ชีวิตที่พอเพียง : 115. แม่เนื่อง ตาทบ และทำตาล ๒


         บ้านของแม่เนื่อง ตาทบ ไอ้ออด ไอ้นี เป็นบ้านชั้นเดียว ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก     พื้นบ้านส่วนหนึ่งเป็นดินอัดแน่นไล้ด้วยดินเหนียวหรือดินจอมปลวก     ลักษณะเกือบเหมือนลาดซีเมนต์      ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักพื้นซีเมนต์     เคยเห็นที่บ้านแปะขุ้นที่เดียว  ผมถามแปะขุ้นว่าหินอะไรทำไมก้อนใหญ่นัก    เอามาจากไหน  ขนมาได้อย่างไร

        พื้นบ้านแม่เนื่องส่วนที่ใช้นอนและทำครัวยกเป็นแคร่ไม้ไผ่    บ้านแบบนี้เย็นสบาย ลมโกรกได้ทุกทิศทางเพราะฝาก็เป็นไม้ไผ่ซีกขัดแตะ    เป็นบ้านที่ไม่ถาวร     พอผุก็ทำใหม่     ตอนสร้างบ้านก็ทำกันเอง ๒ - ๓ วันก็เสร็จ     เขาไม่ต้องการความถาวร     เพราะแม่เนื่องจะอยู่เพียง ปีสองปีก็กลับอัมพวา     แล้วจึงกลับมาอยู่ใหม่เมื่อทางพ่อผมบอกให้มา     ที่พ่อผมอยากให้เขาทำตาลก็เฉพาะช่วงที่มะพร้าวห้าวราคาไม่ดี    

        พ่อผมไม่อยากให้ทำตาลต่อเนื่องเพราะจะทำให้มะพร้าวโทรมมาก (สังเกตได้จากขนาดต้นตรงคอเรียวเล็กลง  คือต้นผอมลงนั่นเอง)     ทำเพียงปีสองปีก็ปล่อยให้ต้นมะพร้าวได้พัก    แม่เนื่องก็กลับเมืองในไป     ผมชักเอ่ยถึงเฉพาะแม่เนื่องให้หมายถึงทั้งครอบครัวนี้เพราะแม่เนื่องเป็นหัวหน้าครอบครัวในสายตาของผม     แม่เนื่องเป็นผู้เจรจางานต่างๆ กับพ่อและแม่ของผม      ตาทบจะเป็นช้างเท้าหลัง เพราะแกเป็นคนไม่ค่อยพูด

        ต่อไปนี้จะเล่ากรรมวิธีเก็บน้ำหวานของมะพร้าว      เครื่องมือได้แก่ กระบอกไม้ไผ่สำหรับรองน้ำหวาน    เปลือกและเนื้อไม้เคี่ยมสำหรับใส่กระบอกกันน้ำหวานบูด    ไม้คานหาบพวงกระบอกน้ำหวาน     และที่ผมไม่ค่อยกล้าจับ คือมีดปาดตาล มันคมจนน่าเสียวไส้     มีดนี้ต้องใส่ไว้ในฝักและเหน็บที่ข้างสะโพกเยื้องไปข้างหลังนิดหน่อย     ผมจำไม่ได้ว่าคนถนัดขวาเหน็บมีดทางขวาหรือซ้าย     เขาต้องลับมีดนี้ให้คมกริบอยู่เสมอ     ผมชอบไปดูแม่เนื่องหรือตาทบลับมีด และซักถามเรื่องต่างๆ     และที่ชอบที่สุดคือไปขอกินน้ำหวานที่เพิ่งรองมาจากต้น  

        เขาจะเตรียมต้นมะพร้าวที่จะทำตาลโดยการบากต้นให้เป็นร่องสำหรับเอาเท้าเหยียบปีนขึ้นไป     ร่องนี้อยู่สองข้างต้นสลับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงคอต้นมะพร้าว     ที่บ้านผมนิยมบากต้นทำเป็นที่ขึ้น     แต่บางแห่งนิยมเอาพะองไม้ไผ่มามัดกับต้นมะพร้าวสำหรับปีน

        คนปีนแต่งตัวด้วยกางเกงขาก๊วยสั้น ควั่นขาขึ้นไปสูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้     หรืออาจนุ่งผ้าขาวม้าควั่นขอบจนติดแน่นกับโคนขา มีผ้าขาวม้าหรือผ้าผูกมีดคาดเอว     เขาเอากระบอกไม้ไผ่สำหรับรองน้ำหวานติดตัวขึ้นไปด้วย ๑ - ๒ กระบอก  แล้วแต่ว่าต้นไหนมีงวงให้ปาดตาล ๑ หรือ ๒ งวง     กระบอกไม้ไผ่นี้เขาแขวนไว้ตรงไหนของตัวผู้ขึ้นผมไม่เคยสังเกต หรืออาจจะลืมไปแล้ว    พอขึ้นไปแล้วก็ปลดกระบอกที่มีน้ำหวานเอามาแขวนกับตัว      เอากระบอกเปล่ารองแทน     แล้วก็ลงมา     มะพร้าวบางต้นมีมดแดงคนขึ้นตาลก็เดือดร้อนหน่อย

        กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำหวานต้องมีกรรมวิธีในการทำความสะอาดมาก     มิฉะนั้นน้ำหวานจะสกปรกและบูด     เขาต้องล้างอย่างดีแล้วรมควันจากเตาเคี่ยวน้ำตาลซึ่งเขาจะทำช่องไว้วางกระบอก ๑๐ - ๒๐ กระบอก    ผลัดเปลี่ยนกระบอกเอามารมจนแห้งสะอาดดี   และต้องเอาเปลือกและไม้เคี่ยมใส่ลงไปกระบอกละนิดหน่อยกันน้ำหวานบูด     ไม้เคี่ยมนี้มีรสขม ผมไม่ชอบเลย     ผมอยากให้เขาไม่ใส่ไม้เคี่ยมจะได้กินน้ำหวานที่ไม่มีรสขม     บางครั้งตาทบก็ทำให้ คือมีกระบอกที่ยกเว้นไม่ใส่ไม้เคี่ยมหรือใส่น้อยเป็นพิเศษ    "ทำให้ตาอ๊อดกิน"      

        มีข่าวอยู่บ้างว่ามีคนตกต้นมะพร้าว     แต่ที่บ้านผมไม่เคยมี     อันตรายในสวนมะพร้าวที่พบบ่อยที่สุดคือโดนงูกะปะกัด     บางคนต้องตัดขา    น้อยคนที่ถึงตาย     น้องชายของผมคนที่ ๓ ก็เคยโดนกัด     อาการมากถึงขนาดเลือดออกตามผิวหนัง     และออกเข้าไปในกล้ามเนื้อโคนขาเป็นลิตร     พาไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นเดือน    นั่นคือในปี ๒๕๒๕ 

        ผลพลอยได้ หรือผลิตภัณฑ์เสริมจากสวนมะพร้าวได้แก่ ลูกนก  ลูกกระรอก  รังต่อ  หัวพร้าว  เหมงพร้าว  เชือกกาบพร้าว  พร้าวอ่อน  พร้าวกะทิ   ด้วงพร้าว  ซึ่งจะเล่าในโอกาสต่อไป

วิจารณ์ พานิช
๑๕ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50936เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2006 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท