พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

(ร่าง) รายงานการสอบปากคำ การวิเคราะห์กฎหมาย และเอกสารส่วนบุคคล เกี่ยวกับนางเรียน เวียนวัฒนชัย คนสัญชาติเวียตนาม เชื้อชาติฝรั่งเศส ซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ประเภทคนต่างด้าวสิทธิอาศัยถาวร (ตอนที่ 2)


(ร่าง) รายงานการสอบปากคำ[1] การวิเคราะห์กฎหมาย และเอกสารส่วนบุคคล

เกี่ยวกับนางเรียน เวียนวัฒนชัย

คนสัญชาติเวียตนาม เชื้อชาติฝรั่งเศส ซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด[2]

แต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ประเภทคนต่างด้าวสิทธิอาศัยถาวร (ตอนที่ 2)

ประวัติชีวิตและสถานะบุคคลตามกฎหมาย

(อ่านตอนที่ 1) 

พ.ศ.2496การประกาศใช้ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496  เพื่อแก้ไข พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495

·  มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าว ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ไม่ว่าจะได้รับก่อนหรือหลัง พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ขาดจากสัญชาติไทย”

·  หากวิเคราะห์จากบทบัญญัติดังกล่าว นางเรียนซึ่งรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาก่อน ก็จะขาดจากสัญชาติไทย แต่ด้วยปรากฏแนวคำพิพากษา ซึ่งตีความว่าการรับใบประจำตัวคนต่างด้าว อันจะส่งผลให้เป็นการเสียสัญชาติไทย ตาม มาตรา 16 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 ได้ก็ต่อเมื่อ เจ้าของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมีเจตนารับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมิใช่การรับเพราะบุพการีขอรับให้ หรือเป็นการรับตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน[1]หรือถูกราชการบังคับให้ขอรับ หรือรับเพราะเข้าใจผิดหลงว่าตนเองจะไปถือสัญชาติของประเทศอื่น

·  ดังนั้น เมื่อนายกีผู้เป็นบิดา เป็นฝ่ายขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานอำเภอเมืองนครพนม ให้แก่นางเรียน และนางเรียนยืนยันว่าตนไม่ได้มีเจตนาถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเรื่อยมา แต่เป็นเพราะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นคนสัญชาติไทย จึงคิดว่าควรจะดำเนินการเพื่อให้อยู่ในประเทศไทยได้โดยถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นนางเรียนจึงไม่ควรขาดจากสัญชาติไทย เพราะเหตุที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (อย่างไรก็ตามยังต้องค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นเรื่อง การต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว จะทำให้ถูกสันนิษฐานว่าประสงค์จะเป็นคนต่างด้าว และนำไปสู่การเสียสัญชาติไทยหรือไม่)

·  (อีกประเด็นที่อาจจะต้องพิจารณา คือ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่านางเรียน ไม่ใช่คนในบังคับของประเทศฝรั่งเศส (ไม่ได้ถือสัญชาติฝรั่งเศส) ตามที่บิดาเข้าใจ จึงมีความเป็นไปได้ที่นางเรียนอาจจะตกอยู่ในสถานะความไร้สัญชาติ ณ ช่วงนั้น ซึ่งศาลฎีกาเคยตีความกรณีนี้ว่าการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในลักษณะที่จะทำให้ตกเป็นคนไร้สัญชาติ จะไม่สามารถกระทำได้)

·  ประกอบกับ การออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เป็นการกระทำทางทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่ทะเบียนของรัฐไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ซึ่งมิอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเรื่องการมีสัญชาติไทย[2]ของนางเรียนซึ่งถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ การที่เจ้าพนักงานออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่นางเรียน จากการร้องขอของบิดาของนางเรียน  หาได้ทำให้สัญชาติของนางเรียนเปลี่ยนไป  นางเรียนยังคงเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน

ราว พ.ศ.2495

·  นางเรียน เวียนวัฒนชัย สมรสกับนายหวึ่ง มาย(หรือนายเกียรติ เศวตกมล) ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขที่ xx/83 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2483 ออกให้ ณ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม  โดยทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 6 คน บุตรคนโต คือ นายประพันธ์ เศวตกมล

ราวพ.ศ.2505/ ค.ศ.1962

·  นายกี และนางแฮ ได้เดินทางกลับประเทศเวียดนาม โดยขณะนั้นนายประพันธ์ เศวตกมล

บุตรชายคนโตของนางเรียนมีอายุ  7 ปี ยืนยันว่าตนเองได้ไปส่งนายกี และนางแฮที่ท่าเรือคลองเตย เพื่อเดินทางกลับประเทศเวียดนามจริง ส่วนนางเรียน ตัดสินใจอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยต่อ

พ.ศ.2515 การประกาศใช้ประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 337

·  ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337[3] มีวัตถุประสงค์มุ่งถอนสัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบิดามารดาที่เข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร

·  แต่ด้วย นางเรียนเป็น (1) บุคคลที่เกิดในประเทศไทย (2) ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย (เพราะเข้าเมืองมาก่อน พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2470 มีผลบังคับใช้) นางเรียนจึงไม่ใช่บุคคลเป้าหมายที่จะถูกถอนสัญชาติไทยโดยข้อ 1[4] แห่งประกาศคณะปฏิบัติฉบับที่ 337

·  นางเรียน จึงยังคงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเรื่อยมา

พ.ศ.2535 การประกาศใช้พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535[5] เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508

·  การประกาศใช้พระราชบัญญัติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 จะมีผลกระทบต่อสิทธิในสัญชาติไทยของนางเรียนหรือไม่นั้น จำต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้

·  กรณีที่ 1 ถ้าพิสูจน์ได้ว่านางแฮมารดา เป็นผู้เกิดในประเทศไทย นางเรียนก็จะมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตาม ตาม มาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 โดยผลของ มาตรา 10 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย[6]

·  สืบเนื่องจากพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องสัญชาติไทยของนางแฮได้ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้นางเรียน ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การมีผลย้อนหลังซึ่งกำหนดโดย มาตรา 11 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัตสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ของ มาตรา 7 ทวิแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เพราะนางเรียน (1) เป็นผู้เกิดในประเทศไทย (2) มีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวมีสิทธิอาศัยถาวร และ (3) มีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย

·  อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของนางเรียน คือ นางแฮเกิดในประเทศไทย และอาจจะถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่การถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางแฮ จะไม่ทำให้การทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตของนางเรียนเปลี่ยนไป เพราะในวันที่นางเรียนเกิด คือ 15 ตุลาคม พ.ศ.2476 นางแฮมีสัญชาติไทย และการบันทึกทางทะเบียนไม่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยได้

·  กรณีที่ 2 ถ้าปรากฏว่านางแฮไม่ได้เกิดในประเทศไทย หากแต่เป็นคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จะมีความเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ

o  1. นางแฮ เข้ามาก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2470 และมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว กรณีนี้ นางเรียนจะไม่ใช่บุคคลเป้าหมายตาม มาตรา 7 ทวิ เพราะนางเรียนเกิดในประเทศไทยจากบิดามารดาที่มีสิทธิอาศัยถาวร

o  2. นางแฮ เข้ามาหลังวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2470 และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเคยถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว กรณีเช่นนี้ นางแฮจะตกอยู่ในสถานะคนเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันส่งผลให้นางเรียน เป็นบุคคลตาม มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 โดยผลของการย้อนหลัง มาตรา 11 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 นางเรียนจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน เพราะ (1) เป็นผู้เกิดในประเทศไทย (2)จากบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว (3) ปรากฏว่ามารดาไม่ใช่ผู้มีสิทธิอาศัยถาวร

พ.ศ.2547

·  ปรากฏตามเอกสาร ทะเบียนราษฏร ประเภททะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เลขรหัสประจำบ้าน 4199-031794-4 ซึ่งออกโดยสานักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครอุดรธานี วันเดือนปีที่พิมพ์ทะเบียนบ้าน ก็คือ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2547 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข  2 ) ว่านางเรียน เวียนวัฒนชัยมีชื่ออยู่ในทะเบียนดังกล่าว ในสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร ซึ่งการรับรองทางทะเบียนดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 36  โดยนางเรียน ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 3-4199-xxxxx-11-3

พ.ศ.2550 นางเรียน เวียนวัฒนชัยถือหนังสือเดินทางของประเทศเวียดนนาม ในสถานะคนสัญชาติเวียดนาม

·  นางเรียน ได้พิสูจน์สถานะคนสัญชาติเวียดนาม ณ สถานทูต/สถานกงสุลของประเทศเวียดนาม ในประเทศไทย โดยได้รับการรับรองในสถานะคนสัญชาติเวียดนาม และได้รับการออกเอกสารปรากฏตาม หนังสือเดินทางของประเทศเวียดนาม เลขที่ N1160850 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.2007 โดยประเทศเวียดนาม (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 6)

·  การถือสัญชาติเวียดนามของนางเรียนในช่วง พ.ศ.2550-2551 นางเรียนจะไม่สามารถถือสัญชาติของประเทศอื่นได้ เพราะกฎหมายสัญชาติของประเทศเวียดนามขณะนั้นไม่ยอมรับการถือสองสัญชาติ

พ.ศ.2551 การประการใช้กฎหมายสัญชาติเวียดนาม ค.ศ.2008 (The Law on Vietnamese Nationality 2008)

·  ประเทศเวียดนาม ได้แก้บทบัญญัติกฎหมายสัญชาติและยอมรับให้คนสัญชาติเวียดนาม สามารถถือสัญชาติของประเทศอื่นได้ ตาม The Law on Vietnamese Nationality 2008 No.24/2008/QH12

·  ดังนั้น หากนางเรียน ซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตาม มาตรา 3(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 จะขอเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านในสถานะคนสัญชาติไทย ก็ไม่ทำให้นางเรียน เสียสิทธิในสัญชาติเวียดนาม

พ.ศ.2551 นางเรียนถือใบแทนใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (Duplicate of Certificate of Residence)

·  นางเรียนมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายคนเข้าเมือง ดังปรากฏตามใบแทนใบสาคัญถิ่นที่อยู่ (Duplicate of Certificate of Residence) (ตม.17) เลขที่ 99 xx\/2551 ออกให้ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพมหานคร อำเภอสาทร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2551 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 7) ระบุชื่อผู้ถือชื่อ นางเรียน เวียนวัฒนชัย (Mrs.Rien Vienwattanasay) โดยระบุหมายเหตุว่า "ใบแทนใบสาคัญถิ่นที่อยู่ (ตม.17) ฉบับนี้ออกให้แทนใบถิ่นที่อยู่ (ตม.5) เลขที่ 6xx/2536 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ2536 ออกให้ที่กองตรวจคนเข้าเมือง

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 การประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

·  วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของ มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 คือ เพื่อเยียวยาสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตามหลักดินแดน ของบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 แต่ไม่ได้สัญชาติไทย เพราะตกอยู่ภายใต้ มาตรา 7 ทวิวรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 –(อย่างไรก็ตามยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า มาตรา 23 มุ่งคืนสิทธิในสัญชาติให้กับบุคคลเฉพาะที่เคยตกอยู่ภายใต้ ปว.337 หรือเป็นบุตรของบุคคลที่ตกอยู่ภายใต้ ปว.337 เท่านั้นหรือไม่)

·  ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านางเรียน อาศัอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยโยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฏร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมหรือประเทศไทย นางเรียนก็จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตามมาตรา 23 ตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ กล่าวคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 

พ.ศ.2555

·  ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ของประเทศไทยซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่าห้ามการถือสองสองสัญชาติ ยกเว้นกรณีการแปลงสัญชาติจากสัญชาติไทยไปเป็นคนต่างด้าว ตาม มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นแม้นางเรียนจะถือสัญชาติเวียดนาม นางเรียนก็สามารถถือสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้เช่นเดียวกัน (หรือ โดยการยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตาม มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 –ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงซึ่งยังอยู่ระหว่างการสืบค้น โดยคุณประพันธ์บุตรชายของคุณเรียน)

·  และจะทำให้นางเรียน เป็นคนสองสัญชาติ คือ สัญชาติเวียดนาม และสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์



[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2498 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2498) ระหว่าง อัยการจังหวัดตะกั่วป่า( โจทก์) และนายกิ้มเลี่ยน อึ่งสกุล (จำเลย)  และคำพิพากษาฎีกาที่ 1938-1945/2499 ระหว่างอัยการจังหวัดเลย (โจทก์) และ นางสำลี ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ.....    (จำเลย) 

[2] อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1317/2495 นางง่วนเส็ง แซ่ซิ้ม (ผู้ร้อง)

[3]ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม 89 ตอนที่ 190 หน้า 206 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515

[4] ข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ระบุว่า ““ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[5] มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535

[6] คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2988/2535

หมายเลขบันทึก: 507762เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท