ศัพท์ สวรรคต และ สวรรคคต


วันนี้อ่านบทความหนึ่ง มีคำว่า สวรรคต ก็เอะใจว่า เอ คำนี้เราก็เขียน สวรรคต มาช้านาน แต่สงสัยว่าทำไมเขียนสวรรคต ทำไมไม่เขียน สวรรคคต (มี ค สองตัว) เพราะน่าจะมาจากคำว่า สวรรค (สวรรค์) และ คต (ไปแล้ว)

     ด้วยความรู้มากจึงยากนาน เอ๊ย จึงสงสัย เปิดพจนานุกรมไทย ก็เห็นสะกด สวรรคต นั่นแหละ แถมมีวงเล็บบอกว่า “(ส. สฺวรฺค + คต ว่า ไปสู่สวรรค์)” หมายความว่า เป็นคำสันสกฤต มาจากคำว่า สฺวรฺค และคำว่า คต

     ตรงนี้แหละน่าสนใจ

     ถ้า สฺวรฺค + คต ก็ต้องเป็น สฺวรฺคคต แน่ๆ จะไปตัดตัว ค ทิ้งเสียตัวหนึ่งทำไม ?

     เราไปสืบค้นกันต่อ...


เปิดพจนานุกรม

     ลองเปิดพจนานุกรมสันสกฤต ของ Sir Monier Monier-Williams พบว่า มีการใช้ศัพท์ 2 ตัว ได้แก่

     1. สฺวรฺคต (svargata) คำนี้หากถอดตัวอักษรมาเป็นไทย ก็จะได้ สวรรคต นั่นแหละ. แปลว่า อยู่ในสวรรค์ หรือ ไปแล้วสู่สวรรค์ (หรือ ตาย) คำนี้ยังเป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะด้วย ในรามายณะก็มีการใช้คำว่า สฺวรฺคต เช่น “สฺวรฺคตะ ปฺฤถิวีปติะ..” (พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว —  ตาย)

     2. สฺวรฺคคต (svargagata) ถอดได้ว่า สวรรคคต แปลว่า ไปแล้วสู่  เช่น “สรฺเว เทวาะ สฺวรฺคคตา อิว” (ดั่งเทวดาทั้งหลายผู้ไปสู่สวรรค์)

     ศัพท์บาลีก็คล้ายๆ กัน คือ สคฺคคต (สคฺค+คต) แต่จะมี สคฺคต หรือไม่ ผมไม่ทราบ..

     พจนานุกรมภาษาสันสกฤตส่วนใหญ่มีคำว่า สฺวรฺคต ไม่มีคำว่า สฺวรฺคคต แต่มีคำว่า สฺวรฺคคติ (ความหมายเดียวกัน) เช่น พจนานุกรมสันสกฤตของ Wilson, ของ Boehtlingk & Schmidt, ของ Otto Böhtlingk & Rudolph Roth และของ A.A.MacDonell


แยกศัพท์

     ได้ศัพท์ตัวตรงแล้ว เรามาแยก

      1. ศัพท์สำคัญคือ คต เหมือนกันทั้งสองกรณี (แปลว่า “ไปแล้ว”)
      เรารู้จักคำว่า คต อีกหลายคำ เช่น สุคต คือ ผู้ที่ไปดีแล้ว, ตถาคต ผู้ไป/มาแล้วเช่นนั้น อสฺตํคต (อัสดงคต) ทิวงคต ฯลฯ เอาเป็นว่า อะไรที่มีคำว่า คต แปลว่า ไปแล้ว ส่วน อนาคต คือ อน+อาคต (ไม่+มาแล้ว) แปลว่า สิ่งที่ยังไม่มา

     2. สฺวรฺ (สวรร) และ สฺวรฺค (สวรรค์) แปลเหมือนกันว่า สวรรค์ แต่เราไม่คุ้นคำแรก คุ้นแต่คำหลัง
     คำว่า สฺวรฺ น่าจะเป็นคำเก่า ใช้มาแต่ในฤคเวท เช่น สฺวะ ปฺรยาตะ  ไปแล้วสู่สวรรค์ (รฺ เปลี่ยนเป็น ะ เมื่อตามมาด้วยเสียงไม่ก้อง) และใช้คำว่า สฺวรฺ มากมาย แต่คำว่า สวรรค์ (สฺวรฺค) มีน้อยมาก
     ส่วนคำว่า สฺวรฺค (สวรรค์) นั้นน่าจะเกิดทีหลัง คือ มาจากคำว่า สฺวรฺ + ค (ไป) แปลว่า ไปสู่สวรรค์ (แปลว่าอยู่ในสวรรค์ ไม่ได้แปลว่าตาย) และในภายหลังจึงกลายเป็นสถานที่ของเทวดา เป็นคำพ้องความหมายกับ สฺวรฺ คำเดิม
     อันที่จริงคำว่า สฺวรฺ นั้นก็คงมาจากคำว่า สุรฺ ที่แปลว่า ส่องสว่าง แล้วมีการแผลงรูปไป


สรุป

     เขียนยาวมากกว่านี้จะสับสนกันเปล่าๆ เอาเป็นว่า สวรรคต ที่เราใช้ในภาษาไทยนี้ มาจากคำว่า สฺวรฺคต ในภาษาสันสกฤต เขียนแบบโรมันว่า svargata เขียนแบบเทวนาครีก็คือ स्वर्गत เพราะรูป สวรรคคต (จาก สฺวรฺคคต ในภาษาสันสกฤต) นั้นไม่ปรากฏในเอกสารของไทยเลยทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 508184เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ตามมาอ่าน ค่ะท่าน .... สวรรคต, สวรรคคต 

 

ขอบคุณมากค่ะ

ค่อยยังชั่วที่มี "สรุป"ให้ตอนท้ายบันทึก...

ไม่งั้นอ่านจนจบ ก็คงเกาหัวว่า...แล้ว ค หายไปตัวหนึ่งได้ยังไงเนี่ย...:)

ขอบคุณครับ คุณ Ico48

แสดงว่าผมมาถูกทางแล้วนะครับ อิๆๆ

มาอ่านแล้วนะคะ ขอบคุณค่ะ..

อู้หู คุณครูพี่เหมียวในรอบปี...

  • แจ่มชัดขึ้น....แต่ยาก(สำหรับผม)นะครับ (อิ๊อิ๊)
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

รออ่านเรื่อง ยาก ที่คุณครูทำให้ ง่าย แล้วค่ะ  :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท