อะไรหรือคือ "พื้นที่รับผิดชอบ"


มาร่วมกันทำลายกำแพงเส้นกั้นระหว่างหน่วยงาน ระหว่างองค์กร เพราะทั้งหมดนั้นคือ "ประเทศไทย"

 จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในเมืองหาดใหญ่เมื่อคืนวาน ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากทั้งกับประชาชนและระบบสังคมทั้งในและนอกพื้นที่

หลังจากฝุ่นควันสงบ เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เร่งเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไขและค้นหาต้นเหตุต่างรวมถึงเร่งหาตัวผู้กระทำความผิด

โดยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากที่ได้รับฟังข่าวในวันนี้ก็คือ ประเด็นของการติดตั้งทีวีวงจรปิด ที่มีปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่รับผิดชอบระหว่างเทศบาลและอำเภอ

จากประเด็นดังกล่าวมิใช่เกิดขึ้นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย

ปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่รับผิดชอบระหว่างหน่วยงานมีการเกิดขึ้นมากมายหลายหน่วยงานและหลายพื้นที่ในผืนแผ่นดินไทยนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะมีการจับจองและแบ่งสิทธิต่าง ๆ กันอย่างน่าฉงน

นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมเคยไปเปิดเวทีชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ ปัญหาหลัก ๆ สำคัญของชุมชนไทยเราก็คือ "ปัญหาเรื่องน้ำ"

ปัญหาน้ำแล้ง

วิธีการแก้ไขก็เป็นวิธีการแก้แบบสำเร็จรูปครับ ก็คือการทำประปาชุมชน

แต่สิ่งที่ทำให้เวทีวันนั้นทุกคนต้องอึ้งกิมกี่ไปหมดก็คือ พอเมื่อเราสืบค้นถึงต้นตอและสาเหตุต่าง ๆ ของปัญหาน้ำแล้งและปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

เราพบว่า

หมู่บ้านข้างเคียงที่อยู่ติด ๆ กัน มีปริมาณน้ำอุดมสมบูรณ์มาก เราจึงได้สอบถามคนในเวทีว่า

แล้วทำไมหมู่บ้านเราถึงไม่มีน้ำล่ะครับ?

คำตอบที่ได้ก็คือ

"หมู่บ้านนั้นเขาอยู่อีกตำบลหนึ่งครับ เขามีงบประมาณจากอบต. ต่อท่อน้ำมาให้ และท่อน้ำก็สิ้นสุดอยู่ที่ก่อนถึงหน้าบ้านผมไม่กี่เมตรนี่เอง"

อยู่ติดกัน แต่อยู่คนละตำบลกัน... ท่อน้ำสิ้นสุดแค่นั้น

เป็นปัญหาที่เหมือนจะไม่มีปัญหา แต่แค่คำว่า "พื้นที่รับผิดชอบ" ก็ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อครับ

ต่อน้ำมาจากปลายท่อนั้นเลยได้ไหม?

ไม่ได้ครับ

พี่น้องในชุมชนเขาเคยไปคุยแล้ว ผลสรุปว่า ต้องไปเดินท่อน้ำมาจากต้นน้ำเลย จะมาต่อตรงปลายท่อไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น น้ำไม่พอ ท่อแตก แล้วคราวนี้เวลาตั้งงบประมาณซ่อมแซม ปรับปรุง แก้ไข ก็จะลำบาก เกิดอาการโทษกันเกี่ยงกันว่าจะใช้งบจากอบต.ใดซ่อม

ดังนั้น ถ้าหมู่บ้านทางท้ายน้ำอยากได้น้ำมาใช้ อบต.ที่มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ทางท้ายน้ำ จะต้องเดินต่อตั้งแต่ต้นน้ำผ่านมาจนถึงหมู่บ้านต้นเองซึ่งอยู่ท้ายน้ำ

ในใจตอนนั้นผมก็ได้แต่คิดในใจแต่พูดออกมาไม่ได้ว่า

"อยู่คนละประเทศกันเหรอ"

นั่นน่ะสิครับ

 

และอีกประเด็นหนึ่งที่เคยต้องปวดหัวกันมานานมาก ก็คือเรื่องของ "เส้นแบ่งจังหวัด"

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหญ่มากครับ ใหญ่สำหรับพี่น้องในเขตพื้นที่ที่โดนขีดเส้นแบ่งจากผู้ใหญ่หรือผู้รับผิดชอบที่ใช้แผนที่แบบนั่งโต๊ะ

เป็นประเด็นเขตพื้นที่ระหว่างจังหวัด ที่หลังจากมีการประกาศปรับเปลี่ยนเขตการปกครองของจังหวัดและพื้นที่ป่า ก็มีการเปลี่ยนแปลงการขึ้นตรงของหมู่บ้านจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งครับ

ประเด็นปัญหาก็คือ

หมู่บ้านที่ถูกเปลี่ยนแปลงนั้น พี่น้องในชุมชนเวลาที่จะเดินทางไปติดต่อราชการ เกิดความลำบากเป็นอย่างยิ่ง

เพราะธรรมชาติของการตั้งหมู่บ้านแต่ดั้งเดิมของ "คน" นั้น

ทุกคนก็ย่อมที่จะต้องมองหาทำเลและที่ทางในการเดินทางที่เหมาะสมและสะดวกที่สุดเป็นสำคัญครับ

แต่ถูกปรับเปลี่ยนโดยคนที่นั่งโต๊ะ แล้วขีดเส้นชีวิตให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่

จากเดิมที่การติดต่อกับหน่วยงานราชการ ไม่ว่าเป็นระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด มีถนนหนทางเดินทางอย่างไม่ยากเย็นนัก

เมื่อมีการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ใหม่

จากการเดินทางโดยถนนก็กลายเป็นจะต้องเดินทางข้ามฟากโดยใช้เรือ และใช้ถนนผ่านภูเขาจนกว่าจะถึงหน่วยงานราชการเหล่านั้น

การแบ่งพื้นที่คำนึงถึงอะไรเป็นหลักหรือครับ

ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของชุมชนหรือคำนึงถึงความสะดวกของชุมชนเป็นหลัก

เพราะหลังจากนั้นก็มีการส่งเรื่องร้องเรียนและมีการประชุมแก้ไขระดับจังหวัดต่อจังหวัดหลายครั้ง

ผลปรากฎว่า ผู้บริหารของจังหวัดที่ชุมชนเดินไปลำบาก ๆ นั้นไม่ยอมที่จะเสียดินแดน หรือชุมชนนั้นให้ตกไปอยู่กับอีกจังหวัดหนึ่ง

คล้าย ๆ กับกรณีพิพาทอินโดจีนที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดนอีกฝั่งของแม่น้ำโขงไปหรือเปล่าครับ

แต่นี่ "ประเทศเดียวกัน" คุยกันเหมือนกับว่า จะต้องเสียพื้นที่ไปให้อีกประเทศหนึ่งเลย กับการที่จะเปลี่ยนแปลงชุมชนจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง การเดินทางของพี่น้องในหมู่บ้านกับการติดต่อราชการจะได้สะดวกสบายขึ้น

ตกลงว่า เราอยู่ "ประเทศเดียวกันหรือเปล่า" ชักไม่แน่ใจ

ปัญหาข้างต้น เป็นปัญหาจำนวนไม่กี่ปัญหาจากหลายร้อยหลายพันปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของเราในเรื่องของ "พื้นที่การรับผิดชอบ"

ปัญหานี้ไม่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างหน่วยงานต่อหน่วยงาน จังหวัดต่อจังหวัดเท่านั้นนะครับ ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้น "ภายในองค์กร" อีกด้วย

โทรศัพท์แผนกฉัน 

เครื่องถ่ายเอกสารของฝ่ายฉัน 

เก้าอี้ของสำนักงานฉัน

คุณเป็นคนของคณะ คุณจะไปทำงานให้มหาวิทยาลัยไม่ได้ คุณต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้คณะ

ฯลฯ

ก็ต้องย้อนกลับมาถามคำถามเดิมอีกว่า

"องค์กรเดียวกันหรือเปล่า หน่วยงานเดียวกันหรือเปล่า"

เรามาร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้กันเถอะครับ

มาร่วมกันทำลายกำแพงเส้นกั้นระหว่างหน่วยงาน ระหว่างองค์กร

ระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด

เพราะทั้งหมดนั้นคือ "ประเทศไทย"

เราทำงานทุกอย่างก็เพื่อ "คนไทย" และ "สังคมไทย"

ทำลายกำแพง หรือทำให้เส้นกันระหว่างหน่วยงานและองค์กรนั้นเป็นภาพเบลอ ๆ มีกรอบแต่ไม่ติดกรอบ มีกำแพง แต่ไม่ติดอยู่เฉพาะในกำแพงและห้องสี่เหลี่ยม

ร่วมกันใช้ ร่วมกันรักษา ร่วมจิตร่วมใจกันทำงาน เพื่อยังผลประโยชน์แก่องค์กร หน่วยงาน และส่วนรวม อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดกันนะครับ

 

ขอให้พลังแห่งความรักและเสียสละต่อส่วนรวมจงสถิตกับทุก ๆ ท่านตลอดไป

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 50762เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาไม่มีพรมแดน

โจรผู้ร้ายก็ไม่มีพรมแดน

ขอบคุณที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยครับ

  • ขอบพระคุณมาก ๆ เลยครับที่เติมเต็มบันทึกนี้ได้อย่างดียิ่งเลยครับ
  • ปัญหาต่าง ๆ ถ้ามีการยกขึ้นมาพูดและร่วมกันแก้ไข ประเทศไทยอีกไม่นานก็จะพบกับความศานติสุขครับ
  • ขอพลังแห่งความศานติสุขจงสถิตกับประเทศไทยตลอดไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท