มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

ปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นพระนิพพาน


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

ปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นพระนิพพาน

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นพระนิพพาน

ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมอันลุ่มลึกละเอียดอ่อน เป็นธรรมชาติที่ทำ

ความเข้าใจได้ยาก มีพระสูตรอยู่ตอนหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลพระเจ้าว่า  ปฏิจจสมุปบาทเป็นของตื้น พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมมุปบาทเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ดังมีใจความอยู่ในพระสูตรว่า

  “พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “น่าอัศจรรย์พระเจาข้า ! ไม่เคยมีแล้วพระเจ้าข้า ! ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ปฏิจจสมุปบาทนี้ เขาร่ำลือกันว่า เป็นธรรมลึกด้วย. ดูท่าทางราวกะว่า เป็นธรรมลึกด้วย แต่ปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับเป็นธรรมตื้น ๆ;

  “ดูก่อนอานนท์ ! อย่ากล่าวอย่างนั้น. ดูก่อนอานนท์ ! อย่ากล่าวอย่างนั้น. ก็ปฏิจจสมุปบาทนี้ ลึกซึ้งด้วย มีลักษณะเป็นธรรมลึกซึ้งด้วย. ดูก่อนอานนท์ ! เพราะไม่รู้เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอดซึ่งธรรมคือปฏิจจสมุปบาทนี้ (จิตของ) หมู่สัตว์นี้ จึงเป็นเหมือนกลุ่มด้ายยุ่ง ยุ่งเหยิงเหมือนความยุ่งของกลุ่มด้าย อันหนาแน่นไปด้วยปม พันกันยุ่งเหยิงเหมือนเซิงหญ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะอย่างนี้; ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารที่เป็นอบาย ทุคติ วินิบาต ไปได้.”  ที่จริงพระสูตรนี้ยาวพอสมควรข้าพเจ้าจึงนำมาบันทึกในที่นี้ เฉพาะตอนต้นของสูตรเท่านั้น.

  พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่ละเอียดอ่อน

คัมภีรภาพ เป็นธรรมชาติที่มองเห็นได้ยาก.

  คำว่า ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า ธรรมอันเป็นธรรมชาติอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น หรือสิ่งที่อาศัยกันพร้อมแล้วจึงเกิดขึ้น, ปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง แต่เป็นกฏธรรมชาติในฝ่ายจิตใจ. กฎธรรมชาติในความหมายที่กว้างคลุมทั้งสากลจักรวาล ก็คือ กฏอิทัปปัจจยตา ซึ่งแปลว่า ความที่เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เป็นกฎวิวัฒนาการของความเปลี่ยนแปลง ทุกสรรพสิ่งที่เป็นสังขตะ ต้องอยู่ภายใต้กฎอันนี้ทั้งสิ้น เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง แตกสลายดับไปในที่สุด ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมนามธรรม ยกเว้นเฉพาะอสังขตะ คือพระนิพพาน เป็นธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง อยู่เหนือกฎแห่งการไหลโดยประการทั้งปวง.

  ปฏิจจสมุปบาทมีอยู่ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายเกิดทุกข์ เรียกว่า สมุทยวารและฝ่ายไม่เกิดทุกข์ เรียกว่า นิโรธวาร.

คำว่า สมุทัย แปลว่า ตั้งขึ้นพร้อม หมายความว่า เมื่ออวิชชาเริ่มตั้งขึ้น ก็จะส่งผลให้สิ่งอื่นเกิดตามมาเป็นลำดับจนเกิดความทุกข์,

ส่วนคำว่า นิโรธ แปลว่า ความดับ แต่ถ้าโดยความหมายที่เป็นสภาวะธรรมชาติแล้ว หมายถึงความไม่เกิด เริ่มตั้งแต่ความไม่เกิดขึ้นของอวิชชา จนถึงความไม่เกิดขึ้นของความทุกข์ เพราะมีวิชชาเข้ามาแทนที่นั่นเอง ด้วยอาศัยกาารฝึกฝนอบรมมาตามระบบอานาปานสติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์.

ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสมุทยวาร มีอยู่ ๑๒ อย่างด้วยกัน เริ่มตั้งแต่

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย   จึงเกิดสังขาร

เพราะสังขารเป็นปัจจัย   จึงเกิดวิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย   จึงเกิดนามรูป

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย   จึงเกิดสฬายตนะ

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย   จึงเกิดผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย   จึงเกิดเวทนา

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย   จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย   จึงเกิดอุปาทาน

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย   จึงเกิดภพ

เพราะภพเป็นปัจจัย   จึงเกิดชาติ

เพราะชาติเป็นปัจจัย   จึงเกิดชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส และอุปายาส. (อันนี้เป็นปฏิจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์.)

ทีนี้ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร

เพราะบริบูรณ์ด้วยวิชชา  อวิชชาจึงไม่เกิด

เพราะอวิชชาไม่เกิด  สังขารจึงไม่เกิด

เพราะสังขารไม่เกิด    วิญญาณจึงไม่เกิด

เพราะวิญาณไม่เกิด  นามรูปจึงไม่เกิด

เพราะนามรูปไม่เกิด   สฬายตนะจึงไม่เกิด

เพราะสฬายตนะไม่เกิด   ผัสสะจึงไม่เกิด

เพราะผัสสะไม่เกิด   เวทนาจึงไม่เกิด

เพราะเวทนาไม่เกิด    ตัณหาจึงไม่เกิด

เพราะตัณหาไม่เกิด    อุปาทานจึงไม่เกิด

เพราะอุปาทานไม่เกิด   ภพจึงไม่เกิด

เพราะภพไม่เกิด    ชาติจึงไม่เกิด

เพราะชาติไม่เกิด  ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่เกิดขึ้น

 

  ตกลงว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้นมีอยู่ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายเกิดทุกข์ เรียกว่า สมุทยวาร และฝ่ายไม่เกิดทุกข์  เรียกว่า นิโรธวาร.

  ในภาษาธรรมหรือภาษาปรมัตถ์นั้น มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มีอยู่ก่อนทุกอย่างจะมีขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีอวิชชา  แต่ถ้ามีวิชชาหรือสติปัญญาถือว่าทุกอย่างไม่มี (มีก็เหมือนกับไม่มี).  ยกตัวอย่างว่า ขันธ์ ๕  ถ้าภาษาสมมติหรือภาษาคนมีอยู่ตลอดเวลา แต่โดยปรมัตถ์หรือภาษาธรรม ขันธ์ ๕ ไม่มีอยู่ก่อน,  ขันธ์ ๕ เกิดมีขึ้นเพราะมีอวิชชาหรือเข้าไปยึดถือ  แต่ถ้ามีวิชชาหรือสติปัญญาขันธ์ ๕ ไม่มี ว่างจากขันธ์ ๕,

  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “เราพ้นแล้วจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย” ที่จริงโดยสมมติ  พระวรกายของพระพุทธองค์ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่พระองค์ไม่มีอวิชชา ปราศจากความยึดมั่นโดยประการทั้งปวง  บริบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญา พระองค์จึงพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย. 

  ฉะนั้น เรื่องของปฏิจจสมุปบาทเป็นภาษาธรรม หรือภาษาปรมัตถ์ล้วน ๆ.

ทีนี้ก็จะอธิบายรายละเอียดของปฏิจจสมุปบาทไปตามลำดับ.

ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร เริ่มตั้งแต่ อวิชชา.  คำว่า อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ เป็น ความโง่ ความมืดบอดในทางจิตใจ โดยหลักหมายถึงไม่รู้อริยสัจจ์สี่:  ไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไร,  ไม่รู้ว่าเหตุให้เกิดทุกข์ คืออะไร, ไม่รู้ว่าความไม่เป็นทุกข์คืออะไร, และไม่รู้ว่าหลักปฏิบัติเพื่อความไม่เป็นทุกข์คืออะไร,  แม้จะมีความรู้ทางปริยัติมากมาย แตกฉานในด้านทฤษฎี เป็นพหูสูต  แต่ถ้าจิตใจยังยึดมั่นถือมั่น ดีใจเสียใจ เป็นคนเห็นแก่ตัว แสดงว่ายังมีอวิชชาอยู่นั่นเอง ตรงกันข้าม แม้จะเป็นคนไม่มีความรู้ด้านปริยัติ ไม่แตกฉานในทฤษฎี แต่จิตสะอาด สว่าง สงบ อยู่กับพระนิพพาน แสดงว่าผู้นั้นไม่มีอวิชชา แต่กลับมีวิชชา คือความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง.

  ในโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ มีภาพปริศนาธรรมอธิบายปฏิจจสมุปบาทอยู่ ข้าพเจ้าจะนำมาประกอบการอธิบายในที่นี้ด้วย.  อวิชชาในภาพ อุปมาเหมือนกับเด็กไร้เดียงสาจูงคนแก่ตาบอด, เด็กก็ไม่รู้อะไรเลย คนแก่ก็ตาบอด เมื่อต่างคนต่างก็ไม่รู้ไม่เห็น ก็พากันเดินเข้าป่าหรือเดินผิดทาง. คนที่ดำเนินชีวิตผิดพลาด มีแต่ปัญหาหรือความทุกข์ ก็เพราะอำนาจของอวิชชา.

  ตามธรรมชาติของอวิชชาไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เกิดดับ แต่เกิดดับเร็วมาก จนมองไม่เห็นในระหว่าง เหมือนกับมีอยู่ตลอดเวลา.

ยกตัวอย่างว่า โดยทั่วไปที่เห็นๆ มักจะมีอยู่ ๓ ใบพัด พัดลมที่วางอยู่เฉยๆ ไม่ได้ใช้งาน เราจะเห็นช่องว่างระหว่างใบพัดได้ชัดเจน แต่ถ้านำมาใช้งาน ใบพัดของพัดลมจะหมุนเป็นวงกลมเหมือนกับวงล้อ จะมองไม่เห็นในระหว่าง เพราะความที่ใบพัดนั้นหมุนเร็วนั่นเอง แต่ที่จริงระหว่างนั้นมันมีอยู่.  อวิชชาก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรมชาติที่เกิดดับ แต่เพราะความเกิดดับที่เร็วถี่จนมองไม่เห็นในระหว่าง เหมือนกับมีการเกิดอยู่ตลอดเวลา.

ทำไมอวิชชาจึงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นธรรมชาติเริ่มแรกสุดของกระแสปฏิจจสมมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ ?  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เพราะมีนิวรณ์เป็นอาหารหล่อเลี้ยงไว้”

พระองค์ไม่ได้ตรัสว่านิวรณ์เป็นปัจจัยของอวิชชา แต่กลับตรัสว่านิวรณ์เป็นอาหารของอวิชชา.  ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า “นิวรณ์เป็นไอกรุ่นของอวิชชา”  เป็นอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงอวิชชาให้อ้วนพีอยู่ได้.

  นิวรณ์คือสิ่งที่กั้นจิต, ปิดบังจิต,  รบกวนจิต มีอยู่ ๕ อย่าง:-

๑. กามฉันทะ คือความพอใจในกาม เป็นความรู้สึกทางกามที่เกิดขึ้นมาในจิตใจ

๒. พยาบาท คือความคิดประทุษร้าย ควาอึดอัดขัดเคืองไม่พอใจ.

๓. ถีนมิทธะ คือความหดหู่ ความเบื่อ ท้อแท้ จิตแฟบไม่มีกำลัง

๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านรำคาญ จิตฟุ้งฟูไปฝ่ายบวก

๕. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ ตัดสินใจอะไรไม่ได้.

  นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้เป็นกิเลสอย่างกลาง เป็นไอกรุ่นเกิดขึ้นมาจากอวิชชา โดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับอายตนะภายนอกเสียก่อน ผิดกับกิเลสอย่างหยาบ เช่น ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ต้องอาศัยการสัมผัสกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นมา.

  เป็นอันว่า อวิชชา ก็คือ ความไม่รู้ ความโง่ ความมืดบอดในทางจิตซึ่งอยู่เบื้องหลังของกิเลสทั้งปวง.  ถ้ามีวิชชาอันเกิดจากการฝึกปฏิบัติมาเป็นอย่างดี อวิชชาก็ไม่เกิดขึ้น,  แต่เพราะไม่มีวิชชา ไม่มีสติปัญญา ไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม อวิชชาจึงเกิดขึ้นมา.

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงเกิดขึ้น. คำว่า สังขาร แปลว่า ความปรุงแต่ง หมายถึงความปรุงแต่งที่เริ่มก่อขึ้นมาในภายใน, ไม่ใช่ความคิดปรุงแต่งหรือความรู้สึกปรุงแต่งชนิดที่หยาบ ๆ แต่เป็นความปรุงแต่งที่เริ่มก่อปรากฏขึ้นภายใน เพราะมีอวิชชาปิดบังอำพรางอยู่เบื้องหลัง.

  สังขารโดยหลักมีอยู่ ๓ อย่าง :-

๑. กายสังขาร คือความปรุงแต่งที่เริ่มก่อขึ้นภายในอันจะปรุงไปในเรื่องที่เกี่ยวกับกาย.

๒. วจีสังขาร คือความปรุงแต่งที่เริ่มเกิดขึ้นภายใน อันจะปรุงไปในเรื่องที่เกี่ยวกับวาจา.

๓. มโนสังขาร คือความปรุงแต่งที่เริ่มเกิดขึ้นภายใน อันจะปรุงไปในเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจเอง. เป็นอันว่า สังขาร ก็คือ ความปรุงแต่งที่เริ่มปรุงขึ้นมาภายในซึ่งมีอวิชชาเป็นเหตุปัจจัย, สังขารมีภาพ อุปมาเหมือนกับคนนำดินเหนียวมาปั้นหม้อ แล้วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ต่อเนื่องกันหลายใบ,  หมายความว่า  สังขารนั้นเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งเรื่อย เพราะอำนาจของอวิชชา.  ถ้ามีวิชชา คือความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง อวิชชาก็ไม่เกิดขึ้น ในเมื่ออวิชชาไม่เกิด สังขารก็มีไม่ได้ ว่างจากสังขาร เรียกว่า วิสังขาร คือ ภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งโดยประการทั้งปวงหมายถึง พระนิพพาน นั่นเอง. แต่เพราะมีอวิชชา คือความโง่เขลาเป็นปัจจัย สังขารจึงเริ่มปรุงขึ้นมา.

 

เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงเกิดขึ้น. คำว่า วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้งหมายถึงธรรมชาติที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ภายนอกหก คือ รู้ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์, การรู้แจ้งต่อรูปทางตาเรียกว่า จักขุวิญญาณ  เช่น รู้ว่ารูปนั้นมีลักษณะอย่างไร ดีหรือไม่ดี มีสีเขียว สีแดง สีดำ เป็นต้น, การรู้แจ้งต่อเสียงทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณ  เช่นรู้ว่า เสียงนั้นไพเราะหรือไม่ไพเราะ เสียงเด็ก เสียงผู้ใหญ่ เสียงนก เสียงไก่ขัน เป็นต้น,  การรู้แจ้งต่อกลิ่นทางจมูก เรียกว่า ฆานวิญญาณเช่นรู้ว่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน เป็นต้น,  การรู้แจ้งต่อรสทางลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณเช่นรู้ว่า รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสเผ็ด เป็นต้น,  การรู้แจ้งต่อโผฏฐัพพะทางกาย เรียกว่า กายวิญญาณเช่นรู้ว่า สิ่งที่มากระทบนั้นแข็งกระด้างหรือนิ่มนวล เป็นต้น, การรู้แจ้งต่อธรรมารมณ์ทางใจ เรียกว่า ธรรมารมณ์.การรับรู้ต่อมโนภาพว่าเป็นภาพอะไร เรียกว่า มโนวิญญาณ.

  ธรรมชาติของวิญญาณเป็นแต่เพียงทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ภายนอกในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแก่ปัญหา, สิ่งที่ทำหน้าที่แก้ปัญหา คือวิชชาหรือสติปัญญา เช่น มีคนมาด่า เกิดการรับรู้ทางหูว่านั่นคือเสียงด่า เรียกว่าโสตวิญญาณเกิด ถ้าไปโกรธคนด่าแสดงว่าไม่มีวิชชาเข้ามาแก้ปัญหา, แต่ตรงกันข้าม มีคนมาด่า เกิดการรับรู้ว่านั่นคือเสียงด่า เรียกว่าโสตวิญญาณเกิด ก็มีความรู้ความฉลาดสามารถป้องกันไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นมาได้ แสดงว่ามีวิชชาเข้ามาแก้ปัญหา. จะเห็นได้ว่าวิญญาณเป็นเพียงการรับรู้เบื้องต้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นเอง.

  ที่จริงวิญญาณก่อนจะออกมาทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ภายนอก ทาวตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ต้องผ่านนามรูป สฬายตนะ และผัสสะเสียก่อน. แต่ในที่นี้ข้าพเจ้าต้องการจะอธิบายการทำหน้าที่ของวิญญาณในขณะแห่งผัสสะ เพื่อความเข้าใจความหมายของคำว่าวิญญาณ.

  ดังนั้นวิญญาณในที่นี้ไม่ใช่ผีหรือดวงวิญญาณที่เป็นอัตตาตัวตน. คำสอนเรื่องตัวตนเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา วิญญาณในความหมายของปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นอนัตตาเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย.

  เมื่อมีสังขารคือความปรุงแต่งด้วยอำนาจของอวิชชาที่อยู่เบื้องหลัง วิญญาณก็เริ่มเกิดขึ้นภายใน เจริญงอกงามขึ้นภายใน ปรากฏขึ้นภายใน, วิญญาณ ในภาพ อุปมาเหมือนกับลิงงเข้าไปขโมยลูกแก้วในบ้าน, ลิงเป็นสัตว์ที่ว่องไวอยู่ไม่นิ่งชอบวิ่งไปวิ่งมา วิญญาณเป็นธรรมชาติที่ไวต่อการรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ลูกแก้ว หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์, การรับรู้อารมณ์ภายนอกของวิญญาณที่ประกอบด้วยอวิชชา เปรียบเหมือนกับลิงเข้าไปขโมยลูกแก้วมาถือไว้ในมือ. ถ้ามีวิชชา วิญญาณก็ไม่เกิด ว่างจากวิญญาณ. ถามว่า ถ้าวิญญาณไม่เกิด จะเห็นรูปฟังเสียงเป็นต้น ได้อย่างไร ? ตอบว่า เห็นด้วยวิชชา ฟังด้วยปัญญาก็ได้ อันนี้เป็นภาษาปรมัตถ์ แต่เพราะมีอวิชชา วิญญาณจึงมีขึ้นมา.

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงเกิดขึ้น บางแห่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “วิญญาณหยั่งลงสู่นามรูป” คำว่า นามรูป หมายถึง กายกับจิต ถ้าแยกออกเป็น ๕ ส่วนก็คือขันธ์ ๕ ได้แก่ รู ป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ,

  รูป หมายถึง ร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

  เวทนา หมายถึง ความรู้สึก,

  สัญญา หมายถึง ความจำ,

  สังขาร หมายถึง ความคิด,

  วิญญาณ หมายถึง ธรรมชาติที่รู้แจ้งต่ออารมณ์.

  จะเห็นได้ว่า วิญญาณที่เนื่องมาจากสังขาร และเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปกับวิญญาณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนามรูปหรือขันธ์ ๕ นั้น เป็นตัวเดียวกัน, วิญญาณเกิดก่อน นามรูปเกิดที่หลัง พอเป็นนามรูป วิญญาณก็มาเป็นส่วนหนึ่งในนามรูป.

  นามรูปในภาษาสมมติหรือความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่ในภาษาปรมัตถ์นั้นนามรูปเกิดมีขึ้นต่อเมื่อมีอวิชชา ถ้าหากว่ามีวิชชา นามรูปไม่เกิด ขันธ์ไม่มี ว่างจากขันธ์ ๕. มีคำพูดของผู้รู้ในฝ่ายพุทธศาสนานิกายเซนอยู่ว่า

“ให้ขันธ์เป็นทาน  ดีกว่าให้เงินทองเป็นทาน

พิจารณาขันธ์ ๕ ให้ว่าง ทุกข์ทั้งปวงก็ดับหมด”

  การให้ขันธ์ ๕ ก็คือการปล่อยวางไม่ยึดถือขันธ์ ๕ นั่นเอง ย่อมมีอานิสงส์มากกว่าการให้เงินทองวัตถุเป็นทาน, พิจารณาขันธ์ ๕ ให้ว่าง ก็คือเห็นความไม่มีของขันธ์ ๕ ว่างจากขันธ์ ๕, เมื่อเห็นอย่างนี้ความทุกข์ทั้งปวงก็จะไม่มี เรียกว่า เห็นความเป็นอนัตตาของขันธ์ ๕ หรือนามรูป.

  มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เรื่อง “สูตรของเหวยหล่าง” เป็นหนังสือของฝ่ายพุทธนิกายเซน. ท่านอาจารย์พุทธทาสได้แปลออกมาเป็นภาษาไทย มีอยู่ตอนหนึ่งว่า ศิษย์ของพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๕ ชื่อ ชินเชา เขียนโศลกธรรมขึ้นมาบทหนึ่งมีใจความว่า

“กายของเราคือต้นโพธิ์

ใจของเราคือกระจกเงาอันใส

เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุก ๆ ชั่วโมง

และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ”

  ชินเชามองเห็นว่าร่างกายนี้มีอยู่เปรียบเหมือนกับต้นโพธิ์ จิตใจก็มีอยู่เปรียบเหมือนกับกระจกเงาอันใสบริสุทธิ์ และหมั่นเช็ดทำความสะอาดทุก ๆ ชั่วโมง อย่าให้ฝุ่นละอองคือกิเลสทั้งหลายเข้ามาจับ. ความเข้าใจของชินเชามีว่า “มีกายมีจิต หรือมีรูปมีนาม” แต่เว่ยหล่างกลับปฏิเสธว่า

“ไม่มีต้นโพธิ์

ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด

เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว

ฝุ่นจะลงจับอะไร ?”

  ไม่มีต้นโพธิ์ คือไม่มีกายที่อุปมาเหมือนกับต้นโพธิ์, ไม่มีกระจกเงาอันใส คือไม่มีจิตที่อุปมาเหมือนกับกระจกเงาอันใส, เมื่อกายไม่มีจิตไม่มีฝุ่นคือกิเลสที่ไม่มีที่จับ. ชินเชายังมองเห็นว่า นามรูปมีอยู่แล้วพยายามรักษาไว้ แต่เว่ยหล่างมองเห็นว่า นามรูปไม่มี ว่างจากนามรูปเพราะไม่มีอวิชชานั่นเอง. ในภาพ อุปมาเหมือนกับบ่าวกับนายพายเรือไปด้วยกัน อยู่ในเรือลำเดียวกัน,เรือ หมายถึงชีวิต, บ่าวหมายถึงรูปหรือกาย, นายหมายถึงนามหรือจิต, ในลำเรือบ่าวกับนายนั่งร่วมกันอยู่ หมายถึงชีวิตมีหนึ่งเดียวแต่มีองค์ประกอบสอง คือนามกับรูป, หมายความว่า นามกับรูปนั้นต้องอาศัยกัน มีนามก็ต้องมีรูป หรือมีรูปก็ต้องมีนาม.

  ตกลงว่าถ้ามีวิชชา คือความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง นามรูปก็ไม่เกิดขึ้น ว่างจากนามรูป ไม่มีนามรูป, แต่เพราะมีอวิชชา นามรูปจึงเกิดขึ้นมา อย่าลืมว่าอันนี้เป็นภาษาปรมัตถ์หรือภาษาธรรม.

 

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงเกิดขึ้น. คำว่า สฬายนะ แปลว่า เครื่องเชื่อมต่อหรือที่เชื่อมต่อหก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ,

ตา   เรียกว่า   จักขุวายตนะ

หู   เรียกว่า   โสตายตนะ

จมูก เรียกว่า   ฆานายตนะ

ลิ้น   เรียกว่า   ชิวหายตนะ

กาย  เรียกว่า   กายายตนะ

ใจ   เรียกว่า   มนายตนะ ทั้งหกอย่างนี้ข้างต้นนี้เป็นอายตนะภายใน.  อายตนะภายนอกซึ่งคู่กับอายตนะภายใน ก็มีอยู่หกอย่างเช่นเดียวกัน ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์,

รูป เรียกว่า รูปายตนะ

เสียง เรียกว่า สัททายตนะ

กลิ่น เรียกว่า คันธายตนะ

รส เรียกว่า รสายตนะ

โผฏฐัพพะ เรียกว่า โผฏฐัพพายตนะ

ธรรมารมณ์ เรียกว่า ธัมมายตนะ

ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับโผฏฐัพพะ ใจคู่กับธรรมารมณ์,  สฬายตนะ เปรียบเหมือนกับบ้านหลังหนึ่งมีหกประตู,  บ้าน หมายถึง ชีวิตหรือนามรูป,  ประตูหกช่อง หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ.

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ ซึ่งแปลว่า ความเป็นใหญ่,  ตามีความเป็นใหญ่ในการดูรูป,  หูมีความเป็นใหญ่ในการฟังเสียง,  จมูกมีความเป็นใหญ่ในการดมกลิ้น,  ลิ้นมีความเป็นใหญ่ในการชิมรส,  กายมีความเป็นใหญ่ในการสัมผัสถูกต้องโผฏฐัพพะ, ใจมีความเป็นใหญ่ในการรับรู้ต่อธรรมารมณ์.  ตาจะไปทำหน้าฟังแทนหูก็ไม่ได้ หรือหูจะมาทำหน้าที่ดูรูปแทนตาก็ไม่ได้ ต่างสิ่งต่างก็เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน จึงเรียกว่า อินทรีย์.  มีภาพปริศนาธรรมอยู่ว่า นกอินทรีย์หกตัวเกาะอาศัยอยู่ที่ต้นมะเดื่อ,  ต้นมะเดื่อ หมายถึง ชีวิตหรือนามรูป,  เขียนเป็นภาพนกอินทรีย์หกตัวเกาะต้นมะเดื่อ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึ่งอาศัยนามรูปอยู่.  ไม้มะเดื่อเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่มีแก่น ชีวิตหรือนามรูปเป็นธรรมชาติที่ไร้แก่นสาร,  เพราะมีต้นมะเดื่อ นกอินทรีย์ก็มาเกาะอาศัยได้ ถ้าไม่มีต้นมะเดื่อ นกอินทรีย์ก็ไม่มีที่เกาะอาศัย  เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย อายตนะจึงมีขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีนามรูป อายตนะก็มีไม่ได้.

เป็นอันว่า สฬายตนะ ก็คือ สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับอารมมณ์ภายนอก. ถ้ามีวิชชา สฬายตนะก็ไม่เกิด,  แต่เพราะมีอวิชชา สฬายตนะจึงมีขึ้นมา.

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงเกิดขึ้น. คำว่า ผัสสะ แปลว่า การกระทบหรือการสัมผัส.  สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้นต้องอาศัยปัจจัยสามอย่างทำงานร่วมกัน คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญาณ เช่น อาศัยตา รูป จักขุวิญาณ การพร้อมกันของธรรมสามอย่างนี้ เรียกว่า ผัสสะ,  มีเฉพาะตากับรูป ถ้าไม่มีวิญญาณไม่เรียกว่าผัสสะ ยกตัวอย่าง คนตายนอนลืมตา โดยสมมติตามีอยู่ รูปก็มีอยู่ แต่ไม่มีจักขุวิญญาณ เพราะเป็นคนตายจึงไม่เรียกว่าผัสสะ.  ดังนั้นความหมายของคำว่าผัสสะต้องอาศัยสิ่งสามสิ่งทำงานร่วมกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. ผัสสะเกิดได้หกทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ผัสสะทางตา   เรียกว่า   จักขุสัมผัส

ผัสสะทางหู   เรียกว่า   โสตสัมผัส

ผัสสะทางจมูก   เรียกว่า   ฆานสัมผัส

ผัสสะทางลิ้น   เรียกว่า   ชิวหาสัมผัส

ผัสสะทางกาย   เรียกว่า   กายสัมผัส

ผัสสะทางใจ   เรียกว่า   มโนสัมผัส.

  จะเห็นได้ว่า วิญญาณออกมาทำหน้าที่รู้แจ้งต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ได้สัมผัสนี้เอง,  วิญญาณเริ่มเกิดขึ้นภายในเนื่องมาจากสังขาร แล้วหยั่งลงสู่นามรูป เกิดสฬายตนะ ออกมาทำหน้าที่สมบูรณ์ที่ผัสสะ.ในภาษาปรมัตถ์ ผัสสะเกิดเพราะประกอบด้วยอวิชชาถ้ามีวิชชาคือความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง ผัสสะไม่เกิด ผัสสะไม่มี.  ถามว่า เมื่อไม่มีผัสสะแล้วจะเห็นรูป ฟังเสียงเป็นต้นได้อย่างไร ? ตอบว่า เห็นด้วยวิชชา ฟังด้วยวิชชาก็ได้ การรับรู้อารมณ์ภายนอกด้วยวิชชา ชื่อว่าไม่มีผัสสะ เห็นรูปก็สักว่ารูป  ได้ยินเสียงก็สักว่าเสียง เป็นต้น.  ถ้าพูดถึงคำว่าผัสสะ แม้จะไม่พูดว่าผัสสะด้วยอวิชชา.ก็แสดงว่าผัสสะนั้นต้องเป็นผัสสะที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา.  ในภาพ อุปมาเหมือนกับชายหนุ่มหญิงสาวกำลังกอดรัดกันอยู่ก็หมายถึงการสัมผัสหรือการกระทบ.

  ตกลงว่า ผัสสะ ก็คือ การกระทบหรือการสัมผัสอันเนื่องมาจากสฬายตนะ. ถ้ามีวิชชา ผัสสะไม่เกิด, แต่เพราะมีอวิชชา ผัสสะจึงเกิดมีขึ้นมา.

คำสำคัญ (Tags): #ปฎิจจสมุปบาท
หมายเลขบันทึก: 512391เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิดขึ้น, คำว่า เวทนา แปลว่า ความรู้สึก เป็นความรู้สึกทางระบบประสาท มีอยู่ ๓ ลักษณะ :-

  ๑. ทุกขเวทนาคือ ความรู้สึกในฝ่ายที่ไม่ดี ยกตัวอย่างว่า ยุงกัดจะเกิดความรู้สึกว่าเจ็บ ๆ คัน ๆ หรือมีดบาดนิ้ว เกิดความรู้สึกว่าเจ็บปวด ความรู้สึกเหล่านี้เป็นทุกขเวทนา. ถ้าโกรธยึดมั่นถือมั่นก็เป็นทุกข์ในทางจิตใจ ถ้าไม่โกรธ ไม่ยึดมั่นถือมั่นแผ่เมตตาให้กับยุง หรือมีดบาดนิ้วเจ็บก็สักว่าเจ็บใส่ยารักษาไป ด้วยสติสัมปชัญญะก็ไม่เป็นทุกข์ในทางจิตใจ.

  ๒. สุขเวทนาคือ ความรู้สึกในฝ่ายดี ยกตัวอย่างว่า ได้กินอาหารรสอร่อยรสกลมกล่อม เป็นความรู้สึกทางระบบประสาททางลิ้นว่า อร่อย ถ้ายึดมั่นถือมั่นในรสอร่อยของอาหารก็เป็นทุกข์ภายในจิตใจ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นในรสอาหาร อร่อยก็สักว่าอร่อย เช่นนี้เอง ก็ไม่เป็นทุกข์ในทางจิตใจ.

  ๓. อทุกขมสุขเวทนาคือ ความรู้สึกที่ยังไม่แน่ว่าดีหรือไม่ดี ยกตัวอย่างว่า มีคนกลุ่มหนึ่งนั่งสนทนากันอยู่ พูดซุบซิบกันเบา ๆ แต่หัวเราะดัง ๆ ทีนี้สมมติว่าเราเองมีความผิดอยู่บ้าง ได้เดินผ่านมาจึงเกิดความรู้สึกไม่แน่ว่า คนกลุ่มนี้นินทาเราหรือเขาพูดกันเรื่องอะไร. ถ้าเขาไปยึดถือก็เป็นทุกข์ภายในจิตใจ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ภายในจิตใจ.

  เวทนาเป็นธรรมชาติเกิดได้ ๖ ทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ,

เวทนาที่เกิดจากการกระทบทางตา เรียกว่า   จักขุสัมผัสสชาเวทนา

เวทนาที่เกิดจากการกระทบทางหู   เรียกว่า  โสตสัมผัสสชาเวทนา

เวทนาที่เกิดจากการกระทบทางจมูก   เรียกว่า   ฆานสัมผัสสชาเวทนา

เวทนาที่เกิดจากการกระทบทางลิ้น เรียกว่า   ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา

เวทนาที่เกิดจากการกระทบทางกาย   เรียกว่า   กายสัมผัสสชาเวทนา

เวทนาที่เกิดจากการกระทบทางใจ   เรียกว่า   มโนสัมผัสสชาเวทนา

เวทนามีอยู่หลาย ๆ ระดับ เวทนาบางอย่างหยาบมองเห็นได้ชัด แต่ให้ค่าความหมายต่ำก็มี เช่น นั่งนาน ๆ จะเกิดความรู้สึกปวดขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่หยาบ กำหนดเห็นได้ง่ายแต่ให้ค่าความหมายต่ำ คนส่วนมากจะไม่เกิดเพราะความปวดเมื่อย, เวทนาบางอย่างละเอียดแต่ให้ค่าความหมายสูงก็มี เช่น รสอาหาร เป็นความรู้สึกทางลิ้นที่ละเอียดมาก กำหนดเห็นได้ยาก แต่ให้ค่าความหมายสูง คนมีปัญหาเป็นทุกข์เพราะรสอาหารกันมากบางครอบครัวทะเลาะกันเพราะรสอาหารก็มี.

เวทนาเป็นธรรมชาติที่กระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตทำหน้าที่ได้ ในภาษาสมมติหรือภาษาคน เช่น นั่งนาน ๆ จะเกิดความรู้สึกปวดเมื่อยขึ้นมา แสดงว่าเวทนากระตุ้นเตือนแล้วว่าให้ไปกินอาหารหรือดื่มน้ำ เป็นต้น แม้พวกสัตว์เดรัจฉานมันทำหน้าทีได้ก็เพราะเวทนากระตุ้นให้มันทำ แต่สัตว์มันทำหน้าที่ไปตามสัญชาตญาณ ส่วนมนุษย์นั้นมีกิเลสมีปัญญา คนที่ไม่ปฏิบัติธรรมจะทำหน้าที่ไปด้วยอำนาจของกิเลสมีความทุกข์ แต่คนที่ปฏิบัติธรรมจะทำหน้าที่ไปด้วยสติปัญญาไม่มีความทุกข์.

เวทนาเป็นธรรมชาติที่มี อัสสาทะ คือ รสอร่อย หรือมีเสน่ห์ ในรสอร่อยของเวทนานั้นมันมี อาทีนวะ คือ โทษ แฝงอยู่ หมายความว่าถ้าเข้าไปหลงเพลินยึดถือก็จะเป็นทุกข์ เปรียบเหมือนกับยาพิษที่เคลือบอยู่ด้วยน้ำตาล ถ้าเรากินน้ำตาลซึ่งมียาพิษอยู่ข้างใน.

พระพุทธองค์สอนไว้ว่า

ให้มองเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์

เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร

เห็นอทุกขสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง

  การหลีกออกไม่หลงเพลินต่อเวทนาทั้งหลาย เรียกว่า นิสสรณะ.

  ในภาพ อุปมาเหมือนกับชายคนหนึ่งถูกศรสองดอกเสียบอยู่ที่ตาทั้งสองข้าง, ดอกหนึ่งเป็นลูกศรธรรมดา หมายถึงทุกขเวทนา,  อีกดอกหนึ่งเป็นลูกสรที่อาบยาพิษ หมายถึงความทุกข์ภายในจิตใจอันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นต่อเวทนา. ถามว่า ทำไมเขาจึงอุปมาเหมือนกับคนถูกลูกศรอาบยาพิษด้วย ? ตอบว่า ก็เพราะเวทนา ตัวนี้ประกอบด้วยอวิชชาต้องถูกยึดถือแน่นอน แล้วก็มีความทุกข์ภายในจิตใจ.

  เป็นอันว่า เวทนาเป็นความรู้สึกทางระบบประสาท ถ้ามีวิชชาคือ ความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง ในภาษาธรรมะนั้นเวทนาไม่มี เวทนาไม่เกิด ใช้คำว่า มีก็เหมือนกับไม่มี มีค่าเท่ากับไม่ถูกลูกศรทั้งสองดอก, แต่เพราะมีอวิชชา คือความไม่รู้นี่เอง เวทนาก็มีความหมายขึ้นมา.

  เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิดขึ้น. คำว่า ตัณหาแปลว่า ความอยากหมายถึง ความต้องการที่ประกอบด้วยอวิชชา. ถ้าความต้องการประกอบด้วยปัญญาหรือวิชชา เรียกว่า สัมมาสังกัปปะคือ ความปรารถนาที่ถูกต้อง.

  สิ่งที่เรียกว่าตัณหามีอยู่ ๓ อย่าง :-

  ๑. กามตัณหาคือ ความอยากหรือความต้องการในกาม หมายถึงความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่, โดยเฉพาะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเพศตรงกันข้าม.

พระพุทธองค์ตรัสว่า:-

“ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใด ที่จะครอบงำจิตใจของบุรุษ ยิ่งไปกว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของสตรี, ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใด ที่จะครอบงำจิตใจของสตรี ยิ่งไปกว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเพศตรงกันข้ามเป็นธรรมชาติครอบงำจิตใจของกันและกัน”

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเพศตรงกันข้าม เรียกว่า วัตถุกาม, ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ของเพศตรงกันข้าม เรียกว่า กิเลสกาม.

๒. ภวตัณหา คือ ความอยากมีอยากเป็น, อยากมี เช่น อยากมีเงิน อยากมีทรัพย์สมบัติ อยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ อยากมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น, อยากเป็น เช่น อยากเป็นนายกฯ  อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นหัวหน้า หรือแม้แต่อยากเป็นพระอรหันต์, ถ้าความต้องการจะมีจะเป็นนั้นประกอบด้วยวิชชาหรือปัญญาก็ไม่เป็นตัณหา แต่เป็นสัมาสังกัปปะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว.

๓. วิภวตัณหา คือ ความอยากจะไม่มี, อยากจะไม่เป็น เช่น อยากจะไม่แก่ อยากจะไม่เจ็บ อยากจะไม่ตาย อยากจะไม่ให้ของรักของหวงต้องพลัดพรากจากไป เป็นต้น. โดยทั่วไปเขามักใช้คำว่า ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากสูญเสียของรักของชอบใจ เป็นต้น ว่าเป็น วิภวตัณหา, แต่ที่จริงคำว่า ไม่อยากโดยความหมายคือ  ไม่มีตัณหา ไม่มีความอยาก ฉะนั้นต้องพูดว่า อยากจะไม่แก่ อยากจะไม่เจ็บ อยากจะไม่ตาย เป็นต้น.

กามตัณหาดึงเข้ามาหาตัว ภวตัณหาก็ดึงเข้ามาหาตัวเช่นเดียวกัน ส่วนวภวตัณหาผลักออกไปจากตัว เป็นความรู้สึกต่อต้าน. ตัณหามีภาพ อุปมาเหมือนกับคนดื่มเหล้า, คนที่เสพสิ่งมึนเมาแสดงว่าเป็นผู้มีความโง่เขลา ถ้าเป็นคนฉลาดเขาไปกินไปดื่มสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายดีกว่า.

ตกลงว่า ตัณหา ก็คือ ความอยากหรือความต้องการด้วยความโง่เขลา. ถ้ามีวิชชา ตัณหาก็ไม่เกิดขึ้น ว่างจากความต้องการด้วยอำนาจของความโง่ แต่เพราะมีอวิชชา ตัณหาจึงเกิดมีขึ้นมา.

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงเกิดขึ้น. คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความยึดถือที่ประกอบด้วยอวิชชา ถ้าความยึดถือประกอบด้วยวิชชาเพื่อทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เรียกว่า สมาทาน คือ การถือไว้อย่างดี เช่น สมาทานศีล เป็นการถือศีลหรือรักษาศีลด้วยสติปัญญาเพื่อความบริสุทธิ์ของกาย วาจา เป็นต้น. ถ้าอุปาทานในศีล ก็คือถือศีลเพื่อความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออวดคนอื่น.

สิ่งที่เรียก อุปาทานนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง :-

๑. กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในกาม ยินดีเพลิดเพลินอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ.

๒. ทิฏฐุปาทานคือ ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิความคิดความเห็นของตนเองโดยเฉพาะมิจฉาทิฏฐิ  หมายถึงความเห็นผิด ดังมีสุภาษิตอยู่ว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  กงจักรเป็นวัตถุมีคม หมุนไปกระทบสิ่งใดจะต้องขาดกระจุยกระจาย ดอกบัวมีลักษณะสวยงามมีกลิ่นหอมเป็นประโยชน์,  กงจักรเป็นสัญลักษณ์ของความชั่ว กิเลส บาป อกุศลต่าง ๆ,  ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรม ความดี ความงาม หรือสิ่งที่ถูกต้อง, เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็คือเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งถูกต้อง เช่น มีความเห็นว่าความพอใจดีใจตื่นเต้นนี่แหละเป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต. ที่จริงความพอใจดีใจเป็นนความสุขสนุกสนาน สุขที่เหน็ดเหนื่อย; จิตที่ไม่มีกิเลสต่างหากเป็นความสุขที่แท้จริง เรียกว่า สุขสงบเย็น เหล่านี้เป็นต้น.

๓.สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต หมายถึงการรักษาศีลอย่างงมงาย ถือศีลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์หรือข่มผู้อื่น การประพฤติวัตรต่าง ๆ ไปในทางที่ผิด เช่น การทรมานตนด้วยการยืนขาเดียวบ้าง ด้วยการนอนบนหนามบ้าง เป็นต้น.

๔. อัตตวาทุปาทานคือ การยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน พุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา-สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตาตัวตน, สังขตธรรม หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่ง เป็นกฏของธรรมชาติที่ไม่ใช่ตัวตน, อสังขตธรรม หมายถึง พระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่งที่ไม่ใช่อัตตาตัวตน ถ้ายังยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นอัตตา ก็ยังเป็นอัตตวาทุปาทาน.  ในภาพ อุปมาเหมือนกับลิงถือลูกท้อกำแน่นไม่ยอมวางก็คืออุปาทานนั่นเอง, มีคำพูดอยู่ว่า “ยึดถือภายนอกหนักทางร่างกาย ยึดถือภายในหนักทางจิตใจ, ปล่อยวางภายนอกเบาทางร่างกาย ปล่อยวางภายในเบาทางจิตใจ; ปล่อยวางภายนอกเบาทางร่างกายจริง แต่ถ้ายึดถือภายในก็ยังหนักทางจิตใจ, ยึดถือภายนอกหนักทางร่างกายจริง แต่ถ้าปล่อยวางภายในก็เบาทางจิตใจ.” ฉะนั้นภายนอกจะยึดถือหรือปล่อยวางก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ภายในต้องปล่อยตลอดเวลา.

เป็นอันว่า อุปาทาน ก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นที่ประกอบด้วยความโง่. ถ้ามีวิชชาคือความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง อุปาทานก็ไม่เกิด อุปาทานก็ไม่มี ว่างจากอุปาทาน, แต่เพราะมีอวิชชาคือไม่รู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง อุปาททานจึงเกิดมีขึ้นมา.

เพราะมีอุปาททานเป็นปัจจัย ภพจึงเกิดขึ้น. คำว่า ภพ แปลว่า ความมีความเป็นหมายถึง ความรู้สึกว่าเรามีเราเป็นที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า “ตัวกู-ของกู” นั่นเอง เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง, เวทนาเป็นความรู้สึกทางระบบประสาทภายนอก ส่วนภพเป็นความรู้สึกภายในจิตใจ.

คำว่าภพ โดยหลักมีอยู่ ๓ อย่าง:-

๑. กามภพ คือ ความรู้สึกว่าเรามีเราเป็นที่เกี่ยวกับกามเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาในจิตใจ เพราะยินดีเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ โดยเฉพาะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเพศตรงข้าม.

๒. รูปภพ คือ ความรู้สึกว่าเรามีเราเป็นเกี่ยวกับรูปธรรมล้วน ๆไม่เกี่ยวกับกาม เช่น คนที่ชอบเลี้ยงปลาเพื่อความสวยงาม เลี้ยงนก ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การสะสมของเก่า หรือรวมไปถึงรูปฌานสี่ก็ได้.

๓.อรูปภพ คือ ความรู้สึกว่าเรามีเราเป็นที่เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ใช่รูป เช่น เกียรติยศชื่อเสียง ความดี บุญกุศล เป็นต้น ทำดียึดติดในความดี ทำบุญยึดติดในบุญ. มีคำพูดอยู่ว่า “ติดทองหน้าพระ” หมายถึงทำดีทำบุญเพื่ออวด แต่ถ้า “ติดทองหลังพระ” คือทำดีเพื่อดี ทำบุญเพื่อบุญ, ทำดีแต่ไม่ติดดี ทำบุญแต่ไม่ติดบุญ หรือรวมไปถึงอรูปฌาน ถ้ายังยึดติดในรูปฌาน-อรูปฌานก็ไม่พ้นไปจากภพ.

มีภาพปริศนาธรรมในสมุดข่อยโบราณชุด “หนวดเต่า เขากระต่ายนอกบ” ได้อธิบายถึงเรื่องภพอยู่ตอนหนึ่งว่า มีสัตว์สามชนิดมาติดแร้วของนายพราน เต่าติดแร้วหนึ่งอีเก้งติดแร้วหนึ่ง นกติดอีกแร้วหนึ่ง, นาายพรานในภาษาธรรมะหมายถึงอวิชชา, แร้วทั้งสามในภาษาธรรมะ หมายถึงภพทั้งสามนั่นเอง คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ, เต่าเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่ ก็ขึ้นมาติดแร้วของนายพราน หมายถึงคนชั้นต่ำ เช่น ผู้ใช้แรงงาน กรรมกร ชาวนาชาวสวน เป็นต้น ก็ติดอยู่ในบ่วงแห่งภพ, อีเก้งเป็นสัตว์อาศัยอยู่บนพื้นดิน ก็มาติดแร้วของนายพราน หมายถึงคนชั้นกลาง ก็ติดอยู่ในบ่วงแห่งภพ, นกซึ่งตามธรรมชาติอาศัยอยู่ที่สูง ๆ อยู่บนต้นไม้บ้าง อยู่บนอากาศบ้าง ก็ยังลงมาติดแร้วของนายพราน หมายถึงคนชั้นสูงมีเกียรติในสังคม มีฐานะร่ำรวย แต่ก็ยังติดอยู่ในบ่วงแห่งภพเช่นกัน, สัตว์ทั้งสามชนิดต้องเป็นอาหารของนายพราน หมายความว่าจิตใจของคนทุก ๆ ระดับชั้นวรรณะส่วนมากต้องอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชา.

แต่ในภาพปฏิจจสมุปบาท อุปมาเหมือนผู้หญิงท้องแก่ใกล้จะถึงกำหนดคลอด หมายความว่าเมื่อมีภพ คือความรู้สึกว่าตัวเรา-ของเรา หรือตัวกู-ของกูเกิดขึ้น ความทุกข์ก็จะติดตามมา. ถ้ามีวิชชา ภพก็ไม่เกิดขึ้น, แต่เพราะมีอวิชชา ภพจึงเกิดมีขึ้นมา.

เพราะมีภพเป็นปัจจัย ชาติจึงเกิดขึ้น. คำว่า ชาติ แปลว่า เกิด สิ่งที่เรียกว่าเกิด มีอยู่สองความหมาย คือเกิดในภาษาคน หมายถึงเกิดในทางร่างกาย เกิดจากท้องแม่เกิดครั้งเดียว, ทีนี้เกิดอีกอย่างหนึ่งหมายถึง เกิดในภาษาธรรม เป็นความเกิดในทางจิตใจ ก็คือเกิดความทุกข์ขึ้นมานั่นเอง มีธรรมภาษิตว่า “ทุกขา ชาติ ปุนปฺปุนํ” ท่านแปลว่า การเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที.

บางคนยังมีความเชื่อว่า การเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายมีอยู่จริง นรกใต้ดินสวรรค์บนท้องฟ้าก็เป็นสิ่งที่มีจริง บางคนก็อ้างว่าพระพุทธเจ้าสอน.ถามว่า ทำไม คนสมัยก่อนเขาจึงมีความเชื่อว่านรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนท้องฟ้า ? ตอบว่า ก็เพราะคนสมัยก่อนเขามีความเข้าใจผิดคิดว่าโลกแบน จึงมีคำพูดกันว่า ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน เป็นต้น แต่ในยุคปัจจุบันวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า เขาสามารถพิสูจน์ออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าโลกมีลักษณะกลม ดังนั้นความเชื่อว่านรกอยู่ใต้ดิน จึงหมดความหมายกลายเป็นเรื่องไร้เหตุผล. แต่คำสอนในทางพระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์อย่างวิทยาศาสตร์ เป็นสัจจธรรมทนต่อการพิสูจน์เป็นสันทิฏฐิโก พระพุทธองค์ตรัสว่า  “นรก-สวรรค์ อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ” มีพระบาลีว่า ทิฏฐา มยา ภิกฺขเว ฉ ผสฺสายตนิกา นาม สคฺคา แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อ ฉผัสสายตนิกา (คือสวรรค์อันเป็นไปในการสัมผัสทางอายตนะทั้งหก) เราได้เห็นแล้ว, ส่วนข้อปลีกย่อยในพระสูตรยังมีอีกมากหมายความว่า ในเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ เกิดความไม่พอใจก็เป็นนรก, ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าใคร่ เกิดความพอใจก็เป็นสวรรค์,  แต่ถ้าสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว จะเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาหรือน่าปรารถนาก็ตาม มีสติสัมปชัญญะไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เป็นพระนิพพาน

  ดังนั้น ชาติ ในความหมายของปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การเกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ. ในภาพ อุปมาเหมือนกับผู้หญิงกำลังคลอดลูก โดยปุคคลาธิษฐาน คือเกิดจากครรภ์มารดา เป็นการเกิดอย่างชลาพุชะ แต่โดยธรรมาธิษฐาน คือเกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ เป็นการเกิดอย่างโอปปาติกะ. ถ้ามีวิชชาหรือสติปัญญา ชาติก็ไม่มี ความทุกข์ไม่เกิดขึ้นมา, แต่เพราะมีอวิชชา ความทุกข์จึงผุดโผล่ขึ้น ปรากฏขึ้นมาในจิตใจ.

  เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัส และอุปายาสก็เกิดขึ้นพร้อม ตั้งแต่ชรามรณะจนถึงอุปายาส สรุปลงในคำว่า ความทุกข์นั่นเอง.

  ความทุกข์คืออะไร ?

  ความทุกข์คือ สภาพจิตที่เหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่สงบ ซึ่งเป็นได้ทั้งฝ่ายพอใจและไม่พอใจ ในทางโลกมีความเห็นว่า ความพอใจดีใจเป็นความสุข ส่วนความไม่พอใจเสียใจนั้นเป็นทุกข์ แต่ในทางศาสนาถือว่าความพอใจดีใจก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้จิตใจเหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่สงบ ดีใจเกินไปกินข้าวไม่ลง ไม่พอใจก็ทำให้จิตใจเหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่สงบ เป็นทุกข์ ดังนั้น ความหมายของความทุกข์เป็นได้ทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ.

  คำว่า ชรา แปลว่า ความแก่. ในภาษาสมมมติหรือภาษาคน ถ้าอายุมาก ผมงอก ฟันหัก ตาฝ้าฟาง หลังค่อม เรียกว่า ความแก่ชรา แต่ในภาษาปรมัตถ์หรือภาษาธรรมนั้น ความแก่จะมีขึ้นมาได้ เพราะมีอวิชชา เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าความแก่ของเรา เราเป็นผู้แก่ ความแก่มันก็เกิดมีขึ้นมา แต่ถ้ามีวิชชาไม่ยึดมั่นถือมั่น ความแก่ก็ไม่มี ความแก่ก็ไม่เกิด. ถามว่า ที่ผมงอก หูหนวก ฟันหัก ตาฝ้าฟาง มันคืออะไรถ้าไม่ใช่ความแก่ ? ตอบว่า นั่นเป็นเพียงธรรมชาติที่แปรสภาพจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่ง ไหลไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ไม่มีใครแก่ ไม่มีความแก่ของใคร.

  มาถึงคำว่า มรณะ แปลว่า ความตาย. ในภาษาสมมติ เมื่อหมดลมหายใจเรียกว่าตาย แต่ในภาษาปรมัตถ์ ความตายเกิดมีขึ้นเพราะมีอวิชชาแล้วเข้าไปยึดถือเช่นเดียวกัน การเข้าไปยึดถือว่าเราจะต้องตาย ความตายเป็นของเรา ความตายมันก็เกิดมีขึ้นมาทันที แต่ถ้ามีวิชชาไม่เข้าไปยึดถือ ความตายก็ไม่มี. ถามว่า ที่หมดลมหายใจคืออะไร ? ตอบว่า เป็นธรรมชาติที่แปรสภาพจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีใครตาย ไม่มีความตายของใคร มีแต่กระแสของธรรมชาติที่ไหลอยู่ตลอดเวลา.

  คำว่า โสกะ คือ ความเศร้าโศกเสียใจ เกิดขึ้นเพราะมีอวิชชา ถ้ามีวิชชาความเศร้าโศกก็จะไม่มี.

  คำว่า ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญร่ำไรรำพัน ความอาลัยอาวรณ์ เกิดมีขึ้นในจิตใจก็เพราะมีอวิชชา แต่ถ้ามีวิชชา ปริเทวะก็ไม่มี.

  คำว่า ทุกข์ ก็คือ ความทุกข์ทางกาย มีขึ้นเพราะเข้าไปยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่มี

  คำว่า โทมนัส คือ ความทุกข์ใจ เกิดมีขึ้นเพราะยึดถือ ถ้าไม่ยึดก็ไม่มี.

  มาถึงคำว่า อุปายาส คือ ความเหี่ยวแห้งใจอย่างยิ่ง เกิดขึ้นเพราะยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่มี.ตกลงว่า ความทุกข์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นมา เพราะอำนาจของอวิชชาอำพรางอยู่เบื้องหลัง, แต่ถ้ามีวิชชา ความทุกข์ทั้งปวงจะไม่มี ปัญหาทั้งหลายจะไม่เกิด. ความทุกข์อุปมาเหมือนกับคนแก่แบกของหนัก, ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่หนัก เป็นเพียงความรู้สึก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้หนัก ทรมานไม่เป็นอิสระ, พระอริยะเจ้าท่านทิ้งของหนักลงได้แล้ว.

 

  สรุปความว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นกฏของธรรมชาติอย่างหนึ่ง แต่เป็นกฏธรรมชาติในฝ่ายจิตใจ.

พระพุทธองค์ตรัสว่า 

ตถาคตบังเกิดขึ้นหรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม แต่กฎอันนี้มีอยู่แล้ว, ตถาคตเพียงแต่นำมาเปิดเผยนำมาแสดงเป็นต้น.

ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมอันลึกซึ้งละเอียดอ่อน เข้าใจยากเห็นยาก เป็นภาษาปรมัตถ์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม มีธรรมภาษิตว่า  “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม, ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท”  คำว่าธรรมในที่นี้หมายถึง พระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ดังนั้น คำว่า เห็นธรรมก็คือ เห็นพระนิพพานนั่นเอง. ถ้าจะพูดว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นพระนิพพาน, ผู้ใดเห็นพระนิพพาน ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ก็ได้เหมือนกัน. ถามว่า เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นอย่างไร ? เห็นธรรม คือเห็นพระนิพพาน คือเห็นอย่างไร ?  ตอบว่า เห็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือเห็นความไม่เกิดขึ้นของกระแสปฏิจจสมุปบาท เห็นตั้งแต่อวิชชาไม่เกิดสังขารไม่เกิด วิญญาณไม่เกิดนามรูปไม่เกิด สฬายตนะไม่เกิดผัสสะไม่เกิด เวทนาไม่เกิด ตัณหาไม่เกิด อุปาทานไม่เกิดภพไม่เกิดชาติไม่เกิด ชรามรณะเป็นต้นไม่เกิดขึ้น. ถามต่อไปว่า ทำไมกระแสปฏิจจสมุปบาทจึงไม่เกิดขึ้น ? ตอบว่า เพราะมีอวิชชา คือ ความรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงสว่างไสวอยู่ตลอดเวลา เพราะได้ฝึกอบรมมาตามระบบอานาปานสติ กระแสปฏิจจสมุปบาทจึงไม่เกิดขึ้น, เมื่อกระแสปฏิจจสมุปบาทไม่เกิดขึ้น จิตก็ว่าง (สุญญตา) ภาวะของความว่างนั่นแหละคือนิพพาน.

ฉะนั้น การเห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือ เห็นพระนิพพานนั่นเอง.

ที่มา พระ กฤษดา ธมฺมโฆสโก

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท