ถั่วป้องกันเบาหวาน+ลดน้ำตาลในเลือด


.

Reuters ตีพิมพ์เรื่อง 'Beans show promise in diabetes' = "ถั่วช่วยคนไข้เบาหวาน", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

การศึกษาจากแคนาดา (ตีพิมพ์ใน Archives of Internal Medicine) ใหม่ พบว่า การกินถั่วเมล็ดแห้ง (beans) หรือถั่วเมล็ดกลม (lentils - ใช้มากในอาหารอินเดีย-เอเชียใต้-พม่า) ทุกวันช่วยให้คนไข้เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

คนไข้เบา หวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี จะช่วยลดเสี่ยงโรคแทรก เช่น โรคหัวใจ สโตรค (stroke = กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต) ฯลฯ ได้ในระดับหนึ่ง

เบาหวานชนิด ที่ 1 พบบ่อยในเด็กหรือคนอายุต่ำกว่า 30 ปี, คนไข้อาการมักจะชัดเจน เช่น น้ำหนักตัวลดลงเร็ว ผอม ช็อค หรือป่วยหนักจากระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นเร็วมาก ฯลฯ

เบาหวานชนิด ที่ 2 พบบ่อยในคนวัยกลางคนขึ้นไป และเด็กอ้วน, พบเพิ่มขึ้นตามอายุ - ยิ่งอายุมากยิ่งพบมาก อาการมักจะไม่ค่อยรุนแรง เช่น ปัสสาวะบ่อย มดตอมปัสสาวะ หิวน้ำบ่อย ฯลฯ ทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งเป็นโรคโดยไม่รู้ตัว

ทิ้งโรคไว้ไม่นานจะพบอาการจากโรคแทรกหลายอย่างโผล่มาแทน เพราะอาการจากโรคแทรกมีแนวโน้มจะชัดเจน เด่นชัดกว่าโรคหลัก

การตรวจคัดกรองโรค โดยเฉพาะตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยได้มาก

คนทั่วโลกมี ปัญหาน้ำหนักเกิน-อ้วนเพิ่ม ขึ้น, อายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ทำให้พบเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น โรคแทรกจากเบาหวาน เช่น ไตเสื่อม-ไตวาย, แผลที่เท้า-แผลติดเชื้อจนอาจถูกตัดนิ้ว-ตัดเท้า-ตัดขา, ตาเสื่อม-ตาบอด, หัวใจเสื่อม-หัวใจวาย ฯลฯ เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ครูบาอาจารย์แนะนำให้จำตำแหน่งโรคแทรกในเบาหวานเป็นคำคล้องจองกัน คือ "หัว-หัวใจ-ไต-ตา-ตีน"

  • หัว > อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • หัวใจ > หัวใจขาดเลือด
  • ไต > ไตเสื่อม-ไตวาย
  • ตา > ตาเสื่อม-ตาบอด
  • ตีน > เท้าเป็นแผลเรื้อรัง ติดเชื้อง่าย

ผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases / NCD) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการพยาบาล-ผู้ช่วยพยาบาล-ผู้ช่วยดูแลคนไข้ที่บ้านเพิ่มขึ้น ทั่วโลก ประเทศใดผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ไม่ทัน... จะเสี่ยงวิกฤติในระบบบริการสุขภาพ

สำหรับประเทศไทย, ถ้า ม.รามฯ - ม.ราชภัฎ - ม.ราชมงคล ช่วยผลิตพยาบาล-ผู้ช่วยพยาบาล และ/หรือ หมอฟันได้ จะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล (medical hub) และศูนย์กลางด้านการศึกษาสุขภาพ (medical education hub) ของอาเซียนได้ในอนาคต

.

.

สถาบันอาชีวศึกษาก็น่าจะมีส่วนร่วมตรงนี้ได้ โดยช่วยกันผลิตผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งจะสร้างงาน สร้างสุขภาพให้คนไทยได้อย่างกว้างขวาง

การศึกษาใหม่ทำในกลุ่มตัวอย่าง 121 คนกลุ่มหนึ่งให้กินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท (เติมรำ) ฯลฯ แทนธัญพืชขัดสี

ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ มีจมูกข้าวและรำข้าว ซึ่งมีโปรตีน ไขมันชนิดดี แร่ธาตุ เส้นใยหรือไฟเบอร์ สารพฤกษเคมีหรือสารคุณค่าพืชผักที่มีฤทธิ์เป็นยา ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้า-ลงช้า อิ่มนาน หิวช้า

ธัญพืชขัดสี เช่น ข้าวขาวขนมปังขาวอาหารทำจากแป้งขาว น้ำตาล ฯลฯ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็ว-ลงเร็ว อิ่มไม่นาน หิวเร็ว

อีกกลุ่มหนึ่งให้กินพืชตระกูลถั่ว, ติดตามไป 3 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่กินถั่วมีระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย 3 เดือน (hemoglobin A1c) ต่ำกว่า คำนวณกลับเป็นความเสี่ยงโรคหัวใจ-ระบบไหลเวียนเลือด 10 ปี พบว่า ความเสี่ยงลดลงจาก 10.7% เป็น 9.6% = ลดลง 1.1%

ความเสี่ยงที่ลดลง 1.1% จากเดิม 10.7% = ความเสี่ยงลดลง 1.1*100/10.7 = 10.28%

.

.

อ.ดร.เดวิด เจนคินส์ หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวว่า พืชตระกูลถั่วมีโปรตีนชนิดดี มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ โดยเฉพาะเส้นใยชนิดละลายน้ำ ที่ช่วยทำให้การย่อยช้าลง การดูดซึมน้ำตาลช้าลง ทำให้อิ่มนานขึ้น หิวช้าลง

พืชตระกูลถั่ว ทั้งถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดงหลวง ฯลฯ และถั่วฝัก(ถั่วเปียก) เช่น ถั่วลันเตา ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฯลฯ เป็นพืชที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index / low GI)

การศึกษานี้พบว่า ระดับน้ำตาลเฉลี่ย 3 เดือน (hemoglobin A1c) ลดลง 0.5 ในกลุ่มที่กินพืชตระกูลถั่ว และ 0.3 ในกลุ่มที่กินธัญพืชไม่ขัดสี

การลดระดับน้ำตาลเฉลี่ย 3 เดือน (Hb A1c) ได้ 0.3-0.4% ขึ้นไป ถือว่า มีผลในการรักษาชัดเจน

กลุ่มที่กินพืชตระกูลถั่วมีความดันเลือดลดลง คือ

  • ตัวบน (systolic blood pressure / top number) ลดลงจาก 122 เป็น 118 = ลดลง 4 หน่วย
  • ตัวล่าง (diastolic blood pressure / bottom number) ลดลงจาก 72 เป็น 69 = ลดลง 3 หน่วย
.

ความดันเลือดปกติในคนทั่วไป คือ ไม่เกิน 120/80, เกินกว่านี้ถือว่าสูงเล็กน้อย, ควรรีบปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) และตรวจความดันเลือดทุกๆ 2-6 เดือนตลอดชีวิต

ถ้าเกิน 140/90 ควรพิจารณาใช้ยา + ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) เช่น

  • ออกกำลังหลายรูปแบบ เช่น เดิน จักรยาน วิ่ง กระโดดเชือก ขึ้นลงบันได ฯลฯ, การออกกำลังที่ลดความดันได้ดีมาก คือ ไทชิ-ชี่กง
  • ลดเกลือ
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ฝึกหายใจให้ช้าลง ไม่เกิน 10 ครั้ง/นาที วันละ 15 นาทีขึ้นไป จนหายใจช้าเป็นนิสัย (ฝรั่งมีเครื่องฝึกให้หายใจช้าลง คือ  'Resperate' ราคาเป็นหมื่น) ช่วยให้ความดันเลือดลดลงได้

คนที่เป็นเบาหวาน หรือไตเสื่อม-ไตวาย นิยมควบคุมความดันเลือดไว้ไม่ให้เกิน 130/80 โดยใช้ยา + ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

หลอดเลือดของคนเราจะเสื่อมเร็วขึ้นถ้าความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล) สูง

อ.เจนคินส์คำนวณพบว่า คนไข้เบาหวานที่มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ หรือสโตรค (กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต) 10% ใน 10 ปี จะได้รับประโยชน์จากอาหารและยาดังนี้

  • กินพืชตระกูลถั่วลดเสี่ยงได้มากกว่ากลุ่มที่กินธัญพืชไม่ขัดสี 10%
  • กินยาลดไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล) ลดเสี่ยง 20%
.
.
ข้อควรระวังในคนที่กินพืชตระกูลถั่วใหม่ๆ คือ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (flatulance) ได้
.
วิธีป้องกันท้องอืด ท้องเฟ้อจากการกินพืชผัก ถั่ว หรือข้าวกล้องใหม่ๆ ได้แก่

  • เริ่มจากน้อยไปมาก เช่น ผสมข้าวกล้องกับข้าวขาวอย่างละ 1/2 ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนข้าวกล้อง, เพิ่มผัก เพิ่มถั่วจากน้อยไปมาก
  • เน้นเพิ่มผักสุกก่อนผักสด เนื่องจากผักสุกมักจะทำให้ท้องอืดน้อยกว่าผักสด, นอกจากนั้นการทำผักให้สุก โดยการต้ม นึ่ง ย่าง แกงจะทำให้ผักยุบตัวลง แน่นขึ้น กินได้เป็น 2 เท่าของผักสด ทั้งๆ ที่กินไม่มาก
  • ดื่มน้ำทีละน้อยๆ บ่อยๆ, ไปไหนก็พกขวดน้ำเล็กๆ ดื่มทุกๆ 1/2-1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (ทำให้ท้องอืดได้)
  • ฝึกเดินช้าๆ หลังอาหารแบบที่โบราณเรียกว่า "เดินย่อยอาหาร" ทุกมื้อๆ ละ 5-10 นาที
  • ฝึกกินอาหารโดยไม่ดื่มน้ำ และไม่พูดมาก เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารโป่งพอง เพิ่มเสี่ยงกรดไหลย้อน (การพูดไปกินไป เพิ่มการกลืนลม ทำให้ท้องอืดง่าย), กินน้ำหลังอาหาร โดยเดินช้าๆ 5-10 นาทีก่อนแล้วค่อยกิน
  • ไม่นอนหลังอาหารทันที เพราะจะเพิ่มเสี่ยงกรดไหลย้อน
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • Thank Reuters > SOURCE:bit.ly/RXMoT1Archives of Internal Medicine, online October 22, 2012.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 23 ตุลาคม 55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

 

หมายเลขบันทึก: 506565เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2012 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท