Good day Toronto 17


พยายามคิดกลับไปที่ทำงานและการดูแลผู้ป่วยในเมืองไทย ยังนึกภาพการทำงานเป็นทีมไม่ค่อยออก ใช่เราทำงานด้วยกัน แต่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม ดูเหมือนจะยังไม่เกิดขึ้นนะ

 

Palliative care team

ช่วง 28 – 31 พฤษภาคม ได้ติดตามการทำงานของพยาบาล APN palliative care ใน palliative care consultant team (PCCT)  ที่ Sunnybrook hospital 4 วัน กิจกรรมการเริ่มต้นวันใหม่ก็เหมือนๆ กับที่ Toronto General hospital(TGH) คือมีการประชุมปรึกษาร่วมกันระหว่างทีมการดูแล จะมีเอกสารข้อมูลของคนไข้คร่าวๆ(คร่าวๆจริงๆ เมื่อเทียบกับที่ TGH) คือหอผู้ป่วย ชื่อและ HN ของผู้ป่วย ชื่อแพทย์ palliative care แผนกผู้ป่วยนอก ชื่อแพทย์ palliative care หอผู้ป่วยใน ชื่อแพทย์ประจำบ้านที่จะมาฝึกด้าน palliative care ชื่อพยาบาล APN palliative care คือ Pat และ Kallie สถานภาพของผู้ป่วยเช่น รอกลับบ้าน รอคำปรึกษา รอย้าย และหมายเหตุ

ตอนเช้าทุกคนจะเล่าถึงการติดตามคนไข้ในวันที่ผ่านมา ประเด็นที่พบ ประเด็นที่จะให้การดูแลเพิ่มเติม มีการอภิปรายร่วมกัน ถามกันว่าใครจะเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ และดูสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยที่แต่ละคนรับผิดชอบในแต่ละวัน Pat และ Kallie จะทำงานกันสัปดาห์ละ 2 วัน โดย Pat ทำวันจันทร์และพุธ ส่วน Kallie ทำวันอังคารและพฤหัสบดี โดยทั้ง Pat และ Kallie จะรับผิดชอบประสานงานรับคนไข้ใหม่ จัดคิว และมอบหมายให้สมาชิกทีมในการติดตามประเมินหรือเยี่ยมคนไข้ต่อเนื่องในแต่ละวัน

จุดเน้นการดูแลคือเรื่องของการจัดการอาการ โดยมีเป้าหมายเรื่องคุณภาพชีวิต และความสุขสบายของคนไข้เป็นหลัก มีบ้างที่จะหยิบยกประเด็นด้านวัฒนธรรมหรือจิตใจมาอภิปรายกันว่าจะดูแลต่ออย่างไรดี เวลามีปัญหาที่ต้องตัดสินใจ Pat และ Kallie จะติดต่อสื่อสารกับทีมทาง email หรือ beeper

เมื่อเห็นการทำงานของ Pat และ Kallie รวมทั้ง Sharon ทำให้พอได้คำตอบว่า APN palliative care ที่แคนาดาเขาทำอะไรบ้าง บทบาทและการปฏิบัติของ Pat และ Kallie เหมือนที่เห็น Sharon ทำที่ General hospital ซึ่งเป็นบทบาทของ APN palliative care ในโรงพยาบาลทั่วไปที่ไม่มีหอผู้ป่วยการดูแลแบบประคับประคอง คือเน้นการให้คำปรึกษา มากกว่าการให้การดูแลโดยตรง

Team work

การไปดูงานครั้งนี้ การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่ฉันสัมผัสได้ และได้เห็นจริงเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม

พยายามนึกทบทวนเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมที่ได้เห็น ...เวลาคุยกับ Pat และ Kallie ทั้งสองคนก็พูดแบบเดียวกับ I love my team และวันที่ไปดูงานที่ Kensington hospice Debbie บอกกับพยาบาลใหม่ว่า“As soon as you get in to Kensington Hospice, you are the member of our team.”ทันทีที่เธอเดินเข้ามายัง Kensington hospice คุณก็คือสมาชิกของทีมเรา ฉันรู้สึกว่าประโยคนี้มีพลังมาก สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานได้ดี

และที่หน่วยการดูแลแบบประคับประคอง ของ SunnybrookSandra เป็น Patient care manager บอกว่าเธอและเพื่อนร่วมงานทำงานกันเป็นทีม และการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพงาน Sandra บอกว่าสิ่งสำคัญสองอย่างสำหรับการทำงานเป็นทีมคือ ความเคารพ (respect) และการทำงานแบบ partnership

Karen ซึ่งเป็น APN palliative care ของหน่วยการดูแลแบบประคับประคอง ที่ SunnybrookSandra แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมว่าหน้าที่ของเธอคือการชี้นำการทำงานของพยาบาลประจำการ ไม่ใช่การสั่งการแต่เป็นการอยู่เคียงข้างพยาบาล ให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำกับพยาบาล และทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เธอบอกว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาที่จะทำให้พยาบาลกล้าที่จะถามคำถามหรือข้อสงสัย เธอว่า สัมพันธภาพเป็นสิ่งสำคัญ Karen จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเป็นพี่เลี้ยง เธอบอกว่าการดูแลเพื่อตอบสนองความต้องการการดูแลขั้นพื้นฐานของผู้ป่วยเป็นหน้าที่ของพยาบาลระดับปฏิบัติการ แต่เธอจะอยู่ตรงนั้นกับพวกเขา เพื่อให้ช่วยเหลือและให้พยาบาลเรียนรู้และเติบโต ให้พลังอำนาจ การทำเช่นนี้ ทำให้เธอค้นพบว่ามีสิ่งใหม่ๆ ในได้เรียนรู้ทุกวัน

สิ่งที่น่าสนใจคือการทำงานเป็นทีมมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วย บุคลากรสุขภาพทำงานร่วมกัน คุยกันเกี่ยวกับเป้าหมายการดูแล พยายามคิดกลับไปที่ทำงานและการดูแลผู้ป่วยในเมืองไทย ยังนึกภาพการทำงานเป็นทีมไม่ค่อยออก ใช่เราทำงานด้วยกัน แต่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม ดูเหมือนจะยังไม่เกิดขึ้นนะ กลับไปคราวนี้การทำงานเป็นทีม อาจเป็นโจทย์ที่ฉันต้องคิดและสร้างให้เกิดขึ้น ...เริ่มจากตัวเราก่อน

วันเดินทางกลับ เป็นวัน D day ของแคนาดา ทหารผ่านศึกทั้งหลายมารวมตัวกัน ระลึกถึงความเป็นชาติ ...เดินพลัดหลงไปเจอเข้าโดยบังเอิญ

หมายเลขบันทึก: 509859เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท