การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (critical reading): สมรรถนะสำคัญของคนทุกศตวรรษ


การจัดการเรียนการสอนการอ่านอย่างมีวิจารณญาณคือการฝึกอ่านด้วยการใช้เหตุผล

การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (critical reading): สมรรถนะสำคัญของคนทุกศตวรรษ


เฉลิมลาภ ทองอาจ
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

              ทักษะการอ่านเป็นทักษะการสื่อสารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เพราะการอ่านคือการเปิดประตูสู่โลกของความรู้และจินตนาการ  แต่ด้วยปริมาณของข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายหลายรูปแบบและหลายแหล่งที่มาในปัจจุบัน ได้ส่งผลให้สิ่งที่อ่านนั้น มีคุณภาพแตกต่างกันไปด้วย  ผู้อ่านจึงจะต้องมีความสามารถในการพิจารณาและวินิจฉัยได้ว่า สื่อหรือสิ่งกำลังอ่านอยู่นั้น มีคุณภาพอยู่ในระดับใด  ซึ่งความสามารถดังกล่าวนั้น ก็คือการอ่านอย่างมีวิจารณญาณนั่นเอง


              วิจารณญาณ คือ ปัญญาอันรู้ได้ด้วยเหตุและผลที่ถูกต้อง ผู้ที่มีความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ จึงต้องสามารถพิจารณาสิ่งที่อ่านด้วยเหตุและผลได้ ด้วยเหตุนี้  การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (critical reading)  จึงหมายถึง การอ่านที่ผู้อ่านใช้เหตุและผลในการพิจารณาเหตุและผลที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในงานเขียน  การใช้เหตุและผลในการพิจารณาเหตุและผล หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดของผู้อ่าน กับความคิดของผู้เขียน  ซึ่งฝ่ายผู้เขียนนั้น เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องพยายามที่จะนำเสนอข้อมูล ประเด็นความคิด แนวคิด  หรือสารบางอย่างมาสู่ผู้อ่าน  และกลวิธีที่จะทำให้ประเด็นต่างๆ ดังกล่าวมีน้ำหนักหรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อถือ ก็คือการให้เหตุผล ประจักษ์หลักฐาน หรือข้อมูลสนับสนุนในลักษณะอื่นๆ อันจะทำให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อว่า สิ่งที่เขียนนั้นเป็นจริงหรือควรเชื่อ  ฝ่ายผู้อ่านจำเป็นจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบว่า การให้เหตุผลของผู้เขียนดังกล่าว เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เช่นนี้ จึงจะเรียกได้ว่า เป็นผู้อ่านอย่างมีวิจารณญาณอย่างแท้จริง  จากที่กล่าวมา ผู้ที่ใช้วิจารณญาณในการอ่าน คือ ผู้ที่สามารถ


               1. บอกได้ว่า สารหรือแก่นเรื่อง (theme) ที่ผู้เขียนต้องการเสนอมายังผู้อ่านคืออะไร และผู้เขียนใช้กลวิธีการใดในการนำเสนอ


               2. กลวิธีการนำเสนอสารหรือแก่นเรื่องข้างต้นนั้น มีความถูกต้องหรือสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด


               3. อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้งานเขียนเรื่องนั้นถูกต้อง/น่าเชื่อถือ หรือไม่ถูกต้อง/ไม่น่าเชื่อถือ 


               4. ข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาประกอบการสนับสนุนแก่นเรื่องหรือประเด็นความคิดของตนนั้น มีความถูกต้อง/น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด


               5.  ข้อมูลที่นำเสนอในงานเขียน ข้อมูลใดเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลใดเป็นข้อคิดเห็น  และข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นนั้น น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด


               ความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เป็นสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนในทุกสาขาวิชาและในทุกวิชาชีพ เพราะเป็นความสามารถพื้นฐานของการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพ  ทุกวิชาจึงมีเป้าหมายสำคัญที่จะต้องพัฒนาความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ แต่ปัญหาที่พบคือ ครูผู้สอนในหลายวิชา รวมทั้งภาษาไทยเองอาจมองข้ามไป คือ การให้ผู้เขียนอ่านเอาเรื่องหรืออ่าน  จับใจความนั้น คือ  การอ่านเพื่อความเข้าใจ (reading comprehension)  ไม่ใช่การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นความสามารถทางปัญญาในระดับที่สูงกว่า  และครูก็จำเป็นจะต้องใช้วิธีการเรียน  การสอนที่มีความซับซ้อนมากกว่า 


              การจัดการเรียนการสอนการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ครูควรเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายและหลักการของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นเบื้องต้นก่อนซึ่งหลักการสำคัญที่ผู้เรียนควรทราบก่อนอ่านข้อมูล เช่น 

             1.  เหตุผลเพียงเหตุผลเดียว ไม่อาจนำไปสรุปได้ทุกเรื่อง  ตัวอย่างข้อความเช่น  “เพราะฝนตก รถจึงติด”  “เนื่องจากเขาไม่ตั้งใจเรียน ทำให้เขาต้องกลายเป็นคนไม่ดี” เพราะข้อสรุปที่ขีดเส้นใต้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ด้วย
  

             2.  สิ่งหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นสาเหตุให้กับสิ่งหนึ่ง  ตัวอย่างข้อความเช่น  “เขาชอบร้องเพลง และเขาชอบอยู่กับครอบครัว  ดังนั้น ทั้งครอบครัวของเขาชอบร้องเพลง” ข้อสรุปที่ขีดเส้นใต้ไม่ถูกต้อง เพราะการชอบร้องเพลง และการชอบอยู่กับครอบครัว ไม่ได้เป็นสาเหตุที่สัมพันธ์กัน  และเพียงพอที่จะนำมาสรุปได้ว่า ทั้งครอบครัวของเขาชอบร้องเพลง


             เมื่อผู้เรียนทราบหลักการแล้ว ครูควรฝึกปฏิบัติให้ผู้เรียนเริ่มพิจารณาประโยคที่แสดงเหตุผล  จากในเอกสาร ตำรา หรือสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  เพื่อพิจารณาความสมเหตุสมผล จากนั้นจึงเริ่มนำข้อความขนาดยาว เช่น ความเรียง เรียงความ เรื่องสั้น หรือนวนิยาย ที่เกี่ยวกับสาขาที่ผู้เรียนกำลังศึกษาอยู่มาให้ผู้เรียนอ่าน ประกอบกับการใช้คำถาม  5  ข้อ ที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น  เพื่อที่จะค่อยๆ พัฒนาให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการให้เหตุผลและตรวจสอบการให้เหตุผลของผู้เขียนไปในขณะเดียวกัน


            วิจารณญาณจะเกิดขึ้นได้จากการใช้หลักเหตุและผลของผู้อ่าน  และย่อมจะเกิดขึ้นได้จาก  การเรียนการสอนอ่านที่เป็นเหตุและผลด้วย  ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศของการถกเถียงกันด้วยเหตุและผล ลดอารมณ์และอัตตาส่วนตัว  ย่อมขยายกลายเป็นหน่วยสังคมแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงในที่สุด 


            __________________________________________________________



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท