ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 68. ทักษะการเรียน (4) บัตรโครงเรื่อง


เป็นการซ้อมให้ นศ. ตอบโจทย์ยากๆ ที่ต้องตอบแบบเขียนตอบเป็นเรียงความ ซึ่งเป็นการทดสอบคนละแบบกับข้อสอบในตอนที่แล้ว นอกจากซ้อมเขียนคำตอบแล้ว ให้ นศ. เขียนโน้ตย่อโครงเรื่องของคำตอบของแต่ละคำถาม ลงบนการดาษ index card ขนาด 3X5 นิ้ว เอาเข้าห้องสอบได้

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 68. ทักษะการเรียน  (4) บัตรโครงเรื่อง

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๖นี้ ได้จาก Chapter 19  ชื่อ Learning and Study Skills  และเป็นเรื่องของ SET 48 : Crib Cards

บทที่ ๑๙ ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียน  ได้แก่ การวางแผนการเรียน  การจดเล็กเชอร์  การค้นความรู้เพิ่มเติม  การเตรียมตัวสอบ  การร่วมอภิปรายในชั้น  การร่วมทำงานในกลุ่มย่อย เป็นต้น

บทที่ ๑๙ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายนี้ ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 45– 50  จะนำมาเสนอในบันทึกชุดนี้ตอนละ ๑ เทคนิค

SET 48  :  Crib Cards  

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  : คาบเดียว  หรือหลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  ต่ำ

เป็นการซ้อมให้ นศ. ตอบโจทย์ยากๆ  ที่ต้องตอบแบบเขียนตอบเป็นเรียงความ  ซึ่งเป็นการทดสอบคนละแบบกับข้อสอบในตอนที่แล้ว  นอกจากซ้อมเขียนคำตอบแล้ว ให้ นศ. เขียนโน้ตย่อโครงเรื่องของคำตอบของแต่ละคำถาม ลงบนการดาษ index card ขนาด 3X5 นิ้ว  เอาเข้าห้องสอบได้  

โจทย์สำหรับซ้อมเหล่านี้ เอามาจากคลังข้อสอบนั่นเอง  และบางข้อจะเอาไปออกข้อสอบจริงๆ  แต่ นศ. จะได้ซ้อมมากข้อกว่าที่ออกข้อสอบ 

ในวันสอบ นศ. เอาบัตรโครงเรื่องที่ตนเป็นผู้ทำ (ลายมือของตนเอง) เข้าห้องสอบได้  และส่งบัตรเหล่านี้ทั้งหมดพร้อมกระดาษคำตอบ

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูจัดทำรายการคำถาม ที่ทดสอบการคิดระดับสูง (ประยุกต์, สังเคราะห์, ประเมิน, ฯลฯ)  ไม่ใช่ทดสอบความจำ

2.  ครูทดลองตอบคำถามด้วยตนเอง พร้อมจับเวลา  เพื่อจะได้ประเมินได้ว่า นศ. จะใช้เวลาเท่าไร (ตามปกติ ๒ - ๓ เท่าของครู) 

3.  แก้ไขปรับปรุงคำถาม  และทำเช่นเดียวกัน ต่อคำถามอื่นๆ

4.  กำหนดแนวทางให้คะแนน  แล้วจัดทำใบงาน ที่บอกคำสั่ง  รายการคำถาม  และตารางให้คะแนน

5.  ครูจัดทำบัตรโครงเรื่องตัวอย่าง ที่แสดงสไตล์การเขียนที่มีหลายแบบ (เช่น โครงเรื่อง, รายการหัวข้อหลัก, แผนผังความคิด, ข้อมูลสนับสนุนแนวทางหรือข้อโต้แย้ง, ฯลฯ)

6.  มอบใบงานตอนต้นเทอม  ใบงานประกอบด้วย คำสั่ง  คำถาม และตารางให้คะแนน

7.  อธิบายกระบวนการ  แนะนำวิธีเขียนบัตรโครงเรื่อง  และติดประกาศตัวอย่างบัตรโครงเรื่องที่ครูเขียน

8.  ในวันสอบ เก็บบัตรโครงเรื่องทั้งหมดพร้อมกับกระดาษคำตอบ  บัตรโครงเรื่องของเรื่องที่ไม่ออกข้อสอบก็เก็บด้วย 

ตัวอย่าง

วิชาสังคมวิทยาเบื้องต้น

ครูต้องการให้ นศ. เรียนรู้หลักการที่เป็นหัวใจของสังคมวิทยา  ไม่ใช่แค่รู้แบบท่องจำ  ครูจึงทดสอบ นศ. ด้วยข้อสอบที่ตอบแบบเรียงความ  ที่ นศ. ต้องคิดอย่างเป็นนามธรรม ไม่เดา และไม่เข้าใจผิด  ครูสังเกตเห็นว่า นศ. ต้องใช้เวลานานมาก และทำข้อทดสอบไม่ค่อยได้  จึงใช้เทคนิค “ บัตรโครงเรื่อง” ช่วยการเรียนและการเตรียมสอบของ นศ.  และพบว่าได้ผลดีในการสอบปลายเทอม

การประยุกต์ใช้ online

หากการสอบเป็นการสอบในห้องสอบ ที่มีคนคุมสอบ  การใช้เทคนิคนี้ online ทำได้ตามที่แนะนำไปแล้ว  แต่ถ้าสอบแบบ online ด้วย เทคนิคนี้ใช้ไม่ได้

การขยายหรือปรับปรุงวิธีการ

·  บันทึกเอกสารเตรียมตัวสอบ เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่น่าจะช่วยการเตรียมตัวสอบของ นศ.  โดยเมื่อเริ่มต้นเทอม ครูแจกรายการข้อสอบชนิดเรียงความ ที่จะเลือกส่วนหนึ่งมาเป็นข้อสอบกลางเทอม และปลายเทอม   ให้ นศ. เขียนเอกสารเตรียมตัวสอบแยกเป็นตอนๆ  แต่ละตอนสำหรับหนึ่งข้อสอบ ที่ นศ. ค่อยๆ เขียนเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของการเรียนโดยการฟังการบรรยาย การอ่านตำรา และการค้นจาก อินเทอร์เน็ต  ประกอบด้วยข้อเท็จจริง และแนวความคิดของ นศ. ที่เกิดขึ้น  ในวันสอบอาจอนุญาตให้ นศ. เอาบันทึกเข้าห้องสอบได้  และให้ส่งครูพร้อมกระดาษคำตอบ  ครูให้คะแนนเพิ่มหากบันทึกเตรียมตัวสอบทำได้ดีมาก  

·  แทนที่จะใช้บัตรโครงเรื่องกับข้อสอบแบบเรียงความ ใช้กับวิชาที่ข้อสอบมีลักษณะแก้ปัญหา เช่นคณิตศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ให้ นศ. เขียนสูตร ทฤษฎี หรือข้อมูลตัวเลข ลงกระดาษ index card  

คำแนะนำเพิ่มเติม

“บัตรโครงเรื่อง” ช่วยให้ นศ. พัฒนาทักษะในการเรียน (metacognitive skills) โดยฝึกการคิดและวางแผนคำตอบต่อคำถาม  ช่วยให้ นศ. ฝึกคิดให้ชัด หาหลักฐานมาประกอบ  พัฒนาทักษะในการโต้แย้ง  พัฒนาทักษะในการแสดงจุดยืนของตนในสถานการณ์ที่ซับซ้อน

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Bean JC. (1996). Engaging ideas : The professors’ guide to integrating writing, critical thinking, and active learning in the classroom. San Francisco : Jossey-Bass, p. 190.

วิจารณ์ พานิช

๒ ธ.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 510722เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2012 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท