รูปแบบวิธีสอนเรียนรู้ร่วมกัน


  รูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ (Cooperative Learning Techniques)

  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้มีการพัฒนาขึ้นโดยเน้นที่จุดมุ่งหมายของการร่วมมือกันเรียนรู้ ความสำเร็จของกลุ่มขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของสมาชิกภายในกลุ่ม  โรเบิร์ต  อี สลาวิน  (Robert E. Slavin.1995: 71-128)  ได้

พัฒนารูปแบบที่น่าสนใจหลายรูปแบบ ได้แก่

1.  ร่วมมือกันเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (Student Teams-Achievement Divisions หรือ STAD)

2.  ร่วมมือกันเรียนรู้โดยการแข่งขันเป็นกลุ่ม (Teams-Games-Tournaments  หรือ TGT)

3.  ร่วมมือกันเรียนรู้แบบจิกซอร์ 2 (Jigsaw ІІ)

4.  ร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มช่วยรายบุคคล  (Team Assisted Individualization)

5.  ร่วมมือกันเรียนรู้แบบ ซี ไอ อาร์ ซี (Cooperative Integrated Reading and Composition  หรือ CIRC)

  6.  ร่วมมือกันเรียนรู้แบบร่วมกลุ่ม (Co-op-Co-op)

  7.  ร่วมมือกันเรียนรู้แบบร่วมกันคิด (Numbered Heads Together)

รูปแบบที่ 1 การร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (Student Teams-Achievement Divisions หรือ STAD)

  การจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มสัมฤทธิ์ เป็นการจัดกลุ่มผู้เรียนให้เป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4 คน แบบคละความสามารถด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ผู้จัดการเรียนรู้จะต้องจัดกลุ่มผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนในสัดส่วนผู้เรียนเก่ง  ผู้เรียนปานกลาง และผู้เรียนอ่อน เป็นสัดส่วน 1:2:1 ตามลำดับ ผู้เรียนทุกคนจะมีคะแนนฐาน (Base score) ของแต่ละคน  ผู้สอนจะเสนอสาระสำคัญของบทเรียน แล้วให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หรือทำงานร่วมกัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบหมุนเวียนกัน เมื่อเรียนจบบทเรียนแล้วจะทำแบบฝึกทักษะเพื่อทบทวนความรู้ที่เรียน แล้วทำการทดสอบย่อยเป็นรายบุคคล คะแนนที่ได้รายบุคคลจะถูกเปลี่ยนไปเป็นคะแนนกลุ่มเรียกว่า กลุ่มสัมฤทธิ์ (Achievement division) หลักสำคัญของการเรียน คือ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน และช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในกลุ่มให้เรียนรู้อย่างแจ่มแจ้ง ถ้าหากผู้เรียนต้องการให้กลุ่มของตนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลก็ต้องช่วยเหลือกันและกระตุ้นให้สมาชิกในกลุ่มทำให้ดีที่สุด

  การร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มผลสัมฤทธิ์ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

1.  การนำเสนอในชั้นเรียน  (Class presentation)  เป็นขั้นที่ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้  มีการทบทวน

ความรู้เดิม และเสนอเนื้อหาใหม่

2.  จัดกลุ่มผู้เรียนแบบคละความสามารถด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยจัดในสัดส่วนผู้เรียนเก่ง  ปานกลาง

และอ่อนเป็น  1:2:1

3.  ผู้สอนแจกใบงานหรือแบบฝึกหัดให้แต่ละกลุ่มศึกษาค้นคว้า เพื่อเกิดการเรียนรู้จากใบงานที่กำหนดให้ 

ผู้เรียนจะร่วมมือกันปฏิบัติงานตามใบงานด้วยการคิด อภิปรายจนแน่ใจว่าสมาชิกทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน

4.  ทดสอบผู้เรียนเป็นรายบุคคลแล้วนำคะแนนของรายบุคคลนั้นมารวมเป็นคะแนนกลุ่ม เรียกว่า คะแนน

กลุ่มสัมฤทธิ์

  ขั้นตอนของการร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มสัมฤทธิ์ที่กล่าวนี้  ผู้จัดการเรียนรู้จะต้องยึดหลักการที่สำคัญดังนี้

1.  การนำเสนอข้อมูลของกลุ่ม (Class presentation)  ต้องเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการอภิปรายของสมาชิก

ภายในกลุ่ม  และเป็นมติของกลุ่ม

2.  การทำงานเป็นทีม (Teams)  หมายถึง ทุกคนที่อยู่ในทีมต้องทำให้สมาชิกในกลุ่มทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย

โดยการร่วมกันคิด อภิปราย และทำความเข้าใจบทเรียน ร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ช่วยกันทำแบบฝึกทักษะ และช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของสมาชิกในกลุ่ม

3.  การทดสอบ (Quizzes)  หมายถึง  การทดสอบหลังจากที่สมาชิกทุกคนได้เรียนรู้เนื้อหาจากใบงานและการ

ปฏิบัติงานและทำการทดสอบย่อยเป็นรายบุคคล

4.  คะแนนกลุ่มสัมฤทธิ์  (Achievement division)  หมายถึง  ผลรวมของคะแนนรายบุคคล  (Individual scores) 

5.  ผลสัมฤทธิ์ของกลุ่ม (Team  recognition)  หมายถึง  คำชมเชยหรือรางวัล หรือประกาศเกียรติคุณร่วมกัน

นั่นคือ สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความสำเร็จร่วมกัน

รูปแบบที่ 2 การร่วมมือกันเรียนรู้แบบแข่งขันเป็นกลุ่ม (Teams-Games Tournaments หรือ TGT)

  การจัดการเรียนรู้แบบแข่งขันเป็นกลุ่มมีลักษณะคล้ายวิธีสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มสัมฤทธิ์

เพียงแต่มีการใช้เกมส์เป็นกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้สมาชิกทุกคนช่วยกัน ในการเตรียมตัวเพื่อแข่งขันเกมส์ที่ผู้สอน

กำหนดตามใบงานและอธิบายวิธีการแก้ปัญหาโจทย์ต่าง ๆ ให้ทุกคนในกลุ่มมีความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนนั้น ๆ แต่

ในขณะแข่งขันเกมส์จะไม่อนุญาตให้สมาชิกเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เพราะสมาชิกแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบที่จะพยายามทำให้ตนเองชนะการแข่งขันเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม คะแนนของกลุ่มจะได้จากการแข่งขันเกมส์แทนการทดสอบย่อย 

กลุ่มที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงจะได้รับรางวัล

รูปแบบที่ 3 การร่วมมือกันเรียนรู้แบบจิกซอร์ 2 (Jigsaw ІІ) เป็นวิธีที่พัฒนาจากเทคนิคจิกซอร์  ผู้เรียนจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ เหมือนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) และการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้โดยการแข่งขันเป็นกลุ่ม (TGT) สมาชิกของกลุ่มแต่ละคนจะแยกกันไปศึกษาร่วมกับสมาชิกของกลุ่มอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาในหัวข้อเดียวกัน  จากนั้นสมาชิกของกลุ่มจะกลับไปยังกลุ่มเดิมของตนเพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้เพื่อนในกลุ่มเดิมได้รู้ในเรื่องที่ตนศึกษา  เมื่อจบบทเรียนจะดำเนินการทดสอบย่อย  ผลการสอบของแต่ละคนเป็นคะแนนของกลุ่ม

กลุ่มที่ทำคะแนนรวมได้ดี  คือ ดีกว่าคะแนนฐาน จะได้รับรางวัลในลักษณะเดียวกันกับวิธีสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้

แบบกลุ่มสัมฤทธิ์

การร่วมมือกันเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบจิกซอร์ 2 (Jigsaw ІІ) มีขั้นตอน ดังนี้

1.  ขั้นนำ  เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้

และจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมสำหรับการเรียนรู้แต่ละครั้ง  ผู้สอนทบทวนความรู้เดิมที่จำเป็นเพื่อการเรียนรู้ความรู้ใหม่  มีการแนะนำถึงวิธีการเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม  พร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม  การช่วยเหลือกันในกลุ่มจะทำให้ประสบความสำเร็จ และบรรลุตามเป้าหมายของกลุ่ม

2.  ขั้นการเรียนรู้  เป็นการเสนอหัวข้อเรื่องในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน  โดยการจัดเตรียมเนื้อหาและสื่อประกอบ

การเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนทราบหลักการ ความคิดรวบยอดของการเรียนรู้ในแต่ละครั้งก่อน  ทั้งนี้ โดยใช้วิธีการแบบบรรยาย  อภิปราย  สาธิต  ใช้คำถาม  กรณีตัวอย่าง  ข่าว และเหตุการณ์สำคัญ

3.  ขั้นศึกษากลุ่มย่อย ผู้สอนแบ่งหัวข้อเรื่องที่จะศึกษาออกเป็น  4  ประเด็นย่อยเพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าตนศึกษา

หัวข้อใด  แล้วให้สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนแยกกันไปศึกษาร่วมกับสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจในหัวข้อเดียวกันให้เข้าใจอย่างชัดเจนสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญได้  จากนั้นให้กลับมากลุ่มเดิม อธิบายเนื้อหาที่ตนเองไปศึกษาให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจ โดย

ผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้อธิบาย

4.  ขั้นการทดสอบย่อย  ผู้เรียนจะต้องได้รับการทดสอบย่อยจากการทำแบบทดสอบ และคะแนนที่ได้จากการทำ

แบบทดสอบจะถูกแปลงเป็นคะแนนของแต่ละกลุ่ม ซึ่งในการทดสอบนั้นผู้เรียนทุกคนจะต้องทำข้อสอบตามความสามารถของตน  โดยไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การคิดคะแนนในการพัฒนาตนเองและของกลุ่ม ซึ่งเป็นคะแนนที่ได้จากการเปรียบเทียบคะแนนที่สอบได้กับคะแนนฐาน (Base score) โดยคะแนนที่ได้จะเป็นคะแนนความก้าวหน้าของผู้เรียน

ซึ่งผู้เรียนจะทำคะแนนความก้าวหน้าได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความขยันที่เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหรือไม่ ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสได้

คะแนนสูงสุดเพื่อช่วยกลุ่มหรืออาจจะไม่ได้เลยถ้าหากได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนฐาน  ในการทดสอบแต่ละครั้งผู้เรียนแต่

ละคนจะได้คะแนนพัฒนา จากนั้นนำคะแนนของแต่ละคนในกลุ่มมารวมกันแล้วคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม ถ้ากลุ่มใดได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รางวัล การที่กลุ่มประสบความสำเร็จได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับคะแนนของสมาชิกทุกคน 

5.  ขั้นการยกย่องกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ  กลุ่มจะได้รับรางวัลเมื่อคะแนนถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้  รางวัลที่

กำหนด ได้แก่ กลุ่มเก่ง กลุ่มเก่งมาก และกลุ่มยอดเยี่ยม

 หลักสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบจิกซอร์  2  (Jigsaw ІІ) คือ

1.  จัดกลุ่มผู้เรียนเพื่อร่วมมือกันเรียนรู้

2.  จัดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องย่อยจากที่กำหนด

3.  จัดให้มีการนำเสนอและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มต่างๆ

4.  แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับผู้เชี่ยวชาญ แต่ละเรื่องในแต่ละกลุ่ม

5.  มีการวัดผลการเรียนรู้และเก็บคะแนน  กำหนดคะแนนพัฒนาของแต่ละคนภายในกลุ่มและเปรียบเทียบ

ผลสัมฤทธิ์ของแต่ละกลุ่ม

รูปแบบที่  4  การร่วมมือกันเรียนรู้แบบกลุ่มช่วยรายบุคคล  (Team Assisted  Individualization หรือ TAI)

  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4 คน  โดยให้ผู้เรียนมีระดับความสามารถแตกต่างกัน คือ สูง ปานกลาง ต่ำ  ในสัดส่วน 1:2:1 ผู้เรียนจะได้รับการทดสอบความรู้พื้นฐานของแต่ละคน ผู้จัดการเรียนรู้จะให้

ความรู้ในเรื่องที่เรียนอย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาไม่พร้อมกันทำให้ผู้เรียนบางคนที่ไม่มีทักษะพื้นฐานไม่เข้าใจบทเรียนในขณะที่บางคนมีความสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว เมื่อเนื้อหาจบ ผู้เรียนจะต้องทำแบบฝึกทักษะร่วมกันเป็นรายกลุ่ม โดยจับคู่กันภายในกลุ่มของตนเพื่อตรวจสอบคำตอบซึ่งกันและกัน  การทำความเข้าใจกับบทเรียน  ประกอบด้วยเอกสารแนะนำบทเรียนและโจทย์คำถามจำนวน 4 ตอน ๆ ละ 4 ข้อ  ผู้เรียนต้องทำให้ถูกทั้ง 4 ข้อในแต่ละตอน โดยการตรวจสอบของเพื่อนที่จับคู่กันในกลุ่มจากบัตรเฉลย ถ้าทำผิดให้เพื่อนอธิบาย หรือถามผู้สอนจนกว่าจะเข้าใจ แล้วจึงสามารถทำตอนต่อไปได้  เมื่อทำแบบฝึกทักษะครบ 4 ตอนแล้วผู้เรียนจึงจะทำแบบทดสอบย่อยชุด ก. ประกอบด้วยคำถามจำนวน 8-10 ข้อ โดยทำเป็นรายบุคคล ผู้เรียนต้องทำคะแนนได้ 6-8 คะแนน ขึ้นไปจึงถือว่าผ่านเกณฑ์ ถ้าทำคะแนนได้ไม่ถึง 6 ข้อ เพื่อนในกลุ่มต้องให้ความช่วยเหลือโดยการอธิบายให้ฟังก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจ ผู้สอนจะแนะนำให้ศึกษาเอกสารใหม่อีกครั้งหรืออธิบายในส่วนที่ไม่เข้าใจ แล้วให้ทำแบบทดสอบย่อยชุด ข. ซึ่งเป็นแบบทดสอบคู่ขนานกับชุด ก. มาเฉลี่ยเป็นคะแนนกลุ่มเพื่อหาคะแนนสูงสุดของกลุ่ม กลุ่มผู้เรียนที่มีคะแนนสูงสุดเป็นกลุ่มชนะเลิศ (Super team) กลุ่มที่ได้คะแนนอันดับที่สองเรียกว่า กลุ่มรองชนะเลิศ (Great team) และกลุ่มที่ทำคะแนนเป็นอันดับที่สาม เรียกว่า กลุ่มดี (Good team)

รูปแบบที่ 5 การร่วมมือกันเรียนรู้แบบ CIRC (Cooperative Integrated Reading and Composition หรือ CIRC) 

  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียนโดยจัดกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มการอ่าน 2-3 กลุ่ม

ผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนที่เรียนเก่งของกลุ่มเป็นผู้ถ่ายทอดการสอนของผู้สอนให้เพื่อนในกลุ่มทางภาษา ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเรียนเชิงสร้างสรรค์ได้

รูปแบบที่ 6  การร่วมมือกันเรียนรู้แบบร่วมกลุ่ม (Co-op-Co-op)  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีขั้นตอน 9 ขั้น คือ

  1.  ขั้นอภิปรายร่วมกันในกลุ่มใหญ่ (Centered class discussion)  ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจหรือต้องการศึกษา มีการกำหนดเรื่องที่จะอ่าน มีการจดบันทึกการอภิปรายและการสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นที่ศึกษาว่าเป็นความเข้าใจตรงกันหรือไม่

  2.  ขั้นเลือกสมาชิกสร้างกลุ่ม (Selection and team building)

  3. ขั้นเลือกเรื่องที่จะศึกษา (Team topic selection)  เป็นการกำหนดเป้าหมายในการทำงานกลุ่มและเลือกเรื่องที่จะศึกษาร่วมกัน

  4.  ขั้นกำหนดหัวข้อย่อย (Mini topic selection)  แต่ละกลุ่มจะมีการกำหนดหัวข้อซึ่งเป็นหัวข้อย่อยที่จะศึกษา และแบ่งงานกันศึกษาค้นคว้า

  5.  ขั้นการเตรียมหัวข้อย่อย (Mini topic preparation) หลังจากแบ่งหัวข้อย่อยศึกษาแล้วแต่ละคนต้องรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ทุกคนจะต้องรู้ว่าผลงานของกลุ่มขึ้นอยู่กับสมาชิกทุกคน

  6.  ขั้นการนำเสนอหัวข้อย่อยภายในกลุ่ม (Mini topic presentation) หลังจากที่แต่ละคนได้ศึกษาหัวข้อย่อยตามที่

ได้รับมอบหมายแล้ว ให้นำมาเสนอภายในกลุ่มย่อยของตนก่อน ขั้นตอนนี้เป็นการรายงานที่คล้ายกับการนำความรู้มา

ประมวลด้วยกัน มีการอภิปรายและจดบันทึกประเด็นที่อภิปราย

  7. ขั้นเตรียมนำเสนอรายงานของกลุ่ม (Preparation of team presentation) สมาชิกในแต่ละกลุ่มจะสังเคราะห์หัวข้อย่อย

ที่ไปศึกษารวมทั้งที่มีการอภิปราย เพื่อที่จะนำมาเสนอเป็นผลงานของกลุ่ม

  8. ขั้นเสนอรายงานกลุ่ม (Team  presentation)  ระหว่างการนำเสนอผลงานของ แต่ละกลุ่มต้องควบคุมเวลาที่ใช้ในการนำเสนอ

  9. ขั้นการประเมินผล (Evaluation) มีการประเมินผลการเสนอรายงานโดยผู้เรียนทั้งกลุ่มใหญ่และโดยสมาชิกแต่ละคนภายในกลุ่ม  จากนั้นผู้สอนจึงประเมินผลการร่วมกันคิดหัวข้อย่อย (Numbered heads together)  เริ่มจากผู้สอนถามคำถามแล้วให้ผู้เรียนในกลุ่มช่วยกันคิดค้นหาคำตอบ  จากนั้นจึงให้ผู้เรียน 1 คน จากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตอบคำถามเพื่อทบทวนหรือตรวจสอบความเข้าใจ

รูปแบบที่ 7  การร่วมมือกันเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมร่วมกันคิด (Numbered Heads Together)  มีขั้นตอน  ดังนี้

  1. ขั้นนำ เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียน  โดยการแบ่งกลุ่มผู้เรียนแบบคละความสามารถกลุ่มละ 4 คน 

กำหนดหมายเลขประจำตัวของสมาชิกให้ทุกคนในกลุ่ม  และแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้

  2. ขั้นการเรียนรู้  ผู้จัดการเรียนรู้อธิบายสาระความรู้แก่ผู้เรียน  โดยการบรรยาย อภิปราย กรณีตัวอย่าง

3. ขั้นศึกษากลุ่มย่อย  ผู้จัดการเรียนรู้กำหนดปัญหาให้ผู้เรียนทุกกลุ่มร่วมปรึกษาหารือในกลุ่มของตนแสดงความคิดเห็น แล้วสรุปบันทึก เป็นคำตอบของกลุ่ม

  4. ขั้นทดสอบย่อย  ผู้จัดการเรียนรู้สุ่มหมายเลขผู้เรียนที่มีหมายเลขประจำตัวตรงตามที่ผู้จัดการเรียนรู้เรียก เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่ม

5. ขั้นสรุปบทเรียน และยกย่องกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ

  นอกจากการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ตามแนวคิดของ สลาวิน (Slavin) แล้ว ยังมีนักการศึกษาอื่นได้ให้แนวคิดไว้ ได้แก่

  คาแกน (Kagan.1992:11 อ้างถึงใน จินตนา กิจบำรุง. 2545: 51) กล่าวว่า วิธีสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้เป็นการจัดการเรียนรู้ที่สามารถแบ่งเป็น  4  ขั้นตอน คือ

  ขั้นตอนที่ 1 แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4 คน ประกอบด้วย ผู้เรียนเก่ง 1 คน ผู้เรียนปานกลาง 2 คน  ผู้เรียนอ่อน 1 คน  แต่ละคนมีหมายเลขประจำตัว

  ขั้นตอนที่ 2 ถามคำถาม/มอบหมายงานให้ทำ

  ขั้นตอนที่ 3 ผู้เรียนอภิปรายในกลุ่มย่อยจนมั่นใจว่าสมาชิกทุกคนเข้าใจคำถาม

ขั้นตอนที่ 4 ผู้สอนถามคำถามโดยเรียกหมายเลขประจำตัวผู้เรียน

การนำเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในทางปฏิบัตินั้นจะใช้เทคนิคใด

ก็ตามจะมีลำดับขั้นตอนคล้ายกันดังที่ จอห์นสันและจอห์นสัน (Johnson and Johnson.1991 :101-102) ได้กล่าวถึงขั้นตอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือสรุปได้ ดังนี้

1.  ขั้นเตรียม  ในขั้นนี้ผู้จัดการเรียนรู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำบทบาทของผู้เรียนและแจ้งจุดประสงค์

ของการเรียนรู้แต่ละบทเรียน มีการฝึกฝนทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม

2.  ขั้นสอน เป็นขั้นของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบด้วยการแนะนำเนื้อหา แหล่งข้อมูล และมอบหมาย

งานให้สมาชิกแต่ละกลุ่ม ผู้เรียนจะได้รับใบงานเป็นชุด เพื่อให้ฝึกความรับผิดชอบในเรื่องการแบ่งปันให้กับสมาชิกในกลุ่ม

3.  ขั้นปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม  เป็นขั้นที่ผู้เรียนแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ปฏิบัติกิจกรรมตามที่กลุ่มได้รับ

มอบหมายโดยช่วยเหลือกัน  ซึ่งทำให้เกิดการเสริมแรงและการสนับสนุน

4.  ขั้นตรวจสอบผลงานและทดสอบ  เป็นการตรวจสอบผลงานกลุ่มและผลงานของรายบุคคล ต่อจากนั้นเป็น

การทดสอบ

5.  ขั้นสรุปบทเรียน และประเมินผลการทำงานกลุ่ม ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันสรุปบทเรียน  ขั้นนี้ถ้ามีสิ่งที่

ผู้เรียนยังไม่เข้าใจผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมและช่วยกันประเมินผลการทำงานกลุ่ม  หาจุดเด่น และจุดที่ควรปรับปรุง

เปรมจิตต์  ขจรภัยลาร์เซ่น (2536: 8-9)  ได้กล่าวถึงลำดับขั้นตอนในการสอนโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ

กันเรียนรู้โดยทั่วไป ดังนี้

1.  ขั้นเตรียม  ได้แก่ จัดกลุ่มผู้เรียน บอกจุดประสงค์การเรียนรู้ร่วมกัน

2.  ขั้นเรียนรู้ ได้แก่ กำหนดเนื้อหาหรือบทเรียนที่จะสอน

3.  ขั้นทำงานกลุ่ม ได้แก่ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย แต่ละคนมีบทบาทและหน้าที่ของตนช่วยกันแก้ปัญหา

อภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดมากกว่าดูคำเฉลยหรือรอคำเฉลยจากผู้จัดการเรียนรู้

4.  ขั้นตรวจสอบผลงานและทดสอบ ได้แก่  การตรวจสอบผลงานเป็นกลุ่ม  และการทดสอบผู้เรียนรายบุคคล

5.  ขั้นสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงานกลุ่ม ได้แก่ การสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงานกลุ่ม

โดยอภิปรายถึงผลงานและวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีการปรับปรุงการทำงานของกลุ่มด้วยซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้ความก้าวหน้าของตนเองทั้งทางด้านวิชาการและด้านสังคม

  ลีตั้น (Leighton M.S.1994 : 318-319 อ้างถึงใน จินตนา กิจบำรุง. 2545: 53) กล่าวถึงยุทธวิธีของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างเหมาะสมตามลำดับขั้นตอน  เริ่มด้วยขั้นเตรียม ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการปฏิบัติงานกลุ่ม ขั้นเรียนรู้เนื้อหาสาระ และขั้นจบบทเรียน ดังนี้

1.  ขั้นเตรียม

1.1   กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้

1.2  สร้างใบงานสำหรับการปฏิบัติงานกลุ่มประกอบด้วยปัญหาต่าง ๆ ซึ่งได้จากจุดประสงค์การเรียนรู้

1.3  สร้างแบบทดสอบให้สอดคล้องตามจุดประสงค์การเรียนรู้ตามใบงาน

1.4  จัดกลุ่มนักเรียน 4 คน คละความสามารถ (เตรียมล่วงหน้า)

1.5  แจ้งวิธีการเก็บคะแนน  การให้คะแนนพัฒนาการ  เกณฑ์การตัดสิน  และการให้คะแนนตามแบบบันทึก

การให้คะแนน

2.  ขั้นดำเนินการเรียนรู้โดยปฏิบัติงานกลุ่ม

2.1  แจ้งชื่อสมาชิกในแต่ละทีม (อธิบายในขั้นการจัดกลุ่ม)

2.2  จัดที่นั่งสำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

2.3  ให้แต่ละทีมตั้งชื่อทีมของตนเอง

2.4  ทบทวนทักษะการทำงานกลุ่ม  บทบาทของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม และความรับผิดชอบของแต่ละคน

ต่อตนเองและต่อกลุ่ม

3.  ขั้นเรียนรู้ตามเนื้อหาสาระ

3.1  แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้

3.2  ทบทวนทักษะที่จำเป็น และความรู้เดิมที่เกี่ยวข้อง

3.3  ให้นิยามสำคัญ สาระสำคัญ

3.4  ตรวจสอบความเข้าใจ และฝึกปฏิบัติตามใบงานร่วมกัน

3.5  ผู้สอนให้คำแนะนำช่วยเหลือถ้าผู้เรียนต้องการ

4.  ขั้นจบบทเรียน

4.1  ตรวจแบบทดสอบ ให้คะแนน คำนวณคะแนนพัฒนาการให้เร็วที่สุด

4.2  ประกาศผลทีมที่พัฒนาเก่ง เก่งมาก ยอดเยี่ยม ในเวลาที่กำหนดไว้

4.3  ให้คะแนนกลุ่มเป็นพิเศษต่างหาก  กรณีที่แต่ละคนที่มีการพัฒนาสูงขึ้น

4.4  ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานเป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ

  (ที่มา  การเรียนแบบร่วมมือ  www.sahavicha.com/UserFiles/File/teaching(2).doc)

คำสำคัญ (Tags): #รุปแบบการสอน
หมายเลขบันทึก: 512798เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท