“คุณอยากรู้ไหม... พืชแต่ละชนิดมีปริมาณซิลิคอนเท่าไร?


ในช่วงนี้ก็จะขอนำเรื่องซิลิคอนมาอัพเดทให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปพลางๆ ก่อนนะครับ เพราะไหนๆชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ก็เป็นผู้ที่วิจัยและเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องนี้มายาวนานพอสมควร ตั้งแต่ท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ (พืชผักปลอดสารพิษด้วยภูไมท์, การการปูนและซีโอไลท์ในบ่อกุ้ง, การใช้ภูไมท์ซัลเฟตเพิ่มการผลิตพืชทั้งคุณภาพและปริมาณ ฯลฯ) ได้นำมาเผยแพร่ในขณะที่ประชาชนคนทั่วไปยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก อีกทั้งยังมีการต่อต้านด้วยซ้ำไปว่าไม่สามารถเป็นจริงได้ วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านทั่วโลกเริ่มมีการวิจัยมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น (Silicon In Agriculture) จึงทำให้ได้ทราบว่า แร่ธาตุซิลิคอนนั้นมีประโยชน์ต่อพืชอยู่ไม่น้อย ทำให้ให้เซลล์แข็งแรง ใบตั้งชูสู้แสง ป้องกันหนอนแมลงได้ค่อนข้างมาก

ปัจจุบันยังมีข้อมูลเพิ่มเติมในมุมมองของท่าน รศ.ดร.ยงยุทธ โอสถสภา ปรมาจารย์ด้านดินและอาหารพืช ที่ได้ทำการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลในเรื่องนี้ให้ทันสมัยมากขึ้นโดยได้มีการรวมรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมเข้ามาอีกมากพอสมควร เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีมุมมองที่หลากหลายกว้างไกล จึงได้นำมาขยายถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านในวงสังคมออนไลน์ได้ทราบกันอีกครา
ซิลิคอนมีสมบัติพิเศษ คือ ไม่เป็นอันตรายต่อพืช แม้จะดูดมาสะสมไว้ในเนื้อเยื่อปริมาณมาก เนื่องจากกรดโมโนซิลิซิกไม่แตกตัวในช่วง pH ที่เกี่ยวข้องกับระบบสรีระของพืช และเมื่อกรดโมโนซิลิซิก มีความเข้มข้นสูงก็จะทำปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซซัน พืชชั้นสูงดูดซิลิคอนจากดินมาสะสมมากน้อยแตกต่างกันตามชนิดพืช โดยมีความเข้มข้น 1 ถึง 10 % ขึ้นไป อาจแบ่งพืชออกเป็นสามกลุ่ม โดยพิจารณาความเข้มข้นของซิลิคอนในส่วนเหนือดิน (%SiO2 คิดจากน้ำหนักแห้ง) ดังนี้

1) พืชที่มีซิลิคอนสูงเป็นพืชในวงศ์ cyperaceae เช่น Equisetum arvense และพืชในวงศ์ Gramineae ซึ่งอยู่ในดินน้ำขัง เช่น ข้าวมี 10-15 % SiO2
2) พืชที่มีซิลิคอนปานกลาง เป็นพืชวงศ์ Gramineae ซึ่งอยู่ในดินไร่ เช่น อ้อย กับธัญพืชส่วนมากและพืชใบเลี้ยงคู่บางชนิดมี 1-3 % SiO2
3) พืชที่มีซิลิคอนต่ำ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชตระกูลถั่วมีน้อยกว่า 0.5%SiO2

นอกจากนี้ยังอาจจำแนกพืชออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามพฤติกรรมการดูดซิลิกอนจากดิน คือพืชสะสมซิลิคอนมาก (Si Accumulators) พืชสะสมซิลิคอนปานกลาง (Intermediate type) พืชขับซิลิคอนออก (silicon excluders) โดยถือเกณฑ์ดังนี้คือ 1) พืชสะสมมาก ดูดซิลิคอนมากกว่าที่มากับน้ำซึ่งพืชดูดได้แสดงว่ากลไกการดูดเป็นแบบแอกทีฟ 2) พืชสะสมปานกลาง ดูดซิลิคอนเท่ากับหรือน้อยกว่าที่มากับน้ำซึ่งพืชดูดได้ จึงเป็นกลไกแบบเพสซีฟ และ 3) พืชขับซิลิคอนออก มีกลไกการขับ (rejective transport) ซิลิคอนที่ดูดมาได้ (Liang et al., 2006) (แหล่งที่มา ยงยุทธ โอสถสภา. ธาตุอาหารพืช /ยงยุทธ โสถสภา. –พิมพ์ครั้งที่ 3. – กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2552)

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 509852เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท