ลดต้นทุนการผลิตข้าวตามแบบเกษตรกรชัยนาท


         

            ปัญหาของชาวนาผู้ปลูกข้าวมีหลากหลายจริงๆ และเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะราคาของผลผลิต เช่นราคาข้าวที่ตกต่ำ รัฐช่วยในรูปแบบจำนำในราคาที่เกษตรกรพอใจ ก็เป็นปัญหาเพราะราคาสูงกว่าเป็นจริง ดูแล้วยิ่งกว่าปัญหาโลกแตกอีกคิดไปก็ปวดหัวเลยเลิกคิดดีกว่าเพราะหาเพื่อนคุยเรื่องนี้แล้วจะทะเลาะกันเลยกลายเป็นปัญหาเพื่อนแตก ไปคิดเรื่องไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันดีกว่าไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร เคยลองคุยกับเกษตรกรหัวไวใจสู้บอกว่าไม่กลัวเรื่องราคาเพราะต้นทุนของเขาต่ำแต่ถ้าราคาสูงก็ดีจะได้กำไรมากขึ้น อืม เข้าท่าแฮะ เลยสอบถามนำมาเขียนส่งนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ส่งไปแล้วไม่ออกสักที จึงขอนำมาฝากเพื่อนจัดการความรู้ก่อน สำหรับอ่านแก้เซ็ง เพื่อหาทางออกให้กับชาวนาไทย (ที่หัวไวใจสู้)  

        นายชาลี  ทองมีศรี เกษตรกรหัวใจไวสู่วัย 50 ปี หมู่ที่ 7 ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท  เปิดเผยว่าทำนาในพื้นที่ 13 ไร่ เคยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 25 กก.ต่อไร่ จำนวนมากเพื่อเร่งผลผลิตใช้สารเคมีเพื่อจัดการศัตรูพืช ให้น้ำร่วมขังในระดับสูงตลอดฤดูการปลูก ปล่อยน้ำออกก่อนเกี่ยวเท่านั้น แต่ผลที่ได้รับข้าวอ่อนแอ เกิดโรคและแมลงระบาดตลอดเวลา เพิ่มสารเคมีระดมลงไปอย่างต่อเนื่องฉีดพ่นทุก 10 วัน อีกทั้งพบว่าข้าวล้มง่าย กลายเป็นที่อยู่อาศัยของเพลี้ยกระโดดให้อยู่กินอย่างสบายคำว่า ขาดทุน” รู้จนชินชา แต่เมื่อได้เรียนรู้การปลูกข้าว ตามกระบวนการโรงเรียนกับอาจารย์สุวัฒน์ ทรัพยะประภา เรียนรู้เพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท และสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา จึงเข้าใจและเปิดใจเป็นนักสังเกตความเคลื่อนไหวและความเป็นไปในแปลงนา ดังคำว่า “ในนาเป็นตำราเล่มใหญ่” หลักสำคัญที่ปฏิบัติอย่างเป็นประจำดังนี้


         1. ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ จาก 25 กก./ ไร่ เป็นอัตราเมล็ดพันธุ์ 10-13 กก./ไร่ รับรู้จากการสังเกต ข้าวที่ตกหล่นอยู่ในร่องระบายน้ำขึ้นต้นเดียวจะเกิดหน่อแตกก่อใหญ่ได้ ผลที่ได้รับข้าวจะแตกหน่อ แตกรวงมาก ข้าวจะแข็งแรง

         2. ลดการใช้น้ำ การปรับที่นาให้เรียบสม่ำเสมอ การให้น้ำในระดับ 10 เซนติเมตรจะสามารถควบคุมวัชพืชได้หลังจากฉีดพ่น ยาคุมหญ้า หลังหว่านข้าวก่อนวัชพืชงอกในช่วงเวลาประมาณไม่เกิน 10 วัน พ่นลงไปในผิวดินโดยตรง เพื่อให้ไปทำลายวัชพืชทางส่วนของเมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดิน โดยต้องพ่นในสภาพที่ดินมีความชื้นเหมาะสม ทิ้งไว้ 3 วันจึงปล่อยน้ำให้สูง 10 เซนติเมตร ให้น้ำเพียงครั้งเดียวทิ้งไว้จนน้ำแห้งไปเอง ถ้าไม่ใช้ฤดูแล้งจะให้อีกครั้งก่อนให้ปุ๋ยครั้งที่ 1 ซึ่งจะพบข้าวจะมีรากใหม่สีข้าวเกิดขึ้น ส่งผลให้ข้าวตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดีมาก

        3. ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

            1) ลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิม การใส่ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อข้าวอายุ 25 วัน จะใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0)  ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 1 ต่อ 2 ส่วนผสมกันนำไปหว่านในนาข้าว อัตรา 40 กก/ไร่ ปัจจุบันใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ หลังจากนำดินไปวิเคราะห์และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และจะใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 10 กก/ไร่ ก่อนข้าวตั้งท้อง ผลที่ได้รับข้าวมีความแข็งแรงไม่ล้มง่าย รวงยาวและเมล็ดสมบูรณ์


           2)  ลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จะใช้สารเคมีเพียงสารคุมและกำจัดวัชพืชเท่านั้น หลังจากนั้นจะใช้สารสมุนไพรโดยมีสารสะเดาเป็นหลัก อีกทั้งต่อเชื้อบิวเวอเรียและเมตาไรเซี่ยม ซึ่งเป็นเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อแมลง โดยใช้แป้งข้าวโพดเป็นอาหารเลี้ยงด้วยวิธีง่าย ๆ (สูตรของอาจารย์สุวัตน์ ทรัพยะประภา) คือ เตรียมวัสดุ เช่น บิวเวอเรียสำร็จรูปชนิดผง (บิวเวอเรีย+เมตาไรเชี่ยม) 2 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวโพด ครึ่งกิโลกรัม น้ำสะอาด 10 ลิตร วิธีทำ แรกเริ่มต้มน้ำ 9 ลิตรให้เดือด เวลาเดียวกันให้นำน้ำสะอาดปริมาณ 1 ลิตร โรยแป้งข้าวโพดและคนให้ผสมกับน้ำอย่างดี ก่อนเทลงน้ำที่กำลังเดือดพร้อมคนให้ละลายจนสังเกตเหลวข้นจนสุก จึงปิดฝาหม้อเพื่อป้องกันจุลินทรีย์ในอากาศตกลงปนเปื้อนในอาหารอาจทำให้เชื้อราและจุลินทรีย์อื่นๆ ปนเปื้อนเสียหาย


               เพื่อป้องกันการปนเปื้อนดังกล่าว ควรทำการผลสมเชื้อราในที่มิดชิดป้องกันลมพัดพ่านในขณะที่เปิดฝาหม้อเมื่อพบว่าน้ำต้มแป้งข้าวโพดเย็นแล้วโรยเชื้อราบิวเวอเรียผงลงไป 2 ช้อนโต๊ะ คนให้กระจายจนทั่ว เทลงแกลลอนที่เตรียมไว้ปิดฝาไม่ต้องแน่นนักเพียงเพื่อป้องกันมดหรือแมลงหรือเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ ลงไปเปื้อนแต่ถ้าแน่นจนเกิดไปอาจระเบิดเมื่อเกิดแก๊สจากการย่อยสลายและการดำรงชีวิตที่มีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ของเชื้อบิวเวอเรียและเมตาไรเซี่ยม เก็บรักษาในอุณหภูมิห้องที่ไม่โดนแสงแดดทิ้งไว้เพียง 14 วัน จนเชื้อเดินเต็มที่ สังเกตจากน้ำแป้งข้าวโพดสีขาวข้น ก็จะสามารถนำไปใช้ได้

              การนำไปฉีดพ่นในนาข้าว ให้ใช้เชื้อราบิวเวอเรียที่เพาะไว้ปริมาณ 5 ถึง 10 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในนาที่เริ่มแตกกอ หรือพบว่ามีแมลงศัตรูพืชปรากฏให้เห็น การฉีดพ่นควรกดหัวฉีดลงต่ำ เพื่อให้เชื้อเข้าสู่โคนต้นข้าวได้ทั่วถึงโดยฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น ซ้ำกันทุก 5 วัน ประมาณ 2 ครั้ง จะเห็นผลชัดเจนว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดจำนวนลง 60 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพลี้ยที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะตาย โดยมีสปอร์สีขาวหุ้มอยู่รอบ ในการเพาะเชื้อแต่ละครั้งมีต้นทุนไม่เกิน 100 บาท ใช้ฉีดพ่นครอบคลุมพื้นที่ได้มากถึง 90 ไร่ พบว่าข้าวมีความสมบูรณ์ดีมากให้ผลผลิตดีด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

                4. ไถกลบตอชังและฟางข้าวทุกครั้งหลังการเกี่ยวข้าว และทำนาครั้งต่อไป ควบคู่กับการหมักดินด้วยน้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร ต่อไร่ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดินช่วยย่อยสลายเศษข้าวและวัชพืชลดลง การใช้น้ำหมักจะกระตุ้นวัชพืชและข้าววัชพืชให้งอกก่อนทำเทือก ควรปรับที่นาให้สม่ำเสมอเพื่อประโยชน์ของการใช้น้ำดวบคุมวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพพลที่ได้รับ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ข้าวตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีต้นข้าวแข็งแรงลดปัญหาวัชพืชและข้าววัชพืช

                    นายชาลี  ทองมีศรี กล่าวเสริมว่าการใช้เชื้อราบิวเวอเรียให้มีประสิทธิภาพ ควรทำควบคู่กับการหว่านข้าวในอัตราเบาบางไร่ละ 10 ถึง 13 กิโลกรัม เพื่อให้ต้นข้าวได้รับแสงทั่วถึง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการแพร่กระจ่ายชองโรคและแมลงศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณศัตรูพืชดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 510081เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท