ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 22. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (2) สิ่งของ


เทคนิคใช้สิ่งของเป็นเครื่องปลุกเร้าความสนใจของ นศ. เริ่มด้วยการที่ครูแจกสิ่งของ ซึ่งอาจเป็นรูปภาพ โปสเตอร์ กราฟ ตาราง หรือสิ่งของอย่างอื่น ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน แล้วให้ นศ. จับกลุ่ม ตอบคำถาม หรือทำกิจกรรมที่ครูมอบให้

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 22. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (2) สิ่งของ   

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๒๒ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 2 : Artefacts  

 

SET 2  สิ่งของ  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอภิปรายแลกเปลี่ยน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  ปานกลาง

 

นี่คือเทคนิคใช้สิ่งของเป็นเครื่องปลุกเร้าความสนใจของ นศ.   เริ่มด้วยการที่ครูแจกสิ่งของ ซึ่งอาจเป็นรูปภาพ โปสเตอร์ กราฟ ตาราง หรือสิ่งของอย่างอื่น ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน   แล้วให้ นศ. จับกลุ่ม ตอบคำถาม หรือทำกิจกรรมที่ครูมอบให้  

ขั้นตอนการดำเนินการ

  1. กำหนดตัวหลักการสำคัญที่ต้องการให้ นศ. เข้าใจความซับซ้อน   และสะท้อนออกมาในสิ่งของได้  
  2. รวบรวมสิ่งของนั้น และทำเพิ่มให้ได้จำนวนเพียงพอต่อจำนวนกลุ่มของ นศ. กลุ่มละ ๔ - ๕

คน

  1. คิดคำบอกให้ทีม นศ. ปฏิบัติ และเขียนลง PowerPoint สำหรับฉายขึ้นจอในชั้นเรียน 
  2. วางแผนว่าจะให้กลุ่ม นศ. รายงานผลการประชุมกลุ่มอย่างไร
  3. แบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๔ - ๖ คน   อธิบายว่าให้ทำอะไร   แล้วแจกสิ่งของแก่ทุกกลุ่ม  

ตัวอย่าง

วิชาคณิตศาสตร์แก่ นศ. ที่สอบไม่ผ่าน

ครูรวบรวมภาพโพสต์การ์ด ที่แสดงอารมณ์รุนแรง เช่น ภาพคนเดินบนเส้นลวด  ภาพการ์ตูนแสดงหน้าคนที่สิ้นหวัง นั่งอยู่หน้าหนังสือตั้งสูง   ภาพที่แสดงอารมณ์อื่นๆ  (ศ. เอลิซาเบธ ยกตัวอย่างภาพ The Scream ของ Edvard Munch)    ในการเรียนคาบแรก   ให้ นศ. แบ่งเป็นกลุ่มละ ๕ คน    แจกภาพ แล้วให้เลือก ๑ ภาพ ที่สะท้อนความรู้สึกต่อการเรียนคณิตศาสตร์ของ นศ. มากที่สุด   และแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน   แล้วจึงอภิปรายกันในชั้นรวม เกี่ยวกับความวิตกกังวลในการเรียนคณิตศาสตร์   เป็นวิธีที่ให้ นศ. ได้ระบายความกลัวของตนออกมา    นำไปสู่ความไว้วางใจต่อกัน และการเรียนร่วมกันเป็นชุมชนเรียนรู้    เพราะ นศ. ได้รู้ว่า ตนไม่ใช่คนเดียวที่มีความรู้สึกกังวลเช่นนั้น 

วิชา American History

ครูรวบรวมภาพเกี่ยวกับการอพยพจากยุโรป ไปยัง สรอ. ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙  มีข้อมูลสถิติ  ประโยคสั้นๆ จากไดอารีของผู้อพยพ  ภาพอนุสาวรีย์แห่งเสรีภาพ   และภาพแสดงความอดหยากของผู้คนในยุโรป    แจกแก่ นศ. ที่แบ่งเป็นกลุ่ม   และช่วยกันตอบคำถามในกระดาษคำถามว่าทำไมคนจึงอพยพมาอยู่ใน สรอ.     

การปรับใช้กับการเรียน online

สำหรับสิ่งของที่มี ๒ มิติ เช่นรูปภาพ กราฟ แผนผัง ภาพวาด  รวบรวม และนำลงใน webpage หนึ่งหน้า พร้อมคำถาม ให้ นศ. อภิปรายกันเป็น discussion forum   หรือให้ตอบแยกกันเป็นรายๆ

สำหรับสิ่งของที่มี ๓ มิติ   ให้ นศ. รวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนนั้น  แล้วสะท้อนความคิด และตอบคำถามของครู เป็นข้อเขียนตามที่ครูมอบหมาย

 

 การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

  • ถึงแม้กิจกรรมนี้จะเน้นสิ่งของที่จับต้องได้เป็นหลัก    แต่สิ่งของในรูปของเอกสาร (เช่น คำคม  ข้อมูลสถิติ  ข้อเท็จจริง) ก็อาจใช้ได้   โดยสำเนาลงบน index card
  • มอบหมายให้ นศ. รวบรวมสิ่งของที่ตนทำขึ้นเอง (เช่น ภาพถ่าย ภาพวาดสะท้อนวรรณกรรม   ตัวอย่าง (specimen) สำหรับวิชาชีววิทยา)  นำมา ลปรร. กันเอง

 

 คำแนะนำ

สิ่งของที่ นศ. มองเห็น และจับต้องลูบคลำได้   นำมาแลกเปลี่ยนอภิปรายความเห็นร่วมกันได้   ช่วยกระตุ้นความสนใจ โดยเปลี่ยนจากความรู้ที่เป็นนามธรรม ให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้

ครูควรใช้กิจกรรมนี้ กระตุ้นให้ นศ. อภิปราย ลปรร. กัน โดยตอบคำถามที่หลากหลาย เช่น

  • ครูให้วัตถุที่แสดงหรือแทนแนวความคิดเดียวกัน แต่แสดงต่างมุม    และให้ นศ. เปรียบเทียบหรือบอกความแตกต่าง
  • ครูให้รูปภาพที่แสดงโรคหรืออาการ  ให้ นศ. บอกข้อวินิจฉัย (diagnosis)
  • ครูให้ภาพหลายภาพของเหตุการณ์เดียวกัน   แล้วตั้งคำถาม แต่ละภาพบอกความหมายอะไร   เป็นการสื่อความหมายของใคร   ทำไมมีการถ่ายภาพนี้ ฯลฯ
  • ครูให้วัตถุหรือภาพ ให้ นศ. ประเมินว่าอันไหนสื่อความหมายที่ต้องการได้ดีกว่า   เพราะเหตุใด
  • ครูให้ภาพชุดหนึ่ง    ให้ นศ. เรียงลำดับ แล้วสร้างเรื่องราวจากภาพ

 

 เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Dodge J. (2005) Differentiation in action  หน้า ๓๗ - ๓๙

 

หมายเหตุของผม

ผมมีความเห็นว่า เทคนิคนี้ใช้ได้ตลอดเวลาของรายวิชา    สำหรับใช้ดึงดูดความสนใจของ นศ.   และที่สำคัญยิ่งคือ ช่วยให้ นศ. เข้าใจข้อเรียนรู้ส่วนที่เป็นนามธรรมได้ชัดเจนขึ้น หรือง่ายขึ้น    แต่ก็ต้องไม่ใช้พร่ำเพรื่อ   จนกินเวลามากเกินไป

วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 504993เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท