มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

สร้างทางสู่ทางพ้นทุกข์


 

สร้างทางพ้นทุกข์

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

กำลังสร้างชีวิตสร้างทางของตนเองไปสู่ทางพ้นทุกข์

  กระบวนการแห่งการคิดที่ดีไว้แล้วก็อยู่ที่ท่านทั้งหลายที่ได้ฟังแล้วได้นำไปปฏิบัติอย่างไรกันบ้างซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ท่านต้องคอยสังเกตทำไมจึงมาเข้าปฏิบัติ? และทำไปเพื่ออะไร?

ในเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยากและไม่ยุ่ง แต่จะยากและจะยุ่งกับชีวิตของผู้ปฏิบัติก็ตรงที่ว่า "เราไม่เข้าใจ"คือ มนสิการไม่ถูกต้องนั่นเอง
บางคนการที่เพิ่งเข้าปฏิบัติใหม่ๆ แล้วไม่รู้จักรากฐานของการปฏิบัติก็จะทำให้ผลประโยชน์หรือผลที่ควรได้น้อยลง ฉะนั้น ก่อนอื่นก็จะขอเกริ่นสักนิดว่าเรามาทำอะไรกันที่นี่ทำไมจึงมาเข้าปฏิบัติ และทำเพื่ออะไรให้เข้าใจถูกต้องก่อน เพราะในชีวิตประจำวันของคนเรา ตั้งแต่เกิดมานั้นเราสะสมความวิปลาสธรรมกันมามากมายไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้วเชื่อว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้เชื่อว่า มีชาติหน้ามี มีชาติที่แล้วฉะนั้นวัฏฏสงสารของเราจึงหมุนเวียนอยู่เนื่องด้วยอวิชชาคือความไม่รู้นั่นเอง.
ความไม่รู้ในที่นี้ไม่รู้ในเรื่องราวของชีวิตตามความเป็นจริง แต่ขอพูดเฉพาะที่การปฏิบัติก็คือในส่วนของวิปลาสธรรมเห็นผิดไปจากความเป็นจริง.

ความเป็นจริงนั้น ชีวิตเป็นของไม่ดี เราก็เห็นว่าเป็นของดีเรียกว่าสุภวิปลาสความเป็นจริงนั้น ชีวิตเป็นของไม่มีความสุข แต่เราเห็นว่าสุข เรียกว่าสุขวิปลาสธรรมชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชีวิตใครมีแต่ความไม่เที่ยงแต่เราเห็นว่าเที่ยง เรียกว่านิจจวิปลาสธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดนี้ เราไม่สามารถไปกำหนดกฎเกณฑ์ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เป็นอนัตตา เราเห็นว่าเป็นตัวเรา เป็นต้น เป็นอัตตาตัวตนเรียกว่าอัตตวิปลาส

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสสั่งสอนว่า..

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ธรรมทั้งหมดไม่

สามารถบังคับบัญชาได้

  นี่คือความรู้ที่ผู้เข้าปฏิบัติทุกท่าน ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นก่อนพอมีความรู้ความเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็จะได้ศึกษาเข้าไปว่า ภายใต้ธรรมชาติที่บอกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้นั้นเพราะอะไร ก็เพราะสภาพธรรมต่างๆเหล่านั้นมีความเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างเช่นจิตธรรมชาติของจิตนั้นเป็นสภาพที่รู้อารมณ์มีการเกิดแล้วก็ดับ แต่การเกิดดับของจิตนั้นเกิดสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาความสืบต่อกันนั้นเรียกว่าสันตติมีเกิดมีดับ และมีการเกิดขึ้นแทนความดับจึงมีความติดต่อกันไม่ขาดสาย ดังนี้เราจึงหลงฟั่นเฟือนไปว่า "เที่ยง"ว่ามีสาระ มีประโยชน์ สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ปรากฏแก่สายตาพวกเราทั้งหลายคือไม่ปรากฏต่อใจของเราผู้ที่ยังมีปัญญาน้อยฉะนั้น เราจึงต้องมาที่นี่มาเข้าปฏิบัติเพื่อดูความจริง

ความจริงคืออะไร?
ในธรรมชาติของชีวิตนั้น ที่กล่าวว่า ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีหญิงไม่มีชายเราได้ฟังกันมานานแล้วแต่ทุกวันนี้เราก็ยังมีคนมีสัตว์ มีหญิงมีชายเพราะว่าจิตของเรายังไม่เข้าไปประจักษ์แจ้งในสภาวะธรรมความเป็นจริงนั้นเราต้องเข้าใจเรื่องกิจในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องว่าเราควรทำอะไรบ้างเช่นเราศึกษาเล่าเรียนอยู่นี้ก็มีการพยายามทำความรู้ให้เกิดขึ้นว่า ชีวิตคืออะไรชีวิตประกอบไปด้วยรูปและนาม คือขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณพระพุทะองค์ทรงตรัสว่า ขันธ์ ๕ นี่แหละเป็นทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นเป็นทุกข์เลย
ฉะนั้นการที่เราได้เริ่มทำความเข้าใจกับชีวิตเช่นนี้ แล้วมาเข้าปฏิบัติเราก็ต้องรู้ภูมิธรรมหรืออารมณ์ของวิปัสสนาเพราะอารมณ์ของวิปัสสนาต่างกับอารมณ์ของสมถะ อารมณ์ของสมถะนั้นจะใช้อะไรก็ได้ใน ๔๐อย่าง เช่น กสิณ หรืออสุภะ หรือลมหายใจ หรือพรหมวิหารต่างๆ แต่อารมณ์ของวิปัสสนามีอยู่อย่างเดียวคือปรมัตถ์อารมณ์
ปรมัตถ์อารมณ์ คือต้องมีรูป ต้องมีนามเป็นอารมณ์เท่านั้นนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ เพราะเราต้องการความจริงความจริงคือรูปกับนามเท่านั้นเพราะธรรมชาติที่รู้อารมณ์เรียกว่าจิตและธรรมชาติ(อารมณ์)ที่ให้จิตรู้ก็คือ รูป และนาม เราจึงใช้อย่างอื่นมาเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะหากไปเพ่งดูอย่างอื่นก็จะไม่ใช่งานของวิปัสสนา
การศึกษาเล่าเรียนจึงทำให้เกิดปัญญาปัญญาคือตัววิปัสสนาที่จะต้องเข้าไปกำหนดรู้ความจริงตามความเป็นจริงว่าเป็นอะไรบ้าง หรือคืออะไร ความจริงนั้นไม่มีอะไรนอกจากความทุกข์ความทุกข์เท่านั้นที่เป็นจริง สมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ฉะนั้นความจริงก็คือทุกข์นั่นเอง

เมื่อใดเราจึงจะมีความรู้เท่าทันทุกข์ที่เกิดขึ้น?
หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงต้องคอยดูทุกข์อยู่ตลอดเวลา จะดูอย่างอื่นไม่ได้ เพราะทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นคืออาการต่างๆ เกิดขึ้น รูปอิริยาบถต่างๆที่ปรากฏ แล้วทำไมจึงเป็นความทุกข์เล่าก็เพราะรูปนั้นก็ไม่เที่ยง นามนั้นก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และบังคับบัญชาไม่ได้การที่เราคอยสังเกต คือรูปเกิดขึ้นเราก็คอยดูที่รูปนามเกิดขึ้นเราก็คอยดูที่นามเพราะธรรมชาติของรูปและนามเกิดขึ้นและอยู่ได้ด้วยเหตุปัจจัยพอหมดเหตุปัจจัยก็ต้องดับโดยธรรมชาตินั่นเอง  ฉะนั้น สภาพที่ต้องเปลี่ยนแปลง ดับไป นั่นแหละค่ะคือ ทุกข์เราจึงมีหน้าที่คอยสังเกตคือดูแลอยู่ตลอดเวลา การกำหนดของวิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นเรื่องของการดูทุกข์ เพราะถ้าดูอย่างอื่นแล้วเราก็จะพลาดไป เพราะกิเลสตัณหาอุปาทานต่างๆ ที่เราพกกันมาไม่รู้เท่าใดนั้น เราจะมาเข้าปฏิบัติแล้วชำระให้หมดสิ้นในเพียงวันเดียวนั้นก็คงเป็นไปได้ยากหรือขอพูดว่าสมัยนี้คงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องค่อยๆทำไปเรื่อยๆ
หากมีการตั้งคำถามว่า เมื่อใดล่ะเราจึงจะมีความรู้ทุกข์นั้นหรือเท่าทันทุกข์นั้นรูปนามนั้นที่เกิดขึ้นแล้วดับไปก็ต้องอาศัยเวลาเพาะบ่มความชำนาญเข้าไป ใหม่ๆ เราก็เหมือน"ตามดู"หรือตามรู้
แต่ถามว่า การตามดูหรือตามรู้นั้นเป็นการดูความจริงใช่ไหม ก็ต้องตอบว่าใช่เมื่อความปรากฏขึ้นของความจริงนั้น มีมากขึ้นแล้วเราก็รู้ได้มากขึ้น ๆๆอีกหน่อยเราก็จะรู้เท่าทันความจริงได้เอง คือทันปัจจุบันเองและก็ต้องรู้อีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ปัจจุบันเป็นอย่างไร?
คำว่าปัจจุบันมี ๒ อย่างคือ ปัจจุบันธรรมและปัจจุบันอารมณ์ แล้วความสำคัญอยู่ตรงไหน ระหว่างปัจจุบันสองอย่างนี้
ปัจจุบันธรรม คือธรรมที่มีอยู่ตลอดไม่ขาดสาย เป็นเรื่องของธรรมะที่มีอยู่ เช่น เย็น ร้อนอ่อน แข็ง หย่อน ตึง เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด จืด รัก เกลียด ชอบ ชัง ฟุ้งความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เป็นต้น เป็นธรรมะทั้งสิ้นที่มีอยู่คู่กับโลก
ปัจจุบันอารมณ์คือธรรมหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเราที่ปัจจุบัน

ตรงปัจจุบันอารมณ์นี้แหละค่ะ ถ้าหากเราไม่มีสติปัญญามาสะกัดกั้นตรงปัจจุบันอารมณ์นี้ก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่มีกิเลสตัณหาเข้าครอบครอง คือปัจจุบันอารมณ์กลายเป็นที่เกิดของอภิชฌาและโทมนัสคือความยินดีและความไม่ยินดี
ฉะนั้นท่านต้องวางใจให้ถูก คือ หมั่นเพียรตรวจดูที่อารมณ์ของท่านเท่านั้นจึงไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องนั่งภาวนามากคอยสังเกตความปรากฏขึ้นที่อารมณ์ปัจจุบันของท่าน อยู่กับปัจจุบันให้ได้

บางท่านอาจยังเข้าใจไม่ละเอียดในเรื่องของปัจจุบันที่แตกต่างกันระหว่างปัจจุบันธรรมกับปัจจุบันอารมณ์ จึงขอยกตัวอย่างไว้ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่า โดยการถามท่านว่าในขณะนี้มีคนถูกยุงกัดอยู่ไหม? มี มีคนกำลังถูกรถชนอยู่ไหม? มีมีคนกำลังคลอดลูกอยู่ไหม? มี เหล่านี้เป็นปัจจุบันธรรม
ธรรมชาติเหล่านี้มีอยู่ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ขณะนี้เราไม่ได้ถูกยุงกัดขณะนี้ไม่มีความเจ็บเกิดขึ้นกับเรา แต่เราปฏิเสธได้ไหมว่าคนอื่นไม่มี? ไม่ได้เพราะธรรมชาติเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปจะเกิดกับบุคคลใดก็แล้วแต่วิบากอกุศลจะส่งผลเขาในขณะนั้นแต่ถ้าหากในขณะนั้นวิบากอกุศลจะส่งผลให้เราในขณะปัจจุบันนี้ขณะนี้เรากำลังถูกยุงกัดตรงนี้เป็นปัจจุบันอารมณ์ของเราแล้วและเมื่อเราถูกยุงกัด เราก็อาจมีอาการคันหรือเจ็บขึ้นมา ถ้าหากเราไม่เท่าทันเราก็จะเกิดความไม่พอใจ ที่เราเกานั้นเกิดเพราะเราพอใจใช่ไหม? ไม่ใช่แต่เพราะมันเกิดอาการคันซึ่งเราไม่พอใจ เราก็แก้ไข เพราะมันเกิดทุกข์ ฉะนั้นตรงปัจจุบันนี้ เราจึงต้องมีมนสิการ คือ มีโยนิโสมนสิการรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะทำไปเพื่ออะไรทำไมจึงต้องทำ เราต้องมีเหตุผลให้กับตนเองเสมอๆนี่คือเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

การแก้ไขทุกข์
วิปัสสนากรรมฐานนั้นนอกจากความเข้าใจว่ามีนามรูปเป็นอารมณ์ และมีปัจจุบันอารมณ์ที่ต้องคอยดักคอยแก้ไขมิให้เกิดเป็นอภิชฌาและโทมนัส เพราะมิฉะนั้นแล้ววิปลาสธรรมก็จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
กิจของผู้ปฏิบัตินั้นก็คือดูทุกข์หากปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนั้นก็จะเห็นทุกข์ขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาและเมื่อเห็นทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็จะรู้ว่ามีทุกข์ซ้อนทุกข์อยู่ในการแก้ไข เช่นนั่งแล้วเมื่อย อย่างนี้มีทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องมีมนสิการอยู่ในใจว่ารูปนี้เป็นทุกข์ แล้วจะทิ้งการดูไปเลยไม่ได้เพราะไม่ได้มีทุกข์นี้อยู่เพียงอย่างเดียวมีทุกข์คือเมื่อยแล้วก็ต้องมีการแก้ไขความเมื่อยนั้นและการแก้ไขทุกข์นั้นให้สำเร็จในครั้งเดียวก็ไม่ได้แต่จะต้องมีการพยายามในการแก้ไขนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า เราจำเป็นต้องๆสารพัดอย่างอยู่ตลอดเวลา  ตรงนี้แหละที่รู้ว่าต้องทำนั้น เมื่อประจักษ์เข้าไปมากๆก็จะละแล้วก็คลายจากความยินดีหรือวิปลาสธรรมที่เคยเห็นว่า ชีวิตนั้นเป็นของดีเพราะจะเห็นว่าชีวิตไม่ดีเลย เช่น ตั้งแต่เช้าตื่นลืมตาจนหลับตาลงในตอนกลางคืนนั้นเราต้องแก้ไขทุกข์กันไม่รู้เท่าไร นับไม่ได้เลยเพราะแม้กระทั่งหลับเราก็ยังต้องหายใจ
การตัดสังสารวัฏ
สมัยก่อนนั้นที่มาที่นี่กับคุณพ่อ คือท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูรท่านจะเดินเข้าไปสอบอารมณ์ ที่สูญญาคาร ท่านตั้งคำถามว่า "วันนี้ที่คุณดูทุกข์อยู่นี้ คุณบอกผมได้ไหมว่าทุกข์เกิดขึ้นกับคุณเท่าไหร่?"ผู้ที่ถูกถามนั้นตอบไม่ได้ เพราะนับไม่ถ้วน แต่ถ้าหากตอบว่าทุกข์เกิดขึ้นสองครั้งนั่นก็แสดงว่า นอกนั้นต้องเป็นสุข ซึ่งก็คือสุขวิปลาสเพราะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงแล้ว เพราะความจริงมีแต่ทุกข์ที่ไม่สุขมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา

ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติอยู่นี้ท่านต้องคอยสังเกตตัวเองว่าท่านดูทุกข์อยู่หรือเปล่าแล้ววันต่อวันนี้ท่านสามารถรู้ได้เลยว่าท่านรู้สึกอย่างไร วันนี้กับเมื่อวานนี้รู้สึกต่างกันอย่างไรถ้าหากท่านตอบว่าสบายขึ้น นั่นเป็นคำตอบที่ผิดเพราะมีอะไรสบายขึ้นที่ไหนมีแต่ทุกข์อยู่ตลอดเวลาการแก้ไขการคอยเยียวยาก็เป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง อารมณ์ที่วิบากส่งผลมาต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ก็เป็นทุกข์ ต้องรับประทานอาหารด้วยความจำเป็นเพราะมีทุกข์เกิดขึ้น

ฉะนั้น สัตวโลกทั้งหลายก็ได้รับอดีตเหตุ จึงมีปัจจุบันผลแล้วก็ทำปัจจุบันเหตุให้มีอนาคตผล ชาติหน้าจึงมีอยู่แน่นอนวัฏฏสงสารจึงมีอยู่เรื่อยไปแต่ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติจึงเป็นผู้ที่ไม่ได้ทำวัฏฏะให้ยืดยาวแต่มาทำวิวัฏฏะคือมาทำลายวัฏฏสงสารออกไป คือพยายามตัดรอนสิ่งที่ทำให้เกิดก็คือตัณหา
เพราะที่เราเกิดมาก็ด้วยอำนาจกรรมจึงมีความแตกต่างกันออกไปคือ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนความจำดี เป็นคนความจำไม่ดีความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพราะกรรมที่ทำมาต่างกันแต่ไม่ว่าใครที่เกิดมาก็ล้วนมีตัณหา คือความยินดีติดใจในกาม ในภพ เป็นต้น
ผู้ที่เข้าปฏิบัติจะไม่รู้ความจำเป็นไม่ได้เพราะนั่นคือการไม่รู้ภัยในวัฏฏะ แต่เราเป็นผู้ที่รู้ภัยในวัฏฏะเราจึงต้องรู้ว่าวัฏฏะสงสารนั้นหมุนไปด้วยอะไร คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูปอายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ นี่คือสังสารวัฏซึ่งมีอดีตเหตุจึงมีปัจจุบันผล มีปัจจุบันเหตุ จึงมีอนาคตผล

ฉะนั้นธรรมทั้งหลาย จึงประกอบไปด้วยเหตุและผลตลอดเวลา ผลที่ปรากฏกับเราทุกคนไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็มีอดีตเหตุด้วยกันทั้งสิ้นและปัจจุบันที่เรากำลังทำนี้ก็เป็นปัจจุบันเหตุที่จะส่งให้มีอนาคตผล

ฉะนั้น พอมาปฏิบัตินี้เราก็รู้แล้วว่าตัวเชื่อมต่อวัฏฏะก็คือตัณหา และสิ่งที่ทำให้คนแตกต่างกันก็คือกรรมเมื่อเราหยุดตัณหาแล้ว เราทำกรรมชนิดพิเศษนั่นก็คือเราก็หยุดเกิดด้วยแล้วกำลังทำผลพิเศษคือ กุศลที่ประกอบไปด้วยปัญญานั่นเอง

ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่ออะไร

ที่เรามาปฏิบัติกันในวันนี้ก็เพื่อทำลายความเห็นผิด คือเห็นผิดจากความเป็นจริงเพราะความเป็นจริง มีอย่างเดียวคือ ความทุกข์เพราะฉะนั้นท่านก็จะได้คำตอบแล้วว่า ใครที่มาปฏิบัติแล้วรู้สึกสบายขึ้นอยู่แล้วสบายกว่าที่บ้าน พอปฏิบัตินานๆแล้วสงบขึ้น ดีขึ้นกว่าเดิมนั่นคือการปฏิบัติที่ผิดไปจากความเป็นจริงเพราะความเห็นถูกก็คือเห็นความทุกข์เห็นปรากฏการณ์ของชีวิตว่านั่นก็ทุกข์นี่ก็ทุกข์ เปลี่ยนอิริยาบถ โดยมีมนสิการแล้วก็รู้สึกทุกข์อีกแล้วก็รู้ว่ารูปนี้เป็นทุกข์แล้ว และความทุกข์นี้ก็เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถในขณะที่เปลี่ยนก็ต้องแก้ไขอีกแล้ว ซึ่งมีใครมาช่วยให้หายทุกข์ได้ไหม? ไม่ได้แม้กระทั่งเปลี่ยนอิริยาบถไปแล้วก็จริงรูปใหม่นามใหม่ก็กำลังเริ่มเกิดทุกอีกแล้ว
เมื่อท่านอยู่ในห้องปฏิบัติ พอถึงเวลาก็มีคนเอาปิ่นโตมาวาง เราก็ต้องหยิบเองต้องตักเอง ต้องใส่ปาก ต้องเคี้ยว ต้องกลืน นั้นก็เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าทุกข์เท่านั้นที่เดินทางอยู่ตลอดเวลา บังเกิดขึ้นอยู่เสมอ

แต่ถ้าหากเรากลับไปเห็นว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดีกว่า ฉะนั้นจึงเป็นความรู้ที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง วันนี้จึงมาให้เหตุผลถ้าหากท่านมีความรู้สึกอย่างที่กล่าวมานี้ ท่านสามารถบอกตนเองได้เลยว่าการปฏิบัตินั้นถูกหรือผิด หากทราบว่าผิดแล้วก็ต้องแก้ไข
บางครั้งที่เราเข้าปฏิบัติหลายๆ วัน ก็มีอารมณ์เข้ามามากมายซึ่งเราห้ามไม่ได้ และแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันการที่เราได้มีโอกาสมาเสวนาธรรมกันในวันนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันจึงเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้มีเหตุผลและส่งเสริมให้เดินหน้าขึ้นไปได้ และทำบุญให้สูงๆ ขึ้นไปได้

วิธีการจับปัจจุบัน

อีกประการหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติควรจะเข้าใจว่าในเรื่องของชีวิตทั้งเราทั้งเขามีสภาพเหมือนกัน คือไตรลักษณ์มีรูปนามที่ไม่เที่ยง รูปนามที่เป็นทุกข์ รูปนามที่บังคับบัญชาไม่ได้เพราะความที่เราไม่เห็นไตรลักษณ์เราจึงหลงฟั่นเฟือนไปตามอาการทำคิดว่ามีแก่นสารขึ้นมาแต่ถ้าเมื่อใดที่เราปฏิบัติอยู่นี้แล้วมีมนสิการมากขึ้นๆ เราก็จะเห็นความจริงว่าความปรากฏขึ้นของทุกข์ ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายด้วยปัญญาคือเบื่อชีวิตแต่ไม่ใช่เบื่อว่ามาปฏิบัติแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย วันนี้อารมณ์ไม่ดีเลยวันนี้ไม่ได้ปัจจุบันเลย เบื่ออย่างนี้ก็คือ กิเลสเบื่อ

สาเหตุก็เพราะเราเข้ามาด้วยมีความหวังมีความต้องการมาตั้งแต่แรก ที่จะได้เห็นรูป เห็นนาม หรือได้ปัญญาอย่างนี้ละคะเป็นการมาที่มีกิเลสหนุดหลังให้มา แต่พอไม่สมความปรารถนาหรือใจร้อนพอปฏิบัตินิดนึงก็อยากเห็นผลขึ้นมาแล้ว ความใจร้อนเหล่านี้เป็นกิเลสกิเลสจึงอุดหนุนให้เราถอยดีกว่า ออกมาจากห้องเสียก่อนแล้วค่อยกลับมาใหม่
ฉะนั้น การมาปฏิบัติจึงต้องมีศรัทธาเป็นตัวนำเหมือนหัวรถจักรที่จะนำให้ท่านทั้งหลายมาพากเพียร ทำความเข้าใจชีวิตคือมาดูชีวิตตัวเองดูทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งวี่ทั้งวันเมื่อปรากฏขึ้นที่รูปก็ดูที่รูป เมื่อปรากฏขึ้นที่นามก็ดูที่นามอาการใดปรากฏขึ้นหรือมีอยู่นี้ก็ให้ดูไป เพราะในรูปนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงในรูปนั้นก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ในรูปนั่ง เดิน ยืน นอนนั้นก็บังคับบัญชาไม่ได้แม้กระทั่งนามก็เป็นเช่นนี้
แต่หลายครั้งทีได้ยินว่าไม่ได้ปัจจุบัน จับปัจจุบันไม่ได้ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่าท่านดูทุกข์น้อยไปหน่อยเพราะปล่อยให้ทุกข์ผ่านไปหมด ทุกอย่างที่เข้ามาแล้วก็ผ่านไปเปรียบเสมือนเรารับเงินเดือนที่เอามาพักชั่วคราว แล้วก็ต้องจ่ายออกไป เช่นไปซื้อของฉะนั้นหน้าที่ของเราคือดูทุกข์ ถ้าเผื่อมีทุกข์มาแล้วเราดู ทุกข์มาเราดูอะไรมาเราดูๆๆๆๆ งานการเรามากเราก็จะไม่เสียปัจจุบันแต่ถ้าหากเราดูทุกข์น้อยไปเราก็เสียแล้ว คือเสียปัจจุบันไปพอเสียปัจจุบันไปก็เท่ากับทุกข์นั้นผ่านไปหมด แล้วอย่างนี้เราจะรู้ทุกข์ได้อย่างไร

ทุกข์มีกิจให้รู้แต่เราเสียเวลาไปโดยที่ไม่ได้ดูเราจึงไม่ได้ปัจจุบันนั่นเองทุกอย่างเกิดขึ้นที่ปัจจุบัน ทุกข์เกิดขึ้นที่ปัจจุบันญาณปัญญาก็เกิดขึ้นที่ปัจจุบัน ฉะนั้นความสำคัญในแง่มุมเหล่านี้ท่านทั้งหลายจึงต้องเข้าใจ แล้วก็ต้องพยายามปรับ คือสังเกตให้มากกว่าเดิมไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ต้องคอยสังเกต แล้วก็รู้เสมอว่ามีอะไรเกิดขึ้นจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ต้องรู้ว่าจะเปลี่ยนทำไม
งานการชีวิตของผู้ปฏิบัติก็คือมีหน้าที่คอยสังเกต ตัวโยคาวจรก็คือสติมา สัมปชาโณ และอาตาปีเกิดขึ้นมาทำงานอยู่ตลอดเวลาเมื่อเครื่องจักรได้ทำงานโดยฟันเฟืองไม่ปีนเกลียวกันแล้ว เดินเครื่องได้คล่องแล้วทุกอย่างก็จะลื่นไหลไปโดยอัตโนมัติ

ในการปฏิบัติ ถ้าหากมีเข้าใจ และวางใจคือมีโยนิโสมนสิการอย่างถูกต้องได้มากและทำได้ดีแล้วนั้น ในคัมภีร์มหาปัฏฐานบอกว่าขอแค่เจ็ดวันนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแน่ๆแต่ที่ยังไม่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เพราะว่าเรามนสิการไม่ถูกนั่นเองเหมือนหัวรถจักรที่วางบนรางถูกต้องแล้ว ยังไงก็ต้องถึงแน่นอนแต่เพราะเราวางผิดเราจึงไปไม่ถึงที่

เรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ ก่อนเข้า จึงต้องมีการอบรมกันมากมายแต่เมื่อเข้ามาปฏิบัติแล้ว ศาลาธรรมสภาตรงนี้จึงไม่ควรเป็นที่บรรยายหรืออภิปรายแต่ควรเป็นที่ที่มาแนะนำหรือมาแก้ไขอารมณ์กันเพราะที่ท่านกำลังทำอยู่ขณะนี้คือวิปัสสนาธุระ ไม่ใช่คันถธุระแต่ที่ต้องใช้เวลาของท่านมาคุยกันตรงนี้ก็เพราะ การเข้าหลายๆวันนั้นไม่แน่ว่าจะดีเสมอไป แล้วไม่ใช่ว่าเข้านานๆ แล้วจะไม่ดีอยู่ที่ว่ามนสิการดีหรือเปล่า ถ้าหากมนสิการดีแล้ว เข้าวันเดียวก็ดี หลายวันยิ่งดีแต่ถ้ามนสิการไม่ดี หลายวันก็ไม่ดี ฉะนั้น มีอะไรจะพูดคุยก็เชิญเลยนะคะจะได้ให้ท่านได้มีโอกาสซักถามกันบ้างค่ะ เชิญค่ะ.

ถามเวลากำหนดนามได้ยินแล้วทำไมไม่ไปถึงทุกข์อย่างที่ให้กำหนด คือพอได้ยิน ก็กำหนดนามได้ยินแต่ยังไม่เลยไปถึงว่านามนี้แหละเป็นทุกข์
ตอบเป็นคำถามที่ดีนะคะเพราะท่านถามแล้วจะได้เข้าใจคำว่าทุกข์ถูกต้องมากขึ้นความจริงสภาพธรรมนั้นเป็นทุกข์อยู่แล้ว แต่ท่านขาดความเข้าใจไปนิดนึง คือ....ในเรื่องของนามได้ยิน เราเรียนรู้ว่าเสียงเป็นรูป การได้ยินเป็นนามหน้าที่ของผู้เข้าปฏิบัติต้องตรงต่อความเป็นจริง คือ ไม่ใช่เราเป็นผู้ได้ยินเพราะการได้ยินนั้นมีเหตุใหญ่ๆ ๔ ประการ หากนับเป็นปัจจัยก็ได้มากมายถึง ๗๓ ปัจจัย
เหตุใหญ่ๆ ๔ ประการคือ ๑. ต้องมีประสาทหูดี ๒. มีช่องว่างระหว่างหู ๓.มีคลื่นเสียงมากระทบ ๔. มีมนสิการ จึงมีผลคือเกิดการได้ยิน จึงไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์แต่เป็นเหตุทำให้เกิดการได้ยินแล้วการได้ยินนั้นก็ได้ยินความสั่นสะเทือนของอากาศที่สะท้อนเข้ามาเพราะคลื่นเสียงที่กว่าจะมาถึงท่านนั้นต้องเดินทางโดยอาศัยอากาศมีการเกิดดับเกิดดับ รวดเร็วมากและโสตวิญญาณที่อาศัยโสตปสาท ก็มีการเกิดดับ เกิดดับอยู่เช่นกันโดยสภาพธรรม ซึ่งการเกิดดับของธรรมะทั้งหลายนี่ละคะเรียกว่าทุกขังแต่เราท่านยังเข้าไปไม่ถึงตรงนั้นจึงยังไม่ได้ไปสัมผัสถึงความทุกข์คือการเกิดดับของรูปและนามนั่นเองไงคะทั้งที่ความจริงทุกข์มีอยู่แล้วตลอดเวลา.
ท่านไม่ต้องไปกลัวว่า ท่านไม่เห็นทุกข์เพราะตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้นและท่านก็ทำถูกแล้วครั้งแรกๆนี้เรากำหนดเพื่อป้องกันความวิปลาสเสียก่อนว่าเราเป็นผู้ได้ยินด้วยการกำหนดว่านามได้ยินแท้ที่จริงเราไม่มีจิตเป็นนามจึงต้องกำหนดนามได้ยิน
การกำหนดนามได้ยินนั้น เราต้องรู้อย่างนี้ว่าผู้ได้ยินคือจิตและจิตเป็นนามไม่ใช่เราเป็นผู้ได้ยินแต่ถ้ากำหนดเพราะเขาบอกมาว่า ได้ยินต้องกำหนดนาม อย่างนี้ไม่ถูกเพราะเป็นการจำจดหรือฟังตามกันมาที่สำคัญคือเราต้องมีเหตุผลว่าทำไมเราต้องกำหนดนามได้ยินเพราะสภาพธรรมจริงๆไม่ใช่เราได้ยินแต่เป็นจิตได้ยิน และจิตเป็นนาม นี่คือขั้นหนึ่งนะคะ

และในการได้ยินนั้น คลื่นเสียงต่างๆก็สั่นยาวไม่เท่ากันและคลื่นเสียงเองก็มีการเกิดดับอยู่แล้วซึ่งเราบังคับบัญชาไม่ได้และมีความรวดเร็วมากเพราะฉะนั้นความไวของคลื่นเสียงและความไวของจิตที่เกิดดับรวดเร็วมากแต่ผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถรู้ได้นั้นก็เพราะสติปัญญาของเรายังด้อยพัฒนา
แต่ถามว่า กำหนดอย่างนั้นเป็นความผิดไหมขอตอบว่าไม่ผิด เพราะท่านได้สกัดกั้นความเห็นผิดตรงนั้นว่าเป็นเราออกไปแล้ว
แต่ความปรากฏของธรรมะนั้นมีความต่อเนื่องคือมีความต่อเนื่องของสันตติคือความสืบต่อ สันตติปิดบังอนิจจังฉะนั้นท่านก็ต้องคอยสังเกต มีมนสิการอยู่ในใจว่า คำหนึ่ง ประโยคหนึ่งใช่เรื่องเดียวกันไหม อย่าให้ใจไปกระวนกระวาย แต่ให้ทำใจเหมือนดูละครอย่าไปเล่นละครด้วย คืออย่าเอาความปรารถนาเข้าไปเพราะจะปิดบังความจริงทันที
ความที่ปัญญายังไม่กล้าแข็ง ที่จะเข้าไปรู้ทุกขังตรงนั้นจึงได้แค่ได้ยินเพราะกว่าจะเห็นทุกข์ตรงนั้นรู้สภาพธรรนั้น ท่านจะต้องได้นามรูปปริจเฉทญาณปัจจยปริคหญาณ จนมาถึงสัมมสนญาณ
นามรูปปริจเฉทญาณคือ ญาณที่เกิดขึ้นที่รู้รูป นามว่าเป็นคนละอย่างกันปัจจยปริคหญาณคือ ญาณปัญญาที่รู้ว่ารูปนามนั้นเป็นคนละอย่างกันก็จริง แต่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน และสัมมสนญาณคือญาณปัญญาที่รู้ว่าทั้งรูปและนามที่เป็นปัจจัยให้กันและกันทำงานสัมพันธ์กันอยู่นั้นต่างก็มีดับมีเกิด มีการเกิดดับอยู่เสมอ

ฉะนั้น ตรงสัมมสนญาณนี้ ก็จะเปิดเผยให้ผู้ปฏิบัติเห็นเองรู้เองว่าเห็นพระไตรลักษณ์ แต่ยังเป็นชนิดอ่อน จนกระทั่งปฏิบัติไปถึงอุทยัพพยญาณญาณปัญญาที่เห็นการเกิดดับมากขึ้นๆ แก่กล้าขึ้น หน้าที่ของท่านในขณะนี้ท่านทำถูกต้องแล้วค่ะ คือกำหนดเช่นนั้น แล้วกำหนดไป คอยดูไป ความแก่กล้าของ สติมาสัมปชาโณ อาตาปี จะพาชีวิตของผู้ปฏิบัติให้มีความกล้าแข็งจนกระทั่งญาณปัญญาเปิดเผยขึ้นมาได้ จึงอย่ากังวลว่าจะไม่ไปถึงทุกข์สิ่งที่ควรกลัวก็คือ อย่าหมดศรัทธา อย่าขาดความเพียรแล้วสักวันหนึ่งเมื่อความเพียรมีกำลังมากเหตุปัจจัยพร้อมผลก็จะพรั่งพรูเอง

หมายเลขบันทึก: 512799เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

ถามจากคำถามที่พระคุณเจ้าท่านถามเรื่องทุกข์ที่ยังไม่ปรากฏนี้ ที่เคยเรียนมาว่าบุคคลบางคนปรากฏทุกข์ชัดเนื่องจากในอดีตมีการฝึกสมาธิมาบางคนปรากฏอนิจจังชัดเนื่องจากมีศีลมามาก บางคนอนัตตาชัดเนื่องจากอบรมปัญญามามากขอถามว่าถ้าเกิดคนหนึ่งไม่ได้เห็นทุกข์ชัดแต่ไปเห็นอนัตตานี่ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่าต่างกันอย่างไร?
ตอบตอบ การเห็นอนิจจัง เห็นทุกข์ขังเห็นอนัตตาตรงนี้ต้องตอบว่าเป็นภาคปริยัติ ซึ่งไม่จำเป็นเท่าใด เพราะการที่รู้ทุกข์คือ ทุกขสัจจะปรากฏแก่ผู้รู้นั้นจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาก็ได้
เพราะทั้งสามอย่างนั้นท่านอยู่บ้านเดียวกันคือในรูปรูปหนึ่งก็มีทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในนามนามหนึ่งก็มีทั้งอนิจจังทุกขัง อนัตตา แต่ความเด่นชัดขององค์ใดจะปรากฏขึ้นมาก่อนเท่านั้นแต่ถามว่าเมื่อปรากฏอนิจจังปรากฏชัด ทุกขังและอนัตตามีอยู่ด้วยไหม? มีอยู่

เมื่อถามตรงนี้แล้ว ก็จะขออธิบายคำว่าอธิบดีอารมณ์สักนิดหนึ่งอธิบดีอารมณ์ต่างกับคำว่าอินทรีย์อย่างไร ในเมื่ออธิบดีก็แปลว่าความเป็นใหญ่อินทรีย์ก็แปลว่าความเป็นใหญ่ แต่เป็นใหญ่คนละอย่าง อธิบดีอารมณ์มีฉันทาธิปติวิริยาธิปติ จิตตาธิปติ วิมังสาธิปติซึ่งถ้าศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าไม่เหมือนกันกับอินทรีย์ เพราะอินทรีย์ เช่น จักขุนทรีย์โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ เป็นต้นเหล่านี้ เป็นความเป็นใหญ่เฉพาะที่และมาเพียงลำพังถ้าจักขุนทรีย์ขึ้นมาทำงานเป็นใหญ่ โสตินทรีย์ก็จะขึ้นมาทำงานไม่ได้แต่อธิบดีนั้นเป็นเใหญ่เพียงหนึ่งแต่เกิดพร้อมกันทั้งสี่ได้ในลักษณะของสหชาตเป็นสหชาตธิปติ

เช่น ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือมีประชาชนเป็นใหญ่ แล้วประชาชนจะเป็นใหญ่ได้ทั้ง ๖๐ ล้านคนได้ไหม ก็ไม่ได้จึงต้องเลือกผู้แทนขึ้นมาก็มีนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาเป็นใหญ่คนเดียวแต่ประชาชนก็ยังคงอยู่ในประเทศ และคล้อยตามการทำงานของบุคคลที่เราเลือกไป
ฉะนั้น เมื่อฉันทาธิปติเกิดขึ้น วิริยาธิปติจิตตาธิปติ และวิมังสาธิปติก็จะคล้อยตามเช่นเดียวกันในอนิจจัง ทุกขังอนัตตา ท่านก็มาพร้อมกันดุจเดียวกับเรื่องอธิบดี ฉะนั้นเมื่ออนิจจังทำหน้าที่เด่นชัดกว่า ทุกขัง และอนัตตาต้องมีอยู่ตรงนั้นด้วยแต่ความสำคัญอยู่ตรงที่เมื่อใดเล่าที่เราจะไปประจักษ์เสียทีหนึ่ง จะเป็นอนิจจังหรืออนัตตาก็ได้เมื่อใดล่ะที่การกำหนดของท่านไม่ว่าจะเป็นนามได้ยิน หรือรูปนั่งแล้วมีปรากฏการณ์ที่จะพาให้ชีวิตของท่านแล่นออกไปนอกวัฏฏะจะเกิดขึ้นตรงนั้นสำคัญกว่านะคะ
ขอยกอุปมาว่ามีท่อนไม้ไผ่อยู่สองท่อน ที่ใช้เป็นไม้ถูกไฟ การเสียดสีทำให้เกิดความร้อนทำให้เกิดไฟได้ ตอนนี้เราถือไว้เฉยๆ ก็ยังไม่มีไฟ แต่เราจะบอกว่าไม่มีไฟได้ไหมก็ไม่ได้แต่ถามว่ามีไฟหรือยังก็ยังไม่มีปฏิเสธก็ไม่ได้ยอมรับก็ไม่ได้
เมื่อเราลงมีเอาไม้ถูกันเข้าแต่ที่ยังไม่มีไฟก็เพราะความร้อนจากการเสียดสียังไม่พอ ไฟจึงยังไม่เกิดขึ้นถ้าเราเลิกเสียก่อนเพราะหมดความเพียรก็ไม่มีทางจะมีไฟแต่ถ้าเรามีความเพียรสีต่อไปไฟก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอยู่จึงที่ความเพียรเป็นสำคัญ
และอีกอย่างหนึ่งเราปรารถนาให้มีไฟหรือปรารถนาเห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตาก่อนไม่ได้เพราะว่าทุกข์หรือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความปรารถนาแต่เกิดขึ้นเพราะความเพียร และต้องเพียรให้ถูกไฟปัญญาก็จะเกิดขึ้นแน่
ถามกำหนดนามได้ยินแล้ว จิตก็แค่ได้ยินแต่ทุกขังไม่ปรากฏที่ใจ แล้วมีผู้บอกว่าอย่าไปสนใจเพราะทุกข์นั้นดับอยู่แล้วอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ
ตอบผู้ปฏิบัติต้องรู้ทุกข์ จึงไม่ใส่ใจไม่ได้เหมือนกับไฟที่เรามีหน้าที่สีแล้วมาบอกว่าอย่าไปใส่ใจกับไฟว่าจะเกิดหรือไม่เกิดพูดอย่างนั้นไม่ได้ไฟจะต้องมีและเราต้องเห็นไฟ มิฉะนั้นแล้วเราจะทำไปทำไม คืออย่าไปใส่ใจว่าตนเองไม่เห็น หรือต้องการเห็นแต่เราต้องรู้ในใจว่าตรงนั้นมีความทุกข์แต่ทุกข์ยังไม่ปรากฏชัดกับเราเท่านั้นเอง ทำไมละ ? เพราะความเพียรเพราะเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปรากฏการณ์ของญาณปัญญายังไม่พร้อมใช่ไหมคะจึงยังไม่เห็นทุกข์
ยกตัวอย่างเช่น การไม่เห็นความเกิดดับตรงนั้นเพราะว่า ปัจจัย คือปัจจยปริคคหญาณยังไม่ปรากฏและปัจจยปริคคหญาณยังไม่ปรากฏก็เพราะนามรูปปริจเฉทญาณยังไม่มากเลยจะข้ามขั้นจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะญาณปัญญาต้องผ่านแบบนี้เพราะฉะนั้นจะปล่อยไปว่าไม่ต้องไปสนใจจึงไม่ได้
มนสิการให้ถูกจึงเป็นสิ่งสำคัญและพยายามรักษาศรัทธาไว้ว่าหนทางอันประเสริฐนี้เอง ที่จะพาเราข้ามโอฆะสงสารเพราะเมื่อญาณปัญญาเกิดแล้ว ความจริงก็จะถูกประจักษ์ขึ้นมาเรื่อยๆตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นมาและเมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามแล้วชีวิตก็จะมีจุดมุ่งหมายมากขึ้น เริ่มจะมีจุดหมายปลายทางและเมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นครั้งแรก จุดจบของทางชีวิตก็เริ่มจะมีขอบเขตแล้ว
แต่ถ้าเรายังไปไม่ถึงตรงนั้นชีวิตของเราก็ยังตกอยู่ในความน่ากลัวในขณะที่โลกกำลังร้อนระอุอย่างที่หลายท่านทราบว่าผู้พูดเป็นคนที่ผ่านการผ่าตัดมามาก และแพ้ความร้อนก่อนที่จะมาพูดตรงนี้ก็มีผู้เชื้อเชิญให้ไปจัดเก้าอี้นั่งกันในห้องแอร์แต่ก็บอกว่าไม่เป็นไรเพราะในขณะที่พูดนั้นก็คงไม่ได้สนใจอะไรและเชื่อว่ากุศลต้องคุ้มครองผู้ทำกุศล ซึ่งมาถึงเวลานี้ก็ยังไม่รู้สึกว่าร้อนซึ่งถ้าท่านร้อน ท่านก็มีหน้าที่กำหนดกันไป แต่ถ้าหากจิตมีงานทำไม่ซัดส่ายไปรับอารมณ์ต่างๆที่เป็นวิบาก แต่ถ้าเราเข้าไปเล่นกับวิบากนั้นมันก็เพิ่มอำนาจมากขึ้น ฉะนั้นจึงบอกว่าให้ทำใจเหมือนดูละครเพราะเรามีหน้าที่ดูเท่านั้น

ถามเจริญพรโยม อยากถามว่ารูปนามจะเปลี่ยนต้องทำอย่างไรก่อนถึงจะเรียกว่าถูก
ตอบการปฏิบัติของอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ชีวิตจริงเป็นอย่างไรไม่ว่าจะนั่ง ผู้ปฏิบัติก็นั่ง และถ้านั่งนานๆ ก็เมื่อเหมือนกันแต่ที่ไม่เหมือนกันคือ ตรงสภาวะจิตที่รู้ว่าไม่มีคนมาเมื่อยแต่คนที่ไม่ปฏิบัติก็จะเป็น "เขาเมื่อย" พอเขาเมื่อยปุ๊บ เขาก็อยากจะเปลี่ยนแต่ถ้าผู้ปฏิบัติเวลาเกิดปวดเมื่อย หรือปวดตรงหลัง ปวดตรงขา ก็จะไม่มีคนไม่มีใครมาเป็นผู้ปวด มีแต่นามปวด นามรู้สึก นามทุกข์ จึงต้องมนสิการไปว่าตรงนั้นผู้รู้คือนาม แล้วก็จะเปลี่ยนอิริยาบถได้ไหมตอบว่าได้แต่ก่อนเปลี่ยนจะต้องรู้ความจำเป็นว่าเพราะทุกข์นะ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนคือต้องมีเหตุผลเสนอให้ปัญญาทุกครั้งไปนะคะ
เมื่ออาการไปตั้งใหม่แล้วท่านก็คอยสังเกตต่อไป ทำความรู้สึกตัวที่รูปใหม่ (อาการ) เพราะอิริยาบถปิดบังทุกขัง คือปิดทุกข์เก่าแล้วก็ปิดทุกข์ใหม่เพราะพอเปลี่ยนท่านั่งมาท่านั่งใหม่ก็จะเริ่มทุกข์แล้วอะไรเกิดขึ้นปุ๊บก็จะเริ่มทุกข์แล้ว แต่มันยังไม่สุกงอมเท่านั้นเองทุกข์ใหม่จึงเห็นยากไงคะ จึงต้องคอยสังเกตุให้ดีคือมนสิการให้ดีนั่นเองค่ะ

ฉะนั้น การนั่งนี้พอเรากำหนดแล้ว ทำความรู้สึกตัวในรูปนั่งนั้นแล้วคอยดู คือใจนี้ดู หรือจะใช้คำว่า กำหนด สังเกต ต่างๆก็ได้คอยสังเกตดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมีอะไรปรากฏขึ้นบ้างในรูปนั้นทุกข์ก็จะค่อยๆเพิ่มปริมาณเหมือนปรอทที่คนเป็นไข้อมเอาไว้ในปากคือเราเป็นโรค ทุกข์กันทุกคน ฉะนั้นใหม่ๆพออมปรอทปรอทก็จะค่อยๆสะสมความร้อนแล้วก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นแม้จะเป็นไข้สูงอมปรอทแล้วปรอทก็จะค่อยๆวิ่ง ไม่ใช่พออมปุ๊บก็วิ่งปรู๊ดไปอย่างเร็วแต่ต้องค่อยๆขึ้นแต่ภาพลวงตาที่เรามองเห็นว่าพุ่งปรู๊ดไปเกิดสามสิบเจ็ดองศาแล้วแต่แท้จริงแล้วปรอทมันค่อยๆขึ้นผ่านทีละองศาไป
ฉะนั้น ทุกข์เหมือนกัน ที่จะค่อยๆ ขึ้นจนตั้งอยู่ปรากฏขึ้นแก่จิตอยู่คือความทุกข์ เราก็ดูอีกว่าทุกข์อีกแล้ว ใครทุกข์? นามทุกข์แล้วเราต้องทนต่อไปไหมเมื่อทุกข์ปรากฏขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องทนเพราะทุกข์นั้นเป็นตัวบีบคั้น เราไม่ได้อยากเปลี่ยน อย่าอยากเปลี่ยนเราต้องกันโง่และกันตัณหาออก กันความเห็นผิดที่เห็นว่าเป็นเราเป็นคนเป็นสัตว์กับกันอยากคือตัณหา นี่เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติต้องรู้ว่าทำอะไรกัน เหมือนคอยเฝ้าดูผู้ร้ายต่างๆที่จะเข้าจู่โจมชีวิตเรานั่นเองคือดูให้เห็นนะคะ

โยนิโสมนสิการคือ การวางใจได้ถูกต้องแยบคายคือดูว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม เหมือนกับเราจะอ่านชีวิต ว่าชีวิตเป็นอย่างไรชีวิตมีตัวหนังสือสองตัวคือรูปกับนามเท่านั้นเอง เป็นตัวให้เราศึกษาเพราะเราจะเห็นทุกข์ปรากฏขึ้นที่อื่นไม่ได้ ทุกข์ต้องปรากฏที่รูปและนามเท่านั้นแม้กระทั่งฟุ้ง เวลาถ้าฟุ้งเกิดขึ้นก็อย่าไปกลัวฟุ้ง หรือไปคิดว่าฟุ้งไม่ดีเพราะมีสิ่งให้เราศึกษา และมีปรากฏการณ์ธรรมชาติคือไตรลักษณ์เกิดขึ้นในฟุ้งได้นะคะ
อาจารย์บุษกร :ขอประทานโทษนะคะ ก่อนที่ท่านจะเข้ามาที่นี่ท่านมีพื้นฐานทางด้านการปฏิบัติมาด้านไหนบ้างคะ
พระภิกษุ :เคยปฏิบัติสมาธิมา ก่อนยังกำหนดไม่ค่อยถูก
อาจารย์บุษกร :ท่านต้องเข้าใจสักนิดนะคะว่า สมาธิต่างกับวิปัสสนาถ้าคุณพ่อคือพระอาจารย์บุญมี เมธางกูรยังอยู่ท่านก็จะบอกว่าสมาธิต่างกับวิปัสสนาราวฟ้ากับดิน เพราะสมาธินั้นเราทำเพราะต้องการความสงบและในช่วงหลังมานี้คนไปฝึกสมาธิกันมากมายก็เพื่อให้มีความจำดี จะเห็นว่ามีความต้องการเข้าร่วมอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ความต้องการคืออะไรคะ? ความต้องการคือตัณหา และตัณหาคือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะถ้าเกิดไม่สงบขึ้นมาผู้ต้องการนั่นแหละจะทุกข์มาก และทุกข์นี้ก็รวมถึงการเกิด คือ ชาติ ปิ ทุกขาเพราะผลจากการทำสมาธิทำให้เกิดชาติ

สมาธิคือการกำหนดจิตใจอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียวเพื่อให้จิตนั้นสงบ สงบเป็นขณะๆ เรียกว่า ขณิกสมาธิ สงบได้มากขึ้นเป็นอุปจารสมาธิและสงบอย่างแนบแน่นเรียกว่าอัปปนาสมาธิ แต่เมื่อเลิกการกระทำสมาธิธรรมชาติของจิตที่มีลักษณะผนฺทนํ จปลํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํคือ ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก และห้ามได้ยากนั้นก็จะรับอารมณ์อื่นๆต่อไปซึ่งเป็นการแก้ไขทุกข์ให้พ้นไปได้ชั่วคราวค่ะ
ส่วนวิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่ให้ไปแก้ไขทุกข์แต่ให้ไปรู้ทุกข์ เพื่อจะได้เห็นทุกข์ประจักษ์ทุกข์
สภาพธรรมของชีวิตนั้นเมื่อเห็นทุกข์มากๆ ก็จะต้องการหนีออกจากทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นใช่ไหมค่ะขอประทานโทษที่จะยกตัวอย่างเมื่อคราวที่แล้วที่ท่านเจ้าคุณเมธีวรญาณมาบรรยายธรรมท่านพระคุณเจ้าได้นั่งอยู่ริมหน้าต่างแล้วก็ขยับเก้าอี้หลายครั้งเพื่อให้พ้นไปจากแสงแดดที่ร้อน ซึ่งทำให้เป็นทุกข์ ฉะนั้นธรรมชาติของจิตนั้นคือดิ้นรนที่จะหนีทุกข์อยู่แล้วแต่เพราะไม่รู้จักทุกข์จึงไม่หนีทุกข์ เพราะสุขวิปลาสนั้นเข้าไปทำให้รู้สึกสบายแต่มันไม่สบายจริงเพราะเป็นแค่การบำบัด ในขณะที่เราอยู่ในอากาศร้อนเราก็คิดว่าอากาศเย็นช่วยให้เราได้สบายแต่พออากาศเย็นจริงๆแล้วไปซื้อเสื้อกันหนาวใส่กันทำไมเพราะเราทนเท่าที่ทนได้เท่านั้นซึ่งมันยังไม่สุกงอมจนกระทั่งทนไม่ได้

ฉะนั้น วิปัสสนาไม่ใช่ให้มาหาความสงบแต่มาดูทุกข์เพื่อให้จิตนั้นรู้ทุกข์ การเข้ารู้มากๆทุกข์ปรากฏขึ้นเท่าใดรู้เท่านั้น จิตก็จะละคลายจากความกำหนัด คือความยินดีเพราะทุกวันนี้เรายินดี เรามีสภาพความยินดีในชีวิตอยู่ตลอดเวลาแต่พอมาปฏิบัติวิปัสสนาได้พบกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติและผู้ดูก็เห็นธรรมชาตินั้นว่าเป็นทุกข์ความกำหนัดก็คลายแล้วก็เห็นว่าชีวิตไม่ได้เป็นของดี นั่งก็ทุกข์พอกำหนดไปทุกขเวทนาเกิดขึ้น ทุกข์จากการแก้ไขทุกข์ก็ตามมาคือสภาวทุกข์ความเปลี่ยนแปลงของรูปที่มีก็คือทุกขลักษณะ และรูปนามนั่นแหละคือทุกขสัจจะก็จะเห็นว่ามีทุกข์ซ้อนทุกข์ซ้อนทุกข์อยู่เสมอ
ผู้ปฏิบัติจึงมีกิจอย่างเดียว คือกิจรู้คือการกำหนดรู้ทุกข์เมื่อเรารู้ว่าเป็นทุกข์มากเท่าไร ตัณหาก็จะละไปมากเท่านั้น ไม่ใช่ดูเฉยๆนะคะต้องมนสิการ คือทำความเข้าใจให้ถูกตรงกับความเป็นจริงในเหตุผลนั้นๆให้ถูกต้องและให้มีนามรูปติดตามไปทุกขณะ เห็นทุกข์จนกระทั่งไม่มสุขมากเท่าไรทุกข์ก็จะเผารนตัณหาให้หมดไปมากเท่านั้น และตัณหาหมดไป หรือดับไปเมื่อไหร่ก็จะถึงนิโรธเมื่อนั้น เมื่อถึงนิโรธเมื่อไหร่ มรรคก็จะสมบรูณ์เมื่อนั้นค่ะท่านนี่คือกิจของอริยสัจ ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นตอน
ฉะนั้นวิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นทางสายเอกหรือที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐานนี้แหละคือทางสายเอกเป็นทางสายเดียว ต้องเดินเพียงผู้เดียว และไปที่เดียวคือพระนิพพาน
แต่สมาธินั้นนำให้ไปเกิดเป็นพรหม นับตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌานตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งในแต่ละชั้นก็ยังมีการแบ่งเป็นพรหมออกไปอีกหลายภูมินี่ก็จะเห็นว่าผลของสมาธิทำให้ไปหลายที่แต่วิปัสสนาไปที่เดียวเท่านั้นคือไปนิพพานค่ะท่าน.

อาจารย์บุษกร :คุณแม่ชีแสวงปฏิบัติเป็นอย่างไรบ้างคะ
แม่ชีแสวง :ก็มีแต่ทุกข์อย่างเดียวเห็นแต่ทุกข์อย่างเดียวเลย ความรู้สึกนี้เปลี่ยนไปก็เป็นทุกข์อีกแล้วความรู้สึกใหม่ก็เป็นทุกข์อีกแล้ว
อาจารย์บุษกร :อย่างนี้ถ้าหากเป็นผลของการปฏิบัติก็เรียกว่า ได้ดีแต่ที่บอกว่าเปลี่ยนไปแล้วก็เป็นทุกข์อีกทุกข์อยู่ตลอดเวลา แล้วอะไรทุกข์คะเพราะทุกข์มีได้ทั้งที่รูปและที่นาม อยากถามคุณแม่ชีต่อนะคะ
แม่ชีแสวง :เวลาเกิดความรู้สึกออกไปก็เป็นทุกข์ที่ออกไปรู้รูปพอหมดไปก็กลับเป็นทุกข์อีกที่กลับเข้ามารู้ใหม่ รู้ก็เป็นทุกข์อีก
อาจารย์บุษกร :แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะกับรู้สึกที่ปรากฏขึ้นนั้น
แม่ชีแสวง :ความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือคะ จะตอบอย่างไรดีตอบไม่ถูก
อาจารย์บุษกร :ตอบความจริงที่รู้สึกสิคะ
แม่ชีแสวง : ก็มีแต่ทุกข์ จะตอบอย่างไรดี ก็ยังมีศรัทธาอยู่รู้ว่าทุกข์ก็ทุกข์ไป
อาจารย์บุษกร :ค่ะดีมากเลยค่ะ แต่ถ้าจะดีมากกว่านี้ก็ตรงที่ว่าต้องคอยสังเกตอีกว่า ทุกข์ที่บอกว่ามันทุกข์อยู่นี่ ทุกข์ที่ไหน ที่รูปหรือที่นามเพราะรูปกับนามไม่ใช่อย่างเดียวกัน จึงต้องรู้ชัดลงไปด้วยนะคะ ว่าที่ใด
แม่ชีแสวง :ค่ะถ้าทุกข์ที่นามก็นามทุกข์ที่นามเป็นทุกข์เพราะว่าไปรู้รูปทุกข์นี่นามอาศัยรูปกับนามทุกข์เพราะอาศัยรูปที่เป็นทุกข์นั้น
อาจารย์บุษกร :จากการเห็นทุกข์อย่างที่บอกนี่ แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างกับทุกข์นั้นคะเหมือนกับคนเราเห็นศัตรูอยู่ตลอดเวลาถามว่าเราจะรู้สึกเฉยๆไหมกับศัตรูที่อยู่ต่อหน้าต่อตาตลอดเวลานี่ปรากฏการณ์ทางจิตที่เป็นผู้รู้นี้จึงต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองสิ่งเร้าใช่ไหมคะ
แม่ชีระเบียบ :ใจมันเหี่ยวแห้ง
แม่ชีแสวง :ก็รู้สึกว่าใจมันเหี่ยวแห้ง

อาจารย์บุษกร :ถูกต้องนะคะกับท่านอื่นที่ตอบว่าใจเหี่ยวแห้งและถ้าท่านแม่ชีแสวงตอบอย่างนี้ก็จะเป็นคำตอบที่บอกว่าท่านปฏิบัติถูกแล้วละเพราะความรู้สึกตรงนั้นมันเหมือนกับคนที่ว่าความสดชื่นที่เคยมีอันจัดอยู่ในตัณหาที่เรียกว่ายางหรือเยื่อเมือกที่มีอยู่ในวัฏฏสงสาร ยางนั้นมันฝ่อตัวน้ำหล่อเลี้ยงคือสุขวิปลาสนี้มันหดตัวลงจึงห่อแห้งเศร้าใจในการเห็นที่ตนเองเห็นแล้วก็รู้ไปว่าแม้จะต้องดูต่อมันจะมีความกดดันที่รู้ว่าปรากฏการณ์นี้ก็จะเกิดขึ้นอีกแล้ว
เหมือนกับเราเปิดหน้าต่างออกไปปุ๊บแล้วมีคนคอยตะโกนบอกว่า "เธอทุกข์นะ"อยู่ตลอดเวลาคือมีสิ่งที่ไม่ดีมาปรากฏอยู่ต่อหน้าตลอดเวลานี่เราอยากเปิดหน้าต่างไหม? เราไม่อยากเปิด แต่เราไม่เปิดไม่ได้ แต่เวลาเปิดจะเป็นอย่างไรคะสดชื่นเปิดหรือเปล่า แต่มันห่อแห้งใจเกิดความสลด ฉะนั้นที่แม่ชีตอบถูกต้องเลยค่ะ
เพราะถ้าเกิดทุกข์ปรากฏขึ้นมากๆนี่แล้วมีอะไรบ้างที่ต่อเนื่องจากทุกข์นั้น ก็คือความแห้งใจ เห็นธรรมชาตินั้นไม่มีสาระเห็นอย่างนี้จึงเป็นการเห็นถูก ไม่ใช่เห็นแต่ทุกข์ๆคือเห็นแต่ศัตรูแต่มันต้องมีความต่อเนื่องก้าวออกไปได้ก็คือปัญญาจะตามรู้ทุกข์และตัดสินให้แก่จิตนั้นเป็นผู้รู้โดยรู้สภาพของความทุกข์ที่มีเกิดขึ้นเท่านั้นอยู่อย่างต่อเนื่องตัณหาคือความต้องการ ที่เคยต้องการได้รูปได้นาม ก็ละไปเพราะปัญญาเห็นความจริงตรงนี้นะคะตัณหาจะเกิดขึ้นมาบงการชีวิตไม่ได้ถูกละไปๆด้วยปัญญานั่นเองค่ะ.

อาจารย์เกื้อกูล :ขอเรียนถามท่านประธานนะคะเกี่ยวกับเรื่องทุกข์ที่ท่านได้อธิบายมาแล้วก็เข้าใจดีแต่ปรากฏว่ามีเรื่องจริงเรื่องหนึ่งมีสหายธรรมที่เขาเข้าปฏิบัติมาเป็นเวลายี่สิบปีเข้าไปปลูกบ้านอยู่คนเดียวแล้วก็เจริญสติปัฏฐานเขาก็เห็นทุกข์อย่างที่ท่านกล่าวมาแล้วแต่การเห็นทุกข์ของเขานี่มันมีผลตรงกันข้าม ทำให้เขาเลิกกรรมฐาน ขายบ้านแล้วก็กลับมาเข้าสังคมไปเที่ยวต่างประเทศค่ะ เขาบอกว่าการเห็นทุกข์ของเขานี่เห็นตลอดเวลา แล้วเขาก็ทนไม่ได้จิตใจจะแตกสลายอยู่ไม่ได้ก็เลยขายบ้านแล้วกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านซึ่งไม่ได้อยู่คนเดียวตามลำพังแล้วก็เรียนถามว่าการเห็นทุกข์ของผู้ปฏิบัติธรรมผู้นี้ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ ๑๐ปี่นี่นะคะ เป็นการเห็นที่ถูกต้องหรือเปล่า หรือว่ามีการมนสิการที่ไม่ถูกต้องคะ
อาจารย์บุษกร :ขอบพระคุณมากนะคะที่ตั้งคำถาม ตรงนี้ก็ต้องขอตอบเป็นกลางๆ ในเหตุผล เพราะว่าตามหลักความเป็นจริงการที่เราเห็นภัยเห็นทุกข์ สภาพจิตทีเห็นทุกข์อยู่เรื่อยๆถามว่าใจเป็นอย่างไรบ้าง ใจก็จะสลดหดหู่ถอยออกมี ความแห้งใจคือปัญญาที่เห็นโทษซึ่งตรงกันข้ามกับตัณหาที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้สดชื่น ขอเปรียบสักนิดนะคะ เช่นคนที่แต่งงานกันไปพอมีลูก ลูกก็ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำงานทำมาหากินขึ้นเพราะยินดีติดใจรักลูก ความรักนี่ทำให้เกิดการแสวงหามากขึ้น มีกำลังมากขึ้นนี่คือตัณหา

แต่ปัญญาที่เข้าไปเห็นทุกข์นั้น ได้เห็นความจริงความต้องการความอยากได้จึงลดลงซึ่งตรงกันข้ามกับตัณหาฉะนั้นความแห้งใจเพราะไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลยสิ่งที่ปรากฏขึ้นก็อยู่ได้เท่าที่มีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับลง เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาความรู้สึกอย่างนี้จะสะเทือนใจ แม้กระทั่งอนาคตในวันข้างหน้าก็ต้องเป็นอย่างนี้ฉะนั้นญาณปัญญาก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับกับผู้ที่เห็นทุกข์มาตลอดนี้นี่คือความจริงของผู้ปฏิบัติที่จะต้องได้ผลตามนี้
ขอพูดจากความถูกจริงที่ไม่ใช่ความถูกใจนะคะว่าเมื่อปฏิบัติแล้วผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องยิ่งปลีกออกจากเรื่องต่างๆนั้นออกมายิ่งปฏิบัติก็จะเห็นความเป็นจริงแบบนี้แต่บางครั้งเราก็ไม่ทราบว่าสภาพจิตของผู้ปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไรที่เขาพูดออกมานั้นพูดออกมาจากความรู้สึกจริงหรือไม่หรือพูดออกมาโดยปริยัติเป็นปัญญาโดยปริยัติแต่ถ้าเป็นปัญญาโดยปฏิบัติแล้วก็จะปลีกออกจากสังคมแน่นอน อันนี้คือนัยหนึ่ง
อีกนัยหนึ่งก็คือถ้าเราเอาเรื่องกรรมมาวินิจฉัย กรรมนั้นมีทั้งกรรมเบียดเบียนและตัดรอนเบียดเบียนทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ฉะนั้นผู้ปฏิบัติท่านนั้นอาจจะปฏิบัติกำลังได้ดีอยู่แต่เหตุอดีตที่เคยตัดรอนผู้อื่นไว้มาเบียดเบียนแล้วก็ตัดรอนให้เกิดความเห็นผิดว่าไปแล้ว ตรงนี้เป็นภัย เป็นกรรมตัดรอนให้ออกจากกุศลให้ไปอยู่ในอกุศลมากขึ้นก็ได้ค่ะจึงขอตอบไว้ตรงนี้เป็นสองนัย

เรื่องกรรมนี้วิจิตรจริงๆ จึงมีคำว่าทิฏฐิวิบัติไงคะขณะที่ปฏิบัติที่บอกว่าได้ดีนี่นะคะแต่กรรมที่ไม่มีหูมีตาก็อาจมาส่งผลให้เพราะเราห้ามไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเก่งเกินแรงกรรม แรงกายเรายังพอสู้ แรงปัญญาก็จะต้องบ่มเพาะให้มากๆ
เราตั้งเป้าหมายอะไรก็ได้เราหวังได้เช่นมีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุดนั่นคือแรงปรารถนาแต่อย่าลืมว่าแรงกรรมเราทำไว้พอหรือยังเมื่อคำนึงถึงแรงกรรมนี่เราก็จะได้ไม่ประมาทผลัดวันประกันพรุ่งเพราะแรงกรรมสามารถตัดรอนได้
ถ้าพูดถึงเรื่องบาปบุญ บาปบุญนั้นเกิดขึ้นที่ชวนจิต ชวนะดวงที่ ๑ให้ผลในปัจจุบัน เช่นเราทำดีตอนนี้เราก็ได้ความสบายใจสุขใจแต่มีอยู่นิดเดียวซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีผล ที่หลายคนบอกว่าทำดีเหมือนไม่ไดีแต่จริงๆแล้วกรรมที่ทำนั้นทำแล้วให้ผลในชาตินี้แต่ให้ผลน้อย แต่ชวนะดวงที่ ๗ให้ผลในชาติหน้า คือให้ผลนำเกิด แต่ชวนะดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ ให้ผลในชาติที่ ๓จนกระทั่งนิพพาน ฉะนั้นเราตอบได้ไหมว่า ตอนนี้ขณะนี้เราได้ผลจากชวนะดวงไหนบอกไม่ได้เลย เพราะมันส่งผลตลอดเวลา และไม่อะลุ้มอล่วยกับใครถ้าหากเราเคยตัดรอนใครไว้มันก็จะตามมาตัดรอนเราได้ง่ายๆเลยดังที่เราเห็นมากมายจากสภาพสังคม เช่น บวชๆอยู่นี่ก็สึกออกมากำลังได้ดีมีสุขอยู่นี่มีกรรมมาตัดรอนให้ต้องตาย หรืออย่างคนจนที่ถูกสลากบนดิน ๑๙ล้านตามข่าวที่มีนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนไปเลยนะคะ

ฉะนั้นไม่มีอะไรที่เราจะยึดติดถือว่าเที่ยงได้เลยต้องอย่าลืมว่าแรงกรรมเป็นสิ่งสำคัญและท่านกำลังแรงกรรมชนิดพิเศษเสมือนหัวรถจักรที่ไม่ใช้ฟืนแต่ใช้ดีเซลแต่ถ้าเราหมดศรัทธาหรือหมดความเพียรเมื่อใดรถก็ไม่เดินเหมือนกัน
จึงต้องเพียรใส่ใจสังเกตดูรายละเอียดของชีวิต คอยมนสิการให้ดีจะทำอะไร ไม่ว่าจะอยู่ห้องไหน เราต้องรู้ว่าธรรมะให้อะไรแก่เราบ้างเราได้รับหรือยังถ้าหากยังก็ต้องรีบนำตัวเองไปน้อมรับสิ่งที่ธรรมะจึงจะเป็นประโยชน์มากเพราะฉะนั้นชีวิตที่สั้นๆ เราต้องใช้เวลาสั้นให้เป็นประโยชน์ให้มาก
วันนี้คงไม่มีอะไรพูดมาก เพราะธรรมะไม่ใช่เรื่องมากแต่บัญญัตินั้นเรื่องมากที่ทุกวันนี้เรื่องมากก็เพราะเราบัญญัติกันขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แต่ธรรมะหรือสภาพธรรมนั้นก็มีอย่างนี้แหละค่ะ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแต่เราดูยากเพราะมันสวนทางกับกิเลส เมื่อสวนทางกับกิเลสนี่ก็เลยข้ออ้างเยอะ เช่นทำอย่างนี้ไม่ได้อะไรเลย ไปดีกว่ากลับบ้านก่อนดีกว่าแล้วค่อยมาใหม่ซึ่งพูดอย่างนี้ก็บอกได้เลยว่า คนผู้นี้มาเพื่อต้องการจุดประสงค์นั้นมีตัณหานำมาเมื่อไม่สมความปรารถนาก็เลยกลับไป

แต่ถ้าวางใจว่ามาด้วยศรัทธา ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณทั้ง ๙ประการที่ทรงพาชีวิตของผู้เข้าปฏิบัติให้สำเร็จท่านรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปได้มากมายดังที่ปรากฏในพระสูตรและเมื่อมาศึกษาพระอภิธรรมประกอบด้วยแล้วก็จะยิ่งศรัทธามากขึ้นเพราะการวางใจที่ถูกตรงถูกต้องในการเฝ้าสังเกตสิ่งต่างๆที่ปรากฏไม่ให้คลาดสายตาเราเลยเราก็จะต้องเห็นอะไรอย่างหนึ่งอย่างแน่นอนในการปฏิบัติที่มีมนสิการถูกต้องแล้วสะสมบุญชนิดนี้ไว้การกระทำของเราที่กำลังทำอยู่นี้สักวันหนึ่งใครคนใดคนหนึ่งอาจจะนั่งอยู่ที่หน้าพระพักตร์ของพระศรีอาริยเมตไตรยก็ได้และบุญที่สะสมไว้ก็จะมีอำนาจมากขึ้นเหมือนเราเตรียมสะสมสีข้างของกล่องไม้ขีดและหัวไม้ขีดเอาไว้เมื่อได้พบกับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เพียงหยิบมาจุดเท่านั้นไฟก็ติด ฉะนั้นเราต้องพยายามหาวัสดุชีวิตไว้ให้พร้อมคือปัญญาบารมีแล้วพระองค์ก็จะใช้วัสดุคือชีวิตเราให้เป็นผู้ที่มีค่า
ฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่น้อยลงนี่ ทำค่าชีวิตให้มากๆแล้วความแห้งใจที่เกิดขึ้นเป็นความแห้งด้วยปัญญา แล้วก็มีชาติภพที่น้อยลงและถึงจะมีชาติอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็มีชีวิตที่เกิดสั้นลงดีกว่าคนที่เขามีแต่สุขใจแล้วมีชีวิตที่ยาวนานเลยเพราะนั่นคือทุกข์ทั้งนั้นเลย

การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่มีอะไรนอกจากการดูทุกข์เพราะทุกข์เป็นความจริงที่ต้องกำหนดรู้ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป

การปฏิบัติต้องมีรูปนามเป็นอารมณ์เสมอและต้องรู้ว่าเป็นรูปอะไรนามอะไร ไม่ใช่รูปเฉยๆ หรือนามเฉยๆเพราะรูปกับนามก็ไม่เหมือนกัน รูปแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกันเพราะถ้าเหมือนกันก็จะเกิดการประชุมกันเป็นกลุ่มก้อนทำให้ไม่เห็นพระไตรลักษณ์
การที่เราไม่เห็นพระไตรลักษณ์ก็เพราะสันตติอิริยาบถ และฆนสัญญาปิดบังไว้
สันตติปิดบังอนิจจังความเกิดขึ้นสืบต่อปิดบังความไม่เที่ยง
อิริยาบถที่เราเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ได้กำหนดนั้นปิดบังทุกขังเพราะทุกข์เก่าและทุกข์ใหม่ทีเปลี่ยนแปลงอิริยาบถไปทำให้รู้สึกสบายถ้าสบายจริงก็ทำท่านี้ไปตลอดสิคะ จะเปลี่ยนอีกทำไมล่ะเพราะว่ามันเป็นทุกข์ใหม่นั่นเอง
ฆนสัญญาปิดบังอนัตตาการประชุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนปิดบังความไม่ใช่ตัวตน ทำให้เห็นว่าเป็นตัวตน
ดังนั้นจึงจะต้องคอยสังเกตสำรวจใจเพราะว่าเราจะอยู่กันได้สักกี่วันแต่ก็วันก็ช่างขอให้เราอยู่ในวิปัสสนาอารมณ์คือมีรูปมีนามเพราะวัฏฏสงสารน่ากลัวกว่าทุกข์ที่เราเห็นตอนนี้ฉะนั้นการเห็นภัยเห็นโทษที่ปรากฏขึ้นเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการเปิดเผยความจริงทำให้จิตนั้นสลดหดหู่แล้วก็อยากไปให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะชีวิตคือรูปนามขันธ์ ๕นี้เป็นทุกข์จริงๆ

จึงขออนุโมทนากับทุกท่าน ขอบุญญาธิการบุญบารมีที่ท่านได้สะสมแล้วทำมาแล้วนี้จงเป็นเสียงลำเลียงชีวิตท่าน ส่งเสริมท่านให้ท่านสามารถก้าวล่วงจากวัฏฏภัยและสามารถนำใจให้เกิดศรัทธา และศีล สมาธิ ปัญญาอันเสมอกันได้ถึงมรรคผลนิพพานได้โดยไวชาติ
และขอกราบขอบพระคุณท่านผู้มีอุปการคุณ ต่อมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิในฐานะประธานกรรมการ ก็ขอกราบขออภัยท่านไว้ ณ โอกาสนี้ ความขาดตกบกพร่องประการใดก็ขออภัยด้วยค่ะเพราะว่ากำลังกายหรือกำลังคนมีไม่พอเพียงที่จะดูแลให้ท่านได้สัปปายะที่ดีหรือสมบูรณ์มากว่านี้ถ้าหากมีอะไรบกพร่องก็บอกได้นะคะเขียนจดหมายมา หรือจะมาบอกด้วยตนเองโดยตรงก็ได้ค่ะขอเป็นส่วนหนึ่งที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือท่านผู้มีอุปการคุณทุกท่าน ขอบพระคุณค่ะ

ที่มา บทความจากมูลนิธิ อภิธรรมมูลนิธิ

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท