Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง : แพรภัทร ยอดแก้ว.2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

กฎบัตรอาเซียน เป็นธรรมนูญที่ใช้เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับการอยู่ร่วมกันและการขับเคลื่อนองค์กรอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 และมีผลบังคับใช้จริงเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 หลังจากที่ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันต่อกฎบัตรทั้งหมด 

                                กฎบัตรอาเซียนดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ 15 ข้อ (สำนักงาน ก.พ., 2555: 153-155)มุ่งสร้างสรรค์เสถียรภาพของประชาคมอาเซียนทั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจและประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น พลเมืองอาเซียนในฐานะเป็นพลังในการขับเคลื่อนประชาคมของตนจึงควรมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน เพื่อปฏิบัติตนให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง (ในที่นี้ได้วิเคราะห์และสังเคราะห์วัตถุประสงค์ 15 ข้อ เป็นคุณลักษณะ 9 ประการ) ดังนี้

                                2.2.1 รักความสงบและการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี  สันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพ รวมทั้งการปรับตัวสู่ภาวะปกติและการป้องกันการทำลายล้างระหว่างกันในภูมิภาคจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะพลงเมืองอาเซียนมีคุณลักษณะรักความสงบ มีสันติภาพเป็นอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตและใช้หลักสันติวิธีในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น (สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 1-4 ของกฎบัตรอาเซียน)

                                2.2.2 มีความเชี่ยวชาญในอาชีพและมีความสามารถหลากหลาย  เนื่องจากอาเซียนมีความมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างตลาดและการผลิตที่มีเสถียรภาพ ความมั่งคั่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงและมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน  เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากพลเมืองอาเซียนขาดความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ ของตน และจำเป็นต้องมีความสามารถที่หลากหลายรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุน แรงงานและอื่นๆ “คนในประชาคมอาเซียน ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ มันจะไม่สามารถให้เราเลือกมีอาชีพเดียวได้...ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นรวดเร็วขึ้น การย้ายฐานการลงทุนทางธุรกิจจะเกิดขึ้น ... คนในประชาคมอาเซียนจะต้องเก่งหลายเรื่อง ทำหลายด้าน มีหลายมิติอยู่ในตัวพร้อมที่จะปรับเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน...รับได้ทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง” (สุรินทร์ พิศสุวรรณ, 2555: ออนไลน์) คนที่มีอาชีพปัจจุบันอาจจะต้องตกงานหากมีการย้ายฐานการลงทุนไปสู่ประเทศอื่นอย่างเสรี เมื่อถึงตอนนั้นต้องสามารถปรับตัวทัน ทำอย่างอื่นได้ เพื่อความอยู่รอดของตนเองและช่วยให้สังคมมีความเข้มแข็งไปด้วย (สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 5)

                                2.2.3  มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ปัญหาความยากจนและช่องว่างในการพัฒนาของประชาคมอาเซียนเป็นภาวะอุปสัคอย่างหนึ่งของเสถียรภาพในการสร้างความมั่นคงทุกมิติ ตามวัตถุประสงค์ในกฎบัตรอาเซียนจึงมุ่งให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและร่วมมือกันบรรเทาปัญหาเหล่านั้น โดยมุ่งสร้างสรรค์ประชาคมเอื้ออาทรเดียวกันตามอัตลักษณ์อาเซียน  เพราะฉะนั้นพลเมืองอาเซียนจะต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ยินดีที่จะหยิบยืนช่วยเหลือและร่วมกันสร้างสันติสุขให้ประชาคมของตนเป็นสำคัญ (สอดล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 6)

                                2.2.4  เคารพสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น ในประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น อาจมีความแตกต่างด้านการปกครองอยู่บ้าง ทำให้สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกแตกต่างกันไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากความเข้าใจในความแตกต่างทางกฎกติกาของสังคมแล้ว พลเมืองอาเซียนยังจะต้องมีความเคารพสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นซึ่งอาจอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างด้วย การสื่อสาร การส่งเสริมและการสร้างสรรค์สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น คือ ผู้ที่อยู่ภายใต้กฎกติกาทางสังคมที่ต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีความตระหนักในเรื่องการเคารพสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันเป็นสำคัญ นี่เป็นคุณลักษณะอีกประการหนึ่งของพลเมืองอาเซียน (สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 7)

                                2.2.5 มีจิตสำนึกรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในภูมิภาค  วัตถุประสงค์ของกฎบัตรข้อที่ 9 มุ่งสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมใน ภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในภูมิภาค และวัตถุประสงค์ของกฎบัตรข้อที่ 12 มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติดสำหรับประชาชนของอาเซียน ทั้ง 2 ข้อนี้ ต้องการคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนที่มีจิตสำนึกรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในภูมิภาคเป็นสำคัญ เพราะหากไม่มีจิตสำนึกดังกล่าวย่อมยากที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งไม่กระทบกับสิ่งเหล่านั้นได้  

                                2.2.6  พัฒนาตนเองอยู่เสมอ  โลกยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยิ่งยวด ประกอบการสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาตนอยู่เสมอเพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการถือหลักการศึกษาตลอดชีวิตเป็นวิธีการพัฒนาตนเป็นคุณลักษณะที่จะทำให้พลเมืองอาเซียนมีความเข้มแข็ง เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ช่วยสร้างพลังความเข้มแข็งให้ประชาคมได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักในการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตนเพื่อให้เข้าถึงความทัดเทียมกันทั้งด้านการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคมและความยุติธรรมต่างๆ ด้วย  เพื่อความกินดีอยู่ดีของตนและความผาสุกของประชาคมนั่นเอง (สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 10-11)

                                2.2.7  มีความรับผิดชอบร่วมกัน  ในฐานะเป็นสมาชิกของอาเซียนซึ่งมีสถานะเป็นองค์การตามกฎหมาย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ภายในองค์การเดียวกันเป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่จะนำพาองค์การนั้นๆ สู่ความเจริญอย่างยั่งยืน  เพราะเมื่อประเทศอาเซียนมีข้อตกลงโดยผู้นำแต่ละประเทศจนเกิดกฎบัตรขึ้นมาใช้ร่วมกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันย่อมเกิดขึ้นตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกความคิด ทุกการกระทำ ทุกคำพูด หรือทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยพลเมืองอาเซียน ย่อมมีผลต่อสังคมอาเซียนด้วยกันเสมอ

                                โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามกฎบัตรอาเซียนนั้นมุ่งให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริม ให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียนโดยทั่วกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นประชาชนพลเมืองอาเซียนจะต้องตระหนักในเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการสร้างสรรค์อาเซียนร่วมกันตามหลักการและกรอบกติกาที่วางไว้  และความรับผิดชอบร่วมกันนี้จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการร่วมมือกันในปฏิบัติการต่างๆ ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี ดังเช่น การแก้ปัญหาต่างๆ ที่ท้าทาย เช่น อาชญากรรมข้ามชาติและสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ จะสามารถจัดการ ดูแล แก้ไขได้ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิตินั้น ต้องอาศัยสำนึกรับผิดชอบร่วมกันของพลเมืองอาเซียนทุกคน ซึ่งจะต้องไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ที่เป็นปัญหาต่างๆ ที่ตนประสบพบเห็น (สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 8 และ 13)   

                                2.2.8  เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคลและสังคม  เนื่องจากอาเซียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน การยอมรับความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะนำมาสู่การให้เกียรติและความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งจะไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์อาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวตามวิสัยทัศน์อาเซียนอันจะก่อให้เกิด “เอกภาพบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นความสง่างามของภูมิภาคนี้

                                การเคารพความแตกต่างนี้ เป็นข้อหนึ่งในคุณสมบัติของ “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย ๖ ประการ (สุรศักดิ์ ปาเฮ, 2554: ออนไลน์)หัวใจสำคัญอยู่ที่การเคารพซึ่งเกิดจากการยอมรับบนฐานความเข้าใจและให้เกียรติผู้อื่นนั่นเอง  (สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 14)

                                2.2.9  ยึดมั่นหลักสามัคคีและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น  จากคุณลักษณะต่างๆ ข้างต้นนั้น ภาพรวมคุณลักษณะของพลเมืองที่จะส่งเสริมการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนร่วมกันนั้น อาจกล่าวได้ว่า ได้แก่ ความสามัคคีของสมาชิกในองค์การ ซึ่งเป็นผลจากคุณลักษณะข้ออื่นๆข้างต้นและท่าทีที่ดีงามต่อผู้อื่นซึ่งอาจมิใช่สมาชิกในองค์การด้วยหลักมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั่นเอง คุณลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมวัตถุประสงค์ข้อสุดท้าย(ข้อ 15 )ของกฎบัตรอาเซียนได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ วัตถุประสงค์ที่ว่า “เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนขั้นแรกของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคในภาพแบบของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น

                                ในทางกลับกันหากพลเมืองอาเซียนขาดคุณสมบัติเรื่องความสามัคคี ย่อมยากที่จะมีเอกภาพ ยากที่จะเกิดความเป็นศูนย์รวมอันหนึ่งอันเดียว และส่งผลให้อ่อนด้อยพลังขับเคลื่อนต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะอาจไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากความอ่อนด้อย  ลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้ประชาคมอาเซียนยากที่จะยืนหยัดอยู่อย่างยั่งยืนได้  เพราะฉะนั้น การสร้างปัจจัยทางคุณลักษณะของพลเมืองในเรื่องความสามัคคีและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

 

อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/books/view/aseanstudies

 

เอกสารอ้างอิง :

 

แพรภัทร  ยอดแก้ว. 2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

 

หมายเลขบันทึก: 505877เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท