Peer Instruction


ฟิสิกส์ยังคมต้องการการสอนแบบบรรยายอยู่หรือไม่ แล้วเรียนฟิสิกส์ไม่ต้องจำ...จริงหรือ?

     Eric Mazur แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำเสนอ Peer Instructon ในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการรู้แบบหนึ่งสำหรับการสอนฟิสิกส์ที่อาศัยกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning) และเรียนรู้เป็นทีม (Team learning) เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้การแก้โจทย์ปัญหาจากกิจกรรมอภิปรายกลุ่ม และจากงานที่มอบหมาย (จนตา แก้วลาย, 2555)

     การสอนด้วยวิธีการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในต่างประเทศและก็มีผู้สอนได้นำแนวคิดของเขาไปใช้ในชั้นเรียน และพบว่ามีประสิทธิภาพ (Catherine H. Crouch and Eric Mazur, 2001)


การจัดการเรียนรู้แบบ Peer Instruction
(http://peerinstruction.files.wordpress.com/2012/07/screen-shot-2012-07-02-at-10-26-03-am.png)



     วิธีการสอนแบบ Peer Instruction ของ Mazur จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้
         
 1. การมอบหมายการอ่านล่วงหน้า (A web-based reading assignment at the beginning of the class) โดยผู้เรียนจะทำการศึกษา (อ่านก่อนเรียน) โดยโต้ตอบกับผู้สอนผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
          
2. การทดสอบระหว่างสอน (ConcepTests during the lecture) โดยเมื่อจบการบรรยายแต่ละหัวข้อ จะทำการทดสอบผู้เรียนทันที


Eric Mazur's ConcepTest Process
(http://www.engaging-technologies.com/images/peerinstructionflowchart.gif)

             จากแผนภาพผู้สอนต้องตั้งคำถามกระตุ้นต่อมคิด

             จากนั้นผู้เรียนเลือกคำตอบ (ในมหาวิทยาลัยเขาใช้ Clicker ซึ่งเป็นแป้นกดเลือกคำตอบ โพลจะปรากฏการเลือกคำตอบบนหน้าจอผู้สอน) เงื่อนไขคือ
                 1) ถ้าคำตอบส่วนใหญ่ถูก ก็จะอธิบายสรุปหัวข้อนั้นไปเลย
                 2) ถ้าคำตอบส่วนใหญ่ถูกแต่ยังมีข้อสงสัย ผู้สอนจะให้ถกเถียงกันระหว่างเพื่อนหรือกลุ่ม แล้วตอบคำถามใหม่ เมื่อคำตอบส่วนใหญ่ถูกก็จะอธิบายสรุปหัวข้อนั้น
                 3) หากคำตอบส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ผู้สอนจะให้ถกเถียงกันระหว่างเพื่อนหรือกลุ่ม แล้วตอบคำถามใหม่ เมื่อคำตอบส่วนใหญ่ถูกก็จะอธิบายสรุปหัวข้อนั้น แต่ถ้ายังไม่ถูกต้องอีก ผู้สอนจะอธิบายในรายละเอียด
         
 3. การทดสอบความเข้าใจหลักการ (Conceptual exam questions) ซึ่งเป็นการผสมผสานคำถามความเข้าใจ และคำถามที่เป็นโจทย์ปัญหาในหนังสือร่วมกัน หลังจากจบเรื่องแล้ว      เราจะเห็นได้ว่าการที่ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้นั้น ผู้เรียนต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ซึ่งมีครูหลายท่านได้นำไปทดลองใช้ และพบว่าสามารถใช้ร่วมกับวิธีการสอนแบบ Just –in-time-teaching (JITT) ได้ดี (Chantima. P.,2012; )


รูปแบบการสอนแบบ Just-in-Time Teaching
(http://peerinstruction.files.wordpress.com/2012/04/screen-shot-2012-04-20-at-6-12-01-pm.png)

     แนวทางปฏิบัติในการสอนวิชาฟิสิกส์ในประเทศไทย พบว่า อาจารย์เดชา ศุภพิทยาภรณ์ (S. Decha. et al., 2010) ได้นำวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Peer Instruction มาผสานกับวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Structure Inquire (5Es) โดยใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ผลการวิจัยพบว่านักเรียนมีความเข้าใจหลักการทางฟิสิกส์ และทัศนคติต่อวิชานี้ดีขึ้น

     หากเราต้องการนำวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Peer Instruction มาใช้เดี่ยวๆเลย ก็ไม่ยาก เพียงแค่
          1) จัดหัวข้อที่จะสอนออกเป็นหัวข้อย่อยให้ดี (ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ยาก ไม่ง่าย...เกินไป) ให้พอกับการสอนแบบบรรยายไม่เกิน 10 นาที
          2) เตรียมคำถามสะท้อนความคิด (Concept test) ที่ตรงประเด็น ชัดเจน ไม่กำกวม เน้นความเข้าใจแต่พอดี (มากไปเด็กขี้เกียจ) อย่าลืมปัญหาและแบบฝึกหัดที่น่าจะเป็นข้อสอบแข่งขัน (ถ้าไม่มี เด็กเราจะสู้เขาไม่ได้)
          3) เตรียมนับสถิติการตอบ อาจใช้บัตรสีที่ระบุเลขที่นักเรียน (จำนวนสีขึ้นกับจำนวนคำตอบที่กำหนด) เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าใครตอบไม่ตรงบ้าง เพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ตรงจุดและตรงคน
          4) การบรรยายหากบรรยายแบบไม่เครียด เป็นกันเองจะดีมาก แต่การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องแม่นเนื้อหาก่อน เด็กจะศรัทธาหากครูไม่เปิดหนังสือตอนสอน (ผู้เขียนพิสูจน์ด้วยตนเองแล้ว)
     สนใจวิธีการสอนแบบนี้ เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://blog.peerinstruction.net/ ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Peer Instruction ที่อัพเดทตลอดเวลา (ล่าสุด วันที่ 11 ตุลาคม 2555 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 16 ตุลาคม 2555)

เอกสารอ้างอิง
Catherine H. Crouch and Eric Mazur. (2001). Peer Instruction: Ten years of experience and results. Am. J. Phys. 69 (9).
S. Decha., E. Narumon. and A. Kwan..(2010). The effectiveness of peer instruction and structured inquiry on conceptual understanding of force and motion: a case study from Thailand. Research in Science &Technological Education. 28(1): 63–79.


แหล่งข้อมูลออนไลน์
Chantima. P. (2012). Good Practice of Large Class Teaching : Peer Instruction @ Physics, Harvard University. http://www.c4ed.kmutt.ac.th/?q=node/141. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2555.
Edward F. Redish. (2006). Peer Instruction Problems:Introduction to the Method. http://www.physics.umd.edu/perg/role/PIProbs/. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2555.
Engaging Technologies. (2006). Clickers and Peer Instruction. http://www.engaging-technologies.com/peer-instruction.html. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2555.
Kruphysics.com. (2553). รู้จัก peer instruction. http://physics-teaching.blogspot.com/2010/05/peer-instruction.html. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2555.
เจนตา แก้วลาย. (2555). งานประชุมวิชาการนานาชาติ “Across the Globe Higher Education Learning and Teaching-Where East Meets West”. http://kmblog.rmutp.ac.th/jentaa.k/. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2555.

หมายเลขบันทึก: 505883เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท