กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๐๖) : ไปเปิดชั้นเรียนที่รุ่งอรุณ (๕) สุขที่ได้สร้าง


 

กลโคลงแบบแรกที่ดิฉันนำมาให้นักเรียนห้องนี้ได้ลองแต่งคือ วลสมุทร  โจทย์ของวันนี้คือ ให้นักเรียนทุกกลุ่ม (แบ่งตามโต๊ะที่นั่งเรียน) เขียนโคลงวลสมุทรที่กล่าวถึง “ฝน” ตัวช่วยที่มีคือ คลังคำเกี่ยวกับฝนจากบทเพลงทั้ง ๓ เพลง ซึ่งตัวผู้แต่งแต่ละคนก็ล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากฝน ที่ทุกคนได้ซึมซับรับฟัง "คำกวี" ไปเมื่อครู่

 

เมื่อมีคลังคำ มีผังกลโคลงที่มีเสน่ห์ที่ยั่วเย้าให้เข้าไปลองเล่น  ทุกคนก็พร้อมที่จะเข้าประลอง บรรยากาศของห้องดูผ่อนคลาย เพราะเป็นงานที่ทุกคนได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ  การได้สร้างสรรค์  ได้ปลดปล่อยตนเองออกจากการบังคับเอกโทในการแต่งโคลงสี่สุภาพที่เคยเผชิญมาในภาคเรียนที่แล้ว  ทำให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างเต็มที่  และมากไปกว่านั้นคือ การได้ปลุกความเป็นกวีผู้มองเห็นความงามของธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในตนให้ตื่นขึ้นมา

 

โคลงวลสมุทรบทหนึ่งมี ๔ บาท (หนึ่งบรรทัดคือหนึ่งบาท) แต่ละบาทแยกเป็น ๒ วรรค  แบ่งเป็นวรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ เช่นเดียวกับคำโคลงทั่วไป ต่างกันที่ไม่บังคับเอกโท แต่บังคับการใช้คำที่สองของวรรคหน้า และคำแรกของวรรคหลังแทน

 

รูปแบบของกลบทชนิดนี้จึงคิดขึ้นเพื่อฝึกให้ผู้แต่งได้เล่นสนุกไปกับคำโดยแท้

 

ในผลงานชิ้นสุดท้ายปลายเทอมที่เป็นโครงงานเดี่ยว  อิงแลนด์ – ณัฏฐนิช ชัยพิพรรธ เขียนโคลงบรรยายเส้นทางการเรียนรู้ในวันนี้เอาไว้ว่า

 

                             จบโคลงสี่ยากแล้ว              แทบสลด

                   เรียนต่อกลบท                              สุดล้า

                   คิดจนเรี่ยวแรงหมด                       สนุกอยู่

                   ถึงจะเหนื่อยแทบบ้า                      กระนั้นเพลินใจ

                             วลสมุทรเข้า                       มาปลอบ

                   ชักสนุกจึงชอบ                             หมั่นซ้อม

                   เอกโทไม่ตรวจสอบ                       ปล่อยผ่าน

                   จึงง่ายไม่อ้อมค้อม                         เร่งพร้อมแต่งโคลง

                             ชั่วโมงนั้นช่วงหน้า              พรรษา

                   จึงทดลองแต่งมา                          สักครั้ง

                   คำล้วนเกี่ยวพันหา                        กับวรรษ

                   สนุกสุดจะรั้ง                                อยากให้ลองฟัง

                             ปรอยฝนโปรยปรายเป็น     หยดใส

                   หยาดฝนรินหลั่งไหล                   หยดฟ้า

                   สายฝนพร่างพรมพราย                หยดน้อย

                   น้ำฝนรินชุ่มชีวา                         หยดงาม

 

อารมณ์ “สนุกสุดจะรั้ง อยากให้ลองฟัง” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับอิงแลนด์เท่านั้น ช่วงการนำเสนอของวันนั้นจึงสนุกเหลือหลาย อันเนื่องมาจากการที่พวกเขามีวิธีที่จะเล่นกับคำ และอารมณ์ความรู้สึกนี้เอง ที่ช่วยแต่งแต้มให้รอยยิ้มกระจายอยู่บนทุกใบหน้า ถึงแม้ว่าจะจบชั่วโมงเรียนไปนานแล้วก็ตาม

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506941เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2012 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีจังเลยนะคะ .....เกิดการพัฒนานะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท