“จับตา...ทิศทางไหมอาเซียน” (ตอน) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย


ไหมอาเซียน

จับตา...ทิศทางไหมอาเซียน

(ตอน) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

วิโรจน์  แก้วเรือง1/

ศศิพิมพ์  ลิ่มมณี2/

         สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนเกาะมากถึง 17,500 เกาะ อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย และระหว่างทวีปเอเชียกับออสเตรเลีย ทิศเหนือติดกับรัฐซาราวัคและซาบาห์ของประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันออกติดกับปาปัวนิวกินี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดน่านน้ำของมาเลเซีย โดยมีช่องแคบมะละกาเป็นพรมแดนกั้นระหว่างเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียกับมาเลเซีย อินโดนีเซียมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,193,250 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 10 เท่า

 

แผนที่ประเทศอินโดนีเซีย

(ที่มา: http://www.magicaljourneys.com/Indonesia/index.html)

 

          อินโดนีเซียมีประชากรประมาณ 245.5 ล้านคน ในปี พ.ศ.2555 เป็นประชากรในวัยแรงงานประมาณร้อยละ 48 ของประชากรทั้งหมด แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร คิดเป็นร้อยละ 42 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 12 เหมืองแร่ ร้อยละ 1 และอื่นๆ ร้อยละ 45

ความเป็นมา

            การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ประกอบด้วย การปรับปรุงพันธุ์ไหม การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การผลิตรังไหม การสาวไหม การทอผ้าไหม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาด อุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมต้องอาศัยแรงงานเป็นจำนวนมาก จึงนับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้เป็นอย่างดี

            การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศอินโดนีเซียเติบโตมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยมีการผลิตเส้นไหมดิบสูงสุดอยู่ที่ 174 ตันต่อปี จากจำนวนเกษตรกร 11,185 คน และมีพื้นที่เพาะปลูกหม่อนทั้งหมด 51,031 ไร่ แต่เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศอินโดนีเซียซบเซาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา การผลิตเส้นไหมภายในประเทศจึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเส้นไหมนำเข้าจากประเทศจีนซึ่งมีราคาถูกกว่าได้ ทำให้การผลิตเส้นไหมภายในประเทศลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2546 โรงงานสาวไหมในจังหวัดชวาตะวันตกหลายๆโรงงานต้องปิดตัวลงเพราะปริมาณรังไหมที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่เพียงพอสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ จากสถิติในปี พ.ศ. 2549 พบว่าอินโดนีเซียผลิตเส้นไหมดิบได้เพียง 51 ตันซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่มีถึง 700 ตัน และกำลังการผลิตเส้นไหมดิบลดลงจนเหลือเพียง 36.8 ตันต่อปีในปี พ.ศ. 2551 จากพื้นที่เพาะปลูกหม่อนทั้งหมด 21,918 ไร่ และเกษตรกรมีจำนวนลดลงเหลือ 4,553 คน ทำให้ผู้ประกอบการทอผ้าในประเทศต้องซื้อเส้นไหมดิบจากแหล่งผลิตภายในประเทศที่มีราคาสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อเส้นไหมนำเข้า อินโดนีเซียจึงต้องนำเข้าเส้นไหมจากประเทศจีนเพื่อใช้ในการผลิตผ้าไหมมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้เส้นไหมภายในประเทศ

 

           ปัจจุบันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของอินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ องค์การพัฒนาเอกชน (NGO) สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน โดยกระทรวงป่าไม้รับผิดชอบในระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ประกอบด้วย การปรับปรุงพันธุ์ไหม การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหมและการผลิตรังไหม ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลด้านการสาวไหม การทอผ้า จนถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสหกรณ์ รับผิดชอบด้านการค้าและการตลาด ซึ่งทิศทางของอุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในอินโดนีเซียจะเป็นไปในลักษณะของการรวมกลุ่ม (cluster) นั่นหมายถึง การรวมการปรับปรุงพันธุ์ไหม การทอ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เข้าไว้ด้วยกัน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้กระทรวงป่าไม้จึงได้ร่างแผนการพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Cooperation Programme : TCP) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO)

การวิจัยและการพัฒนาด้านหม่อนไหม

            สุลาเวสีใต้เป็นจังหวัดที่มีการผลิตไข่ไหม การสาวไหม และทอผ้ามากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย จึงเหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนางานด้านหม่อนไหม ส่วนการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ไหม รัฐบาลวางแผนให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านหม่อนไหมที่เมืองโบกอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยทำการเปิดการเรียนการสอนด้านการเกษตรระดับชั้นนำของอินโดนีเซีย การจัดตั้งศูนย์วิจัยจึงเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาด้านหม่อนไหมระยะกลาง และระยะยาว และเป็นการวางแผนขยายการพัฒนาไปยังจังหวัดอื่นๆต่อไป

กลยุทธ์ด้านหม่อนไหมของอินโดนีเซีย

            ในช่วงปี พ.ศ. 2552-2553 จังหวัดสุลาเวสีใต้เป็นศูนย์กลางในด้านการผลิตไข่ไหม การสาวไหมและการทอผ้า ส่วนการปรับปรุงพันธุ์ไหมอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์วิจัยด้านหม่อนไหม ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโบกอร์ ภาครัฐวางแผนที่จะพัฒนางานด้านหม่อนไหมต่อไปในจังหวัดชวาตะวันตก ชวากลาง ชวาตะวันออก สุมาตราเหนือ และบาหลี โดยจะเน้นหนักในการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรที่ทำงานด้านหม่อนไหม

แผนที่เกาะสุลาเวสี

(ที่มา: http://www.rnw.nl/english/bulletin/relatives-demand-compensation-sulawesi-war-crimes)

 

ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไหม

          ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียมีหลากหลายประเภท เช่น ซองเกต (Songket) ซึ่งเป็นผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง เพื่อให้ผ้าเกิดลวดลายและมีความมันระยับ สวยงามยิ่งขึ้น

      

 

      

ผ้าซองเกต (Songket)

(ที่มา: http://www.alibaba.com/product-free/109430575/Songket_Palembang/showimage.html)

http://edelweissboutiquebali.blogspot.com/

           ผ้าอีกัต (Ikat) หรือผ้ามัดหมี่ คำว่าอีกัต หรืออีกั๊ต ในภาษาชวา - มลายู หมายถึง การมัดเส้นด้ายแล้วนำไปย้อมสีเพื่อทำให้เกิดลวดลาย ตำแหน่งที่มัดจะไม่ติดสี และเกิดเป็นลวดลายสีขาว การที่จะทำให้เกิดลวดลายหลากสีก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคและจำนวนครั้งในการมัดย้อมเส้นด้าย 

 

ผ้าอีกัต (Ikat)

 

(ที่มา: http://gluttonforlife.com/2010/04/8/prints-charming)

 

http://www.marlamallett.com/w-8111.htm

 

 

           ผ้าบาติก(Batik) เป็นผ้าที่ใช้เทคนิคในการลงเทียน หรือขี้ผึ้งลงบนผืนผ้าไหมแล้วนำไปย้อมสี จากนั้นจึงนำผ้ามาต้มเพื่อเอาขี้ผึ้งออก ตำแหน่งที่เคยปิดทับด้วยขี้ผึ้งมาก่อนสีจะไม่ติด เกิดเป็นลวดลายสีขาวขึ้นมาในตำแหน่งนั้น การจะเพิ่มสีสันอื่น ๆ เข้าไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือกรรมวิธีพิเศษของช่างผู้ผลิต เทคนิคของการลงขี้ผึ้งนี้ในภาษาอินโดนีเซีย (ชวา) จะเรียกว่า "BATIK” ผ้าที่เกิดลวดลายขึ้นในผืนผ้าด้วยเทคนิคนี้จึงเรียกกันว่า “ผ้าบาติก”

 

 

 

ผ้าบาติก (Batik)

(ที่มา: http://deckay-batikindonesia.blogspot.com/2009/12/high-end-silk-batik-product.html)

 

ตาราง มูลค่าการผลิตผ้าไหม และการส่งออก-นำเข้าผ้าไหมของประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2550 – 2554

รายการ

ปี 2550

มูลค่า (บาท)

ปี 2551

มูลค่า (บาท)

ปี 2552

มูลค่า (บาท)

ปี 2553

มูลค่า (บาท)

ปี 2554 (ม.ค.-มิ.ย.)

มูลค่า (บาท)

1. การผลิต

2,442,964,950

7,114,374,480

-

-

-

2. การส่งออก

-

-

8,158,620

4,539,270

1,075,200

3. การนำเข้า

-

-

99,751,440

157,359,000

-

ที่มา: Indonesia Central Bureau of Statistics

           จากตารางจะเห็นได้ว่าประเทศอินโดนีเซียมีการผลิตผ้าไหมและการส่งออกมีมูลค่าลดลง แต่มีแนวโน้มการนำเข้าผ้าไหมสูงมากขึ้น เนื่องจากมีการผลิตเส้นไหมภายในประเทศลดลง จึงมีการนำเข้าเส้นไหมเข้ามาผลิตเป็นผ้าส่วนหนึ่ง และนำเข้าผ้าไหมเข้ามาโดยตรงจากต่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง

            ดังนั้น อินโดนีเซียน่าจะเป็นอีกหนึ่งตลาดของผ้าไหมไทย เพียงแต่เราต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคผ้าไหมชาวอินโดนีเซียว่าเป็นอย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอินโดนีเซียต่อไปในอนาคต

 

คำขอบคุณ

ขอขอบคุณ คุณพรพิณี  บุญบันดาล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมหม่อนไหม ที่ได้เอื้อเฟื้อรูปภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าของประเทศอินโดนีเซียประกอบการเขียนบทความครั้งนี้

 

บรรณานุกรม

  1. กฤชกร เพชรนอก.2555. HELLO อาเซียน(พิมพ์ครั้งที่ 2).สกายบุ๊กส์ จำกัด.กรุงเทพฯ. หน้า100-101.
  2. The Queen Sirikit Department of Sericulture, Ministry of Agriculture and Cooperatives.2009.The Proceedings on the ASEAN Collaboration on Sericulture Research and Development Conference, pp.2-15.
  3. Trade Promotion Section of the Italian Embassy. 2010.Indonesian Textile Industry and Machinery MarketReport and Statistics 2009 and 1st Semester of 2010. pp. 3-5.
  4. Trade Promotion Section of the Italian Embassy. 2011. Indonesian Textile Industry andMachinery Market Report and Statistics 2010 and 1st Semester of 2011. pp. 4-5  
  5. ที่มา : COLOURWAY ปีที่ 18 ฉบับที่ 103 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2555
หมายเลขบันทึก: 510083เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท