สถานการณ์การจัดการความรู้ในประเทศไทย


สถานการณ์การจัดการความรู้ในประเทศไทย

  จากการได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม สัมภาษณ์ กับกลุ่ม องค์กร ชุมชมต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชนมาตลอดระยะเวลา 2 ปี (2547-2548) พบว่าสถานการณ์ “การจัดการความรู้”ในประเทศไทย ได้รับความสนใจและยอมรับจากสังคมในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งในระยะหลังยังพบว่า “รูปแบบ” การนำการจัดการความรู้ไปใช้จริงหลังผ่านการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเข้าร่วมกิจกรรมการเผยแพร่การประเด็นการจัดการความรู้ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ก็มี “รูปแบบ” ที่แตกต่าง และหลากหลายออกไปอันเกิดจากการประยุกต์และไม่ติดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ของสคส. ซึ่งเป็นองค์กรต้นแบบ องค์กรหนึ่งในเรื่องจัดการความรู้ในประเทศไทย


  ทั้งนี้การนำกระบวนจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้นี้ก็เพื่อความเหมาะสมกับบริบทของกลุ่ม องค์กรนั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจ และความคาดหมายของ สคส.เป็นอย่างยิ่งที่ต้องการจะเห็น กลุ่ม/องค์กรนั้นๆ เกิดการนำการจัดการความรู้ไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้จริงๆ


  นอกจากนี้จากการลงพื้นที่เยี่ยม ชมสัมภาษณ์ กับกลุ่ม องค์กร ชุมชนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นในปี 2547-2548 นั้นยังพบว่า มีกลุ่ม องค์กร ชุมชน บางแห่งได้ดำเนินกระบวนการพัฒนาคน พัฒนางาน ด้วยกระบวนการการจัดการความรู้ อยู่เดิมแล้ว โดยไม่ทราบว่านั่นคือกระบวนการจัดการความรู้ เช่น กระบวนการเรียนการสอนของกลุ่มโรงเรียนที่ดึงองค์ความรู้ทั้งจากชุมชน ครู และผู้ปกครองมามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน อาทิ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ฯลฯ  โดยเฉพาะกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีการใช้การจัดการความรู้อยู่เดิม ในกระบวนการพื้นเศรษฐกิจชุมชนของชาวบ้านแม่กำปอง หมู่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่, กระบวนการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขององค์กรชาวบ้าน ตำบลกุดขาคีม ตำบลทับใหญ่ อำเภอรัตนบุรี จ.สุรินทร์ หรือ กระบวนการสืบค้นอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันของชาวชุมชนอาคารสงเคราะห์ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนดำเนินการโดยนำรูปแบบการจัดการความรู้มาใช้โดยไม่รู้ตัวมาก่อนทั้งสิ้น


  แต่ทั้งนี้รูปแบบดังกล่าวอาจจะดำเนินการอย่างไม่ครบกระบวนการหรือไม่เป็นขั้นตอนกระบวนการแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มภาคประชาสังคม ซึ่งเมื่อภายหลังกลุ่มองค์กรนั้นๆ ได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการกับสคส. ก็ได้นำกระบวนการการจัดการความรู้มาเพิ่มเติมกระบวนการพัฒนาคน พัฒนางานอย่างเต็มรูปแบบอย่างเป็นระบบมากขึ้น


  ที่สำคัญทีมงานโครงการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้สู่สังคม ยังพบว่าจากการก่อเกิดกลุ่ม องค์กร ชุมชน ที่นำการจัดการความรู้ไปใช้จริงกระจัดกระจายอยู่ทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ยังเห็นภาพการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายกันและกันของกลุ่ม องค์กร ชุมชนที่มีการจัดการความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และกระบวนการการจัดการความรู้ซึ่งกันและกัน เช่นเครือข่ายการจัดการความรู้โรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่างที่มี นางไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ ผู้ประสานงานโครงการไป จุดเชื้อไฟให้ กับเครือข่ายการจัดการความรู้กลุ่มโรงพยาบาลในจังหวัดนครสวรรค์ที่มี สาธารณสุขจังหวัด นครสวรรค์ (สสจ.) เป็นผู้ริเริ่มนอกจากนี้ยังพบว่าโรงพยาบาลซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายทั้งสองแห่งนี้บางแห่งยังเป็นสมาชิก เครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมี โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นผู้ริเริ่มอีกด้วย สำหรับในภาคประชาสังคมยังมีตัวอย่างของกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มซึ่งทำเรื่องเกษตรปลอดสารทั้งจังหวัด ยังเป็นภาคีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเกษตรแบบข้ามเครือข่ายกับกลุ่มโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี ซึ่งใช้กระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ในขณะเดียวกัน กลุ่มโรงเรียนชาวนาจ.สุพรรณบุรียังได้เป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามภูมิภาคกับกลุ่ม หยาดฝน ของจ.ตรัง ซึ่งส่งชาวนามาศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำนาข้าวเช่นกันยังไม่รวมถึงเครือข่ายการจัดการความรู้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 จังหวัดภาคกลาง สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี ที่กำลังเข้าไปเชื่อมต่อความร่วมมือด้านองค์ความรู้กับเครือข่ายการจัดการความรู้ที่มีอยู่แล้วนี้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นต่อไป  เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนให้เห็นภาพการจัดการความรู้ที่กำลังขยายและโยงใยองค์ความรู้กันและกันอยู่ในขณะนี้

 อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจัยที่ทำให้กระแส “การจัดการความรู้” เฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาครัฐราชการ น่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาล และมีผู้ใหญ่ในส่วนราชการให้ความสำคัญ ทำให้แทบทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับกระทรวง ทบวง กรม กอง หน่วยงานย่อย ขององค์กรภาครัฐตื่นตัวในการทำการจัดการความรู้  แต่นั่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้จัดการความรู้เป็นเพียงแค่แฟชั่น คือ ทำการจัดการความรู้แบบปลอมๆ หวังเพียงให้ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้แล้วเท่านั้น หาได้เป็นความต้องการที่จะทำการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง องค์กร หรือหมู่คณะเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

                                                                                                   จิราวรรณ เศลารักษ์
    ******************

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5081เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2005 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท