ได้เลยว่าตลอดระยะเวลาที่เรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้นเราถูกสอนโดยครูหรืออาจารย์ที่ยืนอยู่หน้าชั้นที่จะมาคอยเล่าหรือถ่ายทอดเนื้อหาวิชาต่างๆหรือที่เราคุ้นเคยกันว่าการเรียนแบบเลคเชอร์ (Lecture) ในแต่ละวันเราจะต้องถูกเลคเชอร์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 6-8 ชั่วโมงและเมื่อกลับถึงบ้านก็จะต้องนั่งทำแบบฝึกหัดหรือโจทย์ต่างๆตามที่ได้เรียนหรือได้ฟังเลคเชอร์มา โดยที่มีความคาดหวังว่าจะได้เป็นการทบทวนผ่านการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาวิชานั้นๆ บ้างก็ใช้วิธีท่องจำเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ แต่สุดท้ายเมื่อเราต้องเผชิญกับข้อสอบใหม่ๆ หรือแนวทางการออกข้อสอบที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง บางคนก็มิอาจที่จะนำความรู้ที่เรียนมาหรือท่องจำมาเพื่อใช้ทำข้อสอบได้ ถ้าเปรียบกับการเอาวิชาความรู้ไปใช้ในการทำงาน หากเราเจอปัญหาในการทำงานที่ตำราเรียนหรือวิชาที่ได้เรียนมาไม่ได้บอกการแก้ปัญหาไว้ หรือปัญหานั้นๆอาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ก็จะเกิดอุปสรรคในการทำงานนั้นๆให้ลุล่วงได้ พฤติกรรมการเรียนแบบท่องจำ การกวดวิชา และกการตะลุยทำโจทย์แบบฝึกหัดยังคงอยู่คู่กับการศึกษาไทยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเราจะมีครูหรืออาจารย์ที่จบการศึกษาระดับสูงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยวิถีของการเรียนรู้ของคนไทยที่ถูกป้อนข้อมูลอย่างเป็นระบบสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

             แต่หากมองย้อนอดีตไปถึงการเรียนรู้ของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และมาจนถึงยุคดิจิทัล เราจะเห็นวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในการรับรู้หรือเรียนรู้ที่รวดเร็วขึ้น ก่อให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด หากเราลองเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างเรื่องของการใช้สื่อในการถ่ายทอดความรู้ ในอดีตเราใช้วิธีการเขียนหรือจดบันทึกเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวหรือเหตุการ์ณต่างๆ จากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการถ่ายภาพ และปัจจุบันเราใช้ภาพเคลื่อนไหวหรือวีดีโอ ดังนั้นมนุษย์จึงสามารถที่จะรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งต่างๆที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้นส่งผลให้เกิดความคิดในการสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆมากมายในเวลาที่สั้นลง....<โปรดอ่านต่อได้ในตอนที่ 2>

หมายเลขบันทึก: 515106เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท