Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ทำไมต้องทอดกฐิน


วัดป่าเจริญราช ๑๒/๑๙ คลอง๑๑ สายกลาง ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ๑๒๑๕๐ โทร ๐๒ ๙๙๕ ๒๑๑๒ โทรสาร ๐๒ ๙๙๕ ๒๔๗๗ Email: [email protected] www.veeranon.com

ยินดีต้อนรับสู่เทศกาลงานทอดกฐินค่ะ ในช่วงนี้ไปไหนมาไหน เราจะเห็นป้ายเชิญพุทธศาสนิกชนทำบุญทอดกฐินตามวัดต่างๆ แพรมีโอกาสเข้าไปทำบุญถวายอาหารเพลและเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญที่วัดป่าเจริญราชบ่อยๆ ได้เห็นโรงอุโบสถของวัดที่กำลังก่อสร้างอยู่และเห็นประกาศโครงการทอดกฐินสามัคคีของวัดป่าเจริญราช ปี 2555


ขอเรียนเชิญญาติธรรมทุกท่าน 

ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้ากฐินสามัคคี

 ณ วัดป่าเจริญราช ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕

 วันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕

เวลา ๑๒.๓๐ น

 เพื่อนำจตุปัจจัยไปใช้ในการสร้างโรงอุโบสถสถาปัตยกรรมแบบไทยโบราณ กองละ  ๑๐,๐๐๐  บาท

 

  เพื่อนๆ รู้ไหมค่ะ  กฐินคืออะไร  ทำไมต้องทอดกฐิน  กฐินมีความสำคัญอย่างไร  และอานิสงฆ์ของการถวายกฐินมีอะไรบ้าง  แพรได้ศึกษาค้นคว้า  หาความรู้มาเล่าให้เพื่อนๆฟังค่ะ  เพื่อนๆจะได้อนุโมทนาบุญไปกับแพรด้วย icon

 

 กฐิน คืออะไร กฐิน มีความหมาย 4 ประการ ดังนี้

(1) กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้แบบชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง

“กฐิน” หมายถึง ไม้สะดึง คือ กรอบไม้แบบชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเย็บจีวร ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ในสมัยก่อน การเย็บจีวรต้องใช้ไม้สะดึงขึงให้ตึงก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐิน หรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว

การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือ ทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ ตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว ด้วยความสามัคคีของพระสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้น เมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไว้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้นคำว่า กฐินเดาะหรือเดาะกฐิน จึงหมายถึง การรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป         

ตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระ 80 รูป ต่างมาช่วยพระอนุรุทธะเย็บจีวร พระมหากัสสปะนั่งหัวแถว พระสารีบุตรนั่งกลาง พระอานนท์นั่งท้ายสุด ภิกษุรูปอื่นๆ ช่วยกรอด้าย พระพุทธเจ้าทรงร้อยด้าย ส่วนพระโมคคัลลานะจัดหาเสบียงมาถวายพระเถระผู้ร่วมทำจีวร ภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่ม เป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ต่างจากปัจจุบัน มีจีวรสำเร็จรูปขายแล้วค่ะ) 

(2) กฐินที่เป็นชื่อของผ้าที่ถวายใช้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล

“กฐิน” หมายถึง ผ้าที่ถวายใช้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นพระภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่พระสงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้ค่ะ 

(3) กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา

“กฐิน” คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวันหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนผ้าเก่าที่จะขาดหรือชำรุด

การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกว่า การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปทอดหรือไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป กล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือ การถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล 1 เดือน จึงถือว่าเป็นบุญที่หาโอกาสทำได้ยากค่ะ  ต้องรอกันเป็นปีค่ะ  ถึงจะทำบุญได้ 

(4) กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม

“กฐิน” คือ กิจกรรมของสงฆ์ ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของพระภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของพระภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้า และเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

จากความหมายของคำว่ากฐิน จะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันทั้ง 4 ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐิน คือ แสดงความพอใจว่าได้กรานกฐินเสร็จแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธี

กฐินในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีการตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรสำเร็จรูปขายได้แพร่หลายขึ้น การใช้กรอบไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว หรืออีกอย่างหนึ่งคือ นำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่า “ถวายผ้ากฐิน” เหมือนกันค่ะ

นอกจากนั้น  ประเพณีนิยมการถวายผ้ากฐินได้แพร่หลายไปทั่วประเทศไทย จึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศลที่ดีงามเป็นสาธารณะประโยชน์ ร่วมกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน 

เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตกฐิน

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา (อยู่ด้านทิศปัจฉิม ในแคว้นโกศล) ประมาณ 30 รูป ล้วนถือธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ อาทิเช่น อารัญญิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่ป่าเป็นวัตร, ปิณฑปาติกังคธุดงค์ คือถือการบิณฑบาตเป็นวัตร, และเตจจีวริกังคธุดงค์ คือถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร เป็นต้น อันมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความตั้งใจจะพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งจำพรรษาในเมืองสาวัตถี  แต่ต้องเดินทางไกล

พอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ ก็เผอิญถึงฤดูกาลเข้าพรรษาเสียก่อน เดินทางต่อไปไม่ได้ พระภิกษุเหล่านั้นจึงตกลงกันอธิษฐานใจอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกต ตลอดไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยมีใจรัญจวนว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ ระยะทางห่างเพียง 6 โยชน์ แต่ก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วง 3 เดือน ออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว ก็เดินทางไปเมืองสาวัตถีโดยเร็ว

การที่พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้น เป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถามถึงสุขทุกข์และความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติธรรม ด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา พระภิกษุเหล่านั้นต่างพากันกราบทูลให้ทรงทราบถึงความลำบากตรากตรำในระหว่างเดินทางของตน เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน มีจีวรเก่า พากันเดินเหยียบย่ำโคลนตม จีวรเปรอะเปื้อนโคลนเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน

พระพุทธองค์ทรงทราบความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น และเห็นว่า “กฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญฺญาโต” การกรานกฐินนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงอนุญาตมา ดังนั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว รับผ้ากฐินของผู้มีจิตศรัทธาถวายได้ เมื่อได้รับแล้วมีความสามัคคีร่วมกันทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จะได้รับอานิสงส์หรือความยกเว้นในการผิดพระธรรมวินัย 5 ประการ นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ทราบพระบรมพุทธานุญาต และได้ถวายผ้ากฐินเป็นบุคคลแรก 

ผ้ากฐิน

ผ้าที่พระบรมพุทธานุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐินได้นั้น มีดังนี้คือ ผ้าใหม่ ๑ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๑ ผ้าเก่า ๑ ผ้าบังสุกุล ๑ ผ้าที่มีขายอยู่ตามร้านตลาด ๑ ซึ่งผ้าเหล่านี้เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้

ส่วนผ้าที่เอามาทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้ คือ ผ้าที่ยืมเขามา ๑ ผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑ ผ้าเป็นนิสัคคีย์ ๑ ผ้าที่ขโมยมา ๑

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ผ้าที่เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้คือ ผ้าที่ได้มาโดยชอบหรือโดยสุจริต ส่วนผ้าที่เอามาทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต

การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ

- พิเศษเพราะเป็นสังฆทาน มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

- พิเศษเพราะเป็นการถวายทานตามกาล ไม่มีทั่วไป เรียกว่า “กาลทาน” ตามพระธรรมวินัยกำหนดกาลไว้ คือ มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียงหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละครั้งเดียว และจะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ 5 รูป หากวัดใดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่ถึง 5 รูป จะต้องนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นๆ มาร่วมพิธีกรรมให้ครบ 5 รูปเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ครบองค์สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ องค์สงฆ์ 5 รูป ตามพระวินัยบัญญัติดังกล่าวนั้น มี 4 รูป เป็นองค์พยาน และอีก 1 รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน ภาษาสังฆกรรมของพระเรียกว่า “ปัญจวรรค”

ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ ถ้าทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกทายิกาผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็นเช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

- พิเศษเพราะมีอานิสงส์ทั้งสองฝ่าย คือ อานิสงส์สำหรับพระภิกษุผู้รับกฐิน และอานิสงส์สำหรับผู้ถวายกฐิน 

  อานิสงส์สำหรับผู้ถวายกฐิน

        อานิสงส์กฐิน จากพระสูตรที่กล่าวไว้ในบาลี ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ในสมัยที่พระองค์เกิด เป็นมหาทุคคตะ ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระปทุมมุตระ เวลานั้นถอยหลังจากนี้ไป ๙๑ กัป พระพุทธเจ้าท่านทรงเกิดเป็นคนจนอย่างยิ่ง เป็นทาสของคหบดี

       วันหนึ่งมหาทุคคตะไปดูงานทอดกฐินเขา เมื่อเขาทอดกฐินเสร็จ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุคคลใดเคยทอดกฐินแล้วในชีวิตหนึ่ง ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพกฐินก็ดี และเป็นบริวารกฐินก็ดี (แต่ว่ากฐินวันนี้ไม่มีบริวาร มีแต่เจ้าภาพ เพราะเป็นกฐินสามัคคี) จะทำบุญน้อยจะทำบุญมาก มีอานิสงส์เสมอกัน แต่ทว่าปริมาณอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งอานิสงส์ของกฐิน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า... 

      "โภ ปุริสะ ดูกรท่านผู้เจริญ บุคคลใดเคยทอดกฐินไว้ในพระพุทธศาสนา แม้ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าตายจากความเป็นคน ยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ท่านผู้นั้นจะไปเกิดเป็นเทวดา หรือนางฟ้า ๕๐๐ ชาติ" นั่นหมายความว่า ถ้าหมดอายุเทวดา หรือนางฟ้าจุติแล้วก็เกิดทันที ๕๐๐ ครั้ง เมื่อบุญหย่อนลงมานิดหน่อย เกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นนางฟ้าไม่ได้ ลงมาเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก ๕๐๐ ชาติ เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติแล้ว บุญก็หย่อนลงมา ก็จะเป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ หลังจากนั้น จะเป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ
     คำว่ามหาเศรษฐีนี่ มีเงินตั้งแต่ ๘๐ โกฏิ ขึ้นไปเขาเรียกว่า มหาเศรษฐี แต่ว่าตั้งแต่ ๔๐ โกฏิ ขึ้นไปเขาเรียก อนุเศรษฐี
     เมื่อเป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติแล้ว ก็เป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ หลังจากเป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติแล้ว ก็เป็นคหบดี ๕๐๐ ชาติ
     สรุปว่า การทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่านอกจากจะเป็นเทวดาเป็นนางฟ้า เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีแล้วบุคคลที่ทอดกฐินครั้งหนึ่งในชีวิต จะปรารถนาพระโพธิญานก็ย่อมได้ นั่นหมายความว่า จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนา เป็นอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นมหาสาวกก็ได้ จะปรารถนานิพพาน เป็นพระอรหันต์ปกติก็ได้ ฉะนั้นการทอดกฐินแต่ละคราว ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบถึงอานิสงส์คนที่เคยทอดกฐินแล้วแต่ละครั้ง รวมความว่า ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด คำว่า ยากจนเข็ญใจจะไม่มีแก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกชาติ

การทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วัดหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่งๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรงมากค่ะ

ที่สำคัญ การทอดกฐินนี้ ผู้เข้าใจจึงปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะได้รับผลคือสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติเพราะเราให้ทานเอง และสมบูรณ์ด้วยบริวารสมบัติเพราะชักชวนผู้อื่น บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศลอีกด้วยค่ะ กาลทานเช่นนี้ ก็เรียกว่า ทานทางพระธรรมวินัย 

 ด้วยความตั้งใจในการหาความรู้และเผยแพร่ธรรมเกี่ยวกับการทอดกฐินของแพร ได้ดลใจให้หลวงพี่ไพ คือ พระมหาไพบูลย์ มหาเปรียญ 9 แห่งวัดสวนพลู  บางรัก(พระอาจารย์ที่ปรึกษาของแพร) ได้เมตตาค้นพระไตรปิฏกเกี่ยวกับอานิสงส์ของการถวายผ้ามาให้แพรร่วมเพื่อเผยแผ่ธรรมด้วยค่ะ

อานิสงส์หรือผลบุญที่พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาจะได้รับจากการทำบุญด้วยการถวายผ้า พอจะประมวลมาได้ดังนี้ 

1.   เกิดบนสวรรค์ มีผิวพรรณงดงาม มีทรัพย์สมบัติน่ายินดีพอใจ

         ครั้งหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะ ได้ถามนางเทพธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีผิวพรรณงดงามกว่าผู้อื่นว่าได้ทำบุญอะไรไว้ในขณะที่เป็นมนุษย์ ดังที่ปรากฏในคุตติลวิมาน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ (26/54) ว่า 

“เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก   อาตมาขอถามว่า เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้” เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม  จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

“นารีผู้ถวายผ้าเนื้อดีเยี่ยม เป็นผู้ประเสริฐในหมู่นระและนารีทั้งหลาย นางตั้งใจถวายสิ่งที่น่ารัก จึงได้ทิพยสถานที่น่าเจริญใจเห็นปานนี้ ขอนิมนต์พระคุณเจ้าดูวิมานของดิฉันนั้นเถิด ดิฉันเป็นนางอัปสรผู้มีรูปร่างและผิวพรรณน่ารักใคร่ ทั้งยังเลอเลิศกว่านางอัปสรนับพันอีกด้วย

ขอนิมนต์พระคุณเจ้าดูผลของบุญทั้งหลายเถิด เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้

และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก   ดิฉันขอกราบเรียนว่า เพราะบุญที่ได้ทำไว้เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

 

2.   ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

          "พระอุปัฑฒทุสสทายกเถระ"ได้พรรณาผลของทานที่ตนถวายผ้าครึ่งผืนแด่พระสุชาตะซึ่งเป็นพระสาวกของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า“ปทุมุตตรพุทธ” แล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังที่ปรากฏในอุปัฑฒทุสสทายกเถราปาทาน ขุททกนิบาต อปทาน (33/171) ว่า 

"ครั้งนั้น   สาวกของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า “ปทุมุตตระ” ชื่อสุชาตะ   กำลังแสวงหาผ้าบังสุกุลที่กองหยากเยื่อใกล้ถนน   ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างของคนอื่นอยู่ในกรุงหงสวดี ได้ถวายผ้าครึ่งผืนแล้วอภิวาทด้วยเศียรเกล้าด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น  ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์"

   

3.   จักเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามดั่งทองคำ

       "พระนันทเถระ" ได้พรรณนาผลบุญของการถวายผ้าเปลือกไม้ แด่พระปทุตตรพุทธเจ้าแล้ว ส่งผลให้ตนได้รับอานิสงส์ผลบุญได้ผิวพรรณดุจดังทอง ปรากฏในนันทเถราปทาน ขุททกนิกาย อปทาน(32/106)  ว่า

 

"ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเปลือกไม้แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ  ผู้เจริญที่สุดในโลก   ผู้คงที่ผู้เป็นพระสยัมภู  ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด ทรงพยากรณ์ข้าพเจ้านั้นว่า

ด้วยการถวายผ้านี้   ท่านจักเป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง"

 

  4.   ทำให้เป็นผู้บริบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์

       “พระวัตถทายกเถระ” ได้ถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้าแล้ว ทำให้ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมบริบูรณ์ด้วยผ้าอาภรณ์ ดังที่ปรากฏในวัตถทายกเถราปทาน ขุททกนิกาย อปทาน (32/209) ว่า

 "ครั้งนั้น   ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญาครุฑชาติปักษี  มีปีกงามได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือ มีปีกงามได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลสเสด็จไปยังภูเขาคันธมาทน์ ข้าพเจ้าละเพศครุฑแล้ว    แปลงร่างเป็นมาณพ ถวายผ้าผืนหนึ่งแด่พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์  ผู้คงที่พระพุทธเจ้าผู้ศาสดาทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก ทรงรับผ้าผืนนั้นแล้ว   ประทับยืนอยู่ในอากาศ  ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

ด้วยการถวายผ้านี้และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น ผู้นี้ละกำเนิดครุฑแล้ว   จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก    ทรงองอาจกว่านรชน ทรงสรรเสริญการถวายผ้าเป็นทานแล้ว บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ ในภพที่ข้าพเจ้าเกิด   ข้าพเจ้ามีผ้าสมบูรณ์

ผ้าเป็นหลังคาอยู่ในอากาศนี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า"

   

5.   ผู้ถวายผ้าแด่พระสงฆ์จะไม่ไปสู่ทุคติ

      ในอัฑฒเจลก เถราปทาน ขุททกนิกาย อปทาน (32/240)ได้กล่าวถึงอานิสงส์ผลบุญที่ถวายผ้าแล้วไม่ไปสู่ทุคติ(รวมทั้งในที่อื่นๆ ก็มีเช่นกัน) ว่า

"ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ   ถึงอาการน่าสงสารอย่างยิ่งได้ถวายผ้าครึ่งผืนแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ  ข้าพเจ้าครั้นถวายผ้าครึ่งผืนแล้ว บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอด    ๑   กัป  และในกัปทั้งหลายที่เหลือ   ข้าพเจ้าได้ทำกุศลไว้แล้วในกัปที่  ๙๒  นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น

จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า"

 

6.   ผู้ถวายผ้าแก่พระสงฆ์ย่อมได้รับ อานิสงส์ผลบุญ 8 ประการ 

       ผู้ถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาย่อมได้รับ อานิสงส์ผลบุญที่สร้างไว้ 8 ประการ ดังที่ปรากฏในปิลินทวัจฉเถราปทาน ขุททกนิบาต อปทาน (32/592) ว่า

          "ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าในพระสุคตและพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า    ๘   ประการ คือ

1.ข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง    ๑  2. ปราศจากธุลี(ปราศจากไฝฝ้า)   ๑  3. มีรัศมีผ่องใส   ๑   4. มีตบะ   ๑   5. มีร่างกายมีผิวเกลี้ยงเกลา   ๑  เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ 6. ก็มีผ้าสีขาว   ๑๐๐,๐๐๐     ผืน   ๑  7. มีผ้าสีเหลือง  ๑๐๐,๐๐๐    ผืน    ๑ 8. มีผ้าสีแดง     ๑๐๐,๐๐๐    ผืน    ๑  กั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า"

 

 หมายเหตุ   เลขแสดงเครื่องหมาย เช่น ( 26/ 234)หมายถึง เล่มที่ 26 หน้า 234  พระไตรปิฎก ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

  ถึงแม้ว่าการทอดกฐินเพื่อสร้างอุโบสถในครั้งนี้ จะไม่ได้ถวายผ้ากฐินแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ได้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์  ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ  เป็นพระอริยบุคคล (ในความคิดของแพร) อานิสงฆ์ที่จะได้รับถึงจะไม่มากเท่าในพระไตรปิฎก แต่แพรก็เชื่อว่า บุญย่อมรักษา  ธรรมย่อมคุ้มครอง ผู้บำเพ็ญบุญเสมอค่ะ  ได้ทำบุญ  สร้างบารมี แค่นี้ก็สุขใจแล้วค่ะ  จริงไหมค่ะ  เพื่อนๆ  จะร่วมบุญกฐินกองเดียวกับแพรก็ได้นะคะ 

หมายเลขบันทึก: 505569เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2012 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วสนใจ จะร่วมบุญกฐินกองเดียวกับแพรก็ได้นะคะ อนุโมทนาสาธุกับแพรได้นะคะพี่ๆ เพื่อนๆ

ชื่อบัญชีบุญกฐิน แพรภัทร ยอดแก้วเลขที่ 159-2-05143-5

สาขา ม.สยาม บัญชี ออมทรัพย์

ธนาคาร ทหารไทย

ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านนะคะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ขอให้บุญรักษา ธรรมคุ้มครองทุกคนนะคะ

 

อ้อ!!! ... ทอดกฐิน... อ้อ...เพราะอย่างนี้นี่ เองนะคะ

 

ขอบคุณ บทความดีดีนี้นะคะ

อาจารย์ครับ  ทำไมมีระยะเวลาในการทอดกฐินแค่ 1 เดือนครับ

ผมขออนุโมทนาบุญกับอาจารย์แพรครับ ขอนำไปเผยแพร่ต่อด้วยนะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท