Peer Assist ช่วยให้เห็นความสำคัญของเท้าและทีม


ทุกคนเห็นความสำคัญของเท้าและการทำงานเป็นทีมมากขึ้น

วันนี้เป็นวันแรกของกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" เรื่องการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ระหว่างผู้ขอเรียนรู้คือทีมของ รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และผู้แบ่งปันคือทีมของ รพ.เทพธารินทร์ กำหนดการของวันนี้ (ไฟล์ pdf) เป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมพริมโรส ที่ชั้น ๑๐ ของ รพ.เทพธารินทร์

ทีมของ รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จำนวน ๑๒ คน (เดิมกำหนดไว้ ๑๐ คน) นำโดย นพ.ประกาศิต จิรัปปภา ศัลยแพทย์ ภก.เอนก ทนงหาญ คุณพเยาว์ ปิยะไพร นักกายภาพบำบัด พยาบาลจาก PCU และจากทุกหน่วยใน รพ. ๘ คน รวมทั้งคุณอัญชุลี อึ้งอุปรชัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน

ทีมของ รพ.เทพธารินทร์ ประกอบด้วย พญ.ศรีอุไร ปรมาธิกุล อายุรแพทย์ นพ.ทวีศักดิ์ ศรีคำมุล ศัลยแพทย์ คุณชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช พยาบาลวิชาชีพและ Diabetes Educator คุณยอดขวัญ เศวตรักต นักกายภาพบำบัด

ทีมธาตุพนมมาถึงห้องประชุมก่อนเวลา ๐๘.๓๐ น. ดิฉันใช้ช่วงเวลาดังกล่าวพูดคุย ทำความรู้จัก เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง เริ่มกิจกรรมเวลา ๐๘.๔๕ น.ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ กล่าวต้อนรับทีมจาก รพ.ธาตุพนม ด้วยความยินดี และเล่าสิ่งที่ท่านไปพบเห็นมาจากการไปเยี่ยม รพ.ร้อยเอ็ด สั้นๆ ประมาณ ๑๕ นาที หลังจากนั้นท่านได้ขอตัวไปทำภารกิจอื่น

๙.๐๐ น.ทั้งฝ่ายผู้ขอเรียนรู้และผู้แบ่งปัน ต่างแนะนำตนเองให้ที่ประชุมรู้จักสั้นๆ ว่าเป็นใคร ทำงานอยู่หน่วยใด เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน เสร็จแล้วทีมธาตุพนมโดยคุณมณีวัชราภรณ์ ตังควณิช พยาบาลวิชาชีพได้นำเสนอข้อมูลทั่วไปของ รพ. และข้อมูลด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า โดยใช้ PowerPoint บอกประเด็นที่ต้องการขอเรียนรู้ ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ

 ๑. ความรู้ในการดูแลหลังจากผู้ป่วยแผลหายแล้ว และกลุ่มผู้ป่วย neuropathic ulcer ที่มีแผลเกิดซ้ำขึ้นอีก
 ๒. การดูแลที่ รพ.ยังไม่มีและไม่เคยเห็น (วิวัฒนาการใหม่ๆ) เช่น การใช้ Material composed of calcium alginate, PDGF, การใช้ vacuum dressing 
 ๓. การดำเนินการของคลินิกสุขภาพเท้า 

ตามด้วยการนำเสนอของคุณหมอประกาศิต ที่แสดงให้เห็นบริบทและปัญหาแผลที่เท้าของผู้ป่วยซึ่งเข้ารับการรักษาที่ รพ. เรื่องใหญ่คือการติดเชื้อ ผลลัพธ์ของการรักษา เป็นการนำเสนอที่กระชับ โดยทีมบางคนช่วยเสริมว่าตนเองได้มีบทบาทอย่างไรบ้าง ทีมของ รพ.ธาตุพนมใช้เวลานำเสนอทั้งหมดประมาณ ๓๐ นาที

ตอนแรกดิฉันบอกที่ประชุมว่าพอทีม รพ.ธาตุพนมนำเสนอเสร็จจะพักดื่มน้ำชากาแฟ เพื่อให้ทีมผู้แบ่งปันได้ปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มก่อนจะให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้ ปรากฎว่าทีมผู้แบ่งปันไม่อยากพักขอดำเนินการต่อเลย เพราะรู้สึกชื่นชมทีมผู้ขอเรียนรู้มาก ที่เป็น รพ.เล็กๆ แต่มีผลงานที่น่าประทับใจ เริ่มจากคุณหมอทวีศักดิ์ ตามด้วยคุณหมอศรีอุไร คุณชนิกา และคุณยอดขวัญ ทุกคนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่ คุณหมอทวีศักดิ์นำเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดที่คิดขึ้นเองมาให้ดูด้วย พร้อมนำไปสาธิตการใช้ vacuum dressing ที่หอผู้ป่วย แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนในห้องประชุมต่ออีก ใช้เวลาจนถึงเวลา ๑๔.๓๐ น. (พักรับประทานอาหารกลางวันเพียง ๔๐ นาที) เกินเวลาที่กำหนดไว้เดิมไปมาก แต่ก็ไม่มีใครบ่น 

หลังจากนั้นเราทำ AAR ผู้ขอเรียนรู้ชื่นชมผู้แบ่งปันที่เป็นผู้ให้อย่างเต็มใจ และบรรยากาศของการแลกเปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือทุกคนเห็นความสำคัญของเท้าและการทำงานเป็นทีมมากขึ้น และจะนำความรู้ตรงนี้กลับไปใช้ในการทำงานต่อไป

ตามแผนเดิมเราจะสอนการสร้างบล็อกด้วย ทีม รพ.ธาตุพนม กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ดิฉันเลยสอนวิธีการให้เล็กน้อยและบอกให้ทำไปเรียนไป เพราะอาจารย์จันทวรรณให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ อยู่ใน http://gotoknow.org แล้ว ทีมเลยเปิดบล็อกและทดลองเขียนบันทึกสั้นๆ ต้องคอยติดตามต่อไปที่ http://dmthatpanom.gotoknow.org ซึ่ง ภก.เอนก ทนงหาญ จะเป็นผู้ดูแล

เราถ่าย VDO ตลอดกิจกรรมในวันนี้ และจะแปลงลง CD ต่อไป การเรียนรู้ยังไม่จบ พรุ่งนี้ยังมีกิจกรรมดูงานในคลินิกสุขภาพเท้าอีก

ดิฉันในฐานะ "คุณอำนวย" ของกิจกรรมวันนี้ รู้สึกประทับใจที่ทั้งผู้ขอเรียนรู้และผู้แบ่งปัน ต่างเล่าอย่างไม่ปิดบังว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ตนเองเคยมองข้ามอะไรบ้าง ไม่เห็นความสำคัญในเรื่องอะไร พลาดเรื่องใดมาบ้าง รวมทั้งเล่าถึง case ผู้ป่วยที่เป็นแรงบันดาลใจให้หันมาสนใจเรื่องเท้า ดิฉันคิดว่านี่คือบรรยากาศของ "ความจริงใจ" ที่มีต่อกันและกัน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๘

 

 ทีมผู้ขอเรียนรู้และผู้แบ่งปันถ่ายภาพร่วมกัน

 

 

 บรรยากาศในห้องประชุม

หมายเลขบันทึก: 5084เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2005 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ PA ที่เยี่ยมมากครับ    สคส. ขอ VCD ๑ แผ่นนะครับ

วิจารณ์

เรียนอาจารย์วิจารณ์

ต้องขอเรียนให้อาจารย์ทราบว่า เป็นคุณอำนวยสำหรับ PA ครั้งแรก รู้สึกตึงเครียดค่ะ กลัวว่าจะไม่บรรลุเป้าหมาย กลัวจะเดินเรื่องไม่ดี ฯลฯ พอผ่านวันแรกไปได้รู้สึกโล่งใจ ยิ่งผ่านวันที่สองแล้ว และได้รับ feedback มาดี มีกำลังใจขึ้นเยอะเลย คราวนี้จะมี PA กี่ครั้งก็มั่นใจว่าทำได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท