ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 23. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (3) บันทึกช่วยจับประเด็น


นี่คือเทคนิคฝึก นศ. ให้มีทักษะในการอ่าน สำหรับใช้ในการเรียนรู้ของตนเองตลอดชีวิต

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 23. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (3) บันทึกช่วยจับประเด็น  

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๒๓ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 3 : Focused Reading Notes   

 

SET 3  บันทึกช่วยจับประเด็น  

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การเขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

นี่คือเทคนิคฝึก นศ. ให้มีทักษะในการอ่าน สำหรับใช้ในการเรียนรู้ของตนเองตลอดชีวิต    ทำโดยครูพิจารณาว่าในบทเรียนในหนังสือ หรือเอกสารที่มอบหมายให้ นศ. อ่าน มีประเด็นหลักหรือหลักการอะไรบ้าง ๓ - ๕ ประเด็นที่ต้องการให้ นศ. เรียนรู้   แล้วคิดหาคำหลัก (keyword) หรือวลีหลัก ของแต่ละประเด็น   สำหรับให้ นศ. ใช้เป็นแนวทางในการอ่านหนังสือ และทำโน้ตย่อจดสาระสำคัญ หรือความเข้าใจของตน ตามประเด็น   

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. กำหนดว่าในหนังสือหรือเอกสารที่มอบหมายให้ นศ. อ่าน มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง    สมมติว่าให้อ่านหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ภาค ๑ ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑   ครูอาจกำหนดคำหลักดังต่อไปนี้ “ครูทำอะไร ไม่ทำอะไร”   “ศิษย์เรียนอะไร”  “เรียนอย่างไร”  “ทักษะต่างจากความรู้อย่างไร”   “ทำไมต้องพัฒนาสมอง ๕ ด้าน”  เป็นต้น  
  2. เอาคำหลักมาเป็นหัวข้อบรรจุลงตารางในกระดาษ   และครูอาจกรอกข้อความเป็นตัวอย่างลงในบางหัวข้อ
  3. ทำเป็นกระดาษตารางแจก นศ. ให้ นศ. ไปกรอกตอนอ่าน
  4. ตอนแจกกระดาษตาราง อธิบายให้ชัดเจน ว่ากระดาษจะช่วยให้ “การอ่านเอาเรื่อง” ง่ายขึ้นอย่างไร
  5. เมื่อ นศ. อ่าน   ก็จะคอยตรวจสอบหาประเด็น และบันทึกลงในตาราง
  6. นศ. ส่งโน้ตต่อครู (เพื่อให้ครูประเมินการเรียนรู้ของ นศ. เป็นรายคน)   หรือใช้เป็นประเด็น ลปรร. กับเพื่อน 

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ใช้ได้ง่ายมาก

 

 การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

  • อาจใช้ “บันทึกประเด็นน่าสนใจ” สำหรับฝึกการจับประเด็นจากการอ่าน ในตอนต้นเทอม   ก่อนจะเข้าสู่บทเรียนที่ยากหรือซับซ้อน
  • ครูอาจทำกระดาษคั่นหนังสือแจก นศ.   ที่กระดาษมีคำแนะนำให้ นศ. ปฏิบัติในระหว่างอ่าน   ตัวอย่างคำแนะนำ  :

-               เขียนบันทึกประเด็นสำคัญ

-               เขียนสิ่งที่ได้อ่านด้วยถ้อยคำของท่านเอง

-               วาดภาพหรือสัญลักษณ์เพื่อช่วยความจำ

-               บันทึกสิ่งสำคัญ เช่นคำพูด

-               สร้างความสัมพันธ์กับสิ่งที่ท่านรู้แล้ว หรือประสบการณ์ของท่าน

-               เชื่อมโยงตำราเล่มนี้กับอีกเล่มหนึ่ง

-               เขียนคำถาม ๒ คำถาม ที่ตอบได้ด้วยสาระที่ได้อ่าน

-               จงทำนายว่าจะมีเรื่องอะไรต่อไป

-               ระบุส่วนที่สับสน

-               เขียนคำถามที่ต้องการคำตอบ

-               จงให้ความเห็นต่อสิ่งที่ได้อ่าน

-               สร้างคำอุปมา

 

คำแนะนำ

ต่อไปเมื่อ นศ. มีทักษะในการกำหนดประเด็นสำคัญ   ครูก็ไม่ต้องทำตารางให้

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Bean JC. (1996) Engaging ideas : The professor’s guide to integrating writing, critical thinking, and active learning in the classroom. San Francisco : Jossey-Bass, p. 144.

วิจารณ์ พานิช

๙ ต.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 505091เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท