ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 56. เจตคติและคุณค่า (2) สัมภาษณ์


การสัมภาษณ์ หรือผลัดกันถามผลัดกันตอบ โดย นศ. สองต่อสอง ทำให้รู้สึกเป็นกันเอง และมีโอกาสเผยความในใจได้มาก การสัมภาษณ์จึงช่วยเชื่อมโยงมิติด้านในของ นศ. เข้ากับวิชาที่เรียนได้มาก

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 56. เจตคติและคุณค่า  (2) สัมภาษณ์

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๖ นี้ ได้จาก Chapter 17  ชื่อ Attitudes and Values  และเป็นเรื่องของ SET 36 : Dyadic Interviews

บทที่ ๑๗ ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ด้านคุณค่าและความหมายในชีวิต  รู้จักตนเอง และพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 35 – 40  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 36  : Dyadic Interviews  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

นศ. จับคู่ผลัดกันเป็นผู้สัมภาษณ์ และผู้ให้สัมภาษณ์ เรื่องเกี่ยวกับเจตคติ ความเชื่อ และการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ  รวมทั้งประสบการณ์ชีวิต ที่เชื่อมโยงกับวิชาที่เรียน  หรือเป้าหมายการเรียนรู้ 

การสัมภาษณ์ หรือผลัดกันถามผลัดกันตอบ โดย นศ. สองต่อสอง  ทำให้รู้สึกเป็นกันเอง และมีโอกาสเผยความในใจได้มาก  การสัมภาษณ์จึงช่วยเชื่อมโยงมิติด้านในของ นศ. เข้ากับวิชาที่เรียนได้มาก

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดรายการคำถามสำหรับสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า

2.  จัด นศ. เป็นคู่

3.  อธิบายวิธีการ ดังนี้

-  ย้ำว่า นศ. ก สัมภาษณ นศ. ข เป็นระยะเวลาหนึ่ง (เช่น ๑๐ นาที) จนครูสั่งว่า “สับข้าง”  แล้วจึงให้ นศ.ข เป็นผู้สัมภาษณ์ นศ. ก บ้าง ในเวลาเท่ากัน

-  บอกให้ชัดเจนว่า หน้าที่ของผู้สัมภาษณ์คือ ตั้งคำถาม ฟัง และถามเพิ่มเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน  แต่ไม่ประเมินหรือโต้แย้งโดยเอาความคิดเห็นของตนเป็นฐาน

-  แจ้งให้ทราบว่า นศ. จะต้องเขียนเรียงความ สรุปผลการสัมภาษณ์เพื่อน

4.  นศ. สัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน  สับข้างเมื่อครูบอก  แล้วเขียนรายงานสรุปผลการสัมภาษณ์ 

ตัวอย่าง

วิชาวรรณคดีสมัยใหม่เบื้องต้น

ครูต้องการใช้การสัมภาษณ์ซึ่งกันและกันเป็นเครื่องมือให้ นศ. ตระหนักในคุณค่าของการอ่านอย่างไตร่ตรอง  และเชื่อมโยงสาระที่อ่านกับชีวิตส่วนตัวของตน  ครูจึงมอบรายชื่อหนังสืออ่านให้ นศ. ไปอ่านล่วงหน้า  โดยบอกว่า นศ. จะต้องเตรียมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงลึกกับเพื่อน ๑ คน ในประเด็นใด 

เช่น เมื่อครูมอบหมายให้อ่านเรื่องสั้นของ Tim O’Brien เรื่อง “The Things They Carried”  นศ. รู้ล่วงหน้าว่า จะต้องตอบคำถาม “สิ่งของที่ทหารจะต้องขน ที่คุณแปลกใจที่สุดคืออะไร ทำไมจึงแปลกใจ”  และ “หากคุณคือคนหนึ่งที่ต้องแบกสิ่งของนั้น คุณรู้สึกอย่างไร” 

ครูพบว่า เนื่องจากในการคุยกัน ๒ คน  บรรยากาศเป็นกันเอง ง่ายต่อการเปิดเผยความเห็นส่วนตัว  ดังนั้นการผลัดกันสัมภาษณ์จึงช่วยให้เมื่ออภิปรายกันทั้งชั้น  จึงมีเรื่องราวมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น   

วิชาอนามัยช่องปาก

ครูต้องการเตรียม นศ. ออกไปฝึกงานด้านบริการทันตกรรม  ให้ นศ. ฝึกตอบคำถามและเผชิญสถานการณ์ที่อาจพบในชีวิตจริง  ครูจึงเตรียมรายการคำถาม ที่คิดขึ้นจากประสบการณ์ของตน โดยใช้คำถามหลัก “คุณจะทำอย่างไร หาก ....”

ครูมอบ ๑ คำถามแก่ชั้น โดยให้ นศ. จับคู่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน  แล้วรวมเป็น ๓ คู่ ๖ คน  เพื่อให้ นศ. แต่ละคนบอกกลุ่มว่าเพื่อนที่เป็นคู่มีความเห็นอย่างไร 

แล้วให้กลุ่ม (๖ คน) เลือกประเด็นหรือปัญหาที่กังวลใจที่สุด  แล้วให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งชั้น  กิจกรรมนี้ช่วยเตรียมความพร้อมแก่ นศ. ตอนปฏิบัติจริงได้ดีมาก   

การประยุกต์ใช้ online

น่าจะใช้เทคนิคนี้ เป็นเครื่องมือให้เกิดความสนิทสนมเป็นชุมชน online ได้ดียิ่งขึ้น  โดยครูกำหนดให้ นศ. จับคู่กัน ลปรร. หรือสัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน online  แล้วจึงนำผล หรือความรู้ที่ได้มา ลปรร. ในกลุ่มใหญ่  เคล็ดลับสำคัญคือ ให้คู่สัมภาษณ์เป็นผู้บอกความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของเพื่อน  ไม่ใช่ให้เจ้าตัวเป็นผู้บอก 

หลังจากนั้นจึงเป็นการอภิปรายทั้งชั้นเรียน

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  ให้ นศ. ร่วมกันตั้งคำถามหรือโจทย์เอง

·  ใช้การสัมภาษณ์เป็นเครื่องมืออุ่นเครื่องสู่การอภิปรายทั้งชั้น   เพราะ นศ. จะรู้สึกสบายใจที่จะเผยความในใจต่อเพื่อนสองต่อสองมากกว่า 

·  ให้ นศ. บันทึกเสียงการสัมภาษณ์แล้วถอดเทป  และ นศ. เขียนชีวประวัติของเพื่อนคู่สัมภาษณ์  เพื่อฝึกเขียนรายงานวิชาการให้มีรูปแบบที่ดี  หรือฝึกเขียนบทความส่งไปลงหนังสือพิมพ์ 

·  ขยายกิจกรรมให้จริงจัง หรือลึกซึ้งยิ่งขึ้น  โดยให้คู่ นศ. ใช้เวลาเต็มชั่วโมง ดื่มกาแฟคุยกัน  หรือไปเดินเล่นด้วยกัน  เพื่อคุยกันให้ได้มิติด้านในที่ลึกยิ่งขึ้น  เพื่อเขียนบทความที่ยิ่งน่าสนใจ  รวมทั้งอาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระยะยาวหรือตลอดชีวิต ระหว่างคู่ นศ.

·  อาจขยายสู่กิจกรรม “สัมภาษณ์ ๓ ขั้นตอน” (Three-Step Interview)  ซึ่งมีผลให้เกิดการ ลปรร. ในหมู่ นศ. ๔ คน  โดยมีขั้นตอนคือ (๑) นศ. ก สัมภาษณ์ นศ. ข  (๒) นศ. ข สัมภาษณ์​นศ. ก  (๓) นศ. ก และ ข รายงานผลการสัมภาษณ์ต่อ นศ. ค และ ง  และ นศ. ค และ ง ก็รายงานผลการสัมภาษณ์ของตน ต่อ นศ. ก และ ข ด้วย   

·  ให้ทีมผู้สัมภาษณ์ ๓ คน ช่วยกันสัมภาษณ์ นศ. ๑ คน (เรียกว่า “ทีมสัมภาษณ์”) 

·  อาจให้ นศ. สัมภาษณ์ผู้อื่น ที่ไม่ใช่ นศ.   ที่อาจเป็นคนในครอบครัว  เพื่อนบ้าน  เพื่อนร่วมงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่คาดว่าจะมีความเชื่อ หรือเจตคติแตกต่างจากกลุ่ม นศ. มาก  ลักษณะที่บ่งชี้โอกาสแตกต่างคือ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์  วัยหรือรุ่น (generation)  ศาสนา  ประเทศแดนเกิด เป็นต้น  จะทำให้ นศ. เข้าใจมิติด้านเจตคติ ความเชื่อ และมิติด้านในของคนที่แตกต่างหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น

คำแนะนำ

 การสัมภาษณ์ช่วยให้ นศ. รู้จักกันยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเป็นชุมชนที่แน่นแฟ้นขึ้น

การสัมภาษณ์สองต่อสอง ช่วยให้ นศ. แลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวได้สะดวกใจง่ายขึ้น  การผลัดกันพูด ผลัดกันฟัง ก็ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกติดต่อกันดียิ่งขึ้น 

จะได้ผลดียิ่งขึ้น หากครูช่วยจับคู่ นศ. หรือกลุ่ม นศ. ที่ยังไม่รู้จักกัน  ผู้เขียนแนะนำวิธีจับคู่แบบสุ่มดังต่อไปนี้ 

o  วิธี “คี่-คู่”  ครูเดินไปตามทางเดินกลางห้องและขาน นศ. แต่ละแถวหน้ากระดาน “คี่” “คู่” “คี่” “คู่” ไปเรื่อยๆ  แล้วให้ นศ. คี่ จับคู่กับ นศ.คู่ ที่นั่งข้างหลัง 

o  วิธีแจกไพ่  แจกไพ่ชุด ๔ ใบ เช่น สี่ A, สี่คิง, สี่ควีน, ฯลฯ  ให้ นศ. ที่ได้ไพ่ระดับเดียวกันรวมตัวเป็นกลุ่ม ๔ คน  ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็นกลุ่ม ๒ คนโดยแยกด้วยสี   

o  วิธีแจกบัตรต่างสี เช่นสีเขียวกับชมพู  แต่ละบัตรเขียนหมายเลข เช่น A-1, A-2, …; B-1, B-2, …, etc  ให้ นศ. ที่ได้หมายเลขเดียวกันต่างสีจับคู่กัน

o  วิธีตั้งแถว ตามลำดับอะไรก็ได้  เช่นลำดับความสูง  ลำดับตัวอักษรของชื่อ  แล้วให้นับ ๑, ๒; ๑, ๒; … เพื่อให้ ๑ จับคู่กับ ๒ ที่อยู่ติดกัน  หรือนับ ๑, ๒, ๓, ๔; ๑, ๒, ๓, ๔; …. เพื่อจับกลุ่ม ๔ คน เป็นต้น   

อาจจับคู่ นศ. แบบจงใจ เพื่อให้คนที่ต่างกันมากๆ จับคู่กัน   หรือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนที่รู้จักกันดีอยู่แล้วจับคู่กัน 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Barkley EF, Cross KP, Major CH. (2005). Collaborative learning techniques : A handbook for college faculty. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 246-250. 

คำแนะนำของผม 

ควรใช้เครื่องมือ “การจัดการความรู้” ที่เรียกว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” (peer assist)  ช่วยด้วย  โดยเชิญ นศ. รุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว   มาฟังการอภิปรายทั้งชั้นในช่วงสุดท้าย  แล้วบอก นศ. รุ่นน้องทั้งชั้นเรียนว่า สิ่งที่น้องๆ เตรียมเผชิญ สิ่งใดบ้างที่ตรงตามที่รุ่นพี่ได้พบ  สิ่งใดบ้างที่รุ่นพี่ไม่พบ  และสิ่งใดบ้างที่รุ่นน้องไม่ได้เอ่ยถึง แต่รุ่นพี่ต้องเผชิญ  และรุ่นพี่เผชิญปัญหาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ผลเป็นอย่างไร ฯลฯ  

วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 509146เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2012 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท