เอกสารเชิงแนวคิด (Concept paper)


ข้อควรรู้ในการเป็นนักวิจัยฝึกหัด

                เราเรียกเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงแนวคิดในการทำวิจัย มีรูปแบบที่แสดงแนวทางการทำวิจัย มีรูปแบบที่แสดงแนวทางการทำวิจัยโดยย่อว่า เอกสารเชิงแนวคิด และนักวิจัยแทบทุกคนต้องเขียน (บางคนเก่งเกิน เขียนเค้าโครงผ่านเลย)


ภาพจาก: http://stratconcept.com/yahoo_site_admin/assets/images/Comp_ist2_6702437-many-targets-concept.12743816.jpg

                ถามว่าทำไมต้องเขียนเอกสารเชิงแนวคิด...ก็เพราะว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่คิดว่าจะเริ่มทำวิจัย เอกสารเชิงแนวคิดจะช่วยให้เราไม่ไขว้เขว มุ่งประเด็นการศึกษา/วิจัย ไปตามที่วางแผนไว้ และหากวางแผนได้ดี และมีคนเล่นด้วย (อาจารย์ที่ปรึกษาชอบและให้ผ่าน หรือ มีคนอยากทำด้วย หรือแหล่งทุนสนใจ) ก็จะนำไปสู่เค้าโครงหรือโครงการวิจัยในอนาคตได้

                การเขียนเอกสารเชิงแนวคิดควรเริ่มจากปัญหา/คำถามวิจัย (ไม่ใช่ชื่อเรื่อง...นะจ๊ะ) เพราะเนื้อหาต่างๆในเอกสารเชิงแนวคิดทั้งหมดต้องสอดคล้องเป็นเหตุผล สะท้อนที่มาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยที่ชัดเจน มีเหตุผลเป็นที่ยอมรับโดยใช้อ้างอิงหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ไม่หยิบยกความคิดหรือข้อความใดๆขึ้นมาโดยไม่มีที่มา.........ถัดมาคือความมุ่งหมายของการวิจัย (วัตถุประสงค์นั่นเอง) ที่เราต้องบอกให้ได้ว่าต้องการศึกษาอะไร และสอดคล้องกับปัญหา/คำถามวิจัยที่ตั้งไว้.........ต่อมาคือบทนำต้องมีการร้อยเรียงถ้อยคำ เชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับปัญหา/คำถามวิจัย ทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ งานวิจัยอื่นๆที่มีผู้ทำวิจัยมาก่อนแล้ว และต้องลำดับเนื้อหาให้ผู้อ่านคล้อยตาม สมเหตุสมผล.........สุดท้ายระเบียบวิธีวิจัยเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ การได้คำตอบของประเด็นปัญหา/คำถามวิจัย ต้องมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน ไม่ขัดแย้งกันเอง


ภาพจาก: http://www.nap.edu/books/0309072484/xhtml/images/p2000fc6dgi001.jpg

                เมื่อพิจารณาประเด็นข้างต้นทำให้นักวิจัยได้เห็นความเป็นไปได้ในการทำวิจัย มีแนวทางที่จะดำเนินการวิจัย หรือสังเกตเห็นสิ่งใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ ที่แตกต่างจากงานวิจัยที่มีคนเคยทำมาแล้ว

                นอกจากนี้นักวิจัยฝึกหัดควรมีเหตุผลทางวิชาการสำหรับการตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้: เรื่องที่ศึกษามีความเป็นต้นฉบับหรือนวัตกรรม; เหตุผลในการเลือกพื้นที่ศึกษา ; เหตุผลในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง/พลวิจัย ; ระเบียบวิธีวิจัย ทฤษฏี ที่นำไปสู่การหาคำตอบในการวิจัย


ภาพจาก: http://www.fht.psu.ac.th/fht_new/images/about_us/success1.png

                ส่วนประกอบของเอกสารเชิงแนวคิดมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยงาน องค์กร มหาวิทยาลัย ในที่นี้ขอยกตัวอย่างองค์ประกอบของเอกสารเชิงแนวคิดของศูนย์วิทยาสาสตรศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพอสังเขป ดังนี้

                     1. ชื่อเรื่อง (Title) ควรตั้งตามประเด็นปัญหางานวิจัย ข้อสงสัยที่ต้องการทำวิจัย หรือเรื่องที่ต้องการทำการศึกษา

                     2. ภูมิหลัง หมายถึง ความเป็นมาของปัญหาที่ผู้วิจัยสนใจ ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาในปัญหานั้น ซึ่งในการเรียบเรียงภูมิหลัง ต้องมีการร้อยเรียงถ้อยคำ เชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องของประเด็นปัญหา แนวคิดทฤษฎีที่นำมาใช้ และงานวิจัยอื่น ๆ ที่นำมาอ้างอิง มีความกระชับและตรงประเด็น

                     3. ความมุ่งหมายของการวิจัย (Research objectives) หมายถึง ข้อความที่แสดงถึงประเด็นที่ต้องการค้นหาคำตอบ ในกรณีที่มีหลายประเด็นผู้วิจัยควรเขียนให้เห็นเป็นข้อ ๆ

                     4. ความสำคัญของการวิจัย (Significance of the study) หมายถึง ข้อความที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อศึกษาวิจัยแล้ว ข้อค้นพบนั้นจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะใด อย่างไร ข้อความนี้ควรเขียนเป็นแบบพรรณนา โดยเขียนให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการวิจัย

                     5. ขอบเขตของการวิจัย (Scope and delimitation of the study) หมายถึง การกำหนดให้ชัดเจนว่าการวิจัยครั้งนี้จะกระทำกับใครหรือสิ่งใด ข้อจำกัดทางแนวคิดของการวิจัยนี้คืออะไร เพราะเหตุใด แบ่งออกได้เป็น

                                งานวิจัยเชิงปริมาณ: ประชากร (Population), กลุ่มตัวอย่าง (Sample) ตัวแปรที่ศึกษา (Variables) ประกอบด้วย ตัวแปรต้น (Independent Variable) และตัวแปรตาม (Dependent Variable)

                                งานวิจัยเชิงคุณภาพ: พลวิจัย

                     6. กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual framework) เป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย อาจใช้การเขียนบรรยาย และใช้แผนภาพหรือแผนภูมิแสดงประกอบเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความเชื่อมโยงต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

                     7. นิยามศัพท์เฉพาะ (Definitions) คือ การกำหนดความหมายของคำสำคัญที่ใช้ในการวิจัย ซึ่งคำเหล่านี้มีความหมายเฉพาะในการวิจัยครั้งนี้อย่างไร โดยมีทั้งนิยามทั่วไป และนิยามเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจตรงกัน

                     8. สมมุติฐานของการวิจัย (Research hypotheses) คือ ข้อความที่กำหนดความคาดหวังจากผลการวิจัยจะเป็นไปในลักษณะใด ตามเหตุผลจากเอกสาร และงานวิจัยที่ได้ค้นคว้ามา ผู้วิจัยต้องตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้น เพื่อค้นหาผลที่เกิดขึ้นอย่างเชื่อถือได้ในงานวิจัยของตน

                     9. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature Review) หมายถึงการนำเสนอทฤษฎี แนวคิดต่างๆ จากเอกสารและงานวิจัยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้วิจัยศึกษามาพอสังเขป อาจทำได้2 แนวทาง ซึ่งผู้วิจัยควรเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งเพื่อให้เอกสารมีความสอดคล้องในเรื่องของรูปแบบ ได้แก่

                                – นำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อต่าง ๆ แล้วจึงต่อด้วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแยกออกมา

                                – นำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องในแต่ละหัวข้อไปพร้อมกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ

                     10. วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methodology) ควรประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญๆ 4 ขั้นตอน ได้แก่

                                10.1 การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง

                                10.2 การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

                                10.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล

                                10.4 การจัดกระทำ การวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่เกี่ยวข้อง

                     11. แผนการดำเนินงานวิจัย (Research Plan) แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาที่ผู้วิจัยคาดการณ์ว่าจะใช้ในแต่ละขั้นตอน โดยอาจทำมาในรูปแบบของตารางเวลา (Time table)

                     12. เอกสารอ้างอิง (Reference) เขียนตามรูปแบบที่แต่ละหน่วยงานกำหนด


.

ที่มา: เอกสารประกอบการเรียนรายวิชาสัมมนา ศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หมายเลขบันทึก: 504903เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เอกสารเชิงแนวคิด (Concept paper) .... ดีจังเลย .... ขอบคุณ นะคะ

ผมต้องขอบคุณอาจารย์ศูนย์วิทยาศาสตรศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่สั่งสอนพวกผมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท