พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

(ร่าง) รายงานการสอบปากคำ การวิเคราะห์กฎหมาย และเอกสารส่วนบุคคล เกี่ยวกับนางเรียน เวียนวัฒนชัย คนสัญชาติเวียตนาม เชื้อชาติฝรั่งเศส ซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ประเภทคนต่างด้าวสิทธิอาศัยถาวร (ตอนที่ 1)


(ร่าง) บันทึกข้อเท็จจริงและความเห็นทางกฎหมาย กรณีศึกษาคุณเรียน เวียนวัฒนชัย คนซึ่งน่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน และอาจจะเป็นคนสองสัญชาติ (รายงานฉบับวันที่ 24 กันยายน 2555)

(ร่าง) รายงานการสอบปากคำ[1] การวิเคราะห์กฎหมาย และเอกสารส่วนบุคคล

เกี่ยวกับนางเรียน เวียนวัฒนชัย

คนสัญชาติเวียตนาม เชื้อชาติฝรั่งเศส ซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด[2]

แต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ประเภทคนต่างด้าวสิทธิอาศัยถาวร

ประวัติชีวิตและสถานะบุคคลตามกฎหมาย

พ.ศ.2442

·บิดาของนางเรียน เวียนวัฒนชัย คือ นายกี เงี่ยน หรือ นายกี เวียนวัฒนชัย เกิดเมื่อ ปี พ.ศ.2442 ณ จังหวัดฮวงติ่ง ประเทศเวียดนาม เป็นข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎตาม เอกสารคำให้การ (ค.8) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 ซึ่งนายกี ได้ให้การไว้กับ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม เพื่อแนบท้ายเรื่องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่ผู้เยาว์ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 1 หน้า 3)

เดิมทีนายกี ใช้นามสกุลว่า “เงี่ยน” แล้วจึงเปลี่ยนไปเป็น “เวียนวัฒนชัย” หลังจากอพยพเข้ามาในประเทศไทยได้ระยะหนึ่งแล้ว

พ.ศ.2450

·  มารดาของนางเรียน เวียนวัฒนชัย คือ นางแฮ จากการรับฟังปากคำของนางเรียน กล่าวว่านางแฮ เกิดใดจังหวัดนครพนม ประเทศไทย แต่บรรพบุรุษของนางแฮ เป็นคนเชื้อสายญวนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยนางแฮได้เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2547 (ปรากฏตามใบมรณบัตร (เอกสารแนบท้ายหมายเลข) (อยู่ระหว่างการสืบค้นโดย คุณประพันธ์บุตรชายของคุณเรียน) ขณะอายุ 97 ปี เมื่อคำนวนแล้วจึงเชื่อว่านางแฮ เกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2450

พ.ศ.2456

·  หากพิสูจน์ได้ว่า นางแฮเกิดในประเทศไทย ก่อนการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2456 การพิจารณาสัญชาติของนางแฮ จึงไม่อาจอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่กลับตกอยู่ภายใต้มูลนิติธรรมประเพณีว่าด้วยสัญชาติไทยของประเทศไทย[3] [4] 

ประมาณ พ.ศ.2458 นายกีเดินทางเข้าประเทศไทย ก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2470

·  นายกี เวียนวัฒนชัย หรือนายกี เงี่ยนได้อพยพจากประเทศเวียตนามเพราะเหตุผลความยากจนและต้องการดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ใช่เพราะหนีภัยสงคราม เพราะขณะที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น ยังไม่เกิดสงครามในประเทศเวียดนาม[5] โดยนายกี มาตั้งถิ่นฐานทำนาบริเวณ ตำบลหนองแสง อำเภอหนองบึก จังหวัดนครพนม ประเทศไทย

·  จากคำให้การของนายกี ที่ให้การต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 ตาม เอกสารคำให้การ (ค.8) เพื่อแนบท้ายเรื่องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่ผู้เยาว์ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 1 หน้า 3) ได้ระบุข้อเท็จจริงว่านายกี เข้ามาประเทศไทยได้ 35 ปีแล้ว (ณ วันที่ 4 พฤศจิการยน พ.ศ.2493) นายกีจึงเข้าประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2458

·  ประกอบกับ จากคำบอกเล่าของนางเรียน เวียนวัฒนชัย กล่าวว่าตนเองมีพี่น้อง 12 คน ซึ่งทุกคนเกิด ณ จังหวัดนครพนม ประเทศไทย  ตนเองเป็นบุตรสาวคนที่ 6 และเกิด พ.ศ.2476 ในประเทศไทย ส่วนพี่สาวคือ คุณประไพ ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 4 อายุห่างจากตนเองประมาณ 4 ปี คือ เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.2472 และเมื่อบุตรคนที่  1-3 ของนายกี และนางแฮ เกิดในประเทศไทยเช่นกัน

·  จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คำนวนได้ว่า นายกี เดินทางเข้าประเทศไทย ก่อนที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2470 จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2470 จึงไม่อาจนำกฎหมายฉบับดังกล่าวย้อนหลังมากำหนดสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยของนายกี หากแต่สิทธิดังกล่าวย่อมเป็นไปตามมูลนิติธรรมประเพณีของประเทศไทยเรื่องการเข้าเมืองของคนต่างด้าว ดังนั้นนายกีจึงเข้าเมืองไทยได้โดยเสรี และไม่มีหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ทำให้นายกีมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิอาศัยถาวร[6]ในประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนวันที่นางเรียน เวียนวัฒนชัยเกิด

พ.ศ.2476

·  ปรากฎตาม ทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.14) ซึ่งออกโดยสานักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครอุดรธานี รหัสประจำบ้าน คือ 4199-03xxxx-4 จัดพิมพ์เมื่อ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2547 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 2) ระบุว่านางเรียน เวียนวัฒนชัย เป็นผู้อยู่อาศัยลำดับที่ 20 ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2476 เป็นบุตรของนายกี เวียนวัฒนชัย กับนางแฮ เวียนวัฒนชัย

·  โดยวันเกิดนั้นสอดคล้องกับข้อมูลตามสูติบัตรที่ออก ณ ตำบลหนองแสง อำเภอหนองบึก จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2476 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 3)  เพียงแต่ระบุชื่อผู้เกิด คือ “เด็กหญิงเช่รา เงี่ยนบุตรของนายกิ่ว และนางแฮว เกิดที่หมู่ 2 ตำบลหนองแสง วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2476

·  ประกอบกับข้อมูลมีความสอดคล้องกับ (สำเนา)ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขทะเบียนที่ 131/2488 ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2488 ออกให้ ณ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ของนางเรียน เวียนวัฒนชัย (เอกสารแนบท้ายหมายเลข  4) เพียงแต่ระบุว่าผู้เกิด คือ “นางเรียน เวียนวัฒนชัย” หรือ “เช่า” เกิด ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2476 เป็นบุตรของนายกี และนางแฮ

·  ประเด็นความขัดแย้งของชื่อของนางเรียนซึ่งปรากฎในเอกสาร เนื่องจากเดิมทีตอนเกิดบิดาตั้งชื่อให้ว่า “เซ่า” ซึ่งภาษาเวียดนามหมายถึง บุตรคนที่ 6 เพราะนางเรียน เป็นบุตรคนที่ 6 แต่คราวแจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่ นายกีซึ่งออกเสียงภาษาไทยได้ไม่ชัด ทำให้เจ้าหน้าที่ฟังและบันทึกในสูติบัตรเป็น เด็กหญิง “เช่รา” อย่างไรก็ตามการเขียนชื่อเดิมของนางเรียน เคยถูกสะกดเป็นอีกแบบคือ “เช่า” ซึ่งปรากฎตาม (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 4) ต่อมา เด็กหญิงเช่รา ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “เรียน” เมื่อร้องขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

·  ส่วนประเด็นความขัดแย้งของชื่อบิดาและมารดาในสูติบัตรดังกล่าว ซึ่งระบุชื่อบิดา คือนาย “กิ่ว” และชื่อมารดา คือนาง “แฮว” นั้นเกิดจากความผิดพลาดในการออกเสียง ทำให้เจ้าหน้าที่สะกดและบันทึกผิดไป และขณะนั้นนายกียังมีความรู้ภาษาไทยไม่มากนักจึงไม่ได้ทักท้วง

·  ส่วนประเด็นเรื่อง นามสกุล เดิมทีครอบครัวของนายกี ใช้นามสกุลว่า “เงี่ยน” ซึ่งเป็นภาษาเวียดนาม แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นนามสกุลที่ออกเสียงเป็นภาษาไทย ในภายหลัง

·  จากข้อเท็จจริงและหลักฐานการเกิดดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า นางเรียน เวียนวัฒนชัย หรือ เด็กหญิงเช่ร่า เงี่ยน มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456[7] มาตรา 3(3) ซึ่งระบุว่า “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเปนคนไทย คือ (3)บุคคลผู้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม” ตั้งแต่วันที่เกิด คือ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2476

·  แต่เธอกลับไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ในสถานะคนสัญชาติไทย จึงทำให้เธอเป็นคนสัญชาติไทยที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรไทย อย่างไรก็ตามการไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรขณะนั้น ไม่เป็นเหตุให้เธอสิ้นสุดสิทธิที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยที่ควรได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

นายกี และนางแฮ อยู่กินฉันสามีภรรยา ก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2478 ทำให้นางเรียนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

·  การปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางเรียน บุตรของนายกี กับนางแฮ เกิดในปีพ.ศ.2476 ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอต่อการรับฟังว่า การอยู่กินฉันสามีภรรยาของนายกีและนางแฮ ย่อมต้องมีมาก่อนการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2478 ทำให้การอยู่กินฉันสามีภรรยานั้นมีผลเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะผัวเมีย แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม และส่งผลให้นายกีเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเรียน 

·  ดังนั้นบุตรของนายกี และนางแฮทุกคน คือ คนที่ 1 นางจัด, คนที่ 2 นายถึก, คนที่ 3 นางติ่ง(คุณประไพ), คนที่ 4 นางเรียน เวียนวัฒนชัย, คนที่ 5 นางอรรถ, คนที่ 6 นายวิน และคนที่ 7-12 เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายกี

·  เพราะฉะนั้นเมื่อนางเรียนมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว จึงไม่ครบองค์ประกอบที่จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456[8] และไม่ว่านางแฮ มารดาของนางเรียนจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม นางเรียนก็ไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย ตาม ม.3(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 เพราะเหตุที่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

พ.ศ. 2480

·  จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำให้การของนายกี เอกสารคำให้การ (ค.8) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 ซึ่งนายกี ได้ให้การไว้กับ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม เพื่อแนบท้ายเรื่องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่ผู้เยาว์ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข  1 หน้า 3) นายกี แจ้งว่าตนเองได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขที่ 215/2480 เมื่อ พ.ศ.2480

·  จากประวัติศาสตร์กฎหมายการทะเบียนคนต่างด้าวของประเทศไทย มีการจัดทำทะเบียนเพื่อออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวครั้งแรกของประเทศไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม ปี พ.ศ.2480 เป็นต้นไป โดยใช้อำนาจตามกฎหมายคือ  มาตรา 6 แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479[9] ซึ่งเป็นกฎหมายการทะเบียนคนต่าด้าวฉบับแรกของประเทศไทย ที่กำหนดให้คนต่างด้าวในประเทศไทยต้องมี “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว” ดังนั้น ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขที่ 2xx/2480 จึงเป็นใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวชิ้นแรกของนายกี และไม่มีความเป็นไปได้ที่นายกี จะถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งออกโดยรัฐไทยก่อนวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2480

พ.ศ.2488 นางเรียน เวียนวัฒนชัย รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

·  โดยปรากฏข้อมูลตามเอกสารว่านางเรียน เวียนวัฒนชัย ได้ถือใบประจำตัวคนต่างด้าว เลขทะเบียนที่ 131/2488 ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2488 ปรากฏตาม (สำเนา)ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (เอกสารแนบท้ายหมายเลข  4

·  พึงสังเกตว่า การถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขที่ 1xx/2488 ของนางเรียน เป็นการถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในตอนที่นางเรียน อายุเพียงประมาณ 12 ปี ซึ่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479 กำลังมีผลบังคับใช้ในขณะนั้น โดยมีบทบัญญัติ มาตรา 6 ที่กำหนดให้ คนต่างด้าว ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่ออายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน 90 วัน ดังนั้นการขอรับใบสำคัญ ประจำตัวคนต่างด้าวในครั้งแรกนี้ ย่อมต้องเกิดจากการที่นายกี ผู้เป็นบิดาได้ร้องขอให้แก่บุตรผู้เยาว์ของตนเอง มิได้เกิดจากการสแดงเจตนาของนางเรียนเอง

·  อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวนอายุของนางเรียน จะมีอายุครบ 12 ปี ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 ดังนั้นการที่อำเภอเมืองนครพนมออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่นางเรียน ก่อนถึงเวลาครบอายุ 12 ปี คือออกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2488 เป็นการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายขณะนั้น

·  แต่หลังพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479 ถูกยกเลิก และมีพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493[10] ขึ้นใช้บังคับแทน โดยมาตรา 5 ได้กำหนดให้ คนต่างด้าวที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย ต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ประกอบกับมาตรา 24 ของกฎหมายฉบับเดียวกันก็ได้รับรองสถานะของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่ออกมาก่อนหน้านี้  จึงไม่น่าจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องที่มาและความชอบด้วยกฎหมายของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางเรียน  เวียนวัฒนชัย[11]

พ.ศ. (2480 หรือ 2493?) การเปลี่ยนนามสกุลจาก “เงี่ยน” ไปเป็น “เวียนวัฒนชัย”

·  ประเด็นเรื่องนามสกุล “เวียนวัฒนชัย” เดิมทีนายกี ใช้นามสกุล “เงี่ยน” และให้บุตรของตนใช้นามสกุล “เงี่ยน” เช่นเดี่ยวกัน แต่ต่อมาเมื่อช่วงการขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ทางการไทยบังคับให้คนในสมัยนั้นที่ขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวต้องใช้นามสกุลที่ออกเสียงภาษาไทย ทำให้นายกี ต้องเปลี่ยนนามสกุลของตนเอง และของภรรยะคือ นางแฮ และของบุตรทุกคนจาก รวมถึงของนางเรียนหรือเด็กหญิงเช่ร่า “เงี่ยน” มาใช้เป็น “เวียนวัฒนชัย” ( เมื่อปีพ.ศ.....ซึ่งปรากฏตามใบเปลี่ยนชื่อสกุล...... (ปรากฏหลักฐานการเริ่มใช่นามสกุลเวียนวัฒนชัย )) (อยู่่ระหว่างการสืบค้นหลักฐานโดยคุณประพันธ์บุตรชายของนางเรียน)

พ.ศ.2493 นายกีร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่บุตรผู้เยาว์

·  จากความเข้าใจของนายกี ซึ่งปรากฏตาม บันทึกคำให้การเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 1 หน้า 3-4) นายกีเชื่อว่าตนเอง และบุตรคนที่ 1-6 เป็นคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศส(คนสัญชาติฝรั่งเศส) ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยและฝรั่งเศส

·  ด้วย “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส” นั้นมีหลายฉบับ นายกีไม่ได้ระบุว่าตนเองเป็นคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศสตามหนังสือสัญญาฉบับใด แต่เมื่อบันทึกคำให้การของนายกีมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 ย่อมตีความได้ว่า นายกีมีเจตนาหมายถึงสนธิสัญญาที่มีผลบังคับใช้ในวันดังกล่าว ซึ่งน่าจะหมายถึง หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสฯ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122[12][13] (ค.ศ.1904/พ.ศ.2446) แต่ประการสำคัญคือ หนังสือสัญญาฉบับนี้ ไม่ได้มีข้อกำหนดยกเว้นการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนของบุตรของคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นบุตรของคนในบังคับฝรั่งเศส (ซึ่งเลือกถือสัญชาติฝรั่งเศส) ก็อาจจะขอถือสัญชาติไทยด้วยก็เป็นได้ หากทราบว่าคนเองทรงสิทธิในสัญชาติไทย และหากปรากฏข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสัญชาติขณะนั้น ว่าประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสยอมรับการถือสองสัญชาติ

·  ด้วยความเข้าใจข้างต้น วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 นายกี ยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่บุตรคนที่ 3-6  คือรวมถึงนางเรียน ปรากฏตามคำร้องของผู้ปกครองขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่ผู้เยาว์, ผู้เสมือนไร้วามสามารถ, หรือผู้ไร้ความสามารถ (แบบ ท.ต.3) กระทรวงมหาดไทย เขียนที่ สภ.อ.จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข  1 หน้า 1) และรายการของผู้เยาว์, ผู้เสมือนไร้ความสามารถ, หรือผู้ไร้ความสามารถ (สำเนาแนบแบบ ท.ต.3) (เอกสารแนบท้ายหมายเลข  1 หน้า 2)

·  ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การยื่นขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางเรียน ในครั้งนี้เป็นการกระทำของบิดาอีกเช่นกัน  จึงตีความมิได้ว่านางเรียน มีเจตนาขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

·  แต่ ตามคำบอกเล่าของนางเรียน และบันทึกคำให้การของนายกี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 1 หน้า 3-4) ระบุว่าการขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้น อันเนื่องจากคำแนะนำของอำเภอเมืองนครพนม

·  นอกจากนี้ คำให้การของนางเรียน ในคำร้องขอรับใบแทนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2519 (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 5)ยังพบข้อความว่า นายกีซึ่งยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ให้แก่บุตร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิการยน พ.ศ.2493 เป็นการดำเนินการเพื่อให้บุตรมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามประกาศจากทางราชการซึ่งแจ้งให้บุตรของคนญวนในอารักขาฝรั่งเศสเกิดในประเทศไทยก่อน 27 มกราคม พ.ศ.2481 ได้สัญชาติตามบิดามารดา ให้มารับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว กรณีนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าการที่นางเรียนมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมิได้เกิดจากความตั้งใจของนายกี รวมถึงตัวนางเรียนเองด้วย

พ.ศ.2496 การประกาศใช้ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496  เพื่อแก้ไข พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495

มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496[14] ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 ได้มีการบัญญัติเพิ่มมาตรา 16 ทวิ ในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495 โดย “กำหนดให้คนที่

(อ่านต่อตอนที่ 2)  


[1] เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2555

[2] จัดทำโดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นางเรียน เวียนวัฒนชัย  (ฉบับวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2555)

[3] เป็นการพิจารณาสัญชาติไทย ตามหลักกฎหมายธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่ กฎเกณฑ์ในการมีสัญชาติไทยย่อมเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายธรรมชาติเสียทีเดียว จึงจำเป็นต้องทราบถึงเจตจำนงอันปรากฏในการนิติบัญญัติของรัฐ อ้างอิงจาก พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, รวมบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยของบุคคลธรรมดา,พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548.

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กฎหมายสัญชาติไทย หลักกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชนพิมพ์ จำกัด, 2536.

[5] เป็นช่วงเวลาก่อนการเกิดขึ้นของสงครามเวียดนาม ในยุคนายพลโฮจิมินต์

[6] อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2505 ระหว่างอัยการจังหวัดตราด( โจทก์) กับ นายฮ่วยเกี๊ยกหรือฮั้ว แซ่ลี้ (จำเลย) ซึ่งตัดสินว่า จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อ พ.ศ. 2463 ซึ่งยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในขณะนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เป็นการเข้าได้โดยเสรี จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานเข้าเมืองโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

[8] มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

(1) บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในราชอาณาจักรก็ดี เกิดนอกราชอาณาจักรก็ดี

(2) บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่มารดาเปนคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ

(3)บุคคลผู้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม

(4) .....”

[9] ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2480  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2480

[10] มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2493

[11] วีนัส สีสุข, บทวิเคราะห์กรณีนางเรียน เวียนวัฒนชัย: คนเวียดนามที่เกิดในประเทศไทย, ฉบับวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2555 สืบค้นทาง http://www.gotoknow.org/blogs/posts/503378

[12] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 หน้า 344 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 126 (หรือพ.ศ.2450)

[13] สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สืบค้นทาง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%AA_%E0%B8%A3.%E0%B8%A8._122

[14] ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 10 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496

หมายเลขบันทึก: 507759เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท