ประเพณีให้ทานไฟ ณ วัดบ้านพูน


เชิญร่วมงานประเพณีทำบุญ

 แผ่นพับให้ทานไฟ.doc



วันเสาร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๖

ประเพณีให้ทานไฟ


เวลา ๐๔.๐๐ -๐๘.๐๐ น.

วัดบ้านพูน

กำหนดการการทำกิจกรรม ณ วัดบ้านพูน

วันเสาร์ที่ ๕ มกราคม  ๒๕๕๖

เวลา

กิจกรรม

๐๔.๐๐ น.

(หัวรุ่ง)

ทุกคนพร้อมกันที่ลานวัด

ก่อกองไฟ โดยน้ำไม้ฟืนมาคนละ ๑ อัน

นำอุปกรณ์ที่จะปรุงอาหารหวานคาว วางรอบกองไฟ เริ่มติดไฟปรุงอาหาร

๐๔.๒๐ น.

นิมนต์พระสงฆ์ ประจำอาสนะ ณ บริเวณที่จัดกิจกรรมให้ทานไฟ

ถวายน้ำดื่ม ชากาแฟ

๐๕.๓๐ -๐๖.๐๐ น.

เริ่มถวายอาหารที่ปรุงเสร็จ ประเคนแด่พระสงฆ์

ตักบาตร

บูชาพระรัตนไตร  สมาทานศิล  ถวายทาน กรวดน้ำ รับพรจากพระสงฆ์

๐๖.๐๐ น.

พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร

ประวัติประเพณีให้ทานไฟ  ครูสมเกียรติ  คำแหง .... ผู้เขียน

  ด้วยคนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ประเพณีไทยจึงมีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นหลักสำคัญให้คนไทยมาชุมนุมกัน วัดจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจและทำกิจกรรม  ทำให้วัฒนธรรมคงอยู่ได้ ประเพณีจึงเป็นน้ำหล่อเลี้ยงพระพุทธศาสนาให้เติบโตงดงามตลอดมา

  ส่วนคำว่า “ทาน” หมายถึงการให้ หรือสิ่งที่ให้ ให้เพื่อกำจัดกิเลส คือความอยากได้เกิดบุญ คือจิตใจผ่องแผ้วเกิดความสุข สุขเพราะได้ให้สุข เพราะทาน เรียกว่า “ทานมัย” ประเพณีการให้ทานไฟ เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื่องจากสาเหตุหลายประการ

  ประการแรก วัดเป็นศูนย์รวมของกิจกรรม เพื่อต้องการทำบุญสุนทาน แสวงบุญกุศล ต้องไปทำกันที่วัดเพราะวัดเป็นที่ชุมนุมกันทางสังคม

ประการที่สอง  การให้ทานไฟเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพราะผู้ให้ทานคือ ชาวบ้านมีจุดมุ่งหมายที่จะทำบุญสุนทานกับพระสงฆ์ เพราะศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์องค์เจ้าที่ตนนับถือ อันเป็นการอุดหนุน ค้ำจุนให้ท่านได้สืบทอดพระศาสนา ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ทำทานอีกด้วยว่าเกิดบุญกุศลอันแท้จริง ดังคำกล่าวที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีใจนำหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

 เมื่อการให้ทานไฟเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับพระสงฆ์องค์เจ้า ย่อมมีพิธีกรรม ขั้นตอนต่างๆ ประเพณีให้ทานไฟต้องทำกันในวัด เกี่ยวข้องกับพระ  ในช่วงนี้เป็นฤดูหนาว พระสงฆ์องค์เจ้าก็หนาวเหมือนๆเรา จะเอาเสื้อหนาวมาสวมใส่ก็ไม่ได้ คนโบราณโดยเฉพาะคคนบ้านเรารู้สึกเวทนา สงสารท่านก็เกิดความคิดที่จะทำให้ท่านอบอุ่นขึ้นมาบ้าง ในเดือนยี่โบราณจะหนาวจัด เพระมีป่าไม้สมบูรณ์ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านจึงร่วมกันก่อไฟให้ท่านผิง เพื่อขับไล่ความหนาวเย็น เมื่อผิงไฟแล้วก็ไม่ผิงเปล่า  หากิจกรรมต่างๆทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งยังได้ทำบุญทำทานและยังทำให้เกิดความสนุกสนานไปด้วย

คือร่วมกันทำอาหารรอบๆกองไฟนั่นเอง พอปรุงเสร็จก็รุ่งสว่างพอดี  จึงได้นำอาหารหนักและขนมชนิดต่างๆที่ปรุงเสร็จใหม่และยังร้อนอยู่ถวายให้พระฉัน  พระฉันพระสงฆ์ก็ให้ศีลให้พร อันเป็นเสร็จพิธี ชาวบ้านก็ได้ร่วมรับประทานอาหารกันอย่างสนุกสนาน

   การประกอบกิจกรรม ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้ทำหรือผู้ร่วมทำกิจกรรมทั้งสองฝ่ายครับ การให้ทานไฟก็เหมือนกัน เกิดอานิสงส์แก่ผู้ให้คือ ชาวบ้านและผู้รับคือพระสงฆ์องค์เจ้า ชาวบ้านเกิดบุญคือความสบายใจ ได้ขัดเกลากิเลสคือ ความตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งเป็นเสมือนไฟคอยเผาผลาญจิตใจให้มอดไหม้ไปกับไฟ ที่เราก่อให้พระสงฆ์ได้ผิง

  พระสงฆ์ได้มีกำลังกายกำลังใจที่จะสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป เมื่อท่านได้เห็นอานิสงส์ของการให้ทานไฟ ขอเชิญพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั้งใกล้ไกล ร่วมสืบทอดประเพณีให้ทานไฟสืบไป

ความเชื่อ

  ความตามชาดก ขุททกนิกายอันเป็นมูลเหตุ แห่งประเพณีให้ทานไฟ  กล่าวถึงเศรษฐีโกสิยะในแคว้นสักกะ  กรุงราคฤห  สมัยพุทธกาล  ว่าเป็นผู้มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ  มีข้าทาสบิวารนับพัน  สร้างคฤหาสน์กว้างใหญ่สูงถึง ๗ ชั้น  แต่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว  จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว  นึกอยากกินขนมเบื้องก็ไม่กล้าซื้อจากที่เขาทำขาย  กลัวมีคนขอกิน  ครั้นลงมือทำกินเองก็กลัวข้าทาสบริวาร ลูกเมียจะกินด้วย จึงแอบขึ้นไปทำบนชั้นที่ ๗ ของคฤหาสน์เพื่อไม่ให้ใครเห็น  เพื่อนบ้านทั่วไปจึงพากันเกลียดชัง 

  กาลครั้งนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ประทับ ณ เชตวันวิหาร  กรุงราชคฤห์  ทรงทราบเรื่อง  ส่งพระโมคคัลลานไปทรมารให้ละนิสัยตระหนี่  จึงทำให้ท่านเศรษฐีโกสิยะที่ปรุงขนมเบื้องอยู่นั้นไม่ได้กินขนมเบื้องเพราะทำอย่างไรก็ไม่สุก จึงเรียนถามพระโมคคัลลาน พระโมคคัลลาน ให้ขนแป้งและกระทะไปตั้งเตาติดไฟละเลงขนมเบื้องถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสาวก  ๕๐๐ รูป ที่เชตวันวิหาร และเมื่อเศรษฐีโกสิยะได้ฟังธรรมเทศนา ถึงผลบุญจากการให้ทาน  จากพระโอฐ์ในครั้งนั้น  ก็บังเกิด

ความปิติ  อิ่มเอิบในการบริจาคทาน  และบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด

ขนมเบื้อง

เชื่อกันว่าตำรับการทำขนมเบื้องของโกสิยะเศรษฐี ที่ทำถวายสงฆ์ ณ เชตวันวิหารนั้น  สืบทอดมาเป็น "ขนมกรอก"ที่ชาวพุทธเมืองนครศรีธรรมราชทำถวายพระสงฆ์ในประเพณีให้ทานไฟด้วย

  วิธีทำขนมกรอก

  ขนมกรอกมีส่วนผสมและวิธีทำง่ายๆ คือนำข้าวสารเจ้าแช่น้ำ กรอกบดด้วยหินเครื่องโม่  ที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า "หินบด" ชาวทุ่งสงเรียกว่า"ครกบด"  โดยอย่าบดให้ข้นหรือเหลวเกินไป  แล้วคั้นกะทิติดไฟเคี่ยวให้แตกมันผสมลงในแป้ง  พร้อมน้ำตาลพอให้ออกรสหวาน  ตอกไข่ไก่สดใส่ตามส่วน  ซอยหอมให้ละเอียด  โรยแล้วตีให้เข้ากัน  ต่อจากนั้นก็เอากะทะตั้งไฟให้ร้อน ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากะทะให้เป็นมันลื่น  เพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกะทะเมื่อหยอดแป้ง  ละเลงให้เป็นแผ่นและต้องระวังไม่ให้แผ่นขนมกรอกบางเหมือนขนมเบื้อง เพราะจะไม่นุ่มและขาดรสชาติ  พอสุกก็ตลบพับรับประทานตอนยังร้อนๆ

อาหารหวานคาวให้ทานไฟ  เช่น ขนมจาก ขนมครก ขนมที่ทำจากข้าวเหนียว ขนมโค  ทอดมัน ขนมจีน ฯลฯ

เพียงเรานำวัสดุ  อุปกรณ์  เครื่องปรุง ไปปรุงกันที่ลานวัด  ปรุงไปทานไป  นำไปถวายพระ


หมายเลขบันทึก: 511534เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2012 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท