“โจรสลัด” เหินเวหา ... ถลาร่อน


“นกโจรสลัด (frigatebird, pirate)” เป็นนกทะเล สีดำ ด้านท้องขาว มีปีกยาวมากเมื่อกางปีกเต็มที่ จัดเป็นนกอพยพชนิดหายาก (rare species) ดังที่ระบุไว้ในคู่มือดูนกเมืองไทย

 

ที่นี่ปัตตานี  วันที่“โจรสลัด” บุกเข้ามาทางท้องนภา...แต่การพบเจอ “โจรสลัด” ครั้งนี้สร้างความน่ายินดี น่าเข้าใกล้ น่าชื่นชม..คงไม่มีที่ไหนช่างจะครบครันเช่นนี้..มีโจร!!เข้าถึงทั้งภาคพื้นดินและบินวนบนเวหา..สร้างความตระหนก อุ๊บส์..ตื่นรู้ เตรียมพร้อมไม่ขาดสาย....


โจรสลัด..โน่นๆๆๆ”…เสียงร้องบอกพร้อมระบุตำแหน่งจากสมาชิก ในวันที่ “ครูพื้นที่”และผองเพื่อนมีกิจกรรมนับนกเมื่อปลายเดือน ตค. ที่ผ่านมา ณ. บริเวณแหล่งพักนอนของเหล่านกยาง ริมอ่าวปัตตานี  รีบเร็วพลันหันไปมองทางต้นเสียง ที่กำลังแหงนมอง  โอ๊ว!! ...นกตัวโต แ่ว่บมองครั้งแรกบอกได้ว่าแตกต่างจากนกชนิดอื่นเห็นได้ชัด…. “นกโจรสลัด” สองตัวบินเหนือน่านฟ้า ดีใจกันถ้วนทั่ว..มองด้วยกล้องสองตา เพื่อเก็บรายละเอียด บันทึกภาพด้วย DSLR NikD90 ซึ่งมีเลนส์ติดกล้องประเภท lens kit (ซึ่งเราทำได้ดีที่สุดในขณะนั้น)  เพื่อให้ได้ภาพมาช่วยในการจำแนกชนิด ... นึกย้อนกลับไปว่าครั้งหนึ่งเคยเห็นนกชนิดนี้ เมื่อแหงนมองฟ้าขณะเดินทางข้ามฟากจากเมืองยะโฮร์บารู มาเลเซียไปยังเกาะใหญ่ใกล้กัน.. ปัจจุบันคือ สิงหปุระ.. สิงคโปร์นั่นเอง ...  ฤา..จะเป็นเส้นทางบินผ่านของนกชนิดนี้??


เราต่างร่วมเป็นประจักษ์พยานพร้อมๆกัน ชื่นชมกับความสง่างามขณะบินของ“นกโจรสลัด”ชนิดนี้  บอกได้ว่าเป็นนกวัยอ่อน ยังไม่เข้าสู่ช่วงตัวเต็มวัย โดยบ่งชี้จากสีขนที่ส่วนหัวยังมีสีน้ำตาลอ่อน  ส่วนท้องและอกขาว ที่อกมีแถบคาดสีดำ...ทำให้คิดว่า นี่ขนาดยังไม่โตเต็มวัย เจ้าช่างจะกล้าหาญเสียนี่กระไร ผจญโลกกว้าง อย่างทรนง ถึงแม้ไม่มีนกตัวเต็มวัยสอนบินใกล้ๆกัน นกทั้งสองตัวบินมาไม่ทิ้งระยะห่างกันมาก...บินร่อนวนไป-มา ให้เราได้ชมอยู่เป็นระยะเวลา นานพอสมควรจนกระทั่งก่อนค่ำ ..นกสอนอะไร?? ดูนกแล้วย้อนดูคน!!


ฤดูนกอพยพ ... เริ่มก่อนหน้านี้ (กย.) และยังมีต่อเนื่องในรอบปี ซึ่งมีหลายชนิดทั้งนกป่า นกชายเลนอพยพ รวมถึง “เหยี่ยวอพยพ”  หากเราแหงนมองท้องฟ้าวันใดในภาคใต้ช่วงนี้ (วันที่ปลอดฝน) นอกจากเห็นฟ้าสวยใส เมฆรูปร่างต่างๆแล้ว เราอาจจะโชคดีก็จะเห็นนกบินเป็นกลุ่มๆ “บินถลาร่อน” ตามลักษณะของเหยี่ยว  ซึ่งที่ระดับความสูงนั้นอาจจะมีนกชายเลนอพยพ บินมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เช่นกัน  หากแต่วันที่เราเห็น “นกโจรสลัด” ในท้องฟ้าเวลานั้นมีทั้งนกยางโทนใหญ่ กาน้ำ  และนกยางอื่นๆซึ่งบินในระดับความสูงไม่มาก และกำลังปรับลดระดับเพื่อร่อนลงเกาะยังต้นไม้ใหญ่ในแหล่งพักนอน  รวมถึงเจ้าถิ่น “เหยี่ยวแดง” ซึ่งบินไม่สูงมากนัก ทำให้จำแนกนกโจรสลัดได้ไม่ยากนัก นอกจากลักษณะเด่นประจำตัวแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือระดับความสูงขณะบิน ทรงปีกรูปสวยงามยามเมื่อกางปีกเต็มที่..ซึ่งดูจะเป็นที่กล่าวถึงกับเอกลักษณ์ประจำตัว ของนกชนิดนี้


ความสำคัญ...“นกโจรสลัดใหญ่" สำหรับบ้านเรา จัดเป็นนกอพยพชนิดหายาก (rare species) ดังที่ระบุไว้ในคู่มือดูนกเมืองไทย ของหมอบุญส่ง เลขะกุล สำหรับรายงานการพบนกชนิดนี้ในเมืองไทยพบทางฝั่งอันดามัน แถบๆ จ. กระบี่   จ. ภูเก็ต  ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยมีรายงานการพบที่ โคกขาม จ.เพชรบุรี  และข้อมูลเก่าเมื่อประมาณเกือบสามสิบปีมาแล้ว มีรายงานการพบได้ที่อ่าวปัตตานี  ต่อมาไม่มีรายงานอีกเลย  และแล้วเราก็ได้มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าในปีนี้  2555  พบบินผ่านที่ริมอ่าวแห่งนี้อีกครั้ง ..ฤา เมื่อก่อนนกบินผ่านแต่เราไม่สังเกตเห็น ??


นกชนิดนี้...จัดเป็นนกทะเล ที่ใช้ชีวิต บิน ร่อน ถลาเล่นลมเกือบจะทั้งวัน การถลาเล่นลมดั่งว่าวติดลมบน ต่างกันเพียงไม่ต้องมีสายป่าน หากแต่นกโจรสลัด มีอิสระมากมาย จึงถลาร่อนได้ดังใจปรารถนา ใช้ท้องนภาเป็นบ้าน ทั้งนี้ธรรมชาติช่างออกแบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับการทำงาน พฤติกรรมและลักษณะนิสัย โครงสร้างปีกโค้ง แคบและยาว กล่าวกันว่าหากวัดความยาวปีก (wingspan) โดยวัดจากปลายปีกด้านหนึ่ง ถึงปลายปีกอีกด้านหนึ่ง จะมีความยาวมากถึง 2 เมตรหรือกว่านั้น  จัดได้ว่า “นกโจรสลัด” มีความยาวปีกยาวมาก เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อขนาด น้ำหนักตัว  ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนกชนิดนี้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะปากยาว ปลายจงอยปากงุ้มคล้ายตะขอ (hooked bill)


ชื่อนั้น..สำคัญไฉนบ่งบอกอะไร??  เราเรียกนกชนิดนี้ ว่า“นกโจรสลัด” เชื่อแน่ว่าหลายคนสงสัย  แต่ชื่ออื่นๆรู้จักกันว่า นกฟริเกท (frigatebird, pirate)   “ฟริเกท” อาจจะใช้เรียกกองเรือ/ฝูงบิน  ส่วน “pirate” นี่ก็ชัดๆว่า ทำตัวราวกับมาเฟีย มักออกปล้นสะดม อย่างโจรสลัดในน่านน้ำต่างๆ  จึงมีข้อกังขา ถึงที่มาของชื่อ… นกชนิดนี้ มีข้อสังกตว่า...เนื่องจากมีลักษณะของปีกโค้ง แคบ เรียวยาว “ นกโจรสลัด” ใช้เทคนิคการบินที่ดูราวกับว่าไม่ต้องออกแรง หรือใช้แรงน้อยกว่านกชนิดอื่นๆนั้น เพลิดเพลินเป็นเจ้าเวหา ทว่าเมื่อมีความหิวเข้ามาเยือน จะทำอย่างไร..??


การกิน ...หากนกไม่บินไต่ลดระดับลงมาที่พื้นผิวท้องทะเล โฉบเอาปลาที่ว่ายผิวน้ำ หมึกหรือสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆกินเป็นอาหาร ซึ่งปกติก็ทำได้เช่นกัน แต่เพราะมักจะร่อนบิน ในท้องนภากว้างใหญ่ไม่อยากลงมาหาอาหารที่ภาคพื้นล่าง ครั้นเมื่อมีนกชนิดอื่นๆเข้าใกล้ในบริเวณ ก็จะถูกทักทาย แบบแกล้งแหย่  ดักจู่โจม เพราะพลังปีกที่ใหญ่ แถมบินเงียบอีกด้วย ทำให้นกที่ถูกจู่โจมไม่ได้ระวัง หรือตั้งตัว คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ...สุดท้ายเสียทีด้วยการสำรอกอาหารออกมา (จ่ายค่าผ่านพื้นที่ !!)  หรือบางครั้งเจ้าโจรสลัดก็โฉบ แย่งอาหารที่นกชนิดอื่นหาได้มาเป็นของตัวเอง พฤติกรรมจึงดูดล้ายโจร/ขโมย  ทั้งที่บางครั้ง บางทีก็เป็นความสนุก แต่กระทำบนความไม่สมัครใจของนกอื่น โดยเฉพาะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในทะเล จึงได้ฉายาว่า "โจรสลัด หรือ นักปล้นแห่งน่านฟ้า/ท้องทะเล".....มิน่าเลย... ในที่สุดถูกมนุษย์ตีตราเรียกขานเป็นชื่อตลอดมา....ทั้งที่ความดีด้านอื่นๆก็มีมากมายนี่นา :-(( ... คิดๆแล้วก็เตือนตนว่า..สัจจะสมมุตินั่นแล!!!


“นกโจรสลัด”…มีลักษณะเด่นชัดที่ปีกยาว เรียวแคบหางยาวมีแฉกเป็นร่องลึก (Forked-tail) ทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการบินของนกชนิดนี้ จึงทำให้มนุษย์เรียนรู้/เลียนแบบธรรมชาติ และนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ (biomimicry) ศาสตร์ทางด้านน่าสนใจยิ่งนัก  อย่างกรณีนี้ การบินของนก หรือโครงสร้าง ปีกของนกนำมาปรับใช้ในวิศวกรรมการผลิตเครื่องบิน aircraft ชนิดต่างๆ


ถึงแม้จะมีลักษณะปีกใหญ่ยาวดังกล่าวข้างต้น แต่บินเงียบเสียง สังเกตดูขณะบินเหนือหัวเมื่อเทียบเคียงกับ “นกเงือก” ที่บินในระยะใกล้เคียงกัน อย่างเช่น “นกเงือกหัวแรด”  บินด้วยพลังของปีกขนาดใหญ่ ตัวใหญ่ น้ำหนักก็สัมพันธ์กัน  ขณะบินจะมีพลังเสียงของการขยับปีก คล้ายกับเสียงโรเตอร์หมุนใบพัดของ ฮ. เลย เชียวหล่ะ  หากได้นั่งใต้ต้นไม้และนกบินผ่านเรือนยอดไม้นั้น (เป็นจริงอย่างไร เชิญชวน ให้หาโอกาสไปท่องในดินแดนแห่งนกเงือกของบ้านเมืองเรา ทางภาคใต้ก็ที่ป่าบาลาฮาลา อ. แว้ง จ. นราธิวาส...ทุกครั้งที่ไปที่นั่น จะได้ยินเสียงทายทักให้พร เพิ่มพลังจากผืนป่า และแม้เห็นเพียงหนึ่ง ก็ให้รอดูว่าจะมีตัวที่สองตามมา เพราะนกเงือกมักจับคู่เดิมดูแลกันตลอดชีวิต ...(สนใจอ่านเรื่องนกเงือกที่ป่าบาลาติดตามได้นี่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/900


นกบางชนิดแยกความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมียได้ยาก  แต่นกโจรสลัดแยกได้ชัดเจนเมื่อโตเต็มวัย โดยนกเพศผู้มีถุงใต้คอสีแดง สังเกตเห็นได้ชัดทั้งขนาดและสีสัน (สีแดงชัดมากช่วง breeding)   เอาไว้ดึงดูดความสนใจนกเพศเมีย ด้วยการพองออกขยายขนาดใหญ่ กลมโตสีแดง เป็นพฤติกรรมเฉพาะของนกชนิดนี้ (courtship behaviour)


การจัดจำแนกชนิดนกโจรสลัด  ....เราเปิดดูข้อมูล และเช็คจากภาพถ่ายในทุกท่วงท่าที่มี   ปกติขนปีกสีดำ ส่วนสำคัญในการจำแนกเป็นที่ด้านท้อง (ventral) ซึ่งเราได้ภาพด้านนี้ค่อนข้างมาก  ไม่นานนักสำหรับนักดูนกมือใหม่เช่นเราก็บอกได้ว่าเป็นนกชนิดใด  แต่เมื่อเทียบเคียงกับคู่มือดูนกเมืองไทยของหมอบุญส่ง  และbird guide เล่มอื่นๆครอบคลุมชนิดนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นของ Robson, C. ซึ่งมีกล่าวถึง 3 ชนิดได้แก่.... นกโจรสลัดใหญ่ ( Great Frigatebird, Fregata minor ) นกโจรสลัดเล็ก (Lesser Frigatebird, Fregata ariei  ) และ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มัส (เกาะใกล้ๆ ออสเตรเลีย) Christmas Island Frigatebird, Fregata andrewsi (เป็นชนิดที่จำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วงมากใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพตาม IUCN red list จัดเป็น CR, critically endangered)...จึงเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน อย่างน้อยในเบื้องต้นรายงานการพบเห็น ..ซึ่งทีมบูรงตานีกำลังทำส่วนนี้อยู่:-))



นกโจรสลัดชนิดที่เห็นในภาพคือ  "นกโจรสลัดใหญ่ วัยเด็ก" (Great Frigatebird, juvenile)  ฝันไว้ว่าหากโชคดีอาจจะมี นกโจรสลัดตัวเต็มวัย มาทักทายจากน่านฟ้าในเร็ววัน ....  ทั้งหมดนั้นเป็นรายละเอียดของ "เพื่อน"  เราต่างใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบน้อยนี้  ต่างก็ดีใจที่วันเวลานำพาให้พบเจอ ทักทายและจากไป รอเจอกันใหม่ในฤดูอพยพหน้า ....ราวจะเป็นเสน่ห์ของนักเดินทางตามฤดูกาล..เช่นเดียวกับอีกหลายๆชนิดที่แวะมาเยือนเยี่ยมที่นี่ อ่าวปัตตานี ประเทศไทย

สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/1037 


ปักษาพาเพลิน ..... Let's learn some words: 

"Reason, Season  and Lifetime" 

Quote : People always come into your life for a reason, a season, or a lifetime"

นักดูนก (ฉัน):ใคร่ครวญในใจตอบไปว่า "เห็นเป็นเช่นนั้น" กับ"นก" เช่นกัน anything :-)


วรรณชไม การถนัด

หมายเลขบันทึก: 508188เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณ บทความดีดีนี้ค่ะ

บันทึกโจรสลัด เป็นอยางนี้นี่เอง ขอบคุณเกร็ดความรู้ดีๆ ค่ะ

ดีใจมากค่ะที่ได้อ่านบทความแห่งความรักและความสุขของพี่อาจารย์ที่นี่อีกครั้งค่ะ

เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนกชนิดนี้ค่ะ ดูเป็นเอกลักษณ์มากนะคะ ปากเป็นจงอยชัดมาก สีดำขาวตัดกัน ปีกยาวมากด้วยค่ะ ไม่รู้จะผ่านมาถึงสิงคโปร์รึเปล่านะคะ

ที่สนามกอล์ฟใกล้บ้านมีนกแก๊กหลายคู่เชียวค่ะ ชอบไปดูเขาบ่อยๆ ค่ะ

แล้วจะมาคุยกับพี่อาจารย์อีกนะคะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

นึกว่าโจรตาเดียว อาจารย์ ได้เรียนรู้เรืองนกอพยพเป็นความรู้จากบันทึกนี้ ไปอ่านนิทานเรื่องกาบ้านนอก ยายเล่าให้ฟังเมื่อครั้งขอไปทำงานบางกอก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/216622

สัวัสดีค่ะ.. Dr Ple ที่แวะมาทักทายให้กำลังใจ น้องใหม่ค่ะ ..อุปส์ ไม่ใช่..น้องเ่ก่าที่ห่างหายไปนานต่างหาก :-)) ขอบคุณค่ะ

สัวัสดีค่ะ.. คุณ Bright Lily ค่ะ..."โจรสลัด" ชื่อนั้นพอเดาได้ค่ะ แต่ไม่ทั้งหมด นกชนิดนี้อาจจะบินเหนือน่านน้ำทะเลเปิดแถบฝั่งอันดามันก็พบได้ค่ะ อย่าลืมสังเกตด้วยนะค่ะ ..ชาวอันดามันที่รัก ... เห็นบอกว่าแถวเกาะมาหยา มีรายงานการพบเห็นค่ะ พูดถึงเกาะมาหยาแล้วก็คิดถึงอีก คงได้หาโอกาสไปเียี่ยมอีกสักครั้งค่ะ ... Have a good weekend :-))

สวัสดีสายวันเสาร์ค่ะ

พี่อาจารย์จะได้ไปงาน Asian Bird Fair ที่บางปูไหมคะ ดูน่าสนใจมาก ;)))

เป็นนกที่สวยมากเลยนะครับ ปีกกว้าง ปากยาว ต้องหาโอกาสดูภาพใกล้ๆๆ ขอบคุณพี่มากครับ

สวัสดีค่ะบังวอญ่า น้องแวะเข้าไปอ่านแ้ล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะที่นำมาแบ่งปัน อืมม์..."กาดำ กาขาว /กากรุง กาบ้านนอก" คุณยายช่างเลือกนิทานมาเล่านะค่ะบัง แถมเรื่องราวก็ยังแฝงไว้ให้คิด วิธีการพิชิตปัญหาแบบใช้ปัญญา ..แยบยลจริงๆด้วยนะ....รู้หม้าย อุ๊ปส์... รู้ไหม๊??

สวัสดีค่ะน้องปริม

ดีใจที่ได้เจอกันอีกคราค่ะ ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะค่ะ วันเสาร์นี้พี่เป็นวิทยากรช่วงเช้า ซึ่งเราจัดอบรมนักศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการใช้ห้องปฏิบัติการและสารเคมี โดยจัดทั้งวัน..จัดให้กับนักศึกษา project ทีจะต้องเิพิ่มทักษะให้เข้มข้นหน่อยค่ะ ทั้งหมดจำนวน 34 คนค่ะ เมื่อคืนเลยเปลี่ยนโทนอารมณ์ขณะเตรียมงาน ด้วยการคั่นเล่าเรื่องนก พี่จึงเขียนบันทึกซะหน่อยหลังจากที่ห่างหายไปนานค่ะ ครั้งนี้จึงเลือกเรื่องราวในลิสต์ที่ีจะนำมาเล่าให้ กัลยาณมิตรในโกทูโนว์ที่สนใจได้ทราบกัน

สำหรับ "นกโจรสลัด" พี่ว่าน่าจะมีเส้นทางบินผ่านไปทางสิงค์โปร์ด้วยค่ะ เพราะดูจากใน range ของเขาเห็นว่ามีครอบคลุมไปถึงค่ะ อีกทั้งเคยเห็นบินที่นั่นด้วย น้องปริมอาจจะใข้โอกาสช่วงนี้ลองสังเกตเพิ่มเติมด้วยนะค่ะ

ส่วนนกแ๊ก๊กที่สนามกอล์ฟ ... ดีจังเลยนะค่ะที่มีหลายตู่และนกไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน และอยู่ร่วมกันกับก๊วนกอล์ฟได้ เวลาคนข้างกายน้องไปเล่นกอล์ฟ น้องปริมก็ไปเยี่ยมนกแก๊ก...อืมม์...สุขสุดสัปดาห์ แบบ 2 in 1 นะค่ะ...หากมีโอกาสค่อยข้ามฝากมาเที่ยวแถวป่าบาลาบ้างก็ได้ค่ะ

ส่วนเรื่อง Asian Bird Fair พี่เ็ห็นสมาคมฯได้ประชาสัมพันธ์ไว้ในบอร์ด ใช่ค่่ะน่าสนใจมากน้องปริม แถุมสถานที่บางปูก็เป็นแหล่งดุนกที่ผู้คนเข้าถึงไม่ยากจากกทม.และปริมณฑล นกก็มากด้วยซิค่ะ ซึ่งพี่คงไม่ได้เข้าร่วมเช่นเคย:-(( ... แต่ก็คงอีกไม่นาน คุณวิชา ณ รังสีก็คงติดต่อมาในนามของสมาคมฯให้ทีมบูรงตานี ร่วมนับนก event สำคัญในละแวกนี้คือ "Asian Waterbird Census' 56" ซึ่งโดยทั่วไปก็ประมาณมกราคมต้นปี เรานับพร้อมกันทั่วเอเีชียในช่วงเวลานั้นค่ะ ทีมพี่และน้่องๆก็ช่วยสมาคมฯนับทุกปี เพื่อเป็นตัวแทนข้อมูลจากภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทยค่ะ ข้อมูลที่ได้นำมาประมวลดูสถานภาพนกน้ำทั่วเอเชีย รวมถึงนกชายเลนอพยพด้วยนะค่ะ นี่ก็ event ใหญ่ในรอบปีที่เราพร้อมให้ความร่วมมือทุกปีค่ะน้องปริม เมื่อสมาคมฯแจังมา แต่ทีมพี่และน้องๆก็มีไม่กี่คนหรอกนะค่ะ หรือน้องปริมสนใจจะมาร่วมด้วย?? . จะได้พบปะหน้าค่าตารู้จักกันแบบ "in person" ตามประสาชอบดูนกคล้ายๆกัน อิอิ..:-))

สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย น้องแอ๊ดเปิดเทอมแล้วก็คงจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับภาระงานสอน/วิจัย แน่ๆเลยใช่ไหม๊ค่ะ??? หากมีเวลาก็ดูนกให้ผ่อนคลายบ้างนะค่ะ

พี่นำเอาเรื่องราว นกหายาก "นกโจรสลัด" มาเขียนบันทึก สำหรับ...คนหายาก อุ๊ปส์...หาตัวยาก เช่นพี่ค่ะ :-)) ..นกชนิดนี้มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง รอฤดูอพยพถัดไปว่าจะมาอีกไหม๊นะค่ะ แล้วจะรายงานให้ทราบต่อไปคะน้องแอ๊ด...ขอให้มีความสุขวันหยุดสุดสัปดาห์่ค่ะ

   ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะที่แวะมาเยือนเยี่ยม ฝากความเห็นไว้ และแวะชม ... โจรสลัดใหญ่ วัยเด็ก.. :-)) 

    

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท