ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 27. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (7) สัมมนา


นี่คือเครื่องมือช่วยให้ นศ. มีจิตใจผูกพันกับการเรียน (และผมว่าเป็นเครื่องมือกลับทางห้องเรียน อย่างหนึ่ง) ช่วยให้เตรียมทำความเข้าใจบทเรียนที่ได้รับมอบหมายมาจากบ้าน เพื่อ ลปรร. กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน นศ. ที่ขี้อาย หรือที่เป็นชาวต่างชาติ ภาษาไม่ดี จะมีโอกาสพูดนำเสนอ และ ลปรร. กับเพื่อนๆ

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 27. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (7) สัมมนา  

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๒๗ นี้ ได้จาก Chapter 12  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 7 :  Seminar

 

SET 7  สัมมนา    

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   หลากหลาย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  ปานกลาง

 

นี่คือเครื่องมือช่วยให้ นศ. มีจิตใจผูกพันกับการเรียน    (และผมว่าเป็นเครื่องมือกลับทางห้องเรียน อย่างหนึ่ง)    ช่วยให้เตรียมทำความเข้าใจบทเรียนที่ได้รับมอบหมายมาจากบ้าน    เพื่อ ลปรร. กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน    นศ. ที่ขี้อาย หรือที่เป็นชาวต่างชาติ ภาษาไม่ดี จะมีโอกาสพูดนำเสนอ และ ลปรร. กับเพื่อนๆ 

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เลือกเอกสารสำคัญ ที่มีเรื่องราวเชิงหลักการหรือเชิงทฤษฎี สำหรับมอบให้ นศ. ไปศึกษาล่วงหน้า    เอกสารนี้อาจเป็นบทหนึ่งในหนังสือ บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ หรืออื่นๆ    อาจแจกเอกสารแก่ นศ. แต่ละคน    หรือเอา pdf file ไปไว้บน เว็บไซต์ ให้ นศ. Print เพื่ออ่านและเขียนหรือทำเครื่องหมายบนกระดาษได้ 
  2. ครูคิดคำสั่งเพื่อเขียนใบงานมอบให้ นศ. ใช้เป็นคู่มือประกอบการอ่าน และการเตรียมมาอภิปรายกับเพื่อนๆ
  3. แจกเอกสารบอกคำสั่งหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการอ่านและการเตรียมตัวอภิปราย    โดยมีเรื่อง Identifying Good Seminar Behaviors ด้วย    โดยเอกสาร Identifying Good Seminar Behaviors นี้แนะนำ ๓ ประเด็นหลักคือ  (๑) เสนอประเด็นสำคัญ  (๒) ทำให้การอภิปรายลงลึก  (๓) ช่วยให้กลุ่มค้นหาประเด็นความรู้เพิ่มเติม    โดยในแต่ละประเด็นหลักมีรายละเอียดมาก    ครูทุกคนควรอ่านเอกสารนี้  เอาไว้แนะนำ นศ.
  4. นศ. ทำการบ้าน โดยอ่านเอกสารและทำเครื่องหมาย   แล้วเรียงลำดับความสำคัญของประโยคหรือข้อความที่ตนคิดว่าสำคัญ หรือยังเข้าใจไม่ชัดเจน   และเตรียมคำพูดหรือประโยคสำหรับมาอภิปราย   นอกจากนั้นยังเขียนเรียงความสั้นๆ ตามที่ครูกำหนดในคำสั่ง   สิ่งเหล่านี้คือใบผ่านหรือตั๋วเข้าชั้นสัมมนานี้  
  5. ครูจัด นศ. เป็นทีมสัมมนา ทีมละ ๔ - ๖ คน    นศ. ที่ไม่มีใบผ่านเข้าชั้นไม่ได้ หรืออย่างมากได้เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ 
  6. นักเรียนในทีมแต่ละคนผลัดกันบอกว่าประโยคหรือข้อความสำคัญของตนอยู่ที่หน้าไหน บรรทัดไหน แล้วอ่านออกมาดังๆ    คนอื่นๆ ฟังและอาจทำเครื่องหมายบนกระดาษ   แต่ห้ามถามหรือโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น
  7. หลังจาก นศ. ทุกคนในทีมได้เสนอแล้ว ให้ นศ. แต่ละคนได้ให้ความเห็นต่อสิ่งที่ตนได้ฟังจากเพื่อน ๑ - ๒ คน  
  8. หลังจากนั้น เข้าสู่การอภิปรายทั่วไป   ใครจะถามหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับบทเรียนได้ทั้งสิ้น    เพื่อให้ได้การเรียนรู้ที่มีความหมายลึกและเชื่อมโยงที่สุดเท่าที่จะทำได้    โดยเชื่อมโยงกับสาระในเอกสาร
  9. หลังจบการอภิปราย นศ. เขียน ข้อเรียนรู้ หรือ AAR หรือ reflection ของตน   แล้วส่งครู        

 

ตัวอย่าง

วิชาวรรณคดีอเมริกันเบื้องต้น

ใช้การสัมมนาหลายครั้งใน ๑ รายวิชา    เช่นให้อ่านหนังสือ East of Eden โดย จอห์น สไตน์เบ็ค   แล้วจัดสัมมนาเรื่อง การอพยพย้ายถิ่นกับวรรณคดีอเมริกัน    ให้ นศ. ทำเครื่องหมายในหนังสือ และเขียนเรียงความสั้นๆ เพื่อตอบสนองคำถามของครูว่า “เมื่อ Sam และภรรยาชื่อ Liza อพยพมาอยู่สหรัฐอเมริกา   เขานำอะไรมาจากบ้านเดิม เพราะอะไร”   “การดำรงชีวิตใน สรอ. เปลี่ยนแปลงตัวเขา และลูกๆ อย่างไรบ้าง”   “ครอบครัวนี้เผชิญความท้าทาย และได้รับโอกาสใน สรอ. อย่างไรบ้าง” 

 

วิชามานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรม (Cultural Anthropology)

ครูต้องการให้ นศ. เข้าใจมิติทางมานุษยวิทยาในโลกยุคปัจจุบัน จึงกำหนดให้อ่านบทความ The Challenging Face of  Bhutan,  แล้วจัดสัมมนา    โดยครูแนะนำให้ นศ. เอาใจใส่ประเด็นด้าน การจัดองค์กรการเมือง  ภาษา  ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต  ศาสนา  และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  ที่ นศ. เคยเรียนมาแล้ว    และให้เขียนคำตอบต่อคำถามต่อไปนี้

  • ระบุ ๓ ตัวอย่างที่ผู้เขียนระบุ ว่าประเพณีกับการเปลี่ยนแปลงหลอมรวมกัน ในภูฏาน
  • อภิปรายความกังวลใจ ๓ ประการ ของนักมานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรม ต่อผลกระทบของวัฒนธรรมตะวันตก ต่อวัฒนธรรมภูฏาน

 

                การปรับใช้กับการเรียน online

แม้วิธีการนี้คิดขึ้นสำหรับการอภิปรายแบบเห็นหน้ากัน   แต่ก็จัดให้เป็นการอภิปราย online ได้

 

 คำแนะนำ

นศ. ต้องการคำแนะนำวิธีอ่านอย่างมีวิจารณญาณ  และการร่วมในการอภิปรายอย่างถูกต้อง    วิธีการง่ายๆ คือขีดเส้นใต้ หรือเขียนคำถามหรือคำหลัก ไว้ที่ที่ว่างด้านซ้ายหรือขวา ใน ๓ ประเด็น

  1. ข้อความว่าอย่างไร
  2. ข้อความนั้นหมายความว่าอย่างไร   หรืออ่านระหว่างบรรทัด
  3. เรื่องนี้สำคัญอย่างไร (แลกเปลี่ยนความเห็นของตน)

 

ความเห็นของผม

ความสามารถของครู ในการตั้งคำถามนำเพื่อเตรียมให้ นศ. อ่านเอกสารอย่างมีเป้าหมาย  มีความสำคัญมาก  

หากนำมาใช้ในบริยทไทย ควรมีคะแนนเก็บจากกิจกรรมสัมมนานี้ด้วย    มิฉนั้น จะมี นศ. บางคนเลี่ยงการเข้าร่วม

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Harnish J (2008). What is a seminar? Seminar process to encourage participation and listening. Identifying good seminar behavior. (ผมหา ลิ้งค์ ของบทความนี้ไม่พบ)

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ต.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 505554เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2012 07:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขาว่ากันว่า มีคะแนน อยู่หนใด นิสิตนักศึกษา อยู่หนนั้น ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท