มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

รู้ปัญหาสังคม


 

  โครงการธรรมศึกษาวิจัย

รู้ปัญหาสังคม

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษาวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐  พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ปัญหาสังคมไทย

๑. ความนำ

  ปัญหาสังคมเป็นตัวสำคัญประการหนึ่งในการศึกษาสังคมมนุษย์การที่นักสังคมศาสตร์ให้ความสนใจกับหัวข้อนี้ก็เพราะเหตุหลายประการเหตุผลที่สำคัญๆ มี เช่น

ประการแรกสังคมมนุษย์ทุกสังคมมักจะต้องมีปัญหาสังคมอยู่บ้างไม่มากก็น้อยถ้าไม่ตลอดเวลาก็จะต้องมีในบางเวลาบางปัญหาก็รุนแรงเป็นอันตรายต่อสังคมมาก  เช่น  สงครามหรือการแทรกซึมบ่อนทำลายซึ่งลัทธิตรงข้ามในบางสังคมบางปัญหาก็เบาบางไม่เป็นอันตรายต่อนักสังคมมากนัก  เช่น การติดสุราเรื้อรัง  การลักเล็กขโมยน้อย  การฉกฉวยสิ่งของในร้านขายของ  การล้วงกระเป๋า เป็นต้น นักศังคมศาสตร์จึงจำเปนต้องศึกษาทำความเข้าใจว่า  เหตุใดปัญหาเหล่านี้จึงได้เกิดขึ้น  สภาพบางอย่างส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดปัญหาเหล่านี้  ลักษณะที่แท้จริงโดยทั่วไปเป็นอย่างไร  มีลู่ทางที่จะป้องกันหรือแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร  เป็นต้น 

ประการที่สองหัวข้อเรื่องปัญหาสังคมเป็นทีสนใจของนักสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักสังคมวิทยา  มานุษยวิทยา และจิตวิทยาสังคม  เพราะในการศึกษาภาพของสังคม โดยทั่วไปจำเป็นอยู่เองที่จะต้องให้ความสนใจหัวข้อนี้ควบคู่ไปกับสภาพสังคมที่เรียบร้อย  สงบสุขเพราะสังคมทุกสังคมมีทั้งสภาพที่เป็นระเบียบและไม่เป็นระเบียบ  การที่จะเข้าใจสังคมอย่างสมบูรณ์  การที่จะสร้างหลักทั่วไป  หรือทฤษฎีเกี่ยวกับสังคม ก็จำเป็นต้องศึกษาสังคมทุกด้านทุกสภาพ  ประการสุดท้ายนักสังคมศาสตร์บางสาลา  เช่น สังคมวิทยา  ศึกษาปัญหาสังคมเพราะกำเนิดของวิชาสังคมศาสตร์ สาขานี้สืบเนื่องมาจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในยุคนั้นในดินแดนกำเนิด คือ ในทวีปยุโรป  โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส และแม้ดินแดนที่วิชานี้ไปเจริญเติบโต คือ สหรัฐอเมริกา  การศึกษาปัญหาสังคมจึงเป็นเสมือนประเพณีของนักวิชาการสาขานั้นๆ ที่ต้องปฏิบัติสืบต่อกันมาจนยุคปัจจุบัน

ความหมายของปัญหาสังคม

  แม้จะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากและเป็นเวลานาน แต่นักวิชาการหรือผู้เกี่ยวข้องกับวิชานี้ก็ยังไม่สามารถจะตกลงเห็นพ้องกันในความหมายของคำนี้ได้ ต่างให้คำจำกัดความต่าง ๆ กัน ไปหลายอย่าง  เช่น Rubington and Weinberg1ให้ความหมายว่า ปัญหาสังคมได้แก่ สถาบันที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนจำนวนมากขนาดหนึ่ง ผู้ซึ่งเห็นพ้องต่างกันว่า ควรจะต้องทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้นเสีย James  Mckee2นักสังคมวิทยาอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า ปัญหาสังคมคือภาวะเงื่อนไขหรือสถานการณ์  ซึ่งสมาชิกของสังคมนั้นถือว่ามีลักษณะคุกคามต่อค่านิยมของเขาทางใดทางหนึ่ง  จากคำนิยามศัพท์ปัญหาสังคมของผู้รู้ทั้งสองท่านทำให้เห็นแนวความคิดที่สอดคล้องกันบางอย่างคือ  ประการแรก ปัญหาสังคมเป็นสถานการณ์อย่างหนึ่ง  สถานการณ์นี้อาจเป็น  คน  สัตว์  สิ่งของ หรือเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เช่น  สงคราม  น้ำท่วม  เงินเฟ้อ อีกประการหนึ่ง ปัญหาสังคมเป็นสิ่งที่คุกคามหรืออาจก่ออันตรายและความเสียหายให้แก่ค่านิยมของคนกลุ่มหนึ่ง คำว่าค่านิยม  หมายถึงสิ่งที่คนยึดถือเป็นมาตรฐานในการวัดคุณค่าของสิ่งของต่าง ๆ หรือหมายถึงสิ่งเขาเห็นว่ามีคุณค่าเขาจึงรักหวงแหน อยากมี อยากได้ อยากเป็นเจ้าของค่านิยมอาจเป็นทางลบก็ได้ เช่น  สิ่งที่ไม่อยากได้  ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น แต่ในที่นี้ผู้ให้นิยามหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะทางลบ ก็จะถือเป็นปัญหาสังคม ประการที่ ๓ คำนิยามทั้งสองพูดถึงผู้เป็นเจ้าของค่านิยมทั้งสองนิยาม ไม่ระบุจำนวนที่แน่นอน  นิยามหนึ่งแจ้งว่า ผู้ได้รับการคุกคาม ผู้ได้รับการคุกคามต้องมีจำนวนมาก อีกนิยามไม่ได้ระบุจำนวนว่ามากหรือน้อย  แต่พอจะอนุมานว่ามากคน อย่างไรก็ดีเรื่องจำนวนนี้อาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเภทของบุคคลด้วย  สถานการณ์บางอย่างมีความรุนแรงและเกิดอยู่ยาวนาน แม้จะไม่กระทบกระเทือนคนมากทันที  แต่ก็อาจลุกลามต่อไปได้ภายหลัง  เช่นนี้แม้จำนวนคนที่ได้รับผลกระทบตอนแรกจะไม่มากนักก็อาจถือเป็นปัญหาสังคมได้  สำหรับบุคคลบางประเภท เช่น ข้าราชการ  นักเขียน  นักหนังสือพิมพ์  นักการเมือง  ผู้นำ ฯลฯ แม้มีจำนวนไม่มาก  แต่ก็อาจถือได้ว่าสิ่งที่คุกคามสวัสดิภาพของเขาเป็นปัญหาสังคมได้

  นอกจากนั้น  ยังมีสิ่งที่นิยามทั้งสองมีต่างกันและควรให้คำอธิบายเพิ่มเติมอีกบางประการคือ นิยามแรกกล่าวถึงการที่จะต้องมีการตกลงใจร่วมกันในหมู่คนจำนวนมากที่ได้รับการคุกคามจากปัญหาสังคมในการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อแก้ไข หรือกำจัดสถาการณ์นั้นเสีย และมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่จะเป็นปัญหาสังคมมีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) มีภาวะวัตถุวิสัยปรากฏอยู่ (Objective Condition) เช่น อาชญากรรม ความยากจน ความตรึงเครียด เกี่ยวกับเชื้อชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องมีขนาดหรือปริมาณมากจนสังเกตได้ วัดได้โดยบุคคลทั่วไป (๒) นิยามอัตวิสัย (Subjective Definition) หมายถึงว่าบุคคลในสังคมจำนวนหนึ่งของสังคมนั้นรู้สึกว่าภาวะวัตถุวิสัยนั้นเป็นสิ่งที่คุกคามสิ่งที่เขาถือว่า มีค่า ภาวะวัตถุวัตถุวิสัยนั้นจึงจะถือได้ว่าเป็นปัญหาสังคม นอกจากนั้น ผู้ให้นิยามคนหลังนี้ยังบอกด้วยว่า ก่อนที่ภาวะวัตถุวิสัยจะเป็นปัญหาสังคมนั้น ผู้ได้รับความกระทบกระเทือนจะต้องเชื่อด้วยว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ความรู้ความสามารถของคนในสังคมสามารถจะแก้ไขหรือขจัดให้หมดไปได้ เช่น ภาวะวัตถุวิสัยคือ ความยากจน  หากชาวบ้านคิดว่าพวกเขาหรือสังคมของเขาสามารถขจัดความยากจนให้หมดไปได้  ความยากจนก็กลายเป็นปัญหาสังคม หากเขาคิดว่า สังคมของเขาไม่สามารถแก้ไขหรือกำจัดความยากจนให้หมดไปได้ ความจนก็ไม่เป็นปัญหาสังคม

  กล่าวโดยสรุปปัญหาสังคมคือ สถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่คนในสังคมหนึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่คุกคามต่อค่านิยมของเขา  เขาจึงตกลงใจร่วมกันที่จะแก้ไขหรือกำจัดสถานการณ์นั้นให้หมดไปได้โดยที่เขาเชื่อว่า พวกเขามีความสามารถที่จะกระทำเช่นนั้นได้

  ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นมีมากมาย แต่ปัญหาที่จะจัดได้ว่า เป็นปัญหาสังคม(Social problems) นั้น จะต้องเป็นปัญหาซึ่งมีผลกระทบต่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม และผลกระทบนั้นเป็นผลกระทบในางลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์

  ปัญหาจะเป็นเรื่องทางสังคม ก็ต่อเมื่อปัญหานั้นเกิดจากการกระทำต่อกันทางสังคมและเป็นปัญหาของส่วนรวมไม่ใช่ปัญหาของบุคคล(Scarpitti, ๑๙๗๔: ๓ ) เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ปัญหาสังคม” นั้นได้มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลายท่านและที่น่าสนใจมีดังนี้

  Paul B. Horton และ Gerald R. Leslie (๑๙๗๐ : ๖) ให้ความหมายว่า ปัญหาสังคมเป็นสภาวการณ์ที่มีผลต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและมีความรู้สึกว่าสภาวะนั้นสามารถกระทำบางอย่างเพื่อแก้ไขโดยการกระทำร่วมกัน

  Becker (๑๙๖๗ อ้างถึงในถาวร เกิดเกียรติพงศ์, ๒๕๒๓ :๔) เห็นว่า ปัญหาสังคมเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง(A condition) ซึ่งคนจำนวนมากพอสมควรเห็นว่าเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคมบางประการที่พวกเขายึดมั่น

  Rubington และ Weinberg ( ๑๙๗๑:๖ อ้างถึงในสัญญา  สัญญาวิวัฒน์, ๒๕๒๖ : ๓) กล่าวว่า นักสังคมวิทยามักถือว่า ปัญหาสังคมคือ สถานการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนเป็นจำนวนมากในกลุ่มหรือในสังคมหนึ่งสังคมใด จึงได้ตกลงใจที่จะจัดการแก้ไขสถานการณ์นั้นให้กลับสู่สภาพปกติ หรือให้มีสภาพดีขึ้น

  สัญญา  สัญญาวิวัฒน์ (๒๕๒๖ : ๕) ได้กล่าวโดยสรุปไว้ว่า ปัญหาสังคม คือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนเป็นจำนวนมากของกลุ่มหรือของสังคมหนึ่ง จนเป็นเหตุให้เขาตกลงใจ ที่จะกระทำการแก้ไขสถานการณ์นั้น เมื่อเขาตระหนักว่าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้

  ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาสังคมเป็นสภาวการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมกำหนดให้เป็นปัญหาเพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับแบบฉบับที่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม และเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขสภาวการณ์นั้นให้หมดไปหรือบรรเทาลงไม่ปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ

  จากความหมายของปัญหาสังคมที่นักสังคมวิทยาได้กล่าวไว้ พบว่า ปัญหาสังคมมีลักษณะสำคัญ ๆ ดังนี้

  ๑. ปัญหาสังคม เป็นสภาวการณ์ที่สมาชิกของสังคมไม่พึงปรารถนา หรือเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อสมาชิก ถ้าปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

  ๒. เป็นสภาวการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อคนจำนวนมาก หรือเป็นสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในขนาดมากพอที่จะกระตุ้นคนจำนวนมากเดือดร้อน

  ๓. เป็นสภาวการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนจำนวนมากจนเป็นเหตุให้เขาตกลงใจที่จะกระทำการแก้ไขสถานการณ์นั้น

  ๔. เป็นสภาวการณ์ที่สังคมเห็นว่าสามารถจะปรับปรุงแก้ไขให้หมดไปหรือให้บรรเทาลงได้

  ๕. เป็นสภาวการณ์ซึ่งคนจำนวนมากพอสมควรเห็นว่า เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมบางประการที่พวกเขายึดมั่น

  ๖. เป็นสภาวการณ์ที่คนจำนวนมากเห็นว่าจะต้องมีการกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ไข จะปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้

  ๗. เป็นสภาวการณ์ที่ซับซ้อน และการแก้ไขนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่ายในสังคม ถ้าเป็นเพียงผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น  พ่อค้าขายของส่งเสียงรบกวนชาวบ้าน เพียงแต่ตำรวจจับกุมพ่อค้าไปลงโทษตามกฎหมายก็หมดปัญหา ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นปัญหาสังคม

  ลักษณะของปรากฏการณ์ทางสังคมที่จัดว่าเป็นปัญหาสังคม ยกตัวอย่างให้เห็นได้ เช่น การค้าประเวณี ผู้คนในสังคมต่างก็เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมและมีผลกระทบกระเทือนไปถึงสังคมโดยส่วนรวม เช่น โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจจะติดต่อไปถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับโสเภณีโดยตรง ผลกระทบต่อชื่อเสียงของสังคมส่วนรวม เช่น ได้ชื่อว่าเป็นเมืองโสเภณี ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกหลาน เช่น กามโรค  ร่างกายพิการ  ผลกระทบต่อสังคม เช่น ความไม่เป็นธรรมในสังคม การหลอกลวง  การรีดไถ  คอร์รัปชั่น  การบังคับให้ต้องขายตัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายทาส  สภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากไม่พึงปรารถนาให้เกิดหรือมีขึ้นในสังคม  ต่างก็หาวิธีการต่าง ๆ มาปรับปรุงแก้ไข โดยที่เห็นว่าปัญหานี้ สามารถที่จะแก้ไขให้หมดไป หรือให้บรรเทาลงได้ ถ้าหลาย ๆ ฝ่ายได้ช่วยกัน เช่น มีการร่วมมือกันทั้งในฝ่ายของประชาชน องค์การอาสาสมัครต่าง ๆ องค์การของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตลอดจนตัวโสเภณีและลูกค้าที่ไปหาความสำราญจากหญิงโสเภณีเลิกเที่ยวเลิกอาชีพนี้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่

  ถ้าสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามลักษณะดังกล่าว เช่น ถ้าสังคมนั้นมองเห็นว่าการค้าประเวณีเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่ช่วยให้สังคมดีขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาสังคมอื่น ๆ ได้ สภาวการณ์นั้นก็ไม่จัดว่าเป็นปัญหาสังคม

สาเหตุของปัญหาสังคม

  ปัญหาสังคม อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะที่ผู้คนในสังคมยอมรับไม่ได้ อาจเกิดจากความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์หรือ อาจเกิดจากปัจจัยทางสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม เป็นต้นว่า ความแห้งแล้ง  ภัยธรรมชาติ

  สุวิทย์  รุ่งวิสัย (๒๕๒๓ : ๖๓) เห็นว่าปัญหาสังคมมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากลักษณะของพฤติกรรมที่มีส่วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรม และจากพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ที่มีลักษณะเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม

  Julian และ Kornblum(๑๙๘๒ : ๑๒–๑๓ ) กล่าวไว้ว่า นักสังคมวิทยาได้พยายามเสนอกฏเกณฑ์หลักการต่าง ๆ เพื่ออธิบายถึงสาเหตุแห่งปัญหาสังคม สรุปได้ว่าปัญหาสังคมอาจเกิดจากภาวะสังคมพิการจากพฤติกรรมฝืนสังคม จากการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันสังคม จากพยาธิสังคม(Social pathology) และอาจเนื่องมาจากปฏิกิริยาของสังคมที่มีต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหรือพฤติกรรมของคน (Labeling)

  S. D. Weinberg (๑๙๗๐) เสนอไว้ว่า ปัญหาสังคมอาจเกิดมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  ๑. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  ก่อให้เกิดปัญหาประชากร ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาการว่างงาน

  ๒. พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมและความไม่เป็นระเบียบของสังคม เช่น ปัญหาการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ปัญหายาเสพติด

  จากแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาปัญหาสังคมของ Frank R. Scarpitti พบว่า ปัญหาสังคมมีสาเหตุมาจาก

  ๑. สถาบันสังคมไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งอาจก่อให้เกิด ปัญหาครอบครัว  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาเด็กเกเร ฯลฯ

  ๒. เนื่องมาจากพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ไปจากบรรทัดฐานของสังคม เป็นต้นว่า ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ

  ๓. เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน  ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาทางธุรกิจ

  นักวิชาการบางท่านมีแนวความคิดที่ว่า ปัญหาสังคมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเห็นว่าสาเหตุอื่น ๆ นั้นสืบเนื่องมาจากผลแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การที่คนเราจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม ก็เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ไปเป็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่สลับซับซ้อน มีการแก่งแย่งแข่งขันเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต  ปัญหาความขัดแย้ง  หรือการที่สถาบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานที่ให้ผู้คนในสังคมปฏิบัติ  ก็อาจเกิดปัญหาการไม่ยอมรับหรือเกิดปัญหาการขัดแย้งขึ้นได้  ภาวะสังคมพิการก็อาจสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

  จากการที่ได้ศึกษาสาเหตุของปัญหาสังคม จากการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นและจากทฤษฎีแนวคิดของนักสังคมวิทยาและนักวิชาการต่าง ๆ สรุปได้ว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมีดังนี้

  ๑. เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social change)

  ๒. เนื่องจากการเสียระเบียบทางสังคม (Social disorganization)

  ๓. เนื่องจากพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม(The deviatilon of behavior)

  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ถ้าเป็นไปอย่างรวดเร็วจนผู้คนในสังคมนั้นปรับตัวตามไม่ทันก็จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นได้ เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตจากการใช้แรงงาน คน  สัตว์  ไปเป็นใช้เครื่องจักร  เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  การเปลี่ยนสภาพจากการอยู่ในสังคมชนบทไปอยู่ในสังคมเมือง  หรือเปลี่ยนสภาพจากชนบทไปเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดปัญหาการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยการแก่งแย่ง  แข่งขัน  ความเห็นแก่ตัว การขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  ระหว่างผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่ากับผู้มีตำแหน่งต่ำกว่า  ฯลฯ  เป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต  ปัญหาครอบครัว ฯลฯ

  การเสียระเบียบทางสังคม หมายถึง ภาวะที่สังคมไม่สามารถจะควบคุมสมาชิกของสังคมให้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ หรือสภาวะที่สถาบันสังคมไม่สามารถรักษาบรรทัดฐานในกิจกรรมด้านนั้น ๆ ไว้ได้ การเสียระเบียบทางสังคม เป็นการระส่ำระสาย การขาดตอน การขัดกัน หรือการขาดสมานฉันท์ภายในกลุ่มสังคมหนึ่งหรืออีกสังคมหนึ่ง ซึ่งมีผลกระกระเทือนต่อวิถีชีวิตความเคยชิน ต่อสถาบันสังคม ต่อการควบคุมทางสังคม  ทำให้ชีวิตสังคมไม่อาจดำเนินไปอย่างราบรื่น ถ้าหากไม่ปรับปรุงแก้ไข

  การที่สังคมเสียระเบียบ เกิดจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ  การขาดความเชื่อถือในตัวบุคคลผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดระเบียบแบบแผน  กับความไม่เหมาะสมของตัวระเบียบ ซึ่งอาจล้าสมัยจนเกินไป เป็นกฏเกณฑ์ที่ไม่อาจดำเนินสู่เป้าหมายหรือความมุ่งหมายได้เลย ดังนั้นผู้คนจึงเกิดความไม่แน่ใจในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานนั้น และหาวิธีการใหม่ที่จะดำเนินสู่ความต้องการหรือเป้าหมายที่กำหนด

  สภาพสังคมที่เสียระเบียบ  กระบวนการควบคุมทางสังคมจะทำงานไม่ได้ผล คนจะเสื่อมคลายความเชื่อในกฎหมาย  สถาบัน  ตลอดจนตัวบุคคลที่มีอำนาจมาแต่เดิม ผลประโยชน์และความคิดเห็นของคนกลุ่มต่าง ๆ อาจจะขัดแย้งกัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นทำให้คนแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ต้องการรักษาสถานะเดิมและฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้  ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม เกิดปัญหาการใช้อำนาจโดยพลการ  ปัญหาการจราจร

  พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม เป็นพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม  ที่แสดงออกและมีผลต่อส่วนรวม  ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นสภาวการณ์ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับตนและสังคม  เช่น  การติดยาเสพติด  การค้าประเวณี  การประกอบอาชญากรรม  การที่คนเรามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้น อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ  เป็นต้นว่า

-  ปัจจัยทางชีววิทยา  เนื่องจากกรรมพันธุ์  ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ  ทำให้บุคคลที่มีความผิดปกตินั้น ๆ แสดงพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับออกมา  เช่น เป็นผู้มีอารมณ์ฉุนเฉียว  โกรธง่าย  มีความต้องการทางเพศสูง  โง่เขลาถูกชักจูงไปในทางที่ผิดหรือกระทำผิดได้ง่าย

-  ปัจจัยทางจิต  เช่น  ความคับข้องใจ ได้รับการปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรม หรือจิตใจที่เกิดความต้องการอย่างรุนแรง  อาจทำให้บุคคลมีจิตผิดปกติ  ก่อปัญหาอาชญากรรม  ปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือปัญหาอื่น ๆ ก็ได้

-  ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม  ทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม  ชักนำให้เกิดปัญหาสังคมได้เช่นกัน เช่น  ปัญหาโสเภณีเกิดจากการที่ชาวบ้านขายลูกสาวไปเป็นโสเภณีเพื่อขจัดความยากจน  ปัญหาความยากจน เกิดจากธรรมชาติไม่อำนวยต่อการทำมาหากินประกอบกับความด้อยคุณภาพของคน

-  ปัญหาทางค่านิยม ทำให้ผู้คนต่างพยายามหาวิธีการให้ได้มาซึ่งค่านิยมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีที่สังคมยอมรับ เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมหรือไม่ก็ตาม  ดังนั้นจึงอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมได้ เช่น ค่านิยมในเพชรพลอย  เงินทอง  ทำให้ต่างคนอยากจะได้  อยากจะมี  ซึ่งถ้าไม่สามารถหามาได้ด้วยวิธีสุจริตก็อาจใช้วิธีทุจริต

ผลของปัญหาสังคม

  เมื่อเกิดปัญหาสังคมขึ้นแล้วย่อมจะเกิดผลเสียทั้งบุคคลและสังคมส่วนรวม และไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงหรือไม่ก็ตาม  ย่อมจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ๆ ไม่มากก็น้อย ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ตัวอย่าง เช่น ปัญหาโสเภณีอาจมีผลกระทบถึงผู้ที่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวโสเภณีในด้านต่าง ๆ เช่น อาจเป็นผลเสียต่อญาติพี่น้องซึ่งไปเที่ยวหญิงโสเภณี อาจได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณไปในการป้องกัน  ปราบปราม  ในการอบรมโสเภณี  ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจากผู้ที่ไปเกี่ยวข้องกับโสเภณี  และจากความเจ็บป่วยนั้น ๆ ย่อมมีผลต่อกำลังในการผลิตของสังคม  ผลของปัญหาโสเภณีแยกเป็น ๓ ประการ คือ

  ๑. ผลทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเสียทรัพย์สิน การขาดกำลังในการผลิต  ทรัพย์สินอาจเสียไปในกรณีดังต่อไปนี้

-  ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

-  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

-  ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ผู้ที่ประกอบกิจการทางการค้าประเวณี เมื่อพิจารณาดูแล้ว ไม่ได้มีส่วนช่วยในการเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่สังคม เพียงแต่ช่วยให้การเงินหมุนเวียน และถ้ามีบุคคลประเภทนี้มาก ๆ แต่บุคคลผู้ผลิต ผู้สร้างสินค้า  ผู้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ถ้าบุคคลดังกล่าวมีน้อย ก็จะไม่ช่วยให้สังคมเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

๒. ผลทางด้านสังคม ได้แก่  เสียชื่อเสียง และก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา  สังคมที่มีโสเภณีมาก อาจได้ชื่อว่าเป็นเมืองโสเภณี  ทำให้สังคมอื่นดูถูก  มองผู้หญิงของสังคมนั้นเป็นผู้หญิงไม่ดีไปก็ได้

การมีโสเภณีอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาการล่อลวงผู้หญิงไปเป็นโสเภณี  ปัญหาการทำร้ายร่างกาย  ปัญหาสุขภาพอนามัย  ปัญหาเด็กไม่มีพ่อ ฯลฯ

๓. ผลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องและผู้มีอาชีพโสเภณี ผลที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บ  การเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล  เสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งของครอบครัวและตนเอง

ปัญหาสังคมอื่น ๆ ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเศรษฐกิจ สังคม และตัวผู้เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกัน

ผลของปัญหาสังคมนั้นจะทำลายชีวิตที่สงบสุข ทำลายความเจริญก้าวหน้าของชีวิตและสังคม  ดังนั้นจึงควรจะได้ช่วยกันป้องกันแก้ไข 

๒. ประเภทของปัญหาสังคม

  ปัญหาสังคมมีอยู่มากมายและอาจจัดหมวดหมู่เป็นประเภทได้หลายแบบ ผู้เขียนเสนอว่า เราอาจแบ่งปัญหาสังคมออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ (๑) ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคมหรือปัญหาการปรับตัวของปัจเจกชนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและ (๒) ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่อกลุ่ม หรือการจัดระเบียบภายในสังคม ตัวอย่างของปัญหาสังคมประการแรก ได้แก่ ปัญหาเยาวชน  ปัญหาวัยรุ่น  ปัญหาคนแก่  ปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น การติดยาเสพติดต่าง ๆ การติดฝิ่น ติดกัญชา ติดเหล้า ปัญหาโรคจิต เป็นต้น ตัวอย่างปัญหาประการหลังได้แก่ ปัญหาการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ  ปัญหากรรมกรกับนายทุน  ปัญหาที่อยู่อาศัยแหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาสภาวะแวดล้อม เป็นต้น ปัญหาจราจรหนาแน่น  ปัญหาการเพิ่มของประชากร เป็นต้น

  ในหนังสือนี้จะแบ่งปัญหาเป็นประเภทต่าง ๆ ตามประสบการณ์ คือ ปัญหาที่มักได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและทางสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจได้แก่ ภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่คนในสังคมเป็นจำนวนมากรู้สึกว่าคุกคามคุณค่าของคนและต้องการจะแก้ไขให้ดีขึ้นหรือขจัดให้หมดไป เพราะเชื่อว่าคนหรือสังคมของคนสามารถทำได้ เช่น ความยากจน การขนส่งอาชีพต่าง ๆ การตลาด  ราคาสิ่งของแพง เงินเฟ้อ เงินฟุบ เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น ปัญหาทางการเมืองได้แก่  ภาวะการณ์ทางการเมืองที่คนในสังคมจำนวนมากรู้สึกว่า คุกคามคุณค่าของคนและต้องการจะแก้ไขให้หมดสิ้นไปหรือเบาบางลง เพราะเชื่อว่าพวกตนสามารถแก้ไขได้ เช่น การคอรัปชั่น ซึ่งอาจแบ่งย่อยออกเป็น การโกงรูปแบบต่าง ๆ การเบียดบังเวลาราชการ การเล่นพรรคเล่นพวก  การรับสินบน เป็นต้น การแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ สงคราม เป็นต้น ปัญหาทางสังคม ได้แก่ ภาวะการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่คนในสังคมเป็นจำนวนมากรู้สึกว่าคุกคามต่อคุณค่าของตน จึงต้องการแก้ไขโดยเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นอยู่ในวิสัยของกลุ่มหรือสังคมของตนเองจะทำได้ เช่น ปัญหาการศึกษาอนามัย อาชญากรรม ปัญหาวัยรุ่น ยาเสพติด สภาวะแวดล้อมเป็นพิษ และปัญหาประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว เป็นต้น



1 Rubington and Wienberg. The Study of Social Problems. หน้า ๖ และJames B. McKee, Intioduction to Sociology. หน้า ๖๔๕

2 Encyclopedla of Sociology (Gilford. Connecticut. The Duskin Publishing Group. ๑๙๗๔) P. ๖๐

คำสำคัญ (Tags): #รู้ปัญหาสังคม
หมายเลขบันทึก: 512753เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 

การป้องกันแก้ไขปัญหาสังคม

  ดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วว่า ปัญหาสังคมแต่ละปัญหานั้นอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ  ทั้งสาเหตุเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคม และสาเหตุจากปัจจัยภายในตัวบุคคลดังเช่น  ปัญหาความยากจน  อาจเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น สภาพเเวดล้อมทางธรรมชาติไม่อำนวย  การเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง  ความเกียจคร้านของผู้คน  ความโง่เขลาเบาปัญญา  การว่างงาน ฯลฯ  ดังนั้นในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นและแก้ไขปัญหา จำเป็นต้องมองให้รอบด้านถึงสาเหตุของปัญหา และขจัดสาเหตุแห่งปัญหานั้น

การป้องกัน หมายถึง การหาวิธีการที่จะยับยั้งไม่ให้ปัญหาสังคมต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะทำได้ก็โดยการศึกษาสาเหตุของปัญหานั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้งแล้วพยายามนำเอาเครื่องมือหรือวิธีการที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาใช้กับคนและสังคมเพื่อไม่ให้ก่อสาเหตุอันจะเป็นผลให้เกิดปัญหานั้น ๆ ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสังคม เช่น

๑. การกำหนดบรรทัดฐานของสังคม (Norms) ถ้าสังคมได้กำหนดบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตให้แน่ชัดว่า สิ่งใดควรปฏิบัติ สิ่งใดห้ามไม่ให้ปฏิบัติ ผู้คนก็จะมีแนวทางในการปฏิบัติตนได้ถูกต้องปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

การกำหนดบรรทัดฐานของสังคมนั้น จำเป็นจะต้องให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป การยึดมั่นในบรรทัดฐานเดิมซึ่งใช้มานานปี อาจก่อให้เกิดปัญหาการขัดแย้งได้ เพราะผู้คนรุ่นใหม่อาจเห็นว่าบรรทัดฐานนั้นล้าสมัย  ถ่วงความเจริญ

๒. การขัดเกลาทางสังคม(Socialization) แม้สังคมจะมีบรรทัดฐานที่เหมาะสมแล้วแต่ถ้าขาดการขัดเกลา ขาดการอบรมให้เรียนรู้ ผู้คนก็จะปฏิบัติไม่ถูก หรือไม่รู้ว่าบรรทัดฐานนั้น ๆ ว่าด้วยอะไร และถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้น

การขัดเกลาทางสังคม ถ้าจะให้ได้ผลดี ผู้ทำหน้าที่ขัดเกลาจะต้องอยู่ในบรรทัดฐานนั้น ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

๓. การลงโทษที่รุนแรง(Severe  punishment) การอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องมีระเบียบ กฎเกณฑ์  เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้สมาชิกอยู่ด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัย  เป็นธรรมดาที่สมาชิกของสังคมได้รับการอบรมมาไม่เหมือนกัน  ประกอบกับบุคลิกลักษณะนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน  บางคนมีนิสัยสุภาพอ่อนโยน  บางคนก้าวร้าวรุกราน  เมื่อมีการประพฤติผิดหรือละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมก็สมควรจะได้มีการลงโทษ  ทั้งนี้เพื่อทำให้ระเบียบกฎเกณฑ์มีความหมาย ทำให้สมาชิกคนอื่น ๆ เห็นว่าการกระทำความผิดเป็นสิ่งที่ไม่ดี และการประพฤติอยู่ภายในกรอบเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยกย่องนับถือ ดังนั้นเมื่อมีการกระทำผิดหรือละเมิดบรรทัดฐานของสังคมก็ต้องมีการลงโทษ

การลงโทษที่รุนแรงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะป้องกันปัญหาสังคมได้ในระยะเวลาหนึ่ง  เพราะความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำ ตัวอย่างเช่น ในสมัยจอมสฤษดิ์  ธนรัชต์  เป็นนายกรัฐมนตรี  เมื่อ พ. ศ. ๒๕๐๒ ได้ใช้วิธีการลงโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้วางเพลิง โดยการประหารชีวิต ทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไปจาก ๑๑๕ รายในปี พ. ศ. ๒๕๐๒ เหลือเพียง ๘๓ รายในปี ๒๕๐๖ (ชาย  เสวิกุล , ๒๕๑๔ : ๓๕)

๔. การใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ(Better law enforccment) กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือมีความหมายเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีการนำเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย  ไม่ให้อ่อนโอนตามอำนาจของผู้ใช้หรืออิทธิพลของผู้ประพฤติผิดไปจากขนบประเพณี  ถ้าเมื่อใดกฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลบังคับใช้  สังคมก็จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบ มีการกดขี่ข่มเหง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ได้ เช่น ปัญหาอาชญากรรม และแม้แต่ปัญหาการจราจรก็อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ตำรวจจราจรไม่เข้มงวดในการนำเอากฎหมายที่มีอยู่ไปบังคับใช้ อนึ่ง เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายนี้มีบุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของการใช้กฎหมาย คือ ผู้เสียหาย ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน อัยการซึ่งทำหน้าฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล  ทนายความเป็นผู้ให้คำปรึกษาว่าความแทนฝ่ายโจทก์และจำเลย  ศาลทำหน้าที่พิจารณาคดี  และเรือนจำมีหน้าที่ควบคุมกักขังลงโทษและปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำความผิด

๕. การศึกษา(Education) คือการพัฒนาคนในด้านต่าง ๆ ทางกายภาพ อารมณ์ และสติปัญญา  เพื่อให้มีความประพฤติดี  มีอารมณ์มั่นคง  มีความเฉลียวฉลาด  และมีพลานามัยที่แข็งแรง

การให้การศึกษาที่ถูกต้องย่อมนำไปสู่ความเป็นระเบียบของสังคม และช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นต้นว่า เมื่อคนเรามีการศึกษาดีทำให้มีความรู้ในด้านวิชาการแขนงต่าง ๆ มีความรู้ในด้านอาชีพ  ทำให้สามารถนำเอาความรู้ไปประกอบอาชีพสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตน  ปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหาความยากจน  ฯลฯ  ก็จะไม่เกิดขึ้น  นอกจากนั้นการศึกษายังก่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น

-ทำให้ได้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคมและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

-ทำให้เกิดความเฉลียวฉลาดรอบรู้ทันคน ไม่ถูกหลอกลวงไปในทางมิชอบ

-ทำให้เกิดความสำนึกในศักดิ์ศรี(Dignity) เกิดความภาคภูมิใจในสถานภาพของตน ทำให้ไม่กล้าทำผิดเพราะถือว่าเป็นการทำลายชื่อเสียงของตนเอง

๖. ศาสนา (Religion) เป็นสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้ที่เคารพนับถือ  ศาสนา คือ หลักคำสอนของศาสดา มีหลักคำสอนที่เป็นแนวปฏิบัติของมนุษย์เพื่อให้บรรลุสู่ความสันติสุข โดยทั่วไปแล้วศาสนาได้กำหนดหลักของศีลธรรมเบื้องต้นที่เป็นหลักควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม เช่น  สอนให้คนมีเมตตากรุณาต่อกัน  อยู่ร่วมกันอย่างเห็นอกเห็นใจ  ไม่คดโกงเอารัดเอาเปรียบกัน

หลักคำสอนทางศาสนานั้น  สามารถช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมได้ เช่น ในทางพุทธศาสนา  สอนให้คนรวยทรัพย์ มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ทำให้ไม่เกิดปัญหาความยากจน ถ้าปฏิบัติตามหลักธรรมที่ว่าด้วยทิฏฐธัมมิกัตถ หรือประโยชน์ปัจจุบัน ๔ ประการ คือ  อุฏฐานสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ  อารักขสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้  กัลยาณมิตตตา  คบเพื่อนที่ดีเป็นมิตร และ สมชีวิตา เลี้ยงชีพให้พอเหมาะพอควรแก่ฐานะทางเศรษฐกิจ

๗. หน่วยงานแนะแนวและให้คำปรึกษา (Guidance  and  counselling  programs)

การแนะแนว(Guidance) คือ บริการแนะนำให้ผู้อื่น เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง และเกี่ยวกับการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การให้คำปรึกษา (Counselling) คือ กระบวนช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหา  โดยผู้ให้คำปรึกษากระตุ้นให้ผู้มีปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาของตนเอง และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเบี่ยงเบน  มักจะเกิดขึ้นจากการที่คนเราขาดการอบรมและแนะนำในทางที่ถูกที่ควรอย่างต่อเนื่องกันในระยะยาว  เด็กที่เจริญเติบโต โดยขาดการอบรมและแนะำ  มักจะมีโอกาสกลายเป็นอาชญากรได้ง่าย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล หากได้รับการแนะนำและให้คำปรึกษาที่ดีก็อาจจะขจัดความขัดแย้งได้  หน่วยงานแนะแนวและให้คำปรึกษา จึงมีความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม

๘. หน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม (Social  group  work) เช่น สภาสังคมสังเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ฯลฯ  การรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งหน่วยงานบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมนั้นย่อมได้ประโยชน์ทั้งผู้เข้าร่วมเองและประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย  ประโยชน์ต่อส่วนบุคคลที่เป็นสมาชิก ได้แก่  การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งใดที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม  ในด้านส่วนรวมนั้นเป็นการช่วยเหลือบุคคลและสังคม  และช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

๙. การปรับปรุงสภาพแวดล้อม (Area  rehabilitation) สภาพแวดล้อมมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนเรา หากอยู่กันอย่างแออัดและคับแคบ ไม่ค่อยจะมีความเป็นตัวของตัวเอง สภาพแวดล้อมที่ยั่วยุหรือกระตุ้นเร่งเร้าให้กระทำผิดด้านต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเพื่อการป้องกันปัญหาควรมีการปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อม ดังนี้

ก.  การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical  rehabilitation) เป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้านในชุมชนให้น่าอยู่อาศัย มุมถนนหนทางสะอาด ปราศจากมุมมืด  ป่าละเมาะ  มีไฟฟ้าแสงสว่างตามถนน  ทั้งนี้เพื่อป้องกันพวกมิจฉาชีพอาศัยเป็นฉากกำบังเพื่อประกอบอาชญากรรม

ข.  การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางสังคม (Social  rehabilitation) เป็นการปรับปรุงตัวบุคคลและกลุ่มคนในสังคม  เช่น  จัดให้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ โดยอาจจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันทั้งด้านบันเทิง  สาธารณประโยชน์ หรือทางศาสนา ฯลฯ จะทำให้สภาพแวดล้อมของเด็กดีขึ้น แทนที่ประชาชนจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มอันธพาลหรือเล่นการพนัน

การปรับปรุงสภาพการเลี้ยงดู เพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ  ย่อมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสังคมขึ้น อนึ่ง ในทัศนะของนักพยาธิวิทยาทางสังคมที่เน้นในเรื่องของพันธุกรรมเห็นว่า ถ้าสามารถควบคุมเชื้อไม่ดีไว้และส่งเสริมเชื้อดี เพื่อให้ได้ประชากรที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสังคมได้

๑๐. พัฒนาด้านเศรษฐกิจ  ส่งเสริมให้มีการผลิตทั้งทางด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมตามความเหมาะสม อุดหนุนให้ประชาชนสามารถดำเนินการทางธุรกิจทั้งในด้านทุนวิธีดำเนินการและการจำหน่ายผลผลิต  นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์ขยันขันแข็งในการทำมาหาเลี้ยงชีพ  รู้จักเลี้ยงชีพให้พอเหมาะกับฐานะทางเศรษฐกิจ

เครื่องมือและวิธีการในการป้องกันปัญหาสังคมนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน  แต่การที่จะใช้วิธีใดและสามารถนำเอาไปใช้ได้ผลแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์(Situation) เวลาและสถานที่ ตัวอย่าง เช่น  การใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง  ใครกระทำผิดก็ประหารชีวิต  อาจทำให้สังคมที่ไร้ระเบียบกลับสู่สภาวะปกติได้ แต่ถ้าสังคมนั้นผู้คนมีการศึกษาสูง และอยู่ในภาวะปกติดี  ถ้าจะใช้วิธีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรงก็อาจไม่เหมาะสม และอาจได้รับการต่อต้านจากสังคม

การแก้ไขปัญหาสังคม  หมายถึง การจัดการกับปัญหาสังคมเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เช่น เกิดความยากจน  เกิดปัญหาการว่างงานเกิดขึ้น  ฯลฯ  จึงดำเนินการแก้ไข ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดปัญหาการว่างงาน  ก็แก้ไขโดยการสร้างงานให้มากขึ้น  เพื่อคนจะได้มีงานทำ ใช้วิธีส่งคนไปทำงานต่างประเทศ แนวความคิดในการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจกระทำได้ดังนี้

๑. การล้มล้างระบบสังคมเดิม และนำระบบใหม่เข้ามาใช้แทน เช่น การเปลี่ยนระบบการปกครองจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย  การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากเสรีนิยมเป็นสังคมนิยม

๒. การขัดเกลาทางสังคม  เพื่อให้รู้ดี รู้ชั่ว  รู้ว่าสิ่งใดควรทำ  สิ่งใดไม่ควรทำ  จะได้ไม่กระทำผิด

๓. การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  เมื่อคนเรามีการกินดีอยู่ดี  มีการจัดระบบสังคมที่ดี  ก็อาจช่วยแก้ปัญหาสังคมได้

๔. การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหา  เช่น  เมื่อเกิดปัญหาความยากจนก็ให้การสงเคราะห์ในรูปของโครงการเงินกู้เพื่อนำเอาไปลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ  การสร้างงานในชนบทเพื่อให้ชาวชนบทมีงานและมีรายได้ในช่วงระยะที่ว่างงาน  การจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้กับหญิงโสเภณี  การจัดบ้านพักให้กับผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัย ฯลฯ

๕. การพัฒนาคนให้มีโลกทัศน์ที่กว้าง รู้ถึงเหตุและผลแห่งปัญหา มีความรู้ความสามารถในการทำมาหาเลี้ยงชีพ  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ ที่อาจนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสังคม  แต่เนื่องจากปัญหาสังคมแต่ละปัญหามีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป  ดังนั้นในการแก้ปัญหาสังคมเราต้องคำนึงถึงสาเหตุและแก้ที่สาเหตุซึ่งทำให้เกิดปัญหานั้น ๆ

กระบวนการในการแก้ปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

การที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมให้ได้ผลนั้น จำเป็นต้องศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา แล้วจึงขจัดเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา  ปัญหานั้น ๆ ก็จะสามารถแก้ไขได้  หลักการดังกล่าวคือ  การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้

๑. กำหนดปัญหาที่ต้องการแก้ไข

๒. ตั้งข้อสมมุติฐานสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา

๓. รวบรวมข้อมูล

๔. วิเคราะห์ข้อมูล

๕. สรุปและเสนอรายงาน

๑. การกำหนดปัญหา (The problem) หรือเลือกปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้า การเลือกปัญหานั้น เราควรเลือกปัญหาที่มีความสำคัญ ปัญหานั้นเมื่อศึกษาแล้ว ผลที่ได้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมาก  ตัวอย่างของปัญหาสังคม ที่เราอาจนำมาศึกษา เช่น ปัญหาสุขภาพจิต (Mental  illiness) ปัญหาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและวัฒนธรรม ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ ฯลฯ

๒. การตั้งสมมุติฐาน (Formulating  hypothesis) เราอาจตั้งสมมุติฐานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องมาจากสาเหตุใดบ้าง เช่น ปัญหาโสเภณีอาจมีสาเหตุมาจาก

๑. ความผิดปกติของต่อมเพศ(Gonad)

๒. ความยากจน

๓. ความโง่เขลา

สาเหตุที่เราคาดคะเนไว้นี้เรียกว่าสมมุติฐาน  ซึ่งผลจากการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ออกมาแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

การตั้งสมมุติฐาน จะช่วยให้เรามีแนวทางในการดำเนินการศึกษาหาสาเหตุต่าง ๆ ของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สมมุติฐานที่ตั้งขึ้น ควรจะอาศัยประสบการหรืออ้างอิงทฤษฎีเพื่อความเป็นไปได้จริงของสาเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ

๓. การรวบรวมข้อมูล (Collecting data) เมื่อได้ตั้งสมมุติฐานแล้ว  เราก็รวบรวมข้อมูลซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี  แต่ที่นิยมใช้กันในการศึกษาค้นคว้าทางสังคมศาสตร์และรวมถึงในการศึกษาค้นคว้าทางสังคมวิทยา  ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร  การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม  การสัมภาษณ์และการสังเกต จุดมุ่งหมายของการรวบรวมข้อมูลก็เพื่อนำเอาผลที่ได้มาพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้ เป็นความจริงตามนั้นหรือไม่

๔. การวิเคาะห์ข้อมูล (Data  analysis) เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ ตามต้องการแล้วก็นำเอาข้อมูลที่มีเหตุผล  มีหลักฐานอ้างอิงมีความเชื่อถือได้ มาวิเคราะห์และสรุปความออกมาเป็นคำอธิบายเพื่อหาข้อเท็จจริงหรือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

๕. สรุปผลและเสนอรายงาน (Interpretation and  Research  report) เมื่อได้ข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าแล้ว ผู้ศึกษาจะต้องสรุปผลการศึกษาค้นคว้าและเขียนไปตามที่ได้ค้นพบโดยไม่มีอคติหรือเพิ่มเติมความรู้สึกส่วนตัวลงไป และควรสรุปด้วยว่าได้ค้นพบอะไร หรือมีปัญหาอะไรที่ควรจะศึกษาต่อ

เมื่อได้ข้อสรุปของสาเหตุแห่งปัญหาสังคมแล้ว เช่น พบว่า ปัญหาโสเภณีเกิดจากความยากจน  เราก็ต้องแก้ความยากจนของผู้คนในสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ และเมื่อแก้ความยากจนได้ ปัญหาโสเภณีก็จะลดหรือหมดไป ดังนี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้น

ปัญหาสังคมไทยปัจจุบัน

ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาสังคมที่น่าสนใจศึกษาและควรจะได้หาทางป้องกันและแก้ไขอยู่หลายปัญหาและที่สำคัญ เช่น ปัญหาความยากจน  ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการใช้อำนาจโดยพลการ ปัญหาด้านศีลธรรมและจิตใจ  ปัญหาครอบครัว  ปัญหาอบายมุข  ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  ซึ่งปัญหาเหล่านี้  ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งทำให้สังคมไทยเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ผู้คนก็จะประสบกับความเดือดร้อน  ดังนั้นจึงควรที่จะได้ศึกษาถึงสาเหตุและแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สำหรับในบทนี้จะได้กล่าวถึงปัญหาสังคมซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยบางปัญหา ดังต่อไปนี้

ปัญหาอาชญากรรม

อาชญากรรม คือ  การกระทำผิดต่อกฎหมายหรือบรรทัดฐานของสังคม และผู้กระทำผิดเรียกว่า อาชญากร

อาชญากรรม  เกิดจากพฤติกรรมเบี่ยงเบนของผู้คนในสังคม  ทำให้เกิดผลเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน  และความสงบเรียบร้อยต่อทั้งบุคคลและสังคมส่วนรวม  ลักษณะของการกระทำที่อยู่ในข่ายของปัญหาอาชญากรรมได้แก่

๑. การกระทำผิดต่อร่างกายหรือชีวิต

๒. การกระทำผิดต่อทรัพย์สิน

๓. ความผิดในทางการเมือง

๔. การกระทำผิดในการประกอบอาชีพ

๕. การกระทำผิดต่อหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลจัดระเบียบ

๖. การกระทำผิดอันเนื่องจากการครอบครองเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำผิด เช่น การมีอาวุธสงคราม

๗. การกระทำผิดต่อความยุติธรรมของส่วนรวม เช่น การให้สินบนพนักงานเจ้าหน้าที่ของประชาชนในสังคมไทย สถิติอาชญากรรมที่พบบ่อยครั้งที่สุด ได้แก่ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์  รองลงมาได้แก่  ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย  และความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีอาชญากรรมในสังคมไทยยังคงเพิ่มขึ้น  ดังจะพบเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน

สาเหตุของปัญหาอาชญากรรม

ก.  สาเหตุเนื่องจากความบกพร่องทางร่างกายและจากกรรมพันธ์  ความบกพร่องทางร่างกายที่อาจก่อปัญหาขึ้นได้เช่น โคโมโซมเพศผิดปกติ  ต่อมไร้ท่อผิดปกติ  สมองบกพร่อง  ความบกพร่องทางร่างกายดังกล่าว  อาจทำให้ผู้นั้นมีพฤติกรรมที่ผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคม  ส่วนกรรมพันธุ์เป็นพฤติกรรมที่สืบสันดานจากบรรพบุรุษ  เช่น เป็นคนก้าวร้าว  เจ้าชู้ ฯลฯ  ซึ่งจะก่อปัญหาได้เช่นกัน

ข.  สาเหตุเนื่องจากความบกพร่องทางจิต  การเป็นโรคจิต  โรคประสาท  การมีความรู้สึกนึกคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม

ค.  สาเหตุทางสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพที่อยู่อาศัยแออัด  มีแหล่งอบายมุข สภาพดินฟ้าอากาศที่ร้อนแห้งแล้ว  การขัดแย้งในครอบครัว  สื่อสารมวลชน  ค่านิยมทางสังคม

ง.  เนื่องจากการไร้ระเบียบทางสังคม สถาบันทางสังคมต่าง ๆ ไม่สามารถอบรมสมาชิกให้อยู่ในบรรทัดฐานของสังคมได้

ผลจากปัญหาอาชญากรรม มีดังนี้

ก.  ผลเสียของผู้ประกอบอาชญากรรม

- เสื่อมเสียชื่อเสียงและอิสรภาพ

- เสียชีวิตและทรัพย์สิน

ข.  ผลเสียของเจ้าทุกข์

-  เสียทรัพย์สิน

-  เสียชีวิต

-  เสียสุขภาพจิต

ค.  ผลเสียต่อสังคมส่วนรวม

-  เสียงบประมาณในการปราบปราม ป้องกัน แก้ไข

-  ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบในสังคม

-  เสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศ

การป้องกันแก้ไขแยกพิจารณาได้ดังนี้

การป้องกัน

ก.  จัดให้มีการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม

ข.  ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม รวมทั้งสร้างค่านิยมที่ดีงาม

ค.  เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ปกครอง  เพื่อสอดส่องดูแลผู้ประพฤติมิชอบและเพื่อป้องกันไม่ให้เขากระทำผิด

ง.  ให้ความรู้เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้น  เช่น  ระมัดระวังการเดินทางในที่เปลี่ยว การปิดประตูหน้าต่างก่อนเข้านอน

จ.  สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน

การแก้ไข

ก.  โดยการลงโทษผู้กระทำผิด

ข.  โดยการเข้าค่ายฝึกอบรมให้กลับประพฤติตนเป็นคนดี

ค.  การให้คำแนะนำให้คำปรึกษา การสังคมสงเคราะห์

ปัญหายาเสพติด

ยาเสพติด หมายถึง สารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายหรือจิตใจ เมื่องได้รับเข้าไปในร่างกาย จะเป็นผลให้ผู้นั้นอยากจะรับหรือจำเป็นต้องรับยานั้นอยู่เป็นประจำ บุหรี่และสุรา หรือแม้แต่กาแฟ ก็จัดเป็นยาเสพติด ตัวอย่างของยาเสพติด เช่น ฝิ่น  มอร์ฟีน  เฮโรอีน  กัญชา  กระท่อม  ยากระตุ้น  ยานอนหลับและยากล่อมประสาท  เฮโรอีนจัดเป็นยาเสพติดชนิดร้ายแรงที่สุด

ปัญหายาเสพติด  ปัจจุบันปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น  แต่ได้ขยายตัวออกไปในหมู่เยาวชน  จากการประมาณจำนวนผู้ติดยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ  ปรากฏว่ามีคนติดยาเสพติดมากกว่า ๖ แสนคน และประมาณว่ามีนักเรียนติดยาเสพติดชนิดต่าง ๆ อยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่จะติดยาม้าและนำเอามาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น  รับประทาน  สูดในลักษณะไอระเหย  ผลจากการติดยาเสพติดให้โทษจะทำลายความสุขทั้งแก่ผู้เสพและสังคม ยาเสพติดจะทำลายชีวิตและทรัพย์สิน  ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

สาเหตุของการติดยาเสพติด

ก.  เกิดจากร่างกายที่เจ็บป่วย และใช้ยาเสพติดช่วยรักษาซึ่งถ้าใช้มากเกินไปก็จะติดยาได้

ข.  เกิดจากความคึกคะนอง  อยากทดลอง  อยากรู้  อยากเห็น

ค.  เกิดจากความผิดหวังในชีวิต แล้วหาทางออกโดยการเสพยาเสพติด

ง.  ติดยาเสพติดเพราะสภาพแวดล้อม เช่น มีผู้ติดยาเสพติดรอบบ้าน มีเพื่อนเสพยาเสพติด

จ.  ถูกหลอกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าสารหรือยาชนิดนั้น ๆ เป็นยาเสพติด หรือมียาเสพติดผสมอยู่หรือไม่ หรือถูกเพื่อนชักชวน

ผลของการติดยาเสพติด

ก.  โทษต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ  ยาเสพติดทุกชนิดก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อร่างกายและจิตใจ และก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ แทรกซ้อนขึ้น เช่น โรคขาดอาหาร  โรคผิวหนัง  ทำให้เสียบุคลิกภาพ ฯลฯ เป็นเหตุให้เสียอนาคต

ข.  โทษต่อครอบครัว เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจของครอบครัว ครอบครัวอยู่กันอย่างไม่มีความสุข และอาจนำไปสู่ปัญหาครอบครัว

ค.  โทษต่อสังคม  ผู้ติดยาเสพติดอาจไปสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคม เช่น ยืมเงินจากญาติพี่น้องและถ้าไม่อาจขอยืมได้ก็อาจลักทรัพย์ปล้นทรัพย์  ฯลฯ นอกจากรบกวนผู้อื่น  ผู้ติดยาเสพติดยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่อาจเป็นกำลังงานที่มีคุณภาพ ไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม  และการเมือง

การป้องกันแก้ไข แยกพิจารณาได้ ดังนี้

การป้องกัน  กระทำได้โดย

ก.  ฝึกอบรมตนเองให้มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่อ่อนไหวง่าย ไม่หลงคำชักชวน  ไม่ท้อแท้ต่อชีวิต

ข.  สอดส่องดูแลสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  อบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติดให้โทษ

ค.  ช่วยแนะนำชี้เเจงเพื่อนบ้านให้เข้าใจถึงโทษภัยของยาเสพติด

ง.  ให้ความช่วยเหลือทางราชการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  แจ้งแหล่งค้ายาเสพติด  ผู้ติดยาเสพติดให้ทางราชการทราบ

จ.  ป้องกันการผลิต  โดยให้ผู้ผลิตยาเสพติด  เช่น ปลูกฝิ่น  เลิกการผลิต และให้ปลูกพืชอื่นแทน

ฉ.  เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ

ช.  ลงโทษผู้ประพฤติผิดอย่างจริงจังและโทษสถานหนัก

การแก้ไข  กระทำได้โดยการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

ก.  การถอนพิษยา เช่น การรักษาอาการของร่างกายที่เกิดจากการหยุดเสพยา

ข.  การปรับปรุงแก้ไขจิตใจและบุคลิกภาพ เช่น โดยการเข้มงวดในระเบียบวินัย

ค.  การสร้างเครื่องยึดเหนี่ยว เช่นการให้คำมั่นสัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับผู้ที่เคารพนับถือ

ง.  การใช้ยาต้านฤทธิ์ยา  โดยการรับประทานยาประเภทที่ไปออกฤทธิ์ต้านฤทธิ์ยาเสพติด

 

ปัญหาคอร์รัปชั่น

คอร์รัปชั่น เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตโดยใช้อำนาจหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่หรืออิทธิพลที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเอง  รวมตลอดถึงการเลือกที่รักมักที่ชัง  การสนิทสนมฉันพี่น้อง  การกินสินบน  ฉ้อราษฎร์บังหลวง  การใช้ระบบอุปถัมภ์และความอยุติธรรมอื่น ๆ ที่ข้าราชการหรือบุคคลอื่นได้ใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนความเป็นธรรมและความถูกต้องตามกฎหมายของสังคม

การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในทุกสังคมสำหรับในสังคมไทย  การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในทุกสมัย เป็นปัญหาที่บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทยตลอดมา และในปัจจุบันการคอร์รัปชั่นดูเหมือนจะมีมากขึ้น ดังจะพบได้จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์  มีการคอร์รัปชั่นการสร้างบ้านพักของทางราชการ  การโกงเงินผันเพื่อสร้างงานในชนบท  การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน  การโกงของข้าราชการในหน่วยงานต่าง ๆ  ฯลฯ ซึ่งเมื่อคิดเป็นตัวเงินที่รัฐสูญเสียไปนับเป็นพันล้านบาท ดังนั้น ปัญหานี้จึงควรจะได้ศึกษาหาสาเหตุและวิธีการป้องกันแก้ไข

สาเหตุของการคอร์รัปชั่น จำแนกออกได้ดังนี้

ก.  แรงจูงใจและโอกาสอำนวย

ข.  ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

ค.  ค่านิยมของสังคม  อยากจะได้อยากจะมี

ง.  การบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ

จ.  กฎหมายมีช่องว่างหรือมีข้อบกพร่อง เช่น การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง

ฉ.  การมีตำแหน่งที่เอื้ออำนวยต่อการกระทำผิด

ช.  ประชาชนยินยอมเพื่อความสะดวกและผลประโยชน์ส่วนตน

ซ.  ผู้ร่วมงานและอิทธิพลของผู้ทุจริต

ฌ.  ขาดมาตรการลงโทษการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด

ผลของการคอร์รัปชั่น ก่อให้เกิดผลเสียดังนี้

ก.  ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

ข.  ก่อให้เกิดความแตกแยกและความไม่ยุติธรรมในสังคม

ค.  เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ง.  ทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในข้าราชการ

จ.  ในหมู่ของข้าราชการก็เกิดการทำงานแบบขอไปที

ฉ.  ทรัพยากรของรัฐถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางคนที่คิดเอาประโยชน์ส่วนตัว

ช.  การคอร์รัปชั่นก่อให้เกิดระบบผูกขาด ระบบสมยอม

การป้องกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น มีวิธีการดังนี้

ก.  จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น

ข.  ให้การศึกษาและพัฒนาจิตใจประชาชนและข้าราชการ

ค.  ผู้นำผู้บริหารทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นคนซื่อตรง

ง.  ประชาชนและสื่อมวลชนไม่เพิกเฉยต่อการคอร์รัปชั่น

จ.  ใช้มาตรการลงโทษอย่างรุนแรงแก่ข้าราชการที่คอร์รัปชั่น

ปัญหาการใช้อำนาจโดยพลการ

การใช้อำนาจโดยพลการ(Violence) เป็นพฤติกรรมมุ่งร้าย เพื่อที่จะทำให้ได้รับบาดเจ็บและอาจถึงชีวิต และหรือเพื่อให้ได้รับความสูญเสียทางทรัพย์สิน  การใช้อำนาจโดยพลการกระทำต่อสังคม  แม้เพื่อจะเปลี่ยนแปลงหรือรักษาสภาวะเดิมของสังคมเอาไว้  ก็จัดว่าเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง เพราะจะทำให้คนเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้น ๆ

ปัญหาการใช้อำนาจโดยพลการ  ในสังคมไทยปัจจุบันมีการใช้อำนาจโดยพลการ เช่น การลอบวางระเบิด  การเดินขบวนประท้วง  การขัดแย้งทางการเมือง  ทำให้เสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนไม่น้อย  ตัวอย่างความสูญเสียเนื่องจากการใช้อำนาจพลการ ได้แก่  การวางระเบิดศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อเดือน มีนาคม  พ. ศ. ๒๕๒๕ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๖ คน บาดเจ็บหลายคน และค่าเสียหายมีการประมาณว่ากว่าร้อยล้านบาท  การลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนกว่า ๓๐ แห่ง ในสี่จังหวัดภาคใต้ เมื่อ พ. ศ. ๒๕๓๖  ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ต่อการศึกษาของชาติ  ต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทยนับค่าได้ยาก  ปัจจุบันการใช้อำนาจ โดยพลการยังเกิดขึ้นเป็นประจำและยังมีแนวโน้มว่าจะจางหายไปได้ง่าย ๆ

เอกสิทธิของการใช้กำลังของรัฐบาล

ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐ คือ การใช้กำลังของรัฐบาลอย่างมีเอกสิทธิ์แต่ผู้เดียว รัฐใช้กฎหมายเพื่อทำให้ชัดเจนว่าเมื่อไรและอย่างไรจะใช้กำลัง และห้ามปัจเจกชนหรือกลุ่มชนใด ๆ ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กฎหมายที่เขียนไว้จะออกโดยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายอย่างชอบธรรม และการควบคุมทำโดยสถาบันที่เป็นทางการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ศาล  ตำรวจ ซึ่งมีอำนาจลงโทษทุกประเภท เช่น จับเข้าคุก ปรับ  ริบทรัพย์สมบัติและประหารชีวิต เป็นต้น

ถึงแม้ว่ารัฐเท่านั้นที่ใช้กำลังได้อย่างชอบธรรม แต่มันไม่ได้หมายความว่า รัฐเท่านั้นที่ใช้กำลัง ตามความเป็นจริงแล้ว รัฐหลายแห่งเต็มไปด้วยการใช้กำลังที่ผิดกฎหมายและความรุนแรงที่อาจมีได้ในหลายรูปแบบ เช่น ในบางครั้งเกิดขึ้นในระหว่างปัจเจกชน บางทีทำให้มวลชนหวาดกลัว พวกผิดกฎหมายบางทีเป็นพวกกบฏที่ต่อต้านและต้องการทำลายรัฐบาล และบางทีเป็นการปฏิวัติที่ต้องการทิ้งโครงสร้างทั้งหมดของรัฐบาล รัฐมักจะระวังในเรื่องความพยายามทำลายรัฐบาล และการเกิดขึ้นของคามรุนแรงที่อาจทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ แต่ถ้ารัฐชนะความจงรักภักดีของประชาชนและมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่มีประสิทธิภาพ การใช้กำลังอย่างถาวรไม่ใช่สิ่งจำเป็น และในฐานะที่เป็นสถาบันที่ใช้ควบคุมสังคมที่ทำให้ความไม่มีระเบียบภายในน้อยลงแล้ว รัฐยังป้องกันตัวเองได้ดีจากการถูกรุกรานจากศัตรูภายนอกมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ ของการจัดระเบียบทางการเมือง  รัฐอาจจัดการให้มีการกระทำทางการทหารหรือสงครามทั้งการรุกรานและการป้องกันรัฐได้*

สาเหตุของการใช้อำนาจโดยพลการหรือความรุนแรง  อาจเกิดจาก

ก.  สาเหตุของด้านจิตวิทยา

-  การใช้ความรุนแรงอาจเนื่องจากถูกทอดทิ้ง  ถูกกีดกัน  ยากจน  ทำให้ไม่ได้รับความสมหวังในชีวิต  จึงแสดงออกมาในรูปการใช้อำนาจรุนแรงเพื่อเอาตัวรอด

-  สาเหตุจากความต้องการของมนุษย์ เช่น ต้องการแสดงความสามารถออกมาให้ผู้อื่นเห็น  ต้องการเป็นเจ้าของอำนาจ  ทรัพย์สิน

ข.  สาเหตุทางด้านชีววิทยาซึ่งอาจเนื่องจากโครโมโซมเพศผิดปกติ  ท่อมไร้ท่อผิดปกติ

ค.  สาเหตุทางด้านวัฒนธรรม  การมีวัฒนธรรมที่ขัดกัน  การไม่ยอมรับแนวคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง  ความต้องการที่จะยัดเยียดวัฒนธรรมของสังคมตนให้กับสังคมอื่น  การขัดกันทางค่านิยม ความขัดแย้งในอุดมการณ์ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยวิธีการไม่ใช้ความรุนแรง (Nonviolence) ได้ ก็เกิดการใช้อำนาจพลการขึ้น

ง.  ในทางสังคมวิทยาเห็นว่า การใช้ความรุนแรงอาจเกิดจากการเลียนแบบเอาอย่างพฤติกรรมนั้น ๆ  ซึ่งอาจได้จากสื่อมวลชน  พ่อแม่  เพื่อน  ฯลฯ

ผลของการใช้ความรุนแรง

ก.  ผลเสียทางสังคม  ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม  เกิดผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ข.  ในด้านเศรษฐกิจ  จะทำให้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนไม่น้อย  กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจหยุดชะงักหรือทรุดลงได้

ค.  ในด้านการเมือง สังคมที่มีการใช้อำนาจโดยพลการ แสดงถึงความไม่สงบทางการเมือง  ความไม่สามารถในการบริหารประเทศ  ทำให้ผู้คนต่างสังคมไม่กล้าที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจหรือมาท่องเที่ยวในสังคมนั้น ๆ นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสในการแทรกแซงทางการเมืองได้อีกด้วย

การป้องกันแก้ไข

ก.  โดยการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันของผู้คนในสังคมและต่างสังคม

ข.  การขจัดตัวกลางที่จะเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรง  เช่น กำจัดมือปืนรับจ้าง  ลดจำนวนเครื่องมือที่จะนำมาทำลายล้างกัน  กำจัดนักค้าอาวุธ  ควบคุมสื่อมวลชน

ค.  ปรับปรุงโครงสร้างของสังคม ปรับปรุงสถาบันสังคมทั้งหลายให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด  เช่น สถาบันครอบครัว สามารถอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม ให้ความรักความอบอุ่นแก่สมาชิก

ปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อประเทศได้ปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น ประชาชนได้สัมผัสวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในเมืองหลวง การใช้เครื่องจักร เครื่องยนต์เครื่องไฟฟ้า ฯลฯ กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทำให้ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้มาจากต่างประเทศมากมาย และเสียดุลการค้าเป็นอันมาก รัฐบาลจึงได้เร่งรัดแก้ปัญหานี้ โดยบรรจุโครงการอุตสาหกรรม ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคขึ้นเองภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยมั่นคงขึ้นได้ในปี พ. ศ. ๒๕๑๘ ในแผนพัฒนา ๕ ปี ระยะที่ ๔ จึงได้พุ่งความสนใจไปยังชนบท พัฒนาชนบทเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจให้ขึ้นมาทัดเทียมกับเมืองหลวง เช่น แผนพัฒนาพื้นที่ยากจน ๓๘ จังหวัดในปี พ. ศ. ๒๕๒๗  มีถึง ๓๒ โครงการ ได้มีโครงการพัฒนาประชาชนด้านอื่น ๆ ต่อไป เช่น โครงการอาสาพัฒนาปศุสัตว์ โครงการอาหารเสริม ฯลฯ

ปัญหาประชากร

ประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มของประชากรเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ประชากรในอนาคตของโลกที่ได้จากการคำนวณแสดงในรูปที่ ๔.๑ จะเห็นได้ว่า ถ้าประชากรยังคงเพิ่มจำนวนในอัตราที่เป็นอยู่ ประชากรโลกจะมีถึง ๖.๕ พันล้าน ในปี พ. ศ. ๒๕๔๓ และจะมีประชากรมากที่สุดที่เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ถึงแม้ว่าการวางแผนครอบครัวจะประสบผลสำเร็จถึง ๑๐๐% ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าจำนวนพลโลกก็จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติของประชาชาติ ในปี พ. ศ. ๒๕๒๘ ประชากรในโลกนี้จะมีถึง ๔,๐๐๐ ล้าน เด็กจำนวน ๔๐๐–๕๐๐ ล้าน จะประสบความอดอยาก และในอีก ๔๐ ปีข้างหน้าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ ล้านคน ปัญหาที่มีอยู่แล้วก็จะมีมากขึ้น อันได้แก่ ปัญหาที่อยู่อาศัย การประปา  ระบบขนส่งมวลชน และปัญหาคนว่างงาน ในนครใหญ่ ๆ ที่มีประชากรมากกว่า ๕ พันล้านคน มักจะประสบปัญหาเหล่านี้ ปัจจุบันมีนครใหญ่ ๆ เช่นนี้อยู่ถึง ๙๓ แห่งและ๘๐ แห่งอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น แต่ละประเทศจะต้องเตรียมตัวเพิ่มสาธารณูปโภคที่จำเป็น เช่น  โรงเรียน  โรงพยาบาล  บ้านเรือน  ขนส่งมวลชน  ประปา  ไฟฟ้า ฯลฯ และจะต้องเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอ  ถ้าไม่สามารถทำได้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การขยายตัวของแหล่งเสื่อมโทรม  ความอดอยาก  โรคภัยไข้เจ็บ  จราจรและสงคราม  ทั้งหมดทำให้อัตราการตายของประชากรเพิ่มขึ้น และนี่ก็อาจจะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ช่วยปรับให้สภาพต่าง ๆ ของโลกเข้าสู่ความสมดุล*

ปัญหาการศึกษา

ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในสมัยก่อนคนไทย เรียน เขียน อ่านกันในวัด  จนกระทั่งบ้านเมืองได้พัฒนาขึ้น  การศึกษาแบบเดิมไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดให้การศึกษาและฝึกฝนประชาชนจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น  เพื่อให้ทันกับความต้องการของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการตั้งสถาบัน เพื่อให้ความรู้และฝึกฝนให้ความชำนาญพิเศษเฉพาะอย่างที่จำเป็นในการอุตสาหกรรม  วิศวกรรม  เทคโนโลยี  คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม การพยาบาล และการแพทย์ 

ในปี พ. ศ. ๒๕๐๓ ทั่วประเทศมีนักเรียนเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลเพียง ๔ ล้านคน ปัจจุบันเรามีนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษากำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐกว่า ๘ ล้านคน ผลของการเร่งรัดให้การศึกษานี้ ทำให้มีชายไทยอ่านออกเขียนได้ ๘๙ เปอร์เซ็นต์ และหญิงไทยอ่านออกเขียนได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์  เกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีอายุ ๑๑ ปีได้เข้าเรียน และเกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุระหว่าง ๗–๑๐ ปี เข้าเรียนในโรงเรียนประถม อัตราส่วนระหว่างจำนวน ครูและนักเรียนดีขึ้น คือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีครู ๑ คนต่อนักเรียน ๓๒ คน ในภาคเหนือมีครู ๑ คนต่อนักเรียน ๒๘ คน ในภาคกลางและภาคใต้มีครู ๑ คนต่อนักเรียน ๒๖ คน ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบการศึกษาให้ทันกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ ในแผนพัฒนาประเทศระยะที่ ๔ และ ๕ ได้เน้นการศึกษาในโรงเรียนเกษตรกรรม โรงเรียนเทคนิค ได้มีการนำเอาการเกษตรและเทคนิคต่าง ๆเข้าสู่บทเรียนหลายระดับ ทั้งในระบบนอกและในโรงเรียน และได้จัดให้มีการอบรมฝึกอาชีพให้แก่คน ๔ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย  คนว่างงานที่ยังไม่มีความชำนาญในอาชีพ  โสเภณี  และนักโทษ และคนที่จะเข้าทำงานอาชีพแต่ยังขาดความรู้ความชำนาญ

นอกจากนี้ยังมีการขยายการศึกษาระดับสูง ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย ๑๒ แห่ง วิทยาลัยครู ๓๖ แห่งตามแผนกระจายการศึกษาสู่ชนบท ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในต่างจังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนเเก่น  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รวมริเริ่มตั้งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian  Institute  of  Technology, AIT) ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงเทพ ฯ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔๐ กิโลเมตร

แผนของรัฐในปัจจุบัน คือ ให้ประชากรไทยทุกคนได้รับการศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ มีการตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบทที่ห่างไกล เมื่อใดที่เราสามารถทำให้จำนวนพลเมืองคงที่ โครงการให้การศึกษาอย่างทั่วถึงก็จะประสบผลสำเร็จ

สรุป การศึกษา คือ การสร้างสมและการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ของมนุษย์ เพื่อการแก้ปัญหา และยังให้เกิดความเจริญ  การศึกษามีความจำเป็นต่อเนื่อง และต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบการอยู่เสมอ การศึกษามีความหมายกว้างไกล และลึกกว่าการเรียนหนังสือ และการไปโรงเรียน การศึกษาก่อให้เกิดความเจริญทางพุทธิปัญญา จิตใจ สังคม และพลานามัย การศึกษาดำเนินอยู่เป็นล่ำเป็นสันในสถานศึกษา การศึกษาไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อหาวิชา แต่เป็นการเรียนให้เกิดความคิด การศึกษาเป็นการโน้มน้าวทำให้บุคคลเกิดความประจักษ์ใจและพัฒนาความสามารถของตนให้รู้ว่า ตนทำอะไรได้มากกว่าการฝึกอาชีพเฉพาะอย่าง*

ปัญหาการว่างงาน

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเพิ่มของประชากร คือ การว่างงาน  ในปี พ. ศ. ๒๕๒๒ มีประชากรไทยว่างการอยู่ประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์  คาดกันว่าคนว่างงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ ๒.๙ เปอร์เซ็นต์ต่อปี การปรับปรุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศทำให้มีงานเพิ่มขึ้น ในต้นปี ๒๕๑๓ มีกรรมกรขาดความชำนาญอยู่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรที่มีงานทำทั้งหมด

เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทยในปลาย ๆ ของระยะที่ ๓ ของแผนพัฒนา ทำให้คนว่างงานมากมาย  รัฐต้องหางานให้คนเหล่านี้กับทั้งสร้างงานในชนบทเพื่อป้องกันมิให้ชาวชนบทย้ายเข้ากรุงเทพ ฯ เช่น โครงการผันเงินสู่ชนบท ชาวชนบทบางคนเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ ฯ เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว และบ้างก็ต้องการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพ ฯ เป็นการเพิ่มภาระให้เเก่รัฐบาลในการจัดหาที่อยู่อาศัยแลบริการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ดังนั้น ในแผนพัฒนาระยะที่ ๔ จึงได้เน้นการลงทุนในชนบท เพื่อเพิ่มพูนการเกษตรและสร้างงาน ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมทางการเกษตร เพื่อใช้ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น  นอกจากนี้สถานภาพของกรรมกรก็ดีขึ้น  สหภาพแรงงานซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงในอาชีพกรรมกร  มีการเรียกร้องให้มีการประกันว่าค่าแรงจะเพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ  มีการคุ้มครองอาชีพ มีการกำหนดค่าแรงงานขั้นต่ำ ฯลฯ

ปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองหลวงและชนบท

ในปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ในช่วง ปี พ. ศ. ๒๕๐๓–๒๕๑๓ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เปิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น ซึ่งต้องการใช้น้ำและพลังงานมากมาย รัฐบาลจึงมีโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการ เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความสำเร็จ ยังผลให้ประชาชนในกรุงเทพ ฯ มีงานทำและมีรายได้สูงกว่า และการบริการต่าง ๆ ของรัฐดีกว่าในชนบทอีกด้วย เช่น การศึกษา  สาธารณูปโภค สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล ฯลฯ รัฐได้แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เน้นการพัฒนาชนบทให้เป็นโครงการหลักในแผนพัฒนาระยะที่ ๔ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ถึงแม้จะมีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและมีเป้าหมายในอันที่จะพัฒนาชนบทให้ก้าวหน้ารวดเร็วพอ ๆ กับกรุงเทพ ฯ

ประชากรไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ๕๘ % ของประชากรในประเทศ เป็นครอบครัวเกษตรกรรม ๒๔ % ของประชากรในชนบทไม่ใช่เกษตรกร และอีก ๑๘ % เป็นประชากรที่ไม่ใช่เกษตรกรในกรุงเทพ ฯ  ถึงแม้ประชากรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่รายได้เฉลี่ยของคนกลุ่มนี้ต่ำมาก ในปี พ. ศ. ๒๕๑๙ รายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพ ฯ ต่อปีเท่ากับ ๑๙,๑๕๔ บาท แต่ ๓๔ %ของประชากรมีรายได้น้อยกว่า ๔,๐๐๐ บาทต่อปี รัฐบาลพยายามแก้ไขให้บรรลุจุดประสงค์ข้างต้นโดยการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่  โดยการนำเอาพืชชนิดใหม่ที่ได้ราคาดีมาให้ประชาชนปลูกทดแทนพืชเดิม ถ้าทำได้ หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน  สร้างชลประทาน เพื่อแจกจ่ายไปตามเรือกสวนไร่นา  ให้เครดิตในการซื้อปุ๋ยเคมี  กรมชลประทานได้สร้างเขื่อนขึ้นหลายร้อยแห่ง  สร้างฝายกั้นน้ำ  บ่อเก็บน้ำ  แท็งก์น้ำ และแม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเพื่อกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร นอกจากนี้ กรมชลประทานยังช่วยสร้างถนนที่จำเป็นในการแจกจ่ายน้ำ และเพื่อให้ความสะดวกในการป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งยังใช้ในการขนส่งพืชผลจากไร่นาไปสู่ตลาดอีกด้วย

ในภาคใต้มีการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน โดยการร่วมมือจากหน่วยราชการหลายฝ่าย มีการขุดคลองขุดบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำในแต่ละหมู่บ้าน พนักงานสาธารณสุขก็เข้าร่วมมือสร้างสถานบริการสาธารณสุข และดำเนินงานตามโครงการวางแผนครอบครัว อีกทั้งรัฐยังจัดให้มีไฟฟ้าในหมู่บ้าน ปัจจุบันเพียง ๒๘ %ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศใช้ในต่างจังหวัด  นอกจากใช้ในโรงอุตสาหกรรมและบ้านเรือนในกรุงเทพ ฯ  นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กในหมู่บ้านห่างไกล โครงการเหล่านี้ใช้เงินจำนวนมหาศาล ในช่วงที่ผ่านมาช่องว่างระหว่างกรุงเทพ ฯ และชนบทก็แคบลง แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ จากการคำนวณพบว่า  ๓๔ %ของประชากรยังคงยากจน และส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชากรเหล่านี้ยังมิได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้สนับสนุนให้ชาวนาที่ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวน  ลงทุนบนผืนแผ่นดินโดยให้สิทธิครอบครองที่ดินที่ตนทำการเพาะปลูกอยู่ จากการสำรวจของกรมที่ดินพบว่า ๔๐ %ของที่ดินเพาะปลูกยังไม่มีชื่อผู้ครอบครอง และส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน นอกจากนี้รัฐยังเริ่มโครงการ สินเชื่อโดยธนาคารพาณิชย์จะให้เกษตรกรกู้เงินไปลงทุนในการเกษตร เช่น  นำไปซื้อปุ๋ย  ยาฆ่าแมลง ฯลฯ  รัฐได้เตรียมการสำหรับโครงการประกันผลผลิตด้วยเงินประกันไม่สูงนัก ชาวนาจะได้รับเงินประกัน ถ้าผลผลิตได้รับความเสียหายจากธรรมชาติ  เงินจำนวน จะเพียงพอในการดำรงชีพและการลงทุนในการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป  และเพื่อชาวนาจะได้หลุดพ้นจากอำนาจคนกลาง รัฐบาลได้สนับสนุนให้ชาวนาจับกลุ่มกัน เพื่อมีพลังในการต่อรองในการซื้อขาย เช่น ปุ๋ย  เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ ในราคาถูกเท่าที่จะทำได้ ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตของตนในราคาสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รัฐได้พยายามช่วยในแง่อื่นด้วย เช่น การเพิ่มภาษีขาเข้า เพื่อรักษาราคาของผลผลิตภายในประเทศ  ได้พยายามจัดสรรเงินที่ได้จากภาษีในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรมาช่วยในการช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภาวะคับขัน เป็นที่หวังกันว่า ความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ และความตื่นตัวของเกษตรกร จะทำให้โครงการเหล่านี้บรรลุเป้าหมายในอันที่จะทำให้ชนบทและกรุงเทพ ฯ พัฒนาได้ทัดเทียมกัน

แผนพัฒนาระยะที่ ๕ รัฐได้พุ่งความสนใจไปในการขจัดความยากจนในชนบทโดย (๑) ให้ความสำคัญต่อพื้นที่ยากจน (๒) พัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่ยากจนมีสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ(๓) เริ่มโครงการให้ประชาชนรู้จักช่วยตัวเอง (๔) ใช้เทคโนโลยีราคาถูก (๕) ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชุมชนของตนเอง

ปัญหาการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างมากมายในเมืองหลวง

กรุงเทพมหานครมีประชากรอยู่ กว่า  ๕  ล้านคน นับว่าเป็นนครใหญ่ในโลกแห่งหนึ่ง อัตราการเพิ่มประชาการมากเป็นประวัติการณ์ คือ เพิ่มจาก ๑.๗ ล้านในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ มาเป็น ๕ ล้านในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ทั้งนี้มีสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ ที่ตั้งของกรุงเทพ ฯ เป็นใจกลางของความอุดมสมบูรณ์ทั้งที่ราบลุ่มเจ้าพระยา อยู่ใกล้ปากน้ำ และใกล้เมืองอื่น ๆ เป็นศูนย์กลางของการค้าขายเข้าออกของประเทศและเนื่องจากเป็นที่ตั้งของที่ทำการรัฐบาล ทำให้ประชาชนเข้ามาแออัดอยู่ในกรุงเทพ ฯ ความบีบคั้นทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เมืองใหญ่อื่น ๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่อาจจะพัฒนาขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของความเจริญได้ การค้าขายข้ามแดนในเมืองชายเเดนถูกขัดขวางมิให้เป็นไปโดยสะดวก ทำให้สินค้าถูกจำกัดอยู่เพียงผลผลิตทางการเกษตร นักลงทุนลังเลที่จะลงทุนในจังหวัดอื่น ๆ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง รัฐได้ลดปัญหานี้โดยการลดภาษี ฯลฯ อีกทั้งยังสร้างถนนเพิ่มขึ้นอีกในชนบท เพื่อที่จะผลักดันให้มีศูนย์กลางการเจริญในชนบท และลดภาวะจากกรุงเทพ ฯ ที่ซึ่งชาวชนบทได้อพยพไปตั้งถิ่นและทำมาหากิน

เมื่อประชาชนในกรุงเทพ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐจำเป็นต้องเพิ่มบริการสาธารณะอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่ค่อยจะทันกับการเพิ่มของประชากร เช่น จัดให้มีระบบขนส่งดีขึ้น แต่ก่อนนี้พื้นที่ที่เป็นถนนมีเพียง ๑๐ %ของพื้นที่กรุงเทพ ฯ ทั้งหมด ต่อมารัฐได้ขยายถนนมากขึ้น สร้างทางด่วนข้ามเมือง ถนนรอบเมือง สะพานที่มีทางเดินรถถึง ๖ ช่อง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ธนบุรี ตรงถนนสาธรและมีแผนที่จะสร้างสะพานเช่นนี้เอง ๓ แห่ง ในด้านยานพาหนะองค์การขนส่งมวลชนได้เพิ่มจำนวนรถโดยสารขึ้นเป็น ๗,๐๐๐ คัน(พ. ศ. ๒๕๒๗) และได้มีบริการรถโดยสารปรับอากาศขึ้น เพื่อดึงดูดใจให้ประชาชน ใช้รถประจำทางมากกว่ารถส่วนตัว เพื่อลดความแออัดในท้องถนน  ใน พ. ศ. ๒๕๒๒ รัฐได้พิจารณาโครงการที่จะสร้างรางรถไฟลอย  เพื่อลดความแออัดในท้องถนนเช่นกัน โครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณถึง ๑๓ พันล้านบาท ซึ่งได้เริ่มสร้างในปี ๒๕๒๙และน่าจะเปิดใช้ได้ในปี พ. ศ. ๒๕๔๗ แต่มาถึงรัฐบาลของนายกทักษิณ  ชินวัตร ก็มีโครงการจะทุกทำลายยกเลิกโครงการ

ความต้องการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ฯ เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร การเคหะแห่งชาติได้สร้างอาคารขึ้น เพื่อให้เป็นที่อยู่แก่ราษฎรที่ไม่มีบ้านอาศัยอยู่ตามเพิงชั่วคราว ภายในปี พ.  ศ. ๒๕๒๐ ได้สร้างห้องชุดไปแล้ว ๑๘,๐๐๐ ชุด และในปี พ. ศ. ๒๕๒๒ สร้างมากขึ้นอีกเป็น ๕๔,๗๘๐ ชุด ในระยะเวลา ๓ ปี คือตั้งแต่ พ. ศ. ๒๕๒๗–๒๕๒๙ จะสร้างเพิ่มขึ้นหรือซ่อมแซมของเดิมอีก  ๓๑,๓๕๐ ชุด นอกจากนี้กรุงเทพ ฯ ต้องขยายการประปาเพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนโดยเพิ่มท่อขึ้นให้สามารถส่งน้ำได้ถึง ๑.๒-๒.๒ ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังได้สร้างสวนสาธารณะและสวนหย่อมขึ้นตามที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งเปิดตลาดใหม่ขึ้น  เพื่อที่จะไม่ต้องเข้าเมืองในการซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภค

ปัญหาชุมชนแออัดในเมืองและชนบท

ชุมชนต่าง ๆ เชื่อมโยงกันด้วยระบบสื่อสารแลคมนาคม  ทำให้คนไปมาหาสู่ติดต่อกันได้อย่างใกล้ชิดและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การติดต่อกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนี้เองเป็นการกระตุ้นให้มีการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย เพื่อแสวงหาโอกาสของการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นในถิ่นอื่น  ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการอพยพจากชนบทสู่ชนบท ชนบทสู่เมือง และเมืองสู่เมือง การอพยพย้ายถิ่นทำให้การกระจายของประชากรไม่สมดุลกับทั้งยังทำให้บางชุมชนด้อยพัฒนา และในบางชุมชนมีการพัฒนามากเกินไป ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนแออัดในเมือง ได้แก่ (๑) การใช้ที่ดินไม่เหมาะสม (๒) ที่พักอาศัยไม่เพียงพอก่อให้เกิดแหล่งเสื่อมโทรม (๓) การคมนาคมและการขนส่ง (๔) อนามัยและสิ่งแวดล้อม (๕) สังคมและวัฒนธรรม รัฐจึงได้จัดให้มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้ คือ

ก.  รักษาสภาพที่ดินของเมืองให้คงไว้และแก้ไขปรับปรุงสภาพเสื่อมโทรม ทั้งทางด้านกายภาพและสังคม

ข.  ส่งเสริมทางด้านสุขภาพอนามัย ให้ประชาชนพ้นจากอันตรายของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

ค.  ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน ทางด้านที่อยู่อาศัย  สาธารณูปโภค บริการทางสังคม และวัฒนธรรมอันพึงได้รับ โดยมีแนวทางในการพัฒนาดังนี้ คือ



* รศ. ดร. งามพิศ  สัตย์สงวน , หลักมานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า ๑๖๗

*ดร. อู่แก้ว  ประกอบไวทยกิจ บีเวอร์, มนุษย์-ระบบนิเวศและสภาพนิเวศในประเทศไทย ,หน้า ๕๙

* เอกวิทย์  ณ ถลาง  ,  เรื่องเดียวกัน  , หน้า ๔ .


. การใช้ที่ดิน ได้มีการศึกษาและวางแผนการใช้ที่ดินในเมือง และได้กำหนดประเภทที่ดินไว้ ๔ ประเภทใหญ่ ๆ คือ บริเวณเพื่อการขยายตัวของเมืองและการอุตสาหกรรม บริเวณที่ควรจะสงวนรักษาไว้เพื่อการเกษตร บริเวณที่ควรจะสงวนรักษาไว้เพื่อการป้องกันสภาพสิ่งแวดล้อม และบริเวณที่ควรรักษาไว้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพของดินและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วเป็นสำคัญ  โดยจัดทำที่นครหลวงก่อนดังได้กล่าวมาแล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการวางระเบียบและโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในขั้นรายละเอียดต่อไป อีกทั้งได้เร่งรัดประกาศใช้ผังเมืองรวม จัดทำแผนและดำเนินการให้มีการกระจายตัวของอุตสาหกรรมไปยังเมืองหลักในภาคต่าง ๆ

. ด้านที่พักอาศัยและแหล่งเสื่อมโทรมรัฐมีโครงการและดำเนินการให้มีที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับที่ดินและกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดสร้างที่พักคนงาน เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งอาชีพ มีโครงการเคหะของรัฐ  พร้อมทั้งสนับสนุนการเคหะสงเคราห์ทั้งหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังได้ให้มีการปรับปรุงบ้านเรือนที่มีอยู่เดิมแต่สภาพเสื่อมโทรม สนับสนุนการวิจัยและหาวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่มีราคาถูก และให้บริการนี้แก่เอกชน เพื่อกำจัดแหล่งเสื่อมโทรม

. ด้านคมนาคมและขนส่ง ได้จัดทำผังเมืองรวม ให้ระบบการคมนาคมและการใช้ที่ดินสอดคล้องกันพร้อมกับได้พยายามจำกัดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลโดยเพิ่มภาษี และมีการควบคุมมาตรฐานของควันจากท่อไอเสียและระดับเสียง  อีกทั้งเร่งรัดการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

. ด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม ควบคุมการกำจัดสิ่งโสโครก และสนับสนุนด้านงบประมาณ ในการก่อสร้างระบบกำจัดน้ำเสียและป้องกันน้ำท่วมของเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้มีการควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ ควบคุมและกำจัดขยะมูลฝอย

. ในด้านสังคมวัฒนธรรมและศีลธรรม ได้มีการส่งเสริมบริกรรมสังคม ทางด้านการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การทำสวนหย่อม ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน เเละยังได้จัดทำแผนอนุรักษ์โบราณสถานและวัตถุทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งประชากรก็เพิ่มมากขึ้น  ทรัพยากรขาดแคลน ประชากรอยู่ในสภาพที่มีความกดดันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ศีลธรรมของประชาชนเสื่อมลงเกิดภาวะที่เรียกได้ว่าเป็น “มลพิษทางจิตใจ”  กรมการศาสนาและชมรมต่าง ๆ ของเอกชนได้จัดการอบรมเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมของประชาชน ฯลฯ

. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบุกรุกป่าไม้  เป็นปัญหาอีกประหนึ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนชนบท เนื่องจากที่ดินทำกินเสื่อมคุณภาพ ให้ผลผลิตต่ำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า เช่น การใช้ไม้ในการหุงต้ม และการใช้ทรัพยากรที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำเหมืองแร่ เพื่อป้องกันการบุกรุกป่า รัฐได้ดำเนินงานจัดตั้งโครงการขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการปรับปรุงที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อให้ชาวชนบทมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการปฏิรูปที่ดิน  จัดที่ดินทำกินให้เป็นระเบียบ จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง นิคมสหกรณ์ที่ดิน เป็นต้น อีกทั้งจัดทำนโยบายและวางแผนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ และหาสิ่งทดแทนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แนะนำให้ทำก๊าซชีวภาพในการหุงต้ม พร้อมกับควบคุมให้การศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย

. การตั้งชุมชนและที่อยู่อาศัยในชนบทเป็นไปตามธรรมชาติไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดการบริการทางสาธารณูปโภคและสาธารณสุข รัฐจึงได้จัดวางรูปแบบและแผนผังของชุมชนใหม่ขึ้น โดยการปฏิรูปที่ดินและตั้งโครงการจัดหาที่ทำกิน นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการป้องกันและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการเคหะราคาถูกในชนบทอย่างจริงจัง เช่น หาวัสดุในท้องถิ่นที่มีความคงทนแข็งแรง เพื่อลดปริมาณความต้องการและความสิ้นเปลืองของทรัพยากรธรรมชาติ

. ขาดแคลนน้ำสะอาด การขาดแคลนน้ำทำให้เกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีพ รัฐได้จัดให้มีการประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน หน่วยรักษาต้นไม้ของกรมป่าไม้ เขื่อนเพื่อพลังงานไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  ฯลฯ ตลอดจนโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการสนับสนุนด้านงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีทั่วชุมชน

. ขาดอนามัยขั้นพื้นฐาน รัฐได้แก้ปัญหานี้ โดยเร่งให้การศึกษาประชาสัมพันธ์ให้ชาวชนบทเข้าใจในเรื่องการอนามัยขั้นพื้นฐาน และเร่งรัดขยายบริการด้านอนามัยให้ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท

โดยสรุปแล้วรัฐได้ดำเนินการพัฒนาโดยมีจุดมุ่งหมายหลัก ๒ ประการ คือ  ให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อชุมชนในชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อผลเสียหายแก่สภาพแวดล้อมและให้ชุมชนในชนบทได้รับบริการสังคมขั้นพื้นฐาน ตามสิทธิที่พลเมืองของประเทศควรจะได้รับ

ปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม

สภาวะมลพิษอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในน้ำ  ดิน  หรืออากาศ  เราอาจได้รับสารมลพิษโดยตรงหรือได้รับมาเป็นทอด ๆ ตามโซ่อาหาร พิษที่ได้รับอาจจะเฉียบพลันหรือเป็นพิษเรื้อรัง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระจายและก่อผลเสียหายได้เป็นระยะไกล ๆ สารมลพิษยิ่งแพร่ไปไกลเพียงใด  ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากระบบขึ้นและจะยากต่อการแก้ไข  การสะสมสารมลพิษอาจจะกินเวลานานกว่าจะปรากฏผลเสียหาย สารมลพิษที่ปล่อยเข้าสู่สิ่งแวดล้อมในยุคนี้อาจจะเป็นผลเสียหายในรุ่นลูกหลาน ซึ่งก็อาจจะสายเกินกว่าจะตามแก้ไขได้ การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว การศึกษาอบรมให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนยังขาดวินัย การทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลเป็นไปอย่างไม่มีระเบียบ สภาพแวดล้อมทั่วไปไม่น่าดูเกิดสภาพที่กลุ่มของมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ(ผชป.) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อจะปรับปรุงศีลธรรมของประชาชนเรียกว่า “มลภาวะทางจิตใจ” หรือบางท่านเรียกสภาพที่เป็นปัญหาทางสังคมทั้งหมดนี้ว่าเป็น “มลพิษของสังคม” *

ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติและให้ประโยชน์แก่มนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทรัพยาการเหล่านี้ได้แก่ ป่าไม้  น้ำ  ดิน  อากาศ  ทุ่งหญ้า  แสงอาทิตย์  แร่ธาตุ สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ฯลฯ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มีประโยชน์และจำเป็นในการดำรงชีพ เช่น นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตพืชพันธ์ธัญญาหารและสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นอาหารของมนุษย์ เป็นต้น ประโยชน์ของป่าไม้ นอกจากจะใช้ไม้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องเรือน ภาชนะ ฯลฯ แล้ว ไม้บางชนิดยังเป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งร่มรื่น สวยงาม  ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แร่ธาตุก็เป็นประโยชน์มากมายต่อมนุษย์ เราใช้แร่ธาตุทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค  แร่ธาตุบางชนิดเป็นแหล่งให้พลังงาน ในรักษาโรค  ฯลฯ  มนุษย์ก็นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเช่นกัน  มนุษย์มีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้โลกพัฒนาทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ การที่เราสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายขึ้นมากในทุกวันนี้  ก็เพราะความสามารถของมนุษย์บางคนทำให้เรามีไฟฟ้า  รถยนต์  โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ทั้งนี้เป็นเพราะเรารู้จักใช้ทรัพยากรมนุษย์ไปในทางที่ถูกต้อง  ส่งเสริมสนับสนุนให้คนที่มีความสามารถได้ใช้ความฉลาดความสามารถของเขาได้เต็มที่ แต่บางครั้งการดำรงชีพของเราก็ขาดความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย การเอารัดเอาเปรียบและความอดอยาก  ทั้งนี้ก็เพราะเราใช้ทรัพยากรมนุษย์ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง  เมื่อคนเกิดมาทุกคนควรจะได้รับการอบรม  เลี้ยงดู ได้รับการศึกษา และได้รับการฝึกอบรมให้รู้ถึงผิดชอบชั่วดีมีงานทำเลี้ยงชีพตนเองได้ และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสุขสงบ และการที่จะเป็นเช่นนี้ได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย คือ รัฐ  เอกชน และมนุษย์ทุก ๆ คน ทั้งนี้รัฐควรจะต้องมีการจัดให้ทั่วถึง ทั้งในด้านการศึกษาอบรม และความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ ของประชากร และอาจแบ่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ออกได้เป็น ๔ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้  คือ

() ทรัพยากรที่ไม่สิ้นเปลือง (Inexhaustible  resources) หมายถึงทรัพยากรที่มีให้ใช้ได้ตลอดไป ได้แก่ แสงอาทิตย์  พลังน้ำ  พลังลม  เป็นพลังที่มีอยู่ให้เรานำมาใช้ได้ตลอดไป

() ทรัพยากรที่สร้างชดเชยใหม่ได้ (renewable  resources) ได้แก่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั้งพืชและสัตว์รวมทั้งมนุษย์  ถ้าเรารู้จักใช้ทรัพยากรชนิดนี้อย่างเหมาะสม กล่าวคือรักษาอัตราการใช้ให้พอเหมาะกับอัตราการเกิด ก็จะมีทรัพยากรประเภทนี้ให้เราได้ใช้ตลอดไป

() ทรัพยากรที่ไม่สามารถสร้างชดเชยใหม่ได้ (nonrenewable  resources) เป็นทรัพยากรประเภทที่ใช้แล้วหมดไป ได้แก่ ถ่านหิน  น้ำมัน  ก๊าซธรรมชาติ  สิ่งเหล่านี้เกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายล้านปี

() ทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (recyclable  resources) เป็นทรัพยากรประเภทที่ใช้แล้วนำผ่านกระบวนการแปรรูปให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนนำมาใช้อีก ได้แก่ แร่ธาตุ  โลหะทั้งหลาย

ปัญหาเสียงรบกวน

ในเขตเมือง ชาวเมืองจะถูกรบกวนด้วยเสียงกระดิ่งจากรถเก็บขยะทุกวัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์มักจะพบกับเสียงรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียงชักโครก  เสียงสัตว์เลี้ยง  เสียงโทรทัศน์  เสียงเด็กร้อง  เสียงเครื่องดูดฝุ่น  เสียงเครื่องซักผ้า เสียงเครื่องไดรผ้า เป็นต้น

ในที่ทำงานเราก็ต้องเจอกับเสียงรบกวนอีก เช่น เสียงเครื่องพิมพ์ดีด  เสียงเครื่องจักร อยู่ในท้องถนนระหว่างทางกลับบ้านหรือไปทำงาน เราก็พบกับเสียงรบกวนมากมายหลายประเภท  เช่น เสียงแตรรถ  เสียงท่อไอเสีย  เสียงเพลงร๊อคจากตู้เพลง  ท้ายสุดในตอนค่ำเมื่อนั่งดูโทรทัศน์ก็อาจถูกรบกวนด้วนเสียงสุนัขเห่า เสียงรถยนต์  เสียงรถไฟ  และเมื่อเราเข้านอนก็อาจจะถูกรบกวนด้วยเสียงไซเรน เสียงเครื่องบิน และเสียงจากแอร์คอนดิชั่น

ในอเมริกาได้มีการทำวิจัยพบว่า ๑๐–๑๖ ล้านคน มีปัญหาเกี่ยวกับการฟังและจำนวนนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ. ศ. ๒๕๑๔ องค์การป้องกันสภาพแวดล้อมของอเมริกาได้เสนอเรื่องต่อสภาคองเกรสของเขาว่า เสียงรบกวนต่าง ๆ นี้ได้มีผลต่อประชาชนอเมริกันประมาณ ๘๐ ล้านคน หรือประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด

เสียงรบกวนนี้ได้ถูกให้คำจำกัดความว่า คือ เสียงที่ไม่ต้องการ (Unwanted  sound) เสียงรบกวนต่าง ๆ นี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินของแต่ละบุคคล เช่น เสียงเพลงร๊อคดัง ๆ พวกคนบางกลุ่มอาจเห็นเป็นเสียงรบกวน แต่พวกแฟนเพลงอาจชอบก็ได้ อย่างไรก็ตามได้มีการจำแนก เสียงรบกวนออกเป็น ๓ ประเภท

๑. เสียงดัง(Loud  sound)

๒. เสียงที่ไม่ชวนสนุก (unpleasent  sound)

๓. เสียงที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด(sudden  sound)

ปัญหาเด็กและเยาวชนทำความผิด

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนในปี พ. ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔ บัญญัติไว้ว่า “เด็ก” หมายถึงบุคคลที่มีอายุเกินกว่า ๗ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน ๑๐ ปีบริบูรณ์ “เยาวชน” หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกินกว่า ๑๐ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ได้หมายถึงบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้กล่าวถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๗ ปีบริบูรณ์นั้น เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๓ ได้บัญญัติยกเว้นโทษไว้ว่า เด็กที่มีอายุยังไม่ถึง ๗ ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

ในปัจจุบันปัญหาที่เกิดกับเด็กและเยาวชนมีมากมาย เช่น ปัญหายาเสพติด  ปัญหาเด็กหนีโรงเรียน  การคบเพื่อน  การปรับตัว  สุขภาพอนามัย  การศึกษา ศีลธรรม และปัญหาการกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง

การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน ทางกฎหมายไม่ถือว่าเด็กและเยาวชนเป็นอาชญากรดังเช่นผู้ใหญ่ เพียงแต่ถือว่าเด็กและเยาวชนเป็นแต่เพียงผู้กระทำความผิดเท่านั้น เพราะถือว่าความผิดที่เด็กกระทำนั้นแตกต่างกับความผิดที่ผู้ใหญ่กระทำ ทั้งในแง่เจตนาและการกระทำ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กและเยาวชนมีความยั้งคิดน้อยกว่าผู้ใหญ่

การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่พบเห็นเสมอ ๆ ได้แก่

๑. การกระทำความผิดกฎหมายอาญา เช่น การทำร้ายร่างกาย  การลักทรัพย์  การเสพยาเสพติดให้โทษ  การกระทำผิดด้วยอาวุธ  วัตถุระเบิด  รวมถึงการทะเลาะวิวาทยกพวกเข้าทำร้ายกัน เป็นต้น

๒. ประพฤติผิดศีลธรรม ชอบเที่ยวเตร่ในสถานเริงรมย์  มั่วสุมเล่นการพนันตามที่ต่าง ๆ คบหาสมาคมกับบุคคลที่ประพฤติผิดศีลธรรมหรือบุคคลชั่วร้าย  แสดงกิริยาจงใจก่ออันตรายในทางศีลธรรมหรืออนามัย

๓. ปรับตัวให้เข้ากับแบบแผนทางสังคมไม่ได้  เช่น หนีโรงเรียน  หลบหนีออกจากบ้าน  ใช้วาจาหยาบคายไม่สุภาพ  ชอบเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ผิดกฎหมาย ไม่เคารพเชื่อฟังบิดามารดา เป็นต้น

สาเหตุของการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่สำคัญได้แก่

๑. สาเหตุภายในตัวผู้กระทำความผิด ได้แก่ ลักษณะอวัยวะทางร่างกายและจิตใจอันเป็นลักษณะส่วนบุคคลที่มีความบกพร่อง อันเป็นกำลังขับให้เด็กและเยาวชนประพฤติตนไม่เหมาะสมกับวัยจนเป็นเหตุให้กระทำความผิดขึ้น เช่น มีร่างกายผิดปกติแตกต่างจากบุคคลอื่น ทำให้เกิดปมด้อย และมีความวิตกกังวล จึงพยายามหาทางชดเชยด้วยวิธีการต่าง ๆ

๒. สาเหตุภายนอกตัวผู้กระทำความผิด  สาเหตุจากภายนอกตัวผู้กระทำความผิดนี้ จะพิจารณาจากฐานะความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของบุคคลอันเป็นลักษณะของสังคมว่า มีสิ่งใดในสิ่งแวดล้อมเกิดความบกพร่อง  จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชนตามมา โดยเน้นว่า สังคมที่ไม่เป็นระเบียบเป็นเหตุพื้นฐานของการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน

สภาพของสังคมที่ไม่เป็นระเบียบ(Social  Dis-organization) ได้แก่ ลักษณะดังต่อไปนี้

๒.๑. การคบเพื่อนเสเพล เนื่องจากเด็กและเยาวชนอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมไม่ดี เช่น อยู่ใกล้เเหล่งการพนัน  แหล่งเสื่อมโทรมหรือแหล่งซ่องโจร เด็กอาจถูกใช้หรือจ้างวานไปในทางทุจริตได้

๒.๒. ความยากจน  เป็นเหตุให้บิดามารดาไม่สามารถหาเงินมาจุนเจือครอบครัวในเรื่องที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายได้เพียงพอ เด็กและเยาวชนอาจจะเกิดความจำเป็นต้องออกไปหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพเองในทางที่ผิดได้

๒.๓. ความบกพร่องของครอบครัว บิดามารดาไม่สามารถดูแลได้เพียงพอ ทำให้เด็กขาดความรักความอบอุ่น เช่น ครอบครัวที่บิดามารดาแยกกันอยู่หรือหย่าร้างกัน

ปัญหาแหล่งกามารมณ์

ปัญหากามารมณ์ในแหล่งต่าง ๆ ของสังคมเมือง ได้แก่ แหล่งโสเภณี  สถานอาบอบนวด  สถานบริการต่าง ๆ ไนต์คลับ ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการมั่วสุมของพวกมิจฉาชีพและอันธพาลอาจเป็นสาเหตุของอาชญากรรม การพนัน  และยาเสพติดให้โทษ  เป็นต้น

การแก้ปัญหาสังคม

ปัญหาสังคมเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศทั่วโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เช่นเดียวกับปัญหาส่วนตัวของบุคคล กล่าวคือ ในทุกสังคมไม่ว่าสังคมที่ด้อยพัฒนาหรือสังคมชั้นสูงก็มีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าปัญหาสังคมที่ด้อยพัฒนาหรือสังคมชั้นสูงก็มีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าปัญหาสังคมไม่ได้หมดไปเองโดยไม่มีการแก้ไข ซึ่งในบางครั้งการแก้ไขอาจจะช่วยได้เพียงแค่การผ่อนจากหนังให้เป็นเบาเท่านั้นแต่ในสังคมหนึ่ง ๆ มักจะมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงเป็นการยากที่จะเเก้ปัญหาสังคมให้หมดสิ้นได้

ปัญหาวัฒนธรรมพื้นฐานกำลังเปลี่ยนไป

ในสังคมเมืองปัจจุบันนี้วัฒนธรรมพื้นฐานที่แสดงถึงความเป็นไทยหลายอย่างของไทยกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งด้านวัฒนธรรม สำหรับผู้ที่ยังต้องการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทย ในสมัยก่อนนั้นคนไทยส่วนใหญ่มีชีวิตความอยู่อย่างง่าย ๆ ตามครรลองชีวิตในระบบงานเกษตรกรรม ครั้นเมื่อความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้นมา ผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่วัตถุต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนไทยขึ้นตามลำดับ คนไทยในสมัยปัจจุบันจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น รถยนต์  โทรทัศน์  วิทยุ  โทรศัพท์  ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น  ผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้มีส่วนในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิต(atandard  of  living) ของคนไทยโดยส่วนรวมให้สูงขึ้นอันเป็นผลให้วิถีชีวิต(ways  of  life) ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะวัตถุซึ่งเป็นผลิตผลจากการอุตสาหกรรมดังกล่าวได้กลายมาเป็นเครื่องกำหนดฐานะ(Status)ของบุคคลในสังคมไปด้วย ใครใช้วัตถุที่ทันสมัยที่สุดและมีราคาแพงที่สุด บุคคลเหล่านั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคนทันสมัยและได้รับการยกย่องว่าเป็นชนชั้นสูงในสังคม ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง “วัตถุ” โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการ(ends  justify  means) คือ วิธีการจะดีหรือเลวไม่สำคัญ(ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดี) ขอให้ได้มาซึ่งวัตถุที่ตนต้องการเท่านั้น **จึงกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมทางจิตใจของคนไทยกำลัง เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้วัฒนธรรมพื้นฐานบางอย่างโดยเฉพาะวัฒนธรรมทางจิตใจของไทย เช่น ความเมตตากรุณา  ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีซึ่งกันและกัน ความสมัครสมานสามัคคี ฯลฯ ต้องสูญสิ้นไปจากสังคมไทยในที่สุด

จากการศึกษาวิจัยโดยนักสังคมวิทยาหลายท่านมักจะพบว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองมากกว่าสังคมชนบท โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขอยู่ตลอดมา

แนวทางในการแก้ปัญหาสังคม

แนวทางในการแก้ปัญหาสังคมอาจทำได้ดังต่อไปนี้

. การแก้ปัญหาแบบย่อย (Piece  Meal) การแก้ปัญหาแบบย่อยหรือระยะสั้น ได้แก่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาแบบนี้มุ่งแต่จะให้เสร็จสิ้นไปไม่มีการวางแผนมาก่อน เช่นการแก้ปัญหาความยากจนหรือความอดอยากขาดแคลน ด้วยการเอาของไปแจก เป็นต้น ปัญหาบางอย่างต้องการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น ความเดือดร้อนที่เกิดจากวาตภัยนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าโดยการนำของไปแจก เป็นต้น การแก้ปัญหาแบบนี้ถือว่า เป็นการแก้ปัญหาเพียงบางส่วน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

. การแก้ปัญหาทั้งหมด (Wholesale) การแก้ปัญหาทั้งหรือการแก้โดยมีการวางแผนมาก่อนเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว และปัญหานั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการฝึกอาชีพให้  เพื่อให้เขาสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ด้วยความรู้ความสามารถที่เขาได้รับการศึกษาหรือเรียนรู้มาแก้ไขปัญหาของตนเองโดยรัฐบาลไม่ต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา  ในที่สุดปัญหาความยากจนก็จะหมดไป

การแก้ไขปัญหาแบบทั้งหมดหรือการแก้ไขโดยการวางเเผนนี้ต้องใช้ระบบวิทยาการหลายๆ ด้าน เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสังคมให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า ความยากจนทำให้เกิดปัญหาสังคมและในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  ควรพัฒนาในแบบไทย ๆ ไม่ควรลอกเลียนต่างชาติมากเกินไป ในการแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองได้นั้น คนเราควรเริ่มประหยัดและงดใช้สินค้าฟุ่มเฟือน เพื่อความอยู่รอดของตนเองและของประเทศชาติ.*

. การวิเคราะห์ปัญหาสังคม

  .๑ ปัญหาทางการเมือง

  ปัญหาทางการเมืองมีจำนวนมากมายหลายอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว ในที่นี้จะนำเอาปัญหาคอรัปชั่นมาแสดงไว้เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ปัญหาสังคม ในการเสนอปัญหานี้และปัญหาอื่นต่อไปจะได้ใช้โครงสร้างการเสนอดังนี้

  (๑) นิยาม-ชั้นนี้จะกล่าวถึงความหมายของเรื่องราวที่จะกล่าวถึง เช่น ภายใต้หัวข้อนี้ก็จะเป็นนิยามของคอรับชั่น ซึ่งจะเป็นการตอบปัญหาว่า “คอรับชั่น คืออะไร” อันเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันก่อนที่จะพูดถึงหัวข้ออื่นต่อไป

  (๒) สาเหตุ-กล่าวถึงสาเหตุทั้งในแง่ทฤษฎีและผลจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหานั้นว่าอาจเกิดจากสาเหตุใดบ้าง หัวข้อนี้จะประมวลเหตุที่อาจเป็นที่มาของปัญหานั้นทั้งหมด

  (๓) สภาพ-เป็นการกล่าวถึงหลักการณ์ทั่วไปทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับปัญหาสังคมนั้น ๆ โดยชี้ให้เห็นสถานการณ์ที่ปัญหานั้นเกิดขึ้น การทำเช่นนี้จะทำให้เข้าใจภูมิหลังการเกิดและวิวัฒนาการของปัญหานั้นว่าเป็นอย่างไร หลักที่ยึดเป็นเกณฑ์คือ การที่บุคคลต้องมีการกระทำระหว่างกัน หรือมีสัมพันธ์กันทางสังคมเสียก่อน เเล้วปัญหาสังคมจึงจะเกิดตามมา

  (๔) ผลกระทบ-ทุกปัญหาที่จะกล่าวถึงถือว่าจะก่อผลกระทบหรือภัยอันตรายให้แก่บุคคลและความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งสิ้น ผลกระทบนี้มีอะไรบ้าง ในแต่ละปัญหาก็จะได้นำมาพรรณาไว้ภายใต้หัวข้อนี้ ผลกระทบที่จะนำมากล่าวไว้อาจเป็นทั้งสิ่งที่ได้จากการค้นคว้าวิจัย หรือจากแนวคิดทฤษฎีที่ได้มีผู้รู้คิดค้นไว้ตามหลักเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้

  (๕) แนวทางแก้ไข-ในขั้นสุดท้ายของการเสนอปัญหาแต่ละเรื่อง จะได้ประมวลแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานั้น ๆ ไว้ด้วยทุกเรื่อง แนวทางที่จะเสนอในแต่ละปัญหาจะยึดหลักเหตุผลหลักวิชาเป็นเกณฑ์



* ดร. อู่แก้ว  ประกอบไวทยกิจ  มนุษย์-ระบบนิเวศ และสภาพนิเวศในประเทศไทยหน้า ๗๐

** อานนท์  อาภาภิรม, มนุษย์กับสังคม : สังคมและวัฒนธรรมไทย,(กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๕๑๕), หน้า ๑๘๗.

* ณัจฉลดา  พิชิตบัญชาการ,”ปัญหาสังคม” ในสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเบื้องต้น, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๖ ) หน้า ๒๖๑.

 

.๒ ปัญหาคอร์รัปชั่น

  (๑) นิยามการคอรัปชั่น หมายถึง การที่ผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจขององค์การสาธารณะและเอกชนใช้หรืองดเว้นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของตน หรือพรรคพวก การกระทำเช่นนั้นมักเป็นการผิดกฏหมาย หรือหลักศีลธรรมของบ้านเมือง1จากคำจำกัดความนี้จะเห็นว่า คอรัปชั่นเป็นเรื่องของคนที่อยู่ในตำแหน่งอำนาจไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์การสาธารณะ เช่น มูลนิธิ สมาคม เป็นต้น หรือหน่วยงานของเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทร้านค้า เป็นต้น ตำแหน่งอำนาจคือ ตำแหน่งที่สามารถก่อผลกระทบต่อผู้อื่นได้มาก เช่น ตำแหน่งคุมกำลัง ตำแหน่งที่ควบคุมผลประโยชน์ขององค์กร ตำแหน่งที่ควบคุมบุคลากร ตำแหน่งที่ดูแลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นต้น ส่วนคำว่า “ผลประโยชน์” นั้นส่วนใหญ่จะหมายถึง เงินทองทรัพย์สิน หรือสิ่งอื่นที่ควรค่าเป็นเงินได้ แต่ผลประโยชน์อาจมีรูปอื่นได้ เช่น การได้อำนาจหรือรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ เป็นต้น ผลประโยชน์นี้อาจจะเป็นได้ทั้งทางตรง เช่น การใช้อำนาจหน้าที่บางอย่าง ชาวบ้านหรือบุคคลทั่วไปเล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่ผลประโยชน์นั้นตกแก่ผู้ใช้อำนาจภายหลัง ดังนี้ เป็นต้น ผลประโยชน์นี้รวมทั้งผลประโยชน์แก่ผู้ใช้อำนาจเองหรือพวกพ้อง เช่น เพื่อน ญาติ สมาชิกพรรคการเมืองเดียวกัน ข้าราชการสำนักเดียวกัน พนักงานรัฐวิสาหกิจเดียวกัน เป็นต้น

  ประการต่อมา  การคอร์รับชั่น อาจเป็นได้ทั้งการใช้อำนาจหน้าที่ เช่น จับกุมคุมขัง อนุมัติการซื้อ-ขาย อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เครื่องมือ เครื่องใช้หรือรับบุคคลเข้าทำงาน เข้าโรงเรียน หรือเลื่อนขั้น หรือเลื่อนตำแหน่ง หรือโยกย้ายไปในที่ดีกว่า เป็นต้น หรือการจงใจงดเว้นการใช้อำนาจเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนหรือพรรคพวก ซึ่งโดยอำนาจหน้าที่จะต้องใช้อยู่โดยปกติแล้ว เช่น ตำรวจจราจรไม่จับกุมปรับไหมแก่ผู้ฝ่าฝืนกฏจราจร เพราะได้ประโยชน์จากการงดเว้นอำนาจนั้น พนักงานสรรพากรจงใจละเลยไม่เรียกเก็บภาษีบางอย่างบางจำพวกหรือบางคน การไม่เรียกเก็บค่าเช่าในทรัพย์สินของทางราชการ  การไม่เรียกเก็บหรือเรียกเก็บต่ำกว่าอัตรา เรียกเก็บแต่บางส่วนค่าภาคหลวงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ดังนี้เป็นต้น  สำหรับในกรณีขององค์กรเอกชนจะเป็นการกระทำเกี่ยวกับการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควร การลักลอบใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การปลอมแปลงสินค้า การยักยอกฉ้อฉล เป็นต้น ล้วนอยู่ในข่ายที่จะเป็นการคอร์รัปชั่น ประการสุดท้าย การคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำหรือการใช้อำนาจในทางที่ผิดกฏหมาย หรือหลักศีลธรรมในกรณีที่ไม่มีกฏหมายระบุไว้ กรณีที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหากไม่เป็นการผิดกฏหมายหรือหลักศีลธรรมก็ไม่เข้าข่ายเป็นการคอร์รัปชั่น

  (๒) สาเหตุ การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้อย่างไร  การคอร์รัปชั่นอาจเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ในแง่วิชาการอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นนั้นมี ๕ ประการด้วยกัน คือ

  (๒.๑) เกิดจากความชั่วของผู้กระทำคอร์รัปชั่น พูดอย่างง่าย ๆ การคอร์รัปชั่นเกิดจากการที่มนุษย์บางคนมีความชั่วเป็นสันดาน เมื่อได้มาดำรงต่ำแหน่งแห่งอำนาจก็ได้โอกาสสนองสันดานชั่วของตน แม้จะถือว่าความชั่วของมนุษย์อาจเป็นที่มาของคอร์รัปชั่น แต่ต้องตระหนักว่ามนุษย์มิได้เป็นคนชั่วทุกคนและสาเหตุที่ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นมีอย่างอื่นอีก

  (๒.๒) การเสียระบบในสังคม สาเหตุข้อนี้หมายความว่า การคอร์รัปชั่นอาจสืบเนื่องมาจากการที่สังคมขาดระเบียบขาดบรรทัดฐานทางสังคม เกิดการขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรมหรือเกิดจากแตกแยกในระบบสังคม เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจไม่ทราบจะปฏิบัติตามบรรทัดฐานใดหรือทำการคอร์รัปชั่น เพราะขาดบรรทัดฐานทำให้ไม่มีการควบคุมทางสังคม หรือการขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม เช่น มีการทำดีทำชั่วควบคู่กันไปในสังคม ผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจจึงเลือกทำทางที่เป็นประโยชน์แก่ตน

  (๒.๓) การขัดแย้งในค่านิยม คือ สิ่งที่ถือว่ามีค่าควรเป็น ควรแสวงหา การขัดแย้งในค่านิยมคือการขัดแย้งในการที่จะถือว่าสิ่งใดมีค่าในกรณีของการคอร์รัปชั่นมักเป็นการขัดแย้งระหว่างคุณงามความดี ความซื่อสัตย์ คุณธรรม ชื่อเสียงกับความสุขทางวัตถุ การเงิน มีบ้านหลังใหญ่หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างอื่น และผู้กระทำคอร์รัปชั่นเลือกเอาทางมีเงินสะดวกสบายทางวัตถุ

  (๒.๔) พฤติกรรมเบี่ยงเบน คือการกระทำของมนุษย์ที่ไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานที่ยึดถือกันในสังคม  การคอร์รัปชั่นอาจถือเป็นการเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานได้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่สังคมเฝ้าสอนให้ผู้อื่นในสังคมพยายามสร้างตัว สร้างฐานะ แต่ขณะเดียวกันสังคมมิได้ให้วิธีการในการบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างเพียงพอ  ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอำนาจจึงต้องคอร์รัปชั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังที่สังคมปลูกฝังไว้

  (๒.๕) เรื่องของชื่อหรือมาตรฐานที่ต่างกัน สาเหตุของคอร์รัปชั่นประการสุดท้ายอาจไม่เป็นสาเหตุอย่างแท้จริง  เพราะเป็นการนำเอาข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เรียกว่าปัญหาสังคมเบี่ยงเบน หรือคอร์รัปชั่นมากล่าวไว้กล่าวคือบางทีอาจมีการถกเถียงกันได้ว่า การกระทำเช่น คอร์รัปชันเป็นปัญหาสังคม หรือเป็นการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม อาจถามได้ว่า เอามาตรฐานอะไรมาวัด มาตรฐานของใคร การคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของมนุษย์ จะดีหรือไม่เป็นเรื่องของความคิดหรือการให้ชื่อเช่นนั้นเท่านั้น การกระทำอย่างเดียวกันโดยผู้อื่นหรือในสังคมอื่นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่น

  (๓) สภาพการณ์ คอร์รัปชั่นอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การให้ค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่าบริการ(ทิป) ค่าลัดคิว เก็บราคาเกินกว่าที่ระเบียบกำหนด การนำความลับของทางราชการไปแจ้งให้พรรคพวกทราบ  อนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติ  รับสินบน  ข่มขู่  ขูดรีด ระบบอุปถัมภ์ งดเว้นไม่จับกุมผู้กระทำผิด ไม่เก็บภาษี หรือค่าภาคหลวงหรือเก็บแต่น้อยไม่ครบจำนวน แล้วเบียดบังเอาส่วนที่เหลือ เป็นต้น สภาพการณ์ทางสังคมที่ส่งเสริม หรือเอื้ออำนวยต่อการคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่สังคมขาดระเบียบ  หรือมีระเบียบแต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดรัดกุมเจ้าหน้าที่มีอำนาจมาก สามัญชนมีอำนาจน้อย สังคมด้อยพัฒนา หรือกำลังเปลี่ยนแปลงพัฒนา เป็นต้น

  (๔) ผลกระทบ การคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบทางลบแก่บุคคลและสังคม เช่น ทำให้สังคมเจริญช้า ต้องเสียเงินทอง เวลา และวัตถุมากกว่าที่ควรจะเสีย บ่อนทำลายความมั่นคง  ทำให้ผู้อื่นเสียโอกาสหรือเสียประโยชน์ ตัวผู้กระทำเสียชื่อเสียงเกียรติยศ  เป็นต้น แต่การคอร์รัปชั่นอาจมีผลทางบวกได้เหมือนกัน เช่น เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้อยู่ในอำนาจคิดหาช่องทางที่จะทำโครงการใช้เงินขยายสำนักงาน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาสังคม เพื่อตนจะได้เบียดบังเอาประโยชน์ เป็นต้น คือ การคอร์รัปชันเป็นเครื่องกระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น หรือกระตุ้นให้ผู้เสียประโยชน์มีความระมัดระวังรักษาสิทธิและโอกาสของตนเองมากขึ้น เป็นต้น

  (๕) แนวทางแก้ไข อาจทำได้หลายทางด้วยกัน กล่าวโดยสังเขปอาจแก้ไขได้ดังนี้

  (๕.๑) อบรมขัดเกลาข้าราชการหรือผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจหน้าที่ให้เป็นคนมี “คุณธรรม” ให้แสวงหาความสุขทางใจ หรือลดลัทธิวัตถุนิยมลงเสียบ้าง

  (๕.๒) ออกกฏหมายเอาโทษแก่ผู้คอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง  เช่น จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

  (๕.๓) ให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้มีความรู้  ความฉลาดสูงขึ้น  จะได้ไม่เป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ

  (๕.๔) เร่งสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น มีฐานะดีขึ้น  จะได้ลดการแสวงหาประโยชน์นอกเหนือจากสิ่งที่ตนพึงได้  ความเจริญทางการเมืองจะช่วยให้ประชาชนรู้ทัน เข้ามีส่วนร่วมป้องกันและขัดขวางการคอร์รัปชั่น เป็นต้น

  (๕.๕) ให้สวัสดิการและเงินเดือนแก่ผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจ อย่างเพียงพอแก่การครองชีพตามฐานะ

  (๕.๖) อาจพิจารณาใช้ระบบหมุนเวียนเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งอำนาจอยู่เสมอ

  (๕.๗) อาจให้มีการเลือกตั้งตำแหน่งอำนาจทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนได้ควบคุมอำนาจเหล่านั้นได้มากขึ้น

  (๕.๘) ควรให้มีการแสดงทรัพย์สินก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งอำนาจทุกคน

  .๓ ปัญหาความยากจน

  (๑) นิยาม โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า ความยากจนเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีเครื่องวัดเกี่ยวกับรายได้หรือการเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามความเป็นจริง ความยากจนเป็นเครื่องวัดทางสังคมด้วยกล่าวคือ เราสามารถหาเครื่องชี้เกี่ยวกับคนและความสัมพันธ์ทางสังคมได้ด้วย เช่น สภาพจิตใจหรือปัญหาสุขภาพอนามัย หรือสาธารณสุข ระดับการศึกษา ค่านิยม  ความเชื่อ  ทัศนคติหรือท่าทีจนบางครั้งนักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่ามี “วัฒนธรรมแห่งความยากจน”(Culture of Poverty) หรือวัฒนธรรมของคนชั้นยากจนเสียด้วยซ้ำ  แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยทางเศรษฐกิจและเครื่องชี้ความยากจนทางเศรษฐกิจก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ และต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยเสมอ

  วิชาสาขาสังคมศาสตร์ที่ได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับความยากจนมามากและนาน ได้แก่ วิชาเศรษฐศาสตร์  นักเศรษฐศาสตร์ได้แยกความยากจนเป็น ๒ ระดับ หรือ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ ความยากจนอย่างที่สุด (Absolute Poverty) และความยากจนโดยเปรียบเทียบ (Relative Poverty) และได้ให้ความหมายของความยากจนประเภทแรกว่า ระดับการครองชีพที่ต่ำจนไม่สามารถจะบำรุงรักษาสุขภาพและชีวิตอยู่ได้1ซึ่งขยายความให้กว้างขวางออกไปได้ว่า คนที่เรียกได้ว่าเป็นคนจนนั้นจะต้องมีระดับการครองชีพ(วัดด้วยรายได้ หรือทรัพย์ของผู้นั้นเป็นสำคัญ) ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือรักษาสุขภาพให้แข็งแรงพอที่จะสู้การงานได้ สำหรับในสังคมไทยธนาคารโลกได้เคยกำหนดไว้ในปี ๒๕๑๐ ว่า เส้นความยากจน (Poverty Line) ของคนไทยในเมืองคือเดือนละ ๒๐๐ บาท ต่อคน2ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน(๒๕๒๔) เมื่อค่าน้ำมันแพงขึ้น สินค้าต่าง ๆ แพงขึ้น จากปี ๒๕๑๐ ก็ยิ่งจะทำให้ผู้มีรายได้เพียงเดือนละ ๒๐๐ บาทไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น เส้นของความยากจนที่สูงก็คงจะสูงขึ้น สำหรับความยากจนโดยเปรียบเทียบมีความหมายว่า ภาวะการณ์ที่สิ่งจำเป็นทางเศรษฐกิจยังมีไม่ครบหรือหายาก ดังนั้น คนจนเชิงเปรียบเทียบจึงจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นในสังคมของเขา แต่ระดับความเป็นอยู่ของเขายังไม่ถึงขั้นคุกคามต่อชีวิตหรือสุขภาพอนามัยเสียทีเดียว3กล่าวอีกนัยหนึ่งคนในจำพวกนี้คือ คนที่ไม่รวยนั้นเอง เพราะในการเปรียบเทียบเขาจะเปรียบเทียบกับคนที่มีฐานะดีกว่าเขา สำหรับในสังคมไทยในปี ๒๕๑๐ นักเศรษฐศาสตร์อ้างว่า ผู้ที่มีรายได้เดือนละ๓๓๓ บาทต่อเดือนเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์นี้คือ เป็นคนยากจนโดยเปรียบเทียบ4

  สำหรับในแง่ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้น นักวิชาการด้านนี้มีแนวโน้มที่จะหาปัจจัยทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ ความยากจนจะเป็นเรื่องสังคมแต่ละสังคมที่จะกำหนด ดังนั้นความยากจนของสังคมหนึ่งไม่อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับอีกสังคมหนึ่ง เพราะสภาพของสังคมแต่ละแห่งต่างกัน ความยากจนของคนอเมริกันอาจเป็นคนรวยของไทยก็ได้  ในทำนองเดียวกันระดับความจนในเมืองกับในชนบทก็จะต้องต่างกัน ความยากจนในทัศนะของสังคมเป็นเรื่องของการไม่สามารถบำบัดความต้องการทางร่างกายและจิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม ค่านิยม  ความเชื่อและท่าทีของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาคำนึง เครื่องชี้ความยากจนทางสังคม คือ สุขภาพอนามัยไม่เเข็งแรง มีโรคภัยไข้เจ็บ ความไม่กระฉับกระเฉง ไม่เข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคม เช่น การค้าอุตสาหกรรม การเมือง ความท้อถอย หมดอาลัยในชีวิต  การนิยมความรุนแรงในการตัดสินปัญหาอาชญากรรม ระดับการศึกษาต่ำ ความระแวงในเพื่อนบ้าน ความเชื่อถือโชคลาง เชื่อบุคคลบางคนแต่ไม่เชื่อในความพยายามของตน ดังที่ Oscar Lewis1กล่าวถึงวัฒนธรรมของคนจน หรือ Banfield2บรรยายถึงคนจนในอิตาลี เป็นต้น

  (๒) สาเหตุ ในการหาสาเหตุของความยากจนนั้นเราอาจอาศัยแนวอย่างเดียวกันที่ใช้ในการบรรยายสาเหตุของคอร์รัปชั่นนั่นเอง  ใช้หลักแนวในการเสนออย่างเดียวกัน แต่สาเหตุในรายละเอียดจะต่างกัน สาเหตุของความยากจนอาจแบ่งได้เป็น ๕ สาเหตุใหญ่ คือ

  (๒.๑) ความผิดปกติทางกายและจิตใจ เช่น ร่างกายพิการ ทุพพลภาพ ไม่แข็งแรง เจ็บป่วย หรือชราภาพ จิตพิการ จิตทราม ระดับปัญญาต่ำ โรคประสาท เป็นต้น อาจเป็นสาเหตุของความยากจนได้

  (๒.๒) การเสียระเบียบทางสังคม ทำให้เกิดความยากจนได้ เช่น การแตกแยกของครอบครัว การว่างงาน  การผละงาน  เกิดการจราจลหรือสงคราม เกิดภัยธรรมชาติ โรคระบาด  การเกิดอุบัติเหตุ การเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว เป็นต้น อาจเป็นสาเหตุของความยากจนได้

  (๒.๓) พฤติกรรมเบี่ยงเบน ความยากจนอาจเกิดจากการที่สังคมได้ให้โอกาสและวิธีการบรรลุเป้าหมาย คือ การสร้างฐานะให้พอกินพอใช้แก่คนทุกชั้นทุกกลุ่ม บุคคลที่ไม่อาจไขว่คว้าหาโอกาสได้จนเกิดความท้อแท้  ทอดอาลัยหมดความพยายามที่จะทำมาหากิน  หรือกระเสือกกระสนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตนและครอบครัว

  (๒.๔) การขัดแย้งในค่านิยม บุคคลที่มีความยากจนอาจเป็นบุคคลที่เลือกเส้นทางหาความสุขสงบทางใจ (จิตนิยม) จึงมิได้พยายามสร้างฐานะตามค่านิยมแบบวัตถุนิยม เมื่อเปรียบคนสองกลุ่มจึงได้เกิดมีคนที่ยากจน (เพราะมีเงินทองทรัพย์สินน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง)

  (๒.๕) การกำหนดมาตรฐานของสังคม บางทีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมใดสังคมหนึ่งมิได้มีความยากจนข้นแค้นอย่างที่สุดไม่ แต่เมื่อสังคมกำหนดว่า  คนที่มีรายได้หรือลักษณะบางอย่างเป็นคนยากจน คนกลุ่มนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคนยากจน

  ()สภาพการณ์ ความยากจนเป็นสิ่งที่มีมาควบคู่กับสังคม แต่ในสังคมโบราณ ปัญหานี้มักไม่มีความรุนแรง หรืออาจไม่ถือเป็นปัญหาเสียด้วยซ้ำเพราะในสมัยโน้นความแตกต่างระหว่างกันในสังคมยังมีไม่มาก บุคคลจึงไม่มีความเดือดร้อน แต่ในปัจจุบันความแตกต่างเช่นว่านั้นมีมาก ปัญหาความยากจนจึงมีอยู่ทั่วไป ทั้งในประเทศเจริญและประเทศด้อยพัฒนา  ทั้งในเมืองและในชนบท  เพราะเมืองที่มีปัญหาความยากจนเรียกว่าแหล่งเสื่อมโทรม(Slum) ความยากจนนั้นนับว่าจะทวีมากขึ้น แทนที่จะลดลงตามความเจริญทางวัตถุของโลก ทั้งนี้เพราะปัจจัยหลายอย่างส่งเสริมให้เกิดปัญหานี้

วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย

  ความยากจนเป็นความชั่วร้ายมีลักษณะเป็นวงจรเชื่อมโยงเป็นรูปวงกลมสืบเนื่องเป็นลูกโซ่ ดังนี้

ความยากจน→ความเฉื่อยชา→ความไม่รู้→ความเจ็บไข้ (แบบเวียนเป็นรูปวงกลมทางด้านซ้าย)

ความยากจน→ความเจ็บไข้→ความไม่รู้→ความเฉื่อยชา(แบบเวียนเป็นรูปวงกลมทางด้านขาว)

  ดังได้กล่าวมาแล้ว ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้งปัญหาความยากจนก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย(Vicious Circle)ซึ่งหากผู้ใดตกอยู่ในวัฏจักรนี้แล้วเป็นการยากที่จะตีฝ่าวงล้อมออกมาได้

  (๔) ผลกระทบ ความยากจนก่อผลกระทบต่อทั้งบุคคลและสังคมทั้งในแง่บวกและแง่ลบแต่ส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบในแง่ลบ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยส่วนรวมและโดยสังเขปดังนี้

  (๔.๑) ความยากจนที่ได้กำหนดระดับหรือมาตรฐานแน่นอนแล้ว จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นเส้นแบ่งระหว่างความรวยหรือความพอมีพอกิน กับความยากจน หรือใช้เป็นเครื่องแบ่งประเทศรวยและประเทศจนได้

  (๔.๒) แหล่งหรือชุมชนอันเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน เป็นเเหล่งสำหรับผู้มีใจบุญได้มีบทบาท ได้แสดงมนุษยธรรม ทำบุญทำทาน ทำให้ผู้ทำบุญทำทานเกิดความปีติใจ

  (๔.๓) ความยากจนอาจเป็นเครื่องกระตุ้นใจให้บุคคลเกิดความมุมานะทุ่มเทความพยายามเพื่อไม่ให้คนต้องตกอยู่ในภาวะอันไม่พึงปรารถนาเช่นกัน หรืออาจใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นใจลูกหลานศิษย์ให้มีมานะพยายามเพื่อจะได้หนีห่างจากภาวะความยากจน

  (๔.๔) ความยากจนอาจส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพอนามัยไม่ดี ไม่แข็งแรงอันเป็นการขัดขวางมิให้ประกอบการงาน หรือลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ซึ่งจะส่งผลให้มีสภาพยากจนลงไปอีก

  (๔.๕) ความยากจนอาจเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการศึกษาตามความสามารถที่มีอยู่ ทำให้มีการศึกษาต่ำ(ดูวัฏจักรของความชั่วร้าย) ขาดความชำนาญตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ทำให้ผู้ยากจนไม่สามารถหางานที่ดี ค่าแรงสูงทำได้ ผลตามมาอีกก็คือ คนจนต้องทำงานแบบใช้แรงงานรายได้ต่ำ เขาจึงไม่มีหรือมีลู่ทางที่จะร่ำรวยน้อย

  (๔.๖) คนจนมีแนวโน้มที่จะไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาสูง เพราะไม่เชื่อว่ากำลังการศึกษาจะช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ เขาเชื่อว่า การติดต่อกับคนจน(คนรวย คนใหญ่มีอิทธิพล)คนที่เอ็นดูเห็นใจเขา จะทำให้ชีวิตเขาสะดวกสบาย ได้งานทำมากกว่าการศึกษา(อ่านรายละเอียดในวัฒนธรรมของคนจน)

  (๔.๗) ความยากจนเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้คนจนมีความท้อแท้เพลียใจหรือเฉื่อยชา(ดูวัฏักรแห่งความชั่วร้าย) ที่เป็นดังนี้ อาจจะเป็นเพราะการที่เขาเกิดความยากจนขึ้นมา เพราะความพยายามหลายหนของเขาล้มเหลวหรือขณะที่เป็นคนยากจนเขาได้พยายามสร้างฐานะทำงานลงทุนแต่ความพยายามที่มีอยู่จำกัดและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ความพยายามของเขาล้มเหลวเขาจึงเกิดความเฉื่อยชา

  (๔.๘) สังคมที่มีคนยากจนเป็นจำนวนมาก  สังคมจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากช่วยเหลือคนเหล่านี้ ทำให้สังคมไม่สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วได้

  (๔.๙) คนจนมักมีครอบครัวใหญ่ เพราะคนจนมีโอกาสไปเปิดหูเปิดตา หรือหาความสนุกสนานนอกบ้านได้น้อย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งโลกภายนอกบ้านของคนจนไม่สดใสน่าสนุกสนานเขาจึงมักหาความสุขในบ้าน

  (๔.๑๐) ความยากจนทำให้สังคมมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยเพราะคนจนไม่สามารถมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ และคนจนไม่สามารถจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ บางทีอาจไม่สนใจใยดีต่อการเมืองของประเทศเสียเลยก็ได้1

  (๕) แนวทางจัดการกับปัญหาความยากจน แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความยากจน อาจทำได้หลายทาง กล่าวโดยสังเขปวิธีต่าง ๆ มีดังนี้

  (๕.๑) ด้านร่างกายและจิตใจ การป้องกัน หรือแก้ไขความยากจนอาจเกี่ยวข้องกับร่างกายของคนจนหรือคนที่อาจยากจนได้ต่อไป เช่น การให้สวัสดิการเกี่ยวกับอาหารการกินไม่ให้อดอยากส่งเสริมความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัย  จัดระเบียบภายในสังคมหรือชุมชนให้เรียบร้อย เพื่อให้บุคคลมีจิตใจดี  ส่งเสริมการศึกษาให้ความรู้เพื่อพัฒนาปัญญา ความสามารถ ปลูกฝังความเชื่อทัศนคติ ค่านิยมทางวัตถุนิยม ให้มุ่งความสำเร็จ ขยัน อดทน กล้าสู้กับปัญหาและอุปสรรค เป็นต้น

  (๕.๒) ด้านการจัดระเบียบสังคม สังคมหรือประเทศชาติจะต้องพยายามจัดระเบียบภายในสังคมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมีการจัดสรรมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน  สร้างกฏเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติระหว่างกันให้มากและแจ่มชัดพร้อมทั้งมีการควบคุมกันอย่างเข้มงวดให้ทุกคนอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อให้ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบของตนได้อย่างสะดวก มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเป็นกังวลหรือกลัวเกรงความไม่สงบเรียบร้อย หรือการแตกแยกไม่มั่นคงของสังคมและมีความรักและผูกพันธ์ต่อสังคม

  (๕.๓) การให้โอกาสและวิธีการบรรลุเป้าหมายที่สังคมปลูกฝังอย่างเท่าเทียมกันในขณะที่หัวข้อ(๕.๒) เป็นเรื่องการจัดระเบียบหรือความเป็นปึกแผ่นของสังคม ในข้อนี้เน้นเรื่องการให้โอกาสในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาท หรือสถานภาพให้บรรลุเป้าหมายที่สังคมปลูกฝังสมาชิกไว้ เป้าหมายที่ทุกสังคมมุ่งปลูกฝังมีหลายอย่าง  เช่น ให้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอควร เน้นให้พอมีพอกิน ประสิทธิภาพในการประกอบการงาน  มีการศึกษาสูง มีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ข้อคิดในแนวปฏิบัติ ในการทำงานส่วนรวม ตัดสินใจเพื่อส่วนรวม เป็นต้น เมื่อปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ไว้แล้ว สังคมจะต้องให้การศึกษาอย่างทั่วถึง มีบริการด้านนี้อย่างเพียงพอแก่ความต้องการของสมาชิกในสังคม  มีอาชีพการงานอย่างได้สัดส่วนกันกับจำนวนสมาชิก  มีหลักเกณฑ์ในการปันส่วนรายได้อย่างยุติธรรม ฯลฯ เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาความยากจน

  (๕.๔) การขจัดความขัดแย้งในค่านิยม เรื่องค่านิยมเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมหรือแบบแผนในการคิด การกระทำของสมาชิกในสังคม  หากสังคมมีแบบแผนในการคิดการกระทำมากมายหลายแบบ บุคคลย่อมจะเกิดความสับสนไม่ทราบจะเลือกเดินเลือกวิธีปฏิบัติทางใด  ในกรณีของความยากจน การขัดกันในระบบค่านิยมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ  ซึ่งค่านิยมมีทั้งการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของเงินทอง ความสะดวกสบายทางวัตถุ และการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของความสุขสงบทางจิตใจ สร้างความเจริญทางธรรมทางคุณธรรม เช่นนี้แล้วย่อมจะมีสมาชิกเลือกถือปฏิบัติทั้งสองแนวทางมากบ้างน้อยบ้าง กลุ่มคนที่เลือกเดินทางหลังและกลุ่มที่ไม่รู้จะเลือกทางใด  ตัดสินใจไม่ได้  ย่อมจะยากจนจึงต้องพยายามไม่ให้มีการขัดกันในค่านิยมนั้น

  (๕.๕) การพัฒนาชุมชน  แนวทางป้องกันและแก้ไขความยากจนที่มีลักษณะรวมและกว้างขวางทางหนึ่ง คือ การพัฒนาชุมชน(Community Development) ซึ่งใช้วิธีให้การศึกษาและการทำงานเป็นกลุ่มเป็นวิธีการหลักเพื่อมุ่งหมายพัฒนาทั้งคนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักประชาธิปไตย  หลักการช่วยตนเอง หลักการใช้ผู้นำท้องถิ่น หลักการรู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น หลักการประเมินผลงาน และหลักการณ์วางแผนล่วงหน้าในการดำเนินงาน รายละเอียดมีมาก ขอให้อ่านหนังสือด้านนี้โดยเฉพาะ1

  .๔ ปัญหาอาชญากรรม2

  () นิยาม อาชญากรรมเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนอย่างหนึ่ง อาชญากรรมจึงเป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม บรรทัดฐานที่หมายถึงในที่นี้คือ กฎหมายอาญา ซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า พฤติกรรมใดเป็นอาชญากรรมมีความผิดต้องได้รับโทษ กล่าวอีกนัยหนึ่งอาชญากรรมทุกอย่างนั้นเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นประเภทของพฤติกรรมที่มีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมพฤติกรรมหลายชนิดให้มาอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน

  พฤติกรรมเบี่ยงเบน(Deviant Behavilor) หมายถึง พฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานหรือความคาดหวังของสังคมใดสังคมหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น ฉ้อโกง อาชญากรรม  การติดยาเสพติด  โรคแอลกอฮอล์เรื้อรัง  ความผิดศีลธรรม ความผิดปกติทางเพศ เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้แสดงถึงพฤติกรรมของบุคคลที่ผิดแปลกไปจากพฤติกรรมอันเป็นที่ยอมรับของกลุ่มหรือสังคม  จากความหมายและตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นว่า อาชญากรรมเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนอย่างหนึ่ง

  สำหรับคำว่า อาชญากรรม(Crime) ในฐานะที่เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนอย่างหนึ่ง มีความหมายโดยเฉพาะว่า  เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาที่ผู้กระทำจะต้องถูกลงโทษตามกระบวนการควบคุมทางการของเจ้าหน้าที่แห่งรัฐ1อาชญากรรมเป็นการกระทำผิดต่อสาธารณะหรือรัฐ ดังนั้นจึงเป็นความผิดทางอาญาแตกต่างกับความผิดทางแพ่งซึ่งเป็นความผิดต่อบุคคลหรือทำให้บุคคลเกิดความเสียหาย  เช่น  ความผิดฐานทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน (หมิ่นประมาท เป็นชู้กับเมีย) ซึ่งรัฐเพียงแต่บังคับให้ขอขมาหรือชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น แต่ความผิดอาญา เช่น การปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ การจี้ปล้น การตัดช่องย่องเบา  การฆ่าคนตาย การทำลายของหลวง การบ่อนทำลายชาติ  นำความลับของทางราชการไปให้ศัตรู  การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น ไม่อาจล้างความผิดด้วยการชดใช้ค่าเสียหายได้ ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนัก (ประหารชีวิต , จำคุก , กักขัง , ปรับ , ริบทรัพย์สิน) เพราะสังคมถือว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อสวัสดิภาพของสังคม อนึ่ง ควรสังเกตว่าความผิดอาญานั้น แม้ไม่ได้ก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น การเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การค้าประเวณี เป็นต้น ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเสียหาย  ผู้กระทำเกิดความเสียหายเอง  แต่ก็เป็นความผิดและความผิดอาญานั้นให้รวมถึงการงดเว้นการกระทำที่กฎหมายระบุให้ทำด้วย  เช่น การไม่เป็นทหาร การไม่เสียภาษีหรือค่าภาคหลวง  เป็นต้น

  กล่าวโดยสรุป  อาชญากรรมหมายถึง  พฤติกรรมเบี่ยงเบนที่สังคมถือเป็นความผิดที่จะต้องถูกลงโทษโดยสถานใดสถานหนึ่งเมื่อได้มีการพิสูจน่ว่าได้กระทำผิดจริง

  (๒) สาเหตุ อาศัยรูปแบบที่ได้เสนอไปตอนที่กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชั่นและปัญหาความยากจน เราอาจกล่าวได้ว่า อาชญากรรมมีสาเหตุที่สำคัญ ๕ ประการ ดังต่อไปนี้

  (๒.๑) ความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ  สาเหตุของอาชญากรรมอย่างหนึ่งคือ การที่บุคคลมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ความบกพร่องทางร่างกาย เช่น รูปร่างหน้าตา  แขนขา  ศีรษะ  ไม่สมประกอบหรอืได้สัดส่วนกับร่างกาย มีร่างกายพิกลพิการ เป็นต้น อาจส่งผลผลักดันให้บุคคลประกอบอาชญากรรมต่าง ๆ ได้  ทั้งนี้เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจจากผู้อื่น  หรือถูกดูถูกเหยียดหยามเยาะเย้ย  อันเป็นเหตุให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือต้องการเรียกร้องความสนใจหรือทำอาชกรรมเป็นการพิสูจน์ความสามารถ แสดงความแก้แค้น เป็นต้น บางทีการกระทำอาชกรรมก็เกิดจากความบกพร่องทางจิตใจ สติปัญญา  เช่น คนปัญญาอ่อน คนปัญญาทราม คนที่มีนิสัยก้าวร้าวดุดัน เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้นักอาชญาวิทยารุ่นแรก ๆ เช่น Cesare Lombroso เชื่อถือมาก ปัจจุบันแม้ความเชื่อเหล่านี้จะถูกหักล้างขาดอิทธิพลไปมาก แต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นสาเหตุของอาชญากรรมได้ทางหนึ่ง

  (๒.๒) การเสียระเบียบทางสังคม  ที่มาอีกอย่างหนึ่งของอาชญากรรม คือ การที่สังคมขาดระเบียบ  ขาดบรรทัดฐาน  มีการขัดกันในเชิงวัฒนธรรม สังคมมีความวุ่นวายสับสนและท้ายที่สุดเกิดการเสื่อมโทรมหรือการทำลายของสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาชญากรรมได้มากเพราะการขาดระเบียบหรือบรรทัดฐานทำให้บุคคลไม่ทราบจะยึดถือเเนวปฏิบัติอย่างไร ผู้ที่เข้มแข็งกว่าฉลาดกว่าอาจฉวยโอกาสกระทำผิด  ผู้มักง่ายใจชั่วอาจหยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของผู้อื่น เพราะในช่วงนี้จะไม่มีการควบคุมทางสังคมหรือมีการควบคุมแต่ไม่เข้มแข็งรัดกุม การขัดแย้งเชิงวัฒนธรรมทำให้มีแนวทางในการประพฤติปฏิบัติได้หลายทาง  บุคคลจึงอาจดำเนินชีวิตประกอบอาชีพตามปกติได้ บุคคลอาจไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า การประกอบอาชญากรรม ดังนี้เป็นต้น

  (๒.๓) การขัดแย้งในค่านิยม อาจนับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการประกอบอาชญากรรมขึ้น การขัดกันในค่านิยมหมายความว่า บุคคลในแต่ละกลุ่มแต่ละสังคมต่างมุ่งหมายในสิ่งที่มีค่าซึ่งมีอยู่จำกัดอย่างเดียวกัน  ดังนั้นจึงต้องแข่งขันต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงสิ่งที่มีค่านี้เป็นของตน การขัดแย้งในคุณค่าจึงอาจเป็นที่มาที่สำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาอาชญากรรม  เพราะของมีค่ามีอยู่จำกัดแต่ผู้ต้องการอยากได้มีมาก ดังนั้น เมื่อ

 

  (๒.๓) การขัดแย้งในค่านิยม อาจนับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการประกอบอาชญากรรมขึ้น การขัดกันในค่านิยมหมายความว่า บุคคลในแต่ละกลุ่มแต่ละสังคมต่างมุ่งหมายในสิ่งที่มีค่าซึ่งมีอยู่จำกัดอย่างเดียวกัน  ดังนั้นจึงต้องแข่งขันต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงสิ่งที่มีค่านี้เป็นของตน การขัดแย้งในคุณค่าจึงอาจเป็นที่มาที่สำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาอาชญากรรม  เพราะของมีค่ามีอยู่จำกัดแต่ผู้ต้องการอยากได้มีมาก ดังนั้น เมื่อมีความต้องการรุนแรงและไม่มีทางที่ชอบธรรมจะได้มาซึ้งสิ่งที่ตนต้องการ ก็ต้องหันเข้าหาทางที่มิชอบ คือ ลักเอา ฉ้อโกง  ช่วงชิงเอาซึ่งหน้า  ปล้นเอา ฯลฯ เหล่านี้คือการประอาชญากรรม

  (๒.๔) พฤติกรรมเบี่ยงเบน เนื่องจากอาชญากรรมเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนอย่างหนึ่ง ดังนั้นคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนจึงอาจนำมาใช้กับอาชญากรรมได้ในแง่นี้ อาชญากรรมเกิดจากการที่สังคมไม่สามารถจะให้วิธีการอันชอบธรรมในการบรรลุเป้าหมายที่สังคมเฝ้าสอนสมาชิกให้ มุ่งประสงค์ได้อย่างเพียงพอ เช่น สังคมต้องการให้ทุกคนมีการศึกษาดี  มีเงิน มีเกียรติ แต่สังคมไม่สามารถสร้างสถานศึกษา  อุปกรณ์และครูให้เพียงพอกับจำนวน ผู้มีความต้องการเรียนได้ บุคคลจึงต้องช่วยตัวเอง  การช่วยตัวเองในกรณีนี้ คือ การโกงในการสอน ติดสินบน รับสินบน  ซึ่งเป็นอาชญากรรม หรือเพื่อให้มีเงินตามที่สังคมคาดหวัง  แต่สังคมไม่สามารถจะหาอาชีพที่มีรายได้ดี ให้แก่พลเมืองทุกคนได้  บางคนจึงได้จี้ปล้น ฉกชิงวิ่งราวเขา ดังนี้เป็นต้น

  (๒.๕) การให้ชื่อการกระทำเป็นอาชญากรรม ตามแนวความคิดนี้ อาชญากรรมคือการกระทำทั่ง ๆ ไปนั้นเอง แต่เมื่อกฏหมายกำหนดว่า การกระทำนั้น ๆ เป็นอาชญากรรม เป็นการกระทำผิดการกระทำเช่นนั้นก็เป็น อาชญากรรม เช่น การฆ่าคนตาย หากเป็นการที่ทหารฆ่าศัตรูของประเทศ  ตำรวจฆ่าผู้ร้ายฉกรรจ์  นักมวยชกคู่ต่อสู้ตายคาเวที  การฆ่าคนตายเช่นนี้มิได้เป็นความผิด ไม่ผิดกฎหมายอาญา  การที่เด็กลักสตางค์พ่อแม่ สามีลักสตางค์ภรรยา การเล่นไพ่ระหว่างเพื่อนฝูง(ไม่เอาสตางค์) ก็ไม่ถือเป็นอาชญากรรม แต่การกระทำอย่างเดียกันนั้นในบางสังคมกฎหมายกำหนดว่าเป็นอาชญากรรม  ข้อนี้จึงอยู่ที่การกำหนดของกฎหมายหรือของสังคมว่าการกระทำใดเป็นอาชญากรรม

  (๓) สภาพการณ์  การศึกษาเรื่องอาชญากรรมได้ทำมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นสาขาวิชาที่สำคัญของสังคมวิทยาเรียกว่า อาชญาวิทยา (Criminology) หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของวิชาเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งหลายคือการจัดหมวดหมู่เรื่องราวที่ตนศึกษาในกรณีนี้ นักอาชญาวิทยาก็ได้พยายาม จัดหมวดหมู่อาชญากรรมประเภทต่าง ๆ เช่น บางท่าน1แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ อาชญากรรมเป็นครั้งคราว(ประกอบอาชญากรรมเมื่อโอกาสอำนวย) และอาชญากรรมเป็นนิสัย(ประกอบอาชญากรรมเป็นประจำไม่มีโอกาสก็สร้างโอกาสขึ้นมา) เคยแบ่งอาชญากรรมเป็นประเภท คนบ้า อาชญากรรมเนื่องจากความผูกพันทางอารมณ์และอาชญากรรมเป็นครั้งคราว เป็นต้น ถัดมามีการแบ่งอาชญากรรมออกเป็น ๓ ประเภทคือ (๑) อาชญากรรมต่อทรัพย์สิน (๒) อาชญากรรมต่อบุคคล และ (๓) อาชญากรรมต่อส่วนรวมและต่อศีลธรรม2อาจารย์สุพัตรา  สุภาพ แบ่งอาชญากร ๖ ประเภท คือ (๑) อาชญากรเป็นครั้งคราว (๒) อาชญากรเป็นนิสัย (๓) อาชญากรคอเชิ้ตขาว (๔) อาชญากรอาชีพ (๕) อาชญากรจิตผิดปกติ และ (๖) องค์กรอาชญากร(Organised Crime) ซึ่งเป็นอาชญากรโดยกลุ่มคนที่มีการจัดระเบียบภายในกลุ่มอย่างเรียบร้อยมีแผนงานมีการแบ่งงานระหว่างสมาชิกเป็นต้น3แต่นักอาชญาวิทยาสมัยใหม่ได้พยายามปรับปรุงแนวการจัดประเภทอาชญากรรมให้ดีขึ้น โดยได้นำเอาแง่คิดทางกฎหมาย แนวการดำเนินชีวิตของผู้กระทำผิด การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนของกลุ่ม และปฏิกิริยาของสังคม เป็นต้น เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย นักอาชญาวิทยาสมัยใหม่รายหนึ่งได้แบ่งอาชญากรออกเป็น ๙ ประเภท คือ

(๑) อาชญากรรมต่อบุคคลอย่างรุนแรง

(๒) อาชญากรรมต่อทรัพย์สินเป็นครั้งคราว

(๓) อาชญากรรมต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสาธารณะ

(๔) อาชญากรรมตามประเพณี

(๕) อาชญากรรมทางการเมือง

(๖) อาชญากรรมทางอาชีพ

(๗) อาชญากรรมเป็นกลุ่ม

(๘) อาชญากรรมที่มีการจัดระเบียบ และ

(๙) อาชญากรรมอาชีพ 

อย่างไรก็ดี  การแบ่งประเภทเหล่านี้ยังไม่เป็นที่พอใจของนักวิชาการจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป เพราะประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ช่วยให้เข้าใจเรื่องอาชญกรรมอย่างแจ่มแจ้ง และยังไม่สามารถรวมอาชญากรรมทุกอย่างไว้ทั้งหมด กระนั้นก็ดี การสามารถแบ่งประเภทของอาชญากรรมได้ ๙ ประเภท ก็นับได้ว่าวิชาการสาขานี้ได้ก้าวหน้าไปพอควร

  ปัญหาที่เราศึกษาต่อไปคือ เท่าที่ได้มีการศึกษากันมาแล้ว อาชญากรรมเกี่ยวข้องกับปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานพอจะยืนยันได้ ดังนี้

  (๓.๑) ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ อาชญากรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับอายุในแง่ที่ว่าผู้ประกอบอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่าผู้มีอายุมาก จากสถิติของอเมริกา ผู้กระทำผิดอาญาส่วนใหญ่อยู่ในวัย ๑๖–๒๔ ปี กระนั้นก็ดีอายุของผู้กระทำผิดจะผันแปรไปตามประเภทของอาชญากรรม เพศ  และปัจจัยอื่นด้วย เช่น คนอายุ ๑๕–๑๙ ปี มักจะทำผิดลักขโมยรถยนต์และตัดช่องย่องเบา ส่วนการฆาตรกรรม  การฉ้อฉล การพนัน มักเป็นเรื่องของคนที่มีอายุมากขึ้น

  (๓.๒) ปัจจัยเกี่ยวกับเพศ ปรากฏตามสถิติแหล่งเดียวกันที่เพิ่งอ้างมาและคิดว่าคงจะได้ใช้เป็นหลักกว้าง ๆ ใช้กับสังคมทั่วไปได้ด้วย คือ ชายมักทำผิดมากกว่าหญิง โดยแยกเอาความผิดที่เป็นของหญิงโดยเฉพาะ เช่น การค้าประเวณี การทำแท้ง เป็นต้น ออกเสีย  หลักฐานแหล่งเดียวกันยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ยิ่งบทบาทของหญิงและชายเพิ่มความเหมือนกันมากขึ้นเท่าไร  อัตราการทำผิดอาชญากรรมระหว่างชายกับหญิงก็ใกล้เคียงกันมากขึ้นเท่านั้น แนวโน้มในปัจจุบันจึงเป็นไปในทิศทางที่ว่า อัตราการกระทำผิดอาญาระหว่างหญิงกับชายจะเท่าเทียมกันมากขึ้น

  (๓.๓) แหล่งกำเนิดของผู้กระทำผิด  อาศัยข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ทำให้เราได้ข้อคิดเพิ่มเติมว่าพลเมืองดั้งเดิมมีอัตราการทำผิดมากกว่าผู้มีต้นกำเนิดในต่างประเทศ (ผู้อพยพ) ซึ่งความเชื่อสมัยก่อนเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ เชื่อว่าพวกที่อพยพมาจากประเทศอื่น มาตั้งรกรากในประเทศใหม่มักมีอัตราการประกอบอาชญากรรมสูงกว่า  ประเภทของอาชญากรรมที่ตนอพยพมักประกอบนั้นจะเหมือนหรือคล้ายกับที่มักประกอบในถิ่นกำเนิด เช่น มักอิตาเลียนในอเมริกา มักประกอบอาชญากรรม ประเภทฆาตรกรรมเช่นเดียวกัน อิตาเลียนในประเทศอิตาเลียน ทำนองเดียวกันพวกไอริชมักชอบเมาเหล้าเปะปะตามท้องถิ่นเช่นเดียวกับพรรคพวกในประเทศไอร์แลนด์

  (๓.๔) ปัจจัยเกี่ยวกับภูมิภาค ขนาดและที่ตั้งของชุมชนมีส่วนเกี่ยวพันกับอัตราการประกอบอาชญากรรมเหมือนกัน กล่าวคือ ชุมชนขนาดใหญ่และชุมชนเมืองมักมีอัตราอาชญากรรมสูงกว่าชุมชนขนาดเล็กและชุมชนชนบท นอกจากนั้นแหล่งข้อมูลเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า  สำหรับในสหรัฐนั้นปรากฏว่า  ภูมิภาคแถบนิวอิงแลนด์ (รัฐต่าง ๆ ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก คนส่วนใหญ่อพยพมาจากอังกฤษและประเทศยุโรปอื่น ๆ บ้าง) มีชื่อเสียง (หรือชื่อเสีย) ทางอาชญากรรมประเภทฆาตรกรรม การบังคับข่มขืน  การปล้น  การจู่โจมอย่างรุนแรง ตัดช่องย่องเบา  ลักขโมย และการลักลอบ (เข้าไปตัดไม้พืชผัก หรือเข้าไปทำกินในที่สาธารณะเขตหวงห้ามของทางราชการ)

  (๓.๕) ปัจจัยเกี่ยวกับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม แหล่งข้อมูลแห่งเดียวกันยืนยันด้วยว่า ผู้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ (วัดจากรายได้ การศึกษา อาชีพ) มักละเมิดกฎหมายอาญามากกว่าผู้มีสถานภาพเช่นว่านั้นสูงกว่า แต่ก็ต้องตระหนักว่าคนส่วนใหญ่ของชนชั้นต่ำหรือชั้นล่าง(Lower Class) ไม่ได้เป็นอาชญากร และอาชญากรรมเฉพาะอย่าง เช่น อาชญากรรมที่เรียกว่า คอเชิ้ตขาว หรืออาชญากรรมผู้ดี (White Collar Crime) มักเป็นฝีมือของคนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมสูง อย่างไรก็ดี  ความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมและระดับชนชั้นของเรื่องซับซ้อน ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างเดียวคงใช้คำอธิบายไม่ได้พอ

  (๓.๖) ปัจจัยอื่น ๆ 1เช่น เชื้อชาติ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติ  อาจเป็นสิ่งซึ่งผลักดันให้บุคคลต้องทำอาชญากรรมบ้างก็ได้ เช่น ในอเมริการ ปรากฏว่าอเมริกันดำ (นิโกรอเมริกัน) มักมีอัตราประกอบอาชญากรรมสูงกว่าคนอเมริกันขาว ดังนี้เป็นต้น

  () ผลกระทบ  อาชญากรรมส่งผลกระทบทั้งบุคคลและสังคม ก่อผลทั้งทางบวกและทางลบ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทางลบอย่างที่เข้าใจกัน พอสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

  (.) อาชญากรรมที่ชัดเเจ้งอาจใช้เป็นแบบอย่างของความชั่ว ความไม่ถูกต้องหรือความล้มเหลวของบุคคล เป็นสิ่งไม่ดีไม่งาม คนดีจึงไม่ควรเอาอย่าง

  (.) อาชญากรรมสูง อาจใช้เป็นสัญญาณหรือลักษณะของความล้มเหลวในสังคม สังคมควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสังคมให้ดีขึ้น เพื่อความสุขสงบของสังคม

  (.) ผลทางบวกอีกประการหนึ่ง ทำให้กลุ่มต่อต้านสามารถรวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการป้องกัน หรือขจัดปัญหาอาชญากรรมให้หมดไป  หรือให้อัตราการกระทำแบบนี้ลดลง

  (.) ผลร้ายต่อบุคคลประการหนึ่ง คือ อาชญากรรมทำให้ผู้ถูกกระทำเสียหาย ทั้งในแง่ทรัพย์สิน เงินทอง  ชื่อเสียง  จิตใจและร่างกาย

  (.) อาชญากรรมบางอย่าง เช่น  การจี้ปล้น  การฆาตกรรม  หากทำบ่อย ๆ จะทำให้ผู้กระทำมีจิตใจดุร้าย ก้าวร้าว  เหี้ยมโหดมากยิ่งขึ้น

  (.) อาชญากรรมที่ทำซ้ำซากอาจทำให้ผู้กระทำเกิดเป็นนิสัยชั่ว ไม่พยายามหาทางแก้ปัญหามในทางที่ถูกทำนองคลองธรรม เช่น การลักขโมย  จี้ปล้น  ตัดช่องย่องเบา

  (.) การมีอาชกรรมและอาชญากรในสังคม  โดยไม่ได้ทำการปราบปรามให้หมดไปทำให้อาชญากรยังลอยนวลอยู่ได้  อาจเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติถูกทำนองคลองธรรมเสียกำลังใจไม่อยากทำดีต่อไปอีก

  (.) สำหรับในสังคมสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางสื่อสารมวลชน ข่าวคราวเกี่ยวกับอาชญากรรม  อาจเป็นแบบให้ผู้อื่นใช้เป็นแบบอย่างได้ ทำให้เป็นการส่งเสริมอาชญากรรมได้ทางหนึ่ง

  (.) สังคมต้องเสียงบประมาณค่าใช้จาย ค่าจ้างเจ้าหน้าที่และเสียเวลาเป็นจำนวนมากในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

  (.๑๐) อาชญากรรมอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมให้เจริญก้าวหน้า เพราะสังคมต้องใช้งบประมาณ คน  และเวลาไปในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมหรือ อาชญากรรมบางอย่างคอยขัดขวาง  ทำลายความพยายามพัฒนาหรือทำลายสิ่งที่ได้สร้างขึ้นแล้ว  เป็นต้น

  () แนวทางแก้ไข  แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอาจทำได้หลายวิธี ซึ่งกล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้

  (.) ด้านความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้นคือ การบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการป้องกันหรือแก้ไขอาชญากรรมก็ควรต้องเริ่มด้วยการป้องกันหรือแก้ไขสาเหตุ ซึ่งอาจทำได้หลายอย่างอีกเช่นกัน  อาทิ การให้การศึกษาและอบรมให้ผู้มีความบกพร่องเหล่านี้เตรียมรับสภาพความเป็นจริง และหาทางออกที่ดีล่วงหน้าไว้ เช่น เวลาไม่มีผู้ใดสนใจหรือเอาใจใส่ก็อาจทำงานหรือพักผ่อนใจตามลำพัง หรือพาคนพิการด้วยกันมาเป็นเพื่อน การให้การศึกษาวิชาชีพที่คนเหล่านี้พอทำได้เพื่อให้เกิดความพอใจรักงานของตน  รวมทั้งการชี้ให้เห็นความสามารถพิเศษของตน ซึ่งทุกคนมักจะต้องมีแต่ผู้อื่นไม่เห็น และการชี้ให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่เป็นของมีค่าแต่จะมีค่าขึ้นหากได้ประกอบคุณงามความดีอีกประการหนึ่ง ควรชี้ให้บุคคลเหล่านี้ได้ประจักษ์ว่า บุคคลแต่ละคนมีลักษณะต่างกันออกไป  บุคคลเลือกบุคลิกเองไม่ได้ เลือกเกิดไม่ได้ ทุกคนจึงต้องยอมรับสภาพและพยายามปรับปรุงบุคลิกของตนให้ดีที่สุด ดำรงชีวิตด้วยการทำดีให้มากที่สุด เป็นสิ่งที่มีคุณค่าของมนุษย์หรืออีกอย่างหนึ่งค่าของคนอยู่ที่ใจมากกว่ากาย (แน่นอนจะเป็นบางกรณีที่แก้ไขหรือป้องกันไม่ได้ซึ่งสังคมก็ต้องยอมรับ)

  นอกจากนั้นความต้องให้การศึกษาอบรมแก่บุคคลที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับผู้บกพร่องเหล่านี้และบุคคลทั่วไปด้วย ให้รู้จักและเข้าใจผู้บกพร่องเหล่านี้  ซึ่งควรให้ความรักความเห็นใจ เพราะพวกเขาอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ควรรู้ว่าเขามีปมด้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  การติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้จึงต้องระมัดระวังต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ  เพื่อป้องกันอาชญากรรมและลดปัญหาอาชญากรรมลง

  (.) ด้านการเสียระเบียบทางสังคม การป้องกันหรือแก้ไขอาชญากรรมอีกทางหนึ่งคือการสร้างความเป็นระเบียบในสังคม  เพราะการเสียระเบียบจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งในการทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น  เรื่องการจัดระเบียบทางสังคมได้กล่าวมาแล้วโดยละเอียด จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีกเพียงขอย้ำว่า หากมีอัตราอาชญากรรมสูงขึ้นในสังคมแล้ว สังคมควรต้องตระหนักได้ว่าถึงแล้วที่ควรจะต้องย้ำเรื่องระเบียบวินัยหรือควรต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบเก่าเสียบ้าง  การทำเช่นนี้อาจเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ทางหนึ่ง

  (.) การขัดแย้งในค่านิยม  อีกทางหนึ่งในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอาชญากรรมคือการลดหรือขจัดความขัดแย้งในระบบคุณค่าหรือค่านิยมและอาจเลยไปถึงอุดมการณ์ด้วย การลดหรือขจัดความขัดแย้งในคุณค่าอาจทำได้โดยการเสียสละของ  ผู้ที่มีสิ่งมีค่าอยู่มากแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นบ้าง ลดความอยาก ตัณหาลงบ้างและการไม่ใฝ่ฝันหรือทะเยอทะยานอยากได้สิ่งมีค่า เช่น เงิน ทอง  อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติยศ แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ยาก บางทีจึงต้องมีการปฏิวัติ  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงหักโค่นและรวดเร็ว ดังนั้นหากบุคคลต้องการป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้เกิดความรุนแรงอาชญากรรม  หรือเพียงให้อาชญากรรมลดลงจึงต้องพยายามและอดทนดำเนินการตามแนวนี้ ซึ่งจะเป็นทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญได้ทางหนึ่ง

  (.) พฤติกรรมเบี่ยงเบน อาศัยแนวความคิดเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบน  เราอาจหาทางแก้หรือป้องกันอาชญากรรมได้อีกทางหนึ่ง  ทางนี้ก็คือการที่สังคมจะต้องหาทางไม่ให้มีการเอาแบบเอาอย่างกันในเรื่องอาชญากรรมและการที่สังคมจะต้องให้วิธีการบรรลุถึงเป้าหมายซึ่งสังคมปลูกฝังไว้ให้แก่สมาชิกของสังคมอย่างเพียงพอ  ในส่วนแรกอาจทำได้โดยการงดเว้นการแพร่ข่าวอาชญากรรมโดยเฉพาะที่รุนแรง โหดร้าย  วิธีการแพร่ข่าวนี้มีทั้งผ่านสื่อมวลชน (หนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือประเภทอื่น) ภาพยนต์และการบอกกล่าวกันต่อ ๆ ไปด้วยวาจา  รัฐจะต้องห้ามการเสนอข่าวประเภทนี้หรืออย่างน้อยที่สุดให้งดเว้นการเสนอรายละเอียดของอาชญากรรม อีกทางหนึ่งคือ  การพยายามแยกไม่ให้อาชญากรได้มีโอกาสสัมพันธ์กับคนดีโดยทั่วไป เพื่อไม่ให้ผู้อื่นมีโอกาสลอกเลียนแบบจากอาชญากรและกลายเป็นอาชญากรในโอกาสต่อมา  ในส่วนหลังอาจทำได้โดยการวางแผนและการลงทุนของรัฐ การวางแผนในที่นี้ให้รวมถึงการคัดเลือกอุดมการณ์  ระบบค่านิยม จำนวนค่านิยมที่จะปลูกฝังให้กับประชาชน  ตลอดจนปริมาณความต้องการในการสนองความต้องการของสังคมให้สอดคล้องกัน  แล้วทุ่มเททุนรอนไปในการดำเนินการตามแผนนั้น

  (.) เกี่ยวกับการกำหนดความหมายของอาชญากรรม เราได้ทราบมาแล้วว่า อาชญากรรมมีสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งมาจากการที่สังคมกำหนดว่า การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอาชญากรรม  ดังนั้นทางแก้หรือป้องกันปัญหามีอีกทางหนึ่งได้แก่  การเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความเกี่ยวกับอาชญากรรมเสียโดยให้สังคมถือว่าการกระทำที่เรียกว่าอาชญากรรมเป็นการกระทำปกติธรรมดา  ผลของการทำเช่นนี้จะทำให้บุคคลที่เรียกว่าอาชญากรรมไม่รู้สึกว่าตนผิดแปลกจากผู้อื่น ไม่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ  ไม่ถูกผู้อื่นรังเกียจ  ทำให้มีโอกาสกลับตัวมาเป็นคนดี กระทำดีอย่างปกติได้ง่ายขึ้น  ความจริงการกระทำที่เรียกว่าอาชญากรรมนั้นก็ยังอยู่แต่ไม่เรียกว่าเป็นอาชญากรรม เป็นการกระทำโดยทั่วไป  เมื่อการกระทำใดก่อความเสียหายต่อส่วนรวมต่อผู้อื่นหรือต่อตนเองผู้กระทำควรสำนึกผิดและไม่ทำซ้ำอีก  ในแง่นี้สังคมมีหน้าที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่สมาชิกของสังคม ป้องกันมิให้บุคคลกระทำความเสียหายขึ้น  หากมีการกระทำที่เกิดความเสียหายขึ้นก็อาจมีการตักเตือนอบรมแล้วให้กลับไป  หากมีการกระทำความเสียหายซ้ำอีกอาจต้องมีการกักสถานที่  โดยให้อยู่กับผู้มีหน้าที่อบรมสั่งสอนชั่วเวลาหนึ่งแล้วให้กลับออกไปใหม่  หากยังคงทำความเสียหายซ้ำอีกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็จะต้องกำจัดเสียจากสังคม

  เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดคงจะทำให้พอเข้าใจเนื้อหาของปัญหาทั่วไปของสังคมโดยเฉพาะบางอย่างพอสังเขป และแนวในการวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้  พอที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด

สรุป

  ปัญหาสังคม  เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในทุกสังคม  แต่ละสังคมอาจมีปัญหาไม่เหมือนกัน  เพราะพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองแตกต่างกัน  ในสังคมไทยมีปัญหาที่สำคัญ ๆ เกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว และก็ยังมีอีกหลายปัญหา ที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งควรจะได้ให้ความสนใจเช่นกัน  เช่น  ปัญหาความเสื่อมทางศีลธรรม  ปัญหาอบายมุข  ฯลฯ  ปัญหาเหล่านี้ถ้าได้มีการศึกษาวิจัยหาที่มาแห่งปัญหา และได้ร่วมมือช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเอาจริงก็จะลดลงหรือหมดไปได้  อันจะยังผลให้ประชาชนชาวไทย ได้มีการอยู่ดีกินดี  มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข.

  ประวัติผู้รวบรวมและเขียน

ชื่อสกุล    นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี



1 Encyclopedia of Socilology

2 ุพัตรา  สุภาพ . ปัญหาสังคม. (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๒๑) หน้า ๑๐๒–๑๐๓

3 Encyclopedia of Sociology.

1 อ่านเพิ่มเติมใน สัญญา  สัญญาวิวัฒน์. หลักสังคมวิทยา.

อาจารย์พัชรี ดินฟ้า

เรียน คุณธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี ขออนุญาตใช้เนื้อหาเรื่องปัญหาสังคมทำตำราและขอผลงานวิชาการนะคะ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากท่าน และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท