AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

โกมลอย : สัญญะที่เปลี่ยนไป


..........โกมลอย (ภาษาถิ่นเหนือตอนบน) หรือ โคม ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี คือ สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทำขึ้นจากกระดาษว่าวหลายแผ่นทำเป็นรูปทรงกระบอกก้นปิดโด่งเล็กน้อยและไม้ไผ่ที่ถูกเหลาให้เรียวเล็กน้ำหนักเบานำมาขดเป็นวงกลมสำหรับทำเป็นส่วนปากของโกม ปากโกมมีขนาดต่างไปขึ้นอยู่กับผู้ประดิษฐ์ว่าต้องการกว้างขนาดไหน แต่โดยส่วนมากมีขนาดตั้งแต่ ๘๐ – ๑๐๐ เซนติเมตร

..........โกมที่ทำเสร็จแล้วจะลอยขึ้นไปบนฟ้าได้ ก็ต้องมี ก้อนเชื้อเพลิงที่ทำจากกระดาษทิชชู่แบบม้วนชุบแน่นด้วยน้ำขี้ผึ้ง (รังผึ้ง) หรือ ขี้ผึ้งเทียนไขที่นำมาต้มให้ละลาย (เศษขี้เทียนที่เหลือจากการจุดบูชาพระในพระอุโบสถหรือพระวิหาร ซึ่งขี้ผึ้งที่ว่านี้จะให้สีไม่สวยเพราะปนเปื้อนไปด้วยเศษฝุ่นเศษผงต่าง ๆ และต่างไปจากปัจจุบันที่สีสดสวยเพราะถูกชุบด้วยขี้ผึ้งสะอาด) ก้อนเชื้อเพลิงอาจจะใช้กระดาษทิชชู่ทั้งม้วน หรือ ครึ่งหนึ่ง หรือหั่นเป็นแว่นความหนาประมาณ ๑ นิ้ว ก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของโกม ถ้าโกมใบใหญ่ก็ต้องการก้อนเชื้อเพลิงที่ใหญ่พอที่จะขับดันให้โกมลอยขึ้นไปบนอากาศได้ มัดให้แน่นด้วยลวด ๔ เส้น และขึงติดกับปากโกมในส่วนที่เป็นไม้ไผ่ที่ขัดเป็นวงกลม ด้วยสัดส่วนที่แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนของความกว้างปากโกม

..........จากความทรงจำของผู้เขียนครั้นยังเป็นเด็ก การเล่นหรือการปล่อยโกมนี้ จะได้เห็นก็ต่อเมื่อเป็นวันเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันเพ็ญเดือนยี่ งานบุญฉลองวัด เป็นหลัก ไม่ได้พบเห็นเกลื่อนไปอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ อีกประการหนึ่ง การปล่อยโกม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของฆราวาสผู้อาศัยอยู่บ้านเรือน แต่กลับเป็นเรื่องของพระสงฆ์องค์เจ้า ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประดิษฐ์และเป็นผู้ปล่อยโกมให้ลอยขึ้นสู่ฟ้า โดยมีคณะบุคคลที่ช่วยเหลือในการปล่อยโกมคือกลุ่มเด็กวัดหรือวัยรุ่นที่โตแล้วรวมไปถึงคนวัยกลางคน ในคืนหนึ่ง ๆ จะปล่อยไม่มากนัก ประมาณ ๕ –๑๐ ใบ

..........ก่อนจะปล่อยโกม จะมีการตีกลอง แห่ฆ้อง ตีฉาบ อย่างสนุกสนาน รื่นเริง ด้วยท่วงทำนองแบบพื้นบ้านล้านนา เพื่อปลุกเร้าความตื่นเต้น และแจ้งให้คณะศรัทธาชาวบ้านที่มาวัดให้ทราบว่า จะมีการปล่อยโกม เมื่อชาวบ้านรู้ว่าจะมีการปล่อยโกม ทุกคนก็จะมารวมตัวกันล้อมรอบเป็นวงกลมกลางลานวัด คอยดูอย่างใจจดใจจ่อ

เมื่อพระสงฆ์นำโกมออกมาจากห้องกุฎิ ก็จะมีคนเตรียมคบเพลิงจุดไฟที่ทำจากเศษผ้าจีวรเก่า ๆ ชุดด้วยน้ำมันเครื่องใช้แล้ว หรือที่เรียกว่า “น้ำมันขี้โล้” คบเพลิงที่ว่านี้มีความสำคัญในการที่จะเป็นตัวเติมความร้อนเข้าไปในโกมให้เต็มแน่น ก่อนที่จะจุดก้อนเชื้อเพลิงก่อนที่จะปล่อยโกมให้ลอยขึ้นไป ระหว่างการเติมความร้อนด้วยคบเพลิงนี้ คณะแห่กลอง ฆ้อง ฉาบ ก็ยังคงแห่ไปเรื่อยๆ

..........ก่อนที่จะปล่อยโกมให้หลุดลอยขึ้นไป คณะผู้ปล่อยโกมจะทดสอบ “แรงส่ง” ที่เกิดจากความร้อนจากคบเพลิง ด้วยการดึงโกมลงให้ต่ำ แล้วก็ทำทีว่าจะปล่อยให้ลอยขึ้นไป ทำอย่างนี้อยู่ ๓-๔ ครั้ง กระบวนการทดสอบแรงส่งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อหลอกล่อและเล่นกับอารมณ์ความรู้สึก “ลุ้น” ของบรรดาชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ ทั้งคนเล็กเด็กแดง ให้เกิดอารมณ์ร่วมไปในขณะเดียวกัน

..........เมื่อความร้อนอัดแน่นดีแล้ว และกลายเป็นแรงส่งให้โกมลอยขึ้นไปได้แล้วนั้น ก็จะเริ่มจุดไฟที่ก้อนเชื้อเพลิงปล่อยให้ติดไฟดีแล้วทั่วทั้งก้อน ถึงจะปล่อยให้ลอยขึ้นไปในที่สุด อนึ่ง ก่อนที่จะปล่อยโกมให้ลอยขึ้นนี้ อาจจะมีการทำ “หางโกม” ด้วย สายชนวนพลุ ประทัด หรือ ดอกไม้ไฟ นำมาแขวนแล้วจุดให้แตก ติดเป็นประกายไฟสวยงามขณะที่โกมกำลังลอยขึ้นไปบนอากาศก็ได้เช่นกัน

..........ถ้าโกมถูกปล่อยแล้ว ไม่ขึ้น หรือ ขึ้นไปได้ระยะสูงไม่มากนัก เกิดร่วงลงมา ผู้คนก็จะฮือฮา ที่ยืนล้อมกันเป็นวงกลมก็จะแตกฮือฮา เพราะกลัวสายประทัดหรือดอกไม้ไฟที่ผูกติดไว้ จะระเบิดขึ้นมา หรือ ถ้าโกมลอยขึ้นไปอย่างสง่างาม ก็จะฮือฮา ด้วยสมกับอารมณ์ที่ลุ้นมาตั้งแต่ต้น

..........ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การปล่อยโกม ที่ไม่ต่างไปจากสมัยปัจจุบัน แต่การปล่อยโกมในอดีตและปัจจุบันกลับมีนัยยะที่ต่างกันออกไปอย่างในบางประการ ซึ่งเป็นสาระสำคัญเสียด้วย

..........ดังที่กล่าวไว้ว่า โกมเป็นเรื่องของสงฆ์ ปล่อยกันในวัด จึงหมายถึงว่า เป็นกิจกรรมทางความเชื่อที่ชาวบ้านมีต่อพุทธศาสนา นั่นก็คือ

....................(๑) การปล่อยโกม เพื่อบูชาคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

....................(๒) การปล่อยโกม เชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์กรรม สิ่งที่ไม่ดีทั้งปวงที่มีอยู่กับตัว

....................(๓) นอกจากนี้ ในอดีตการปล่อยโกมถูกนำมาใช้เป็น “สัญญาณ” ส่งข่าวสารในการสู้รบของกองทัพรัฐอาณาจักรต่าง ๆ อีกด้วย

..........ปัจจุบัน โกม ถูกนำมาเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” การปล่อยโกม เพื่อตอบสนอง “การละเล่น” และ “การท่องเที่ยว” รวมไปถึง “การเปิดพื้นที่” ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ที่ไม่เคยปรากฎว่าโกมมีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์และวิถีของคนในพื้นที่นั้น ๆ มาก่อน เช่น ชายหาดบางแสน พัทยา ก็มีการจำหน่ายโกมให้ นักท่องเที่ยวที่ยังนั่งดื่มกินที่ชายหาดตอนกลางคืน หรือ การนำมาเป็น “สื่อชักชวน” เพื่อเชิญชวนให้คนทั่วไปเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับ “ศาสนา” และ “ความเชื่อ” เช่น งานเลี้ยงของสมาคมศิษย์เก่าของบางสถาบัน เป็นต้น

..........อย่างไรก็ตาม นัยยะการตีความหมาย การเข้าไปร่วมบริโภคความสุขที่ได้จากการปล่อยโกม ก็เปลี่ยนไปอย่างมาก แม้จะยังคงเหลือ ความเชื่อเกี่ยวกับเคราะห์กรรมอยู่บ้าง แต่ก็คงอยู่ในระดับที่เบาบางและลางเลือนเต็มที

..........ปัจจุบัน ลัทธิการบริโภคความแปลกใหม่ (exoticism) ความโดดเด่น (unique) ความต้องการสินค้าที่หลุดจากกรอบแบบจารีตนิยม ก็พบว่า โกมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาขายถูก “รื้อสร้าง” (reconstructed) ปรับปรุง (adjusted) รูปแบบไปอย่างหลากหลาย ตามทิศทางแห่งภาวะหลังสมัยใหม่ (post-modernity) เช่น

....................การแต่งเติมลายลงบนส่วนตัวโกม เช่น เป็นรูปหน้าหมีแพนด้า เป็นรูปแมวคิตตี้ เป็นรูปกบเคโระ และลวดลายต่าง ๆ

....................การปรับรูปลักษณ์ของโกม จากทรงกระบอกเป็นรูปทรงหัวใจทำด้วยกระดาษว่าวสีชมพู เหมาะสำหรับคู่รักที่จะมีห้วงเวลาอันหวานชื่นที่ได้ร่วมกันปล่อยโกมขึ้นสู่ฟ้า ราวกับว่า ของให้เทวดานางฟ้ามาสักขีพยานต่อคำสัญญารักที่มั่นคงต่อกัน (หากสิ่งที่กระทำเป็นสิ่งที่หมายถึงคำสัญญาจริง คำสัญญานั้นก็หลุดลอยไปแล้วด้วย) หรือเป็นแบบลูกเต๋า ที่ใช้กระดาษว่าว ๒ สี (หรืออาจจะมากกว่านั้น) ติดสลับกับแบบกระดานหมากรุก หรือ หลากสีแบบยุคดิสโก้เทค (ยุคสมัยใหม่-modernity) เป็นต้น

..........ขณะที่เขียนบันทึกเรื่องนี้ จังหวัดเชียงรายกำลังอยู่ในช่วงประเพณียี่เป็ง (วันเพ็ญเดือน ๒ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ ของภาคกลาง) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีของผู้คนในภาคเหนือตอนบนว่า เป็นช่วงเวลาที่จะมีการปล่อยโกมประจำปี (เพราะโดยมาก การปล่อยโกมก็มักจะปล่อยกันมากในช่วงนี้) ผู้เขียนมองไปบนท้องฟ้า เห็นดวงไฟที่เกิดจากก้อนเชื้อเพลิงของโกมที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ฟ้าเกือบทุกองศาการหมุนมอง พลางคิดว่า “โกมใบนั้นจะมีลายหมีแพนด้าหรือว่าเป็นรูปหัวใจ???” ที่สำคัญ ไม่มีการแห่ประะโคม และขาดอารมณ์ร่วมชองผู้คนรอบข้าง เป็นแน่แท้ ....



คำสำคัญ (Tags): #โคมลอย
หมายเลขบันทึก: 510113เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท