Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียน


แพรภัทร ยอดแก้ว. (2555). คุณลักษณะพลเมืองอาเซียน. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) . คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

คุณลักษณะ (Characteristic) หมายถึง เครื่องหมายหรือสิ่งที่ชี้ให้เห็นความดีหรือลักษณะประจํา (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 246) มีทั้งที่เป็นลักษณะประจำตัวบุคคล เช่น คุณลักษณะของเด็กไทย คุณลักษณะของครูที่ดี เป็นต้น และลักษณะที่ดีของสิ่งต่างๆ ที่มิใช่ตัวบุคคล เช่น คุณลักษณะของพุทธศาสนา คุณลักษณะของสี คุณลักษณะระบบการบริหารที่ดี เป็นต้น

                        สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้านการรวมตัวของประชาคมอาเซียน (ASEAN COMMUNITY) เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้แสวงหาจุดร่วมระหว่างกันในทุกด้านเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของภูมิภาค และหากกล่าวเฉพาะด้านสังคม จุดร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทุกประเทศในอาเซียนจะต้องเตรียมความพร้อมและสร้างสรรค์พัฒนาพลเมืองของตน คือ คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียน เพราะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดขึ้นได้ ในบทนี้จึงมีเนื้อหาที่มุ่งส่งเสริมการสร้างคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนสำหรับผู้เรียนเป็นสาระสำคัญ   

 

ความเป็นพลเมืองอาเซียน

 

        คำว่า พลเมือง (Citizen) หมายถึง พลังหรือกำลังคนของประเทศซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของประเทศหรืออาจเรียกว่า “ชาวเมือง” หรือ “ชาวประเทศ” นั่นเอง ต่างจากชาวต่างด้าวเข้าเมืองซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศเพียงชั่วคราว เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศใด ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่มีสัญชาติของประเทศนั้นๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศไทยย่อมหมายถึงคนทั้งหลายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย พลเมืองของแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น บุคคลต่างสัญชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยซึ่งเรียกว่าคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองและมีหน้าที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีหน้าที่เสียภาษี หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศบัญญัติไว้ สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งคู่กัน เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ พลเมืองของทุกประเทศมีทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ  

        ความเป็นพลเมืองอาเซียน (ASEAN Citizenship) จึงหมายถึง ชาวประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎกติกาของประชาคมอาเซียน มีสิทธิและหน้าที่ตามกรอบกฎกติกาของประชาคมอาเซียนนั่นเอง

 

                        1.  ความสำคัญของการสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียน

                                               

                การสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากชาวประเทศอาเซียนขาดความตระหนักร่วมกันในการเป็นหนึ่งเดียวทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองและความมั่นคงและด้านสังคมและวัฒนธรรม  ประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลักมีความสำคัญต่อแบบแผนการสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศ หากเป็นในอดีตเรื่องทำนองนี้อาจจะเป็นเรื่องในความรับผิดชอบของรัฐบาล ประชาชนไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ในเมื่ออาเซียนเกิดการรวมตัวกันและมีวัตถุประสงค์ตามกฎบัตรอาเซียนที่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2551/2008 กฎบัตรนั้นจึงเป็นดุจรัฐธรรมนูญร่วมของอาเซียนที่รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องยึดถือและปฏิบัติตาม

                เมื่อเป็นดังนี้แล้วทุกเรื่องที่เกิด ทุกอย่างที่ทำ จะมีผลกระทบต่อประชาชนพลเมืองไทยและพลเมืองอีก 9 ประเทศของอาเซียนโดยตรง ทั้งการเมืองและความมั่นคง ทั้งการเศรษฐกิจ และทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะหากมีอะไรที่กำหนดแล้วว่าจะทำ ก็ต้องทำเหมือนกันทั้งหมด มีผลกระทบเท่ากันในทุกประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน หากลงนามสร้างสันติภาพร่วมกัน พลเมืองทั้งหลายก็ต้องช่วยกันสร้างสันติภาพระหว่างกัน หากตกลงว่าจะเปิดพรมแดนไปมาหาสู่หรือค้าขายกันอย่างเสรี ไม่มีอุปสัคทั้งด้านภาษีและกระบวนงานด่านศุลกากร อาเซียนบอกว่าให้สะดวกรวดเร็วก็จะต้องทำให้ได้สะดวกรวดเร็วเสมอเหมือนเท่า เทียมกันทั้งหมด เมื่ออาเซียนตกลงให้เปิดเขตการค้าเสรีก็ต้องเปิดเสรีพร้อมกันทั้งหมด หากอาเซียนตกลงว่าจะต้องจรรโลงรักษาความแตกต่างหลากหลายทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมในอาเซียนให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของอาเซียนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกชาติทุกกลุ่มวัฒนธรรมธรรมในท้องถิ่นต่างๆ ของอาเซียนก็จะต้องมีจิตสำนึกร่วมอัตลักษณ์เดียวกันให้ได้

                โดยสรุป ความตกลงของอาเซียนผ่านการลงนามของผู้นำในระดับต่างๆล้วนมีผล กระทบต่อพลเมืองไทยและพลเมืองอาเซียนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งและควรมีการหาแนวทางในการสร้างเสริมอย่างเป็นรูปธรรม

 

                        2. แนวทางการสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียน

 

การสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียน เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกันทำ เพราะภาคส่วนต่างๆ ในสังคมล้วนได้รับผลจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แนวทางการสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียน อาจสรุปเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้

2.1  การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเป็นพลเมืองอาเซียน ซึ่งทัศนคตินั้นมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่

                         2.1.1 องค์ประกอบเชิงความรู้สึกหรืออารมณ์ (Affective Component) จะต้องสร้างความรู้สึกที่ดีในการเป็นพลเมืองอาเซียน ลดความรู้สึกชิงชัง ขัดแย้ง และความเคียดแค้นกับเรื่องราวในอดีตต่างๆ ระหว่างกัน แต่ส่งเสริมความพึงพอใจ ความภาคภูมิใจในการเป็นพลเมืองอาเซียนซึ่งจะต้องร่วมกันสร้างสรรค์ภูมิภาคนี้ด้วยกัน

                       2.2.1 องค์ประกอบเชิงปัญญาหรือการรู้คิด (Cognitive Component) จะต้องสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมา ความสำคัญและความจำเป็น รวมทั้งคุณค่าในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในฐานะพลเมืองอาเซียนให้แก่ชาวอาเซียนโดยทั่วกัน

                                         2.3.1 องค์ประกอบเชิงพฤติกรรม (Behavioral Component) จะต้องมีการสร้างแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองอาเซียนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแสดงออกถึงความเอื้ออาทรกัน การแสดงออกถึงการยอมรับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม และการเคารพซึ่งกันและกัน เป็นต้น

2.2  การสร้างกระบวนการในการสร้างเสริมความเป็นพลเมือง ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการต่างๆ ที่สอดคล้องกับ 3 เสาของประชาคมอาเซียน ดังนี้

                                      2.1.1 กระบวนการทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนส่งเสริมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์คุณลักษณะความเป็นพลเมืองอาเซียนในด้านเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายด้านเศรษฐกิจด้วย เช่น ความเชี่ยวชาญทางด้านอาชีพและความตระหนักรู้ในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น

                                        2.2.2 กระบวนการทางการเมืองและความมั่นคง  ที่สนับสนุนส่งเสริมประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) โดยมุ่งสร้างสรรค์คุณลักษณะความเป็นพลเมืองอาเซียนในด้านนี้ของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น รักความสงบ  แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี  เคารพกฎกติการะหว่างกัน และรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น

                                        2.3.3 กระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม ที่สนับสนุนส่งเสริมประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ซึ่งจะต้องมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณลักษณะความเป็นพลเมืองอาเซียนที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เช่น ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคลและสังคม  ความมีน้ำใจเอื้ออาทร และความสามัคคี เป็นต้น

                                        ทั้งนี้ ในการสร้างเสริมทัศนคติและกระบวนการต่างๆ นั้น จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานทั้งโดยองค์กรหรือหน่วยงานที่มีบทบาทหลักและกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจำแนกเป็นภาคส่วนทางสังคม ดังนี้

                                                - ภาครัฐ โดยรัฐบาล กระทรวง กรมและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียน

                                                - ภาคเอกชน โดยองค์กร บริษัทและห้างร้านต่างๆ จะต้องมีแนวทางและกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สมาชิกในองค์กรของตนมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นพลเมืองอาเขียนและเป็นพลังขับเคลื่อนหน้าที่นี้ร่วมกับภาครัฐและภาคประชาชน

                                                - ภาคประชาชน โดยสถาบันครอบครัว กลุ่มชาวบ้าน องค์กรชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ จะต้องมีการบูรณาการการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการเป็นพลเมืองอาเซียนไว้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความเป็นพลเมืองอาเซียนด้วย

                        พลเมืองอาเซียนอาจมีความหลากหลายในทางสังคม ความเชื่อและวิถีชีวิต แต่ด้วยแนวโน้มอนาคตที่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันในฐานะเป็นพลเมืองของภูมิภาคนั้น จำเป็นต้องร่วมกันแสวงหาจุดร่วมและสร้างสรรค์ให้เป็นคุณลักษณะประจำของพลเมืองอาเซียนซึ่งจะต้องส่งเสริมและพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง

 

คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียน

 

                        จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการสร้างเสริมคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในที่นี้ขอจำแนกคุณลักษณะดังกล่าวเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองอาเซียน คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนตามทฤษฎีการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ และคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน ดังนี้

 

        1.  คุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองอาเซียน

 

                                1.1  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน  คุณลักษณะประการแรกที่เป็นประตูสำคัญสู่ความเป็นพลเมืองอาเซียนที่ดี คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน โดยเฉพาะการรับรู้ จนเกิดความเข้าใจในประเด็นต่อไปนี้

                                        1.1.1 จุดกำเนิดอาเซียน พลเมืองอาเซียนจะต้องบอกเล่าถึงความเป็นมา  ความจำเป็นที่ต้องมีประชาคมอาเซียนและการเกิดประชาคมอาเซียนได้

                                        1.1.2 กฎบัตรอาเซียน พลเมืองอาเซียนจะต้องบอกสาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของอาเซียนซึ่งรับรองโดยผู้นำประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ โดยเฉพาะวัตถุประสงค์และหลักการสำคัญของกฎบัตรอาเซียนได้

                                        1.1.3 สัญลักษณ์อาเซียน  พลเมืองอาเซียนจะต้องรู้จักสัญลักษณ์อาเซียนและสามารถอธิบายได้ว่าสัญลักษณ์นั้นคืออะไร หมายถึงอะไร สะท้อนความเป็นอย่างไรของอาเซียน 

                                        1.1.4 ประชาคมอาเซียน พลเมืองอาเซียนจะต้องบอกเล่าถึงประเทศสมาชิกและองค์ประกอบของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะ 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC)  ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC)พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจถึงความมุ่งหมายอันสำคัญของประชาคมทั้ง 3 ได้

                                        1.1.5 ความสัมพันธ์กับภายนอกอาเซียน พลเมืองอาเซียนจะต้องบอกได้ว่าอาเซียนมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ และประชาคมอื่นๆ ภายนอกอาเซียนอย่างไร เช่น มีความรู้ความเข้าใจว่า นอกจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันแล้ว อาเซียนยังได้มีความร่วมมือและสถาปนาความสัมพันธ์ในฐานะคู่เจรจากับ 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย จีน รัสเซีย และกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในกรอบอาเซียน เป็นต้น

                                1.2 มีทักษะในการสื่อสาร เนื่องจากความเป็นภูมิภาคอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนย่อมนำไปสู่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ไร้พรมแดนมากขึ้น  โอกาสในการที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็มีมากขึ้น และรูปแบบการสื่อสารที่สำคัญที่สุดก็คือการสื่อสารด้วยภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน

                                เพราะฉะนั้นความพร้อมด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษในฐานะเป็นภาษากลางของโลกและภาษากลางของอาเซียนจึงมีความสำคัญมาก พลเมืองอาเซียนทุกคนต้องมีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ (สุรินทร์ พิศสุวรรณ, 2555: ออนไลน์) มิเช่นนั้นก็จะเป็นอุปสรรคและมีปัญญาในการอยู่ร่วมกันหรือมีปฏิสัมพันธ์ ติดต่อ ค้าขายและสื่อสารระหว่างกันได้  รวมทั้งภาษาของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรเรียนรู้ให้สามารถสื่อสารได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีขอบเขตประเทศติดกัน

                                1.3  มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์  เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) หรือที่เรียกว่า ไอที  หมายถึง ความรู้ในผลิตภัณฑ์หรือในกระบวนการดำเนินงานใดๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ การติดต่อสื่อสาร การบริหาร และการดำเนินงาน รวมทั้งเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจการค้า และการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต และคุณภาพของประชาชนในสังคม(ฤทัยชนนี สิทธิชัย, 2540: 8) เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ สังคม ช่วยทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นโลกที่อยู่รอบตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและทำให้มนุษย์เข้าใจในข้อมูลเหล่านั้น ช่วยส่งผลให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์วิธีในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงสามารถจัดการและควบคุมชีวิตสภาพแวดล้อมและงานของตัวเองหรือแม้แต่สังคมและเศรษฐกิจของโลกได้

                                แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสารสนเทศก็เป็นดุจดาบสองคม ด้านหนึ่งก็สามารถสร้างสรรค์ประสิทธิภาพก่อเกิดสันติสุขได้ แต่อีกด้านหนึ่งหากใช้ในทางที่ผิดก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ ส่งเสริมความสูญเสียและทำลายผู้อื่นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในฐานะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศต่างมีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น พลเมืองอาเซียนจะต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมๆกับระมัดระวังตนไม่ให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไปในทางลบอันจะนำมาสู่ความขัดแย้ง แบ่งแยกและทำลายระหว่างกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการกล่าวร้าย ใส่ร้ายป้ายสีกัน เป็นต้น

                                1.4  มีความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองอาเซียน  ความภาคภูมิใจ (Dignity) หมายถึง ความรู้สึกว่ามีเกียรติยศหรือความรู้สึกพึงใจ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่จะนำไปสู่การกระทำที่เกิดสัมฤทธิผลในทุกด้าน  หากพลเมืองอาเซียนมีความภาคภูมิใจในตนเอง ตระหนักว่าการเป็นพลเมืองอาเซียนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะรวมพลังกันสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานความเอื้ออาทรระหว่างกัน ความรู้สึกเช่นนี้ ย่อมมีแนวโน้มไปสู่พฤติกรรมที่สร้างสรรค์ต่อองค์การหรือในฐานะเป็นพลเมืองอาเซียนอย่างแน่นอน

                                ความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองอาเซียนจึงเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองอาเซียนที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรสร้างสรรค์ให้เกิดมีและเป็นพลังทางสังคมนำไปสู่การสร้างสรรค์ภูมิภาคให้เกิดสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ร่วมกัน

 

อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/books/view/aseanstudies

เอกสารอ้างอิง :

 

แพรภัทร ยอดแก้ว. 2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

 

คำสำคัญ (Tags): #พลเมืองอาเซียน
หมายเลขบันทึก: 505876เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2013 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท