แนวการออกแบบเชิงกระบวนการการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อดำเนินการได้ในหลายเงื่อนไข*


 

“.... การร่วมมือกันของภาคีทางวิชาการกับชุมชนในท้องถิ่น เกิดจากความเชื่อมั่นว่า การมุ่งสร้างคน สร้างทุนมนุษย์และสร้างทุนทางปัญญาก่อน จากการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนเอง ใช้ปัญญา ความรู้ การจัดความสัมพันธ์ และมีปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เป็นความสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ในแนวราบ ร่วมคิดและริเริ่มทำสิ่งต่างๆกันด้วยเหตุด้วยผล ปัญหาต่างๆของสังคมที่ไม่มีทางแก้ด้วยวิธีอื่น ก็จะมีทางออกและเกิดความมั่นคงยั่งยืนมากกว่าวิธีมุ่งได้ความสำเร็จแบบเร็วๆ เรามีเครื่องมือทางวิชาการ และจะมุ่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาเป็นวิธีจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วยกันเพื่อสร้างคน สร้างทุนศักยภาพท้องถิ่น และสร้างทุนทางปัญญาของสังคมไปด้วยกัน ……… “

                                                                                                           รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย
                                                                                                           กล่าวในเวทีวิจัยประชาคมจังหวัดกาญจนบุรี
                                                                                                           และเวทีวิจัยประชาคมพุทธมณฑล ๒๕๔๑

 

บทนำและวัตถุประสงค์บทความ

ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย  เป็นครูผู้ให้แรงบันดาลใจอย่างสำคัญต่อผู้เขียน  ที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจและได้ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยจำนวนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลกับเครือข่ายเชิงพื้นที่ต่างๆของประเทศ ในการมุ่งทำงานเชิงพื้นที่แนวทางใหม่ๆ ที่เป็นการผสมผสานกันของการวิจัยกับการทำงานเชิงสังคมในระยะ ๑๕-๒๐ ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดความริเริ่มของการทำงานพัฒนาในเชิงระเบียบวิธีการวิจัยและการพัฒนาวิชาการเชิงสังคมให้กับวงวิชาการและแก่สังคมวงกว้างในหลายประการด้วยกัน ผู้เขียน ได้มีส่วนร่วมในฐานะเป็นเครือข่ายคนทำงาน ขณะเดียวกัน ในหลายกลุ่มและหลายประเด็นที่ใช้ขับเคลื่อนการทำงาน ก็ได้เป็นผู้จัดกระบวนการเวที ให้ชุมชนนักวิชาการและเครือข่ายคนทำงานทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการวิจัย ได้มีวิธีเรียนรู้และบริหารจัดการเพื่อปฏิบัติการต่างๆอย่างมีส่วนร่วมบนกระบวนการวิจัย บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาบทเรียนโดยภาพรวมมาพิจารณาให้เห็นถึงข้อจำกัดภายใต้รูปแบบการทำวิจัยและแนวการออกแบบเชิงกระบวนการสำหรับการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมในพื้นที่ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับเงื่อนไข โดยสรุปเป็นบทเรียนเบื้องต้นให้เห็นแนวดำเนินการที่พบจากการทำงานได้จริงในเงื่อนไขแวดล้อมของสังคมไทยได้ดีขึ้น

ปัญหาและข้อจำกัดของการเข้าสู่มิติการวิจัยเมื่อบูรณาการกับปฏิบัติการเชิงสังคม

การวิจัยเชิงพื้นที่ และแนวคิดในการผสมผสานการวิจัยกับการปฏิบัติการเชิงสังคมเข้าด้วยกัน เป็นแนวทางหนึ่งของการทำงานวิชาการเชิงสังคม ที่มีแนวคิดเพื่อทำให้กลุ่มคนทำงานทางการศึกษาและงานทางความรู้ กับนักกิจกรรมสังคม คนทำงานสังคม ชุมชนและภาคประชาชน สามารถระดมพลังความร่วมมือกันและสร้างจุดหมายร่วม เพื่อแก้ปัญหาและดำเนินการพัฒนาเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายที่มีความซับซ้อน แก้ไขได้ยาก และไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการแบบแยกส่วนของคนทำงานภาคสาธารณะของสังคมแต่เพียงลำพังหรือโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง กระบวนการวิจัยจะไม่หยุดอยู่เพียงการทำกิจกรรมวิชาการและได้รายงานการวิจัยออกมา แต่ชุมชนและสังคมไม่ได้นำไปใช้ปฏิบัติการแก้ปัญหาต่อไปอีก

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนและคนทำงานเชิงสังคม ก็ต้องไม่เพียงเป็นนักเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนในแนวทางเดิมๆ โดยไม่มีการเรียนรู้และเกิดการยกระดับการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมมีศักยภาพจัดการตนเองบนความจำเป็นในสถานการณ์ใหม่ๆของโลกได้ รูปแบบการวิจัยที่มีการนำมาใช้ทั้งในประเทศไทยและในประเทศต่างๆของโลกเพื่อดำเนินการตามแนวทางนี้ก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายที่จะสามารถริเริ่มและดำเนินการได้นั้น จะมุ่งบรรลุเป้าหมายให้ครอบคลุมไปด้วยกันได้ ๓ ประการ อันได้แก่ การได้ร่วมกันแก้ปัญหา การสร้างปัญญาและองค์ความรู้ใหม่ๆ และการพัฒนาศักยภาพคน ชุมชน พลเมืองประชากร ดังนั้น ในกระบวนการวิจัยจึงจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบพื้นฐานที่จะต้องดำเนินการไปด้วย ๓ ประการ คือ การระบุปัญหาและการสร้างคน  การปฏิบัติการแก้ปัญหาร่วมกัน และการเข้าสู่มิติการวิจัยเพื่อสร้างความรู้

ในการวิจัยที่มีปฏิบัติการเชิงสังคมหรือมีการดำเนินการแก้ปัญหาด้วยแบบดั้งเดิมนั้น มิติการวิจัยมักจะออกแบบไว้ในสองจังหวะ โดยจังหวะแรก มักจะเป็นการวิจัยและการสำรวจสภาวการณ์เพื่อใช้ระบุปัญหาและลำดับความจำเป็น รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในระยะก่อนดำเนินการ  เป็นฐานในการวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือเป็น Baseline Data เนื่องจากหลักคิดแต่เดิมนั้น อยู่บนฐานของการใช้ทรัพยากรในภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและทุ่มเทลงไปอย่างเจาะจงให้มีประสิทธิภาพที่สุด จากนั้น ก็จะเป็นการปฏิบัติการแก้ปัญหา ระหว่างดำเนินการก็จะดำเนินการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเข้ามาช่วย [1] เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงจะสามารถยกระดับเข้าสู่มิติการวิจัย ดังรูปแบบด้านริมซ้ายในภาพประกอบ

มิติการวิจัยในรูปแบบและวิธีการดังกล่าวนี้  มีความเป็นการวิจัยในแบบเก่ามาก จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติของนักวิชาการและคนที่คุ้นเคยกับงานทางความรู้ ต้องมีทักษะการประชุม ต้องการความสามารถในการแสดงความคิดเห็น ต้องการทักษะในการคิดและทำงานกับนักวิชาการ ต้องคุ้นเคยกับสัญลักษณ์และวัฒนธรรมทางวิชาการ แม้จะพยายามออกแบบให้สื่อสารได้ง่ายเพียงใดก็ตาม เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น จึงมีธรรมชาติอยู่ในตัวกระบวนการเองที่จะทำให้ชุมชนและภาคประชาชนในพื้นที่ดำเนินการ ถูกลดบทบาทลงไป ในหลายสถานการณ์ก็จะมีข้อจำกัดมากเมื่อเป็นการทำงานเชิงพื้นที่และมุ่งเสริมพลังปฏิบัติการสังคมแก่ชุมชนและภาคประชาชน ขณะเดียวกัน หากถือเอากระบวนการปฏิบัติเป็นตัวนำ อีกทั้งในปัจจุบันนี้ ผู้นำทางปัญญาในชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ และคนทำงานวิชาการแนวประชาคมที่มีความลุ่มลึกทางวิชาการและอยู่ใกล้ชิดกับการทำงานเชิงพื้นที่ ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย หากชุมชนและเครือข่ายของพื้นที่เห็นมีแต่กิจกรรมการวิจัยมากไป ซึ่งก็สามารถพึ่งการปฏิบัติในแนวทางของตนเองได้ ก็จะยุติการมีส่วนร่วม การร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างความเป็นส่วนรวมในระดับที่สูงกว่าความแยกส่วนก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อช่วงเวลาที่ดำเนินการผ่านไประยะหนึ่ง นักวิจัยและคนทำงานความรู้จากภายนอกพื้นที่ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องทำงานต่างๆเสียเองมากยิ่งๆขึ้น

แต่เมื่อใช้กิจกรรมและปฏิบัติการต่างๆนำการขับเคลื่อน ไม่เห็นมิติการวิจัยที่ชัดแจ้งแบบเดิม รวมทั้งขาดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ การทำงานก็จะมีแต่กิจกรรม เมื่อปฏิบัติการผ่านไประยะหนึ่ง ชุมชนและภาคประชาชนก็จะสูญเสียพันธมิตรทางวิชาการไปด้วยเช่นกัน การทำงานวิชาการที่เชื่อมโยงกับภาคปฏิบัติการในสังคม ให้สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อใช้ชี้นำการปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆที่จำเป็นของสังคม พร้อมกับสามารถเสริมสร้างพลังการจัดการของสังคม ให้แก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาดังที่พึงประสงค์ต่างๆได้ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการศึกษาและพัฒนาไปด้วยด้วยตลอดเวลา

การออกแบบเชิงกระบวนการเพื่อบูรณาการมิติการวิจัยกับการปฏิบัติการเชิงสังคม

สภาพปัญหาและข้อจำกัดที่ต่างจะเกิดขึ้นคนละด้านดังข้างต้นนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระเบียบวิธีของการทำวิจัยเชิงพื้นที่ในรูปแบบการวิจัยและทำงานเชิงสังคมอย่างบูรณาการไปด้วยกันอยู่เสมอไปด้วย  ซึ่งจากการทำงานถอดบทเรียนคนทำงานเชิงพื้นที่ของผู้เขียน รวมทั้งได้มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การทำงานเชิงพื้นที่ต่างๆ พอจะสรุปบทเรียนเป็นเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่งให้เห็นถึงวิธีออกแบบเชิงกระบวนการ ให้มิติการวิจัย การปฏิบัติการเชิงสังคม การสร้างคนและสร้างศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชน มีความยืดหยุ่นหลากหลาย สามารถดำเนินการและปฏิบัติการอย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขความเป็นจริงของพื้นที่ที่แตกต่างกัน สรุปได้ ๓ แนวทาง ดังจะอธิบายเป็นลำดับประกอบแผนภาพดังต่อไปนี้

รูปแบบที่ ๑ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายและมีความคุ้นเคยกันอยู่ทั่วไป [2] รูปแบบดังกล่าวนี้ มิติการวิจัยและการทำงานความรู้จะดำเนินการ ๓ ระดับใน ๓ จังหวะ ประกอบด้วย การสำรวจและศึกษาสภาวการณ์ เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ ระบุปัญหา และลำดับความจำเป็นเพื่อดำเนินการและปฏิบัติการต่างๆที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏต่อไป จากนั้น ก็เป็นจังหวะที่ ๒ ซึ่งจะเป็นกระบวนการเรียนรู้และแก้ปัญหากระบวนการปฏิบัติ เช่น การติดตามประเมินผลตามหน่วยปฏิบัติย่อยๆ จากนั้น ก็เป็นจังหวะที่ ๓ ซึ่งจัดว่าเป็นขั้นเข้าสู่มิติการวิจัยอย่างแท้จริง รูปแบบดังกล่าว จะมีข้อดีสำหรับการทำงานเชิงพื้นที่ที่กลุ่มนักวิชาการและชุมชนกับประชาชนที่มีส่วนร่วมบนการปฏิบัติการต่างๆ เป็นกลุ่มเดิมและทำงานด้วยกันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาและความจำเป็นอย่างอื่นของพื้นที่สอดแทรกขึ้นมา แต่หากไม่เป็นไปตามดังที่กล่าวมานี้  ก็มักจะกลายเป็นอุปสรรคปัญหาการเดินเข้าหากันของเครือข่ายนักวิจัยกับชุมชนและภาคประชาชนในพื้นที่อยู่ตลอดเวลาเสียเอง 

เป็นต้นว่า หากกลุ่มประชาชนกลุ่มที่เคยได้รับการชี้แจงข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการวิจัย กับกลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมในทางปฏิบัติ และกลุ่มที่เข้ามาร่วมติดตามประเมินผล ไม่ได้เป็นกลุ่มเดิมตลอดกระบวนการ ขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิจัยเองนั้น เมื่อเริ่มต้นดำเนินการ บางส่วนก็เป็นกลุ่มนักวิจัยกลุ่มเดิม และบางส่วน เมื่อระยะเวลาดำเนินการผ่านไปก็มีกลุ่มใหม่เพิ่มเข้ามา อีกทั้งกลุ่มที่เข้าใจแนวคืิดเมื่อเริ่มต้นก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เหล่านี้เป็นต้น

สภาพดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้กลุ่มผู้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยและการดำเนินโครงการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดความแตกต่างหลากหลายทั้งความคิดและความรู้ความเข้าใจ แตกต่างหลากหลายกันมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เป็นวิธีเริ่มต้นทำงานได้ง่าย แต่เมื่อยิ่งดำเนินการผ่านไป ก็จะยิ่งเกิดความยุ่งยาก กระทั่งวนเวียนอยู่กับการชี้แจงและสร้างความเข้าใจร่วมกันเหมือนอยู่ในขั้นเริ่มต้นเสมอ จนไม่สามารถมุ่งไปที่เนื้องานเชิงลึกให้มากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ และในที่สุด ก็ต้องล้มเลิกดำเนินการไปด้วยสภาพการณ์ต่างๆ

รูปแบบที่ ๒  เป็นรูปแบบที่ใช้ปฏิบัติการภาคกิจกรรมเป็นตัวนำ ขณะเดียวกัน ก็ออกแบบให้มิติการสร้างคนและกระบวนการเรียนรู้ ผสมผสานไปกับวงจรการทำกิจกรรมต่างๆ เคลื่อนเข้าสู่มิติการวิจัยได้มากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อถึงระยะหนึ่ง ก็ทำการถอดบทเรียนและวิจัยย้อนกระบวนการ ลักษณะคล้ายกับการวิจัยผลกระทบ (Impact Assessment Research) [3] แต่เป็นการทำวิจัยด้วยกลุ่มคนที่ทำงานเชิงพื้นที่ด้วยกันมาระยะหนึ่งจนเกิดศักยภาพพอจะทำงานความรู้เชิงปฏิบัติการได้ระดับหนึ่งแล้ว ข้อจำกัดของรูปแบบนี้คือจะดำเนินการได้ช้า แต่ก็มีข้อดีตรงที่ในระยะยาวแล้วจะดำเนินการได้เป็นระบบมากยิ่งๆขึ้น

รูปแบบที่ ๓  เป็นรูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่ไปด้วยกันของนักวิจัยและชุมชนคนทำงานทางความรู้ กับเครือข่ายปฏิบัติการต่างๆ ที่มีอยู่เต็มพื้นที่ของชุมชนร่วมปฏิบัติการทั้ง ๓ มิติคู่ขนานกันไป ข้อดีของรูปแบบนี้จะเหมาะกับพื้นที่ซึ่งไม่อยู่ในภาวะเตรียมพื้นที่ได้นาน ทำให้สามารถริเริ่มทำงานกันได้กับเครือข่ายคนในพื้นที่และเครือข่ายทางวิชาการได้หลากหลายสาขา เพราะจะถือว่าทุกคนจะได้เรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน ให้สามารถทำงานความรู้และปฏิบัติการต่างๆไปตามความพร้อมที่เกิดขึ้น เหมาะสมสำหรับการทำงานต่อเนื่องระยะยาว ครอบคลุมประเด็นหลากหลาย และภาคีนักวิชาการจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ เช่น เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการจัดว่าเป็นสมาชิกของชุมชน หรืออีกทางหนึ่ง ก็เป็นพื้นที่ดำเนินการซึ่งจะสามารถเข้าสู่พื้นที่ได้สะดวกตลอดเวลา แต่ก็มีข้อจำกัดในการที่จะต้องสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีความเปิดกว้างต่อความแตกต่าง ซึ่งกว่าจะสร้างและหาทีมนักวิจัยที่มีวัฒนธรรมการทำงานอย่างนี้ได้ก็ต้องใช้ระยะเวลาและความทุ่มเทมากกว่าปรกติ

สรุปบทเรียนและการเรียนรู้

การออกแบบเชิงกระบวนการทำวิจัยและปฏิบัติเชิงสังคมโดยใช้พื้นที่และความเป็นชุมชนเป็นตัวตั้ง  ให้มีรูปแบบการทำงานหลากหลาย ยืดหยุ่นไปกับเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆของประเทศ จะทำให้พลังทางวิชาการของนักวิจัยและนักวิชาการที่มุ่งทำงานเชิงสังคม กับนักกิจกรรมสังคมและคนรทำงานภาคประชาชนที่มีพลังปัญญาทางการปฏิบัติ มีวิธีสร้างการมีความเป็นส่วนรวมร่วมกันและเป็นพลังในการนำการเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ๆ พร้อมกับสามารถสร้างคนและพัฒนาคุณภาพพลเมืองประชากรถึงแหล่งของปัญหา ทำให้การวิจัยสนองตอบต่อการนำไปใช้ปฏิบัติการของสังคม และทำให้กระบวนการทางการปฏิบัติของสังคม เกิดการจัดการอย่างมีส่วนร่วม ยกระดับให้เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา สามารถแก้ปัญหาและเป็นโอกาสเรียนรู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม ให้มุ่งไปสู่กระบวนทัศน์ของการพัฒนาใหม่ๆได้มากยิ่งๆขึ้น     

บรรณานุกรม

[1] [2]  Whyte, W. F. (Editor). (1999). Participatory Action Research. Sage Publication. 119-126
[3]  Bergman,M. M. (Editor). (2008). Advances in Mixed Methods Research. Sage Publication. 11-19

...............................................................................................................................................................................

หมายเหตุบทความ :

๑. บทความนี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นในฐานะศิษย์ปริญญาเอกของท่านรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่วิชาการ ในงานเสวนาวิชาการ ประชากรศึกษากับการพัฒนาคุณภาพประชากร ซึ่งหลักสูตรประชากรศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันระดับปริญญาโทและเอก ได้จัดขึ้นในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี้ ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นกิจกรรมพัฒนาวิชาการและเป็นปฏิบัติบูชามอบแด่ครูให้กับท่านรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย เนื่องในวาระที่ท่านสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ และเกษียณอายุราชการ พร้อมกับได้รับการต่ออายุราชการให้กลับสู่การเป็นอาจารย์ของชาวประชากรศึกษา หลังจากได้เผยแพร่และมอบเป็นคารวะตาแด่ท่านแล้ว ผู้เขียนจึงขอนำมารวบรวมและเผยแพร่ออนไลน์ไว้ เพื่อคนทำงานในแนวนี้และผู้สนใจจะได้นำไปใช้พัฒนาแนวคิดให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งๆขึ้นต่อไป

อธิบายภาพ : รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย  (คนกลางแถวนั่ง) และแขกผู้มีเกียรติ แถวหน้าซ้าย ศาสตราจารย์ ดร.สุบรรณ พันธุ์วิสวาส อดีตคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และขวาแถวนั่ง ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา และรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมรุ่นการศึกษาปริญญาเอก แถวยืนจากซ้าย : นายแพทย์วัฒนา เทียมปฐม ผู้อำนวยการโรงวพยาบาลพุทธมณฑล เครือข่ายนักวิจัยและนักศึกษาชุมชนท้องถิ่น อำเภอพุทธมณฑล รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี หลักสูตรปริญญาโทจิตปัญญาศึกษา อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และเครือข่ายนักวิจัยสหวิทยาการ อีกสองท่าน เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเมื่อเป็นครูที่จังหวัดสงขลา ปัจจุบันทั้งสองท่านเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร

๒. การตีพิมพ์ในหนังสือมีข้อจำกัดความยาวและจำนวนหน้า ดังนั้น บทความที่นำมาเผยแพร่ในบันทึกนี้จึงได้ขยายความเนื้อหาขึ้นเป็นบางส่วน แต่ประเด็นหลักและสาระสำคัญต่างๆอย่างคงรักษาไว้ตามต้นฉบับเดิม  

หมายเลขบันทึก: 506607เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขอบคุณยามดึกครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ ผมว่าจะลิงก์ไปมอบให้เครือข่ายการวิจัยชุมชนของมหิดล ที่จะทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารในชุมชนเขตเมือง ที่ท่านอาจารย์ดร.โสฬส สิริไสย์ เป็นหัวหน้าโครงการอยู่นะครับ เพราะประเด็นนี้ ได้มีผู้ถามและชวนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เมื่อตอนที่ทางกลุ่มภารกิจวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยเชิญผมมาจัดกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อนำเอาองค์ความรู้และบทเรียนที่ผ่านมามาพัฒนาให้ต่อเนื่องในบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปต่อๆไปอีก เมื่อเดือนที่แล้ว เพราะหลังจากได้คุยกันบนเวทีบ้างแล้ว ก็ตั้งใจไว้อยู่นะครับว่าจะนำมาเขียนขยายความให้ต่อๆไปอีก เลยขอมอบให้เครือข่ายวิจัยชุมชนต่อไปด้วยอีกทางหนึ่งนะครับ

ขอบคุณคุณครู-ว่าที่ดอกเตอร์ทวีศักดิ์ครับ ที่แวะเข้ามาเยือนและคลิกทักทายไว้เป็นกำลังใจกัน

ขอบคุณบังวอญ่าครับที่แวะมาเยือน มีความสุขเสมอๆครับผม

สวัสดียามเช้าและขอขอบคุณอาจารย์หมอภูสุภาที่แวะมาเยือนครับ มีความสุข ได้ความบันดาลใจ และมีความรื่นรมย์ใจในทุกๆอย่างอยู่เสมอๆครับ

  • เสียดายจัง
  • อาจารย์สมบัติเกษียณไปแล้ว
  • เคยอ่านงานวิจัยของอาจารย์ในระยะเริ่มแรก

ขอขอบคุณอาจารย์ขจิตและคุณkrupound ด้วยครับ
ที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ

 

อยากให้อาจารย์ได้อ่านหนังสือที่คณะผู้จัดทำขึ้นแจกจ่ายในงานจังเลยครับอาจารย์ขจิตครับ น่าจะเหมาะกับอาจารย์ด้วยมากครับ มีอยู่สองเล่ม เล่มหนึ่ง บันทึกแรงบันดาลใจ จากห้องเรียนประชากรศึกษา เป็นหนังสือที่ร่วมกันเขียนของอาจารย์และศิษย์ของท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน และอีกเล่มหนึ่ง ความทรงจำ เป็นหนังสือที่รวบรวมทรรศนะทางวิชาการในโอกาสต่างๆของท่านดร.อุทัย ดุลยเกษม ครูท่านหนึ่งของท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์ และเป็นครูของผมกับพวกเราชาวประชากรศึกษาด้วย ที่ท่านได้แสดงไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น บทบรรยาย การกล่าวสุนทรกถา การให้ทรรศนะวิพากษ์ และปาฐกถา

เล่มแรกนั้น กองบรรณาธิการ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.อุทัยทิพย์ เจี่ยวิวรรธ์กุล ได้ประสานงานกันเองกับเครือข่ายศิษย์ของท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์ เพื่อช่วยกันเขียนบทความวิชาการในเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์ ทุกเรื่องร่วมกันเขียนขึ้นโดยต่อยอดจากวรรคทอง คำโดนใจ และคำบรรยาย ที่แต่ละคนได้รับฟังจากท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์และเกิดเป็นแรงบันดาลใจ นำไปสู่การคิดริเริ่มทำสิ่งดีๆต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นหนังสือให้ภาพสะท้อนความรัก ความผูกพัน และความทรงจำแสนงามที่สะท้อนอยู่ในงานวิชาการ ระหว่างความเป็นครู ศิษย์ และชีวิตการศึกษากับการศึกษาเรียนรู้ของผู้คน

ในเล่มที่สอง ท่านอาจารย์ดร.อุทัย ดุลยเกษม ท่านมีวิถีปฏิบัติของท่านอย่างหนึ่งเมื่อต้องกล่าวแสดงความคิด ให้ทรรศนะวิพากษ์ อภิปราย กล่าวสุนทรกถา และแสดงปาฐกถา ในโอกาสต่างๆ คือ ท่านถือว่าจะไม่พูดอย่างขาดการใคร่ครวญและขาดการคิดให้ลึกซึ้ง ขาดการทำประเด็นให้ชัดและมีความหมายที่ดีที่สุด ดังนั้น แทบทุกครั้งท่านจึงจะเตรียมเขียนไว้ก่อนเป็นอย่างดีแล้วไปยืนอ่านตามที่ได้เขียนไว้แล้ว

ผมเคยได้ยินท่านกล่าวถึงวิธีที่ท่านปฏิบัติมาอย่างนี้ว่าเป็นความตั้งใจและทำอย่างเคร่งครัดอย่างหนึ่งด้วย ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งต่อตัวผู้พูด กลุ่มผู้ฟัง โอกาสที่พูด และเรื่องราวที่จะพูดออกไป ว่าการพูดออกมาอย่างใคร่ครวญ ผ่านการคิดอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่อยู่ในระดับปฏิกริยาสนองตอบแบบเฉพาะหน้า ดังนั้น ท่านจะต้องทำการบ้านและเตรียมตนเองอย่างดี พิถีพิถันต่อประเด็นความคิดและการกล่าวแสดงทรรศนะต่างๆของท่าน ทุกครั้ง ท่านจึงจะมีโพยการพูด ซึ่งท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์และคณะลูกศิษย์ลูกหา เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ในการกล่าวในโอกาสต่างๆดังกล่าวของท่านที่จะมีต่อวงวิชาการและต่อประเด็นเชิงสังคมหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านการศึกษากับการพัฒนาสังคม จึงใช้เวลาติดตามรวบรวมมาทำเป็นหนังสือ ความทรงจำ แจกจ่ายในงานที่จัดขึ้นในครั้งนี้

ทั้งสองเล่ม เป็นหนังสือที่เขียนความรู้ออกมาจากการมีบทเรียนที่ดีงามต่อชีวิตและสังคม ที่เชื่อมโยงอยู่กับชีวิตความเป็นครู น่าอ่านและมีเรื่องราวที่ให้ภาพสะท้อนการทำงานในสังคมที่น่าสนใจหลายอย่างครับอาจารย์ อาจารย์มีโอกาสลองกระซิบขอจากหมู่มิตรของอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ดร.เนาวรัตน์และท่านอาจารย์ดร.อุทัย ที่ยังอยู่มหิดลสิ

ท่านอาจารย์ดร.สมบัติเป็นเพื่อนของอาจารย์ดร.เนาวรัตน์ด้วยครับ เป็นคนบ้านหนองขาว กาญจนบุรี หากได้ไปเมืองกาญจน์และได้พบปะท่าน ก็มักได้นั่งสนทนาและกินข้าวด้วยกันครับ ท่านเป็นเจ้าบ้าน เป็นครูและคนทำงานทางการศึกษา เป็นนักวิชาการและปัญญาชนของท้องถิ่นเมืองกาญจน์ท่านหนึ่ง ที่ผมได้ร่วมทำงานเครือข่ายวิจัยและพัฒนาประชาคมจังหวัดกาญจนบุรีเหมื่อกว่า ๑๕ ปีก่อน ด้วยความประทับใจครับ ฝากคารวะและรำลึกถึงท่านด้วยครับ

  • ท่านอาจารย์ดร.สมบัติเป็นเพื่อนของอาจารย์ดร.เนาวรัตน์ด้วยครับ เป็นคนบ้านหนองขาว กาญจนบุรี 
  • ท่านนี้นามสกุลอะไรครับ
  • พ่อผมเป็นคนบ้านหนองขาว

นึกตอนนี้ยังไม่ออกครับอาจารย์ คุณพ่อของท่านเป็นกำนันเก่าน่ะ ดูเหมือนที่บ้านของคุณพ่อคุณแม่ท่านที่บ้านหนองขาวนั้นผมจะเคยไปครับ เป็นศูนย์ทำหัตถกรรมและทำผ้าขาวม้ากับงานฝีมือและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านต่างๆด้วยน่ะครับอาจารย์ มีไหม

  • มีครับอยู่ใกล้บ้านผมหมู่สอง
  • ที่ใต้ถุนบ้านทำผ้าขาวม้าร้อยสีใช่ไหมครับ

ไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าผ้าขาวม้าอะไรน่ะสิอาจารย์ แต่ดูเหมือนจะมีจุดเด่นเรื่องความมีศิลปะการย้อมสีและการทอด้วยด้ายหลายๆสีนี้อยู่ด้วยเหมือนกันครับ

ขอบคุณคุณจักพันธ์ครับที่แวะมาเยือนกัน

สวัสดีค่ะ ท่านอ.ได้เขียนบันทึกนี้ผ่านมาหลายเดือน

วันนี้ได้มีโอกาสเกาะขอบบันทึกอ่านไปคิดไป

และมาสะดุดตรงคำว่าถอดบทเรียนย้อนกระบวนการ

ขอเรียนว่า อยากศึกษาตรงนี้เพิ่มเติมไม่ทราบท่านอ.ได้บันทึกไว้ไหมคะ

สำหรับหนังสือเรื่อง บันทึกแรงบันดาลใจ จากห้องเรียนประชากรศึกษา และความทรงจำ

ไม่ทราบได้จัดทำ e-book ให้อ่านไปแล้วหรือยัง

ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท