"สำนวน" ชวนคิด.. ชีวิต..นก-คน


การเรียนรู้พฤติกรรมของนกในช่วงนี้ตั้งแต่ การสร้างรัง จนกระทั่งนกน้อยเติบโตบินออกจากรัง เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ไม่น้อย เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้จากธรรมชาติของนกนำมาเปรียบเปรยกับคนเราเป็นสำนวนตางๆ

 "สำนวน" ชวนคิด.. ชีวิต..นก-คน

รังและไข่ของนกตีนเทียน ทำรังง่ายๆ บนพื้น/ กอต้นผักเบี้ย ริมทะเลหรือ บริเวณคันนาเกลือ


การได้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ที่ยังมีความเป็นธรรมชาติให้สัมผัสได้ไม่ยากนัก "ครูพื้นที่" จึงมีโอกาสได้สังเกต ศึกษาวิจัย และเชื่อมโยงไปกับเรื่องต่างๆ  แม้กระทั่งสำนวนในภาษาไทยของเราก็มีไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับนก... ลองไปดูกัน


ยามสนธยา เหล่านกกาบินกลับรัง”เนื้อร้องในเพลงนี้ ทำให้หลายคนอาจคิดว่า ยามเย็นเห็นนกบินกลับรัง .. หมายถึง นกทุกตัวมีรังเอาไว้นอน เช่นดียวกับบ้านของเราหรือ ?? ในหนึ่งรัง นกอาศัยอยู่กันกี่ตัว?? พ่อ แม่ ลูก อาศัยในหนึ่งรัง ตลอดชีวิตหรือ???   เป็นคำถามที่ "ครูพื้นที่" ถูกถามหลายครั้ง  ทำให้ชวนคิดว่า หลายคนไม่รู้ว่าในสภาวะปกติ นกไม่สร้างรัง นกเพียงกลับไปพักนอน บ้างก็เกาะคอน หรือนอนที่พื้นสูง/ไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นนกที่หากินกลางวัน หรือกลางคืน   นกที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม (colonial bird) เช่นกลุ่มนกยาง ในช่วงใกล้ค่ำจะบินกลับเป็นฝูงไปยังแหล่งอาศัย ซึ่งเป็นเพียงกลับไปยังแหล่งพักนอนกลางคืน (roosting site) โดยจะบินกลับไปเกาะบนต้นไม้ และอยู่ในท่าพักเก็บปากซุกใต้ปีก หากในช่วงชีวิตที่นกพร้อมจะสร้างครอบครัว เลี้ยงดูลูก นกก็จะบินกลับรังในบริเวณแหล่งสร้างรัง  (nesting site) แต่ถ้าเป็นนกชายเลนอพยพ เนื่องจากแหล่งสร้างรัง วางไข่ จะอยู่ไกลมากกับแหล่งหากินที่อพยพยจากมา นกก็จะพักบริเวณหาดเลน อาจจะยืนขาเดียว โดยขาอีกข้างพับงอขึ้นมา และปลายปากจะถูกซุกไว้ใต้ปีกเช่นกัน (ปลายปากมีปลายประสาทที่รับรู้เร็วมาก เพื่อประสิทธิภาพในการกินอาหารที่ฝังตัวตามโคลนเลน บางครั้งต้องใช้การหลายทักษะ probe, sweep & sieve กว่าจะได้มาซึ่งอาหารแต่ละครั้ง ) พร้อมที่จะตื่นมาหากินตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลงต่อไป


นกปรอดหน้านวลทำรังที่ ไม้พุ่ม ต้นไม้กระถางข้างห้องพัก (ถ่ายภาพผ่านกระจกริมหน้าต่าง)


ทำไมนกต้องสร้างรัง?  หรือรังนก 1 รังมีนกอยู่ได้กี่ตัว ??  เป็นคำถามที่ชวนคิด  โดยทั่วไป นกจะสร้างรังเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีสมาชิกใหม่ของครอบครัว ที่จะได้รับการเลี้ยงดู ฟูมฟักจากพ่อแม่ เพื่อเติบโตพอที่บินออกจากรังไปดำรงชีวิตเป็นอิสระได้  รังนกจึงเป็นบ้านของนกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ (breeding season) บ้านจะใหญ่ เล็กก็ขึ้นกับสมาชิกลูกน้อยและพ่อหรือแม่เพียงหนึ่งตัวที่จะคอยดูแล อาจจะเป็นพ่อหรือแม่ผลัดกันทำหน้าที่อยู่ในรังนั้น อีกตัวก็จะคอยช่วยเหลือ เป็นกำลังใจใกล้ๆหรือยู่ไม่ไกลกันนัก  อย่างในภาพ 


* นกเตียนเทียน อาศัยอยู่ในรังช่วงฟักไข่ จำนวนไข่ส่วนใหญ่เป็น 3- 4 ฟอง/รัง แต่รังมีขนาดเล็ก สร้างง่ายๆไม่ซับซ้อน  เพราะเมื่อลูกนกฟักจะออกจากรังไปเลย  รังจึงใช้ช่วงสั้นๆ  


*ส่วนนกปรอดมีไข่ 2-4 ฟอง/รัง แต่ขนาดตัวเล็กๆ รังก็เหมาะสมกัน บางทีช่วงที่แม่นกกกลูกน้อยกลางคืนหลังจากฟักออกมาแล้ว แต่ขนตัวยังไม่งอกเต็มตัว กลางคืนอากาศเย็น แถมลูกนกก็ตัวโตขึ้น และมีหลายตัว แม่นกกกให้ความอบอุ่นจนเกือบจะล้นรัง สังเกตเห็นการขยายรังไม่มากนัก รังเดิมถูกนำมาใช้ใหม่ในฤดูถัดไป (คู่เดิม หรือคู่อื่น?? ยังไม่มีข้อมูล  รอศึกษาต่อไป) มีการเสริมรังบ้างก่อนใช้

*นกยางและนกกาน้ำ กลุ่มนี้ตัวโต จำนวนไข่ 2-4 ฟอง/รัง และใช้รังเป็นพื้นที่ในการดูแลลูกค่อนข้างนานกว่าลูกจะบินออกจากรังได้  ช่วงแรกที่กกไข่ แม่อยู่ในรัง แต่เมื่อฟักเป็นตัวแล้ว แม่/แม่ต้องออกมายืนนอกรัง คอยบังแดดให้ช่วงเช้า กลัวลูกจะถูกแสงแดดร้อนมากเกิน อุณหภูมิร้อนเกินไปทำใ้ห้ลูกนกตายได้  พ่อและแม่จะผลัดกันยืนบังแดดให้ เลือนไปตามทิศทางการเลื่อนของดวงตะวัน และผลัดกันออกไปหาอาหารมาป้อนลูกและก็ต้องหากินเลี้ยงตัวเองด้วยเพื่อให้กำลังทำงานอย่างเข้มข้นกับความตัองการอาหารของลูกในรัง   สังเกตเห็นการซ่อมรัง ขยายรัง ให้กว้างขึ้น   แต่สังเกตรังของนกกาน้ำเล็ก มีใบไม้มารองเป็นวัสดุรองรัง  นุ่มดีจริงๆ ลูกนกคงรู้สึกไ้ด้?? เหล่านี้เป็นทักษะการสร้างรัง ลักษณะไม้ ไม้ง่าม ไม้ตรง ขนาด/จำนวนกิ่งไม้ที่นำมาใช้ ตำแหน่งที่สร้างรังในต้นไม้แต่ละต้นที่ใช้พื้นที่ร่วมกันกับนกชนิดอื่น  ได้ทำการวิจัย มีข้อมูลที่น่าสนใจเชียว  (เอาไว้ค่อยเล่าเพิ่มเิติมหาก มีใครสนใจ)


* จึงพอได้ความคิดว่า หนึ่งรังมีนกกี่ตัว??? แต่ที่แน่ๆ การสร้างรังที่ตำแหน่งใด พื้นที่ใด ทั้งนกน้ำ นกป่า จะเป็นที่ซึ่งนกเลือกสรรแล้วว่า ปลอดภัยสำหรับวางไข่ เสี่ยงต่อการถูกคุกคามน้อย  และใกล้แหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงดูตัวอ่อน ครูพื้นที่และเพื่อนๆ นึกสนุก ทำวิจัยเล็กๆกับเด็กๆ ไปนั่งนับเที่ยวบินของนกเข้าออกจากรังนอน หาความถี่ ความสำคัญของพื้นที่และแหล่งอาหาร ชนิดของอาหาร  สนุกไม่น้อยเลยหล่ะ  แต่ต้องเข้าพื้นที่ก่อนนกตื่นและกลับค่ำมืด..หลังจากที่นกออกหากิน เลี้ยงลูกเป็นมื้อสุดท้าย  ใครสนใจประกาศรับเข้าก๊วนเลย :-) 


รังของนกกาน้ำเล็ก บนต้นแสมทะเลในพื้นที่ชุ่มน้ำ


การเรียนรู้พฤติกรรมของนกในช่วงนี้ตั้งแต่ การสร้างรัง จนกระทั่งนกน้อยเติบโตบินออกจากรัง เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ไม่น้อย   เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้จากธรรมชาติของนกนำมาเปรียบเปรยกับคนเราเป็นสำนวนต่างๆ  การเปลี่ยนแปลงมีเวลากำหนดไว้ (timing) ที่ไม่อาจปฏิเสธ คล้ายผลไม้สุกงอมตามเวลาก็จะเต็มที่น่าชื่นชม หากมีปัจจัยอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิตที่กำลังพัฒนาก็จะผ่านเลย ไป ไม่สามารถหวนกลับมาได้  จึงเป็นช่วงชีวิตที่น่าทะนุถนอม เฝ้าติดตาม และกำหนดได้เป็น milestone เช่นเดียวกับพัฒนาการของเด็กทารก ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละข่วงเวลา คืบ คลาน ยืน เดิน และ พูด การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในช่วงชีวิตล้วนแล้วบูรณาการ หล่อหลอมด้วยสูตรวิเศษ ที่ปรุงด้วยความรักจากพ่อแม่ที่พอเหมาะ ลงตัว จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่เปรียบเปรยจากนกไปสู่คน 

รังและไข่ของนกยางเปีย  ทำรังบนต้นแสมทะเล หรือ ไม้ชายเลนอื่นๆในพื้นที่ชุ่มน้ำ


"นกน้อยทำรังแต่พอตัวสะท้อนให้เห็นถึงความพอเพียง ไม่โลภ ใช้ทรัพยากรที่เป็นผลิตผลของโลกได้อย่างรู้คุณค่า นกตัวเล็กก็ทำรังขนาดเล็ก เริ่มจากการสาน ด้วยฟาง ใบไม้แห้ง หรือกิ่งไม้ ทีละน้อย ๆ  แม้คิดเผื่อสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา รังก็ยังคงรองรับได้ หรือในระหว่างใช้อาจจะซ่อมแซมเพิ่มเติม เช่น นกตีนเทียบเสริมรังให้สูงขึ้นเมื่อฝนตกหนัก โดยให้ไข่ที่กำลังกกไม่ถูกน้ำท่วม จากภาพจะสังเกตได้ว่าความพอเพียงของนกแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เหล่านี้น่าพิศวงยิ่งนัก เพื่อได้เรียนรู้ในรายละเอียดของแต่ละชนิด


"ปีก หาง เจ้าอ่อน สอนร่อนสอนบิน" ช่วงที่พ่อแม่เลี้ยงดู  ลูกนกจะถูกฟูมฟัก ให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ว่าจะเป็นหนอน ตัวโต ตัวเล็ก พร้อมกับผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามิน หรือนกน้ำก็จะได้รับอาหารพวกกุ้ง ปลา อาหารดังกล่าวถูกนำมาป้อนตัวแล้วตัวเล่า จนลูกนกมีขนปีก ขนหางเจริญเต็มตัว พร้อมที่จะสอนให้บิน ทั้งแม่และพ่อจะกระตุ้นด้วยอาหาร ใช้กลยุทธ์หลอกล่อให้ลูกนกค่อย ๆ กล้าที่จะออกมาจากรังทีละน้อย ฝึกทุกวัน จนกระทั่งมีทักษะการบินออกจากรัง ที่ซึ่งมีความปลอดภัย กินอิ่ม นอนหลับสบายในชีวิต ทั้งพ่อและแม่จะคอยส่งเสียงให้กำลังใจ หรือ เสริมแรง อย่างต่อเนื่อง …


"ปีกกล้า ขาแข็ง"  ด้วยกลไกทางสรีรวิทยา เมื่อมีโครงสร้าง ก็มีหน้าที่  (form & function) หลังจากขนปีกขึ้นเต็ม ขนหางและขนตัวอยู่ในสภาพพร้อม นกน้อยก็เพิ่มความกำลัง และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทั้งส่วนขาและกล้ามเนื้อยกปีก จนกระทั่งโผบินออกจากรังได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า วิวัฒนาการส่วนนี้ต่างกันระหว่างนกที่ฟักแล้วเดินตามพ่อแม่ได้เลยจะพัฒนาการส่วนนี้เร็วมากเช่น นกตีนเทียน  เป็ดแดง และอื่นๆ (นกตีนเทียนที่เลี้ยง จะสังเกตพฤติกรรมการขยับเหยียดขา ยกปีก กรีดกรายในทิศทางต่าง ๆ พร้อมด้วยการกระโดด ลองยกตัว ลอยในมิติที่สาม อยู่บ่อย ๆ ในช่วง 2 เดือนแรก)  แต่ถ้าเป็นนกป่า เช่น นกปรอดหน้านวล และอื่นๆ ก็ยังอาศัยการดูแล ช่วยเหลือจากพ่อแม่ยามคับขัน ด้วยการส่งเสียงเรียก บ่งชี้ นำทาง ออกหากินด้วยกันเป็นระยะๆ 


"บินเดี่ยว"   คงเป็นช่วงสุดท้าย  ที่ไม่ต้องรอพ่อแม่กระตุ้นด้วยกลวิธีใด ๆ เป็นความสามารถที่อยากเผชิญโลก ดำรงชีวิตโดยอิสระ  เรียนรู้และสนุกกับชีวิตในโลกกว้าง  


An early bird catches the worm  วัฒนธรรมทางตะวันตก เปรียบเปรยว่า นกที่ตื่นเช้าก็จะหาอาหารที่อร่อยได้ดี หมายถึงหนอนอันโอชะ เช่นเดียวกับคนที่ตื่นเช้า เริ่มชีวิตในช่วงแรกของวัน ก็จะทำอะไรๆ ได้ดี สมองสดใส พลังกาย-ใจเต็มเปี่ยม พร้อมที่จะเริ่มวันใหม่ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง (productive day)  หรือหมายถึงเป็นกลุ่มแรกๆในการทำอะไรๆ


(เบื้องหลังของบันทึกนี้ ...ขอขอบคุณหลายครอบครัว (นก) ที่ให้โอกาสสังเกตได้อย่างใกล้ชิด 3 ชนิด ได้แก่นกปรอดหน้านวล นกยางเปีย นกกาน้าเล็ก รวมถึงนกตีนเทียนหลายตัว ที่ได้ช่วยชีวิต เริ่มตั้งแต่ฟักไข่ในตู้ฟัก และเลี้ยงด้วยฝีมือ "ครูพื้นที่" โตและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ เมื่ออายุครบ สามเดือน


ครอบครัวนกปรอดหน้านวล (yellow- vented bulbul) ซึ่งทำรังในพุ่มไม้ประดับ เก็บเมล็ดมาจากป่า ปลูกไว้ข้างหน้าต่าง นกมาทำรังทุกปี  รังเดิม ถูกใช้ 3 ครั้งในรอบปี  พ่อแม่หาอาหารมาป้อนลูก รังนี้สังเกตได้ง่าย ทั้งการจับคู่ สร้างรัง กกไข่ ฟักไข่  เลี้ยงดูลูก  ป้อนอาหารลูก กกตัวอ่อนกลางคืน  ทั้งหมดนั้นแอบยืนเงียบๆหลังม่าน  สังเกตได้ทั้งวันทั้งคืนที่อยากจะดู บางคู่เป็นนกที่ได้ใส่ห่วงขานกไว้ด้วย...น่าทึ่งจริงๆ



 ครอบครัวนกยางเปีย (little egret) และนกกาน้ำเล็ก (little cormorant) ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าแสมเรือนจำกลางปัตตานี ทำรังบนต้นแสม และเฝ้าสังเกตพฤติกรรมบนต้นมะขามที่อยู่ใกล้กัน 100 เมตร  พ่อแม่หาอาหารมาป้อนลูก ดูแลลูกคอยการเปลี่ยนแปลงในตัวลูกอย่างใจเย็น


ครอบครัวนกตีนเทียน (black-winged stilt) ฟักและเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ปกติทำรังบนพื้น มีวัสดุรองรังเล็กน้อย เมื่อเริ่มฟักก็จะเดินตามพ่อแม่หากินได้เลย นกกลุ่มนี้ลูกๆเดินตาม พ่อแม่ไม่ต้องหาอาหารมาป้อน อยู่รวมกลุ่ม มีทั้งตัวอ่อน ตัวก่อนเต็มวัย ตัวเต็มวัย อยู่ร่วมกันเป็นฝูงใหญ่  สอนประสบการณ์ ทั้งการหาอาหาร การระวังภัย และอื่นๆ มีสังคม แม้ลำดับ ตำแหน่งการยืนในกลุ่มก็จะมีในฝูง ขณะเดียวกันก็จะเผื่อแผ่ไปยังนกชนิดอื่น  เพราะมีนกบางชนิด ที่มีลักษณะคล้ายกันมาเข้าร่วมกลุ่ม โดยเฉพาะการระวังภัยด้วยเสียงและพฤติกรรม จิก ก้าวร้าวหากเข้าใกล้รัง น่าสนใจยิ่งนักหากได้สังเกตใกล้ชิด


ครอบครัวของคน   ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีโอกาสเข้าไปทำงานด้วย  ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า  การเลี้ยงลูกสองคนเลียนแบบธรรมชาติโดยเลี้ยงดู "เยี่ยงนกและเยี่ยงไก่"   โดยลูกคนเล็ก  "เลี้ยงดูเยี่ยงไก่".เปรียบเปรยว่า..คุ้ยเขี่ยหากินไปพร้อมกับพ่อแม่" เพราะปรับเปลี่ยนไปจากการที่เลี่ยงลูกคนโต  "เลี้ยงดูเยี่่ยงนก..เปรียบเปรยว่า .หามาป้อนให้"  เมื่อเปรียบเทียบพฤิตกรรมของลูกทั้งสองเมื่อโตขึ้น  เช่น การพึ่งพาตนเอง ความรับผิดชอบ การปรับตัวต่อสถานการณ์ อารมณ์ และอื่นๆจะต่างกัน ลองย้อนดูว่า เรา/ท่าน ถูกเลี้ยงหรือเลี้ยงลูกเยี่ยงใด??   :-))

  อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/424


๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

วรรณชไม การถนัด

หมายเลขบันทึก: 508994เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2012 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ภาพชัดเจนน่ารักอย่างยิ่งครับผม

 

สวัสดีค่ะ... อาจารย์โสภณ และ Dr. Ple ที่แวะมาทักทาย ฝากความเห็นไว้ เป็นกำลังใจให้เสมอ..ขอบคุณค่ะ :-))

และขอบคุณสำหรับดอกไม้ จากกัลยาณมิตรทุกท่านด้วยค่ะ

Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48

หากพบเจอเพิ่มเติมจะนำมาเพิ่มค่ะ

ชื่นชมแนวคิดหลากหลายของพี่อาจารย์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติค่ะ ;))))

สวัสดีค่ะน้องปริม

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยืือนเยี่ยมเสมอ  และสำหรับกำลังใจที่มีให้แบบ ระยะประชิดค่ะ  มิ่งมิตรผู้น่ารัก...   เอาไว้เมื่อไหร่มีโอกาสเจอกันจะเตรียมรางวัลไว้ให้หล่ะค่ะ ...  อิอิ :-))

  • ขอบคุณมากนะคะ สำหรับบันทึกเรื่องนกและภาพน่ารักๆ
  • ป้าวิ (ยายไอดิน) มีหนังสือเรื่องต้นไม้แต่ละชนิดเยอะมาก วันหนึ่งไปเจอหนังสือที่มีรูปปลาและบอกชื่อปลาแต่ละชนิดก็ซื้อมา เพราะอยากรู้ว่าปลาแต่ละอย่างเขาเรียกว่าปลาอะไร  เดี๋ยวว่างๆ จะไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับนกมาศึกษาค่ะ 

เรียนอาจารย ขวัญ ..

นกตีนเทียน ขี้คร้าทำรัง ส่วนนก จาบ สุดยอดศิลป ในการทำรัง

"ตีนเทียน" นกคุ่มก็ตีนเทียน"

"นกคุ่มเหอ.....หางหลุ่นตีนเทียน

เทียมได้ผัวเหมียน  นอนสาดเจ็ดชั้น

ถ้าได้ผัวไทย  ชั้นไหนชั้นนั้น

นอนสาดเจ็ดชั้นแล้วเหอ   นกคุ่ม"....(ยายร้องให้ฟังตอนเด็กๆ)

สวัสดีค่ะป้าวิ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายยามเช้าค่ะ  เป็นมงคลจากป้าวิเมืองอุบลส่งมายังปัตตานีนะค่ะ  ดีจังเลยค่ะ เมื่อไหร่ที่ป้าวิสนใจ นกตัวไหนในฟาร์มไอดิน ก็เล่ามาให้น้องฟังบ้างนะค่ะ คงมีหลายตัว ๆๆ ตัวที่เป็นนกประจำถิ่นทางอีสานและน้องก็ยังไม่เคยเห็น ไม่รู้จักค่ะ   แต่ป้าวิก็อย่าหักโหม  ระวังสุขภาพด้วยนะค่ะ ทราบว่าหมู่นี้ต้องทำตามคำแนะนำของหมออย่างใกล้ชิด...เป็นห่วงค่ะ :-))

สลามัต.. ยามเช้าค่ะบัง

ขอบคุณค่ะ ที่แวะมาทักทาย น้องด้วย กลอนจากยายที่บังนำมาเขียนไว้   ชวนลับสมองนะค่ะเนี่ย   อ่านแล้ว รอบแรกผ่าน  กลอนนี้สอนอะไร    อ่านรอบสองใหม่  กลอนนี้เปรียบเทียบอะไร   รอบที่สามยังไม่ได้อ่าน เตรียมไปสอนก่อนคะบัง   สงกะสัยว่าต้องมีอีกสักหลายรอบนะเนี่ย  และอาจจะยังไม่เข้าใจ  มีโอกาสค่อยถามไปค่ะบัง  เก็บไว้หลายๆๆๆ แ้ล้วนะค่ะ  เมื่อไหร่เจอตัวจริง เสียงจริง จะถามให้ตอบไม่ทันเลย   อิอิ....:-))

เช้านีเจอกันอีกครั้งค่ะบัง..เพราะยังสงสัย!!

 "นกตีนเทียน ขี้คร้าทำรัง ส่วนนก จาบ สุดยอดศิลป ในการทำรัง"

อย่างที่บังเขียนมา น้องก็เห็นด้วยค่ะ   แต่ขอแลกเปลี่ยนนะคะ.   การที่นกตีนเทียน ขี้คร้าน (ขี้เกียจทำรัง) ทำรังแสนง่าย  อาจเป็นเพราะใช้เวลาอยู่ที่รังสั้นๆ ช่วงแม่ฟักไข่เท่านัน เพราะทันทีที่ฟักได้  รังก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป  ออกจากรังไปเผชิญโลกกว้างทันทีด้วยตนเอง แต่ใช้ระบบฝูงเป้นการเรียนรู้ ถ่ายทอดวิทยายุทธิ์ทักษะในการดำรงชีพ  ไม่ว่าจะเป็น แหล่งอาหาร  การระวังภัย สาระพัน   อืมม์...นกกลุ่มนี้น่าจะมี โมเดลของ KM ฝังในตัวเยอะ  ถ่ายทอดกันในสังคมของฝูง..

น้องเคยไปเฝ้าดูนกตีนเทียนตอนที่จะออกมาดูโลก เริ่มตั้งแต่มีรอยร้าวของเปลือก  และสักพักลูกนกค่อยๆออกมาจากเปลือกค่ะบัง  หัวทิ่มหัวตำ ขมำก็หลายครั้ง  แม่นกอยูใกล้ก็ไม่ต้องช่วย สักครู่ก็เดินตามพ่อแม่ทันที  มิฉะนั้นถูกภัยคุกคามต่อชีวิตทันทีเช่นกัน เช่น จากตัวเงินตัวทองและอื่นๆที่รอจ้องจะกินลูกนก (ทั้งหมด สังเกตจากกล้องส่องทางไกลค่ะบัง เลยเห็นชัดและตื่นเต้นมากค่ะ)   เลยเข้าใจว่า สำหรับลูกตีนเทียนที่เพิ่งฟักออกจากรังก็เผชิญที่สิ่งรอบตัว  โลกก็ต้อนรับทันที ....โลกนี้คือ "รัง" ที่กว้างใหญ่  บินไปได้ ไร้ขอบเขต และอยู่ร่วมกันกับฝูงมีเืพื่อนๆ ญาติๆนกมากมาย  จึงเห็นว่าเป็นการออกแบบรังที่มีประสิทธิภาพ ใช้วัสดุน้อย ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของตัวเอง   "พออยู่ พอดี" น่าชื่นชม   จริงๆแล้วแม่นกก็ฉลาดด้วย ถ้ามีฝนตก น้ำมาใกล้ๆรัง ก็จะเห็นการเสริมรัง เห็นได้ชัดว่าเตรียมการไว้ แก้ปัญหา ยามฉุกเฉิน  เวลาเข้าไปที่นาเกลือ ไปดูรังนกตีนเทียนในธรรมชาติ ก็จะเห็นพฤติกรรมเหล่านี้  ดูแล้วสะท้อน ชวนคิดมากเลยค่ะ  แม่นกรักลูกมากมายแค่ไหน  แม้ยังอยู่ในระยะฟักไข่ มีหน้าที่ให้ความอบอุ่นกับไข่  ก็คิดหาวิธีว่าทำอย่างไร  สุดท้ายก็เสริม เพิมวัสดุ  ให้รังพ้นน้ำ...อัจฉริยะจริงๆ  นกเหล่านี้...

 

ส่วนนกจาบ นั้นเป็นนกที่พิเศษ สุดยอดของการสร้างรัง เป็นที่กล่าวถึงความมีสุนทรียของกลุ่มนักประดิษฐ์ตัวน้อยๆนี้  นกอยู่ในรังจนกระทั่งลูกนกถูกป้อนอาหารเลี้ยงดูจนบินได้ ใช้เวลาอยุ่ในรังค่อนข้างนานจึงสร้างบ้านให้คงทน และประณึต   แต่ถ้าได้เห็นรังนกชนิดอื่นๆ ก็เชื่อได้ว่าความวิจิตร บรรเจิดทางศิลปในการสร้างรังก็มีมากเช่นกันค่ะ  อย่างนกอีกแพรด ตัวเล็กนิดเดียว เล็กกว่านกจาบ  สร้างรังเป็นรูปถ้วย (cup shape) บรรจงสร้าง  เนียนมากค่ะบัง  แต่จะแอบๆสร้างรังไว้ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก  (แล้วจะเอารูปมาให้ดู ถ่ายรูปไว้แล้วแต่หาไม่เจอตอนนี้ค่ะ ..อิอิ)

 

...."ตีนเทียน"   นกคุ่มก็ตีนเทียน" ...

อันนี้ ต้องคิดถอดรหัส  ใช่ไหม๊ค่ะบัง   อืมม์...  บังหมายถึง ตะเกียง เทียน  ประเภทนั้นหรือเปล่าว??  จึงเปรียบเทียบกับ  ตีน-ส่วนที่อยู่ด้านล่าง??  "ตีนเทียน". ในความหมายนั้น เหรอค่ะ??

"นกคุ่มเหอ.....หางหลุ่นตีนเทียน เทียมได้ผัวเหมียน นอนสาดเจ็ดชั้น ถ้าได้ผัวไทย ชั้นไหนชั้นนั้น นอนสาดเจ็ดชั้นแล้วเหอ นกคุ่ม"....(ยายร้องให้ฟังตอนเด็กๆ)

บังค่ะ แบบฝึกหัดนี้ ยากมากหล่ะค่ะเนี่ย   คงต้องถอดรหัสอีกนานนิ...ภาษาพัทลุง ปากยูน   เค้าว่าไรกันนิ??? น่าเรียนรู้มากมาย   คิดออกเมื่อไหร่จะมาเขียนไว้ใหม่ค่ะ  ..ตรีมอกาเซะ .. ค่ะบัง:-))

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท