CaseStudy3: ตอบคำถามคุณมนัสนันท์ ตรวจดีเอ็นเอในเด็กชาย 2 คนจากคนละแม่ ดูว่าร่วมพ่อเดียวกันหรือไม่ ?


     จากคำถามของคุณมนัสนันท์   ผมขอแยกตอบเป็น 2 ประเด็นครับ 

ประเด็นที่ 1  เกี่ยวข้องกับการเก็บตัวอย่างตรวจ

     ในกรณีนี้ คุณมนัสนันท์ต้องการตรวจลูกชายของภรรยาใหม่ เพื่อดูว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของสามีที่เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่ เนื่องจากเด็กคนนั้นอยู่ในความดูแลของแม่ของเขาครับ การที่จะขอให้เด็กคนนี้มาตรวจดีเอ็นเอ คุณมนัสนันท์ไม่สามารถเก็บตัวอย่างตรวจใดๆจากเด็ก มาขอทำการตรวจดีเอ็นเอโดยไม่ได้รับการยินยอมจากแม่ของเด็กครับ การตรวจดีเอ็นเอโดยทั่วไป แต่ละสถาบันที่ทำการตรวจจะเป็นผู้เก็บตัวอย่างตรวจเอง ตัวอย่างตรวจใดที่สถาบันนั้นไม่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเอง มักถูกปฏิเสธครับ เพราะถือว่าอาจได้รับตัวอย่างตรวจมาโดยมิชอบ และไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อได้ว่าตัวอย่างตรวจที่ถูกนำมาให้ตรวจนั้นเป็นของเด็กคนที่ถูกกล่าวอ้างจริง การเก็บตัวอย่างตรวจจากเด็ก อาจต้องนำใบเกิดของเด็กไปแสดงร่วมด้วย และผู้ปกครองของเด็กจะต้องเซ็นชื่อยินยอมให้เก็บตัวอย่างตรวจจากเด็กด้วยครับ

     จึงดูเสมือนว่า หากภรรยาใหม่ ไม่ยินยอมให้เด็กตรวจดีเอ็นเอ อาจต้องฟ้องศาล เพื่อใช้คำสั่งศาลบังคับให้มีการตรวจดีเอ็นเอครับ

     การเก็บเส้นผมของเด็ก แล้วไปขอตรวจดีเอ็นเอนั้น อาจไม่มีสถาบันใดรับตรวจให้ครับ (เป็นความเห็นส่วนตัว) คุณมนัสนันท์อาจติดต่อไปยังสถาบันต่างๆ ที่รับตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอได้ครับ ความเห็นของผมอาจผิดพลาดก็ได้ครับ

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวข้องกับการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ

     ประเด็นนี้ คงต้องถามว่า จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องต่อไปในอนาคตหรือไม่ หากคำตอบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องต่อไป เป็นการตรวจเพียงเพื่อให้ทราบว่า เด็กชายลูกของภรรยาใหม่ เป็นลูกของสามีคนที่เสียชีวิตจริง วิธีการตรวจที่ดูเหมือนง่ายที่สุดคือ

     การตรวจดีเอ็นเอชนิด Y-STR คือตรวจดีเอ็นเอที่อยู่บนโครโมโซมวาย ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศชาย โครโมโซมนี้่จะมีเฉพาะในเพศชายเท่านั้น ไม่มีในเพศหญิง และเป็นโครโมโซมที่ถ่ายทอดจากพ่อสู่ลูกชาย ดังนั้นหากเป็นญาติร่วมสายพ่อเดียวกัน ก็จะมีรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย เหมือนกันครับ ดังนั้น หากตรวจดีเอ็นเอชนิด Y-STR ในลูกชายของคุณมนัสนันท์ กับลูกชายของภรรยาใหม่ ก็จะทราบครับว่ามีพ่อคนเดียวกันหรือไม่ กล่าวคือ ถ้ารูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมวายเหมือนกัน แสดงว่า เด็กทั้งสองคนมีพ่อคนเดียวกัน แต่หากรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย ไม่เหมือนกัน แสดงว่า เด็กทั้งสองคนต่างพ่อกันครับ ซึ่งเพียงเท่านี้ สามารถตอบคำถามของคุณมนัสนันท์ได้แล้วครับ แต่ถ้าต้องเกี่ยวพันกับคดีในชั้นศาลต่อไปในอนาคต หลักฐานเพียงเท่านี้อาจไม่เพียงพอครับ ทั้งนี้เนื่อง หากเด็กทั้งสองต่างพ่อกัน การตรวจแบบนี้ไม่สามารถระบุได้ว่า เด็กคนไหนเป็นลูกของสามีคนที่เสียชีวิต หลักฐานที่ได้บอกได้แต่เพียงว่า เด็กทั้งสองต่างพ่อกันเท่านั้น การที่จะระบุว่าเด็กคนใดเป็นลูกชายของสามีที่เสียชีวิตนั้น อาจต้องนำญาติร่วมสายพ่อเดียวกัน ที่เป็นผู้ชาย เช่น ลูง  (พี่ชายของพ่อ) อา(น้องชายของพ่อ) ปู่(พ่อของพ่อ)  คนใดคนหนึ่งมาตรวจร่วมด้วย หากเด็กคนใดมีรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมวายเหมือนกับรูปแบบดีเอ็นเอของญาติของพ่อ ก็แสดงว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกของสามีที่เสียชีวิตครับ  แต่ถ้าไม่สามารถหาญาติของสามีที่เสียชีวิตไปแล้วมาตรวจร่วมด้วย ก็จะเป็นเรื่องยากขึ้นอีกมากครับ เพราะการตรวจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นการสร้างรูปแบบดีเอ็นเอของพ่อขึ้นมาใหม่ครับ

     การตรวจเพื่อให้ทราบรูปแบบดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิตไปแล้ว จะเป็นการตรวจดีเอ็นเอชนิด autosomal STR ซึ่งเป็นรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกายครับ แต่ละบุคคลจะมีลักษณะรูปแบบดีเอ็นชนิดนี้แบบจำเพาะ ไม่เหมือนบุคคลอื่น (ยกเว้นในฝาแฝดแท้ ที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน) โดยทั่วไปลูกทุกคนจะได้รับดีเอ็นเอชนิดนี้ ครึ่งหนึ่งจากพ่อ และอีกครึ่งจากแม่ครับ ดังนั้นการสร้างรูปแบบดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิตไปแล้ว ก็จะทำการตรวจจากลูกๆของผู้เสียชีวิต และ แม่ของเด็กเหล่านั้นครับ เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ก็จะทำการตรวจดีเอ็นเอจาก ลูกทั้งสองคน และคุณมนัสนันท์ และลุกของภรรยาใหม่และภรรยาใหม่ครับ  

     รูปแบบดีเอ็นเอที่ได้จากลูกทั้งสองคนของคุณมนัสนันท์ จะไม่เหมือนกันครับ แต่เนื่องจากเรารู้ว่าดีเอ็นเอของลูกครึ่งหนึ่งได้รับจากพ่อ อีกครึ่งได้รับจากแม่ ดังนั้น เมื่อเอารูปแบบดีเอ็นเอของคุณมนัสนันท์มาเปรียบเทียบร่วมด้วย เราก็จะทราบว่า ดีเอ็นเออีกข้างของลูกที่มาจากพ่อของเขานั้นเป็นแบบไหน

     วิธีการนี้ก็จะทำกับเด็กชายจากครอบครัวของภรรยาใหม่ด้วยครับ เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบดีเอ็นเอของเด็กกับแม่ของเด็ก (ภรรยาใหม่) ก็จะทราบรูปแบบดีเอ็นเออีกข้างที่มาจากพ่อครับ

     ดีเอ็นเอจากโครโมโซมร่างกายจะมี 2 แท่งครับ แต่ดีเอ็นเอที่เราสร้างขึ้นนี้ ในเด็ก 1 คนจะได้รับดีเอ็นเอจากพ่อ 1 แท่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นแท่งใด เพราะฉะนั้น ในลูกทั้งสองคนของคุณมนัสนันท์ ต้องตรวจเปรียบเทียบหาตำแหน่งที่ลูกทั้งสองคน ให้รูปแบบดีเอ็นเอของพ่อไม่ตรงกันครับ นั่นหมายถึงว่า เราทราบว่าที่ตำแหน่งนี้ดีเอ็นเอของพ่อ ทั้งสองแท่ง มีรุปแบบเป็นอย่างไร แล้วนำไปเปรียบเทียบเฉพาะตำแหน่งนี้กับดีเอ็นเอของพ่อที่ได้จากลุกชายของภรรยาใหม่ครับ ทำแบบนี้ไปทีละตำแหน่ง หากรูปแบบดีเอ็นเอของลูกชายภรรยาใหม่ไม่ขัดแย้งกับรูปแบบดีเอ็นเอที่สร้างขึ้นใหม่ ก็น่าเชื่อครับว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกของผู้ตายจริง แต่หากมีตำแหน่งใดที่ขัดแย้งกันตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป แสดงว่า เด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกของผู้ตายครับ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจต้องตรวจรูปแบบดีเอ็นเอชนิดให้มากตำแหน่งที่สุดครับ  ซึ่งการตรวจแบบนี้ ผมไม่แน่ใจว่า จะมีสถาบันใดให้บริการตรวจให้ครับ เพราะค่อนข้างซับซ้อนกว่าการตรวจปกติทั่วไปที่ให้บริการอยู่ครับ

     หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับคุณมนัสนันท์นะครับ

หมายเลขบันทึก: 507163เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2012 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท