สุขภาวะในห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนปลอดเชื้อโรคทำอย่างไรดี?


วันนี้ อ.จัน ป่วยเป็นหวัด เขาคิดว่าติดมาจากนักศึกษาในห้องเรียน เพราะเปิดเทอมมามีนักศึกษามาเรียนแล้วทั้งจามทั้งไออยู่สองสามคน เรื่องนี้เป็นปกติของชีวิตอาจารย์ที่สอนในห้องแอร์ที่ไม่มีระบบระบายอากาศที่ดีพอครับ

ผมไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยอื่นเป็นอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ. ) หรือเปล่า แต่ผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความเสี่ยงสุขภาพอยู่หลายประการทีเดียว

วันนี้ไม่ได้มาว่ามหาวิทยาลัยนะครับ แต่จะวิเคราะห์ตามความคิดของผมในประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย แต่ประเด็นที่ผมเขียนนี้น่าจะเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงหรือเราไม่ได้มีโอกาสคิดแก้ไขมากกว่าครับ

มอ. นั้นอยู่เชิงเขาที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะในหน้าฝนเช่นนี้ ดังนั้นผมเดาว่าเชื้อโรคต่างๆ ถ้ามีการกระจายในห้องเรียนแล้ว ย่อมอยู่ได้นานกว่าที่อื่นๆ และมีโอกาสติดต่อกันได้ง่ายกว่า

อีกทั้งห้องเรียนโดยส่วนใหญ่ติดแอร์รุ่นเก่าและการล้างแอร์ก็ไม่ได้ทำกันบ่อยๆ อีกด้วย ดูเหมือนปีหนึ่งจะทำกันทีเดียวตอนปลายปีงบประมาณเดือนกันยายน ผมคิดว่าความชื้นที่ค้างอยู่ในช่องแอร์นั้นต้องมากกว่าที่อื่นๆ ในประเทศไทย เพราะผมเคยปีนขึ้นไปดูในแอร์พบว่าเชื้อราอยู่เต็มไปหมด

ยิ่งกว่านั้นในห้องเรียนใช้โต๊ะและแผงกั้นต่างๆ ที่เป็นไม้อัดเสียโดยส่วนใหญ่ ผมเคยทราบมาว่าไม้อัดนั้นเกิดเชื้อราได้ง่ายและมีความพรุนบนพื้นผิวที่เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียถ้าติดอยู่แล้วทำความสะอาดได้ยาก

ไหนจะไมโครโฟนที่ใช้ร่วมกันหลายคนอีกต่างหาก ไม่ใช่แค่อาจารย์ที่ใช้ นักศึกษาก็ช่วยกันใช้ด้วย ในอากาศชื้นๆ อย่าง มอ. ผมเดาว่าถ้ามีเชื้ออะไรได้หลุดไปอยู่ในฟองน้ำในหัวไมโครโฟน (ที่อยู่ข้างใต้เหล็กครอบอีกที) รับประกันว่าน่าจะอยู่ได้ยาวและแพร่ถึงผู้ใช้ได้อีกหลายคน

นอกจากนี้ด้วยการจัดวางของตึกและการมีต้นไม้ใหญ่มากทำให้ห้องเรียนใน มอ. ไม่ค่อยได้เจอแสงแดดอีกต่างหาก ชื้นๆ มืดๆ นี่น่าจะเป็นของโปรดของเชื้อโรคต่างๆ

ผมเดาเล่นๆ ว่า มอ.​ น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ห้องเรียนมีเชื้อโรคอยู่มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย (ในขณะที่จุฬาฯ อาจจะเป็นห้องเรียนที่มีควันพิษอยู่มากที่สุดในประเทศไทย)

ผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึง "สุขภาวะในห้องเรียน" หรือห้องเรียนปลอดภัยในเรื่องโรคติดต่อทางเดินหายใจ แต่ถ้ามีใครทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจดี เพราะห้องเรียนนี่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่สำคัญตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย เจ้าต้นไม้ป่วยเมื่อไหร่เดาไว้ได้เลยว่าต้องติดมาจากโรงเรียน ดังนั้นถ้ามีใครเอาจริงเอาจังเรื่องการทำห้องเรียนที่ปลอดภัยนี่น่าจะดีไม่น้อยครับ

หมายเลขบันทึก: 507668เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2012 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ผมเดาว่าเป็นผลสืบเนื่องจากระบบระบายอากาศครับ ที่วิศวกร ผู้รับเหมา ทำก้ันแบบชุ่ยๆ ทำให้มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ เวลาผมสอน สั่งให้เิปิดประตูหน้าต่างให้หมด บ่อย ๆ ไม่ต้องการแิอร์เย็น แต่ให้เพิ่มการระบายอากาศ ผมเขียนไปหา อธก. บ่นไปตามประสา ก็เหมือนเดิม แถมนานไป พัดลมเสียอีก เป็นโรคทางเดินหายใจ ก็ระบาดติดกันหมด

สวัสดีค่ะอาจารย์ธวัชชัย

เห็นด้วยค่ะ ..ประเด็นปัญหาสุขภาวะของห้องเรียน ห้องบรรยายในมหาวิทยาลัยหรือแม้แต่ที่ทำงานซึ่งใช้ร่วมกันกับคนหมู่มาก โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพขั้นพื้นฐานเลยนะค่ะ ก่อนที่จะไปจัดการเรื่องอื่นๆ

มอ.ปัตตานีก็คล้ายๆกัน แต่บรรยากาศที่นี่เรามีลมจากทะเล ที่พัดพาเอาความชื้นที่เหมาะ กำลังสบายแต่หน้าฝนก็ชื้นมากกว่าปกติ เชื้อราจึงเจริญลอยฟ่องไปทุกที่ค่ะ วัสดุที่ไม่ใช้ไม้จริง โดยเฉพาะไม้อัดเชื้อราชอบมาก ฟูฟ่องเห็นชัดเจน สูดดมสปอร์เชื้อราไม่ทราบกี่มากหลาย .. (อืมม์...แปลกใจว่าที่บ้านมีชุดโต๊ะนั่งเล่นผลิตจากไม้ยางพารา ตอนซื้อเป็นของที่ระบุว่่า ของส่งออก กลับไม่มีเชื้อรามาสนใจ เข้าใจว่ากระบวนการผลิตคงต่างกันและใช้ทนทานด้วยค่ะ)

การเรียนรู้ รู้จักจุลินทรีย์ง่ายๆ เป็นเชื้อก่อโรค/ไม่ก่อโรคก็ได้ นักศึกษาปีหนึ่ง ทำแล็บโดย เปิดฝาภาชนะที่มีอาหารเลี้ยงเชื้อ ทิ้งไว้สักครู่ เอาไปบ่มไว้ในอุณหภูมิห้อง อาทิตย์ถัดไป กลับมาดูการเจริญของจุลินทรีย์ ว๊าว!!! ... จะเอาแบบไหน สีอะไรหล่ะ โคโลนีขรุขระหรือเรียบ ได้ทุกอย่างจัดให้ ซึ่งอันนี้ก็ปกติค่ะ เพียงแต่บอกว่าในอากาศมีจุลินทรีย์อยู่ ฉะนั้นในห้องที่ระบบการไหลเวียนอากาศไม่ดี มีแต่อากาศที่เชิญชวนให้จุลินทรีย์หมักหมม เจริญได้ดี ก็น่าเป็นห่วงสุขภาพ ทั้งผู้เรียนและผู้สอนจริงๆค่ะ ...

ชวนคิดว่า ..ทำไมตอนที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาด เราต่างทำกันได้ระมัดระวังเรื่องความสะอาดในระบบไหลเวียนอากาศ เพื่อป้องกันโอกาสการติดเชื้อในห้องเรียนที่ใช้ร่วมกันจำนวนมากๆ หรือไม่เปิดแอร์ในขณะสอนที่ห้องบรรยาย ที่อาคารเรียนรวม ..หรือว่าเรา?? เป็นตัวอย่างซะเองในการทำอะไรเพียงเพราะให้เป็นไปตามกระแส ไม่มองแก่นแท้ ทำแบบไฟไหม้ฟาง!!

ที่มอ. ปัตตานี ไม่ได้ร้อนมาก อากาศดี แต่ก็แปลกที่ต้องเพิ่มการติดเครื่องทำความเย็น-แอร์ดอนดิชั่น ซึ่งหากมีความจำเป็นในบางห้องตามตำแหน่งในอาคารที่อับลม ร้อนมากก็ทำได้ แต่บางครั้งบางห้องแอร์เย็นจนเกินไป จนจะป่วยจากความเย็นในการใช้ห้องบรรยายที่จำนวนผู้เรียนมากๆ ไม่ใช่จะป่วยเพราะเชื้่อโรคเพียงอย่างเดียวค่ะ ที่นี่มีห้องบรรยายมีทั้งที่อาคารเรียนรวม และแยกย่อยไปตามอาคารปฏิบัติการต่างๆ

อย่างที่อาคารที่ทำงานอยู่ จะมีห้องบรรยายใหญ่ และบรรยายย่อย 2 ห้อง อืมม์....ทุกครั้งที่มีการร้องขอว่าให้ติดแอร์ครบทุกห้อง ก็จะชี้แจงว่า ขอไว้สักหนึ่งห้องไม่ติดแอร์ เอาไว้ให้เป็นธรรมชาติ และก็ยังได้สิทธิ์อันพึงมีค่ะ เพื่อให้นักศึกษารู้ว่า ห้องไม่ติดแอร์ก็สามารถมีบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างสนุกและมีประสิทธิภาพ แฮ่ๆ ....ฝึกให้ติดดินค่ะอาจารย์ แถมแซวผู้เรียนด้วยว่า ที่บ้านใครติดแอร์บ้าง ในเมื่อที่บ้านเราต่างใช้ชีวิตแบบไม่ติดแอร์ ก็มาเรียนห้องไม่ติดแอร์ก็จะได้บรรยากาศแบบไม่ปรุงแต่ง...:-)) และโดยส่วนตัวก็จะใช้ห้องเรียนนี้ทุกรายวิชาค่ะ จนนักศึกษาแซวเรียกห้องนั้นตามชื่ออาจารย์ที่ใช้มากกว่าใคร แถมต้องเดินขึ้นมาเรียนชั้นสองด้วย เด็กๆก็จะบ่นเพราะไม่ชอบเดินมาก ออกกำลังกาย ใครเรียนห้องนี้ ก็จะได้ความรู้สึกไม่แยกตัวเองจากสิ่งแวดล้อม หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นการเรียนรู้ ท่ามกลางสภาวะจริงๆ สัมผัสได้กับอุณหภูมิร้อน เย็นจริงๆในขณะนั้น จะได้เข้าใจว่าโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมีผลกระทบอย่างไร หรือเข้าใจว่า ยามที่ขี้เกียจเรียนให้นึกถึงพ่อแม่ที่ท่านทำงานกรำแดด กรำฝน เป็นอย่างไร... แม้เพียงเราอยู่ในที่ร่มยังรู้สึกร้อนขนาดนี้ ฝึกเอาไว้...

โดยส่วนตัวหากมีความจำเป็นต้องใช้ห้องบรรยายใหญ่ที่ติดแอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสอนช่วงเช้า ก็จะเชิญชวนนักศึกษาว่า เช้าอย่างนี้อากาศดี ไม่ร้อน เราไม่เปิดแอร์และสูดอากาศบริสุทธิ์ดีไหม๊?? (นักศึกษาก็พยักหน้า อาจจะเอาใจอาจารย์... อิอิ)... แถมให้ช่วยกันเปิดม่าน/blind.. เปิดหน้าต่างให้อากาศไหลเวียน มาแทนที่อากาศนิ่งๆในห้อง เชื้อซึ่งกำลังจะเพาะฟักได้ดีก็จะถูกรบกวน ในขณะที่ช่วงเช้าห้องฝั่งตะวันออกได้รับแสงแดด UVที่ได้ก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ ฆ่าเชื้อที่มีอยู่ได้บ้าง นี่คือประโยชน์จากธรรมชาติ จะได้เป็นโอกาสในการสอนนักศึกษาให้ชื่นชมและเห็นคุณค่าสิ่งที่มีไปด้วย จริงๆแล้วทุกวันห้องบรรยายควรเปิดให้อากาศไหลเวียน เพราะถึงแม้จะล้างแอร์ทุกเทอม แต่ก็ยังรับรู้ได้ว่าไม่สดชื่น กับอากาศขณะนั้น อาจเป็นทั้งมีเชื้อโรค กลิ่นสารเคมีจากห้องปฏิบัติการ ระบบน้ำทิ้ง และอื่นๆ ส่งเสริมความเสี่ยงต่อสุขภาวะในสถานที่ทำงานค่ะ...

สิ่งที่แปลกคือ บางแล็บมีโปรเฟสเซอร์ชาวต่างชาติ เข้ามาทำงานเช้า ท่านเปิดหน้าต่าง ประตูทุกบาน ให้อากาศไหลเวียน (บางครั้งยังสอนเราวิธีการเปิดบานประตูที่มีสองบานให้เปิดถูกทิศทางลมอย่างไร :-)) เราเดินผ่านไปก็แวะทักทาย ท่านบอกว่าวันนี้ัอากาศดี... cool breeze ก็รับรู้ได้ถึงความสดชื่น สายลมอ่อนๆ สังเกตดูว่าอีกสักไม่นานนักเมื่อมีนักศึกษาไทยเข้ามา ก็เริ่มปิดหน้าต่างและเปิดแอร์ทันที เพราะทนไม่ได้กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น จากการเร่งรีบหรืออื่นๆ ยังนึกว่าคนต่างชาติยังไม่โหยหาความเ็ย็นฉ่ำของแอร์คอน ในบริบทเดียวกัน แถมโปรเฟสเซอร์บ่นด้วยว่าทำไมต้องเปิดแอร์เย็นมากถึงขนาดนี้... stupid ..ท่านสัพยอก.. แต่คนบ้านเรากลับเป็นอัตโนมัติที่โหยหาความเย็นฉ่ำ และโดยเฉพาะไม่ต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเอง... 555!!!

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่สะท้อนอะไรหลายอย่างค่ะอาจารย์ จึงใช้เป็นอุทาหรณ์ เป็นบริบทจริงสอนนักศึกษาหลายเรื่องนอกจกประเด็นสุขภาพแล้ว ก็รวมถึงการประหยัด ลดการใข้พลังงานหรือใช้เท่าที่จำเป็น อย่างน้อยก็เพื่อโลกของเราค่ะ ทำได้ในส่วนเล็กๆก็ทำไปก่อนค่ะ ส่วนการสะท้อนถึงผู้บริหารก็...:-((

แฮ่ๆ...คุยกันนานเลยหล่ะ:-)) ขออภัยค่ะ ใจตรงกันคะอาจารย์.. เห็นเป็นปัญหาจริงๆ ต่อสุขภาพในเบื้องต้นและอีกหลายๆปัญหาตามมาค่ะ..:-((

ปล. ขอให้อาจารย์จัน สุขภาพดีขึ้นในเร็ววันนะค่ะ :-))

ขอบคุณความเห็นของอาจารย์ทั้งสองท่านครับ

จริงๆ แล้ว มอ. นั้นร่มรื่นเพราะมีต้นไม้ใหญ่ อากาศไม่ร้อน และมีลมพัดดี เราควรจะเป็นต้นแบบของ green campus ของไทยได้ด้วยซ้ำถ้าเราออกแบบตึกและภูมิสถาปัตย์ให้ดีครับ

-สวัสีครับอาจารย์...

-แวะมาเยี่ยมตอนบ่าย ๆ 

-ตามมาส่ง"ส้าผักกาด"เรียกน้ำย่อยครับ...555

-ขอบคุณครับ

 

การกลัวเชื้อโรค โดยเฉพาะเด็กๆเริ่มตั้งแต่ออกนอกบ้านไปอยู่รร.อนุบาล ทุกครอบครัวก็ต้องทำใจในการรับเชื้อโรค ลุกหลานป่วยง่าย เด็กแต่ละรร.มีมาก บางคนป่วยก็ไม่ได้หยุดเรียน หรือคุณครูป่วย จากการที่กล่าว ไม่ว่านักเรียนวัยใด นักศึกษา ครู อาจารย์ ฯ มีความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคได้ทั้งนั้นนะคะ โดยเฉพาะการที่อยู่ในที่คิดว่าสบาย มีแอร์ไม่ร้อน  ฯการเฝ้าระวังทำยากมาก ถึงทำได้ก็ไม่ทั่วถึงตลอดเวลา  การเจ็บป่วยจึงเกิดได้ง่ายโดยไม่รู้ตัวได้เสมอนะคะ ขอให้อาจารย์จันหายจากการเป็นหวัดเร็วๆนะคะ  หายแล้วทำร่างกายให้แข็งแรงไว้เสมอ  ใช้อาหารเป็นยา และการออกกำลังกาย ช่วยได้มากค่ะ

 พี่ดานำความสุขมาฝาก หากมีโอกาสว่างมานะคะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/507899

 

 

มาชม เห็นมุมคิด ความไม่มีโรคถือว่าเป็นลาภอันยอดยิ่งของคนเรา

ผมว่าผู้บริหารควรใส่ใจในเรื่่องเหล่านี้ เช่นล้างแอร์ในห้องเรียนทุกเทอม ล้างแอร์ช่วงปิดเทอมพอเปิดเทอมก็ดูดีไม่มีเชื้อโรคอย่างนั้นละครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์ ห้องเรียนติดแอร์จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค ก็ต้องมีระบบระบายอากาศ ระบบหมุนเวียนอากาศที่ถูกต้อง รวมทั้งให้เปิดหน้าต่าง ให้แสดงแดดเข้ามา อากาศได้หมุนเวียน

โชคดีที่ม.จุฬาฯ พยายามปลูกต้นไม้และรักษาต้นไม้ใหญ่ๆ ไว้มากค่ะ

ไม่ค่อยติดหวัดจากห้องเรียน แต่ติดจากรถเมลแอร์บ่อยๆ อีกที่ที่น่าห่วงคือ ฟิตเนส ซึ่งโดยมากอยู่ในห้าง ต้องติดแอร์และไม่เคยเห็นที่ฟอกกรองอากาศเลย 

เวลา JJ สอนเด็ก จะบอกให้เขากลับไปนอน หรือ หาผ้าผู้ปากปิดจมูกครับ อีก อย่าง ต้องสร้างภูมิ ต้านทาน ตนเอง ออกกำลังกายทุกวันอะท่าน สู้ๆ ครับ เจอกัน เดือนหน้า ครับ

*ผมไม่ได้ใช้ห้องแอร์ บ้านอยู่ติดกับทุ่งนาโล่งๆ

แต่วันก่อนผมกับลูกสาว และเพื่อนบ้านแถวนี้อีกหลายคนก็เป็นหวัดไปตามๆ กันนะครับ

เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย  เช้าอากาศเย็น สายๆ ฝนตก บ่ายๆ แดดร้อน ตกเย็นมามีลมพัดแรงและอากาศหนาว  ร่างกายปรับตัวไม่ทัน  เลยทำให้เป็นหวัดไปตามๆ กัน

อากาศ...ที่เปลี่ยนแปลงบ่อย  ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งนะครับ  ที่ทำให้เป็นหวัดได้ง่ายๆ

**ขอเอาใจช่วยให้ อ.จัน หายดีเร็วๆ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท