มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

กำเนิดโลกและจักรวาลตามคัมภีร์


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

ต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

บทที่  ๑

ต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต้นกำเนิดของโลกมาตรัสเล่าประกอบหลักธรรมของพระองค์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าพวกพราหมณ์เข้าใจเรื่องระบบวรรณะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเดิมอย่างไรเรื่องที่ตรัสเล่ามีใจความดังนี้
 ๑. ทรงตัดตอนแห่งสังวัฏฏกัปของโลกในช่วงสุดท้าย คือ ช่วงที่โลกเสื่อมลงจน สลายไป สัตว์โลกส่วนมากที่รอดชีวิตได้ไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม มีสภาพเป็นกายทิพย์ มีฤทธิ์ทางใจ มีปีติเป็นอาหารมีรัศมีแผ่ซ่านออกจากกาย สัญจรอยู่ในอากาศ สถิตอยู่ในวิมานอันงดงามนานแสนนาน
 ๒. จากนั้น ทรงแสดงการกำเนิดหรือวิวัฒนาการของโลกตั้งแต่ตอนต้นแห่ง วิวัฏฏกัป คือ ช่วงที่โลกกลับก่อตัวขึ้นใหม่เริ่มจากสภาพที่เป็นน้ำแผ่เต็มอวกาศอันเวิ้งว้าง ว่างเปล่า ไม่มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดวงดาวใดๆ ทั่วบริเวณมืดมิด โลกค่อยๆ แข็งตัวขึ้นมีพืชพรรณเกิดขึ้นตามลำดับคือ

(๑) ง้วนดิน ลอยอยู่บนผิวน้ำ (๒) สะเก็ดดิน (๓)เครือดิน

(๔) ข้าวสาลีเกิดเองตามธรรมชาติ ผลิตผลเป็นข้าวสารสุกไม่มีแกลบและรำ
 ๓. ในขณะเดียวกัน ทรงแสดงวิวัฒนาการของมนุษย์ควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของโลก ดังต่อไปนี้
 ๓.๑มีพรหมพวกหนึ่งจากชั้นอาภัสสรพรหมจุติลงมาเกิดในโลกระยะแรกเริ่ม ที่ยังเป็นพื้นน้ำสัตว์โลกพวกนี้ยังมีสภาพร่างกายเป็นทิพย์ มีฤทธิ์ทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีกายสัญจรอยู่ในอากาศ เช่นเดียวกับสมัยที่อยู่ในชั้นอาภัสสรพรหม
 ๓.๒ ต่อมาเมื่อเกิดง้วนดินขึ้น สัตว์โลกหรือมนุษย์พวกแรกได้ใช้บริโภคเป็นอาหารแทนปีติทำให้ร่างกายหยาบขึ้น รัศมีกายหายไป ตอนนี้เกิดมี ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดวงดาวขึ้น
 ๓.๓ เมื่อสัตว์โลกพวกนี้บริโภคง้วนดินนานๆเข้า ร่างกายเปลี่ยนแปลงมากขึ้น บางพวกผิวพรรณดี บางพวกมีผิวพรรณเลวจึงเกิดการเหยียดผิวกันขึ้น เพราะเหยียดผิวกัน ง้วนดินจึงหายไปพวกเขาจึงเกิดความโหยหาขึ้นเป็นครั้งแรก
 ๓.๔ เมื่อสะเก็ดดินเกิดขึ้นสัตว์โลกพวกนี้จึงใช้สะเก็ดดิน เป็นอาหารแทนง้วนดิน ที่หายไปเมื่อบริโภคสะเก็ดดินไปนานๆ ร่างกายได้เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผิวพรรณต่างกันมากขึ้นการเหยียดผิวกันก็รุนแรงขึ้น ทำให้สะเก็ดดินหายไป พวกสัตว์โลกได้เกิดความรู้สึกโหยหาขึ้นไปอีก
 ๓.๕ เมื่อเครือดินเกิดขึ้นพวกเขาก็ใช้เครือดินเป็นอาหารแทนสะเก็ดดิน ที่หายไป และเมื่อบริโภคไปนานๆจึงมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้น การเหยียดผิวก็ยิ่งรุนแรงขึ้นจนเครือดินหายไป พวกเขากลับรู้สึกโหยหาต่อไปอีก
 ๓.๖ เมื่อขาวสาลี (เกิดเอง) เกิดขึ้น พวกเขาก็ใช้ข้าวสาลีนี้เป็นอาหารแทนและเมื่อบริโภคข้าวสาลีไปนานๆ จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้นคือเกิดอวัยวะเพศชายและเพศหญิงขึ้นทำให้เกิดลักษณะเป็นมนุษย์ผู้ชายและผู้หญิงเด่นชัด เมื่อคนต่างเพศเพ่งมองกันจึงเกิดความรู้สึกทางเพศขึ้น และได้เสพเมถุนธรรมกัน การเสพเมถุนธรรมนี้เขาถือว่าเป็นความชั่ว ฉะนั้น เมื่อเห็นผู้ใดเสพเมถุนธรรมกันคนส่วนมากจะพากันขับไล่อกไป จากหมู่ต่อมาผู้นิยมเสพเมถุนธรรมจึงแยกตัวไปปลูกเรือนอยู่เพื่อมิให้ผู้อื่นเห็นพวกนี้มีคำเรียกต่อมาว่า ผู้ครองเรือน (อาคาริก) ผู้ไม่มีเรือน เรียกว่า อนาคาริกซึ่งต่อมาได้แก่นักบวช
 ๓.๗ ข้าวสาลีเกิดเองนี้มีลักษณะพิเศษ คือต้นที่ถูกเก็บผลไปในตอนเช้า จะผลิตผลขึ้นใหม่อีกในตอนเย็นหรือต้นที่ถูกเก็บผลในตอนเย็น จะผลิตผลขึ้นใหม่อีกในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นพวกเขาจึงมีข้าวสาลี ให้บริโภคอย่างไม่บกพร่อง ทั้งนี้เพราะพวกนี้ยังไม่มีการสะสมคืออยากบริโภคเวลาไหน ก็ไปเก็บมาบริโภค เพียงครั้งละมื้อ ต่อมาเมื่อมีการสะสมขึ้นคือ บางพวกเก็บมาครั้งเดียว สำหรับบริโภคทั้งเช้าและเย็นบ้าง เก็บไว้บริโภค ๒วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๘ วันบ้าง ทำให้ต้นข้าวสาลีที่ถูกเก็บผลไปแล้ว ไม่ผลิตผลอีกต่อไปโดยนัยนี้ข้าวสาลีก็ค่อยลดจำนวนลวง จนมหาชนมองเห็นภัยเฉพาะหน้า
 ๔.ต่อจากนี้ ตรัสเล่าถึงวิวัฒนาการของระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไว้อย่างน่าสนใจยิ่งคือ ตรัสเล่าว่ามหาชนได้ประชุมกันเพื่อแก้ไขป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นโดยตกลงให้แบ่งสรรที่ดินให้แต่ละคน (ครอบครัว) มีสิทธิครอบครองเพื่อทำมาหากินและคัดเลือกผู้มีลักษณะดีให้ทำหน้าที่ปกครองดูแลในฐานะเจ้าของแผ่นดิน จึงมีคำว่าขัตติยะ (ตรงกับคำว่า กษัตริยะ ในภาษาสันสกฤต) เกิดขึ้นโดยประชาชนยินดีแบ่งปันผลประโยชน์แก่ผู้ปกครองนั้นเนื่องจากผู้ปกครองทำหน้าที่ได้ดี ประชาชนพอใจ จึงมีคำว่า ราชา เกิดขึ้นและเนื่องจาก ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มหาชนคัดเลือก แต่งตั้งจึงมีชื่อว่า มหาสมมตราชด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ กลุ่มคนที่เรียกว่า กษัตริย์จึงเกิดขึ้น
 ต่อมาเมื่อมีคนละเมิดสิทธิของผู้อื่น และกระทำการทุจริตต่าง ๆ มากขึ้น จึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งช่วยทำหน้าที่สั่งสอนและทำพิธีลอยบาปให้ จึงมีคำว่า พราหมณ์เกิดขึ้น พวกนี้ก็ได้รับการบำรุงเลี้ยงดูจากประชาชน พวกที่นิยมเสพเมถุนธรรมซึ่งเป็นผู้ครองเรือนและมีหน้าที่ทำงานต่างๆ ตามถนัด จึงมีชื่อว่า เวสสา คือพวกแพศย์ นอกจากนี้ยังมี ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งทำการงานที่ต่ำกว่าพวกแพศย์จึงมีชื่อว่า สุททะ หรือ ศูทร
 ตรัสเล่าต่อไปว่า ต่อมามีกษัตริย์ผู้เบื่อหน่ายหน้าที่ปกครอง จึงออกไปบวชเป็นบรรพชิต เรียกตัวเองว่า สมณะคำว่า สมณะ จึงเกิดขึ้น แม้พวกพราหมณ์ พวกแพศย์และพวกศูทรที่เบื่อหน่ายหน้าที่ของตน ๆ ออกบวชเป็นบรรพชิตก็เรียกว่า สมณะเหมือนกัน
  ภาคนิคม
 ตรัสสรุปว่าการเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และแม้สมณะล้วนเป็นโดยธรรม คือหน้าที่มิใช่โดยวรรณะอย่างที่พวกพราหมณ์เข้าใจ ทั้ง ๕ พวกนี้ ถ้าประพฤติอธรรม คือกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายก็ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรกเหมือนกัน ถ้าประพฤติธรรมคือ สุจริต ๓ หลังจากตายก็ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันแล้วตรัสสอนให้เจริญโพธิปักขิยธรรมในที่สุดทรงยกคำภาษิตของสนังกุมารพรหมมาสนับสนุนพระพุทธภาษิตข้างต้นว่า

ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุดส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะจัดว่าเป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์๒

  ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
 [๑๒๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ เพื่อจะบริโภคเมื่อใดสัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ เพื่อบริโภคเมื่อนั้นรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปเมื่อรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏกลางคืน กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน กลางวันปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนก็ปรากฏเมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้ โลกนี้จึงได้กลับฟื้นขึ้นอีก๖
 พระพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกมีเพียงเท่านี้ แต่ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคพระพุทธโฆสาจารย์ท่านอธิบายโดยละเอียดพิสดารว่า
 "... ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ชื่อว่า จนฺทิมสุริยา. บทว่า ปาตุรเหสํ แปลว่าปรากฏขึ้น.ก็บรรดาดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นอย่างไหนปรากฏก่อน ใครอยู่ในที่ไหนประมาณของใครเป็นอย่างไร ใครอยู่สูง ใครหมุนเร็ววิถีทางของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นเป็นอย่างไร เที่ยวไปได้อย่างไรทำแสงสว่างในที่มีประมาณเท่าใด.
 ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองไม่ปรากฏพร้อมกัน.ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นก่อน. ก็เมื่อรัศมีเฉพาะตัวของสัตว์เหล่านั้นได้หายไปความมืดมนจึงได้มีขึ้น. สัตว์เหล่านั้นทั้งกลัวทั้งสะดุ้งคิดกันว่าคงจะดีหนอถ้าแสงสว่างปรากฏขึ้นมาดังนี้ต่อแต่นั้นดวงอาทิตย์อันให้ความกล้าเกิดขึ้นแก่มหาชนก็ได้ตั้งขึ้น.ด้วยเหตุนั้นดวงอาทิตย์นั้นจึงได้นามว่า สุริโย ดังนี้. เมื่อดวงอาทิตย์นั้นทำแสงสว่างตลอดวันแล้วอัสดงคตไป ความมืดมนก็กลับมีขึ้นอีก. สัตว์เหล่านั้นพากันคิดว่า คงจะเป็นการดีหนอ ถ้าหากว่าพึงมีแสงสว่างอย่างอื่นเกิดขึ้นดังนี้.ทีนั้นดวงจันทร์รู้ความพอใจของสัตว์เหล่านั้นจึงเกิดขึ้นมา. ด้วยเหตุนั้นนั่นแลดวงจันทร์จึงได้นามว่า จนฺโท ดังนี้. บรรดาดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นดวงจันทร์อยู่ในวิมานภายใน ล้วนแล้วด้วยแก้วมณี วิมานภายนอกล้วนแล้วด้วยแก้วผลึก.ทั้งภายในและภายนอกร้อนจัด.ว่าโดยประมาณดวงจันทร์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๙ โยชน์ เส้นรอบวง ยาว ๒๕๐ โยชน์.ดวงอาทิตย์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐ โยชน์ เส้นรอบวงยาว ๒๕๐โยชน์.
 ดวงจันทร์อยู่ข้างล่างดวงอาทิตย์อยู่ข้างบน. ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นอยู่ห่างกันโยชน์หนึ่ง.จากส่วนล่างของดวงจันทร์ถึงส่วนบนของ ดวงอาทิตย์ มีระยะ ๑๐๐โยชน์.
 ดวงจันทร์หมุนไปทางด้านตรงช้าแต่หมุนไปทางด้านขวางเร็ว หมู่ดาวนักษัตรก็หมุนไปในสองด้านดวงจันทร์หมุนไปใกล้หมู่ดาวนั้นๆ เหมือนแม่โคเข้าไปหาลูกโคฉะนั้น.ส่วนหมู่ดาวไม่ทิ้งที่อยู่ของตนเลย. การหมุนไปของดวงอาทิตย์ทางตรงเร็วไปทางขวางช้า. ดวงอาทิตย์นี้ โคจรห่างดวงจันทร์แสนโยชน์ในวันปาฏิบทจากวันอุโบสถกาฬปักษ์. เวลานั้นดวงจันทร์ปรากฏเหมือนรอยเขียนฉะนั้น.ดวงอาทิตย์โคจร ห่างไปเป็นระยะแสนโยชน์ ในปักษ์ที่ ๒ ดวงอาทิตย์ได้โคจรห่างไปดังที่กล่าวแล้วนี้ เป็นระยะแสนๆ โยชน์จนถึงวันอุโบสถ.ลำดับนั้นดวงจันทร์ก็ใหญ่ขึ้นโดยลำดับ ไปเต็มดวงในวันอุโบสถ.โคจรห่างออกไปแสนโยชน์ในวันปาฏิบทอีก. โคจรห่างออกไปเป็นระยะแสนโยชน์ ในปักษ์ที่ ๒ดวงอาทิตย์โคจรห่างไปดังกล่าวแล้วนี้เป็นระยะแสนๆ โยชน์จนถึงวันอุโบสถ.ทีนั้นดวงจันอับแสงลงโดยลำดับแล้วไม่ปรากฏทั้งดวงในวันอุโบสถดวงอาทิตย์ลอยอยู่เบื้องบนให้ดวงจันทร์อยู่เบื้องล่างย่อมปกปิดดวงจันทร์ไว้ได้เหมือนภาชนะเล็กถูกถาดใหญ่ปิดไว้ฉะนั้น.เงาของดวงจันทร์ไม่ปรากฏเหมือนเงาเรือนไม่ปรากฏในเวลาเที่ยง.ดวงอาทิตย์นั้นเมื่อเงาไม่ปรากฏ แม้ตัวเองก็ไม่ปรากฏเหมือนประทีปในกลางวันไม่ปรากฏแก่หมู่ชนผู้ยืนอยู่ไกลฉะนั้น.
 ก็พึงทราบวินิจฉัยในคำว่าวิถีของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นอย่างไร ต่อไปนี้ วิถีมีดังนี้คือ วิถีแพะ วิถีช้าง วิถีของโค.บรรดาวิถีเหล่านั้น น้ำเป็นของปฏิกูลสำหรับแพะทั้งหลายแต่น้ำนั้นเป็นที่ชอบใจของช้างทั้งหลาย เป็นที่ผาสุกของฝูงโคเพราะมีความเย็นและความร้อนเสมอกัน. ฉะนั้น ในเวลาใดดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นสู่วิถีของแพะ เวลานั้นฝนไม่ตกเลยแม้สักเม็ดเดียว เมื่อใดดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นสู่วิถีของช้าง เมื่อนั้นฝนจะตกแรงเหมือนท้องฟ้ารั่ว.เมื่อใดดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นสู่วิถีของโคเมื่อนั้นความสม่ำเสมอของฤดูก็ย่อมถึงพร้อมกัน.
 ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมเคลื่อนอยู่ภายนอกภูเขาสิเนรุเป็นเวลา ๖ เดือน และโคจรอยู่ภายในอีก ๖ เดือน.ความจริงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นย่อมโคจรไปใกล้ภูเขาสิเนรุในเดือน ๘.แต่นั้นเคลื่อนออกไปโคจรอยู่ในภายนอก ๒ เดือนแล้วเคลื่อนไปอยู่โดยท่ามกลางในต้นเดือน ๑๒. แต่นั้นเคลื่อนมุ่งหน้าต่อจักรวาฬแล้วโคจรอยู่ใกล้ๆ จักรวาฬเป็นเวลา ๓ เดือน แล้วเคลื่อนออกห่างมาอีก ไปอยู่ตรงกลางจักรวาฬในเดือน ๕ ต่อแต่นั้นในเดือนอื่นก็เคลื่อนมุ่งหน้าต่อภูเขาสิเนรุ แล้วไปโคจรอยู่ใกล้ๆ ภูเขาสิเนรุในเดือน ๘ อีก.
 พึงทราบวินิจฉัยใน คำว่าดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ทำแสงสว่างในที่นี้ประมาณเท่าใด ดังนี้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมทำแสงสว่างในทวีปทั้ง ๓ โดยพร้อมกัน. กระทำได้อย่างไร.ก็เวลาพระอาทิตย์ขึ้นในทวีปนี้เป็นเวลาเที่ยงในปุพพวิเทหทวีป เวลาที่พระอาทิตย์ตกในอุตตรกุรุทวีปเป็นมัชฌิมยามในอมรโคยานทวีป. เวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในปุพพวิเทหทวีปเป็นเวลาเที่ยงในอุตตรกุรุทวีปเวลาที่พระอาทิตย์ตกในอมรโคยานทวี เป็นมัชฌิมยามในทวีปนี้.เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นในอุตตรกุรุทวีป เป็นเวลาเที่ยงในอมรโคยานทวีปเวลาที่พระอาทิตย์ตกในทวีปนี้ เป็นเวลามัชฌิมยามในปุพพวิเทหทวีป.เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นในอมรโคยานทวีป เป็นเวลาเที่ยงในทวีปนี้เวลาที่พระอาทิตย์ตกในบุพพวิเทหทวีป เป็นเวลามัชฌิมยามในอุตตรกุรุทวีปฉะนี้แล.
 พึงทราบวินิจฉัยในสองบทว่า นกฺขตฺตานิ ตารกรูปานิ ต่อไปดาวนักษัตรมีดาวฤกษ์ เป็นต้น และหมู่ดาวทั้งหลายที่เหลือย่อมปรากฏพร้อมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์. บทว่า รตฺตินฺทิวา ความว่าตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงอรุณขึ้น เป็นเวลากลางคืนตั้งแต่เวลาอรุณขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกจัดเป็นเวลากลางวันกลางคืนและกลางวันย่อมปรากฏอย่างว่ามานี้. ต่อแต่นั้น ๑๕ ราตรี จัดเป็นกึ่งเดือน ๒กึ่งเดือนเป็นเดือน กึ่งเดือนและเดือนหนึ่งปรากฏอย่างว่ามานี้. ทีนั้น ๔เดือนจัดเป็น ๑ ฤดู ๓ ฤดู เป็น ๑ ปีทั้งฤดูและปีจึงปรากฏอย่างว่ามานี้๗.
 การบรรยายลักษณะสัณฐานของพระจันทร์และพระอาทิตย์ยกขึ้นเฉพาะที่ผู้เขียนพิมพ์ตัวดำไว้ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามความจริงของหลักดาราศาสตร์ในปัจจุบันแล้วและพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสโลกสัณฐานว่าเป็นเช่นนี้ไว้ที่ไหนในพระไตรปิฎกเพราะฉะนั้นแนวอธิบายนี้ไม่ใช่เป็นพุทธมติ แต่เป็นมติของพระพุทธโฆสาจารย์ตามแนวโลกทัศน์ของพราหมณ์ซึ่งเป็นพื้นความรู้เดิมของท่านอย่างแน่นอน
 อนึ่ง ในปฐมสมันตปาสาทิกาพระพุทธโฆสาจารย์ได้อธิบายพุทธคุณบทว่า โลกวิทูไว้ตอนหนึ่งว่า"จริงอย่างนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงรู้แจ้ง คือได้ทรงทราบ ได้ทรงแทงตลอดแล้วซึ่งโลกธาตุอันไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดตลอดอนันตจักรวาลอย่างนี้ คือ จักรวาลหนึ่ง ว่าโดยส่วนยาวและส่วนกว้างมีประมาณล้านสองแสนสามพันสี่ร้อยห้าสิบโยชน์...
 ในโลกธาตุนั้นดวงจันทร์ (วัดโดยตรงโดยส่วนยาวส่วนกว้างและส่วนสูง) ๔๙ โยชน์, ดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๐โยชน์, ภพดาวดึงส์ประมาณหมื่นโยชน์, ภพอสูร อวีจิมหานรกและชมพูทวีปก็มีประมาณเท่านั้น, อมรโคยานทวีป ประมาณ ๗ พันโยชน์, ปุพพวิเทหทวีปก็มีประมาณเท่านั้น, อุตรกุรุทวีป ประมาณ ๘ พันโยชน์, ก็แล ทวีปใหญ่ๆ ในโลกธาตุนี้แต่ละทวีปๆ มีทวีปเล็กๆ เป็นบริวาร ทวีปละห้าร้อยๆ, จักรวาลหนึ่งแม้ทั้งหมดนั้นชื่อว่าโลกธาตุหนึ่ง, ในระหว่างแห่งจักรวาลนั้น เป็นโลกันตริกนรก". แม้โอกาสโลก, (โลกคือแผ่นดิน) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวงด้วยประการอย่างนี้. พระผู้มี พระภาคนั้นทรงพระนามาว่า โลกวิทูเพราะความที่พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทั้งปวงแม้ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้."๘
 
 ความจริงความหมายของคำว่าโลกวิทู ในแง่ของสังขารโลก (โลกคือสังขาร) และ สัตวโลก (โลกคือหมู่สัตว์)พระพุทธโฆสารย์ท่านตีความพระพุทธพจน์ได้ถูกต้องแล้วตาม พุทธมติ แต่ในแง่ของโอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ผู้เขียนว่าท่านดึงเข้าหามติพราหมณ์ ไม่ใช่พุทธมติ ทั้งๆที่ตอนแรกท่านตีความพระพุทธพจน์ตามจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกายถูกต้องแล้วว่า "จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้คือทรงรู้ทั่วถึง ทรงแทงตลอดโลก โดยประการทั้งปวง โดยสภาพบ้าง โดยสมุทัยบ้างโดยนิโรธบ้าง โดยอุบายเป็นเหตุพึงนิโรธบ้าง. เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนอาวุโส! ในที่สุดแห่งโลกใดแล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติเราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกนั้นว่า อันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง ด้วยการไป (ด้วยกาย), ดูก่อนอาวุโส ! และเราไม่กล่าวว่า การยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกเลยจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้, ดูก่อนอาวุโส ! อีกอย่างหนึ่ง เราย่อมบัญญัติโลกความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลกที่กเลวระประมาณวาหนึ่งนี้แล ซึ่งมีสัญญามีใจ,
 "ที่สุดแห่งโลก บุคคลไม่พึงถึงได้ด้วยการไป (ด้วยกาย) ในกาลไหนๆ และจะไม่มีการพ้นจากทุกข์ได้ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก.เพราะเหตุนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็นผู้สงบ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้วย่อมไม่ปรารถนาโลกนี้และโลกอื่น"๙
 
 อนึ่งในการอธิบายเรื่องสังขารโลกตามนัยแห่งขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรคท่านก็กล่าวไว้ชัดแจ้งคือ
 "โลก ๑ คือสรรพสัตว์ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร, โลก ๒ คือ นาม ๑ รูป ๑, โลก ๓ คือ เวทนา ๓, โลก ๔ คืออาหาร๔, โลก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕, โลก ๖ คืออายตนะภายใน ๖, โลก ๗ คือวิญญาณฐิติ ๗, โลก ๘คือโลกธรรม ๘, โลก ๙ คือสัตตาวาส ๙, โลก ๑๐ คืออายตนะ ๑๐, โลก ๑๒ คืออายตนะ ๑๒, โลก๑๘ คือธาตุ๑๘."๑๐
 จากข้อสังเกตเปรียบเทียบมติของพระพุทธโฆสาจารย์เกี่ยวกับโอกาสโลกที่ท่านอธิบายไว้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม่ใช่พุทธมติคือความรู้ที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแต่เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์คือพระพุทธโฆสาจารย์ซึ่งดึงเอาภูมิความรู้เดิมของท่านตามทัศนะพราหมณ์มาขยายความพระพุทธพจน์
 โลกทัศน์ในแนวคิดของพราหมณ์ที่เข้ามาเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกตามพระพุทธ-โฆสาจารย์มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของพระคันถรจนาจารย์รุ่นหลังมากดังจะเห็นได้ว่ามีคัมภีร์ในชั้นฎีกาอธิบายโอกาสโลกตามแนวนี้และเพิ่มเติมเสริมแต่งไปจนกลายเป็น สิ่งเหลือเชื่อและเป็นไปไม่ได้คัมภีร์ดังกล่าวเช่น จักกวาลทีปนี, โลกทีปนี, โลกทีปกสาร, โลกุปปัตติเป็นต้น๑๑แม้วรรณกรรมชิ้นเอกสมัยสุโขทัย คือไตรภูมิพระร่วงก็ได้แนวคิดไปจากพระอรรถกถาจารย์และพระคันถรจนาจารย์ท่านอื่นๆสมุดภาพไตรภูมิพระร่วงสมัยกรุงธนบุรี และเตภูมิกถาสมัยรัชกาลที่ ๑แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีแนวคิดจากที่มาแหล่งเดียวกันในสมัยปัจจุบันก็มีวรรณกรรมไทยเรื่อง ภูมิวิลาสินี และโลกทีปนี เป็นต้นของพระพรหมโมลี (วิลาสญาณวโร) วัดยานนาวาตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่หลายครั้ง
 จะเห็นได้ว่าเรื่องต้นกำเนิดของโลกและพัฒนาของโลกซึ่งมีแหล่งที่มาจากพระไตรปิฎก ทีฆนิกายปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร อันเป็นพระพุทธพจน์ นั้น ได้รับการตีความเพิ่มเติมเสริมต่อกันเรื่อยมา และเพราะเป็นพระพุทธพจน์คนทั่วไปจึงเข้าใจและเชื่อว่าเป็น พุทธมติซึ่งผู้เขียนจะยกแต่ละประเด็นขึ้นมาวิเคราะห์และโต้แย้งในตอนหลัง
 มติของสุชีพ ปุญญานุภาพ
 อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพถือเป็นปราชญ์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกา อีกท่านหนึ่งได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องต้นกำเนิดของโลกตามอัคคัญญสูตรไว้ว่า
 "พระสูตรนี้มีลีลาแสดงความเป็นมาของโลก แต่แสดงแล้วก็ยกธรรมะเป็นจุดสูงสุดในเทวดาและมนุษย์.วรรณะทั้ง ๔ ก็มาจากคนพวกเดียวกัน ไม่มีใครวิเศษกว่ากันแต่ภายหลังคนเข้าใจผิดดูหมิ่นกันไปเอง. การแสดงเรื่องความเป็นมาของโลกอาจวินิจฉัยได้เป็น ๒ ประการ คือประการแรก เป็นการเอาหลักของศาสนาพราหมณ์มาเล่าแต่อธิบายหรือตีความเสียใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอยกับคติธรรมทางพระพุทธศาสนาอันชี้ให้เห็นว่า พราหมณ์เข้าใจของเก่าผิด จึงหลงยกตัวเองว่าประเสริฐ.อีกอย่างหนึ่ง เป็นการเล่าโดยมิได้อิงคติของพราหมณ์ โดยถือเป็นของพระพุทธศาสนาแท้ๆก็แปลกดีเหมือนกัน เพราะถ้าเทียบส่วนใหญ่กับส่วนเล็กในทางวิทยาศาสตร์แล้วปรมาณูที่มีโปรตอนเป็นศูนย์กลาง มีอีเล็กตรอน เป็นตัววิ่งวน รวมทั้งมีนิวตรอนเป็นส่วนประกอบด้วยนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับสุริยระบบ ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ (PLANETS) เช่นโลกเรา และดาวพระศุกร์ พระเสาร์เป็นต้นวนรอบคล้ายอีเล็กตรอน มีบางโอกาสที่ปรมาณูอาจถูกแยก ถูกทำลาย เพราะเหตุภายนอกเช่นที่นักวิทยาศาสตร์จัดทำฉันใด สุริยระบบ หรือ SOLAR SYSTEM ก็เช่นเดียวกันอาจถูกทำลายหรือสลายตัว แล้วเกิดใหม่ได้เพราะมีระบบสุริยะอื่นเข้ามาใกล้หรือมีเหตุอื่น เกิดขึ้น ในการเกิดก็เช่นเดียวกันเมื่อทำลายได้ก็อาจรวมตัวได้ ในเมื่อธาตุไฮโดรเย็นกับออกซิเยนรวมตัวกันเป็นน้ำพวกฝุ่นผงที่แหลกก็เข้ามารวมตัวกับน้ำได้และแข้นแข็งขึ้นในที่สุดเป็นเรื่องเสนอชวนให้คิด แต่มิได้ชวนให้ติดในเกร็ดเพราะสาระสำคัญอยู่ที่การถือธรรมะเป็นใหญ่เป็นหลักของสังคมทุกชั้น."๑๒

 จะเห็นได้ว่า สุชีพปุญญานุภาพ ก็นำเสนอทัศนะแบบแบ่งรับแบ่งสู้ คืออาจเป็นมติของพราหมณ์ที่พระพุทธเจ้ายกมาอธิบายเสียใหม่เพื่อให้เข้ากับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหรืออีกนัยหนึ่งเป็นพุทธมติก็เป็นได้เพราะดูสอดคล้องกับหลักการวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อยแต่ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลที่จะรองรับความเป็นพุทธมติในเรื่องนี้ยังอ่อนไปในประเด็นของดาราศาสตร์
 ใน "บทนำ" ของพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายปาฏิกวรรค เมื่อกล่าวถึงอัคคัญญสูตร อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียง "บทนำ" ของพระไตรปิฎกเล่มนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ใน ๒ข้อแรกว่า

 ๑.รูปแบบและวิธีการที่ทรงใช้แสดงพระสูตรนี้คล้ายกับพระสูตรที่ ๓ ข้างต้น [จักกวัตติสูตร] คือทรงสาธกนิทานโบราณคดีมาสนับสนุนหลักธรรมของพระองค์ ทำให้เร้าใจชวนฟังชวนอ่านเป็นอย่างยิ่ง

 ๒.นับเป็นพระสูตรแรกที่ทรงแสดงเรื่องต้นกำเนิดหรือวิวัฒนาการของโลกไว้อย่างแจ่มแจ้งโดยมิได้มีผู้ใดทูลขอให้ทรงแสดงวิวัฒนาการของโลกที่ทรงแสดงนี้คล้ายมติทางวิทยาศาสตร์ คือโลกเกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่มีผู้สร้างไม่มีผู้ทำลาย."๑๓

 ข้อที่น่าสังเกต ๒ ประการนี้ก็คล้ายคลึงกันกับหมายเหตุของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ดังกล่าวมาแล้ว และในข้อ ๒นั้นดูเหมือนจะให้น้ำหนักว่าเป็นพุทธมติ เมื่อผู้เขียนพบกับอาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญได้ออกความเห็นเชิงโต้แย้งว่า ไม่เชื่อว่าเป็นพุทธมติท่านชี้แจงว่าได้แสดงความคิดเห็นไปตามอรรถกถา เพราะถ้าไม่เชื่อพระอรรถกถาจารย์แล้วก็ไม่รู้จะเชื่อหรืออ้างใครเมื่อไม่เข้าใจพระพุทธพจน์ ส่วนผู้ใดจะเชื่อหรือไม่เชื่อตามพระอรรถกถา-จารย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยนั้นคณะบรรณาธิการยึดแนว พระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์เป็นหลักบางแห่งที่ขัดแย้งกันก็ลงหมายเหตุเชิงอรรถไว้เป็นหลายนัยให้ผู้รู้หรือผู้อ่านได้วินิจฉัยด้วยตัวเอง


 ในการยกประเด็นขึ้นโต้แย้งว่าเรื่องต้นกำเนิดของโลกไม่ใช่พุทธมติผู้เขียนได้ถือเอาพระไตรปิฎกทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทยของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วยอรรถกถาอัคคัญญสูตรทั้งฉบับภาษาบาลีและภาษาไทย ของอาจารย์ พร รัตนสุวรรณ แห่งสำนักค้นคว้าทางวิญญาณเป็นทางสอบทานและอภิปรายโต้แย้ง โดยขอตั้งประเด็นเป็นเรื่องๆ ไปดังนี้

คำสำคัญ (Tags): #โลกจักรวาล
หมายเลขบันทึก: 512383เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

๓.๑ประเด็นวิเคราะห์จากข้อความในอัคคัญญสูตร
 ๓.๑.๑ ในข้อ ๑๑๔มีข้อความว่า "ตคฺฆ โว วาเสฏฺฐ พฺราหฺมณา โปราณํ อสรนฺตา เอวมาหํสุ พฺราหฺมโณ วเสฏฺโฐ วณฺโณ ... เต จ พฺรหฺมญฺเจว อพฺภาจิกฺขนฺติ, มุสา จ ภาสนฺติ, พหุญฺจ อปุฺํปสวนฺติ"๑๔ "วาเสฏฺฐะและภารทวาชะพวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่าวรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือวรรณะพราหมณ์ เท่านั้น ... ก็พราหมณ์เหล่านั้นกล่าวตู่พรหมและพูดเท็จพวกเขาจะต้องประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก"๑๕
 พระพุทธโฆสาจารย์แก้ความตอนนี้ไว้ในสุมังคลวิลาสินีว่า
 "ตคฺฆโว วาเสฏฺฐ พฺราหฺมณา โปราณํ อสรนฺตา เอวมาหํสู"ติ เอตฺถ โวติ นิปาตมตฺตํ, สามิวจนํวา, ตุมฺหากํ พฺราหฺมณาติ อตฺโถ. โปราณนฺติ โปราณกํ อคฺคฺํ โลกุปปตฺติจริยวํสํ.อสรนฺตาติ อชานมานา. อิทํ วุตฺตํ โหติ. เอกํเสน โว วาเสฏฺฐ พฺราหฺมณา โปราณํโลกุปฺปตฺตึ อนนุสฺสรนฺตา อชานนฺตา เอวํ วทนฺตีติ. "ทิสฺสนฺติ โข ปนา"ติ เอวมาทิเตสํ ลทฺธิภินฺทนตฺถาย วุตฺตํ"๑๖
 "คำว่า โว ในคำว่า ตคฺฆโว วาเสฏฺฐ พฺราหฺมณา โปราณํ อสรนฺตา เอวมาหํสุ นี้ เป็นเพียงนิบาต อีกอย่างหนึ่งเป็นฉัฏฐีวิภัติ. อธิบายว่า พราหมณ์ทั้งหลายระลึกเรื่องเก่าของท่านไม่ได้จึงกล่าวอย่างนั้น. บทว่า โปราณํ ความว่า วงศ์แห่งความประพฤติผู้อุบัติขึ้นในโลกที่รู้กัน ว่าเลิศเป็นของเก่า. บทว่า อสรนฺตา แปลว่ารู้ไม่ได้.มีคำอธิบายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า วาเสฏฐะ พราหมณ์ทั้งหลาย ระลึกไม่ได้รู้ไม่ได้ซึ่งการอุบัติขึ้นในโลกอันเป็นของเก่าของท่าน จึงพากันกล่าวอย่างนี้.คำว่า ทิสฺสนฺติ โข ปน ดังนี้เป็นต้นพระผู้มีพระภาคตรัสไว้เพื่อประโยชน์แก่การทำลายความเห็นของพราหมณ์เหล่านั้น"๑๗
 ประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อคามว่า "พฺราหฺมณา โปราณํ อสรนฺตา เอวมาหํสุ" คือพวกพราหมณ์ระลึกเรื่องเก่าของตนไม่ได้จึงกล่าวอย่างนั้น คำว่า โปราณํพระอรรถกถาจารย์แก้ความว่า โปราณกํ อคฺคฺํ โลกุปฺปตฺติจริยวํสํ คือวงศ์แห่งความประพฤติผู้อุบัติขึ้นในโลกที่รู้กันว่าเลิศเป็นของเก่า"คำแปลนี้ตามที่ท่านแปลอรรถกถาไว้เป็นภาษาไทยแปลเอาความก็คือเรื่องต้นกำเนิดของโลกนั่นเอง
 คำศัพท์ที่เป็นกุญแจไขไปสู่ข้อโต้แย้งที่ชัดเจนก็คือคำว่าโปราณํ หรือ โปราณกํ ซึ่ง ก็แปลว่าเรื่องเก่า เรื่องโบราณเล่าขานกันมาแต่เมื่อไรไม่ปรากฏมีมาก่อนพุทธกาลนานนักหนาอย่างแน่นอน
 เมื่อพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าโบราณ ก็เป็นเรื่องความเชื่อหรือความเข้าใจของผู้คนก่อนสมัยพระพุทธองค์มาแล้วช้านาน ย่อมจะเป็นพุทธมติ คือความรู้ที่เกิดจากพระสัพพัญญุตญาณมิได้
 ในพระไตรปิฎกนั้นเมื่อกล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นคือนิทาน จะมีอยู่ ๓ ประเภทคือ

(๑) ทูเรนิทานคือเรื่องที่เกิดขึ้นมานานนักหนาแล้ว จนไม่มีใครทราบว่าเกิดขึ้นแต่เมื่อใด

(๒)อวิทูเรนิทาน คือเรื่องที่เกิดขึ้นไม่นานนัก แต่ก็ก่อนสมัยพุทธกาลซึ่งอาจยังมีร่องรอยหลักฐานปรากฏอยู่

(๓) สันติเกนิทาน คือเรื่องที่เกิดขึ้นใกล้ๆในเวลาไม่นาน ซึ่งหมายถึง สมัยของพระพุทธองค์
 เรื่องโบราณในที่นี้จัดเป็นประเภททูเรนิทานและเมื่อเป็นเรื่องของพระพรหมที่พวกพราหมณ์นับถือและกล่าวอ้างว่าพวกตนเป็นบุตรเป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พรหมสร้างขึ้นเป็นทายาทของพระพรหม เรื่องความเชื่อเช่นนี้ก็ต้องเป็นมติของพราหมณ์ และคำว่า "มติ"เมื่อเป็นของพราหมณ์ จึงไม่ใช่พุทธมติ คือความรู้ ที่เกิดจากพระสัพพัญญุตญาณเป็นเพียงความรู้ธรรมดาที่เกิดจากการเรียนและทรงจำมาตามที่ได้รับการอบรมสั่งสอนเหมือนนักเรียนได้เรียนและจำนิทานอีสปมาแล้วอย่างนั้น
 พระพุทธเจ้าของเรานั้นได้ศึกษาศิลปศาสตร์ ๒๘ ประการ สำเร็จมาแต่ครั้งทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะจึงเป็นอันยืนยันได้ว่า เรื่อง "โบราณเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก"แบบนี้ก็ได้ทรงเรียนรู้ตามแบบอย่างของพราหมณ์สมัยนั้นมาแล้วเมื่อพวกพราหมณ์จำเรื่องโบราณของตนไม่ได้ หรืออาจจำได้แต่ตีความผิดๆเข้าข้างพวกตนเองว่าเป็นพวกวรรณะประเสริฐ เพื่อยกย่องตนเองและข่มผู้อื่นพระพุทธเจ้าจึงจำเป็นต้องยกเรื่องนี้มากล่าว "เตสํ ลทฺธิ- ภินฺทนตฺถาย วุตฺตํพระผู้มีพระภาคตรัสไว้เพื่อประโยชน์แก่การทำลายความเห็นของพราหมณ์เหล่านั้น"ดังที่พระอรรถกถาจารย์ท่านแก้ความไว้นั้นถูกต้องชัดเจนแล้ว
 พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเรื่องต้นกำเนิดโลก ทรงขึ้นต้นว่า "โหติ โข โส วาเสฏฺโฐ สมโย, ยํ กทาจิ กรหจิ ทีฆสฺส อทฺธุโน อจฺจเยน อยํ โลโกสํวฏฺฏติ..."๑๘แปลว่า วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่งครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านานโลกนี้เสื่อม..."๑๙
 ประเด็นคำศัพท์อยู่ที่ "ยํ กทาจิ กรหจิทีฆสฺส อทฺธุโน อจฺจเยน" ซึ่งแปลตามศัพท์มีความหมายว่าเมื่อกาลหรือเวลาล่วงไปช้านานจนบอกไม่ได้ว่าเป็นกาลไหนก็ไม่มีใครรู้ นั่นคือ มีคำกทาจิ กรหจิ กำกับ คำว่า ทีฆสฺส อทฺธุโน อย่างหนักแน่นอีกครั้งหนึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเรื่องโบราณนี้เกิดขึ้นมานานเหลือเกิน นานเท่าใดไม่มีใครรู้แต่พวกพราหมณ์ เชื่อกันมาอย่างนั้นแถมยังจำรายละเอียดของเรื่องที่ตนเชื่อมาไม่ได้ทั้งหมดจึงสำคัญผิดว่าตนเป็นบุตรเป็นโอรสของพระพรหมเกิดจากโอษฐ์ของพระพรหมไป
 ๓.๑.๓ ในช่วงที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องนี้ได้ทรงย้ำถึง ๒ ครั้งในท้ายข้อ ๑๒๔ และข้อ๑๒๖ถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์จำเรื่องโบราณไม่ได้ว่า "ตเทว โปราณํ อคฺคฺํ อกฺขรํอนุสรนฺติ, น เตฺววสฺส อตฺถํ อาชานนฺติ"๒๐แปลว่า "พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้นแต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย"๒๑
 นี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ข้อความในพระสูตรเองก็ยืนยันว่าพระพุทธพจน์นี้มิใช่พุทธมติ แต่เป็นมติของพราหมณ์.

๓.๒ประเด็นวิเคราะห์ถึงมูลเหตุที่ทรงแสดงอัคคัญญสูตร
 ๓.๒.๑เพื่อให้สอดคล้องกับอัธยาศัยของวาเสฏฐะและภารทวาชะ
 ตามประวัตินั้นทั้งวาเสฏฐะและภารทวาชะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ วาเสฏฐะเคยเป็นศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ และภารทวาชะเคยเป็นศิษย์ของตารุกขพราหมณ์ ได้สนทนากันเรื่องเหตุที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ภารทวาชะเห็นว่าบุคคลผู้มีชาติกำเนิดมาดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดาถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอด ๗ ซั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านกำเนิดได้เมื่ออ้างถึงชาติตระกูล จึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์แต่วาเสฏฐะเห็นว่าผู้มีศีลและถึงพร้อมด้วยวัตร จึงจะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงพากันไปเข้าเฝ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งขณะนั้นทรงพักอยู่ที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านชื่ออิจฉานังคละซึ่งมีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงหลายคนมาพักอยู่ คือจังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์โปกขรสาติพราหมณ์ ชานุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลคนอื่นๆอีกหลายคน
 พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าบุคคลจะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรมคือการกระทำ ทรงตรัสต่อไปว่า ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ และ ทมะเป็นคุณธรรมสูงสุดของพราหมณ์ แต่ถ้าบุคคลใดถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ เป็นผู้สงบสิ้นภพใหม่แล้ว บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหมและท้าวสักกะซึ่งปรากฏว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง พระสูตรนี้จบลงทั้งสองมาณพต่างกราบทูลยกย่องว่าตรัสได้ชัดเจนไพเราะยิ่งนักแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิตทั้งนี้ดังมีรายละเอียดปรากฏในวาเสฏฐสูตร๒๒
 ครั้นต่อมามาณพสองคนนี้ถกเถียงกันถึงเรื่องทางไปสู่พรหมโลกวาเสฏฐะอ้างถึงทางที่โปกขรสาติพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกไว้ว่าเป็นทางตรงส่วนภารทวาชะก็อ้างถึงทางที่ตารุกขพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกไว้ว่าเป็นทางตรงเมื่อตกลงกันไม่ได้จึงพากันไปเฝ้ากราบทูล พระผู้มีพระภาคซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ในอัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี เหนือหมู่บ้านชื่อ มนสากฏะในแคว้นโกศล
 พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าในเมื่อบูรพาจารย์ของพราหมณ์ไม่เคยมีผู้ใดเลยพบเห็นพรหมแล้วจะบอกทางไปสู่พรหมได้อย่างไรยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคุณสมบัติของพรหมกับคุณสมบัติของพราหมณ์ไม่เหมือนกันหรือเข้ากันไม่ได้พราหมณ์เมื่อตายแล้วจะไปอยู่ร่วมกับพรหมได้อย่างไร
 พระพุทธองค์ทรงรู้จักทางตรงที่จะไปสู่พรหมเป็นอย่างดีทรงอธิบายว่าภิกษุผู้สมบูรณ์ ด้วยศีล ได้ฌาน ๔ และวิชชา ๘ มีพรหมวิหารธรรม ๔ประจำจิตตลอดเวลาเมื่อตายไปย่อมเข้าไปอยู่ร่วมกับพรหมได้
 ผลของเทศนาบทนี้ทำให้มาณพทั้งสองเลื่อมใสยิ่งนักได้ปฏิญญาณตนถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิตดังรายละเอียดปรากฏในเตวิชชสูตร๒๓
 ในอัคคัญญสูตรคือพระสูตรเรื่องนี้ปรากฏว่ามาณพทั้งสองได้เข้ามาบรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าและเนื่องจากเป็นเดียรถีย์มาก่อนจึงต้องมาบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ติตถิยปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือนก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้อุปสมบทได้
 เนื่องจากท่านทั้งสองเกิดในสกุลพรหมณ์ได้ศึกษาไตรเพทเจนจบมาก่อนแล้วหากอยู่กับพราหมณ์ต่อไปก็คงจะได้เป็นคณาจารย์สั่งสอนไตรเพทแก่ศิษย์รุ่นต่อไปแต่เมื่อเข้ามาบรรพชาในพระพุทธศาสนา จึงถูกพวกพราหมณ์ด่าอย่างสาดเสียดังที่สามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
 "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า "วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นเลววรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรเป็นโอรสเกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้นเป็นทายาทของพระพรหม เจ้าทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุดเข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือสมณะโล้น เป็นคน รับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ (กัณหโคตร)เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหม เธอ ทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุดเข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำเป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหมนี้ ไม่เป็นความดี ไม่เป็นการสมควรเลย"๒๔
 จากพระสูตรทั้งสาม คือวาเสฏฐสูตรเตวิชชสูตร และอัคคัญญสูตร ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาเณรทั้งสองรูปนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพราหมณ์และพรหมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบพื้นฐานความรู้ที่สามเณรทั้งสองรูปนี้มีอยู่แล้วการตรัสแสดงเรื่องต้นกำเนิดของโลกตามที่พวกพราหมณ์เชื่อกันว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจึงสอดคล้องกับอัธยาศัยของสามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารทวาชะมากที่สุดอันจะทำให้สองท่านนี้เข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้ง่ายดายยิ่งขึ้น


 ๓.๒.๒เพื่อยกคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์และพรหมตามหลักพระพุทธศาสนา
 ในวาเสฏฐสูตรนั้นทรงแสดงคุณธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะการกระทำดีทรงยกย่องตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ และ ทมะ ว่าเป็นคุณธรรมสูงสุดของพราหมณ์ยิ่งหากถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ เป็นผู้สงบ สิ้นภพใหม่แล้วจิตเป็นทั้งพรหมและท้าวสักกะเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นบุคคลจะอยู่วรรณะใดก็เป็นพราหมณ์เป็นพรหม เป็นท้าวสักกะได้ทั้งนั้น หากมีคุณธรรม มีการกระทำอันสุจริตและพัฒนาตนไปตามลำดับขั้น จนถึงดับทุกข์ตัดขาดจากภพใหม่ได้โดยสรุปก็คือจะเป็นพราหมณ์มิใช่เพราะถือว่าตัวเอง เกิดในวรรณะพราหมณ์แต่ขึ้นอยู่กับกรรมอันสุจริตและการพัฒนาตนตามหลักธรรมทารงพระพุทธศาสนา
 
 ๓.๒.๓เพื่อทำลายทิฏฐิคือความเห็นของพราหมณ์
 ข้อนี้ถือเป็นกุศโลบายหรือพุทธวิธีในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นลักษณะที่ปัจจุบันเรียกว่าหนามยอกเอาหนามบ่งคือตรัสลบล้างลัทธิความเชื่อของพราหมณ์หักล้างคำด่าหรือข้อกล่าวหาของพราหมณ์ที่โจมตีพวกวรรณะอื่น ๆ และพระพุทธศาสนาอย่างเช่นในเรื่องวรรณะที่พวกพราหมณ์กล่าวว่า
 
 "วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำพราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรเป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้นเป็นทายาทของพระพรหม"๒๕
 

พระพุทธเจ้าก็ทรงโต้ตอบข้อนี้ว่า
 "วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้นข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บรรดาวรรณะ ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ อรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระ ได้แล้วบรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้น เพราะรู้โดยชอบผู้นั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้นไม่ใช่โดยอธรรมเพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า."๒๖


 ข้อที่รุนแรงที่สุดที่พวกพราหมณ์อวดอ้างว่าพวกตนเป็นบุตรของพรหมเกิดจากโอษฐ์ ของพระพรหมก็ถูกพระพุทธเจ้าโต้กลับว่า


 "วาเสฏฐะและภารทวาชะพวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่าวรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น ฯลฯ "พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรสเกิดจาก โอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้นเป็นทายาทของพระพรหม" วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ปรากฏชัดอยู่ว่านางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลายมีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกดื่มนมบ้างก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้นยังกล่าวอย่างนี้ว่า 'วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น ฯลฯเป็นทายาทของพระพรหม' ก็พราหมณ์เหล่านั้น กล่าวตู่พรหมและพูดเท็จพวกเขาจะต้องประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก"๒๗


 อนึ่ง ในข้อที่ว่า วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุดพระพุทธเจ้าก็ทรงคัดค้านโดยอ้างคำของสนังกุมารพรหมที่ว่าวรรณะกษัตริย์ประเสริฐที่สุดว่า
 
 "วาเสฏฐะและภารทวาชะสมดังคาถานี้ที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า 'ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะจัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์'"๒๘


 เมื่อถือตามวรรณะ๔ ที่ว่าผู้ประเสริฐที่สุดก็ไม่ใช่พราหมณ์แต่เป็นกษัตริย์และกษัตริย์ระดับพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังเคารพอ่อนน้อมต่อพระองค์ดังข้อความว่า


 "วาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า 'พระสมณโคดม เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลที่เท่าเทียมกัน' ดังนี้ก็พวกศากยะยังต้องตามเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ตลอดเวลาและพวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรม ในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ด้วยประการดังว่ามานี้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรมนั้นในเราตถาคต ดังที่พวกเจ้าศากยะ กระทำการนอบน้อม การอภิวาทการต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในพระเจ้าปเสนทิ-โกศลพระองค์มิได้ทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้นด้วยทรงดำริว่า "พระสมณโคดมมีพระชาติกำเนิดดี เราเองมีชาติกำเนิดไม่ดีพระสมณโคดมทรงแข็งแรง เราเองไม่แข็งแรง พระสมณโคดมมีผิวพรรณผ่องใสเราเองมีผิวพรรณเศร้าหมอง พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเองเป็นผู้ต่ำศักดิ์"โดยที่แท้ พระองค์เมื่อจะทรงสักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรมจึงทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในเราตถาคตอย่างนี้ โดยเหตุผลนี้ เธอพึงทราบอย่างนี้ว่า 'ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า'"๒๙


 ข้อนี้ทรงย้ำว่า พระเจ้าปัสเสนทิโกศลที่ทรงเคารพสักการะพระพุทธองค์มิใช่เพราะพระองค์เป็นเจ้าศากยะที่มีศักดิ์แห่งวรรณะกษัตริย์เสมอกัน แต่เพราะคุณธรรมเพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุด
 อนึ่งหากพราหมณ์หรือผู้หนึ่งผู้ใดมากล่าวว่า ภิกษุสาวกของพระองค์เป็นพวกไหนก็ทรงสอนสามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะว่า
 "วาเสฏฐะและภารทวาชะเธอทั้งสองมีชาติกำเนิดต่างกัน มีชื่อต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีตระกูลต่างกันออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อมีผู้ถามว่า 'ท่านเป็นพวกไหน' พึงตอบเขาว่า 'เราเป็นพวกพระสมณศากยบุตร' ดังนี้เถิด ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต เกิดแต่รากประดิษฐานมั่นคงที่สมณพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ควรจะเรียกผู้นั้นว่า 'เป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเกิดจากพระธรรม อันพระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรม' ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะคำว่า 'ธรรมกาย' ก็ดี 'พรหมกาย' ก็ดี 'ธรรมภูต' ก็ดี 'พรหมภูต' ก็ดีล้วนเป็นชื่อของตถาคต"๓๐


 จึงสรุปตามประเด็นข้อนี้ว่าที่พระพุทธองค์ตรัสเรื่องต้นกำเนิดของโลกเพราะอัธยาศัยของสามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะแล้วยังทรงแก้ข้อกล่าวหาของพวกพราหมณ์ ล้มล้างความคิดความเชื่อของพราหมณ์ลงเสียสิ้นเป็นการยกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้ปรากฏเหนือลัทธิพราหมณ์
 ผลจากการแสดงพระสูตรนี้สามเณรทั้งสองรูปนั้นมีความชื่นชมยินดีสาธุการและได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทาสี่๓๑


 

๓.๓ประเด็นวิเคราะห์ความขัดแย้งในพระพุทธดำรัสหากทรงตรัสแสดงเรื่องต้นกำเนิดของโลกว่าเป็นพุทธมติ
 ในพรหมชาลสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุประมาณ๕๐๐ รูป ขณะทรงพักแรม ณ พระตำหนักหลวงในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกาซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทานั้น หลังจากทรงแสดงเรื่องศีล ๓ชั้นคือ จูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีลแล้ว ได้ทรงแสดงลัทธิหรือทิฏฐิ ๖๒ ประการไว้โดยละเอียด ลัทธิหรือทิฏฐิเหล่านี้บางครั้งก็เรียกว่าวาทะอันเป็นทฤษฎีความเชื่อของพวกสมณพราหมณ์ในสมัยนั้นจำแนกเป็นวาทะแสดงลัทธิโดยปรารภขันธ์ส่วนอดีตซึ่งเรียกว่า ปุพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘ลัทธิ และปรารภขันธ์ส่วนอนาคตและปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่า อปรันตกัปปิกวาทะ ๔๔ ลัทธิรวมทั้งสิ้น ๖๒ลัทธิ๓๒
 ลัทธิหรือวาทะเหล่านี้เป็นเรื่องทางอภิปรัชญาพระพุทธองค์ทราบดี และแม้สมณ-พราหมณ์เหล่านั้นก็ทราบแต่อาจไม่ทราบละเอียดครบถ้วนเท่าพระพุทธองค์ดังจะชี้ให้เห็นข้างหน้า
 ทฤษฎีเหล่านี้ พระพุทธเจ้าอาจทรงนำมาตรัสเล่าประกอบการแสดงธรรมในกาลที่ทรงกำหนดรู้ว่าควรหรือไม่ควรแสดงตามอัธยาศัยของผู้ฟัง เช่นกรณีของสามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะ เป็นต้นแต่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงยอมรับทฤษฎีเหล่านี้ว่าเป็นพุทธมติหรือความรู้ที่เกิดจากพระสัพพัญญุตญาณ
 ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงตรัสหรือทรงตอบปัญหาทางอภิปรัชญาเกียวกับโลกคือทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดหรือวิวัฒนาการของโลก เพราะทิฏฐิเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ใช่ทางให้พ้นทุกข์ได้เลยแต่กลับทำให้ผู้เชื่อถือต้องประสบทุกข์เหมือนปลาติดข่าย
 ลัทธิเหล่านี้ซึ่งเป็นมติของพวกพราหมณ์เป็นที่รู้กันมากในหมู่คนสมัยนั้นในขณะเดียวกันก็มีคนเป็นอันมากอยากทราบถึงพุทธมติว่ามีอย่างไรตรงกันหรือแตกต่างกันกับพวกสมณพราหมณ์เหล่านั้น ปัญหาเหล่านี้เป็นอัพยากตปัญหาคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ มี ๑๐ประการคือ
 ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกันหรือ
 ๑.โลกเที่ยงหรือ
 ๒. โลกไม่เที่ยงหรือ
 ๓.โลกมีที่สุดหรือ
 ๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ
 ๕.ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกันหรือ
 ๖.ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกันหรือ
 ๗.หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกหรือ
 ๘.หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีกหรือ
 ๙.หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ*
 ๑๐.หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ
 ในมิลินทปัญหา ท่านเรียกอัพยากตปัญหาว่าฐปนียปัญหา คือปัญหาใดถ้าพยากรณ์ไปมีแต่โทษหาประโยชน์มิได้ ก็ต้องงดเสียคือพักไว้ไม่พยากรณ์๓๓
 
 ๓.๓.๑กรณีตัวอย่างของพระมาลุงกยบุตร
 พระมาลุงกยบุตรทราบว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบอัพยากตปัญหา จึงรู้สึกไม่พอใจ และจักเข้าไปทูลถามอีกถ้าพระพุทธองค์ทรงตอบก็จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปถ้าไม่ทรงตอบก็จะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ เมื่อได้โอกาสจึงนำปัญหานั้นเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าบุคคลใดจะพึงกล่าวว่าตราบใดที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตอบอัพยากตปัญหาตราบนั้นเราก็จักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคต่อให้บุคคลนั้นสิ้นชีวิตไปพระองค์ก็จะไม่ตอบเรื่องนั้นแล้วทรงตรัสย้ำว่า
 "มาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแลเธอจงจำปัญหาที่เราไม่ตอบว่าเป็นปัญหาที่เราไม่ตอบและจงจำปัญหาที่เราตอบว่าเป็นปัญหาที่เราตอบเถิด
 ปัญหาอะไรเล่าที่เราไม่ตอบ
 คือปัญหาว่า "โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุดชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีกหลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่"เราไม่ตอบ
 เพราะเหตุไรเราจึงไม่ตอบ
 เพราะปัญหานั้นไม่มีประโยชน์ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดเพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อ ตรัสรู้ และเพื่อนิพพานเหตุนั้นเราจึงไม่ตอบ
 ปัญหาอะไรเล่าที่เราตอบ
 คือปัญหาว่า "นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-ปฏิปทา"เราตอบ
 เพราะเหตุไรเราจึงตอบ
 เพราะปัญหานั้นมีประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพานเหตุนั้นเราจึงตอบ
 มาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแลเธอจงจำปัญหาที่เราไม่ตอบว่า เป็นปัญหาที่เราไม่ตอบ และจงจำปัญหาที่เราตอบว่าเป็นปัญหาที่เราตอบเถิด"๓๔
 กรณีตัวอย่างของพระมาลุงกยบุตรหากใช้ภาษาพูดชาวบ้านก็เรียกว่าเข้าไปต่อรองพระพุทธเจ้าด้วยการทูลขอให้ทรงแสดงพุทธมติเรื่องทฤษฎีโลก ด้วยการเอาบวชอยู่หรือสึกเป็นเดิมพันทีเดียว แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงตอบ แต่เรื่องนี้เมื่อทรงเทศนาจบแล้วพระมาลุงกยบุตรมีใจยินดีชื่นชมพระพุทธภาษิตเป็นอย่างยิ่ง
 
 ๓.๓.๒กรณีตัวอย่างของเจ้าลิจฉวีนามสุนักขัตตะ
 ในปาฏิกสูตรเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งนามว่าสุนักขัตตะเข้ามาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคด้วยใจหวังว่าจักทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเหนือธรรมดามนุษย์ให้ตนได้ชม อนึ่งยังหวังที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกอันเป็นพุทธมติให้ตนได้ทราบถ้าไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์และตรัสเรื่องทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกก็จักลาสิกขาออกไปเป็นคฤหัสถ์เสียแม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็มิได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์และตรัสเรื่องทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเลย เป็นผลให้เจ้าลิจฉวีนามสุนักขัตตะขุ่นเคืองใจและลาสิกขาออกไป๓๕
 จากกรณีเจ้าลิจฉวีนามสุนักขัตตะนี้ก็เช่นเดียวกันเป็นเครื่องยืนยันว่าพระพุทธองค์จะไม่ตรัสหรือตอบปัญหาเรื่องทฤษฎีกำเนิดของโลกโดยเด็ดขาดและธรรมดาว่าพระวาจาของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นสองคือตรัสความจริงคำไหนคำนั้น
 เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเรื่องต้นกำเนิดของโลกในอัคคัญญสูตรจะเป็นความขัดแย้งกันเองของพระพุทธดำรัส หรือ พระพุทธพจน์หรือไม่จักวิเคราะห์ในตอนข้างหน้า
 
 ๓.๔ประเด็นวิเคราะห์เรื่องต้นกำเนิดของโลกในอัคคัญญสูตรว่าไม่ใช่พุทธมติ
 กุญแจดอกสำคัญที่ช่วยไขคำตอบว่าเรื่องต้นกำเนิดของโลกในอัคคัญญสูตรไม่ใช่พุทธมติ คือปาฏิกสูตรนั่นเองพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ภัคควโคตรปริพาชกเมื่อคราวประทับอยู่ที่นิคมของชาวมัลละชื่ออนุปิยะในแคว้นมัลละในเวลาเช้าได้เสด็จเข้าไปยังอนุปิยนิคมเพื่อบิณฑบาต แต่ทรงเห็นว่ายังเช้าอยู่มากจึงเสด็จเข้าไปหาภัคควโคตรปริพาชกถึงอารามของเขา และทรงได้รับการปฏิสันถารเป็นอันดีและเมื่อภัคควโคตรปริพาชกกราบทูลถามถึงเรื่องเจ้าลิจฉวีนามสุนักขัตตะก็ได้ทรงเล่าให้ฟังดังกล่าวในตอนที่แล้วเรื่องทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกที่ตรัสกะภัคควโคตรปริพาชกจึงสืบเนื่องกับเรื่องเจ้าลิจฉวีนามสุนักขัตตะดังกล่าวแล้วดังความต่อไปว่า
 "ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเรารู้ชัดความเป็นมาของทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้นและเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ชัดความดับด้วยตนเองที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
 ภัคควะมีสมณพราหมณ์บางพวกประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง เราจึงเข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า 'ทราบว่าท่านทั้งหลายบัญญัติทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจริงหรือ' สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า 'เป็นเช่นนั้น' เราจึงถามต่อไปว่า 'พวกท่านประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างไร' สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเราเราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า ...[มีข้อความคล้ายคลึงกับอัคคัญญสูตร]
 ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่"สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า 'ท่านพระโคดมพวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่ท่านพระโคดมตรัสนั้นแหละ'"๓๖
 ข้อความที่ว่า "มีสมณพราหมณ์บางพวกประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์"และข้อความที่ว่า"ท่านพระโคดมพวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ"หมายความว่าอย่างไร
 ก็หมายความว่าทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้วาเสฏฐะและภารทวาชะฟังก็ดีตรัสเล่าให้ภัคควโคตรปริพาชกฟังก็ดี ไม่ใช่พุทธมติไม่ใช่ความจริงหรือความรู้ที่เกิดจากพระสัพพัญญุตญาณแต่เป็นเพียงทูเรนิทานที่พวกสมณพราหมณ์บางพวกประกาศเป็นทฤษฎีขึ้นตามที่บูรพาจารย์ในลัทธิของตน เล่าขานและ จดจำสืบต่อกันมา จนจำไม่ค่อยได้ นึกไม่ออกถึงกับทูลถามพระพุทธเจ้าก็มี จึงตรัสว่า พระองค์ทรงรู้ชัดทฤษฎีเหล่านั้นด้วยและรู้ชัดถึงที่มาของทฤษฎีเหล่านั้นด้วย จึงไม่ทรงยึดมั่นถือมั่นจึงทรงรู้ชัดความดับด้วยพระองค์เองเมื่อทรงรู้ชัดเช่นนี้จึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม


 ๔.๑บทสรุป
 จากหลักฐานต่างๆ ที่ยกมาเป็นประเด็นโต้แย้งว่าเรื่องต้นกำเนิดของโลกในอัคคัญญู-สูตรนั้นไม่ใช่พุทธมติเพราะเหตุผลสรุปได้ดังนี้
 ๑.การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ก็เพื่ออนุวัติตามอัธยาศัยของผู้ฟังคือวาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณร ซึ่งเป็นพราหมณ์เรียนจบไตรเพทมาก่อนมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับลัทธิของพวกพราหมณ์เป็นอย่างดีสมกับที่พระองค์ทรงเป็นวิภัชชวาที
 ๒.เป็นการหักล้างทำลายความเชื่อและความถือตัวของพวกพราหมณ์ว่าวรรณะของตนประเสริฐที่สุดแต่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวตำหนิพวกพราหมณ์ว่า แม้แต่เรื่องพระพรหมสร้างโลกพวกพราหมณ์ก็จำกันไม่ได้ เพราะหากจะถือตามนั้นก็ไม่ใช่วรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุดแต่เป็นวรรณะกษัตริย์ต่างหาก ทั้งนี้โดยได้ยกคำของสนังกุมารพรหมมาอ้างแต่เมื่อว่าโดยมติของพระพุทธศาสนาธรรมนั่นแลเป็นเครื่องวัดความเป็นผู้ประเสริฐของคน
 ๓.ในอัคคัญญสูตรนั้นเองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องต้นกำเนิดของโลกอันเป็นของเก่าแก่โบราณมิได้นี้ก็แสดงว่าเรื่องนี้เป็นคติความเชื่อของพวกพราหมณ์มาช้านาน หาใช่เป็นพุทธมติที่ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณไม่
 ๔.ข้อยืนยันอย่างชัดเจนที่สุดว่าเรื่องต้นกำเนิดที่ตรัสว่าไม่ใช่พุทธมติมีปรากฏอยู่ในปาฏิกสูตรซึ่งจัดเป็นอัพยากตปัญหา คือปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบเพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เรื่องที่เป็นพุทธมติ มีประโยชน์เป็นไปเพื่อข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เท่านั้นจึงจะทรงตอบ
 เพราะฉะนั้นบทสรุปจากการวิเคราะห์เรื่องนี้ จึงขอชี้ชัดลงไปเป็นคำตอบสุดท้ายว่า "เรื่องต้นกำเนิดของโลกในอัคคัญญสูตรไม่ใช่พุทธมติแต่เป็นมติของสมณพราหมณ์บางพวกที่เชื่อถือกันอยู่ในสมัยพุทธกาลนั้นหากมีพระพุทธประสงค์จะทรงรู้ ก็อาจหยั่งรู้ด้วยพระสัพพัญญุต-ญาณได้แต่พระสัพพัญญูจะทรงหยั่งรู้เฉพาะเรื่องที่ควรกำหนดรู้เท่านั้น คือเป็นเรื่องจริงเรื่องแท้ มีประโยชน์ แม้กระนั้นเมื่อจะตรัสก็ทรงรู้กาลที่ควรจะตรัสการยกเรื่องอื่น ๆ มาตรัส ก็เป็นเพียงอุทาหรณ์ อุปมาอุปมัยเช่นเรื่องที่เป็นทูเรนิทาน เพื่อให้ต้องอัธยาศัยของผู้ฟังใช่เรื่องที่ยกมาแสดงนั้นจะถือเป็นพุทธมติทุกเรื่องเสมอไปก็หาไม่

๑. มหาจุฬาเตปิฏกํ สุตฺตนฺตปิฏเก ทีฆนิกาเย ปาฏิกวคฺคปาลิ. กรุงเทพฯ: มหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.๒. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙-๑๓. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.๓.พระพุทธโฆสาจารย์. ปฐมสมันตปาสาทิกา แปล เล่ม ๑-๒ พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.๔. พระติปิฎกจุฬาภัยเถระ, มิลินทปัญหา.พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (สุง ธฺาโภ)วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพมหานคร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.๕. จันทบุรีนฤนาถ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษสันสกฤต. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในคราวฉลองอายุครบ ๕ รอบ หม่อมหลวงบัวกิติยากร ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช๒๕๑๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศิวพร, ๒๕๑๓.๖. ป. หลงสมบุญ. พจนานุกรมบาลี-ไทย.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๙.๗. สุชีพ ปุญญานุภาพ.พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

****************

-----------------------------๑ มหาจุฬาเตปิฏกํ [เล่ม ๑๑] สุตฺตปิฏเก ทีฆนิกาเย ปาฏิกวคฺคปาลิ อคฺคฺสุตฺต (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐), ข้อ ๑๑๑-๑๔๐, หน้า ๖๘-๘๔; พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๑ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคอัคคัญญสูตร (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), ข้อ ๑๑๑-๑๔๐, หน้า๘๓-๑๐๒.
* ป.ธ.๗, พ.ม., พธ.บ.(มจร.),ศศบ.(มสธ), M.Lib.Sc. (B.H.U.), PGDSC (Rome Univ.)๒ ใจความสำคัญของพระสูตร ตั้งแต่ภาคอุทเทศ -ภาคนิคมน์นี้ ผู้เขียนคัดจาก "บทนำ" พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๑ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า [๒๒-๒๖]. ๓ ป. หลงสมบุญ, พจนานุกรมบาลี - ไทย. (กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๙), หน้า ๕.๔พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ, ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต.ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้พิมพ์ในคราวฉลองอายุครบ ๕ รอบ หม่อมหลวงบัว กิติยากรวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ (กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ ศิวพร, ๒๕๑๒), หน้า๗.๕ มหาจุฬาเตปิฏกํ [เล่ม ๑๑] สุตฺตปิฏเก ทีฆนิกาย ปาฏิกวคฺคปาลิ อคฺคฺสุตฺต, ข้อ ๑๒๑, หน้า ๗๓.๖ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๑พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร, ข้อ ๑๒๑, หน้า ๙๐.๗สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, หน้า ๑๗๘ - ๑๘๑.๘พระพุทธโฆสาจารย์, ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล พิมพ์ครั้งที่ ๖. (กรุงเทพฯ, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๒๐๕-๒๐๖. ๙ พระพุทธโฆสาจารย์, ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล พิมพ์ครั้งที่ ๖, หน้า ๒๐๑-๒๐๒.๑๐ พระพุทธโฆสาจารย์, ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล พิมพ์ครั้งที่ ๖, หน้า ๒๐๓.๑๑ คัมภีร์เหล่านี้ทั้งหมดผู้เขียนเป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์ ทั้งภาคภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทยมีจำหน่ายที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร.๑๒ สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔. (กรุงเทพฯ, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๓๕๕.๑๓ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค บทนำ. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า [๒๒}.๑๔ มหาจุฬาเตปิฏกํ [เล่ม ๑๓] สุตฺตนฺตปิฏเก ทีฆนิกาเย ปาฏิกวคฺคปาลิอคฺคฺสุตฺต, ข้อ ๑๑๔, หน้า ๖๙.๑๕พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร. ข้อ ๑๑๔, หน้า ๘๔.๑๖ พระพุทธโฆสาจารย์, สุมงฺคลวิสาสินีทีฆนิกายฏฺŸกถา ปาฏิกวคฺควณฺณนา อคฺคญฺสุตฺตวณฺณนา, ข้อ ๑๑๔, หน้า ๔๗.๑๗พระพุทธโฆสาจารย์, สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พรรณนาอัคคัญญสูตรข้อ [๑๑๔] หน้า ๑๗๑.๑๘ มหาจุฬาเตปิฏกํ สุตฺตนฺตปิฏเก ทีฆนิกาเย ปาฏิกวคฺคปาลิอคฺคญฺสุตฺต. ข้อ ๑๑๙, หน้า ๗๒.๑๙พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคอัคคัญญสูตร, ข้อ ๑๑๙, หน้า ๘๘. ๗๖.๒๐ มหาจุฬาเตปิฏกํ [เล่ม ๑๓] สุตฺตนฺตปิฏเกทีฆนิกาเย ปาฏิกวคฺคปาลิ อคฺคฺสุตฺต, ข้อ ๑๒๔, หน้า ๗๕ และข้อ ๑๒๖, หน้า๗๖.๒๑ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ พระสุตตันตปิฎกทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร, ข้อ ๑๒๔, หน้า ๖๒ และข้อ ๑๒๖, หน้า ๙๓.๒๒พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกายมัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค วาเสฏฐสูตร. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า ๕๗๒ - ๕๘๓.๒๓ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เตวิชชสูตร. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า ๒๓๐-๒๔๗.๒๔พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายปาฏิกวรรค. อัคคัญญสูตร. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), ข้อ ๑๑๓ หน้า๘๔.๒๕ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ, หน้า ๘๗.๒๖พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ อัคคัญญสูตร, หน้า ๘๔.๒๗พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ อัคคัญญสูตร, หน้า ๘๔.๒๘พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ อัคคัญญสูตร, หน้า ๑๐๒.๒๙พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯ อัคคัญญสูตรฯ, หน้า ๘๗ - ๘๘.๓๐พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬา อัคคัญญสูตร, หน้า ๘๘.๓๑ สุมังคลวิลาสินีอรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัญญสูตร, หน้า ๑๘๖.๓๒พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๙ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายสีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร. (กรุงเทพ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า๑-๔๗.
* คำว่าตถาคตในที่นี้ เป็นคำที่ลัทธิอื่นๆ ใช้เรียกหมายถึง อัตตา หรืออาตมัน.๓๓ พระติปิฎกจุฬาภัยเถระ, มิลินทปัญหา.พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิสุทธิวงศา-จารย์ (สุง ธฺาโภ)วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพมหานคร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕), หน้า ๒๔๐-๒๔๑.๓๔พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๓ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกายมัชฌิมปัณณาสก์ จูฬมาลุงกยสูตร. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), ข้อ๑๒๘, หน้า ๑๔๑.๓๕ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๑พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาฏิกสูตร. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), ข้อ ๑-๖, หน้า ๑-๗.๓๖ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่ม ๑๑ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาฏิกสูตร. (กรุงเทพฯ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), ข้อ ๓๖-๔๐, หน้า ๒๗-๒๙.

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท