เรื่องเล่าจากคณะพยาบาลศาสตร์


ยามค่ำคืนที่แสนเดียวดายเพราะขาดความรู้และคำตอบที่ชัดเจนอันเป็นปัญหาของนักศึกษาพยาบาล คงเป็นค่ำคืนที่พร้อมจะนำแผนการพยาบาลไปให้กับผู้ป่วยด้วยใจที่ปิติยินดี ซาบซึ้งคุณค่าของวิชาชีพที่เกิดประโยชน์แก่สังคม

เรื่องเล่าจากคณะพยาบาลศาสตร์

ทิพยวรรณ นิลทยา
                เสียงสวดมนต์และกล่าวคำปฏิญาณในยามเย็นของนักศึกษาพยาบาลกระหึ่มไปทั่วคณะ เสียงดังกล่าวบ่งบอกถึงคำมั่นสัญญาที่จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ปฏิบัติในทางที่มีคุณ เพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ทั้งปวงราตรีนี้เพิ่งเริ่มต้น ด้านหน้าคณะมีโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยคับคั่ง และญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยียน หากไม่มีเสียงสวดมนต์นี้หากฟังดีๆจะพบว่ามีเสียงความเจ็บปวดแทรกแว่วๆเป็นระยะ
                หลังจากการสวดมนต์แล้ว อาจารย์เวร และนักศึกษาเวรสุขภาพจะแจ้งเรื่องราวต่างๆให้กับสมาชิกได้รับทราบ รวมทั้งการค้นหาและดูแลนักศึกษาที่มีการเจ็บป่วย ดูแลด้วยองค์ความรู้เบื้องต้นทางการพยาบาล จากนั้น นักศึกษาทุกคนเริ่มปฏิบัติภารกิจของตนเอง อาจมีการจับกลุ่มเข้ากลุ่มเพื่อเริ่มทำงานตามที่อาจารย์มอบหมายในแต่ละรายวิชา  เสียงอื้ออึงสอบถามภารกิจที่ได้รับมอบหมายดังเพิ่มขึ้น เริ่มมีการจับจองสถานที่บริเวณใต้อาคารเรียนที่เรียกว่า ห้องสีชมพู ที่นี่มีโต๊ะนั่งเป็นกลุ่ม มีอินเตอร์เน็ตไร้สาย และปลั้กมากมายสำหรับไว้บริการ พร้อมๆกับความมืดที่เข้าปกคลุม เหล่านี้ล้วนเป็นชีวิตประจำวันที่นักศึกษาพยาบาลต้องพานพบ และเป็นสีสันที่นักศึกษาพยาบาลทุกคนในคณะพยาบาลศาสตร์ได้พบเจอ
                คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2505 มีพัฒนาการทั้งการตั้งชื่อและหลักสูตรมาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา  เดิมเป็นโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลนราธิวาส วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส และปัจจุบันเป็นคณะหนึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ความเป็นมาดังกล่าวชวนให้นึกถึง เพลงมาร์ช คณะพยาบาลศาสตร์ ที่ว่า
                สถาบันการศึกษาพยาบาล             ที่ตั้งมายาวนานชายแดนใต้
เพื่อตามรอยพระมารดาพยาบาลไทย               ด้วยดวงใจทุกเมื่อเอื้ออาทร
                พยาบาลประสานใจเพื่อชุมชน        เด่นด้วยธรรมงามล้นหนทางสอน
ร่วมใจกันสมานฉันท์ไม่สั่นคลอน                ดุจดังพรคงมั่นคู่แผ่นดิน
                ช่อดอกปีบสีขาวพราวดูเด่น       ประจักษ์เห็นในสายตาประชาถิ่น
งามน้ำใจใฝ่ศึกษาซี่งอาจินต์                      มิลืมสิ้นกรุณาและปราณี
                พยาบาลศาสตร์เรานราธิวาส      ต่างมุ่งมาดนำชีวาพาสุขศรี
พวกราพร้อมจะตั้งมั่นสร้างความดี              เพื่อความสุขทุกชีวีน้องพี่ชาวไทย
                นับเป็นเรื่องแปลกไม่น้อยที่สถาบันแห่งนี้ตั้งมานาน และอยู่ในพื้นที่ที่มีความไม่สงบ แต่มีผู้มาสมัครเข้าเรียนวิชาชีพมากมาย บิดามารดาต่างรู้สึกภาคภูมิใจที่ลูกได้เข้าเรียนพยาบาล นักศึกษาเองมีการเรียนรู้ที่จะดำรงตนอยู่ท่ามกลางความสงบ ยึดหลักศาสนาเป็นที่ตั้ง นั่นหมายถึงว่า สถานการณ์ไม่สามารถบั่นทอนความมั่งมั่นในการก้าวเข้าสู่วิชาชีพพยาบาล อันเป็นวิชาชีพที่สังคมให้เกียรติว่าสำคัญและขาดเสียไม่ได้
                ลมเย็นพัดมาเป็นระยะ แสงไฟยังสว่างไสวแม้นจะใกล้เที่ยงคืนแล้ว นักศึกษาแทบทุกคนนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ คิ้วเริ่มขมวดเข้าต่างกับบรรยากาศในช่วงเริ่มต้นอย่างลิบลับ หวนให้คิดว่า หากยามนี้ได้เอนกายลงนอนในหอพักคงสุขไม่น้อย
 “ดะห์ อาการปัจจุบันเขียนยังไง?”เสียงนักศึกษาสอบถามจากเพื่อน ยามเที่ยงคืนนี้หรือแม่หนูน้อย เพิ่งเริ่มกรอกข้อมูลในส่วนแรก
“แล้วที่เขียนนี่ใช่อาการปัจจุบันหรือปล่าว?” เอาล่ะแม่หนูที่เป็นเพื่อนก็เริ่มงงหลังจากที่เพื่อสอบถาม
“ขอดูข้อวินิจฉัยการพยาบาลของเธอหน่อย เขียนยังไง” แม่หนูของเราเริ่มสร้างสัมพันธภาพ เกิดการพัฒนานวัตกรรม
“เราก็เลียนแบบที่อาจารย์แจกชีท” แม่หนูอีกคนช่างเป็นศิษย์มีครุดีแท้ เลียนแบบเสียทุกอย่าง แล้วอาการผู้ป่วยที่แตกต่าง อีกทั้งบริบทอื่นๆจะเหมือนกับตัวอย่างของอาจารย์ได้อย่างไร
เสียงฝีเท้าวิ่งเข้าใกล้ นักศึกษาทุกคนหันไปมอง ในใจคงนึกตำหนิว่า ใครหนอช่างวิ่งมายามดึกดื่นเที่ยงคืนเช่นนี้
“เธอช่วยส่งPlan เป็นตัวอย่างให้เราหน่อย เพิ่งกลับจากซ้อมบอลมาขออนุญาตลุงยามเข้ามาแป๊บเดียว Copy ไม่ทัน ส่งให้เราทางเมลล์นะ พรุ่งนี้จะได้มีส่งอาจารย์ที่วอร์ด” เสียงห้าวๆกล่าวแล้วเดินจากไปอย่างเร่งรีบ สาวๆมองหน้ากันเหลอหลาจะส่งให้เพื่อนชายได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังไม่เสร็จ
ความทุกข์ของการเรียนพยาบาลเริ่มเกิดขึ้นยามนี้ หลังเที่ยงคืน ความภาคภูมิใจ ความมีเกียรติ การเป็นวิชาชีพที่มีคุณค่าต่อสังคมบดบังความง่วงหงาวหาวนอนไม่ได้เสียแล้ว แล้วจะไปถึงฝั่งของความเป็นพยาบาลได้อย่างไร ช่างทุกข์ทรมานเหลือเกิน คำถามเริ่มเกิดึ้นในใจ ทำไมต้องวางแผนการพยาบาลช่างยุ่งยากเหลือเกิน
อาจารย์พยาบาลที่รักรับรู้ถึงความทุกข์ของศิษย์เหล่านี้ เข้าใจความทุกข์ที่เกิดเพราะประสบการณ์ในชีวิตนักศึกษาพยาบาลยังตราตรึง แถมบอกให้ศิษย์รู้สึกดีว่า สมัยนี้ยังดีนะคะ สมัยครูอาจารย์ Google ไม่มีครูต้องรีบเข้าจับจองหนังสือในห้องสมุดก่อนห้องสมุดปิด เหนื่อยกว่าหนูเยอะบางคืนที่ต้องวางแผนการพยาบาลครูแทบไม่ได้นอนจนถึงรุ่งเช้า แต่งตัวแล้วขึ้นวอร์ดเลย
เอ...อาจารย์ขาคุณภาพการพยาบาลจะเกิดหรือไม่?

ห้องเรียนในฝัน...เป็นอย่างไร

ห้องเรียนในฝันวันนี้ของนักศึกษาพยาบาล ที่อยากให้มีน่าจะสอดคล้องกับ การจัดการความรู้ในโมเดลปลาทูของ สคส.ดังนี้
  1. ห้องเรียนที่อาจารย์และนักศึกษามีส่วนร่วม
เป็นการกำหนดในส่วนหัวปลา ตัวอย่างเช่น
“ทำอย่างไรให้นักศึกษาพยาบาลสามารถวางแผนการพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพและเกิดความสุข”

แค่คิดประเด็นนี้ เชื่อว่านักศึกษาคงสุขขึ้นมากมาย อาจารย์ไม่ใช่คำเฉลยสุดท้าย แต่เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ที่อยู่ข้างๆช่วยให้นักศึกษาที่เริ่มหัดเดินๆให้เดินตรงทาง โดยไม่หกล้มและกลัวการเดินนี้เสียก่อนจะช่วยสร้างความรู้สึกรักในวิชาชีพพยาบาลให้เกิดขึ้นเหมือนเมื่อแรกเข้าด้วย..อิ่มใจที่ได้คิดประเด็นห้องเรียนในฝันนี้ค่ะ

2.ห้องเรียนที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ตรงจริตของนักศึกษาในปัจจุบัน
ห้องเรียนนี้ต้องเกิดจากความต้องการของนักศึกษาและความร่วมมือของอาจารย์ทุกท่าน ความใกล้ชิด สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์พยาบาลและนักศึกษาจะส่งผลความห่วงใยของอาจารย์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม หรือ อาจใช้ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาได้เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้ระบบเข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้เหมือนเราสอนการบ้านลูกๆที่บ้าน ถือเป็นหน้าที่และสร้างจิตสำนึกของอาจารย์ในการสร้างจิตอาสาท่ามกลาง สถานการณ์ความไม่สงบ อาจารย์ไม่ต้องเดินทางกลับบ้านมืดค่ำเพราะเสี่ยงอันตราย
ในยุคปัจจุบันนักศึกษาแทบจะอยู่ในโลก Online  อาจารย์เองก็ไม่แตกต่างเช่นกันสาะวนที่จะส่งผ่านความรู้ ความคิดเห็น..ผ่านสื่อเครือข่ายสาธารณะ...ตรงกับจริตทั้งอาจารย์และนักศึกษาเลยเชียว ถึงตอนนี้แล้วทำใไ้หวนคิดถึงคำบรรยายของท่านอาจารย์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ท่านได้บรรยายเรื่อง แนวโน้มนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ผู้ทำหน้าที่อาจารย์ต้องรู้เท่าทันความต้องการของนักศึกษา พยายามเรียนรู้และใช้สื่อต่างๆที่นักศึกษาชอบให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การใช้มือถือ การใช้สื่อสาธารณะอื่นๆที่นักศึกษาชอบและมีความสุขที่สำคัญต้องฝึกให้นักศึกษารู้จักการใช้งานให้เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม
ช่องทางที่พบบ่อย คือ face book นอกจากเรื่อสัปเพเหระแล้วน่าจะได้ประโยชน์จากส่วนนี้เพราะมีผู้เป็นสมาชิก เป็นเพื่อนกันมาก หรือช่องทางที่เห็นหน้าเห็นตากันก็ได้ เช่น Twitter แต่อาจารย์หลายท่านอาจไม่สะดวกเพราะรู้สึกเหมือนมีคนมาเยี่ยมเยียนถึงเตียงนอน

จากประสบการณ์นักศึกษาส่งงานให้ตรวจ ขอคำปรึกษา Mail และ Facebook โต้ตอบกันในช่วงเวลากลางคืน ทั้งครูและศิษย์สนุกมาก นอกจากช่องทางที่กล่าวถึงมีอีกหลายช่องทางที่ส่งงานกันได้ เช่น Dropbox

3.ห้องเรียนที่มีการจัดเก็บบทเรียนไว้เป็นหมวดหมู่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้
งานนี้จะต้องพึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Web log ของ Gotoknow หรือสร้างขึ้นมาใช้เฉพาะหากต้องการพอทักษ์สิทธิผู้ป่วย ไม่ต้องการให้ความลับของผู้ป่วยถูกเปิดเผย แต่จริงๆแล้วก็ไม่ได้เปิดเผยส่วนที่ต้องปกปิดอยู่แล้ว เพราะทุกคนคำนึงถึงสิ่งๆเหล่านี้เป็นสำคัญและเป็นการสอนให้นักศึกษาเกิดจริยธรรมทางการพยาบาลด้วยประสบการณ์ตรงของการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ ที่มีการสื่อสารสองทาง มีชีวิตชีวา มีความอบอุ่นซ่อนอยู่ภายในคำปรึกษานั้นๆ ตลอดจนกำลังใจ และถ่ายทอดความเป็นวิชาชีพพยาบาลสู่ผู้กำลังก้าวเข้าสูวิชาชีพ ดีกว่าชีทที่อาจารย์ให้มากมาย นอกจาก เครือข่ายภายในแล้วจะได้เครือข่ายภายนอกเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งนักศึกษาจากสถาบันอื่น ทั้งพี่พยาบาล อาจารย์พยาบาล รวมทั้งประชาชนที่สนใจ ถือเป็นการมองครบระบบที่คำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย และเคารพผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วย
               หากสามารถทำได้ นักศึกษาสามารถตั้งสติ ได้รับรู้ ได้ยินเสียงความต้องการของผู้ใช้บริการแม้จะอยู่ท่ามกลางไฟใต้ แต่บริการพยาบาลที่เกิดจากน้ำมือ น้ำใจ และน้ำคำของนักศึกษาพยาบาลตัวน้อย ผู้ที่อนาคตจะก้าวเข้าสู่บทบาทพยาบาลวิชาชีพ เป็นความหวังและเป็นที่พึ่งของสังคม คงสร้างประทับใจไม่น้อย ที่เช้าวันนี้จะมีรอยยิ้มของนักศึกษาพยาบาบที่ขึ้นมาให้การพยาบาลด้วยสีหน้าสดชื่น ไม่ใช่นักศึกษาพยาบาลที่กลายพันธ์เป็นหม่แพนด้าตาเขียวคลำ้าเพราะอดนอนจากการเขียนแผนการพยาบาลทั้งคืน  เกิดความสุขทั้งตัวนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ และที่สำคัญคือ ประชาชน ดังเพลงมาร์ชนักศึกษาพยาบาลที่นำมาจากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า
                อันความกรุณาปราณี           จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ        จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน....

 คำ่คืนที่แตกต่างของสายฝนพรำ ...สายลมเย็นพัดเอื่อย... พระจันทร์วันเพ็ญที่ที่สุกสกาว ..แม้ความสว่างไสวของดาวในท้องฟ้า...ธรรมชาติดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิตใจนักศึกษาพยาบาลให้งดงามยิ่งขึ้นในยามคำ่คืนที่รุ่งเช้าจะต้องออกฝึกปฏิบัติงานให้การพยาบาลกับผู้ป่วยและผู้ใช้บริการ

ช่างเป็นคำ่คืนที่มีความสุข...บนหอพักนักศึกษาพยาบาล...หากมีห้องเรียนในฝันนี้อยู่เคียงข้าง

สามาารถส่งใจ...กลับไปหา...พ่อแม่ที่ภาคภูมิใจ...ที่ลูกได้เรียนพยาบาล...สร้างความกตัญญูให้เกิดขึ้นในใจ...ได้ทุกวัน

สามารถสืบทอดปณิธาน...ที่ตั้งใจมาเรียนพยาบาล เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้อื่น...ผู้ที่มีความทุกข์ทางกาย... ผู้ที่ีมีปัญหาทางใจ...ด้วยจิตใจบริสุทธิ์งดงาม...ของนักศึกษาพยาบาลตัวน้อย

ถึงกระนั้นแล้ว...เราจะไม่ร่วมกันสร้าง...ความดีงามเหล่านี้...ให้เิกิดขึ้นกับวิชาชีพพยาบาลกันหรือ?

ด้วย...ห้องเรียนในฝัน...ที่นักศึกษาต้องการ

คงไม่ใช่เพียงฝัน...แต่ต้องสานต่อฝันให้เป็นจริง...

ห้องเรียนในฝัน..คงอยู่ไม่ไกล..เกินใจจะไขว่คว้า..

               
 
หมายเลขบันทึก: 505005เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณกับบทความดี ๆ ครับ

คณะพยาบาลศาสตร์

พยาบาล นั้นคำนี้แท้ที่จริง เป็นคำเดียวกันนะครับ

มานี้จากคำว่า วฺยาปาล แปลว่า วุ่นวาย ไทยนำมาใช้ เปลี่ยน ว เป็น พ กลายเป็น พยาบาล

ทำไมถึงชื่อนี้ เพราะว่าพยาบาลนั้น เมื่อเช้าขึ้นมาจะเห็นได้ว่า เเทบจะไม่มีเวลาพักเลยนะครับ วิ่งไปวิ่ง อาการแบบนี้ดูแล้ว วุ่นวาย จึงเป็นที่มาของคำ ไม่ใช่มาจากคำว่า พยา (ใหญ่) บาล (ดูแล, รักษา) นะครับ คนมักเข้าใจผิด

บางแห่งอาจจะวุ่นวาย 24 ชม.ก็ได้นะครับ อย่างเช่นภาคใต้ คิดแล้วก็เหนื่อยนะครับ แต่ะวันคงวุ่นายงานที่ทำปรกติและงานด่วนนะครับ

ดีครับชอบ

  • น่าชื่นชมการเขียนของอาจารย์
  • มีหลายเรื่องน่าสนใจมาก

ขอบคุณกำลังใจจากท่าน kun..nulek

ลูกสายลม
ขจิต ฝอยทอง
ชลัญธร
ทองหยอด

หากไม่มีข้อเสนอแนะคงนำสู่การปฏิบัติได้ยากยิ่งค่ะ

อ่านแล้วคิดถึงสมัยเป็นนักศึกษา

ลงward ต้องรีบไปห้องสมุด ยืมหนังสือ สมัยนั้นต้องมีสมุดประตัวตัวห้องสมุด ไว้ประทับตรา ยืมได้คนละไม่เกิน 5 เล่ม ต้องแบกหน้งสือหนาๆ กลับห้อง เริ่มเขียนงาน ข้อมูลที่รวบรวมนำมาวางแผนการพยาบาลส่ง สัปดาห์ละ 1case กว่าจะเสร็จ......... วันไหนมีกิจกรรมพิเศษ ก็เริ่มเขียนดึกหน่อย .ต้องตื่นเช้าเดี๋ยวไม่ทันรถ รับเวรไม่ทัน

ตอนทำงาน.........ก็ต้องตื่นแต่เช้า เดี๋ยวไม่ทันรับเวร เหมือนกันคะ

ขอบคุณคุณพยาบาล
กระติก~natachoei ที่ มีความหลังร่วมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท