ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 53. ประยุกต์ใช้ความรู้ (5) ภาพต่อ (Jigsaw)


กิจกรรมนี้ ฝึก นศ. ให้มีประสบการณ์เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจนสอนคนอื่นได้ ช่วยให้ นศ. ที่ขี้อาย เก็บตัว ไม่ช่างพูด หรือไม่มั่นใจตัวเอง ได้มีโอกาสฝึกแสดงออก โดยเฉพาะเมื่อแสดงบทเป็น “ครู” ดำเนินการอภิปราย

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 53. ประยุกต์ใช้ความรู้  (5) ภาพต่อ (Jigsaw)

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๓นี้ ได้จาก Chapter 16  ชื่อ Application and Performance  และเป็นเรื่องของ SET 33 : Jigsaw

บทที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 29 – 34  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ 

ความรู้และทักษะจะมีความหมายต่อ นศ. เมื่อ นศ. สามารถใช้ประโยชน์ได้ 

SET 33  : Jigsaw

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอภิปราย

ระยะเวลา  :  หลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

ให้ นศ. ทำงานกลุ่มย่อย เพื่อเตรียมเป็น “ทีมผู้เชี่ยวชาญ” สอนคนอื่นในเรื่องที่กำหนด  โดยสมาชิกทีมแต่ละคนเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน”  แล้วทีมแตกตัวไปจัดทีมเป็น “ภาพต่อ” ใหม่  ที่มีสมาชิกทีมครบด้านของผู้เชี่ยวชาญ 

กิจกรรมนี้ ฝึก นศ. ให้มีประสบการณ์เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจนสอนคนอื่นได้  ช่วยให้ นศ. ที่ขี้อาย เก็บตัว ไม่ช่างพูด หรือไม่มั่นใจตัวเอง ได้มีโอกาสฝึกแสดงออก  โดยเฉพาะเมื่อแสดงบทเป็น “ครู” ดำเนินการอภิปราย

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูใช้เวลาไตร่ตรองเลือกเรื่องสำหรับกิจกรรม “ภาพต่อ”  โดยต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก  พอที่ นศ. จะจับใจความนำไปสอนเพื่อนได้  แต่ก็ต้องซับซ้อนเพียงพอที่จะนำไปสู่การอภิปรายแสดงความเห็นในทีม นศ. เพื่อเตรียมการสอน  เรื่องที่เลือกควรมีจำนวนหัวข้อย่อย เท่ากับจำนวนสมาชิกกลุ่มที่เป็น “ภาพต่อ”   

2.  ครูทำรายการ “ความรู้เฉพาะด้าน” ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่อง  และทำให้ความแตกต่างระหว่างแต่ละความรู้เฉพาะด้าน มีความชัดเจน 

3.  แบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม (เรียกว่า “กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ”)  เพื่อให้แต่ละกลุ่มศึกษาความรู้เฉพาะด้านตามความสนใจของตน หรือตามที่ครูมอบหมาย   เพื่อให้สมาชิกกลุ่มเรียนรู้ฝึกฝนตนเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน”  ที่มีทักษะในการอธิบาย  ยกตัวอย่าง  แสดงภาพ  และประยุกต์ใช้ความรู้นั้น (การสอนผู้อื่น)

4.  เมื่อ นศ. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทำความเข้าใจเนื้อหา และวิธีการ “สอน” ผู้อื่นแล้ว  ให้แยกกลุ่มไปตั้งกลุ่มใหม่ เรียกว่า “กลุ่มภาพต่อ”  คือ ให้แต่ละกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้านละ ๑ คน และมีครบทุกด้าน  ให้ “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” สอนเพื่อนในกลุ่มเกี่ยวกับความรู้ด้านนั้น ที่เชื่อมโยงเป็น “ภาพต่อ” ของเรื่องนั้นๆ 

5.  หลังจาก “สอน” เพื่อนในกลุ่มภาพต่อ จนได้ “ภาพต่อ” แล้ว นศ. กลับเข้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และ AAR กันว่าการไปสอนเพื่อนๆ ในกลุ่มให้ความรู้หรือประสบการณ์อะไรเพิ่มบ้าง  แล้วอภิปรายในกลุ่มใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  

ตัวอย่าง

วิชาวรรณคดีดีเด่นของอเมริกา

ศาสตราจารย์สอนวิชาวรรณคดีเกี่ยวกับภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา  ในตอนท้ายของภาคการศึกษา  ครูกำหนดให้ นศ. ค้นคว้าว่านักเขียนในภาคใต้ใช้ประสบการณ์ในชีวิตของตนเป็นฉากในวรรณกรรมอย่างไรบ้าง  ครูจึงเลือกนักเขียนเด่น ๕ คน  แบ่ง นศ. เป็น ๕ กลุ่ม ให้ไปค้นคว้าวรรณกรรมของนักเขียนกลุ่มละ ๑ คน  โดย นศ. แต่ละคนต้องไปทำการบ้านมา  ในสัปดาห์ต่อมา นศ. ประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ  กลุ่มที่ ๑ ว่าด้วยนักเขียน ก  กลุ่มที่ ๒ ว่าด้วยนักเขียน ข  เป็นต้น  แต่ละกลุ่มรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตของนักเขียนคนนั้น ที่ปรากฎในเรื่องสั้นที่เขาเขียน  นศ. แต่ละกลุ่มรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุด  และเตรียมนำเสนอต่อเพื่อนอย่างกระชับโดยใช้เวลา ๑๐ นาที 

ในสัปดาห์ต่อมา ครูให้ นศ. จัด “กลุ่มภาพต่อ”  ให้ นศ. แต่ละคนผลัดกันทำหน้าที่นำการอภิปราย  เมื่อจบการประชุมกลุ่ม  นศ. กลับมารวมเป็นชั้นใหญ่และอภิปรายสาระที่ได้เรียนรู้ 

วิชามานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรมเบื้องต้น

มีเป้าหมายให้ นศ. เข้าใจวัฒนธรรมของมนุษย์ที่เป็นชนเผ่าล้าหลัง  ครูจึงให้ นศ. เรียนโดยใช้เทคนิค “ภาพต่อ”  เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้โดยการค้นคว้า  โดยปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ  และโดยการสอนเพื่อน

ครูแบ่ง นศ. ออกเป็น ๖ กลุ่ม  กลุ่มละ ๖ คน  ให้ นศ. แต่ละคนค้นคว้าศึกษา ๑ วัฒนธรรม แล้วนำมาสอนเพื่อนในกลุ่ม  โดยครูทำหน้าที่ประเมินว่าเพื่อนๆ เข้าใจสิ่งที่ “ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรม ก” สอนหรือไม่ โดยทดสอบความรู้เป็นระยะๆ  จบตอนนี้โดยการสอบเก็บคะแนน

หลังจากนั้น จัด “กลุ่มภาพต่อ” ได้แก่กลุ่ม ความเชื่อทางศาสนา  กลุ่มระบบเศรษฐกิจ  กลุ่มโครงสร้างการปกครอง  และกลุ่มระบบชนชั้น  ให้แต่ละกลุ่มมี “ผู้เชี่ยวชาญ” ครบทุกวัฒนธรรม วัฒนธรรมละ ๑ คน 

แต่ก่อนเริ่มกระบวนการกลุ่มภาพต่อ ครูเตรียมทักษะการสอนให้ นศ. โดยการอภิปรายในชั้น เกี่ยวกับวิธีสอนที่ดี  รวมทั้งวิธีวาง outline, การกำหนดนิยาม, การมีเอกสารประกอบ, และการทดสอบความเข้าใจเป็นระยะๆ 

ก่อนจบกลุ่มภาพต่อ “ครู” แต่ละคนจัดทดสอบว่า “นักเรียน” ในกลุ่มเข้าใจสาระหรือไม่  แล้วส่งผลการทดสอบต่อครู  ครูใช้ผลการทดสอบเหล่านั้นในการวางแผนการสอบเมื่อสิ้นภาคการศึกษา

วิชาเครื่องมือตีพิมพ์ เว็บไซต์

เป็นวิชา online  และเป็นส่วนหนึ่งของวิชา การออกแบบและจัดการ เว็บไซต์ เบื้องต้น  มีวัตถุประสงค์ให้ นศ. มีทักษะในการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ จัดทำเว็บไซต์ในระดับมืออาชีพได้ 

ในช่วงกลางเทอม ครูกำหนดให้ นศ. เข้า “ทีมผู้เชี่ยวชาญ” และ “ทีมภาพต่อ”  ทีมผู้เชี่ยวชาญมี ๖ ทีม ตามจำนวนคุณลักษณะ ๖ ประการของ design software program ตามที่ครูสอน  แต่ละทีมค้นคว้า ๑ คุณลักษณะ และ ลปรร. กันภายในทีมผ่าน online discussion forum ที่เข้าได้เฉพาะสมาชิกกลุ่ม  ให้เวลา ๑ สัปดาห์   โดยใช้เวลาเรียนในชั้นเรียนตามปกติในการร่วมกันสรุปความรู้ 

ในสัปดาห์ที่ ๒ ทีมผู้เชี่ยวชาญเตรียมจัด บทเรียนให้แก่เพื่อน  โดยต้องมีสไลด์ฉายขึ้นจอ  แสดงผลการค้นคว้า  มีเอกสารอ้างอิง  และแนะนำแหล่งความรู้ที่ดีที่สุด ๒ แหล่ง สำหรับไปค้นคว้าต่อ 

ในสัปดาห์ที่ ๓ นศ. เข้ากลุ่มภาพต่อ  และผลัดกันสอนสาระเกี่ยวกับเทคนิคในการจัดทำและจัดการ เว็บไซต์  นศ. ทุกคนได้เรียนรู้เครื่องมือทั้ง ๖ ชนิด   ตอนท้ายสัปดาห์ครูจัดให้มีการอภิปราย ลปรร. ทั้งชั้น  นศ. ต้องนำข้อเรียนรู้ ๑ ข้อจากทีมผู้เชี่ยวชาญ และอีก ๑ ข้อจากทีมภาพค่อ เอาไปใช้ในโครงงานของตน 

   

การประยุกต์ใช้ online

ครูกำหนดประเด็น ๔​ - ๕ ประเด็นสำหรับให้ น.ศ. สอนซึ่งกันและกัน  จัด นศ. เข้ากลุ่มหรือให้ นศ. เลือกเข้ากลุ่มประเด็นในลักษณะใครสมัครก่อนได้ก่อน  ดังนั้นจะมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญประเด็น ก, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญประเด็น ข, ....  แต่ละกลุ่มค้นคว้าและ ลปรร. Online ใน ๒ เรื่อง  คือเรื่องสาระของประเด็น  และเรื่องวิธีสอนสาระนั้นให้เข้าใจง่ายและสนุก  โดยครูเข้าไปสังเกตการณ์ในแต่ละ discussion forum  เพื่อช่วยเหลือ และประเมินว่า นศ. มีทักษะทั้ง ๒ ด้านแล้วหรือยัง คนไหนมี คนไหนไม่มี   อาจให้ นศ. แต่ละกลุ่มเชี่ยวชาญสร้าง instructional module สำหรับใช้สอน 

หลังจากนั้น จัดกลุ่มภาพต่อ ให้แต่ละกลุ่มมีสมาชิกที่เชี่ยวชาญครบทุกด้าน ด้านละ ๑ คน  จัด discussion forum สำหรับแต่ละกลุ่มภาพต่อ  ให้สมาชิกแต่ละคนสอนเพื่อนให้มีความรู้ในประเด็นที่ตนเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” 

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  ใช้เทคนิคนี้ สำหรับแก้ปัญหาที่ซับซ้อน  โดยให้สมาชิกแต่ละคนเรียนรู้ ๑ ทักษะที่ต้องใช้ในการแก้ปัญหานั้น  ให้มี นศ. เรียนรู้ครบทุกทักษะที่ต้องการ ในจำนวนทักษะละเท่ากัน

·  ให้ นศ. ร่วมกำหนดรายการประเด็น  ซึ่งจะเพิ่มความสนใจของ นศ.

·  แทนที่จะเรียก นศ. ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เรียกว่า “ครูสอน” 

·  แทนที่จะให้ นศ. เข้ากลุ่ม ๒ กลุ่ม  คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเรียนรู้อย่างแจ้งชัด (mastery)  และกลุ่มภาพต่อ เพื่อเรียนจากการสอน (teaching)  ให้ นศ. จับคู่เรียนรู้ประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างรู้จริง  แล้วกลับมาสอนในห้องเรียนทั้งชั้น 

·  ครูบอก นศ. ว่าตนมีแนวสอนเรื่องนั้นอย่างไร  ให้กลุ่ม นศ. วิพากษ์และสร้างวิธีการที่ดีกว่า นำมาใช้สอนเพื่อน

·  ให้ นศ. เลือกเพื่อน ๑ คน ทำหน้าที่ทบทวนภาพรวมของการเรียนรู้ นำเสนอต่อทั้งชั้น  และ นศ. ในชั้นช่วยกันแก้ไขเพิ่มเติม

·  จัดทดสอบความรู้ของ นศ. รายคน  และรายทีม

·  ทำ pre-test และ post-test ความรู้ของ นศ. ก่อนและหลังการอภิปรายของทีมผู้เชี่ยวชาญ  

คำแนะนำ

การสอนคนอื่น ผู้สอนต้องรู้ลึก  ในการเตรียมการสอน นศ. จะค้นพบตัวอย่าง  ข้อเปรียบเทียบ  ที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจ  การเตรียมสไลด์นำเสนอ  ข้อสอบสำหรับทดสอบ  และคำถามสำหรับอภิปราย  จะช่วยเพิ่มความลึกซึ้งของการเรียนรู้ของ “ครู”

นศ. ที่ไม่ชอบ (และไม่เห็นคุณค่าของการ) เรียนด้วยตนเอง  ไม่ชอบเรียนเป็นทีม  อาจบ่นว่าตนถูกใช้ให้ทำงานแทนครู  ครูตัวจริงจึงควรอธิบายคุณค่าของเทคนิคการเรียนแบบนี้ตอนก่อนเริ่มเรียน  และควรทำ AAR หลังจบบทเรียนนี้ เพื่อทำความเข้าใจคุณค่าที่ นศ. ได้รับจากวิธีเรียนแบบนี้

ในการเรียนความรู้เฉพาะด้านในกลุ่ม “ผู้เชี่ยวชาญ”  นอกจาก นศ. เรียนรู้สาระของวิชาแล้ว  ควรได้สังเกตเรียนรู้ความสร้างสรรค์ ความรู้ และทักษะของเพื่อน ในการทำหน้าที่ “ครู” ด้วย  แล้วนำข้อเรียนรู้นี้ไปใช้ในกลุ่มภาพต่อ 

นศ. จะได้เรียนรู้มาก หากเอาจริงเอาจังกับการเตรียม และการทำหน้าที่ “สอน”  ก่อนเข้ากลุ่มภาพต่อ ครูพึงจัดการอภิปรายเรื่องเทคนิคการสอนที่ดี เพื่อเตรียม นศ. ในการทำหน้าที่ “ครู”

การมี “กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ” ก็เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้ประเด็นนั้นๆ ดีหรือลึกและเชื่อมโยงถึงขนาด  พร้อมที่จะทำหน้าที่สอนได้  ซึ่งหมายความว่า “ครู” ต้องมีความรู้เรื่องนั้นดีมาก  นศ. พึงได้รับแจ้งความจริงข้อนี้จากครู  เพื่อกระตุ้นให้ นศ. เตรียมค้นคว้าหาความรู้จนเข้าขั้น “ผู้เชี่ยวชาญ” จริงๆ 

จำเป็นต้องมีการอภิปรายสรุป ตอนจบ  เพื่อทำความเข้าใจทั้งสาระวิชา และกระบวนการเรียนรู้  ให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงจากการทำหน้าที่สอนผู้อื่น   และคุณค่าของการเรียนแบบร่วมมือช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกัน  ในตอนจบอาจมีการทดสอบด้วย

เทคนิคภาพต่อนี้ ใช้ได้ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล ถึงมหาวิทยาลัย

เทคนิคนี้ใช้เวลามาก ครูจึงควรประเมินกระบวนการ สำหรับนำมาปรับปรุงการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ให้ดีขึ้น  โดยใช้แบบสอบถามความเห็นจาก นศ. แบบไม่เปิดเผยชื่อ 

ในการเตรียมทำหน้าที่ “ครู”  อาจให้ นศ. ซ้อมโดยใช้เทคนิค “เขียนใหม่” (Directed Paraphrase)  

  

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Classroom assessment techniques : a handbook for college teachers (2nd Ed.). San Francisco : Jossey Bass, pp. 232-235.  

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 508866เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท