เทคนิคการสอนอ่าน: แค่อ่านจับใจความเพียงพอหรือ?


ความเข้าใจมีมิติและกลวิธีการพัฒนาที่หลากหลาย

เทคนิคการสอนอ่าน: แค่อ่านจับใจความเพียงพอหรือ?


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


                 ความหมายที่ผู้อ่านสร้างขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้อ่านกับข้อความนั้นเรียกว่า  “ความเข้าใจ” ผู้สอนหรือบุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกรายวิชา  มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนในหลักสูตรของตนเกิดความเข้าใจในการอ่าน เพราะเมื่อเกิดความเข้าใจเรื่อง ผู้เรียนก็จะทราบสาระสำคัญ วัตถุประสงค์ แนวคิดหรือประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอ  และสามารถที่จะขยายความรู้หรือความคิดจากการอ่านในครั้งนั้น   ไปสู่ความคิดหรือการปฏิบัติในลักษณะอื่นๆ ได้  อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการส่งเสริมดังกล่าวจะยังเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนัก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจว่า หากผู้เรียนเล่าเรื่องย่อหรือจับใจความเรื่องที่อ่านได้ ย่อมแปลว่าผู้เรียนเกิดความเข้าใจ ทั้งที่ความจริงแล้ว การสร้างความหมายหรือความเข้าใจในการอ่านของผู้เรียนมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก


                 การย่อหรือการสรุปเรื่องที่อ่าน (summarization)  เป็นเพียงหนึ่งในเทคนิคการสร้างความหมาย  ของผู้อ่าน และถือเป็นวิธีการเบื้องต้นเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเท่านั้น  ผู้อ่านจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะทางปัญญาอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสังเกต  ทักษะการจัดการ  ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะ  การจำแนก  เป็นต้น เนื่องจากทักษะเหล่านี้ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมมาพิจารณาข้อมูลใหม่ที่ปรากฏในสิ่งที่อ่าน  ซึ่งก็จะส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทักษะเหล่านี้ จะได้รับการพัฒนาเมื่อผู้เรียนใช้กลวิธีหรือเทคนิคการสร้างความหมายจากการอ่านต่างๆ (National Reading Panel, 2000:   15) ได้แก่ 


                 1. การควบคุมความเข้าใจ (comprehension monitoring) เทคนิคนี้ ผู้สอนจะใช้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนพิจารณากระบวนการอ่าน และการแก้ปัญหาการอ่านที่เกิดขึ้นของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ควบคุมและตรวจสอบความเข้าใจในการอ่านของตนเองอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างคำถาม เช่น  “เรื่องที่อ่าน  มีคำหรือข้อความใดที่นักเรียนไม่เข้าใจความหมายหรือไม่”  “เหตุใดนักเรียนจึงไม่เข้าใจคำหรือข้อความดังกล่าว” “นักเรียนมีวิธีการอย่างไร เมื่อพบกับคำหรือข้อความที่ไม่เข้าใจความหมายเหล่านั้น” การตอบคำถามเหล่านี้ สามารถดำเนินการได้ทั้งในลักษณะรายบุคคล รายคู่ รายกลุ่มหรือทั้งชั้นเรียน


                 2. การใช้แผนผังกราฟิกหรือแผนภาพความหมาย (graphic or semantic organizers) ขณะอ่านเรื่องราวต่างๆ ผู้สอนควรใช้เทคนิคการเขียนแผนผังกราฟิกหรือแผนภาพความหมาย ด้วยการให้ผู้เรียนจัดทำแผนภาพหรือแผนผังดังกล่าว ซึ่งจะต้องใช้ทักษะการสังเกตและการจัดการข้อมูลจากการอ่านให้กลายเป็นข้อมูลที่มีความหมายต่อตนเอง ผู้เรียนสามารถจัดทำแผนผังหรือแผนภาพได้ในหลายลักษณะด้วยกัน เช่น  จัดทำเป็นแผนภาพลำดับเรื่อง แผนภาพเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง  แผนภาพแสดงความเป็นเหตุและผล เป็นต้น


                  3. การตอบคำถามของผู้สอนและการตั้งคำถามโดยผู้เรียน (question answering และ question generation) การใช้คำถามในการเรียนการสอนอ่านเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมการสร้างความหมาย โดยคำถามสามารถนำมาใช้ในในสองลักษณะ คือ การให้ผู้เรียนตอบคำถามที่ผู้สอนเป็นผู้กำหนดขึ้น  และการให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดคำถามสำหรับถามตนเอง  รูปแบบของคำถามที่นำมาใช้ควรมีลักษณะที่หลากหลาย โดยอาจเป็นคำถามเชิงข้อมูลข้อเท็จจริงจากเรื่องที่อ่าน  คำถามที่ให้ผู้เรียนต้องไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม หรือเป็นคำถามที่ใช้ผู้เรียนขยายความคิดของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การอนุมานหรือการคาดเดาจากเรื่องด้วยหลักเหตุผล เช่น  ฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถามตนเองว่า “สาระสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร”  “ผู้เขียนพยายามที่จะบอกหรือสื่อแนวคิดอะไร”  “จากประเด็นที่นำเสนอในที่นี้ สามารถสรุปไปสู่ประเด็นอื่นใดได้บ้าง”  เป็นต้น   


                  4. การพิจารณาโครงสร้างของเรื่อง (story structure) โครงสร้างของเรื่องมีหลายรูปแบบตามประเภทของงานเขียน หากเป็นงานเขียนประเภทบันเทิงคดีหรือเรื่องสมมติ เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร นิทาน โครงสร้างของเรื่องก็จะประกอบไปด้วยตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ต่างๆ ประเด็นปัญหาสำคัญ ความขัดแย้งสูงสุด และจุดคลี่คลายเรื่อง เป็นต้น หากเป็นงานเขียนประเภทสารคดีหรือเรื่องจริง เช่น บทความ ข่าว ประกาศ ตำรา หรือเอกสารทางวิชาการ โครงสร้างก็จะประกอบด้วย ชื่อเรื่อง บทนำ สาระสำคัญที่นำเสนอ ข้อมูลสนับสนุนหรือรายละเอียดประกอบ และการสรุป เป็นต้น  ผู้สอนควรให้ผู้เรียนฝึกพิจารณาโครงสร้างของเรื่องที่อ่านให้ออกมาเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน เนื่องจากเทคนิคนี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะการสังเกตและการจำแนกข้อมูลของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี 


                  เทคนิคการสอนอ่านข้างต้น สามารถนำมาใช้ร่วมกันในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการอ่านทั้งสามขั้นตอน (ก่อนการอ่าน ระหว่างการอ่าน และหลังการอ่าน)  โดยพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การสอนอ่านแต่ละครั้ง ผู้สอนจะต้องมีเทคนิคหรือกลวิธีการเสริมประสิทธิภาพการสร้างความหมายของผู้เรียน จึงจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่อ่านอย่างชัดเจนขึ้น การจับใจความการอ่านหรือการบอกรายละเอียดของสิ่งที่อ่านว่า   ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับการสร้างคุณภาพการอ่านในปัจจุบัน ซึ่งผู้เรียนจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถที่จะตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่าน จัดการความคิดหรือประเด็นต่างๆ ที่นำเสนอในเรื่องให้เป็นรูปแบบ (model) ที่เป็นรูปธรรม ขยายความคิดจากการอ่านไปสู่สถานการณ์หรือบริบทอื่น และจำแนกสิ่งที่อ่านได้อย่างเป็นหมวดหมู่ ซึ่งความสามารถเหล่านี้ ล้วนพัฒนาได้จากการใช้เทคนิคการสอนอ่านหลายๆ เทคนิคดังที่กล่าวมา 

__________________________

รายการอ้างอิง

National Reading Panel. 2000. Teaching children to read: An evidence- based assessment of the               

            scientific research literatureon reading and its implications for reading instruction.

            Washington, D.C: National Institute of Child Health and Human   Development.

หมายเลขบันทึก: 509931เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท