พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สรุปบันทึก ความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อพัฒนาการใหม่ของอาเซียน ASEAN (ตอนที่ 2)


สรุปบันทึก ความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อพัฒนาการใหม่ของอาเซียน ASEAN : บันทึกจากการถอดความ และสรุปความจากฟังสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2555

สรุปบันทึกการสัมมนาวิชาการ ประจำปีครั้งที่ 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง ความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อพัฒนาการใหม่ของอาเซียนASEAN

นำเสนอโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วิจารณ์บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล

อ่านตอนที่ 1 

ช่วงวิจารณ์บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล

บทความชิ้นนี้มีเนื้อหาที่กล่าวถึงไปไกลว่าการกล่าวถึงเฉพาะคนไทย แต่เป็นการกล่าวถึงประชาชนอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในฐานะอันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมีพึงได้ โดยกล่าวถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเชื่อมโยงด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966  ซึ่งเห็นควรว่าควรแปลเฉกเช่นเดียวกับที่อาจารย์พันธุ์ทิพย์ได้กล่าวไว้ คือ สิทธิทางแพ่งและทางการเมืองของมนุษย์ ซึ่งต่อยอดมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอีกคราว

และแม้ว่าเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เพียงแค่ส่วนหนึ่งในการเตรียมการสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ก็ตาม หากแต่เรื่องเล็กน้อยนี้มันกับเชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงกฎหมายทั้งระบบ คือ เรื่องของกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน สิทธิตามกฎหมายเอกชนเรื่องอื่นๆ ทั้ง บุคคล หนี้ ทรัพย์ ครอบครัว มรดก และเชื่อมโยงกับเรื่องของนิติบุคคล ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากกฎหมาย คือ เรื่องของเศรษฐกิจ ธุรกิจ เพราะเรื่องของสิทธิในสถานะบุคคล เป็นการกล่าวถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาคมอาเซียน

จากถ้อยคำว่า “ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จของประชาคมอาเซียนจะมีประโยชน์อันใดหากไม่ได้เอื้อต่อคุณภาพของสุขภาวะที่ดีขึ้นของประชากรอาเซียน 600 กว่าล้านคน” แนวคิดนี้เหมือนกับเป็น strategy หรือกลยุทธสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานในระดับอาเซียนให้ต้องคำนึงถึง ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวตรงกับหลักคิดทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “แม้โลกนี้จะเต็มไปด้วยทองคำ และอัญมณีอันมีค่า แตกหากไม่มีมนุษย์อยู่แล้ว ก็ไร้ความหมาย” กล่าวโดยสรุปก็คือ ความร่วมมือเป็นประชาคมนี้ จุดหมายสูงสุดก็เพื่อมนุษย์ ความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ ซึ่งเป็น strategy ใหญ่ที่ต้องตระหนักไม่เฉพาะเพียงแค่ในสาขากฎหมาย หรือเฉพาะแค่กฎหมายระหว่างประเทศ หรือเฉพาะเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนที่ไม่มีเอกสารแสดงตนเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่ไม่ใช่กฎหมายด้วย

นอกจากนี้งานวิจัยของอาจารย์พันธุ์ทิพย์ คือ การนำเสนอว่าแนวคิดที่ถูกนำมาวิเคราะห์นี้เชื่อมโยงกับกฎหมายระหว่างประเทศ และประหนึ่งว่าดำเนินการตามสหภาพยุโรป ซึ่งก็เริ่มต้นมาจากประชาคมยุโรปเช่นกัน

เราปฏิเสธมิได้ว่ามาตราฐานในทางระหว่างประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อทิศทางของประเทศไทยในการดำเนินการให้สอดคล้อง เพื่อมิให้นานาประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอื่นๆ กล่าวหาและยกเป็นเหตุข่มเหงประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ประเทศไทยพึงปฏิบัติตามจะเป็นการประกาศความมีอารยะของประเทศไทย และของคนไทยอีกด้วย

ดังนั้นการเชื่อมโยงเอามาตรฐานระหว่างประเทศ ที่ได้รับการพัฒนาเกินกว่ามาตราฐานทางกฎหมายเสียแล้ว ก็คือเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ถูกและควรอย่างยิ่ง

ปัญหาของคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ หรือคนไร้เอกสารแสดงตน ซึ่งเป็นคนจากต่างประเทศที่เข้ามาประเทศไทย ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะนี้มามากเพราะประเทศไทยอยู่ในสถานะของรัฐผู้รับ แต่ขณะเดียวกันจงอย่าลืมกรณีของคนไทยที่ไปตกเป็นคนไร้รัฐ ไร้สถานะ ไร้ตัวตนทางกฎหมายในต่างแดน ตลอดจนคนที่ควรจะเป็นไทยและอยู๋ในประเทศไทยแต่ยังคงประสบปัญหาการได้รับการยอมรับ หรือการได้รับสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายตัวตนทางกฎหมายถูกมองข้าม การขาดไร้ซึ่งเอกสารพิสูจน์ตน คนกลุ่มนี้ควรได้รับการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นประเทศไทยก็พึงขยับเข้าไปดูแลคนไทยที่ตกยากในต่างแดน เฉกเช่น กรณีคุณฟอง เลวัน ซึ่งหน้าที่นี้กรมการกงสุลของประเทศไทยควรปฏิบัติหน้าที่ให้ชัดเจน เก็บฐานข้อมูลคนไทยในต่างแดนให้ชัดเจน หากประเทศไทยทำได้สำเร็จก็จักเป็นประโยชน์ให้ประเทศอื่นๆ ได้ดำเนินรอยตาม

กลุ่มตัวอย่างของคนเลือดไทย คือ ลูกหลานไทยติดแผ่นดิน ที่มีบิดามารดาเป็นชาวต่างชาติ โดยมักเกิดในประเทศไทย แต่ด้วยอยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งกำหนดให้ถอนหรือไม่ให้สัญชาติกับ ลูกหลานไทยกลุ่มนี้ ทั้งที่ควรจักต้องได้รับสัญชาติไทย เพราะมีเลือดไทยแท้ ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเมื่อปี พ.ศ.2535 และได้รับการแก้ไขอีกครั้งในปี พ.ศ.2551 โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

ส่วนหนึ่งของปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ไร้เอกสารรับรองสิทธินั้น อาจจะเป็นเพราะเหตุที่ไม่มีเอกสารรับรองการเกิดที่สมบูรณ์ ซึ่งปัญหานี้น้อยลง แต่มักเกิดกับคนที่ยากจน ซึ่งเมื่อมาคลอดโรงพยาบาลแต่ไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ทำให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่ออกเอกสารการเกิดที่ถูกต้องครบถ้วนให้

ประเด็นที่งานวิจัยนี้นำเสนอได้น่าสนใจ คือ เรื่องของคนต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย โดยประเทศไทยยังคงเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของประเทศในลักษณะที่ไม่ยอมรับคนต่างด้าวพวกนี้ จนขนาดที่มีนโยบายห้ามข้าราชการสมรสกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แนวคิดเช่นนี้รุนแรงเกินไปและไม่น่าจะมีอยู่ภายใต้ประชาคมแห่งนี้ เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วคนเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ดีพื้นฐานในการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของกำลังที่จะสร้างความเติบโตและมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ให้กับภาคธุรกิจ แต่เพราะเหตุอันใดทำไมเรายังกีดกันคนต่างด้าวเหล่านี้ จะเป็นอย่างไรถ้าเรามีแนวคิด และนโยบายที่เชื่อและเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์มากกว่าแนวคิดที่มีแต่ความหวาดกลัว การกีดกัน จะเป็นอย่างไรหากเรามีนโยบายที่เห็นคุณค่าและความสามารถของคนเหล่านี้ และให้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเขา หรือ เรา ได้ใช้ศักยภาพเฉกเช่นมนุษย์ทั่วพื้นที่อาเซียนไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย บริหารจัดการให้ได้ทั้ง 10 ประเทศอาเซียน สามารถจัดการให้ 600 กว่าล้านคนเหล่านี้ ได้ใช้ศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าเขาเป็นใคร หรือจะไปอยู่ ณ ตำแหน่งหรือประเทศใดในอาเซียน ประโยชน์สุดท้ายก็จะตกกับประชาคมอาเซียน

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องตระหนัก คือ แม้ว่าจะมีกฎหมายที่ถูกต้อง รับรองและคุ้มครองสิทธิของมนุษย์ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีกฎหมายสัญชาติ หรืออื่นๆ แต่หากคนเหล่านี้ไม่มีความรู้ในกฎหมาย หรือสิทธิของตัวเอง คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้ขวนขวายเข้าถึงสิทธิของตนเอง และหากไม่มีความรู้ หรือไม่เข้าใจก็อาจจะทำให้ไม่เห็นคุณค่าที่ตนเองจะต้องใช้สิทธิเหล่านั้น เช่น กรณีของคุณลุงปิลู เพราะฉะนั้นจึงควรจะเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะร่วมกันหาวิธีการสร้างสรรค์ ให้คนเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง ตลอดจนเข้าใจกระบวนการที่จะใช้สิทธิของตนเองด้วยในท้ายที่สุด

หมายเลขบันทึก: 507764เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 01:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท