A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ห้องเรียนในฝัน (เมื่อก้าวสู่...มัธยม)


เส้นทางการเรียนของเด็กอย่างเรา มันยาวมาก กินเวลาหลายสิบปี มีความฝันถึงห้องเรียนหลายแบบ จนเหมือนคนหลายใจ เหมือนคนไม่รู้ว่ตัวเองอยากได้อะไร.. (ฮา)...คือเปลี่ยนไปเรื่อย

              เส้นทางการเรียนของเด็กอย่างเรา มันยาวมาก กินเวลาหลายสิบปี มีความฝันถึงห้องเรียนหลายแบบ จนเหมือนคนหลายใจ เหมือนคนไม่รู้ว่ตัวเองอยากได้อะไร.. (ฮา)...คือเปลี่ยนไปเรื่อย

 

             จากประถมปลาย ต้องเรียนต่อมัธยม  เตี่ยให้เข้าเรียน กทม. แต่เราอยากเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดมากกว่า เพื่อนๆ ในห้องต่างก็เรียนต่อทีโรงเรียนประจำจังหวัดทั้งนั้น ผู้หญิงเรียนโรงเรียนหญิง ผู้ชายเรียนโรงเรียนชาย แต่ที่สุดก็ต้องตามใจเตี่ย  นับเป็นครั้งแรกที่เรากับเตี่ยขัดแย้งกันเรื่องเรียน และเป็นครั้งแรกที่เราคิดถึง โรงเรียนในฝัน

              เข้า กทม. เราเลือก สวนกุหลาบเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่เพราะเป็นโรงเรียนดังหรอกนะ แต่เป็นเพราะเป็นโรงเรียนเก่าแก่ ตั้งโดยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อยู่ใกล้สะพานพุทธ ทำเลสวย ใกล้ถิ่นประวัติศาสตร์ รู้อยู่เหมือนกันว่า โรงเรียนนี้คนนิยมสอบกัน แต่ไม่ตระหนักหรอกว่ามันยากแค่ไหน ก็แค่อยากอยู่โรงเรียนที่เก่า ๆ ดูมันขลัง ๆ   แต่ท้ายสุดก็แห้ว  (ฮา)...

 

             ที่สุดต้องมาเข้าเรียนรอบสอง  โห..เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าการหาที่เรียนต่อนั้น ยุ่งยากมากมาย นึกว่ามีแต่เราคนเดียว ที่ไหนได้ มีเพื่อนที่หาโรงเรียนไม่ได้อีกเยอะ เป็นร้อยๆ คนเชียวแหละ พี่ชายพาไปเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน เนื่องจากมีรุ่นพี่สอนอยู่ที่นั่น ก็ฝากฝังกันไป ที่สุดก็ได้เข้าเรียน เป็นโรงเรียนชานกรุงเทพ สมัยนั้นเป็นโรงเรียนมัธยมที่ใหญ่มาก มีเนื้อที่ ๓๓ ไร่ครึ่ง มีเรือนไม้อยู่ ๓ หลังและเรือนฝึกงาน ๑ หลัง เหมือนต่างจังหวัดไม่มีผิด ตอนเข้าเรียนใหม่ ๆ ยังมีคอกหมู ยังต้องลอกคลองในโรงเรียน ก็สนุกดี ทั้งที่เราเป็นนักเรียนนะ และเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ เท่านั้น ที่นี่ โรงเรียนไม่ใช่แค่ห้องเรียนแต่เป็นโลกของวัยรุ่นที่มีเรื่องราวให้ทำเยอะแยะ

 

          มีครูหลายคนที่เป็นขวัญใจ ครูสุรสิทธิ์ สอนภาษาอังกฤษ ครูชอบใส่กางเกงมอส (เป็นแฟชั่นวัยรุ่นสมัยนั้นกระมัง) เดินแบบโยกตัวนิด ๆ เท่ชมัด หลายคนก็เลยชอบเรียนภาษาอังกฤษ และครูก็ชอบดีดกีตาร์ด้วย สอนจบก็จะให้ดีดเพลงให้ฟัง ชั่วโมงของครู นักเรียนแน่นตรึม ครูก็ใจดีด้วย ยิ้มตลอด ครูชัชวาลย์ สอนวิทยาศาสตร์ ชอบถามและให้ตอบ ตอบอะไรก็ได้ ครูไม่เคยตำหนิเลย ขอให้ตอบเถอะ  ครูแนะนำให้เราและเพื่อน ๆในห้องเป็นสมาชิกของชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ เสียค่าสมัครพิเศษ แบบลดราคา และหนังสือก็มาส่งให้ที่โรงเรียน นี่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เพื่อนคนหนึ่ง เป็นนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ (สำหรับเรานะ...ฮา).. สมัยนั้น เขาคิดทำจรวด.. สู้อุตส่าห์ทำดินปืนแรงดันสูง และวิ่งไปตลาด ให้ช่างบัดกรีจรวดขึ้นมา เสียเงินไปหลาย แล้วเอามาทดลองกันในตอนเย็นที่โรงเรียน จุดปั๊บ จรวดพุ่งขึ้นฟ้าเลย สูงประมาณตึก ๔ ชั้น แล้วก็ตกลงมาใส่หัว วิ่งหนีกันอุตลุด... (ฮา)....ทุกวันนี้เขาประดิษฐ์ หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดที่ภาคใต้ ใช้งานอยู่ ๓๐ กว่าตัว  ประดิษฐ์เกราะป้องกันกระสุนให้ตำรวจใช้ในพื้นที่ ๔ จังหวัด และทำยานบินไร้คนขับ ลาดตระเวณแถบภาคใต้  แต่เอ่ยชื่อแล้วก็ไม่มีใครรู้จักนะ...เพราะหุ่นยนต์ของเขาตัวละ สองสามหมื่นบาท เป็นหุ่นกระป๋องกู้ระเบิด ขณะที่สั่งทำโดยมหาวิทยาลัยตัวละ เกือบล้านบาท...(ฮา)...หน่วยงานที่ใช้เครื่องมือของลูกศิษย์คนนี้ของครู จึงเป็นหน่วยงานยากจน เช่น ตชด.    ครูวิไลรัตน์ สอนฟิสิกส์ สอนตลกมาก แต่ก็จำได้ดี  

 

             ครูที่เป็นขวัญใจของโรงเรียน เป็นครูตัวใหญ่ ผิวดำเข้ม หน้าดุ ครูเป็นชาวปักษ์ใต้ ชื่อครูอวบ  ครูอวบสอนเขียนแบบ ทุกครั้งที่ครูมาสอน มักพูดถึงเรื่องข่าวสารบ้านเมืองเสมอ ตอนนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นยุค ๑๔ ตุลา เราไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ครูพูดหรอก แต่ครูก็มักอธิบายข่าวให้พวกเราฟังเสมอ ๆ ครูอวบไม่เคยใส่เสื้อสีใด ๆ นอกจากสีขาว และกางเกงก็ไม่เคยใส่สีอื่น นอกจากสีดำ  ครูบอกว่าสีขาวและสีดำ ทำให้ไม่ยุ่งยาก ไม่มีดำน้อย ดำมาก ขาวน้อย ขาวมาก  อีกหลายสิบปีให้หลัง เราจึงเข้าใจว่า สิ่งที่ครูอวบพูดในวันนี้ คือหลักคิดอันยิ่งใหญ่ของครู อย่างไร... ว่ากันว่าครูอวบเป็นคนดุ ตีหนัก เมื่อเกิดการทำโทษหน้าเสาธง ครูอวบจะได้รับเชิญเป็นผู้ลงไม้เรียวเสมอ ไม้เรียวขนาดนิ้วก้อย หักสะบั้นทุกครั้งที่ครูลงไม้   เสียงดังสนั่น นักเรียนทุกคนได้ยินชัดเจน ครั้งหนึ่งในห้องเรียนเขียนแบบ เพื่อนคนหนึ่งชื่อ เหล่ ทำแจกันแตก  ครูอวบกลับมาถามว่าใครทำ ทุกคนกลัว ไม่มีใครตอบ ครูให้ยืนขึ้นทุกคน ทุกคนนึกว่าวันซวยมาเยือนแล้ว  แต่ครูก็หาตัวการจนได้ พวกเรานึกว่า อ้ายเหล่ตายแน่  แต่ผิดคาด  ครูอวบจ้องมองเหล่สักอึดใจ แล้วหันมาบอกทุกคน ให้ “ไว้อาลัยแก่นายเหล่” ๕ นาที

            ทุกคนผิดคาด ขำก็ขำ แต่ไม่มีใครหัวเราะ   ภายหลังอีกหลายสิบปีจึงเข้าใจว่า การให้สำนึกผิดเป็นการสอนที่ดีกว่าการลงโทษเป็นไหน ๆ  และผิดครั้งนั้น จะเป็นผิดที่จำไปจนวันตาย

 

            โรงเรียนมัธยมของเราเป็นโรงเรียนใหญ่ มีห้องเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่๑ ตั้ง ๑๖ ห้อง จึงมีนักเรียนที่สอบตกและต้องออกจากโรงเรียนปีละหลายสิบคน แรก ๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะเพื่อนออกไปแต่ก็ยังกลับมาที่โรงเรียนเสมอ จนถึงมัธยม ๓  เพื่อนรุ่นเดียวกันสอบตกถึงมาก ผ่านพ้นสอบปลายปีมีโอกาสต้องยุบห้องเรียน ถึง ๕ ห้อง  เราเป็นคนเรียนดี แต่ถึงปลายปีเพื่อนๆ หลายคนต้องจากไป  เราเกิดความคิดประหลาดขึ้น จะมีประโยขน์อะไรถ้าเราสอบได้คะแนนดี ๆ แต่เพื่อนสอบตก จึงขอครูทำติวให้เพื่อนทั้งระดับในวิชาที่เราทำคะแนนได้ดี  เราทำภูมิศาสตร์กับประวัติศาสตร์ได้ดี  สงครามโลกครั้งที่ ๑ ๒ ใครบุกใคร สนธิสัญญาอะไร ปีไหน สันนิบาตชาติ สหประชาชาติเกิดอย่างไร อักษะ พันธมิตร  เราเขียนแผนภาพ แผนภูมิได้ภายใน ๒-๓ นาทีให้เพื่อน ๆดูกัน สุดท้ายในการสอบปลายเทอม เพื่อนตกกันไม่กี่คน ส่วนใหญ่ก็ผ่านไปได้

 

             เป็นครั้งแรกที่เราคิดถึงโรงเรียนที่ “ให้กันและกัน” มากกว่าสอบช่วงชิง คะแนนเป็นเพียงกับดักน้ำใจ  ในโรงเรียนของเรานั้น เด็กเรียนดีมักหวงวิชา เห็นแก่ตัว แค่อธิบายให้เพื่อนเข้าใจยังอิดออด แต่เราอาจโชคดีกว่า เราก้าวผ่าน “กับดัก” นั้นด้วยความบังเอิญ

            โรงเรียน เป็นกับดักใหญ่สำหรับเด็ก ๆ แบบเราในวันนั้น  วัยรุ่นมีเรื่องประทับใจมากมาย เพื่อน ครู วีรกรรมประหลาดเกิดขึ้นเยอะแยะ ห้องเรียนเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิต แต่เป็นช่วงซ้ำ ๆ ทุกวัน เป็นเวลานับเดือนนับปี  ห้องเรียนในฝัน ต้องเป็นฝันซ้ำ ๆ นับเดือนนับปี  จะเข้าใจความฝันนี้ได้ ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ของชีวิต ที่ซ้ำ ๆ  นับเดือนนับปี นี้ให้ถ่องแท้..  

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 505562เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2012 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณทุกคน ที่แวะเวียนมาให้กำลังใจกันนะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท