ร่วมรำลึก ๖ ตุลา


เคยมีคนบอกไว้ว่า เหตุการณ์ ๖ ตุลา แม้จะผ่านมานานแล้วก็ขอให้”เรา”อย่าลืมเหตุการณ์ ๖ ตุลา แต่ที่น่าคิดกว่านั้นก็คือว่า “เรา” ได้จำเหตุการณ์ ๖ ตุลาแล้วหรือยัง?

ร่วมรำลึก ๖ ตุลาด้วย

วันนี้(อาจจะช้าไปซักนิด) อยากขอรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ที่อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้กับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา(ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันนี้) บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ

เหตุการณ์ ๖ ตุลา ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรแต่ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก็คือ มีการทำร้ายชีวิตและร่างกายของคนไทยด้วยกันเองบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและคนไทยด้วยกันเอง(หรือที่มักเรียกว่าฝ่ายขวาในสมัยนั้น) และมีผู้ชุมนุมอีกหลายคนถูกจับกุมคุมขัง(ต่อมาภายหลังผู้ที่ถูกจับกุมเหล่านั้นก็ได้รับนิรโทษกรรม) ที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง อันเป็นสถานที่สาธารณะกลางเมืองหลวงของประเทศไทย

นอกจากนี้ เหตุการณ์ ๖ ตุลาเกิดขึ้นในระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของไทยมีผลใช้บังคับ นั่นคือ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๑๗ ที่เกิดจาก “สภาสนามม้า”อันโด่งดัง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก สมควรที่คนรุ่นหลังจะได้ศึกษาและเรียนรู้เหตุการณ์  ๖ ตุลา ในฐานะหลักฐานชิ้นสำคัญว่า การมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย แต่ในยุคสมัยคนรุ่นหนึ่งบ้านเมืองของเรากลับไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง คนรุ่นนั้นได้ใช้อารมณ์เกลียดชังเป็นเครื่องตัดสินฝ่ายตรงข้ามแล้วใช้กำลังเข้าทำร้ายอย่างโหดร้าย ผลที่เกิดขึ้นนอกจากจะปรากฎภาพการกระทำอันโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว บ้านเมืองของเราได้เข้าสู่สมัยการปกครองของรัฐบาลทหารอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลพลเรือนเข้ามาปกครองช่วงเวลาสั้นๆแค่สามปี นักศึกษา นักคิด นักเขียนจำนวนมากมายหลายคนในสมัยนั้นเลือกเดินเข้าป่า จับอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐบาล

ไม่รู้ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่หลายคนต้องการให้รัฐสอบสวนเหตุการณ์ ๖ ตุลา เพื่อเป็นการ “ชำระประวัติศาสตร์”อย่างมีหลักวิชาเพื่อหาคำตอบของสาเหตุที่ทำให้เกิดการเข่นฆ่าของคนไทยด้วยกันเองกลางเมืองหลวง แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐไทยจะไม่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ไม่มีการสืบสวนสอบสวนหาคนที่สั่งการทำให้เกิดเหตุการณ์ ไม่มีการประณามผู้ก่อความรุนแรง ไม่มีการกล่าวขอโทษผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากเหตุการณ์นั้น ไม่ทราบด้วยว่า รัฐได้สื่อสารสาธารณะให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีเหตุการณ์ ๖ ตุลา ปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือไม่

เคยมีคนบอกไว้ว่า เหตุการณ์ ๖ ตุลา แม้จะผ่านมานานแล้วก็ขอให้”เรา”อย่าลืมเหตุการณ์ ๖ ตุลา แต่ที่น่าคิดกว่านั้นก็คือว่า  “เรา” ได้จำเหตุการณ์ ๖ ตุลาแล้วหรือยัง?

คำสำคัญ (Tags): #รำลึก ๖ ตุลา
หมายเลขบันทึก: 505002เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท