ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง


ปรัชญาการเมือง คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อศึกษาหาความรู้ระบบการเมืองการปกครองแบบไหนที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับสังคมหรือประเทศนั้น ๆ เพื่อนำระบบการปกครองที่สังคมหรือประเทศนั้นยอมรับว่าเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณค่ากับการดำรงอยู่ของสังคมที่มั่นคง มีความสุขเกิดความปรองดองของคนในชาติอย่างยั่งยืน.

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง

 (Introduction to Political Philosophy)

     ต้องยอมรับว่ามนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ เมื่อเจริญเติบโตมาในระดับหนึ่ง จะมีวิธีคิดเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ต่าง ๆ  เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องบางครั้งผู้คนเรียกว่า ปรัชญาชีวิต นั้นก็หมายความว่า การแสวงหาความรู้อันถูกต้อง ประเสริฐเพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต และการแสวงหาความรู้อันเป็นความจริงบางอย่างที่มีอยู่ในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นต้น เพื่อค้นหาความจริงอันประเสริฐในศาสตร์เหล่านั้นว่าหัวใจสำคัญของความรู้ ความจริง และความถูกต้องคืออะไร

     คำว่า ปรัชญา มาจากคำสองคำคือ “ปร” แปลว่า รอบ, ประเสริฐ ส่วนคำว่า”ชญา” แปลว่าความรู้,ความเข้าใจ (ภาษาสันสกฤต)   เพราะฉะนั้น ปรัชญา จึงหมายความว่า ความรู้รอบอย่างแท้จริง ความรู้อันประเสริฐ และความเข้าใจโดยรอบ

     ส่วนคำว่า[1] “Philosophy” ( love of wisdom) นั้น มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Philos ( loving or dear ) แปลว่า ความรัก, ความเลื่อมใส, ความสนใจ Sophia ( wisdom or knowledge) แปลว่า ปัญญา, ความรู้, วิชาการ  เพราะฉะนั้น รวมคำทั้งสองแล้ว “Philosophy จึงหมายความว่า ความรักในปัญญา, ความรักในความรู้, ความรักในวิชาการ ปรัชญานั้นมีความหมายกว้างมาก ยากที่จะจำกัดความลงไปได้ เพราะเหตุที่ วิชาปรัชญานั้นเป็นวิชาที่ศึกษาหาความจริงตามหลักเหตุและผลอย่างกว้าง ๆ กับธรรมชาติ ของจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ เราจะเห็นว่า นักปรัชญาแต่ละคนก็ล้วนแต่ให้ความหมายของคำว่า “ ปรัชญา ” ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

    โสคราเต็ส ได้ให้ความหมายของคำว่า ปรัชญา คือ ความรักในความรู้

    เพลโต กล่าวว่า นักปรัชญา คือ คนที่ศึกษาถึงธรรมชาติที่แท้จริง ของสิ่งทั้งหลาย ปรัชญามีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงความรู้ที่แท้จริง เป็นนิรันดร์

อริสโตเติลด้ให้ความหมายของคำว่า ปรัชญา คือ ทฤษฎีความรู้ หรือทฤษฎีคุณค่า ปรัชญาคือ ศาสตร์ซึ่งค้นหาถึงธรรมชาติของสิ่งที่มีเป็นอยู่ด้วยตนเอง และคุณสมบัติตามธรรมชาติของสิ่งนั้นด้วย

 ค้านท์ ได้ให้ความหมายของคำว่า ปรัชญา คือ ศาสตร์แห่งความรู้และการวิพากษ์วิจารณ์ความรู้

      อาจารย์จำนงค์    ทองประเสริฐ [2]  ท่านได้ให้ความหมายของคำว่า ปรัชญา   ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า  Philosophy นั้น แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของคำว่า ปรัชญา หาได้ตรงกับคำว่า Philosophy จริง ๆ ไม่ ถ้าไม่ศึกษาความหมายอันแท้จริงของคำ ๒ คำนี้ก่อนแล้วอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ปรัชญา กับ Philosophy มีความหมายตรงกันทีเดียว  คำว่า  ปรัชญา หมายถึง ตัวปัญญา คือความรู้แท้ที่ได้รับหลังจากหมดความสงสัยแล้ว ส่วนคำว่า Philosophy เดิมทีเดียวหมายถึง ความรักในความรู้ ที่ว่าต้องรักในความรู้ก็เพราะว่า  ความรู้หรือWisdom นั้นเป็นของพระผู้เป็นเจ้า(God) เท่านั้น  ผู้อื่นจะไปครอบครองตัวปัญญาหรือWisdom นั้นไม่ได้   เพียงแต่รักเท่านั้น เป็นเจ้าของไม่ได้เรียกว่า ตัวปัญญา  หรือWisdom   นั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงผูกขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนปัญญา หรือ ปรัชญา นั้นไม่มีใครผูกขาด ทุกคนสามารถที่จะบรรลุถึงตัว    ปัญญา  หรือ   ปรัชญาได้ทั้งนั้นถ้าหากบุคคลนั้นจะดำเนินไปตามวิถีทาง ที่จะนำไปสู่ปัญญา เพราะฉะนั้นคำว่า  ปรัชญา กับ Philosophy จึงมีความหมายที่แตกต่างกันโดยนัยดังกล่าวแล้ว

      จากประเด็นดังกล่าวของนักคิด นักเขียน และนักปรัชญา พอจะสรุปประเด็นสำคัญของคำว่า ปรัชญา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาหาความรู้ ความจริงของมนุษย์ โลก ธรรมชาติ และชีวิตอย่างลึกซึ้งเพื่ออธิบายเหตุการณ์ และสิ่งต่าง ๆ โดยใช้หลักการของเหตุผลในวิชาตรรกวิทยาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงหรือความรู้ที่แน่นอน

     คำว่า “การเมือง” (Politics) หมายถึง การแสวงหาอำนาจ กิตติยศชื่อเสียงที่มีอยู่ในระบบสังคมเพื่อนำมาสร้างอิทธิพลหรือผลประโยชน์ให้แก่กลุ่ม พวกพ้อง และระบบเครือญาติ เพื่อให้เกิดการยอมรับของผู้คนในสังคม เช่น ความเคารพนับถือ ความศรัทธา เป็นต้น

     ชลธิศ ธีระฐิติ[3] (2551, น. 278-280) ได้ให้ความหมายของคำว่า “การเมือง” ว่า ในความหมายที่ผูกติดกับระบบการเมืองและ/หรือรัฐ การเมือง คือ การจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าหรือทรัพยากร โดยมีอำนาจที่เป็นที่ยอมรับกันมาทำให้เกิดการปฏิบัติตาม หรือการเมืองเป็นเรื่องของการที่มีคนกลุ่มหนึ่งใช้อิทธิพลต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม สิ่งที่มีคุณค่าทางสังคมในที่นี้มีได้หลายอย่าง เช่น อำนาจ ความศรัทธานับถือ ความยุติธรรม ความนิยมชมชอบ ความอยู่ดีกินดี ความมั่งคั่ง ความรอบรู้ ทักษะ เป็นต้น ในความหมายนี้ การเมืองจะถูกตีกรอบเอาไว้ว่า เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถแยกออกจากความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบย่อยอื่นๆ ของสังคมได้ โดยที่ระบบการเมืองจะมีเป้าหมายในตัวเองที่แตกต่างจากระบบย่อยอื่น ๆ ของสังคม เช่น ระบบวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา     

        ณรงค์ สินสวัสดิ์[4] (2539, 3) ได้ให้ความหมายของคำว่า การเมือง คือ เป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง โดยที่อำนาจทางการเมืองหมายถึง อำนาจในการที่จะวางนโยบายในการบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ อำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ แนวการมองการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ

       จากแนวความคิดในประเด็นดังกล่าวของนักวิชาการหรือนักรัฐศาสตร์ การเมืองจึงหมายถึง กิจกรรมที่มีกลุ่มคนหลายกลุ่มรวมตัวกันขึ้น เพื่อมีเป้าหมายในการที่จะแสวงหาอำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ กิตติยศชื่อเสียง การยอมรับจากสังคม และการนำนโยบายของกลุ่มไปแก้ปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะครองใจของผู้คนในสังคมให้ยาวนานที่สุด

     คำว่า ”ปรัชญาการเมือง” จึงหมายถึง ความรู้ที่มีคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง ความถูกต้องเหมาะสม ความดีงามของระเบียบทางการเมือง ตลอดจนเป็นความพยายามคิดค้นหาแนวความคิดมาชี้นำกำหนดความดีขึ้น    หรือ   เลวลงของการกระทำ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การเปลี่ยนแปลงกับความต่อเนื่องหรือความมีเสถียรภาพของสังคมการเมือง

       ปรัชญาการเมืองคือ[5] สาขาของปรัชญาประยุกต์ที่ศึกษาถึงชีวิตทางสังคมหรือชีวิตทางการเมืองของมนุษย์ ปัญหาที่ปรัชญาการเมืองศึกษาจึงเป็นเรื่องของสังคม ( Society) และรัฐ ( The State ) ในแง่ของธรรมชาติ (Essence ) บ่อเกิด (Origin ) และคุณค่า ( Value ) ของรัฐและสังคม หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า นักปรัชญาการเมืองเป็นกลุ่มของนักปรัชญาที่ต้องการเสนอความคิดเกี่ยวกับองค์กรที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือสังคม นักปรัชญาการเมืองไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเรื่อง ความยุติธรรม ( Justice ) และวิถีที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมของสังคม การออกกฎและการเคารพกฎ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวให้กระชับยิ่งขึ้น ก็คือ ในขอบข่ายของปรัชญาการเมืองนี้ นักปรัชญาพยายามเสนออุดมการณ์เกี่ยวกับสังคมและรัฐที่เขาคิดว่า ควร จะเป็นนั่นเอง ไม่ได้กล่าวถึงการเมืองการปกครองที่เป็นจริงที่ได้ปรากฏหรือกำลังปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศต่าง ๆ จริง ๆ

นับแต่มวลมนุษยชาติซึ่งรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม   เป็นชุมชน   เป็นรัฐ  เป็นชาติหรือประเทศ ได้มีนักคิด  นักวิชาการ นักบริหาร นักปกครอง นักการเมือง นักรัฐศาสตร์มากหลาย ได้เสนอแนวคิดทางการบริหาร   การปกครอง  ระบบการปกครอง  ระบบการเมือง  และรูปแบบการปกครองอย่างหลากหลายที่เห็นว่าดี เหมาะสมกับสังคม รัฐ ชาติหรือประเทศ ของตน

แนวคิดดังกล่าวในทางวิชาปรัชญา    (Philosophy)    นักวิชาการ  เรียกว่า  ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) ก็มี รัฐศาสตร์ปรัชญาก็มี ปรัชญารัฐศาสตร์ก็มี ปรัชญาทางการบริหารการปกครองก็มี   รัฐปรัชญาก็มี  แต่ในวงนักวิชาการ ในวงการนักการศึกษา  และในวงการนักรัฐศาสตร์นิยมแปลคำว่า  Political Philosophy ว่า ปรัชญาการเมือง  ซึ่งหมายถึงปรัชญาในทางการเมือง ซึ่งเป็นปรัชญาในการบริหาร   ในปกครอง   โดยปรัชญาการเมืองนั้น  ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า Political Philosophy หรือ Philosophy of Politics ก็ได้

          ปรัชญาการเมือง[6]  (Political Philosophy)  เป็นความพยายามศึกษาถึงธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  ความถูกต้องเหมาะสม ความดีงามของระเบียบทางการเมือง ตลอดจนเป็นความพยายามคิดค้นหาแนวความคิดมาชี้นำกำหนดความดีขึ้น    หรือ   เลวลงของการกระทำ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การเปลี่ยนแปลงกับความต่อเนื่องหรือความมีเสถียรภาพของสังคมการเมือง    ทั้งยังเห็นว่า   การวิพากษ์วิจารณ์การครุ่นคิด คำนึง การเสวนา การแสวงหาในแนวทางเช่นว่านั้น   จะเป็นวิธีที่พัฒนายกระดับทางศีลธรรมให้สูงขึ้น    โน้มนำไปสู่การมีจิตสำนึก    รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมากขึ้น

สารานุกรมปรัชญาของรูธเลท [7](Rouledge Interrnet Encyclopedia of Philosophy) นิยามวิชาปรัชญาการเมืองว่าเป็นกระบวนการสะท้อนความคิดทางปรัชญา ในเรื่องการจัดการชีวิตสาธารณะให้มีความเหมาะสม เหมาะควร ผ่านการครุ่นคิดว่าสถาบันทางการเมืองแบบใดที่ดีที่สุด กิจกรรมทางการเมืองแบบใดที่ดีที่สุด ฯลฯ ส่วนสารานุกรรมปรัชญา (Internet Encyclopedia of Philosophy) อธิบายว่า ปรัชญาการเมืองคือการแสวงหาชีวิตที่ดี แสวงหาชีวิตที่ควรจะเป็น แสวงหาค่านิยมที่ดีในการปกครอง สถาบันทางสังคมที่ดีในการปกครอง

เมื่อแยกพิจารณาคำว่าปรัชญาการเมืองในภาษาอังกฤษโดยทางนิรุกติศาสตร์แล้ว จะพบว่า Philosophy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า Φιλοσοφος (philosophos) เกิดจากการสนธิของคำว่า philos (มิตรภาพ) และ sophia (ปัญญา) ที่แปลตรงตัวว่า “มิตรภาพกับปัญญา” หรือแปลเทียบเคียงได้ว่า “การไฝ่รู้หรือความไฝ่รู้” อย่างไรก็ดีในวงวิชาการไทยมักแปลผิดเป็น "ความรักในความรู้" ทั้งที่คำว่าความรักในภาษากรีกนั้นคือ 'ερως ('eros) หรือ αγάπη (aga'pe) ซึ่งมักเป็นคำที่ถูกใช้แสดงอารมณ์ ส่วนคำว่าความรู้นั้นคือ επιστήμη (episte'me) ซึ่งหมายถึงความรู้ที่แท้จริงที่มนุษย์อาจเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงก็ได้ ปรัชญาจึงไม่ใช่ความรอบรู้ นักปรัชญาจึงไม่ใช่ผู้รู้หรือครู (sophist) การแปลคำว่าปรัชญาในภาษาอังกฤษว่า "ความรักในความรู้" จึงถือว่าแปลไม่ถูกต้องตามรากศัพท์ เพราะไม่ได้ครอบคลุมนิยามที่ว่าปรัชญาเป็นความรักที่จะเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้ นักปรัชญาจึงมีลักษณะแบบนักสงสัย (sceptic) และนักแสวงหาความรู้ ว่าไปแล้วนักปรัชญาจึงมีลักษณะของนักเรียนตลอดชีพมากกว่าผู้รู้ที่ทรงภูมิตามความหมายแบบตะวันออก

      กล่าวโดยสรุป ปรัชญาการเมือง คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อศึกษาหาความรู้ระบบการเมืองการปกครองแบบไหนที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับสังคมหรือประเทศนั้น ๆ เพื่อนำระบบการปกครองที่สังคมหรือประเทศนั้นยอมรับว่าเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณค่ากับการดำรงอยู่ของสังคมที่มั่นคง มีความสุขเกิดความปรองดองของคนในชาติอย่างยั่งยืน.



[1] blog.eduzones.com/offy/5069 - แคช

 

[2] กิตติพัฒน์ สุวรรณสิริเมธี, เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมือง, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2550.

 

[3] www.oknation.net/blog/boonyou/2011/03/20/entry-1 - แคช

[4] th.wikipedia.org/wiki/การเมือง - แคช

[5] www.tkc.go.th/wiki/show  /ปรัชญาการเมือง+Political+Philosophy - แคช

[6] กิตติพัฒน์ สุวรรณสิริเมธี, เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมือง, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2550,หน้า 5-6.

[7] th.wikipedia.org/wiki/ปรัชญาการเมือง - แคช

 

หมายเลขบันทึก: 506726เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์เช็คเมลด้วยนะครับ พอดีแอบส่ง...ไปแล้ว

ชลิดา แก้วยอดหล้า

ขอบพระคุณมากค่ะ อาจารย์เขียนดี ชอบมากค่ะ

ผมอยากรู้ว่านักรัฐศาสตร์ทำไมต้องศึกษาปรัญาการเมืองด้วยอะครับบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท