ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ HR ก้าวหน้าขึ้นหรือไม่


ผมนั่งคิดเล่นๆ ดูว่า ในปัจจุบันนี้เรื่องของเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก และไปอย่างรวดเร็วมากด้วย ยังจำได้อยู่เลยว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังไม่มี tablet ให้ถูๆ กันเลย แต่ตอนนี้เห็นคนส่วนใหญ่เดินถือ และถูหน้าจอกันเต็มกรุงเทพไปหมด นี่คือความก้าวหน้าอันรวดเร็วของเทคโนโลยี และคิดว่าน่าจะก้าวไปอีกมากด้วย เลยมานั่งย้อนนึกดูว่า แล้วความก้าวหน้าทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลล่ะ มันรวดเร็วเหมือนเทคโนโลยีหรือไม่อย่างไร

ผมคิดว่า ปัจจุบันนี้เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาประกอบการบริหารทรัพยากรบุคคลมากกว่า ตัวแนวคิดของการบริหารทรัพยากรบุคคลก็มีการเติบโตไปตามสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในทางปฏิบัติน้อยองค์กรที่จะสามารถทำได้ตามแนวคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Strategic HRM หรือ HRD ก็ตาม บางคนยังงงอยู่เลยครับว่า คำว่ากลยุทธ์นั้น มันคืออะไรกันแน่ แล้วสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่นั้นเรียกได้หรือเปล่าว่าเป็นกลยุทธ์

ผมก็เลยนั่งวิเคราะห์เล่นๆ ในมุมของงาน HR แต่ละด้านว่าในอดีตสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ได้เป็นอย่างปัจจุบัน (เอาสัก 20 ปีที่แล้วที่ผมเริ่มต้นทำงาน) มาเทียบกับยุคปัจจุบัน ที่เทคโนฯ ก้าวไกลไปมากแล้ว จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างลองมาดูกันนะครับ

  • การสรรหาคัดเลือก ในอดีตก็สรรหา โดยวิธีการประกาศรับสมัครผ่านทางหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ ปัจจุบันก็ผ่านทางเว็บไซต์มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป แต่การคัดเลือก 20 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ ก็คือ ใช้การสัมภาษณ์โดยต้องอาศัยผู้สัมภาษณ์นั่งพิจารณาเหมือนเดิม เราไม่สามารถให้หุ่นยนต์สัมภาษณ์ได้ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในแง่ของความรวดเร็ว แม่นยำ แต่ไม่สามารถเข้ามาตัดสินใจแทนผู้คัดเลือกได้เลย
  • การพัฒนาบุคลากร อดีต ก็ใช้วิธีการหา Training Needs แล้วก็มาหาหลักสูตร ซึ่งปัจจุบัน ก็เน้นไปที่การใช้ Competency ในการวางแผนพัฒนา และการจัดทำ Training Roadmap ก็ถือได้ว่ามีการพัฒนาไปไกลทีเดียว มีการ Focus ไปที่ core value มากขึ้น ไม่พัฒนากันสะเปะสะปะ ให้เปลืองงบประมาณกัน สิ่งที่เทคโนโลยีช่วยได้มากในเรื่องการพัฒนาคน ก็คือ เครื่องมือในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ต่างๆ blog webcast webinar ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ทำให้เรื่องของการเรียนรู้ของคนเราทำได้ง่ายขึ้น และทำได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผมเคยประสบมา จะหัดเล่นดนตรีสักอย่างมันช่างหาแหล่งเรียนยากเหลือเกิน แต่ปัจจุบันเปิดเว็บ เปิดยูทูบ ก็มีให้ดู และเล่นตามกันไปได้โดยไม่ยากเลย
  • การบริหารค่าจ้างเงินเดือน เรื่องค่าจ้าง 20 ปีที่แล้วบริหารอย่างไร ปัจจุบันแทบไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเลย เนื่องจากเรื่องของการบริหารค่าจ้างนั้น โดยหลักการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก สิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะก็คือ ความต้องการของคน ซึ่งนักบริหารค่าจ้างจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในการบริหารค่าจ้างให้สอดคล้องไปกับความต้องการของพนักงานในแต่ละรุ่น หรือพูดในอีกนัยหนึ่งก็คือ อดีตเราบริหารค่าจ้างแบบ mass พนักงานได้แบบเหมาๆ เหมือนกัน แต่ปัจจุบันจะบริหารค่าจ้างเน้นไปที่ ปัจเจกบุคคลมากขึ้น หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Customize มากขึ้นนั่นเอง ในอนาคตข้างหน้าบริษัทอาจจะต้องบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานแต่ละคนแบบแตกต่างกันออกไปเลยก็เป็นได้นะครับ
  • การประเมินผลงาน เรื่องนี้ผมคิดว่าเปลี่ยนน้อยมากเลยครับ ปัญหาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหานั้นเกิดขึ้นอยู่ และผมคิดว่าอนาคตก็คงจะเกิดขึ้นอีกเช่นกัน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ไม่ได้ช่วยทำให้หัวหน้าสามารถประเมินผลงานลูกน้องได้ดีขึ้นเลย ทั้งนี้ก็เพราะการประเมินผลงานนั้นขึ้นอยู่กับคนประเมินมากกว่าเทคโนฯ ถึงแม้อนาคตเราจะเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่เรื่องของการประเมินผลงานก็ยังคงต้องอาศัยดุลยพินิจของคนประเมินอยู่ดีครับ การมีเทคโนโลยีที่ดีช่วยได้แค่เพียงลดการใช้กระดาษที่เป็นแบบฟอร์มลงเท่านั้นเอง
  • การบริหารแรงงานสัมพันธ์ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเทคโนโลยีอันทันสมัยไม่ค่อยจะช่วยอะไรได้มากนัก ตรงกันข้าม ยิ่งมีความเจริญทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ของคนเรายิ่งดูห่างเหินมากขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เรามีสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างแนบแน่นแต่อย่างใด ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ใน Facebook ใครมีเพื่อนเป็นพันๆ คน ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้จักกับคนทั้ง 1,000 คนจริงๆ ผิดกับในอดีต เวลาเรารู้จักใคร เราจะรู้จักอย่างดี และลึกซึ้งมาก ไม่ฉาบฉวยเหมือนในปัจจุบัน หรือ บางครั้งผมเห็นเพื่อนกันเดินด้วยกัน แต่ทั้งคู่คุยโทรศัพท์กับคนอื่นทั้งๆ ที่เดินอยู่ด้วยกัน แต่ในอดีตเท่าที่ผมจำได้ ไม่เคยมีแบบนี้ เวลาเดินกับกลุ่มเพื่อนๆ เราจะเฮฮา คุยกันเสียงดัง มีความรู้สึกเชื่อมถึงกันมากกว่าปัจจุบัน ที่คุยได้แป๊ปๆ ก็หันไปคุยโทรศัพท์บ้าง กด whatsapp บ้าง Line กันบ้าง ฯลฯ ยิ่งว่ากันในเรื่องของแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรด้วยแล้ว ยิ่งห่างไกลกันออกไปมากขึ้น เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ดีขึ้นสักเท่าไหร่

มีตัวอย่างหนึ่งที่ผมเห็นแล้วก็ขำๆ มีบางบริษัทพยายามสร้างระบบการประเมินผลงานผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย ไม่ต้องมีกระดาษอีกต่อไป เวลาประเมินก็แค่ login เข้าไปในระบบ แล้วเราก็สามารถกำหนด KPI เข้าไปได้ และสามารถที่จะประเมินพนักงานได้ทันทีโดยผ่านระบบ คนที่วางระบบนี้มีความคิดในใจว่า

“เมื่อไหร่ที่ระบบนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว การประเมินผลงานของบริษัทเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเราใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาใช้”

แต่สุดท้ายระบบเสร็จ การประเมินผลงานกลับไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ยังคงออกมาเหมือนแบบเดิมๆ ทั้งนี้ก็เพราะการประเมินผลจะต้องเริ่มต้นจากภายในของคนประเมินก่อนนั่นเองครับ การใช้เครื่องมือประเมินผลที่ทันสมัยไม่ได้ช่วยให้คนประเมินดีขึ้นหรอกครับ ต้องไปเปลี่ยนที่คนประเมินก่อนเลย ถ้าคนประเมินเปลี่ยนแล้ว ต่อให้ใช้แค่กระดาษเปล่าก็ประเมินผลงานได้ครับ ไม่ต้องเอาโปรแกรมอะไรที่มันทันสมัยหรอกครับ

ทั้งหมดที่เขียนให้อ่านในวันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดเล่นๆ นะครับ ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเลยนะครับ มันทำให้ผมมองเห็นว่า การบริหารทรัพยากรบุคคลที่แท้จริงนั้น ต้องเริ่มต้นจากภายในตัวเรา และเรื่องอะไรก็ตามที่ต้องเริ่มต้นจากภายในตัวเราเองแล้ว เทคโนโลยีไม่ว่าจะเจริญแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยเราได้เลย เราจะต้องเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่มีต่อการบริหารด้วยตัวเราเองเท่านั้นจึงจะได้ผลครับ

หมายเลขบันทึก: 504996เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 06:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท