Behind The Wall : เสียงกรีดร้องจากหลังกำแพง


หลังความเงียบเฉียบพลันฉันกลับหนาวเยือกถึงวิญญาณ ได้แต่สวดมนต์ขอให้เป็นแค่ความฝัน เมื่อได้เห็นรถพยาบาลบนถนนนั่น

 เมื่อคืน..ฉันได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาจากหลังกำแพงนั่นอีกแล้ว
และมันก็คงเป็นอีกคืนหนึ่งที่ฉันไม่อาจจะข่มตาให้หลับลงได้
มันคงไม่เข้าท่านักหรอกที่จะเรียกตำรวจ
ซึ่งก็มักจะมาช้าเสมอ
ฉันหมายถึง..ถ้าพวกเขาจะมาอะนะ

เมื่อพวกเขามาถึงก็คงพูดว่า
"พวกเราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเรื่องภายในครอบครัวได้
มันเป็นเรื่องของผัวเมีย"
และเมื่อพวกเขาลับจากประตูนั่นไป
น้ำตาก็คงเอ่อท้นสองตาเธอ

เมื่อคืนฉันได้ยินเสียงกรีดร้องนั่นอีกแล้ว
หลังความเงียบเฉียบพลันฉันกลับหนาวเยือกถึงวิญญาณ
ได้แต่สวดมนต์ขอให้เป็นแค่ความฝัน
เมื่อได้เห็นรถพยาบาลบนถนนนั่น

ตำรวจบอกว่าพวกเขามาเพื่อรักษาความสงบ
ฝูงชน(ไทยมุง)ควรแยกย้ายกันกลับไปนอนได้แล้ว..

เมื่อคืน..ฉันได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาจากหลังกำแพงนั่นอีกแล้ว
และมันก็คงเป็นอีกคืนหนึ่งที่ฉันไม่อาจจะข่มตาให้หลับลงได้
มันคงไม่เข้าท่านักหรอกที่จะเรียกตำรวจ
ซึ่งก็มักจะมาช้าเสมอ
ฉันหมายถึง..ถ้าพวกเขาจะมา...



อีกหนึ่งบทเพลงของ Tracy Chapman ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงผิวสีชาวอเมริกัน เพลงนี้มีแต่เสียงร้องนะครับไม่มีดนตรีประกอบ (คล้ายๆเพลง Find The Cost of Freedom ของ CSN & Y ที่เป็นเพลงนำของเพลง Ohio) แต่ให้อารมณ์และความรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการถูกทารุณกรรมทางเพศได้เป็นอย่างดี เพลง Behind The Wall กลายเป็นเพลงที่ทั่วโลกนำไปใช้เพื่อการรณรงค์ต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง Tracy Chapman ได้ใส่อารมณ์ความรู้สึกไว้ในทุกคำพูดเกือบสองนาที ผ่านน้ำเสียงบีบเค้น กระแทกกระทั้น โหยไห้หวาดกลัว หรือแม้กระทั่งวิงวอนร้องขอในแต่ละประโยคได้อย่างลงตัว เช่นในท่อนที่ว่า..

"..Prayed that I was dreaming
When I saw the ambulance in the road.."

สำหรับผมมันเหมือนกับจับได้ถึงความรู้สึกอันแรงกล้าของผู้ที่พยายามสวดภาวนาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นจริงๆ น้ำเสียงที่เราได้ยินมันสื่อความลึกซึ้งถึงอารมณ์ความปรารถนาโดยไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูดใดๆอีกเลย

ผมเอาเพลงนี้มาเป็นบทนำของบันทึกเพราะบังเอิญไปเห็นข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งเข้า "ผอ. 'ยูเอ็น วีเมน' เสนอให้คำปรึกษา 'ยิ่งลักษณ์' เรื่องกองทุนสตรี" หัวข้อข่าวเล็กๆจากเว็บไซต์"ประชาไท" ที่ดูเหมือนไม่มีคนไทย(โดยเฉพาะผู้หญิง)ให้ความสนใจอะไรนัก (ไม่เหมือนเรื่องของแอร์โฮสเตสสาวกับวิธีเสริฟกาแฟภาคพิสดาร) ทั้งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จนแม้กระทั่งองค์กรระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติยังต้องกำหนดให้มีหน่วยงานเพื่อการนี้โดยเฉพาะขึ้นมา และประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ได้ให้สัตยาบันร่วมกันไว้อีกด้วย

โดยตามข่าวบอกว่าเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 55 "นางมิเชล บาเชเล็ต  (Michelle Bachelet) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริการหน่วยงานสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women (the United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรวันนี้ เนื่องในวาระการมาเยือนอินโดนีเซียและไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้หารือในประเด็นเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางด้านวิชาการต่อกองทุนเพื่อการพัฒนาสตรี และดำเนินโครงการร่วมกับสถาบันศาลและตำรวจเพื่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรี.. "

ดูรายละเอียดของข่าวได้จากเว็บไซต์ประชาไทที่ http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44077

หรือ Press statement by Michelle Bachelet in Bangkok Thailand จากเว็บไซต์ของ UN Women ที่
http://www.unwomen.org/2012/12/press-statement-by-michelle-bachelet-in-bangkok-thailand/

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ส่วนในประเทศไทยได้กำหนดให้ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

ปัญหาความรุนแรงที่สตรีถูกกระทำทั่วโลกมักเป็นการกระทำโดยตรงต่อร่างกาย หรือจิตใจ การถูกจำกัดในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ การถูกกดขี่การล่วงละเมิดทางเพศ และการใช้แรงงานโดยไม่เป็นธรรม สำหรับประเทศไทย แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงมีอยู่ในทุกรูปแบบ ถึงแม้ว่าขนาดของมันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลก หรือแม้แต่ในประเทศพัฒนาอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีแล้วยังถือว่าสถานการณ์ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่ถึงกับร้ายแรงจนถึงขั้นวิกฤติก็ตาม แต่การที่รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริการหน่วยงานสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women เดินทางมาเยือนประเทศในภูมิภาคนี้อาจเป็นเพราะมีแนวโน้มถึงการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในภูมิภาคนี้ก็เป็นได้

โดยทั่วไปสตรีมักจะถูกกระทำจากเพศชาย แต่สำหรับบ้านเราอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะในขณะที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง ประชาชนถูกปลุกเร้าให้แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ไม่เคารพกฏกติกา กฎหมาย ขาดคุณธรรมจริยธรรมและความละอายต่อบาป เราจึงมักเห็นการโจมตีใส่ร้ายกันด้วยความรุนแรงอยู่เสมอ จากภาคส่วนสาธารณะ กระชับเข้ามาถึงชุมชน และในที่สุดก็เป็นระดับครอบครัว จากการปะทะกันด้วยคารม การถากถางดูถูกเหยียดหยาม ไปสู่การให้ร้ายกันโดยปราศจากเหตุผลปราศจากความจริง ไปจนถึงการปะทะกันด้วยกำลัง เราได้เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดจากผู้หญิงที่กระทำต่อผู้หญิงด้วยกันก็มีไม่ใช่น้อยเช่นกัน

"ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวประชาไทว่า รู้สึกอย่างไรต่อการดูถูกความเป็นสตรีหรือทางเพศโดยเฉพาะต่อผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ของไทย นางบาเชเล็ตกล่าวว่า การดูถูกเหยีดหยามต่อสตรีในบทบาทผู้นำทางการเมืองมิใช่เรื่องแปลกสำหรับสตรีในตำแหน่งผู้นำประเทศอื่นๆ ในโลกเช่นเดียวกัน เพราะอย่างนายกฯ ออสเตรเลีย จูเลีย จิลลาร์ด หรือตัวเธอเอง ก็เคยถูกโจมตีจากความเป็นสตรีว่าไม่หนักแน่น ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเธอมองว่า ท่าทีการดูถูกสตรีดังกล่าว เป็นการดูถูกสติปัญญาทางการเมืองและลดค่าของตัวผู้หญิง" / ประชาไทย - ผอ. 'ยูเอ็น วีเมน' เสนอให้คำปรึกษา 'ยิ่งลักษณ์' เรื่องกองทุนสตรี 6 ธ.ค. 2555

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดจากเพศชายซึ่งอาจส่งผลมาจากสัญชาตญาณมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ หรือจากเพศหญิงด้วยกันเอง อันจะเกิดจากความอิจฉาริษยา ความเกลียดชังจากการเลือกข้างทางการเมือง หรือจากการถูกฝังหัวด้วยข้อมูลใดๆก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับสังคมส่วนรวมของเราได้ทั้งสิ้น วันนี้หากผู้คนยังคงลุ่มหลงอยู่ในมิจฉาทิษฐิ ไม่ใช้เหตุผลต่อกัน ไม่พูดจากันด้วยความจริง นอกจากเป็นการเพิ่มปัจจัยของปัญหาความรุนแรงให้มากกว่าที่เคยมีอยู่เดิมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอุปสรรคในการรณรงค์ขจัดความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย การคาดหวังให้เกิดความสงบร่มเย็นในสังคมก็คงยังอยู่อีกห่างไกลจนบางครั้งก็ยากที่จะจินตนาการได้เช่นกัน

http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44077

Press statement by Michelle Bachelet in Bangkok Thailand
http://www.unwomen.org/2012/12/press-statement-by-michelle-bachelet-in-bangkok-thailand/

Behind The Wall video / Tracy Chapman
http://www.youtube.com/watch?v=VkE1xDcqQyk

Find The Cost of Freedom video / Crosby, Stills, Nash & Young
http://www.youtube.com/watch?v=SK6Nj-buTwg

หมายเลขบันทึก: 511307เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2012 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเพราะกฏหมายมีช่องว่างให้ผู้รักษากฏหมายเลี่ยงไปได้  หรือเป็นเพราะประชาชนไม่รู้กฏหมายจึงเข้าใจว่าเขาไม่ผิดกฏหมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท