แกงขี้เหล็ก Senna siamea Lam



ขี้เหล็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Senna siamea Lam.) จัดเป็นพืชในวงศ์Leguminosae ยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลางบางที่) ผักจี้ลี้ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มาเลย์-ปัตตานี) และขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้) เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงปานกลาง ผลัดใบ สูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอเป็นปุ่มเปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาลดำ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อๆ ใบประกอบเป็นแบบขนนก เรียงสลับกัน มีใบย่อย 5-12 คู่ ปลายสุดมีใบเดียว ใบย่อยรูปขอบขนานด้านบนเกลี้ยง ดอกช่อสีเหลืองอยู่ตามปลายกิ่ง ดอกจะบานจากโคนช่อไปยังปลายช่อ กลีบเลี้ยงมี 3-4 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้10 อัน ผลเป็นฝักแบนยาวมีสีคล้ำ เมล็ดรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อนเรียงตามขวางมี 20-30 เมล็ด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ส่วนของดอกและใบขี้เหล็กใช้เป็นอาหารในหลายประเทศ เช่น ไทย พม่า อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น ในตำราการแพทย์แผนไทยได้มีการบันทึกประโยชน์ของขี้เหล็กในหลายด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ ใช้ทำความสะอาดเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื่นเป็นเงางาม ไม่มีรังแค ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี และบำรุงโลหิต เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2485 ศาสตราจารย์ นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นขี้เหล็ก พบว่าใบและดอกขี้เหล็กทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีพิษน้อยกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ได้ศึกษา ต่อมาจึงมีผู้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดใบขี้เหล็กอีกครั้งโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จนในปี พ.ศ. 2513 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษได้รายงานว่าสามารถสกัดสารชนิดใหม่จากใบขี้เหล็กได้ โดยตั้งชื่อว่าบาราคอล (barakol)

ขี้เหล็ก เป็นไม้ต้นไม้ดอกประจำท้องถิ่นเอเซีย มีทุกชาติ ไม่ว่าไทย เขมร ลาว  มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ขี้เหล็กมีหลายพันธุ์มาก เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในทุกภาค ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน  ภาคใต้ และภาคกลาง เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในร้านข้าวแกงทั่วราชอณาจักรไทย ขี้เหล็กมีขายในตลาดสดทั่วๆ ไป มี 2 ประเภทคือ ประเภทต้มไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำไปทำแกงกินกับประเภทใบและดอกขี้เหล็กสดๆ มัดเป็นกำใหญ่  มีทั้งยอดอ่อนและช่อดอกรวมกัน ประเภทต้มแล้วกำไว้จะขายเป็นก้อนกลม ปัจจุบันชั่งเป็นกิโลขาย การซื้อขี้เหล็กนั้น นิยมซื้อที่ต้มแล้วมาทำแกงกิน เพื่อประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการปรุงลง แต่คนที่พิถีพิถันในการปรุงอาหารจะซื้อขี้เหล็กสดเป็นช่อมาทำเอง  ทั้งนี้ข้อดีคือได้เลือกใบอ่อน จนมาถึงอ่อนกลางได้ สามารถล้างทำความสะอาดได้อย่างหมดจด ต้มน้ำล้างขมได้รสเป็นที่พอใจ ส่วนที่ซื้อเขามา มักจะปนใบแก่มามากเกินไปต้องคัดออก ก่อนต้มอาจไม่มีการล้างใบและดอกขี้เหล็กก่อน บางเจ้าต้มได้ไม่พ้นขม  ทำให้เมื่อนำมาแกงแล้วรสออกขมเกินไป ความสดใหม่น้อยกว่าที่มาทำเอง ขี้เหล็กมีขายในท้องตลาดทั้งปี โดยเฉพาะที่เป็นใบอ่อน ส่วนดอกแม้จะมีทั้งปีก็ตาม แต่ดอกจะหนาแน่นในฤดูฝน

 ดอกขี้เหล็กอร่อยมาก โดยเฉพาะดอกที่ยังตูมอยู่  จะมีรสขม มันหวาน เมื่อแกงเข้าเครื่องแกงและกะทิ รสชาติไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี ขี้เหล็กเป็นไม้เบญจพรรณ ปลูกง่ายในดินทุกชนิด โตเร็ว สูง 8-15 เมตร ทนอากาศ แล้งได้ดี พุ่มใหญ่หนาแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นไม้เนื้อแข็ง แตกดอกแทงช่อ ตลอดปี จึงนิยมปลูกเป็นไม้ในบ้าน ไม้ตามรั้วบ้าน ไม้ริมทาง แถบชานเมือง ถือเป็นพืช ผักสวนครัวขนาดยักษ์ชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด นอกจากจะเป็นไม้กินได้อร่อย  ให้ประโยชน์สารพัดอย่างแล้ว ขี้เหล็กยังเป็นไม้ประดับที่ใบสวย ต้นทรงงาม ดอกออก มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ สามารถขับพิษร้ายออกจากร่างกายได้ เป็นยานอนหลับธรรมชาติอย่างดียิ่ง ในใบขี้เหล็กจะมีสารระงับประสาทช่วยคลายความเครียด ดอกขี้เหล็กแก้หืด รักษารังแค นอกจากนี้ขี้เหล็กยังมีสารเบต้าแคโรทีน ที่ร่างกายจะนำไปสร้างวิตามินเอ บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง แถมยังมีวิตามินซีสูงอีกด้วย แกงขี้เหล็กที่นิยมกันทั่วบ้านทั่วเมืองคือแกงกะทิขี้เหล็ก ใส่เนื้อย่างหรือหมู หรือปลาย่างแทนก็ได้ ส่วนแกงแบบพื้นบ้านทางภาคเหนือก็แกงบวน  ภาคอีสานแกงซกเล็ก แกงขี้เหล็กย่านาง แกงขี้เหล็กใส่วุ้นเส้น เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #ขี้เหล็ก
หมายเลขบันทึก: 514181เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หวัดดีค่ะ แล้วขี้เหล็กที่ขึ้นตามป่า ออสเตรเลียเรากินได้มั้ยคะ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท